ThaiPublica > คอลัมน์ > ชาวบ้านธรรมดากลางห่ากระสุน Aleppo: Notes from the Dark

ชาวบ้านธรรมดากลางห่ากระสุน Aleppo: Notes from the Dark

31 มีนาคม 2015


1721955

poster (1)

ขณะที่สงครามกลางเมืองในซีเรียสู้รบกันอย่างดุเดือด ทวีความรุนแรงและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเมืองอเลปโป อดีตเมืองเศรษฐกิจศูนย์กลางการค้าของซีเรีย ที่กลายเป็นซากปรักหักพังไปแล้ว เนื่องจากที่นี่คือแนวปะทะระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลกับนักรบฝ่ายกบฏ ยืดเยื้อยาวนานมาตลอดช่วงสองปีก่อนหน้านี้ นับแต่การนองเลือดเมื่อเดือนมีนาคม 2011 จนถึงต้นปี 2014 ก็มีเหยื่อสังเวยสงครามนี้ไปแล้วอย่างน้อย 136,227 ราย โดยในจำนวนนี้มี 47,998 รายเป็นพลเรือน ซึ่งเป็นเด็กอีกกว่า 7,300 ราย

แล้วขณะที่สื่อทั่วโลกต่างตีประเด็นภายในซีเรีย โดยเฉพาะกรณีกลุ่มไอซิสที่เผยแพร่คลิปสังหารโหดมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ได้สร้างความสับสนและอคติต่อชาวมุสลิม จนเหมารวมไปว่าชาวซีเรียทั้งหมดคือพวกก่อการร้ายหัวรุนแรง แต่เมื่อปลายปีที่แล้วสำนักข่าวอัลจาซีรากลับเผยแพร่สารคดีเรื่องนี้ Aleppo: Notes from the Dark สู่สายตาชาวโลกให้ได้ดูกันเต็มๆ ทางออนไลน์ อันเป็นเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของหลากชีวิตชาวเมืองอเลปโป ท่ามกลางดงกระสุนปืนและลูกระเบิด

1 (2)

“เราทำหนังเรื่องนี้เพราะเราเป็นมนุษย์ และเราไม่อาจเงียบเฉยต่อความโหดเหี้ยมของสงครามครั้งนี้ได้ เราต้องการนำหลักฐานออกมาตีแผ่ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับผู้คนในซีเรีย เพื่อต่อสู้ต่อความเฉยชาและอคติของสังคมโลก เพราะข่าวทุกวันนี้ได้ให้แต่ภาพความรุนแรงจนเกือบจะกลายเป็นความบันเทิงไปแล้ว นับตั้งแต่สงครามอิรักที่มีแต่การให้ข้อมูลแค่เพียงสถิติการตาย หรือไม่ก็ฉายภาพความหดหู่เลวร้ายจนทะลักจอทีวี เราต้องการให้โลกทำความเข้าใจกับผู้คนในซีเรียเสียใหม่ ให้เข้าใจด้วยว่าทำไมพวกเขาบางคนจึงหันไปหยิบจับอาวุธเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรม แต่ไม่เพียงแค่นั้น ในเมืองล่มสลายแห่งนี้ยังมีชาวบ้านอีกหลายรายที่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดด้วย”

และนั่นคือที่มาในการผลิตสารคดีชิ้นนี้ ซึ่งให้ภาพในแบบที่ไม่เคยปรากฏในสารคดีเรื่องใดมาก่อน ในผลงานกำกับของ โวจชีค ซูโมวสกี ชาวโปแลนด์ ผู้คร่ำหวอดกับการทำสารคดีทางทีวีมาแล้วกว่า 200 เรื่อง ทางช่องทีวีสาธารณะของโปแลนด์ ก่อนจะหันมาร่วมมือกับเพื่อนผู้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ ไมคาล ชาลาคสกี เพื่อผลิตภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ซึ่งล่าสุดพวกเขาก็คว้ารางวัลกรังปรีซ์ และออเดียนซ์อะวอร์ด จากเทศกาลหนัง ฮิวเมนด็อค ในกรุงวอร์ซอว์ (นอกจากนี้พวกเขายังทำสารคดีสั้นอีกเรื่องคือ Stories Told by the Wind -2014 อันเป็นภาพชีวิตอีกมุมหนึ่งของเด็กๆ ในเมืองกันดาฮาร์ ประเทศอัฟกานิสถาน)

2 (1)

หนังเปิดเรื่องด้วยภาพทีมผู้สร้างเดินทางไปยังเมืองอเลปโป ท่ามกลางความมืดมิดยามค่ำคืน ซึ่งดูเหมือนจะเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ จากการโจมตีของนักรบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในพื้นที่แห่งนั้น ก่อนจะฉายภาพเสียงดังสนั่นของอาวุธสงครามที่ยิงถล่มลงมาในความมืด บ้านเมืองแหลกสลาย ชาวบ้านอยู่กันตามมีตายเกิด เด็กหนุ่มคุ้ยเขี่ยเสื้อผ้าที่หลงเหลือจากซากตึก ตัดสลับภาพอดีตในช่วงเริ่มต้นของการประท้วง เมื่อชาวเมืองต่างรวมตัวกันเดินขบวน โดยไม่คาดคิดว่าจะถูกฝ่ายรัฐบาลยิงถล่มใส่

ก่อนจะค่อยๆ แนะนำ 7 ชีวิตซึ่งเป็นคนดำเนินเรื่อง อาทิ ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ที่คอยรายงานสถานการณ์ต่างๆ ภายในชุมชน, อดีตพ่อค้าผลไม้ที่โดดไปเข้าร่วมกลุ่มนักรบหัวรุนแรง อัล-นุสรา, หมอจากชนชั้นเศรษฐีที่อุทิศตนเพื่อช่วยชีวิตชาวเมือง, ครอบครัวกลุ่มเคลื่อนไหวรัฐอิสลาม, ครูสอนศาสนาที่คอยเยียวยาชาวบ้านซึ่งต้องการที่พึ่งพิงทางใจ ฯลฯ

3 (2)

ความโดดเด่นของสารคดีเรื่องนี้คือการจับภาพใบหน้าของผู้คน ที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตนบ้าง ตัดสลับภาพวิถีชีวิตที่ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในสังคมแห่งนั้น ไม่ว่าจะภรรยาที่ส่งลูกระเบิดให้สามีซุกไว้ป้องกันตัวในกระเป๋าก่อนออกไปทำงาน, เด็กๆ ที่ถือปืนแต่งชุดทหารอย่างเท่เพื่อถ่ายภาพไว้ข่มขู่ศัตรู, คุณหมอที่พยายามสุดกำลังเพื่อยื้อชีวิตเหยื่อที่หายใจรวยริน, ครูสอนศาสนาที่ออกตระเวนถามสารทุกข์สุขดิบกับชาวเมือง, ความแร้นแค้นของชาวบ้านที่ต้องคุ้ยเขี่ยหาอาหารตามกองขยะมาประทังชีวิต ฯลฯ

“ผู้คนเหล่านี้ต่างก็เคยมีอดีต บางคนเคยเป็นพ่อค้า, บรรณารักษ์, หรือไม่ก็นักศึกษาที่ต่างก็ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารกดขี่ บางคนสูญเสียครอบครัว และบางคนก็ใฝ่ฝันถึงเสรีภาพเสมอมา มีคนหนึ่งเคยเป็นช่างซ่อมเครื่องไฟฟ้า เขาเล่าความฝันว่าหากสงครามสงบลงเมื่อไหร่ เขาจะเก็บเงินไปซื้อมอเตอร์ไซค์ฮาร์เลย์ เพื่อขี่พาเมียออกท่องเที่ยวทางไกล สำหรับผู้คนเหล่านี้แล้ว การมีความฝันความหวัง สิ่งนี้ต่างหากคือเสรีภาพที่แท้จริง”

4 (3)

หนังปิดฉากลงด้วยภาพชาวบ้านต่างพากันไปว่ายน้ำในสระ ยิ้มหัวเราะให้กัน ราวกับไม่มีอะไรรุนแรงเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้เลย พวกเขาเพียงต้องการช่วงเวลาผ่อนคลายสักพัก ปลดเปลื้องความทุกข์เศร้าในชีวิตประจำวัน

หนึ่งในชาวบ้านทิ้งท้ายได้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าสงครามสิ้นสุดลง ทุกๆ คนจะกลับไปทำการทำงาน ใช้ชีวิตแบบปรกติสุขกัน …เมื่อสงครามยุติลง พวกเราจะได้พักกันจริงๆ สักที” เป็นประโยคเรียบง่ายแสนจะธรรมดาแต่เต็มเปี่ยมด้วยความหวัง

5 (1)