ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. ปรับจีดีพีต่ำกว่า 4% ชี้ใช้จ่ายเอกชน-รัฐ-เชื่อมั่นทรุด ยอมรับเงินเฟ้ออาจติดลบ หลุดเป้าชั่วคราว

ธปท. ปรับจีดีพีต่ำกว่า 4% ชี้ใช้จ่ายเอกชน-รัฐ-เชื่อมั่นทรุด ยอมรับเงินเฟ้ออาจติดลบ หลุดเป้าชั่วคราว

20 มีนาคม 2015


นายเมธี สุภาพงษ์  ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนมีนาคม 2558 ว่า ธปท. ได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือจีดีพี ปี 2558 ลงเหลือ 3.8% จากเดิมที่ประมาณการไว้ ณ ธันวาคม 2557 ที่ 4 %

นายเมธีกล่าวต่อว่า สาเหตุที่ปรับลดประมาณการจีดีพีเป็นผลมาจาก 1) ตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาส 4 ปี 2557 ต่ำกว่าคาด 2) การใช้จ่ายภายในประเทศทั้งเอกชนและภาครัฐที่ลดลง 3) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจที่ชะลอลงในช่วง 2 เดือนแรกของปี ทำให้แรงส่งไปยังเศรษฐกิจลดลง

นอกจากนี้ การลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐที่ล่าช้า เนื่องจากหน่วยราชการไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ทัน รวมไปถึงการปรับค่างานก่อสร้างตามราคาน้ำมันที่ลดลงและการขาดแคลนแรงงาน ทำให้การลงทุนบางส่วนล่าช้าออกไป และส่งผลให้การลงทุนของเอกชนล่าช้าออกไปอีกด้วย แต่คาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังน่าจะฟื้นตัวได้ เป็นผลจากภาครัฐที่เร่งใช้จ่ายลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง ไม่ว่าจะเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำหรือแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน

“ตัวเลขที่ออกมายังถือว่าต่ำกว่าศักยภาพอยู่บ้าง และเข้าใจว่าอาจจะต่ำกว่าศักยภาพมาระยะหนึ่งแล้ว ประเด็นก็คือว่า การปล่อยให้เศรษฐกิจต่ำกว่าศักยภาพนานๆ มันจะกระทบต่อตัวศักยภาพด้วย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเน้นเรื่องการลงทุน โดยให้ภาครัฐนำก่อน แล้วให้เอกชนตามมา” นายเมธีกล่าว

นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปจากเดิม 1.2% เป็น 0.2% ส่งผลให้หลุดกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน ที่ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 1-4% ขณะที่ประมาณการเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเอาไว้ที่ 1.2% เช่นเดิม โดยนายเมธีกล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินแบบ “มองไปข้างหน้า” และยอมรับว่าครึ่งแรกของปีอาจจะเห็นเงินเฟ้อติดลบบ้าง แต่จะเริ่มปรับเป็นบวกในครึ่งหลังจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่ประมาณ 2.5% ในปีถัดไป

“ภาวะเงินเฟ้ออาจเป็นไปได้ที่จะติดลบ แต่ยังต้องนำสถานการณ์อื่นๆ มาประกอบ เช่น ราคาน้ำมันจะทรงตัวตามที่ ธปท. คาดการณ์ในระดับ 59.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลหรือไม่ หรือนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับพลังงาน เรื่องการเก็บเงินเข้ากองทุนพลังงาน จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เป็นต้น” นายเมธีกล่าว

สำหรับประมาณการอื่นๆ ธปท. ปรับลดลงทั้งหมดได้แก่

1. เป้าส่งออกจาก 1% เหลือ 0.8% โดยระบุว่าเศรษฐกิจคู่ค้าขยายตัวต่ำกว่าที่คาด โดยเฉพาะประเทศจีนที่กำลังปฏิรูปเศรษฐกิจและเอเชียที่ชะลอตามการส่งออกไปยังประเทศจีนและประเทศผู้ส่งออกน้ำมันลดลง ราคาสินค้าส่งออกตกต่ำลงตามราคาน้ำมันโลก แม้การส่งออกบริการจะขยายตัวได้ดี

2. การลงทุนของเอกชนปรับลดจาก 7.2% เป็น 3.1% เนื่องจากกำลังรอความชัดเจนของเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐ รวมไปถึงสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ

และ 3. การบริโภคภาคเอกชนถูกปรับลดจาก 3.1% เหลือ 2.4% เนื่องจากความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและไทยที่ฟื้นตัวช้า ส่งผลให้ครัวเรือนใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ขณะเดียวกัน รายได้เกษตรกรยังตกต่ำเป็นเวลานาน หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และสถาบันการเงินยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ

forecast_GDP

ประมาณการจีดีพี

“ประสาร” ย้ำต้องสร้างภูมิคุ้มกัน อย่าใจอ่อน ระบุ “กระสุน” แบงก์ชาติยังไม่หมด

ในรอบสัปดาห์เดียวกัน เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยหลังให้ความเห็นแก่กรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อกรณีการปรับนโยบายการเงิน (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 1.75%) ว่านโยบายการเงินโดยตัวมันเองยังมีข้อจำกัดในเรื่องของผลกระทบ ควรนำมาใช้อย่างระมัดระวังในจังหวะที่เหมาะสม และต้องดำเนินควบคู่ไปกับการนโยบายด้านอื่นๆ ส่วนการปรับลดดอกเบี้ยที่ผ่านมา มองว่านโยบายการเงินยัง “จำเป็น” ต้องผ่อนคลายเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจต่อไป

“การคาดการณ์ของ กนง. ต้องมีการพิจารณาตัวเลขการฟื้นตัวในด้านต่างๆ ซึ่ง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงนำไปสู่การประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ส่วนนโยบายการเงินในอนาคต กระสุนยังมีอยู่ ไม่หมด ไม่ต้องกังวล” นายประสารกล่าว

นอกจากนี้ ได้แลกเปลี่ยนในเรื่องเศรษฐกิจโลกและแนวทางนโยบายเศรษฐกิจว่า สถานะภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบแปลกๆ ของเศรษฐกิจใหญ่ๆ ได้สร้างความไม่แน่นอนและความอ่อนไหวในตลาดการเงินจนเกิดความผันผวน ดังนั้น การดำเนินนโยบายโดยทั่วไปจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันของเราให้เข้มแข็ง ดังที่พูดในสุนทรพจน์ก่อนหน้านี้

ดร.ประสารกล่าวต่อว่า การดำเนินนโยบายบางเรื่องอย่าใจอ่อนเกินไป เพราะถ้าใจอ่อนก็จะกลับไปแบบเก่า ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการลงทุน ที่ผ่านมาเราส่งเสริมอะไรก็ได้ แต่ตอนหลังเน้นรายกลุ่มมากขึ้น พวกอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเยอะและไม่ได้พัฒนาเทคโนโลยีไม่ควรส่งเสริมเพราะไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มเติมอะไร แรงงานเราขาดแคลน เป็นต้น

180315_20150318_1778190400
นายอำพน กิตติอำพน (ซ้ายสุด) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

สภาพัฒน์ย้ำไตรมาสแรกโต3% – “ประยุทธ์” จีดีพีต้องจี้เกาะกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ 3-4.5%

ขณะที่ฝั่งรัฐบาลได้ออกมารายงานภาวะเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวหลังจากประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจว่า จีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% เติบโตขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ที่ขยายตัวได้ 2.3% โดยปัจจุบันรัฐบาลได้เร่งรัดการใช้งบประมาณค้างท่อในปี 2556-2557 และเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 เช่น การที่ ครม. อนุมัติกู้เงิน 40,692 ล้านบาท ให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ไปจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน เป็นการนำไปลงทุนเสริมจากงบประมาณปกติ เป็นต้น

นอกจากนี้ อานิสงส์ของการที่ กนง. ลดดอกเบี้ยลง 0.25% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม ได้ช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน เนื่องจากจะมีต้นทุนทางการเงินลดลง

“ในตอนนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นไม่มีแน่นอน และผมมั่นใจว่าปี 2558 ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และเมื่อทั้งสองส่วนนี้ขยับ จะส่งผลให้เกิดการบริโภคตามมา โดยเฉพาะการบริโภคของคนชั้นกลางจะเข้ามาทดแทนการบริโภคของประชาชนในภาคเกษตรที่มีลดลงเนื่องมาจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกไม่ดี นอกจากนี้ ครม. เศรษฐกิจเห็นชอบให้มีการติดตามโครงการที่อนุมัติไปแล้วว่ามีผลอย่างไรในทุก 3 เดือน ว่ามีเม็ดเงินลงไปเท่าใด เพื่อดูว่าจะเร่งรัดตรงไหน รวมทั้งให้ติดตามดูแลภาคเกษตรด้วย” นายอาคมกล่าว

ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากรายงานภาวะเศรษฐกิจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทราบว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในช่วงชะลอตัว “อย่างมีนัยสำคัญ” ซึ่งอ้างอิงจากธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ระบุว่าในเดือนมกราคมได้ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) โลกลงจาก 3.8% เหลือ 3.5% ทั้งนี้ ต้องจับตาดูกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ซึ่งถูกปรับลดจีดีพีจาก 4.9% เหลือ 4.3% พล.อ. ประยุทธ์ได้สั่งการเพิ่มเติมให้หายุทธศาสตร์เพื่อเกาะกลุ่มใกล้เคียงกับการเจริญเติบโตของประเทศเกิดใหม่ และมอบหมายให้เลขาสภาพัฒน์ดำเนินการต่อไป