ThaiPublica > เกาะกระแส > “นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล” อดีต ผอ.สวรส. โต้ข้อกล่าวหา รมช.สาธารณสุข ระบุใช้อำนาจเกิน – ไม่โปร่งใส กรณีถูกปลดพ้นตำแหน่ง

“นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล” อดีต ผอ.สวรส. โต้ข้อกล่าวหา รมช.สาธารณสุข ระบุใช้อำนาจเกิน – ไม่โปร่งใส กรณีถูกปลดพ้นตำแหน่ง

2 กุมภาพันธ์ 2015


ตามที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้ร้องเรียน นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล กรณี 1. รับเงินเดือนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเกินกว่าสัญญาจ้าง 2. การแจ้งความอันเป็นเท็จต่อผู้บังคับบัญชา กรณีการไปร่วมประชุม Eco Health 2014 ที่ประเทศแคนาดา 3. การขาดคุณสมบัติที่เหมาะสม ลอกเลียนผลงานผู้อื่นมาเป็นของตนเอง 5. กรณีพรีมา 6. การขาดธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการเนื่องจากข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชา 7. การอัปเกรดตั๋วเครื่องบิน ซึ่งทางคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้สอบปากคำผู้ร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวทั้งหมดแล้ว จึงมีจดหมายเชิญให้ นพ.สมเกียรติมาให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการฯ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558

นอกจากข้อร้องเรียนดังกล่าว ในการปลด นพ.สมเกียรติออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 เป็นมติของคณะกรรมการที่มี นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการ สวรส. ซึ่งการปลด นพ.สมเกียรติในครั้งนั้น ประธานที่ประชุมให้เหตุผลว่าขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ สวรส. เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายและทำให้ไม่สามารถดำเนินการบริหาร สวรส. ให้เกิดผลดีสูงสุดต่อประเทศชาติสมดังเจตนารมณ์ของ สวรส. จึงมีมติบอกเลิกจ้าง นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล

นพ.สมเกียรติเปิดเผยว่าตนได้ทำหนังสือลงวันที่2 กุมภาพันธ์ 2558 ถึงศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ขอให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยในหนังสือระบุว่าตนได้แจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ได้รับทราบถึงคำสั่งที่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่ ประธานคณะกรรมการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่คณะกรรมการชุดนี้มีองค์ประกอบเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คนที่ตนได้ยื่นหนังสือคัดค้านการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี อันเนื่องจากกระบวนการสรรหาที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นเสมือนคู่กรณีหรือเป็นปรปักษ์ และถือเป็นการคัดค้านกรรมการสอบข้อเท็จจริง แต่ปรากฏว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขมิได้ตอบหรือชี้แจงโต้แย้งหนังสือคัดค้านแต่อย่างใด ซึ่งเท่ากับยอมรับในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ตนได้คัดค้านไป

ทั้งนี้มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 เห็นชอบให้ตนพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ด้วยเหตุผลว่าตนขัดขวางการดำเนินการของคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ทั้งๆ ที่ไม่มีกระบวนการสอบสวนเรื่องดังกล่าวมาก่อนเลย แต่เท่ากับว่าตนกลับได้รับการลงโทษทางวินัยสูงสุด แสดงว่าตนไม่มีความผิดต่อหน้าที่ให้เป็นที่ปรากฏแล้วเพราะถูกให้ออกจากตำแหน่ง ปัจจุบันตนไม่ได้เป็นพนักงาน และมิได้มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขแล้ว จึงไม่ทราบว่าคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงใช้อำนาจอะไรเรียกตนไปสอบในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 การกระทำดังกล่าวจึงเป็นพฤติกรรมแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น และเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยได้ว่าเป็นการดำเนินการย้อนหลังของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อสร้างพยานหลักฐานเท็จให้เกิดขึ้น ถือเป็นการกลั่นแกล้งให้ตนได้รับความเสียหายและได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และหยุดดำเนินการใดๆ ที่มิชอบทั้งหมด เพื่อมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้ ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง และทางปกครอง ซึ่งตนขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินการต่อไป

 นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล  อดีตผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล อดีตผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

อย่างไรก็ตามประเด็นกล่าวหาว่าขัดขวางการดำเนินงานของคณะกรรมการ สวรส. ได้แก่ 1. มีการเลื่อนประชุมคณะกรรมการ สวรส. หลายครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2557 2. ขัดขวางการปฏิบัติงานของอนุกรรมการชุดต่างๆ 3. มีการร้องเรียน ผอ.สวรส. ว่ามีการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบ 6 ประการ (ดูข้างต้น) 4. ไม่อำนวยความสะดวกในการจัดประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 6/2557 วันที่ 12 ธันวาคม 2557 จากข้อกล่าวหาดังกล่าว นพ.สมเกียรติได้ทำเอกสารชี้แจงประเด็นข้อกล่าวหาว่าขัดขวางการดำเนินงานของคณะกรรมการ สวรส.ไปก่อนหน้านี้โดยมีรายละเอียดระบุว่า

– 31 ตุลาคม 2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้นำรายชื่อเสนอผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สวรส.

– 7 พฤศจิกายน 2557 รมว.สธ. เปลี่ยนคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยนำรายชื่อเสนอคณะรัฐมนตรีโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการ สวรส. ในวันที่ 17พฤศจิกายน 2557

– 10 พฤศจิกายน 57 ได้รายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน เสนอให้คณะรัฐมนตรีในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 แต่ไม่มีการพิจารณาเนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีภารกิจต่างประเทศ

– 11 พฤศจิกายน 2557 นพ.สมเกียรติ (ผอ.สวรส.) ทำหนังสือไปยัง รมช./รมว.สาธารณสุข และรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ ยุทธวงศ์) เรื่อง คัดค้านคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เนื่องจากกรรมการทั้ง 3 คน มีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่รับทุนวิจัยจาก สวรส. รวม 92.7 ล้านบาท

– 13 พฤศจิกายน 2557 นพ.สมเกียรติเข้าหารือกับนพ.สมศักดิ์ รมช.สาธารณสุขว่าจะมีวาระประชุมคณะกรรมการ สวรส. ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 57 (ตามมติที่ประชุมทุกวันจันทร์สัปดาห์ที่ 3 เดือนเว้นเดือน) โดยกำหนดวาระสำคัญเรื่อง ความไม่โปร่งใสของ การบริหารโครงการที่รับทุนวิจัยจากประเทศแคนาดา (IDRC)ซึ่งเป็นงานของอดีต ผอ.สวรส. ซึ่งอยู่ในทีมสนับสนุนวิชาการของ รมว./รมช. จากนั้น รมช.สธ. จึงออกหนังสือลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 มาถึง สวรส. เวลา 10.56 น. ให้เลื่อนการประชุมคณะกรรมการ สวรส. อย่างไม่มีกำหนด

– 17 พฤศจิกายน 2557 นพ.สมเกียรติทำหนังสือไปยัง รมช.สธ., รมว.สธ. และรองนายกรัฐมนตรี (ยงยุทธ ยุทธวงศ์) เพื่อคัดค้านรายชื่อกรรมการสรรหาและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เนื่องจากไม่มีการกลั่นกรองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

– 18 พฤศจิกายน 2557 นพ.สมเกียรติทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องคัดค้านรายชื่อกรรมการสรรหาและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง

– 18 พฤศจิกายน 2557 คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน ตามที่ รมว.เสนอ

– วันพฤหัสที่ 20 พฤศจิกายน 2557 มีหนังสือที่ สธ.0100.1/3498 จาก รมช.สธ. ให้ประชุมคณะกรรมการวันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2557

– 21 พฤศจิกายน 2557 นพ.สมเกียรติ ทำหนังสือที่ สวรส. (พิเศษ) ผอ.011/2557 ขอทราบวันนัดอื่น เนื่องจากวันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2557 มิใช่เป็นวันที่มติคณะกรรมการได้กำหนดไว้

– 21 พฤศจิกายน 2557 มีหนังสือที่ สธ 0100.1/3521 จาก รมช.สธ. ให้เลื่อนเป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน 57

– 24 พฤศจิกายน 2557 เนื่องจากประธานฯ (นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์) ต้องการให้มีประชุมคณะกรรมการ สวรส. วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 ผอ.สวรส. จึงทำหนังสือที่ สวรส. (พิเศษ) ผอ.016/2557 ขอทราบวันนัดอื่น เนื่องจากวันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2557 รมว.สธ. ได้อนุมัติให้ ผอ.สวรส. ไปปฏิบัติราชการ เพื่อบรรยายในฐานะ keynote speaker เรื่อง Future Role of Biomedical Innovation on Health Systems Strengthening. ณ ประเทศญี่ปุ่น

– 24 พฤศจิกายน 2557 เวลาเที่ยงคืน นพ.สมเกียรติ ผอ.สวรส. ออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น

– 25 พฤศจิกายน 2557 เวลา 22.48 น. เวลาท้องถิ่นที่ญี่ปุ่น ได้รับหนังสือผ่านทางไลน์จากรอง ผอ. ว่ามีหนังสือที่ สธ 0100.1/ว 688 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 Fax มาถึง สวรส. วันที่ 25 พฤศจิกายน 57 เวลา 8.59 น. เพื่อเชิญประชุมวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 โดยมีวาระการประชุมเรื่องเดียวคือ “เรื่อง กลไก แนวทางการกำกับ ติดตาม การดำเนินงานของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข”

– 26 พฤศจิกายน 2557 เวลา 15.00 น. เวลาท้องถิ่นที่ญี่ปุ่น ได้ส่งบันทึกข้อความที่ สวรส. (พิเศษ) ผอ.019 /2557 ขอให้นำเสนอวาระที่ 4.1 แทนฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในการประชุมคณะกรรมการในวันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน 2557

นพ.สมเกียรติระบุว่า “จากหลักฐาน ในช่วงวันที่ 24-26 พฤศจิกายน 2557 จะเห็นได้ว่า ตามภววิสัยที่ รมช.สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการ สวรส. พึงปฏิบัติในการเชิญประชุมในเรื่องที่สำคัญ ในการใช้วิจารณญาณที่จะตัดสินใจเชิญประชุมนั้น เมื่อทราบว่า ผอ.สวรส. ในฐานะที่เป็นกรรมการและเลขานุการของที่ประชุมนั้น ติดภารกิจสำคัญในการไปปฏิบัติราชการต่างประเทศตามที่ รมว.สธ. อนุมัติ รมช.สธ ก็ไม่ควรเรียกประชุม อีกทั้งโดยตำแหน่ง รมช. ไม่มีอำนาจลงนามในหนังสือเชิญ แต่ก็ดำเนินการออกหนังสือเชิญประชุมเอง (ลงนามหนังสือเชิญในตำแหน่ง รมช.สธ. และ ผอ.สวรส. ได้ทำหนังสือชี้แจงว่าติดภารกิจต่างประเทศแล้ว และขอทราบวันนัดอื่นก่อนออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เมื่อตนทราบจาก รอง ผอ. สวรส. ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 เวลา 22.48 น. (เวลาท้องถิ่นที่ญี่ปุ่น) และในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 เวลา 15.00 น. (เวลาท้องถิ่นที่ญี่ปุ่น) ตนก็ได้ส่งบันทึกข้อความ ให้รอง ผอ.จรวยพร นำเสนอวาระที่ 4.1 แทนฝ่ายเลขานุการ ในวันประชุม 27 พฤศจิกายน 2557 ซึ่งเป็นไปตามวาระการประชุม “เรื่อง กลไก แนวทางการกำกับ ติดตาม การดำเนินงานของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข” ที่ได้รับแจ้ง”

นพ.สมเกียรติกล่าวต่อว่า “การที่อ้างว่า ผอ.สวรส. รู้ว่าจะมีการประชุม 27 พฤศจิกายน 2557 ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 นั้นไม่เป็นความจริง และการที่ ผอ.สวรส. ได้มีคำสั่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขที่ 52/2557 ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ที่ไม่ได้มอบอำนาจให้รอง ผอ. เป็นกรรมการและเลขานุการ เป็นการใช้วิจารณญาณที่พึงทำได้ตามความในข้อ 11 (2), (3) ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2546”

รมช.สธ.ตั้งอนุกรรมการ สวรส. ขัดต่อ พ.ร.บ.สวรส. และมีผลประโยชน์ทับซ้อน

ส่วนประเด็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ นพ.สมเกียรติกล่าวว่า จากการที่ รมช.สธ. ลงนามในหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการ สวรส. ครั้งที่ 5/2557 ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 เอง โดยกำหนดวาระประชุม 4.1 เรื่อง กลไก แนวทางการกำกับ ติดตาม การดำเนินงานของ สวรส. นอกจากจะไม่ปรากฏว่ามีวาระเพื่อพิจารณาคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ แล้ว ยังไม่มีรายนามอนุกรรมการที่ฝ่ายเลขานุการต้องดำเนินการนำเสนอให้แต่งตั้ง และยังไม่มีการระบุอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการแต่ละชุดมาพร้อมในการดำเนินการนำเสนอให้คณะกรรมการ สวรส. พิจารณาเห็นชอบได้ กระบวนการเหล่านี้เป็นหน้าที่ของฝ่ายเลขานุการที่จะต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนก่อนบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมเป็นขั้นตอนปกติอยู่แล้ว ซึ่งตนไม่สามารถดำเนินการขัดต่อกฎหมายได้ จึงขอให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะกรรมการ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ ตนจึงมิได้มีพฤติกรรมดังที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

อนึ่ง การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ สวรส. ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มิใช่เป็นอำนาจของประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข แต่หลักฐานที่ปรากฏในรายงานการประชุมคณะกรรมการ สวรส. ครั้งที่ 5/2557 ได้ระบุว่าคณะกรรมการมอบหมายให้ประธานฯ ไปคัดเลือกอนุกรรมการแล้วดำเนินการแต่งตั้งเองโดยไม่ต้องนำเสนอให้คณะกรรมการเห็นชอบนั้น เป็นกระทำที่ขัดต่อมาตรา 9 เจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติไว้เช่นนี้ เพื่อป้องการการแทรกแซงด้านวิชาการจากนักการเมืองที่มาดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการ ส่งผลให้คำสั่งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ตามคำสั่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขที่ 54/2557 และ 64/2557 ที่ลงนามโดย รมช.สธ. ทั้งสองฉบับนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ฝ่ายเลขานุการต้องดำเนินการนำรายชื่ออนุกรรมการพร้อมอำนาจและหน้าที่ของคณะอนุกรรมการแต่ละชุด นำเสนอให้คณะกรรมการ สวรส. เพื่อพิจารณาแต่งตั้งต่อไป

ต่อเรื่องนี้ นพ.สมเกียรติได้มีหนังสือที่ สวรส. (พิเศษ) ผอ. 034 /2557 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2557 แจ้งว่าจากการประชุมคณะกรรมการ สวรส. ครั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 มีมติที่ประชุมมอบอำนาจให้ประธานคณะกรรมการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 4 ชุด โดยไม่ต้องเข้ามาหารือในคณะกรรมการฯ นั้น มติดังกล่าวขัดกับมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่กำหนดอำนาจให้คณะกรรมการในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ไม่ได้ให้อำนาจประธานคณะกรรมการในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการโดยไม่ต้องนำรายชื่อมาให้คณะกรรมการเห็นชอบก่อน หากมีขั้นตอนที่ระบุไว้ชัดเจนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มติคณะกรรมการเป็นเพียง “ดุลพินิจ” ไม่สามารถหักล้างมาตราในพระราชบัญญัติได้

ทั้งนี้ได้แนะนำไปว่า ควรนำรายชื่อทั้งหมดที่ปรากฏในคำสั่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขที่ 54/2557 นี้ และผ่านการตรวจสอบการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ให้ขัดต่อมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 [แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2550 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554] เข้าที่ประชุมคณะกรรมการ สวรส. เพื่อพิจารณาแต่งตั้ง จึงเป็นขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากรายชื่อดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏอยู่ในรายงานการประชุม

“การกล่าวหาว่า ผอ.สวรส. ขัดขวางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ จึงไม่เป็นความจริงแต่ประการใด เนื่องจากยังไม่มีคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ สวรส. โดยชอบ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแต่อย่างใด” นพ.สมเกียรติกล่าว

ผู้ถูกกล่าวหาไม่ทราบข้อกล่าวหาต้องขอสำเนาจากศาลปกครอง

นอกจากนี้คำสั่งคณะกรรมการ สวรส. วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ระบุว่า มีการร้องเรียน นพ.สมเกียรติว่ามีการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบ 6 ประการ โดยมีบัตรสนเท่ห์ที่ไม่ปรากฏนามจริง ซึ่งประกอบด้วย 10 เหตุผลในการปลดผู้อำนวยการ สวรส. ไปให้คณะอนุกรรมการประเมินผลการปฏิบัติครบรอบหนึ่งปีของ ผอ.สวรส. ซึ่งทางคณะอนุกรรมการฯ ไม่นำมาพิจารณาเนื่องจากไม่ปรากฏนามจริงในการร้องเรียน

นพ.สมเกียรติกล่าวว่า ต่อมา ในที่ประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 5/2557 (วาระลับ) วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 รมช.สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการ ได้นำรายชื่อผู้ร้องเรียน 17 คนมาแสดงในที่ประชุมเอง แล้วเก็บกลับไป ซึ่งในวันถัดมา รมช.สธ. ก็ลงนามในคำสั่งคณะกรรมการ สวรส. ที่ 1/2557 ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งประกอบด้วย ศ. นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ เป็นประธาน, นายชำนาญ พิเชษฐพันธ์, นายศุภกิจ ศิริลักษณ์, นายไพโรจน์ แสงมณี เป็นกรรรมการ และ นายสมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา เป็นกรรมการและเลขานุการ

นพ.สมเกียรติกล่าวว่า ตนได้ทำหนังสือที่ สวรส. (พิเศษ) ผอ.024/2557 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2557 ไปยังประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และได้ทำหนังสือที่ สวรส. (พิเศษ) ผอ 027/2557 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2557 ถามถึงอำนาจตามกฎหมายของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากทั้งสองฉบับต้องการให้ ผอ.สวรส. ส่งพยานเอกสารและพยานบุคคลซึ่งเป็นเอกสารสำคัญทางราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่ร้องขอ แต่ไม่มีสำเนาคำสั่งแนบท้าย ผอ.สวรส. และไม่ระบุอำนาจสอบสวนตามกฎหมาย จึงร้องขอสำเนาคำสั่งฉบับกล่าว

“เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผมในฐานะผู้อำนวยการ และการร้องขอเอกสารสำคัญทางราชการและเรียกตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐไปสอบสวนนั้นต้องมีอำนาจของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายอาญาแต่ไม่มีการตอบสนองแต่อย่างใด ผมได้ทำหนังสือถึง รมช.สธ. [หนังสือที่ สวรส. (พิเศษ) ผอ 035/2557 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2557] เพื่อขอสำเนาคำสั่งคณะกรรมการ สวรส. ที่ 1/2557 สั่ง ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 หาก รมช.สธ. มีความจริงใจในการให้ความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา ก็ควรส่งคำสั่งดังกล่าวตามที่ผมร้องขอ แต่ผมได้สำเนาคำสั่งดังกล่าวนี้จากศาลปกครองเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ซึ่งใช้เวลานานเกือบ 1 เดือนกว่าผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับทราบคำสั่งที่ถูกตรวจสอบข้อเท็จจริง” นพ.สมเกียรติกล่าว

รมช.สธ ใช้อำนาจเกินตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ

นอกจากนี้ จากรายงานจากประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามหนังสือที่ สธ 0100/พิเศษ ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2557 แจ้งให้ รมช.สธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการ สวรส. ว่า การที่ ผอ.สวรส. ปฏิเสธอำนาจของประธานคณะกรรมการที่แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่ให้ความร่วมมือในการอนุญาตให้พนักงานมาให้ปากคำและไม่ให้นำเอกสารใดๆ มาให้แก่คณะกรรมการตรวจสอบ จึงเสนอให้พักงาน ผอ.สวรส. หรือบอกเลิกสัญญาจ้าง ผอ.สวรส. หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นๆ ที่คณะกรรมการ สวรส. เห็นสมควรนั้นเป็นการกล่าวหาตนโดยมิชอบ เนื่องจากตนในฐานะผู้บริหารขององค์กรต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เมื่อมีแค่หนังสือแจ้งขอเอกสารสำคัญทางราชการ และขอเจ้าหน้าที่ของรัฐไปสอบสวน จึงต้องตรวจสอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ลงนามในหนังสือดังกล่าว มิเช่นนั้นอาจมีผู้แอบอ้างขอเอกสารราชการสำคัญใดๆ หรือเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐไปตรวจสอบโดยไม่ต้องมีอำนาจใดก็ได้

นพ.สมเกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่า โดยสรุป คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงชุดนี้กล่าวหาตนโดยมิชอบ ทั้งที่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงใดๆ ตามข้อกล่าวหาแต่ก็สรุปความเห็นให้ประธานคณะกรรมการ สวรส. เพื่อสั่งการพักงาน ผอ.สวรส. หรือบอกเลิกสัญญาจ้าง ผอ.สวรส. ทั้งๆ ที่มีกรรมการโดยตำแหน่งทักท้วงว่าคะแนนผลการปฏิบัติงานของ ผอ.สวรส. สูงถึงร้อยละ 90.7 จะอธิบายเหตุผลในการสั่งพักงานหรือเลิกสัญญาจ้างได้อย่างไร

นอกจากนั้น รมช.สธ. แม้จะเป็นผู้รับมอบอำนาจจาก รมว.สธ. แต่มีข้อยกเว้น ซึ่ง รมว.สธ. ได้สงวนการมอบอำนาจในเรื่องการสั่งการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์และขอความเป็นธรรม การลงนามของ รมช.สธ. ในคำสั่งคณะกรรมการ สวรส. วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

หนังสือนัดการประชุมบอร์ด สวรส. ออกโดยผู้ช่วยเลขา รมต.-ไม่ใช่วาระเร่งด่วน

นอกจากนี้ นพ.สมเกียรติกล่าวอีกว่า หนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการ สวรส. เป็นหนังสือกระทรวงสาธารณสุข ที่ สธ 0100/ว 3076 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ลงนามโดยนายยงยศ ธรรมวุฒิ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (วาระลับ) ในวันที่ 12 ธันวาคม 2557 เวลา 13.30-16.00 น. นั้น การเชิญประชุมนอกเหนือจากมติที่ประชุมคณะกรรมการและไม่ปรากฏว่ามีวาระเร่งด่วน รวมทั้งไม่ปรากฏวาระในหนังสือเชิญประชุม ตนในฐานะที่เป็นกรรมการและเลขานุการ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ได้ทำหนังสือแย้งวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ไว้ 3 ประเด็น คือ

1) เนื่องจากผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในองค์ประกอบของคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เลย การลงนามโดยไม่มีอำนาจในหนังสือเชิญ อาจก่อให้เกิดปัญหาการประชุมที่มิชอบด้วยกฎหมายได้
2) การประชุมตามหนังสือเชิญนี้ มิได้กำหนดวาระแน่นอนว่าจะประชุมด้วยเรื่องอะไร เร่งด่วนอย่างไร จึงต้องจัดประชุมที่แจ้งล่วงหน้าเพียงแค่ไม่กี่วัน ทำให้กรรมการหลายท่านไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้อีกด้วย
3) เป็นวันประชุมที่ไม่เป็นไปตามมติคณะกรรมการที่กำหนดไว้ตามที่กฎหมายที่บัญญัติ

นพ.สมเกียรติกล่าวต่อว่า สาระสำคัญที่ รมว.สธ. ยื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีมี 2 ประเด็น คือ อ้างเป็นเหตุให้เกิดผลเสียหายและทำให้ไม่สามารถดำเนินการบริหาร สวรส. ให้เกิดผลดีสูงสุดต่อประเทศชาติสมดังเจตนารมณ์ของ สวรส. จึงได้มีมติให้บอกเลิกจ้างตน

“ผมจึงปฏิเสธความชอบธรรมและอำนาจของคณะกรรมการ สวรส. เพราะการที่ รมช.สธ. ปฏิบัติราชการแทน รมว.สธ. ในตำแหน่งประธานคณะกรรมการ สวรส. ทั้งๆ ที่มิได้รับการมอบอำนาจจาก รมว.สธ. ตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 1199/2557 ณ วันที่ 12 กันยายน 2557 ตามข้อ 2.2 และข้อ 3.4 ที่ยกเว้นไว้นั้น จึงเป็นการออกมติที่มีฐานะเป็นคำสั่งทางปกครอง โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่สุจริต และเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ตามความในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542”

นพ.สมเกียรติกล่าวต่อว่าตนได้ฟ้องศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 โดยฟ้อง 1.คณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 2.ประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 3.กระทรวงสาธารณสุข(ดูรายละเอียด) และได้ร้องขอความคุ้มครองต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ป.ป.ช.)ซึ่งสำนักงานป.ป.ช.ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557 กรณีขอรับความคุ้มครองตามนัยมาตรา 103/5 ประกอบมาตรา 103/2 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554

(ดูเพิ่มเติม ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล เปิดใจกรณีถูกปลดพ้นตำแหน่ง)