ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เบื้องลึกเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ล้างท่อไม่ออก – คลังทำประมาณการรายได้โอเวอร์ “เบ่ง”วงเงินรายจ่าย 2.57 ล้านล้าน คาดปีนี้ภาษีหลุดเป้า 1.6 แสนล้าน

เบื้องลึกเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ล้างท่อไม่ออก – คลังทำประมาณการรายได้โอเวอร์ “เบ่ง”วงเงินรายจ่าย 2.57 ล้านล้าน คาดปีนี้ภาษีหลุดเป้า 1.6 แสนล้าน

5 มีนาคม 2015


เมื่อเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งภาคการบริโภค การลงทุน และการส่งออก ชะลอตัว เหลือเพียงเครื่องยนต์การใช้จ่ายเงินภาครัฐเท่านั้นที่ยังทำงานอย่างเต็มที่ ล่าสุด สำนักงบประมาณรายงานภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558) ต่อที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 โดยภาพรวมของการเบิกจ่ายเงิน เฉพาะงบประมาณปี 2558 เบิกจ่ายเงินแล้ว 1,095,709 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 42.6% ของวงเงิน 2.575 ล้านล้านบาท หากรวมงบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจเบิกจ่ายแล้ว 1,430,062 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 41.3% ของวงเงินรวม 3,461,339 ล้านบาท

Print

แต่พอลงลึกในรายละเอียด พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายงบประจำ 1,015,171 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 47.8% ของงบประจำ 2,125,524 ล้านบาท ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนยังคงล่าช้าเหมือนทุกปี โดย 5 เดือนที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายงบลงทุนแค่ 80,538 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.9% ของวงเงินลงทุน 449,476 ล้านบาท

ส่วนสาเหตุของการเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า ต่อประเด็นนี้แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากกฎระเบียบราชการ หลังจากงบประมาณมีผลบังคับใช้ ส่วนราชการต้องออกประกาศเชิญชวน จัดประกวดราคา กว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลลงนามในสัญญาก่อหนี้ผูกพัน ไตรมาสแรกของปีงบประมาณส่วนใหญ่จะเบิกได้แต่ค่าจ้างที่ปรึกษา 20% พอไตรมาสที่ 2 กำลังก่อสร้างฐานรากอาคาร ไตรมาสที่ 3 รัฐบาลออกมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ยังไม่ทันก่อสร้างผนังอาคารจะมาบังคับให้ส่วนราชการเบิกค่าติดตั้งแอร์ได้อย่างไร การเบิกจ่ายงบฯ ทำได้อย่างมากแค่เบิกค่าอิฐมอญ อิฐบล็อก ก่อสร้างผนังอาคาร ยิ่งรัฐบาลหรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เร่งปราบคอร์รัปชัน การเบิกจ่ายงบฯ ต้องดำเนินการละเอียดรอบคอบเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ

แหล่งข่าวกล่าวต่ออีกว่า หากย้อนกลับไปในช่วงกลางปี 2557 ระหว่างที่มีการประชุม 4 หน่วยงาน (กระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ) ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและประมาณการรายได้ของรัฐบาล เพื่อใช้เป็นฐานกำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2558 (ประมาณการรายได้+กู้เพื่อชดเชยการขาดดุล=วงเงินงบประมาณรายจ่าย) ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง ขณะนั้นกระทรวงการคลังเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่ำกว่าเป้าหมายกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ถูกแรงกดดันให้จัดทำประมาณการจัดเก็บรายได้ปี 2558 สูงเกินความเป็นจริง หรือพยายาม “เบ่ง” วงเงินงบประมาณรายจ่ายให้ได้สูงที่สุด โดยตั้งสมมติฐานจีดีพีปี 2557 ขยายตัวเฉลี่ย 2% ต่อปี และปี 2558 ขยายตัว 4% ต่อปี จึงมีการปรับประมาณการรายได้ขึ้นมาอยู่ที่ 2.325 ล้านล้านบาท เมื่อรวมกับวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2558 มียอดรวมสูงสุดอยู่ที่ 2.575 ล้านล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 50,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า “ดังนั้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ถูกกำหนดขึ้นมาจากฐานประมาณการรายได้ที่สูงเกินจริงกว่า 1 แสนล้านบาท ล่าสุดนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยอมรับว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลปี 2558 อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยเฉพาะกรมสรรพากรคาดว่าจะเก็บภาษีต่ำกว่าเป้า 160,000 ล้านบาท

Print

อย่างไรก็ตาม ผลจากรัฐบาลในอดีตใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณกู้เงินมาทำประชานิยมอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา บางปีกู้เงินจนชนเพดานสูงสุดตามที่กฎหมายหนี้สาธารณะกำหนดแล้วก็ยังไม่พอ รัฐบาลต้องให้กระทรวงการคลังออกกฎหมายพิเศษมากู้เงินอีกต่างหาก อย่างปี 2552 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจนเต็มเพดานวงเงินกู้สูงสุด และยังต้องออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินมาทำโครงการไทยเข้มแข็ง 349,960 ล้านบาท ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินมาบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท ผลกระทบจากการกู้เงินมาทำประชานิยมอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดภาระผูกพันในงบประมาณ จนไม่มีเงินพัฒนาประเทศ

ภาระผูกพันเยอะ

ปัจจุบันการจัดทำงบประมาณแต่ละปี ต้องจัดทำงบประมาณที่เป็นรายจ่ายประจำที่ไม่สามารถตัดทอนได้มากขึ้นทุกปี จนทำให้เหลือ “พื้นที่ในการดำเนินนโยบายการคลัง” (fiscal space) ไม่มากนัก อาทิ ปี 2548 สำนักงบประมาณมี fiscal space อยู่ที่ 31.8% ของรายได้ภาษี ปี 2553 มี fiscal space ลดลงเหลือ 11.7% โดยที่งบประมาณ 88.3% เป็นรายจ่ายที่ไม่สามารถตัดทอนได้ เช่น งบบุคลากร, งบดำเนินงาน, ภาระหนี้, งบท้องถิ่น, กองทุนนอกงบประมาณและภาระผูกพันอื่นๆ เป็นต้น ภาระผูกพันทยอยเข้ามาอยู่ในรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นทุกปี จนแทบจะไม่มีพื้นที่เหลือให้ทำนโยบายการคลัง

ขณะที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีนโยบายที่จะออกกฎหมายพิเศษกู้เงินเหมือนรัฐบาลในอดีต การจัดทำงบฯ ปี 2558 จึงต้องเบ่งเต็มที่ มีงบลงทุน 449,476 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 1.89% ไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังหดตัว ด้วยเหตุนี้จึงสั่งการให้สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังรวบรวมเงินงบประมาณจากโครงการเก่าๆ ที่ยังค้างท่อเบิกจ่ายไม่ออก เอามาทำเป็นงบลงทุนเสริม

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า สำนักงบประมาณรวบรวมโครงการลงทุนเก่าๆ ตั้งแต่ปี 2548-2557 มาทำเป็น “เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี” จำนวน 346,856 ล้านบาท และเร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายเงินภายในปี 2558 ซึ่งโครงการลงทุนในอดีตที่ถูกนำมาบรรจุในมาตรการ “เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี” ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีปัญหาเบิกจ่ายล่าช้า เบิกไม่ออก ผู้รับเหมาละทิ้งงาน คาดว่าโครงการลงทุนในกลุ่มนี้คงจะเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายแน่นอน เพราะถ้าไม่มีปัญหา ก็คงจะเบิกจ่ายเงินหมด ปิดโครงการไปนานแล้ว

ส่วนที่เหลือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง ประกอบไปด้วยการกู้เงินจากโครงการไทยเข้มแข็งภายใต้กรอบวงเงินที่เหลืออีก 15,200 ล้านบาท มาตรการชดเชยรายได้ให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท โดยกระทรวงการคลังสั่งการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายเงินชดเชยรายได้กับชาวนา 40,000 ล้านบาท และชาวสวนยางพารา 8,200 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณมาชดเชยให้กับ ธ.ก.ส. ภายหลัง และยังเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 227,876 ล้านบาท งบลงทุนของกองทุนหมุนเวียน 242,515 ล้านบาท โครงการไทยเข้มแข็งและโครงการบริหารจัดการน้ำที่ได้รับการจัดสรรเงินกู้แล้วแต่ยังเบิกจ่ายเงินไม่ได้มาสมทบอีก 5,896 ล้านบาท

อ่านรายละเอียดภาพรวมการเบิกจ่ายเงินภาครัฐ
อ่านเพิ่มเติม เศรษฐกิจฟุบ เศรษฐกิจซบเซา…จะกระตุ้นดี?…หรือจะปฏิรูปดี?