ThaiPublica > เกาะกระแส > อสส. ส่งสำนวน 205 ลัง ฟ้อง “บุญทรง-พวก” คดีทุจริตขายข้าวจีทูจี เรียกค่าปรับ 3.5 หมื่นล้าน

อสส. ส่งสำนวน 205 ลัง ฟ้อง “บุญทรง-พวก” คดีทุจริตขายข้าวจีทูจี เรียกค่าปรับ 3.5 หมื่นล้าน

17 มีนาคม 2015


boonsong1

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 เวลา 10.00 น. คณะทำงานอัยการสูงสุด (อสส.) นำโดยนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ได้นำสำนวนคดีทุจริตการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด จำนวน 205 ลัง หรือ 1,628 แฟ้ม ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อขอให้ลงโทษนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวก รวม 21 คน

ในความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ประมวลกฎหมายอาญา และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต และปรับสูงสุดเป็นจำนวนเงิน 35,274,611,007 บาท

โดยมีการลงทะเบียนไว้ในสารบบคดี เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.25/2558

แจงขั้นตอนพิจารณาคดี

ภายหลังนำสำนวนส่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯ นายสุรศักดิ์และคณะทำงานได้แถลงข่าวชี้แจงขั้นตอนการพิจารณาคดีนี้ว่า หลังจาก อสส. ส่งฟ้องคดี ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกองค์คณะผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาคดีนี้ จำนวน 9 คน โดยเลือกจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ให้แล้วเสร็จภายใน 14 วัน องค์คณะผู้พิพากษาดังกล่าวจะประชุมเพื่อเลือกเจ้าของสำนวนคดีจำนวน 1 คน และพิจารณาคำฟ้องของ อสส. หากไม่มีการแก้ไข ศาลฎีกาฯ จะมีคำสั่งประทับฟ้อง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีคำสั่งภายในวันที่ 20 เมษายน 2558 จากนั้นจะนัดให้คู่ความมาศาลในวันพิจารณาคดีครั้งแรกภายใน 1 เดือน โดยจะส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกไปยังจำเลย ณ ที่อยู่จริง เพื่อให้จำเลยมาศาลในวันพิจารณาครั้งแรก

“หากจำเลยรายใดไม่มาศาลในวันพิจารณาคดีครั้งแรก ศาลก็จะออกหมายจับเพื่อให้นำตัวมาสู่ศาล โดยอาจจะจำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยรายนั้นไว้ก่อน หรือใช้การพิจารณาคดีลับหลัง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล” นายสุรศักดิ์กล่าว

สำหรับที่มาของค่าปรับกว่า 35,000 ล้านบาท นายสุรศักดิ์ชี้แจงว่า มาจากเงินจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการขายข้าวแบบจีทูจี จำนวน 4 สัญญา กว่า 70,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าปรับทางอาญาตาม พ.ร.บ.ฮั้ว เป็นคนละกรณีกับการเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ที่จะมีคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดหาข้อสรุปว่าจำเลยแต่ละคนจะต้องชดใช้ค่าเสียหายคนละเท่าใด โดยคดีดังกล่าวจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ไม่ใช่ศาลฎีกาฯ เพราะเป็นคดีการละเมิดในฐานะเจ้าพนักงานจึงไม่สามารถฟ้องศาลยุติธรรมทั่วไปได้

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2558 เวลา 10.00 น. คณะทำงานอัยการสูงสุด (อสส.) นำโดยนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล(กลาง) อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ได้นำสำนวนคดีทุจริตการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด จำนวน 205 ลัง หรือ 1,628 แฟ้ม ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(กลาง) นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล  อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน

เมื่อถามว่ามีโอกาสที่จะรวมสำนวนระหว่างคดีนี้กับคดีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูก อสส. ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เพราะมีเนื้อหาคดีใกล้เคียงกันหรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ตามหลักการคงเป็นไปได้ยาก เพราะองค์คณะผู้พิพากษาคดีเป็นคนละชุดกัน แต่ยอมรับว่าพยานหลักฐานทั้ง 2 คดีบางส่วนอาจเกี่ยวพันกัน

เมื่อถามว่าการพิจารณาคดีจนถึงมีคำพิพากษาจะใช้เวลานานเท่าใด นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับจำนวนพยานหลักฐานที่จะต้องมีการไต่สวน เฉพาะคดีนี้ ป.ป.ช. ก็ระบุพยานบุคคลมากว่า 100 ปากแล้ว

ทั้งนี้ รายชื่อจำเลยที่ อสส. ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ในคดีจีทูจี มีจำนวน 21 คน ประกอบด้วยนักการเมือง 3 คน ข้าราชการ 3 คน และเอกชนอีก 15 คน

เส้นทางคดี 3 ปี ก่อนถึงศาล

สำหรับคดี ทุจริตการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2555 เมื่อ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.พิษณุโลก ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบโครงการทุจริตของรัฐบาล หนึ่งในนั้นคือการขายข้าวแบบจีทูจีระหว่างไทย-จีน ที่ นพ.วรงค์เชื่อว่าไม่ได้เกิดขึ้นจริง โดยอ้างว่ามีหลักฐานเส้นทางการชำระเงินค่าข้าวหลายพันล้านบาทจากบริษัท Guangdong stationery & sporting goods imp.& exp. Corp. หรือ GSSG และ บริษัท Hainan grain and oil industrial trading company ว่าไม่ได้มาจากรัฐบาลจีน แต่มาจากบุคคลใกล้ชิดกับบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด

ต่อมา วันที่ 3 พฤศจิกายน 2556 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ขณะนั้น กับพวก รวม 15 ราย มีการเรียกพยานบุคคลมาสอบปากคำอย่างต่อเนื่อง ก่อนพบว่าพยานหลักฐานที่อ้างว่ามีการขายข้าวแบบจีทูจี ไทย-จีน ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และยังพบว่ามีบุคคลอื่นร่วมกระทำผิดด้วย ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ขยายการไต่สวนไปยังบุคคลเพิ่มเติมอีก 5 กลุ่ม

วันที่ 16 มกราคม 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้แจ้งข้อกล่าวหานายบุญทรง ข้าราชการ และเอกชน รวม 15 ราย

จนกระทั่งในวันที่ 20 มกราคม 2558 ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7:0 ชี้มูลความผิดนายบุญทรงและพวก รวม 21 ราย กรณีทุจริตการขายข้าวแบบจีทูจี รวมทั้งได้มีการส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ ให้ทำการฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีจำนำข้าวกับผู้ที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 12 มีนาคม 2558 คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงพาณิชย์ ได้พิจารณาบทลงโทษทางวินัยกับข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ จำนวน 3 ราย ที่เกี่ยวข้องกับการขายข้าวแบบจีทูจี ตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยมีมติให้ไล่ออก คือ 1. นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ 2. นายฑิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่ายประเทศ และ 3. นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการกองความร่วมมือการค้าและการลงทุน กรมการค้าต่างประเทศ

กระทั่งวันที่ 19 มีนาคม 2558 คณะทำงานอัยการสูงสุดจึงได้นำสำนวนคดีทุจริตการระบายข้าวแบบจีทูจี ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อพิจารณาบทลงโทษต่อไป(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

คดีจีทูจี