ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐกิจฟุบ เศรษฐกิจซบเซา…จะกระตุ้นดี?…หรือจะปฏิรูปดี?

เศรษฐกิจฟุบ เศรษฐกิจซบเซา…จะกระตุ้นดี?…หรือจะปฏิรูปดี?

4 มีนาคม 2015


บรรยง พงษ์พานิช

นักเศรษฐศาสตร์ในไทยตอนนี้ดูจะมีความเห็นเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2558 ไปในแนวทางเดียวกันหมด คือเห็นว่าจะซบเซา เติบโตได้แค่ 3-3.5% ซึ่งต้องนับว่าเป็นอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับ Emerging Economy อื่นๆ แถมที่น่าเป็นห่วงกว่าก็คือ ยังมองไม่ออกว่า ศักยภาพในปีต่อๆ ไปนั้น จะดีขึ้นได้อย่างไร

เราเติบโตย่ำแย่มาหลายปี ห้าปีหลังนี้ (2554-2557) เราเติบโตเฉลี่ยแค่ 3% ก่อนหน้านี้หลังต้มยำกุ้ง (2542-2551) เก้าปีเราก็โตเฉลี่ยแค่ 5% ต่อปี ถือว่ารั้งท้ายเพื่อนบ้านอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ไทยเคยได้ชื่อว่าเป็น “มหัศจรรย์แห่งเอเชีย” (Miracle of Asia) ที่มีอัตราเติบโตสูงมากกว่า 8% ต่อปีต่อเนื่องมาร่วมสี่ทศวรรษ (2500-2539) นับเป็นหนึ่งในน้อยประเทศในโลกด้วยซ้ำที่เจ๋งขนาดนี้

แต่พอหลังวิกฤติต้มยำกุ้งเราก็ได้ชื่อว่าติดกับดักชั้นกลาง (Middle Income Trap) เข้าเต็มเปา และก็ดูเหมือนว่าไอ้กับดักที่ว่ามันจะติดแน่นรัดรึงมากขึ้นทุกทีๆ จนหลายคนเริ่มขนานนามเราใหม่เป็น “คนป่วยแห่งเอเชีย” (Sick Man of Asia) ได้รับตำแหน่งนี้แทนฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า เขมร ลาว ที่ล้วนแต่ออกจากโรงพยาบาลหลังฟักฟื้น ตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาขยายตัวกันเป็นการใหญ่ ส่วนไทยนั้นถึงแม้จะยังไม่ย่ำแย่ขนาดเกาหลีเหนือหรืออัฟกานิสถาน แต่ก็กำลังดูเหมือนว่าจะต้องผ่าตัดใหญ่ ฟื้นฟูใหม่ถึงจะเดินหน้าอย่างแข็งแรงได้อีก

ทำไมผมถึงมองโลกในแง่ร้ายขนาดนี้ ไม่ไว้ใจทีมเศรษฐกิจของท่านตู่ ไม่เชื่อฝีมือคุณชายหรืออย่างไร

ก็ลองมาดูเครื่องจักรเศรษฐกิจแต่ละตัวดูสิครับ

การส่งออก ที่เป็นพระเอกมาร่วมสิบสองปีเติบโตกว่า 10% แทบทุกปี ในสามปีหลังนี้เรียกว่าแป้กสนิท ไม่โตเลย มันชัดเจนแล้วว่า ที่ผ่านมาเราเริ่มสูญเสียความได้เปรียบให้คู่แข่งที่ต้นทุนถูกกว่า เพราะเราไม่เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ทดแทนต้นทุนที่เพิ่ม ไม่ได้มีนวัตกรรม ไม่ไต่ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ฯลฯ แถมรัฐบาลกรุณากระชากต้นทุนขึ้นให้โดยการขึ้นค่าแรงขั้นตำ่พรวดเดียวหลายสิบเปอร์เซ็นต์ในวันเดียว

การบริโภค ก็เกิดภาวะหนืดฝืดเคืองไปทั่ว ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำกระทบคนจำนวนมาก เพราะเรามีแรงงานภาคเกษตรถึง 40% ของแรงงานทั้งหมด (ทั้งๆ ที่สร้างผลผลิตเพียง 12%) หนี้ภาคครัวเรือนไทยก็สูงถึง 85% ของGDP (ทำท่าจะได้แชมป์เอเชียอีกประเภทหนึ่งแล้ว) จะกระตุ้นให้กู้มากินมาใช้อีกก็ท่าจะไม่ไหว (ก็รัฐบาลที่แล้วกระตุ้นสุดเหนี่ยวให้ไปซื้อรถคันแรก เพื่อปลอบขวัญบริษัทรถยนต์ที่เสียหายจากนำ้ท่วมไปแล้ว) กับธนาคารเอกชนก็เริ่มระวังแจ ไม่ยอมแข่งกันปล่อยกู้ง่ายๆ เหมือนเก่า จะให้แบงก์รัฐเร่งปล่อยสินเชื่อ แต่ละแห่งก็มีปัญหาไม่น้อย ต้องซ่อมต้องปะผุกันอยู่วุ่นวาย

การลงทุนภาคเอกชนต้องเรียกว่าแทบจะหยุดชะงักไปหมด การบริโภคชะลอ การส่งออกไม่ขยาย กำลังการผลิตยังเหลือเยอะ (เกือบ 40%) ย่อมมีการลงทุนต่ำ FDI จากต่างชาติก็มีไม่มากนัก เอกชนไทยถึงจะมีเงินเหลือแยะ แต่เริ่มไปขยายลงทุนต่างแดนมากขึ้น เอาทรัพยากรไปเพิ่ม GDP ที่อื่น

ก็เลยเหลือแต่ภาครัฐ ทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนก็ต้องหวังต้องรอจากรัฐบาลทั้งสิ้น ตอนนี้เราถึงได้ยินแต่เรื่องการกระตุ้นการเบิกจ่ายงบประมาณ หวังจะให้เม็ดเงินมันไหลลื่นลงไปให้เร็ว แต่ถึงจะทำได้ เราก็ตั้งงบขาดดุลอยู่แค่ 250,000 ล้าน ต่ำกว่าการขาดดุลปีก่อนหน้า ที่มีตั้ง 390,000 ล้าน (ไม่รวมขาดทุนจำนำข้าว ผมสงสัยมากเลยว่า ทำไมรัฐบาลที่แล้วบริหารประเทศไม่ได้ตั้งหลายเดือน ถึงมีฝีมือจ่ายเงินจนขาดดุลได้สูงกว่างบได้ตั้งเยอะ) จริงๆ แล้วถ้าดูว่าการเก็บภาษีที่น่าจะพลาดเป้าไปประมาณแสนล้าน น่าจะช่วยให้การขาดดุลเพิ่มขึ้นบ้าง แต่การพลาดเป้าภาษี มันดันไปขัดกับชื่อสกุลของท่าน รมว.คลัง ท่านเลยมีแผนเพิ่มภาษี โน่นนี่นั่น ทำให้เอกชนเกิดความไม่แน่นอนเพิ่ม เลยชะงักการบริโภคและการลงทุนไปอีก (จริงๆ แล้วผมเห็นด้วยกับการมีวินัยการคลังในระยะยาวนะครับ แต่การขันน็อต การเร่งเก็บ มันก็ต้องมีจังหวะจะโคนเหมือนกันน่ะ)

ด้านการลงทุนของรัฐก็น่าห่วง โครงการเดิมๆ หลายอันก็ถูกตั้งไข่ ถูกชงไว้โดยพวกกลุ่มนักกินเมืองเจ้าเดิม ขืนเร่งไปก็เท่ากับเตะสุกรเข้าปากสุนัขไป จะตั้งโครงการใหม่ที่เป็นประโยชน์ก็ต้องใช้เวลา ยิ่งถ้าหวังให้สะอาดไร้รั่วไหล ก็ดูเหมือนว่ามันหนืดไปหมด ทั้งข้าราชการทั้งเอกชนดูจะทำงานกันไม่ค่อยจะเป็น

สรุปว่า เครื่องจักรเศรษฐกิจมันชำรุดไปทุกส่วน ถ้าฝืนกระทืบคันเร่งซี้ซั้ว กลัวว่าเครื่องจะพังเสีย ต้องเข้าอู่ซ่อมยาวนาน

ถึงตอนนี้ ผมจะขอชวนลองกลับไปเอ็กซเรย์ดูหน่อยว่า “คนป่วยแห่งเอเชีย” รายใหม่นี้ ที่เติบโตแย่ๆ มาสิบปีที่แล้ว มีคุณภาพการเติบโตเป็นอย่างไร มีกล้ามเนื้อแข็งแรงหรือกลวงโบ๋ มีมะเร็งก่อตัวอยู่บ้างไหม

ผมไม่ใช่หมอที่มีความเชี่ยวชาญพอที่จะตรวจดูคนป่วยรายนี้ทั้งตัว แต่แค่ตรวจดูสามส่วนก็บอกตรงๆ ว่าถึงกับผงะ พบแต่เนื้อร้ายก้อนใหญ่อัดแน่นไปเสียทุกส่วน แถมขยายตัวอย่างรวดเร็ว

ส่วนแรกก็คือ “รัฐวิสาหกิจไทย” ที่เรามีอยู่ 56 แห่ง และขยายตัวอย่างมากมาย ในสิบปีขยายสินทรัพย์จาก 4.7 ล้านล้านบาท เป็น 11.8 ล้านล้านบาท รายจ่ายบวกงบลงทุน เพิ่มจาก 1.5 ล้านล้านเป็น 5.1 ล้านล้าน มากกว่างบประมาณรัฐถึงสองเท่า ซึ่งต้องถามว่า การขยายนี้เป็นไปอย่างมีคุณภาพไหม ควรขยายไหม ต้องตอบเลยว่า ในหลายส่วนไม่เป็นอย่างที่ควรเลย ถึงแม้ว่าโดยรวมยังมีกำไรอยู่ 2.2 แสนล้าน (ROA 2% ถือว่าตำ่มาก ของจีน ลดจาก 7% เป็น 5% คุณสี จิ้นผิง ก็สั่งผ่าตัดใหญ่ไปแล้ว) แถมพอไปดูรายละเอียดก็พบว่า ที่กำไรแทบทุกแห่ง เป็นเพราะมีอำนาจผูกขาดในกิจการที่ทำอยู่ เช่น การท่าอากาศยาน การท่าเรือ ปตท. การไฟฟ้า

ส่วนที่ต้องแข่งขันกับเอกชน ล้วนขาดทุนบักโกรกแทบทั้งนั้น เช่น การบินไทย การรถไฟ ขสมก. ทีโอที การสื่อสารฯ มันทำให้สะท้อนถึงคุณภาพการบริหารได้อย่างชัดเจน แถมแผนแก้ไขที่เสนอมาล้วนเหมือนกันหมด คือ ขอลงทุนเพิ่ม ซึ่งในช่วงการเมืองที่ผ่านมาย่อมได้รับอนุมัติอย่างง่ายดาย เพราะมันหมายถึงการกลบปัญหาไว้ใต้พรม ผลักปัญหาไปวันหน้า แถมลงทุนทุกทีก็ แฮ่มทุกฝ่ายล้วนได้รับส่วนแบ่งค่าคอมฯ กันทั่ว พอท่านรัฐมนตรีตกลง ก็เอาเข้า ครม. ก็มักผ่านฉลุย เพราะถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่มีใครขัดใคร มันเลยถึงบางอ้อ ว่าทำไมถึงขยายบานทะโร่ตั้งสามเท่าตัวกว่าในสิบปี ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจโดยรวมขยายแค่ 70%

ส่วนที่สองก็คือ นโยบายประชานิยมทั้งหลายแหล่ที่สรรหามาเอาใจประชาชน จริงอยู่ที่ว่า ประชานิยมทุกอัน อย่างน้อยก็เป็นการกระจายรายได้ เอาของคนมีไปกระจายให้คนไม่มี แต่ก็ต้องออกแบบให้เกิดประโยชน์ เกิดผลิตภาพบ้าง (ประชานิยมที่ดีสร้างสรรก็มี เช่น ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ฝึกงานอาชีพ ทุนการศึกษา ทุนหมู่บ้าน) และที่สำคัญต้องอย่าให้มีรั่วไหล (ซึ่งกลายเป็นการเอาไปกระจุกให้นักโกงกินที่โคตรรวยอยู่แล้ว) กับต้องไม่ไปทำลายกลไกตลาดที่มี ไม่สร้างการบิดเบือน และจะกระจายต้องกระจายจากรายได้วันนี้ อย่าไปขโมยรายได้ลูกหลานวันหน้ามากระจาย ยกตัวอย่าง ประชานิยมที่เลวสุดๆ ก็คือ “จำนำข้าว” ที่เข้าเงื่อนไขความแย่ข้างต้นได้ทุกประการ รับคะแนนเต็มไปเลย ขาดทุนห้าแสนล้านที่เกิดในสามปีนี้ ถึงแม้ชาวนาอาจได้รับไปสักสามแสนล้าน แต่ลูกหลานก็ต้องรับภาระเต็มห้าแสน รวมส่วนรั่วไหลและเสียหายไปด้วย (โดยที่ไม่รวมในงบประมาณขาดดุล) ซึ่งถ้าไม่มีโครงการมหาวิบัตินี้ เศรษฐกิจย่อมโตน้อยลงไปอย่างน้อยก็ 5%

ส่วนที่สามที่เติบโตเบ่งบานอย่างมากก็คือ กิจกรรมคอร์รัปชัน ทั้งขนาด ทั้งความแพร่หลายกว้างขวาง ทั้งนวัตกรรมต่างๆ ด้านนี้ นับว่าเจริญเติบโตยิ่งกว่าภาคใดๆ และก็เป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ภาคส่วนใดที่ทำกำไรได้ดี ย่อมมีการขยายตัวได้ดี ย่อมดึงดูดทรัพยากรที่ดีเข้าไปได้มาก เราจึงพบว่า มีการลงทุนในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันมาก มีอัจฉริยะเก่งๆ หลั่งไหลเข้าสู่วงการมากขึ้นเรื่อยๆ

คอร์รัปชันนั้นอาจมีประโยชน์ในระยะสั้นได้ เช่น ทำให้เกิดการลงทุน ในภาครัฐและรัฐวิสาหกิจนั้นไม่ต้องพูดถึง โครงการลงทุนที่ไม่ควรเกิดเกิดขึ้นมากมาย เพราะแรงจูงใจที่จะโกงกิน แม้ในภาคเอกชนก็ไม่แพ้กัน เพราะถ้าจ่ายเงินเพื่อขจัดการแข่งขันได้ก็จะทำให้ได้เปรียบ เกิดกำไร จูงใจให้ลงทุน แต่ผมขอยืนยันว่า การลงทุนแบบนี้ ถึงจะได้กำไรส่วนตัวไปในระยะสั้น เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น แต่ส่วนรวมย่อมฉิบหายในระยะยาวแน่นอน และประเทศก็จะอ่อนแอ เสียเปรียบในการแข่งขันลงไปเรื่อยๆ (คอร์รัปชันไม่สามารถช่วยให้ได้เปรียบในตลาดโลกได้ จึงมักเกิดในภาค non-tradables ซึ่งจะเป็นต้นทุนของ tradables อีกทีหนึ่ง)

เห็นไหมครับ แค่ตรวจดูสามส่วนของคนป่วย ก็พบแต่มะเร็งเน่าเฟะ แถมขยายตัวอย่างหยุดไม่อยู่ เป็นสาเหตุแห่งอาการซึมลึกทางเศรษฐกิจและสังคมที่เราเป็นอยู่

ทีนี้ก็มาถึงประเด็นคำถามที่ว่า แล้วเราควรที่จะ กระตุ้นดี? หรือปฏิรูปดี?

ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องใช้เครื่องมือเดิมๆ กลไกเดิมๆ วิธีการเดิมๆ ที่มีอยู่ นั่นก็คือ เร่งใช้งบประมาณ หาโครงการประชานิยมเร่งด่วนอัดเงินลงไป (แต่จะเปลี่ยนไปเรียกประยุทธ์นิยมก็ได้นะครับ) รีบเร่งลงทุนโดยเฉพาะโครงการที่ไม่ต้องวิเคราะห์นาน ไม่ต้องมีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ยุ่งยาก สั่งให้สถาบันการเงินของรัฐเร่งปล่อยสินเชื่อปูพรม ให้รัฐวิสาหกิจเร่งขยายตัว ฯลฯ ซึ่งถ้าทำได้ครบ รับรองว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ อาจจะได้รับความนิยมในระยะสั้น แต่ปัญหาวันหน้าของลูกหลานก็จะโตขึ้นด้วย ระเบิดเมื่อไหร่ก็สาหัสกันทั่ว หนี้และภาระสาธารณะทั้งที่เปิดเผยทั้งที่แอบซ่อนเอาไว้ก็จะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

ผมขอบังอาจทำนายว่า ถ้าเราเดินอย่างเดิมไปเรื่อยๆ ไม่มีการปรับปฏิรูปให้เกิดผลิตภาพเพิ่มจริง (Productivity) หวังแต่จะเอาโตโดยพึ่งรัฐอย่างเดียวเหมือนเดิม เราก็จะไปพบจุดจบแบบเดียวกับกรีซ คือเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะ ภายในสิบปี (วันที่กรีซเกิดวิกฤติ หนี้สาธารณะที่เป็นทางการก็แค่ 60% เอง แต่พอรื้อดูที่ซ่อนไว้ด้วย ก็ปาเข้าไป 140% เจ๊งยับ)

ผมเห็นด้วยว่า ในระยะสั้น รัฐจำเป็นต้องรักษาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจในส่วนสำคัญไว้ไม่ให้เครื่องดับ จำเป็นต้องดูแลประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่ให้เดือดร้อนทุกข์ยากจนเกินไป แต่ในด้านที่แย่ที่ไม่มีประโยชน์ เช่น การลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่กระจาย กิจกรรมที่มีแต่การคอร์รัปชัน ประชานิยมที่รั่วไหล เหล่านี้ปล่อยให้หดตัวก็ไม่น่าจะเป็นห่วงมากนัก การเติบโตโดยรวมอาจไม่อยู่ในอัตราที่น่าประทับใจก็ไม่เป็นไร ขอให้โตแต่ในส่วนที่มีคุณภาพ พ่อค้าบ่นอย่าไปสนใจมาก สนแต่ประชาชนที่มีรายได้น้อยไว้เป็นหลัก แล้วตั้งหน้าตั้งตาปฏิรูปในเรื่องสำคัญๆ

เรามีเรื่องที่ต้องปฏิรูปเร่งด่วนเยอะแยะไปหมด ทั้งเรื่องการเมือง การเข้าสู่อำนาจ การศึกษา พลังงาน ศาสนา ฯลฯ แต่ที่ต้องจำไว้ให้แม่นห้ามเฉไฉ คือ รัฐบาลนี้มีเวลาเหลือแค่ 1 ปี เพราะฉะนั้น จะต้องจัดลำดับความสำคัญให้ดี แล้วเลือกทำเฉพาะสิ่งที่ชัดเจน ที่ในยามการเมืองปกติเกิดได้ยาก และต้องยอมรับความจริงว่า บางเรื่องที่ต้องใช้เวลา อาจทำได้แค่วางหลักการ แค่เริ่มต้นกระบวนการ โดยหวังว่า สังคมจะเห็นประโยชน์และกดดันให้มีการสานต่อ ในยามที่กลับไปสู่การบริหารแบบประชาธิปไตย

อย่างที่บอก ผมเองไมใช่พหูสูต ไม่ได้เชี่ยวชาญทุกด้าน แต่สองเรื่องที่พยายามช่วยทำอยู่ก็คือ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และการวางมาตรการป้องกันการคอร์รัปชัน ผมก็คิดว่า เป็นสองเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อย และก็มีความคืบหน้าตามสมควร (ไว้จะมาขยายรายละเอียด และเล่าความคืบหน้าตามโอกาสอันควรนะครับ) แต่อย่างที่เคยบอกแหละครับ ในการปฏิรูปนั้น ย่อมมีผู้สูญเสียผลประโยชน์และได้รับผลกระทบบ้าง เพราะฉะนั้นจึงมักเป็นเรื่องยาก และมีการต่อต้านตลอด

ถ้ารัฐบาลนี้ ที่มาจากการรัฐประหาร ต้องการเป็นที่จดจำว่าสร้างประโยชน์ไว้ให้ชาติบ้าง ก็ต้องดำเนินการให้มีการปฏิรูปที่สำคัญๆ ให้สำเร็จให้ได้ ถ้าหวังทำเพียงคอยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตในระยะสั้น โดยใช้วิธีการแบบเดิมๆ ก็เสี่ยงมากที่ในอนาคตจะถูกค่อนแคะว่า “เสียของ” เหมือนการปฏิวัติครั้งก่อนๆ (สมัยรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เศรษฐกิจเติบโตมากกว่า 5% นับว่าสูงที่สุดปีหนึ่งในยุคหลังวิกฤติ แต่คนส่วนใหญ่ก็จำไม่ได้ จำได้แต่ว่า “เสียของ”)

ที่จะน่ากลัวที่สุดก็คือ การปฏิรูปก็ไม่คืบหน้า เศรษฐกิจก็กระตุ้นไม่ขึ้น แต่เกิดมีคนไปยุให้ท่านอยู่นานๆ อ้างว่าภาระกิจยังไม่บรรลุ อย่างนั้นจะสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความขัดแย้งยาวนานในชาติ เป็นจุดเริ่มต้นที่จะเปลี่ยนจาก The Sickman of Asia ไปเป็น Failed State เต็มรูปแบบ

โชคดีที่เรื่องอย่างนั้นคงไม่เกิด เพราะท่านนายกฯ ยืนยันหนักแน่นว่า Roadmap 1 ปีนั้นยังคงอยู่ และในทุกคณะที่ผมทำงานอยู่ก็ยึด Roadmap นี้เป็นหลักตลอดมา

เราจะทำตามสัญญา.

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanichวันที่4 มีนาคม 2558