วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ช่องว่างคนรวยคนจน การว่างงาน การแย่งชิงน้ำ อากาศผันผวน ความอ่อนแอของประชาธิปไตย ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนในระดับโลก ในการประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ของ WEF (World Economic Forum) มีการเปิดเผยผลการสำรวจทางโน้มของโลกในปี 2015 ที่น่าสนใจยิ่ง
WEF เป็นมูลนิธิไม่มุ่งหวังกำไรของสวิตเซอร์แลนด์ เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ให้โลกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเป็นตัวกลางของการพบปะระหว่างผู้นำจากภาคธุรกิจ เทคโนโลยี การเมือง สังคม เศรษฐกิจ วิชาการ ฯลฯ จากทุกมุมโลกเพื่อร่วมกันหาคำตอบ
การประชุมของ WEF ที่สำคัญที่สุดคือการประชุมประจำปีในหน้าหนาวที่เมือง Davos ซึ่งเป็นแหล่งเล่นสกีที่มีชื่อเสียง ตั้งอยู่ในเทือกเขาแอลป์ แต่ละปีผู้นำกว่า 2,500 คน ไปร่วมประชุม (และหาโอกาสเล่นสกีกันไปด้วย ผู้เขียนยืนยันได้เพราะเห็นมาด้วยตาตนเอง)
WEF ถูกวิจารณ์ว่าเป็นแหล่งสำคัญของการเพาะเชื้อทุนนิยมโลกอย่างเป็นอันตรายแก่โลก ทุกปีในตอนต้นปีจะมีการประชุมภายใต้หัวข้อใหญ่ประมาณ 5 วัน มีการนำเสนอการศึกษาการวิจัย อภิปราย ประชุมถกแถลงใหญ่และย่อยจำนวนมากมายในหลายสถานที่ของเมือง
กลุ่มคนที่เรียกว่า Global Agenda Council Members ของ WEF ร่วมกันใช้ความรู้และประสบการณ์ชี้ให้เห็นว่าอะไรเป็นทางโน้มสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อโลกใน 12-18 เดือนข้างหน้าโดยนำผลจากการสำรวจ Survey on the Global Agenda มาประกอบด้วย สำหรับปี 2015 นี้ 10 ทางโน้มของโลกมีดังต่อไปนี้
(1) สถานการณ์เลวลงของความเหลื่อมล้ำของรายได้ ผู้เชี่ยวชาญให้เป็นทางโน้มที่สำคัญที่สุดเนื่องจากมีผลกระทบอย่างกว้างไกล ถึงแม้ว่าในหลายสังคมในโลกจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (รายได้รวมของคนทั้งประเทศขยายตัว) อยู่ในระดับน่าพอใจ แต่ช่วงห่างระหว่างคนรวยและคนจนก็ถ่างมากยิ่งขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์นี้นำไปสู่ปัญหาความยากจนอย่างยิ่งของคนบางกลุ่ม ความรุนแรง ปัญหาการเมือง ปัญหาสังคม ฯลฯ ได้อีกมากมายและอย่างซับซ้อนมากขึ้น
ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา หากเอาคนรวยและคนจนในประเทศมาเรียงกันลงมาก็จะพบว่าบ่อยครั้งที่ส่วนครึ่งล่างรวมกันเป็นเจ้าของความมั่งคั่งเพียงร้อยละ 10 ของทั้งประเทศ
ข้อมูลของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ สเปน สวีเดน และสหรัฐอเมริกา ปรากฏชัดเจนว่าคนรวยสุด 1 เปอร์เซ็นต์ มีสัดส่วนของความเป็นเจ้าของรายได้รวมของประเทศมากยิ่งขึ้นระหว่างปี 1980 และค่าเฉลี่ยของปี 2008-2012
สหรัฐอเมริกามีช่องห่างที่เพิ่มมากขึ้นที่สุดจาก 8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 18 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่นจาก 7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ฯลฯ
ทวีปที่จะถูกผลกระทบมากที่สุดจากทางโน้มของความเหลื่อมล้ำดังกล่าวคือเอเชีย รองลงมาคืออเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป
(2) การเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานอย่างไม่รู้จบสิ้น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วโดยทักษะและความรู้ของคนมิได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างทัดเทียมกันเป็นสาเหตุสำคัญของทางโน้มนี้ ประเทศของเรายังไม่ถูกกระทบรุนแรงนัก แต่ในประเทศอื่นปัญหานี้เข้มข้นมากขึ้น สำหรับคำถามในการสำรวจว่า “การมีงานทำเป็นปัญหาใหญ่เพียงไรในประเทศของท่าน” ทวีปแอฟริกาเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่มากที่สุด 88 เปอร์เซ็นต์ / อเมริกาใต้ 79 / ตะวันออกกลาง 70 / ยุโรป 71 / อเมริกาเหนือ 54 / เอเชีย 62
(3) การขาดผู้นำของโลก 86 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบคำถามจากการสำรวจระบุว่าโลกประสบวิกฤติขาดผู้นำ เหตุผลก็มาจากการเห็นว่าประเทศใหญ่ในโลกไม่สามารถแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ของโลกได้สำเร็จเลย เช่น ปัญหาโลกร้อน ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ปัญหาความรุนแรง ปัญหาการก่อการร้าย ฯลฯ
คนตะวันออกกลาง (41 เปอร์เซ็นต์) เห็นว่าโลกมีวิกฤติขาดผู้นำรุนแรงที่สุด อเมริกาเหนือ (35) ยุโรป (30) อเมริกาใต้และแอฟริกา (27) และเอเชีย (22)
(4) การแข่งขันภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น เมื่อสงครามเย็นจบสิ้นลงก็เชื่อกันว่าการแข่งขันแย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่างมหาอำนาจได้จบสิ้นลงแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่เป็นความจริง ในปัจจุบัน จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป คือมหาอำนาจ อำนาจทางเศรษฐกิจและทางทหารของจีนเป็นที่ครั่นคร้ามของโลกตะวันตก การต่อสู้สงครามตัวแทนปรากฏชัดในหลายพื้นที่ ทางโน้มของการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นเช่นว่านี้จะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์จำนวนมากในโลก
(5) การอ่อนแอมากขึ้นของประชาธิปไตย มีหลายประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยไม่ทำงานอย่างทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ประชาชนจนหันไปยอมรับรูปแบบการปกครองอย่างอื่นมากขึ้น การประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไทย กัมพูชา บังคลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย ฯลฯ ซึ่งมี “ประชาธิปไตยจ๋า” มีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อประชาธิปไตย ตราบที่เรื่องปากท้องของประชาชนเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่าคุณค่าทางนามธรรมของประชาธิปไตย ทางโน้มนี้จะคงอยู่ใน 12-18 เดือนข้างหน้า
(6) การเพิ่มขึ้นของมลภาวะในประเทศกำลังพัฒนา คนเอเชียเห็นว่าทางโน้มนี้มีความสำคัญในอันดับ 3 จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซมากที่สุดในโลกนับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา ตามติดด้วยสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป คุณภาพชีวิตของคนในประเทศเหล่านี้ลดต่ำลงเพราะมลภาวะเป็นตัวละครสำคัญ
มลภาวะในอากาศในจีนทำให้คนตายเร็วกว่าที่ควรประมาณ 1-2 ล้านคนในปี 2010 ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วเป็นจำนวนปีแห่งการสูญเสียชีวิตของผู้ที่ควรอยู่อย่างมีสุขภาพดีถึง 25 ล้านปี
(7) ความผันผวนสุดโต่งของสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นสาเหตุแห่งการผันผวนอย่างมากของสภาพอากาศ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมอย่างเฉียบพลัน การเกิดของโรคใหม่ ผลเสียต่อการผลิตสินค้าเกษตร ความเดือดร้อนแสนสาหัสของประชาชนในหลายประเทศ ฯลฯ การเกิดขึ้นของสิ่งเหล่านี้ทำให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมากขึ้น แต่กระนั้นก็ตาม โลกยังไม่สามารถจัดการกับสภาวการณ์นี้ได้อย่างเห็นผล
(8) ความเข้มข้นขึ้นของความเป็นชาตินิยม ปรากฏการณ์ของความพยายามแยกตัวเป็นประเทศใหม่ในหลายดินแดน เช่น สก็อตแลนด์ สเปน แคนาดา ยูเครน ฯลฯ คือหลักฐานของทางโน้มนี้ การลงประชามติของสก็อตแลนด์ในการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรกระตุ้นให้เกิดความคิดเดียวกันในประเทศอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสังคม การขาดความสามัคคี ความไม่ลงรอยในชาติ และอาจเป็นปัญหาข้ามไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ได้
(9) การขาดแคลนน้ำยิ่งขึ้น อินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย และไนจีเรีย ซึ่งล้วนมีประชากรขนาดใหญ่จะถูกกระทบมากที่สุดจากการขาดแคลนน้ำซึ่งทวีปที่ถูกกระทบมากที่สุดจากทางโน้มนี้อันเป็นผลจากการขาดแคลนทรัพยากรน้ำโดยตรงคือเอเชีย ส่วนทวีปแอฟริกานั้นถูกกระทบมากสุดเช่นกัน แต่จากการขาดแคลนทรัพยากรการเงินเพื่อนำน้ำมาใช้
(10) ความสำคัญยิ่งขึ้นของบทบาทสุขภาพในระบบเศรษฐกิจ เมื่อมนุษย์โดยทั่วไปมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น มีข่าวสารมากขึ้น ประกอบกับเกิดความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงเกิดความสนใจในเรื่องสุขภาพของตนเองยิ่งขึ้น ทางโน้มของโลกที่ทั้งภาครัฐและประชาชนให้แก่เรื่องสุขภาพจึงเป็นเรื่องที่ตามมา และมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
การรู้ความเป็นไปได้ของทางโน้มของโลกในรอบปีหน้า อุปมาเสมือนกับคนรู้เลขหวยล็อกล่วงหน้าย่อมตัดสินใจในการเล่นหวย และมีโอกาสรวยได้มากกว่าคนอื่นๆ
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 27 ม.ค. 2558