ThaiPublica > เกาะกระแส > 99 ปี “คนชื่อป๋วย” ผู้วางรากฐานเศรษฐกิจไทย – ครูที่ดี 4 บทบาท 4 มุมมอง จากคนข้างตัว

99 ปี “คนชื่อป๋วย” ผู้วางรากฐานเศรษฐกิจไทย – ครูที่ดี 4 บทบาท 4 มุมมอง จากคนข้างตัว

13 มีนาคม 2015


เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้จัดงานแถลงข่าว 99 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พร้อมกันนั้นได้ทำการเปิดตัวเว็บไซต์-อีไลบรารี ของทางมูลนิธิ ที่เป็นแหล่งรวมรวมหนังสือ และเอกสารดิจิตอล มอบเป็นสาธารณสมบัติ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโดยการเข้าไปดาวน์โหลดได้ฟรี นอกจากนี้ยังมีการเปิดงาน นิทรรศการ “คนชื่อป๋วย” (A man Called Puey) มีการแสดงประวัติ ผลงาน และเกียรติยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ MBE ที่ ศ.ดร.ป๋วย ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร จากวีรกรรมเสรีไทย ออกสู่สายตาสาธารณชนครั้งแรก พร้อมจัดแสดงรางวัลรามอนแมกไซไซ หรือโนเบลสาขาสันติภาพแห่งเอเชีย เชิดชูเกียรติการทำงานอุทิศตนในสังคมประชาธิปไตย

ร่วมกล่าวเปิดนิทรรศการโดย นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และอดีตวุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร บุตรชายของอาจารย์ป๋วย,ศ.เกียรติคุณ เพ็ชรี สุมติร ราชบัณฑิต ประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์, ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย และนักพัฒนาสังคม

นางกาญจนาภรณ์ จิตต์สง่า ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดปรีดี พนมยงค์,นางสาวสุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์ รองผู้อำนวยสำนักหอสมุดฯ, ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, นายจอน อึ๊งภากรณ์  อดีตกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และอดีตวุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร บุตรชายของอาจารย์ป๋วย, นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย และนักพัฒนาสังคม, ศ.เกียรติคุณ เพ็ชรี สุมติร ราชบัณฑิต ประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นางกาญจนาภรณ์ จิตต์สง่า ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดปรีดี พนมยงค์,นางสาวสุภาพร ชัยธัมมะปกรณ์ รองผู้อำนวยสำนักหอสมุดฯ, ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และอดีตวุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร บุตรชายของอาจารย์ป๋วย, นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย และนักพัฒนาสังคม, ศ.เกียรติคุณ เพ็ชรี สุมติร ราชบัณฑิต ประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อ.ป๋วยในฐานะพ่อ ภาระงานและเจตนารมย์สู่สังคมไทย

นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และอดีตวุฒิสมาชิกกรุงเทพมหานคร บุตรชายของอาจารย์ป๋วย กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้เป็นบิดาว่า ตนเป็นคนที่ไม่เคยมาร่วมงานที่จัดขึ้นรำลึกผู้เป็นพ่อเลยไม่ว่าที่ไหน มางานนี้เป็นงานแรก ประเด็นแรกที่ตนอยากบอกคือ คุณพ่อเป็น “คนธรรมดา” อย่าเรียกอะไรมากกว่านั้น ด้วยความเคารพ สำหรับตนนั้นไม่ชอบคำว่า “ปูชณียบุคคล”

“ปูชณียบุคคล ผมเองก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร และมากไปกว่านั้น ผมว่าคุณพ่อเองก็ไม่ต้องการให้ใครเรียก”

นายจอน เล่าต่อไปว่า ตนเองก็ไม่ค่อยมีโอกาสที่จะรู้จักผู้เป็นบิดาในแง่การทำงาน เขารู้จักตัวตนของคนชื่อ “ป๋วย” ในฐานะผู้ที่เป็นผู้ให้กำเนิด และเลี้ยงดูเขามาเท่านั้น และแม้เขาจะเพิ่งได้อ่านผลงานของผู้เป็นบิดาหลังจากที่ท่านเสีย แต่นายจอนกล่าวว่า ในครอบครัวสามารถเห็นแง่มุมต่างๆ ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของผู้เป็นบิดาได้อยู่แล้ว

“คุณแม่ก็เป็นคนที่มองคุณพ่อเป็นคนธรรมดา หลังจากที่คุณพ่อเสียแล้ว คุณแม่เอาทรัพย์สินเกือบทั้งหมดไปโยนขยะ ตั้งแต่ไม้เท้า ไปป์ สิ่งของต่างๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ของท่าน ทำให้เครื่องใช้ของคุณพ่อที่ยังหลงเหลืออยู่มีน้อยมาก ตั้งแต่ที่คุณแม่เสียเมื่อ 3 ปีที่แล้ว สิ่งที่กู้มาได้ก็คือเหรียญ MBE (เหรียญที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าจอร์จที่ 6 สมัยรับราชการทหารในกองทัพอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ของคุณพ่อนะครับ ซึ่งผมเองก็ไม่ได้คิดอะไรมากกับเหรียญอันนี้”

แม้เหรียญดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์การทำงานของอาจารย์ป๋วย เมื่อครั้งเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย นายจอน กล่าวว่า ตนไม่ได้อยากผู้คนให้มาดูเหรียญแล้วซาบซึ้งไปกับเหรียญ แต่อยากให้ดูแล้วกลับไปอ่านประวัติของอาจารย์ป๋วยผู้เป็นพ่อ ที่การทำงานในเสรีไทยมากกว่า เพราะความหมายของสิ่งต่างๆ ต้องดูจากผลงานการทำงาน

จอน อึ๊งภากรณ์
จอน อึ๊งภากรณ์

นายจอน กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญ คือ ผู้อ่านต้องวิจารณ์งานของอาจารย์ป๋วย เวลาอ่านข้อเขียน อ่านประวัติ หากไม่วิจารณ์ ไม่เกิดการถกเถียง โต้แย้ง การเรียนรู้จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งตนได้โพสข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า ตนโกรธมาก เวลาคนที่ไปรับใช้เผด็จการปัจจุบันนี้มาอ้างว่าคุณพ่อก็รับใช้เผด็จการเหมือนกัน ผมโกรธมาก ยิ่งเขาหากินกับชื่อคุณพ่อผม

“แต่ผมไม่โกรธคนแบบแบบอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งวิจารณ์คุณพ่อผมมาตั้งนานแล้วว่ารับใช้เผด็จการ ‘มากเกินไป’ ความหมายมันต่างกันๆ คือวิจารณ์ได้ ตั้งคำถามได้ แต่อย่าอ้างว่าทำเหมือนคุณพ่อเวลามารับใช้เผด็จการยุคปัจจุบัน”

นายจอน เปิดเผยว่า สำหรับเหรียญ MEB นั้น คุยกันในครอบครัวแล้วอยากมอบให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่าจิตวิญญาณหายไปเสียเยอะ จึงคิดว่าจะมอบให้บุตรสาวของตนไว้ก่อน และหากวันใดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยแห่ง สอนประชาธิปไตย สอนสิทธิมนุษยชนสอนความเป็นธรรมทางสังคม วันนั้นค่อยมอบให้กับก็แล้วกัน

อ.ป๋วยกับโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์

ศ.เกียรติคุณ เพ็ชรี สุมติร ราชบัณฑิต ประธานมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ กล่าวว่า มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆว่า “โครงการตำราฯ อาจารย์ป๋วยฯ” ก่อตั้งในปี 2509 ตั้งแต่ยังดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันดำเนินงานมาถึงปีที่ 49 แล้ว

โดยอาจารย์ป๋วยเป็นผู้มีคุโณปการในการระดมนักวิชาการจากหลากมหาวิทยาลัย หลายความคิด ต่างอุดมการณ์ มาร่วมงาน เพื่อสนองความขาดแคลนของตำราในระดับอุดมศึกษา เรียกได้ว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกผลงานทางวิชาการและตำราขั้นสูง เพื่อที่จะให้สังคมไทยยกระดับฐานะของคน ได้อ่านหนังสือที่มีคุณภาพ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ MBE ที่ ศ.ดร.ป๋วย ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร จากวีรกรรมเสรีไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ MBE ที่ ศ.ดร.ป๋วย ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งสหราชอาณาจักร จากวีรกรรมเสรีไทย

‘โครงการตำรานี้ ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือกันเอง เป็นส่วนบุคคล ในหมู่ผู้มีอาชีพสอนและผู้รักงานการศึกษาจากสถาบันต่างๆ จุดมุ่งหมายเบื้องแรก เพื่อส่งเสริมให้มีตำราดีๆในภาษาไทยมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะต่างก็พ้องต้องกันว่าหนังสือตำราภาษาไทยในระดับคุณภาพยังไม่เพียงพอ ถ้าส่งเสริมให้มีหนังสือเช่นนี้เพิ่มขึ้น ย่อมเป็นการปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาในขั้นมหาวิทยาลัยไปด้วยโดยปริยาย ทั้งการส่งเสริมด้านนี้ย่อมมีคุณค่าทางการสร้างสรรค์ปัญญา ความคิดริเริ่ม ในเรื่องราวเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองอีกด้วย’คำแถลงของอาจารย์ป๋วยเมื่อครั้งก่อครั้งโครงการตำราฯ

ศ.เกียรติคุณ เพ็ชรี กล่าวต่อไปว่า อาจารย์ป๋วยไม่เพียงเป็นผู้ที่ปลุกปั้นให้เกิดตำรา และงานเขียนต่างๆ ออกมา แต่ท่านยังช่วยหาสถานที่จัดจำหน่ายงานเหล่านั้นด้วย

“ปกติตำราที่ผลิตออกมาจะวางขายในร้านหนังสือต่างๆ แต่อาจารย์ป๋วยเป็นท่านแรกที่ริเริ่มก่อตั้งศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่เพียงเป็นแหล่งรวบรวมผลงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังเป็นพื้นที่ให้หนังสือจากโครงการตำราฯ เข้าไปวางขายด้วย นี่คือมรดกอีกชิ้นหนึ่งของท่าน”

อ.ป๋วยกับแบงก์ชาติ

ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึง คุโณปการของอาจารย์ป๋วยต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ว่าภารกิจของแบงก์ชาติในยุคของอาจารย์ป๋วย นอกจากหน้าที่ดูแลเรื่องของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นหน้าที่หลักแล้ว ท่านได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาด้วย

เนื่องจากท่านเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติเมื่อ ปี 2502-2514 ดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 12 ปี ท่านจึงสร้างผลงานไว้มากมาย และในช่วงต้นทศวรรษ 2500 ยุคที่เศรษฐกิจของไทยยังด้อยพัฒนามากๆ ท่านเล็งเห็นถึงความจำเป็นในเรื่องของการพัฒนาบ้านเมือง ซึ่งแท้จริงอาจไม่ใช่บทบาทของธนาคารกลาง แต่เนื่องจากประเทศไทยกำลังพัฒนา รวมทั้งบุคลากร หรือว่าองค์กรที่จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาก็ยังมีไม่มาก ท่านจึงสนับสนุนให้แบงก์ชาติรับบทบาทในเรื่องของการพัฒนาด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการช่วยสนับสนุนทางด้านการเงิน ซึ่งบทบาทโดยตรงของแบงก์ชาติในยุคนั้นส่วนหนึ่งก็คือสนับสนุนให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แก่ภาคเศรษฐกิจที่เห็นว่ายังต้องการการสนับสนุนอยู่ และเนื่องจากอาจารย์ป๋วย ดำรงตำแหน่งอยู่ในองค์กรทางเศรษฐกิจหลักทั้ง 4 แห่งของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่ชาติ (สภาพัฒน์ฯ) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และแบงก์ชาติ เท่ากับว่าท่านดูเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด จึงสามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีมาก

อีกหนึ่งคุโนปการในด้านเศรษฐกิจที่ท่านได้วางไว้ให้ก็คือการบริหารปริมาณเงินในประเทศ สำหรับวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร เงินเฟ้อไหม จะมีเสถียรภาพหรือไม่

ดร.ธาริษา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ อาจารย์ป๋วย ได้วางกรอบในเรื่องของงบประมาณเอาไว้ ไม่ให้ผูกขาดที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ทั้ง 4 หน่วยงานหลักจะต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกันในระดับมหภาค โดยตนคิดว่าสิ่งนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากเป็นกลไกที่จะทำให้มั่นใจได้ตั้งแต่ต้นว่าการดูแลเศรษฐกิจมันจะมีความสอดคล้องกันตั้งแต่ต้น แล้วก็กรอบตรงนี้ก็ได้ใช้มาจนกระทั่งทุกวันนี้

“ในขณะนี้ได้ที่แนวคิดจะเสนอให้กำหนดเป็นกฎหมายชัดเจนว่าเป็นหน้าที่ของ 4 หน่วยงานที่จะต้องพิจารณาร่วมกัน สานต่อจากผลงานของท่านที่ได้วางพื้นฐานให้กับประเทศชาติในเรื่องของเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ อาจารย์ป๋วยยังเป็นผู้ริเริ่มในเรื่องของการตั้งสำนักงานสาขาของแบงก์ชาติ รวมไปถึงที่ท่านให้ความสำคัญในเรื่องของการศึกษา ท่านจึงเป็นผู้ริเริ่มเกี่ยวกับการให้ทุน คือ ทุนแบงก์ชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2503 และทำเรื่อยมาจนกระทั่งมีนักเรียนที่ได้รับอานิสงค์จากทุนดังกล่าวกว่า 100 คน โดยนักเรียนทุนเหล่านี้ไม่เพียงแค่เข้ามาทำงานในแบงก์ชาติ แต่ยังมีอีกไม่น้อยที่ไปทำงานในหน่วยงานภาครัฐอื่น หรือหน่วยงานเอกชน ทำให้เห็นถึงมุมมองที่กว้างไกลของท่าน

รางวัลรามอนแมกไซไซ หรือโนเบลสาขาสันติภาพแห่งเอเชีย เชิดชูเกียรติการทำงานอุทิศตนในสังคมประชาธิปไตย
รางวัลรามอนแมกไซไซ หรือโนเบลสาขาสันติภาพแห่งเอเชีย เชิดชูเกียรติการทำงานอุทิศตนในสังคมประชาธิปไตย

เนื่องจากยุคนั้นคนเราขาดแคลนมากและเอกชนยังไม่มีความเข้มแข็ง การสร้างคนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งหลายทั้งปวงที่สุดแล้วคือคุโณปการที่ อาจารย์ป๋วยทำให้แบงก์ชาติ คือท่านสร้างความเป็น DNA ของแบงก์ชาติ ซึ่งท่านได้เคยกล่าวไว้ว่า

‘คนเก่งหาไม่ยากหรอก แต่ที่สำคัญมากกว่าคือต้องเป็นคนเก่งและคนดี ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตมีคุณธรรมจริยธรรม แล้วก็มีความกล้าที่จะบอกว่าอันนี้ถูกอันนี้ไม่ถูก เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะทำงานกับรัฐบาลอะไร รัฐมนตรีคนไหน อะไรที่ไม่ถูกไม่ควรเราก็ต้องยืนหยัด ยึดหลักการ และผลประโยชน์จากประเทศชาติเป็นหลัก อันนี้ก็เป็นแนวคิดที่ดิฉันคิดว่าเป็นตัวที่ทำให้แบงก์ชาติ สามารถยืนหยัดเป็นองค์กรเสาหลักของเศรษฐกิจ และได้รับความเชื่อถือความไว้วางใจจากประชาชน’

อ.ป๋วยกับงานพัฒนาชุมชน

นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดเชียงราย และนักพัฒนาสังคม กล่าวว่า ตนนั้นเป็นบัณฑิตอาสาสมัคร ในปี 2517-2519 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นบัณฑิตในโครงการ 3 รุ่นสุดท้ายที่อาจารย์ป๋วยมีความใกล้ชิดกับบัณฑิตอาสาสมัครมากที่สุด

“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์คือ ท่านมิได้เป็นแค่นักเศรษฐศาสตร์ แต่ท่านสนใจเรื่องของการพัฒนาจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ท่านมองชีวิตตั้งแต่ชีวิตหนึ่งมาปฏิสนธิในครรภ์มารดา ตั้งแต่สุขภาพอนามัย วิวัฒนาการ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การศึกษา การเมือง อันนี้ก็คือแรงบันดาลใจของบัณฑิตอาสาสมัครในยุคนั้น ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ชนบทถึง 80%”

นางเตือนใจ กล่าวต่อไปว่า อาจารย์ป๋วยเล็งเห็นว่า บัณฑิตส่วนใหญ่ในยุคนั้นจบศึกษาแล้วก็จะไปเป็นข้าราชการ แต่จะเป็นข้าราชการที่ไม่ค่อยรู้จักประชาชน ไม่ค่อยรู้จักวิถีชีวิตแนวคิด ศักยภาพของประชาชน ท่านจึงเน้น 3 เรื่อง ความดี ที่มีอยู่ในชุมชน ความงาม ของวิถีชีวิตวัฒนธรรม และธรรมชาติ และความจริง เป็นภาพรวมต่างๆ ของชุมชน

โดยอาสาสมัครของธรรมศาสตร์ในยุคนั้น จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่ 8 เดือน ต้องไปปฏิบัติหน้าที่กับ โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยม สถานอนามัย นอกจากไปทำงาน ไปเรียนรู้แล้วก็ต้องสร้างองค์ความรู้ คือการทำสาระนิพนธ์ เพื่อที่จะบอกว่าได้เรียนรู้อะไรจากชนบท

“อาจารย์ป๋วยแนะว่า เราไม่ใช่เป็นผู้ที่รู้กว่า แต่เราต้องเป็นผู้ที่ไปเรียนรู้ว่าประชาชนมีศักยภาพ คือสร้างคน ไปเรียนรู้เสาะแสวงหาจากผู้นำชุมชน ซึ่งในยุคนั้น อาจารย์ป๋วยได้ตั้ง 3 องค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนาชนบท คือ มูลนิธิบูรณะชนบท จ.ชัยนาท การรับบัณฑิตอาสาสมัคร และโครงการพัฒนาชนบทลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งโครงการเหล่านั้นได้กลายมาเป็นผู้นำองค์กรพัฒนาชนบททั้งหลายในยุคนี้ แล้วก็ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพร่วมกันมาเป็นเครือข่ายภาคประชาชน สมัชาคนจน กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ต่อสู้ในเรื่องของการแก้ไขปัญหาที่ดิน ป่าไม้ การเสนอ พรบ.เพื่อแก้ปัญหาคนจน มาจนถึงบัดนี้”

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าในช่วงชีวิตของอาจารย์ป๋วย ท่านได้ให้ความสำคัญกับงานอาสาสมัคร โดยท่านบอกว่างานนี้เป็นงานที่ท่านรักที่สุด หากต้องทิ้งงานอะไรแล้วให้เหลือ 1 เดียวก็คืองานบัณฑิตอาสาสมัคร

“ท่านใช้ชีวิตอย่างงดงาม เรียบง่าย และเมตตาต่อศิษย์ทุกคน ท่านจำชื่อบัณฑิตทุกคนได้หมด และกล้าหาญที่จะบอกความจริงหรือคัดค้านสิ่งที่ไม่เป็นความจริงให้ปรากฎแก่สังคมได้ ช่วยให้ประเทศอยู่รอด และยังเป็นครูที่ดีที่สุด”

บรรยากาศภายในงานนิทรรศการ 99 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์
บรรยากาศภายในงานนิทรรศการ 99 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์