ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐศาสตร์ดนตรี: จาก Mozart สู่ Taylor Swift

เศรษฐศาสตร์ดนตรี: จาก Mozart สู่ Taylor Swift

14 กุมภาพันธ์ 2015


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ : www.settakid.com
ที่มาภาพ : www.settakid.com

มันน่าทึ่งมากหากเราลองหยุดคิดสักพักและจินตนาการว่าดนตรีคืออะไรในยุคศตวรรษที่ 17

ในสมัยนั้น การที่คนเราจะได้ฟังดนตรีชั้นเยี่ยมแนวตะวันตกจะต้องเดินทางไปฟังในโรงอุปรากรหรูหราด้วยตัวเอง แต่งตัวดูดีมีสกุล แถมบางแห่งเขาจะไม่บรรเลงเพลงเก่าๆ ด้วย ตัวโน้ตต่างๆ ที่ลอยเข้าหูเราไปนั้นก็ไปแล้วไปลับ ย้อนกลับไปฟังตัวโน้ตตัวเดิมเสียงเดิมอารมณ์เดิมอีกไม่ได้

หากลองเร่งเวลาจากสมัยนั้นเข้าสู่ปี ค.ศ. 1995 เราจะพบว่าโลกของดนตรีนั้นเปลี่ยนไปมาก ผู้คนเริ่มฟังดนตรีแบบพกพาไปที่ไหนก็ได้ เทคโนโลยีเทปและซีดีทำให้นักดนตรีสามารถทำให้บทเพลงของตัวเองถูกฟังโดยคนเป็นล้านๆ คนได้โดยไม่ต้องออกแรงบรรเลงเองเป็นล้านๆ ครั้ง คุณจะฟังกี่ครั้งคุณภาพของเพลงก็ไม่ตก นักดนตรีพกพาของคุณไม่มีคำว่าเหนื่อยล้า

สุดท้าย เมื่อเรากลับมาสู่โลกแห่งปัจจุบันที่กำลังเต็มไปด้วยเทรนด์ใหม่ๆ เช่น Internet Radio เราจะเห็นได้ชัดเลยว่า “ความเป็นดนตรี” นั้นเปลี่ยนแปลงจากสมัยศตวรรษที่ 17 จนแทบจะไม่มีเค้า สมัยนี้เราอยากจะหาเพลงเก่าแค่ไหนก็หามาฟังก็ทำได้ด้วยความสะดวกที่ปลายนิ้ว ไม่รู้ชื่อเพลง รู้แต่ทำนองแค่สองท่อนก็ยังฮัมใส่มือถือเพื่อให้มือถือหาชื่อเพลงให้เราไปซื้อได้ ยิ่งไปกว่านั้น บางทีสมองกลคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ไกลจากบ้านเราเป็นหลายหมื่นกิโลเมตรนั้นยังรู้มากกว่าและเร็วเสียยิ่งกว่าตัวเราเองอีกว่าเรากำลังจะอยากฟังเพลงแนวไหน!

จุดต่างที่สำคัญที่สุดคือการเสพดนตรีในปัจจุบันนั้นบางทีไม่ต้องจ่ายเงินเลยสักแดง…

บทความนี้จะชวนผู้อ่านไปลองคิดกันดูว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งนี้มีผลกับวงการดนตรีอย่างไร ทำไมราคาดนตรีดิจิทัลถึงถูกลงเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่บางคนยังยืนยันว่าดนตรีเป็นสิ่งที่มีค่า ทำไมสะพานข้ามแม่น้ำเหมือนกับดนตรีมากกว่าที่คุณคิด และอนาคตของดนตรีจะเป็นเช่นไร

ความเป็นจริงของวงการดนตรีสมัยใหม่

ที่มาภาพ : http://www.talkingnewmedia.com/wp-content/uploads/2014/07/MusicSales.jpg
ที่มาภาพ: http://www.talkingnewmedia.com/wp-content/uploads/2014/07/MusicSales.jpg

“Because I’m happy, clap along if you feel like a room without a roof…”

คงไม่มีใครที่ผ่านพ้นปีที่แล้วมาได้โดยที่ไม่เคยได้ยินท่อนฮุคสุดฮิตด้านบนจากเพลง “Happy” ของ Pharrell Williams เพลงนี้ฮิตติดชาร์ทไปทั่วโลกและคว้ารางวัลแกรมมี่ 2015 ล่าสุดมาให้กับเขา

แต่คุณทราบหรือไม่ว่ามีข่าวว่า Pharrell ได้รายได้จากการเปิดเพลงนี้กว่า 43 ล้านครั้งใน Pandora (เว็บไซต์ Internet Radio) แค่ 2,700 ดอลลาร์เท่านั้นในปีที่แล้ว เฉลี่ยแล้วเปิด 1 ล้านครั้งได้แค่ 60 ดอลลาร์ (ประมาณสองพันบาท) แน่นอนว่านี่ไม่ใช่แค่ช่องทางเดียวที่ Pharrell สามารถทำรายได้จากเพลงนี้ แต่ก็ยังอดคิดไม่ได้ว่าทำไมการเปิดเพลงฮิตระดับนี้ 1 ล้านครั้งมันทำรายได้ให้กับอัจฉริยะนักแต่งเพลงฮิตอย่าง Pharrell แค่ประมาณค่าเติมน้ำมันรถสองถัง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้นในโลกของธุรกิจดนตรี จากเดิมที่บริษัท Apple ดูเหมือนว่าจะสามารถสร้างตลาด Digital format ได้อย่างมั่นคง ขณะนี้กลับมีเทรนด์ใหม่ในธุรกิจดนตรีที่หลายฝ่ายคาดว่าจะเข้ามาแทนที่ นั่นก็คือเทคโนโลยี Internet Streaming ผ่านเว็บไซต์ชื่อดังเช่น Pandora และ Spotify นั่นเอง Pandora คือเว็บไซต์ Internet Radio ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและขณะนี้มีผู้ใช้งานกว่า 76 ล้านคน Pandora ไม่อนุญาตให้ผู้ใช้งานเลือกเพลงได้แต่มีจุดเด่นคือจะใช้สมองกลเพื่อวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดยักษ์เพื่อแนะนำเพลงที่คาดว่าผู้ใช้งานแต่ละคนจะชอบฟัง ส่วน Spotify นั้นเป็นน้องใหม่ที่มาแรง คุณเลือกเพลงได้เกือบทุกเพลงบนโลกนี้ที่มีค่ายสังกัดที่ใหญ่พอสมควร ขณะนี้มีผู้ใช้งานที่จ่ายค่าสมาชิกรายเดือนกว่า 28 ล้านคน

ดูเหมือนว่าผู้บริโภคทั่วไปจะแฮปปี้กันถ้วนหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เมื่อราคาเพลงต่ำลงและมีเพลงให้เลือกมากมายแบบไม่รู้จบ ถึงทั้งชีวิตนี้จะชอบฟังแค่เพลงเดียว เพลงนึงก็ยังมี cover อีกไม่รู้กี่เวอร์ชั่นให้เลือกได้ ผู้บริโภคดนตรีสมัยนี้จึงมีโอกาสและช่องทางที่จะมีความสุขกับดนตรีได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน อีกทั้งยังต้องไม่ลืมว่าราคาเพลงที่ถูกลงนี้ทำให้ผู้บริโภคมีเงินเหลือเอาไปใช้จ่ายเพื่อบริโภคสินค้าหรือบริการอื่นๆ เพื่อเพิ่มความพอใจในชีวิตอย่างที่เมื่อก่อนทำไม่ได้อีกด้วย

ที่มาภาพ : http://pixabay.com/p-35026
ที่มาภาพ: http://pixabay.com/p-35026

แต่สำหรับเหล่าศิลปินแล้ว การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีทั้งหวานทั้งขม ในขณะที่ศิลปินยอดนิยมอย่าง Taylor Swift ได้เงินรายเดือนกว่า 5 แสนดอลลาร์ (16 ล้านบาท) จาก Spotify นักเชลโล่เดี่ยวทันสมัยฝีมือดี Zoe Keating ได้เงินแค่ 547.71 ดอลลาร์ ทั้งปีจากการเปิดเพลงของเธอกว่าแสนครั้งใน Spotify 547.71 ดอลลาร์นี่มีค่าประมาณค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ห้องนอนเดี่ยวในเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ แค่ไม่ถึงสองอาทิตย์

มันทำให้เราฉุกคิดว่าอะไรทำให้ Taylor Swift กับ Zoe Keating ได้รับผลตอบแทนทางเงินตราและความโด่งดังที่ต่างกันแทบฟ้ากับดิน ถ้าพูดถึงฝีมือใน “การประกอบดนตรี” ใครที่ร้องเพลงเป็นจะทราบดีว่าทักษะในการร้องเพลงไม่ใช่จุดแข็งของ Taylor แต่จุดที่ Taylor ฉายเด่นอยู่เหนือกว่าศิลปินอื่นๆ ทุกวันนี้อยู่ที่ความสามารถในการประพันธ์เพลงให้มีเนื้อหาตรึงใจ เข้าใจง่าย และมีทำนองที่ติดหู อีกทั้งยังไม่รวมทักษะอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับดนตรี

ในขณะเดียวกัน Zoe ถือว่าเป็นนักเชลโล่เดี่ยวที่ฝีมือไม่เบา แถมยังแต่งเพลงได้ลึกลับซับซ้อนน่าหลงใหล สามารถเล่นเอง loop เองคนเดียวได้

สิ่งที่ Taylor มีแต่ Zoe ไม่ได้แสดงออกเห็นจะเป็นทักษะอื่นๆ ที่ปกติแล้วไม่ได้เอาไว้เล่นดนตรี เช่น การสร้างลัทธิแฟนคลับที่เหนี่ยวแน่น การพรีเซนต์ตัวเองให้เป็นที่รักของแฟนคลับและการทำมาร์เก็ตติ้งอย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะผ่านการแต่งเนื้อร้องให้ถูกใจตลาดวัยทีน การปลอมตัวเป็นคนส่งของขวัญวันคริสต์มาสให้กับแฟนเพลง การแถมซีดีเมื่อสั่งพิซซ่า หรือการทำตัวให้เป็นที่น่าดึงดูดในที่สาธารณะและในโลกของโซเชียลมีเดีย

เปลี่ยนเงิน…เปลี่ยนดนตรี

ที่มาภาพ :  https://imgflip.com/i/eajp9
ที่มาภาพ: https://imgflip.com/i/eajp9

หากเรามองว่า “เงิน” และ “ความโด่งดัง” เป็นมาตราวัดความสำเร็จของศิลปินในยุคปัจจุบัน นั่นก็แปลว่าเทรนด์และกลไกของตลาดดนตรีสมัยใหม่กำลังให้รางวัลกับศิลปินที่มีทักษะแบบ Taylor และลงโทษศิลปินที่มีทักษะแบบที่ Zoe มี

จะเป็นศิลปินที่มั่งคั่งและโด่งดังได้ในสมัยนี้ต้องหมั่นฝึกฝนทักษะอีก 108 อย่างแบบที่ Taylor ทำอย่างนั้นจริงๆ หรือ

เหล่าสถานศึกษาด้านดนตรีที่ปกติมีหน้าที่ผลิตนักดนตรีออกมาปีละมากมายก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ต่างก็ต้องปรับตัวปรับหลักสูตรเพื่อให้นักดนตรีรุ่นใหม่สามารถอยู่รอดได้ในสภาวะเช่นนี้โดยการเริ่มสอนมาร์เก็ตติ้ง PR โซเชียลมีเดีย และ entrepreneurship ในหลักสูตรใหม่ โพลในสหรัฐฯ อเมริกาบอกว่า 3 ใน 4 ของนักดนตรีประกอบอาชีพอื่นที่ไม่เกี่ยวกับดนตรีไปพร้อมๆ กัน ยิ่งไปกว่านั้น 66% ของนักดนตรีบอกว่ามีรายได้จากการเล่นดนตรีแค่ไม่ถึง 20% ของรายได้ทั้งหมด

คนเรามีแค่ 24 ชั่วโมงต่อวัน นักดนตรีแท้ๆ คงไม่มีคนไหนบอกว่าไม่ต้องซ้อม ถ้าศิลปินยุคใหม่ต้องเรียนทักษะใหม่ๆ ทั้งหมดนี้บวกกับการออกงาน PR ออกงานถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย เดินทางไปเยี่ยมบ้านแฟนคลับ เป็นแบบนี้แล้วมันอดคิดไม่ได้ว่าจะยังเหลือเวลาแค่ไหนในการพัฒนาศิลปะดนตรีของตนหรือซ้อมเพื่อให้ฝีมือไม่ตก

ค่าเสียโอกาส (opportunity cost) เป็นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่สามารถเอาไปใช้ได้กับทุกอย่างในโลก ในโลกแห่งดนตรีก็เหมือนกัน บางคนอาจจะคิดว่านักดนตรีส่วนมากไม่ได้เล่นดนตรีเพื่อเงินหรือชื่อเสียงแต่ค่าเสียโอกาสมันเป็นกฎธรรมชาติ ยังไงคนเราก็ยังต้องกินต้องอยู่ในโลกสมัยใหม่ ไม่สามารถเข้าป่าล่าสัตว์อยู่ไปวันๆ ได้แบบสมัยก่อน หากรายได้จากการเป็นนักดนตรีแนวเดียวกับ Zoe Keating มันน้อยเสียขนาดนั้น เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ แล้วอาจจะทำให้เด็กรุ่นใหม่ที่จริงๆ สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นอัจฉริยะด้านดนตรีแต่ยังไม่รู้ตัวหันไปประกอบอาชีพอื่นที่มั่นคงกว่าก็เป็นได้ ไอเดียนี้คล้ายๆ กับความน่าสงสัยว่าทำไมถึงมีนักวิ่งแข่งระดับโลกที่มาจากประเทศเคนยาหรือจาไมกาจำนวนมากเหลือเกินเมื่อเทียบกับนักวิ่งจากตะวันตก เหตุผลหนึ่งก็คือเมื่อตอนนักวิ่งเหล่านี้ยังเด็กพวกเขามีค่าเสียโอกาสที่ต่ำ ไม่ได้มีทางเลือกให้ไปประกอบอาชีพเป็นแพทย์หรือนักกฎหมายเหมือนชาวตะวันตก เราจึงไม่ค่อยเห็นนักวิ่งระดับโลกที่มาจากโลกตะวันตกมากเท่าไรนัก

หากมองมุมนี้เราจะเห็นเป็นภาพลางๆ ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คงไม่ได้มีผลต่อกับแค่รายได้ของศิลปินเท่านั้น แต่อาจมีผลในการเปลี่ยน content ของดนตรีได้โดยผ่านการคัดเลือกเอาศิลปินที่มีทักษะหรือมีจุดมุ่งหมายที่ต่างออกไปจากเดิม

ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นปีที่มีเพลงฮิตที่มีเนื้อหา มีเนื้อเพลง หรือมี MV ที่เกี่ยวกับ “บั้นท้าย” มากเสียจนน่าตกใจ ยกตัวอย่างเช่น
All about that Bass โดย Meghan Trainor
• MV ของเพลง Anaconda โดย Nicki Minaj
Booty โดย Jennifer Lopez
Bang Bangโดย Ariana Grande กับ Jessie J และ Nicki Minaj
• MV ของเพลง Shake it off โดย Taylor Swift

การเปลี่ยนแปลงของ content หรือวิถีของดนตรีครั้งนี้จะดีหรือไม่ดีเป็นคำถามที่ตอบได้ยากเพราะมันคงแล้วแต่รสนิยมของผู้ฟัง

ตลาดและราคาของดนตรี

ที่มาภาพ : http://pixabay.com/en/guitar-case-street-musicians-donate-485112/
ที่มาภาพ: http://pixabay.com/en/guitar-case-street-musicians-donate-485112/

แต่คำถามที่อาจจะพอตอบได้บ้างคือ ทำไมในยุคสมัยที่มี Pandora กับ Spotify ดนตรีกลับกลายดูเหมือนเป็นสิ่งของที่ไม่มีราคา

ทำไมสิ่งที่เป็นเสาหลักของมนุษยชาติมาเป็นหมื่นเป็นพันปีถึงกำลังมีราคาที่เข้าใกล้ศูนย์ขึ้นเรื่อยๆ ลองนึกถึงตอนนั่งรถคุณพ่อคุณแม่ตอนเด็กๆ นึกถึงตอนมีความรัก หรือนึกถึงตอนผิดหวังดู ความทรงจำของเราเต็มไปด้วยบทเพลงประกอบ มันน่าสงสัยที่ทำไมดนตรีถึงมีราคาถูกลงทั้งๆ ที่เอาเข้าจริงๆ แล้วถ้าขาดดนตรีพวกเราก็คงอยู่กันไม่ได้

ไม่นานมานี้ Taylor Swift ได้เขียนบทความเปิดใจลงใน The Wall Street Journal เพื่อบอกกับโลกว่า “ดนตรีไม่ควรฟรี” เธอกล่าวว่า

Music is art, and art is important and rare. Important, rare things are valuable. Valuable things should be paid for. It’s my opinion that music should not be free, and my prediction is that individual artists and their labels will someday decide what an album’s price point is.

ผู้เขียนเห็นด้วยว่าดนตรีและศิลปะมีความสำคัญ แต่ปัญหาของสิ่งที่เธอพูดอยู่ที่คำว่า “rare” หรือ “ความหายาก” แน่นอนว่างานศิลปะที่สำคัญและหายากย่อมมีราคาที่สูงไปตามกฎธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น ภาพเขียนของแวนโก๊ะหลายภาพมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภาพวาดสีน้ำมัน Mona Lisa ที่เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ประเทศฝรั่งเศสนั้นมีการประเมินราคาว่าสูงกว่า 780 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

ทว่าดนตรี…โดยเฉพาะอย่างยิ่งดนตรีในยุคดิจิทัลที่ประชากรโลกจำนวนมากสามารถเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่บ้านนั้นหาง่ายยิ่งกว่าการออกไปหาซื้อน้ำโค้กหน้าปากซอยเสียอีก เพราะเหตุนี้จึงไม่มีโจรที่ไหนมาบุกบ้านคุณเพื่อขโมยแผ่น CD ที่เพื่อนคุณไรท์มาฝากตั้งแต่สมัยยังอยู่มัธยมอย่างที่โจรบุกไปขโมย Mona Lisa เมื่อปี ค.ศ. 1991 นั่นเอง

เทคโนโลยีผีดิบ: ดนตรีไม่มีวันตาย

ที่มาภาพ :  http://www.emikent.com.tr/xml/imagesb/5099968740924.jpg
ที่มาภาพ: http://www.emikent.com.tr/xml/imagesb/5099968740924.jpg

เคยมีคำพูดยกย่องศิลปะดนตรีไว้มากมาย เช่น “ดนตรีไม่มีวันตาย” “บทเพลงอมตะ” หรือ “ดนตรีไม่มีพรมแดน” แต่ทุกวันนี้ไม่แน่ใจว่าแล้วว่าศิลปินยุคใหม่ยังมองคำพูดเหล่านี้ในทางบวกอยู่เหมือนเดิมหรือไม่

เทคโนโลยีสมัยใหม่มากมายไม่ว่าจะเป็น CD Mp3 DRM หรือ P2P ต่างก็ทำให้ดนตรีไม่มีวันตายและขยายพันธุ์ได้โดยแทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายต่อหน่วยของการผลิต (หน่วยคือจำนวนไฟล์ แผ่น หรือจำนวนครั้งที่เปิด streaming ใน Spotify) นอกจากนั้นยังทำให้มีการเปิดให้ใครก็ได้เข้ามาเป็น “ศิลปินก็อปปี้” ที่สามารถเข้ามา copy-paste และไรท์แผ่นฝากญาติหรือเอาไฟล์ไปปล่อยให้คนแปลกหน้าดาวน์โหลดได้ฟรี แม้ว่าผู้ผลิตหน้าใหม่เหล่านี้ไม่ได้เป็นผู้ประพันธ์หรือบรรเลงดนตรีเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ที่ทำให้เราอัดเพลงอัด MV ได้ด้วยคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่บ้านนั้นพัฒนาขึ้นมาก บวกกับการที่มีช่องทางใหม่ๆ ในการโปรโมตผลงานตัวเอง เช่น YouTube หรือ Soundcloud ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตเพลงใหม่ๆ ในสมัยนี้ต่ำลงมาก จึงเป็นเหตุให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการไหลเข้าของศิลปินรุ่นใหม่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดนตรีสมัยใหม่จึงกลายเป็นอะไรที่ “ล้นตลาด” ไปโดยปริยาย

ที่น่าสนใจที่สุดคือดนตรีที่อัดไว้แล้วมันไม่มีวันตาย การฟังเพลงเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เวลา โดยเฉพาะเพลงที่ไม่ได้แค่เอาไว้เปิดเพื่อบรรยากาศอย่างเดียว ใครที่ชอบฟังและศึกษาเพลงเหมือนผู้เขียนคงจะเข้าใจว่าเราจะต้องคิดว่าจะฟังอะไรดีระหว่างการขับรถไปทำงาน ระหว่างเดินทาง หรือจะฟัง Playlist ไหนดีคืนนี้วันนี้ ไม่สามารถฟังได้หมดทุกเพลงบนโลกนี้ การตัดสินใจ “เลือกฟัง” จึงก่อให้เกิดการแข่งขันกันเข้าไปอยู่ใน Playlist ระหว่างเพลงนับล้านๆ เพลงไม่ว่าผู้แต่งจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพลงของศิลปินหน้าใหม่ในอีกร้อยปีข้างหน้าก็ยังต้องมาแข่งกับเพลงของ The Beatles หรือ เพลงของ Whitney Houston ที่ถือว่าเป็น “รุ่นเดอะ” ของสมัยเรา

ศิลปินยุคใหม่ต้องแข่งกับศิลปินรุ่นเดียวกันและศิลปินก็อปปี้ยังไม่พอ ยังต้องมาแข่งกับบทเพลงอมตะที่ผ่านการทดสอบของเวลามาแล้วว่าของเขาดีจริงอีกด้วย

สภาวะแบบนี้เปรียบได้ดั่ง “Zombie Apocalypse” ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เกิดโรคผีดิบระบาดไปคุกคามความเป็นอยู่ของเหล่านักดนตรีทั่วโลกไม่มีผิด แต่หากไปถามนักเศรษฐศาสตร์ สภาวะแบบนี้นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นสภาวะที่ Marginal Cost หรือค่าใช้จ่ายในการผลิตและเผยแพร่บทเพลงเพลงหนึ่งเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหน่วยนั้นแทบจะเป็นศูนย์ จุดนี้บวกกับภาวะการแข่งขันสูงที่เรียกว่า “ตลาดแข่งขันสมบูรณ์” หรือ Perfect Competition ที่มี barrier to entry ที่ต่ำมาก ใครที่มีคอมพิวเตอร์หรือมือถือที่ต่อกับอินเทอร์เน็ตก็สามารถที่จะเข้ามาก็อปปี้และแชร์เพลงๆ เดียวกันได้ ทำให้ยิ่งกดราคาตลาดร่วงลงไปใกล้ศูนย์

ในปัจจุบันราคาของเพลงดิจิทัลนั้นคงจะเข้าใกล้ศูนย์แล้วจริงๆ ในโลกแห่ง Internet Radio จำนวนเงินอันน้อยนิดต่อการเล่นเพลงหนึ่งเพลงที่เราจ่ายให้กับ Spotify และ Pandora นั้นส่วนมากนั้นเอาไปซื้อความสะดวกสะบาย ส่วนที่เหลือจิ๋วๆ แค่ประมาณ 0.16 บาทต่อการเล่นหนึ่งเพลงนั้นเข้ากระเป๋าศิลปิน

สะพานและกองทัพ: ญาติห่างๆ ของดนตรี

ที่มาภาพ : http://offload.goarmy.com/careers-and-jobs/browse-career-and-job-categories/construction-engineering/bridge-crewmember/jcr:content/contentpar/header.png
ที่มาภาพ: http://offload.goarmy.com/careers-and-jobs/browse-career-and-job-categories/construction-engineering/bridge-crewmember/jcr:content/contentpar/header.png

แล้วราคาของดนตรีควรจะเป็นศูนย์อย่างที่กลไกตลาดและเทคโนโลยีพาไปจริงๆ หรือ

คำถามนี้ไม่ง่าย แต่ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้คงต้องคิดให้ดีๆ ก่อนว่า “ดนตรี” (ไม่รวมดนตรีสด) ยังเป็นเหมือนสินค้าทั่วไปอย่าง อาหาร ผลไม้ และเก้าอี้ หรือไม่ ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จำแนกสินค้าบางจำพวกว่าเป็นสินค้าทั่วๆ ไปที่เมื่อเรามีรายได้มากขึ้นเราจะต้องการมันมากขึ้น สินค้าที่ชื่อว่า “ดนตรี” นั้นก็น่าจะอยู่ในกลุ่มนี้ คล้ายๆ กับอาหาร ผลไม้ และเก้าอี้

แต่เมื่อเราลองคิดให้ลึกขึ้น ดนตรีสมัยใหม่นั้นไม่คล้ายอาหาร ผลไม้ หรือเก้าอี้เลยสักนิดเดียว เวลาเราฟังดนตรีจากอินเทอร์เน็ต เมื่อเล่นจบแล้วดนตรีมันไม่หมดไปจากโลกนี้เหมือนข้าวเย็นเมื่อวาน คนอีกเป็นล้านคนสามารถเล่นเพลงเดียวกับที่เราฟังเมื่อครู่ได้พร้อมๆ กันโดยที่ดนตรี “ไม่หมด” และไม่ได้มาแย่งความบันเทิงไปจากเราแต่อย่างใด อีกอย่างคือการปล่อยดนตรีทิ้งไว้ใน iPhone แล้วมันจะเน่าเหมือนผลไม้หรือเปล่า ก็ไม่ ยิ่งไปกว่านั้นแม้เวลาผ่านไปอีกห้าสิบปีเก้าอี้ตัวโปรดของเราอาจจะไม่เหลือซากแล้วแต่เสียงดนตรีจากเมื่อห้าสิบปีหรือร้อยปีก่อนก็ยังใสแจ๋วเหมือนเดิมอยู่ได้ ดีไม่ดีอาจจะชัดขึ้นด้วยหูฟังรุ่นใหม่ด้วยซ้ำไป… คุณเคยเห็นเก้าอี้ที่ใหม่ขึ้นทุกๆ สิบปีไหมล่ะครับ

ความพิเรนทร์ของดนตรีในมิติเหล่านี้จึงทำให้การตั้งราคาที่เหมาะสมกับคุณค่าเป็นงานที่ยากลำบาก

เทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังทำให้สินค้าที่ชื่อว่า “ดนตรี” ค่อยๆ กลายเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันว่า “สินค้าสาธารณะ”(Public Good) ที่คล้ายกับสินค้าและการบริการอย่างเช่นการป้องกันประเทศ สะพานข้ามแม่น้ำ และอากาศ สำหรับสินค้าสาธารณะเหล่านี้ การที่ผู้บริโภครายใหม่เข้ามาในตลาด (มีเด็กเกิดใหม่ในประเทศ) นั้นจะไม่ทำให้ความพึงพอใจของผู้บริโภครายเดิมลดลงแต่อย่างใด (ไม่ได้ทำให้ประชาชนกลุ่มเดิมก่อนที่เด็กคนนี้เกิดได้รับการป้องกันที่น้อยลงจากกองทัพหลังจากเด็กคนนี้เกิดขึ้นมา) นอกจากนี้เรายังไม่สามารถกีดกันผู้บริโภคใหม่ที่จะเข้ามาร่วมบริโภคสินค้าเหล่านี้ได้ง่ายๆ อีกด้วย

การแพร่กระจายของอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโทรศัพท์แบบ 3G หรือ 4G ทำให้การกีดกันการบริโภคดนตรีนั้นทำแทบไม่ได้ เมื่อดนตรีดิจิตทัลถูกอัดและเผยแพร่เมื่อนั้นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความอดทนและความรู้เกี่ยวกับการเสาะหาเพลงจะสามารถเข้าถึงดนตรีชิ้นนั้นได้ คล้ายกับอนุสาวรีย์หรือสะพานสวยๆ ที่ห้ามให้คนมองไม่ได้ หากจะทำการกีดกันให้ได้ ศิลปินหรือค่ายเพลงจะต้องใช้วิธีอื่น เช่น กฎหมาย Copyright ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสามารถทำได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้นเพราะว่าการจับคนทำแผ่นเถื่อนหรือจับคนแชร์นั้นทำไม่ง่าย มีค่าใช้จ่ายสูง หรือไม่ก็ต้องพยายามเล่นสดให้มากๆ เข้าไว้เพราะอย่างน้อยก็สามารถกีดกันได้ด้วยการเล่นในที่ๆ ต้องมีตั๋วเท่านั้นได้

จาก Taylor Swift สู่ Mozart

ที่มาภาพ : http://pixabay.com/p-429711
ที่มาภาพ: http://pixabay.com/p-429711

ไปไปมามาดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีครั้งนี้ทำให้ศิลปินจำนวนไม่น้อยต้องเหนื่อยหาวิธีเอาตัวรอดด้วยการ “วิวัฒนาการย้อนหลัง” กลับไปสู่ความพิเศษและเสน่ห์ของดนตรีในสมัยก่อน ยกตัวอย่างเช่น

– ดนตรีที่ราคาถูกหรือฟรีนั้นทำหน้าที่เป็นเหมือนแค่การโฆษณาหรือการสร้างแบรนด์เพื่อให้คนเราไปชมการแสดงสด (ซึ่งเป็นสินค้าที่กีดกันได้ด้วยตั๋วคอนเสิร์ต) หรือเชื้อเชิญให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าอื่นๆ ที่ศิลปินผู้นั้นเป็นตัวแทนจำหน่าย

– การแสดงสดเป็นมากกว่าแค่การไปฟังเพลง เช่น ทัวร์ The Truth about Love Tour ของ Pink ที่เธอร้องแบบเพอร์เฟกต์อย่างเดียวไม่พอยังโชว์การบินผาดโผนในอากาศกับการเล่นกายกรรมได้อีกด้วย เหมือนได้ไปดูสองโชว์ในหนึ่งโชว์ ทัวร์นี้ถือเป็นการฉีกตัวเองออกมาเด่นคนเดียวจากตลาดคอนเสิร์ตทั้งหมดในโลก

– ใช้วิธีอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับดนตรีเพื่อแยกตัวเองออกจากคู่แข่ง เช่น การที่ Taylor Swift ลงทุนห่อของขวัญและปลอมตัวเอาของขวัญวันคริสต์มาสไปส่งถึงบ้านแฟนเพลงด้วยตัวเอง หรือส่งเช็คไปที่บ้านแฟนเพื่อช่วยจ่ายหนี้ค่าเล่าเรียน ถามจริงๆ ว่ามีศิลปินกี่คนที่ลงทุนทำแบบนี้

– ขายประสบการณ์ที่มีค่ามากกว่าแค่เพลงดิจิทัลทั่วไป เช่น ขายแผ่นไวนิลที่ เอาปกมาแจมเป็นดีเจเองได้ หรือทำอัลบั้มร็อกด้วยอุปกรณ์และเครื่องมืออัดเสียงแบบอนาล็อกย้อนยุคเท่านั้นโดยวง Foo Fighters

ตลกสิ้นดีที่เทคโนโลยีพัฒนาไปมากจากยุค Mozart สู่ Taylor Swift แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าพฤติกรรมและการปรับตัวของศิลปินหลายกลุ่มกำลังเป็นแบบจาก Taylor Swift สู่ Mozart (ขนาด Mozart เองยังไม่ลงทุนเอาของขวัญหรือเอาเช็คไปส่งให้แฟนเพลงถึงบ้านเลยคุณ…)

การปรับตัวแบบนี้ดีหรือไม่ดีคงขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าสิ่งเหล่านี้ก็มีข้อดี แต่อยากให้ศิลปินที่ชื่นชอบเอาเวลาและทรัพยากรไปพัฒนาผลงานใหม่ๆ ออกมาเสียมากกว่า

จุดที่น่าผิดหวังที่สุดคือ ทำไมกระเป๋าสตางค์แฟนเพลงกับกระเป๋าสตางค์ศิลปินยังดูเหมือนห่างกันมากและมีการตั้งด่านเก็บค่าต๋งมากมายโดยค่ายเพลงก่อนที่เงินจะไหลเข้าถึงมือศิลปินจริงๆ สำหรับศิลปินที่ไม่ต้องการปรับตัว แค่อยากผลิตดนตรีแบบนี้ หลายคนกลัวว่าศิลปินประเภทนี้จะค่อยๆ สูญพันธุ์ไปอย่างช้าๆ

สำหรับแฟนเพลงสไตล์ยุคก่อนๆ แฟนเพลงอินดี้ หรือแฟนเพลงแนวที่ไม่เคยได้ไปแตะท็อปเท็น อย่าเพิ่งเศร้าสลดเพราะผู้เขียนคิดว่าดนตรีแบบที่คุณรักจะยังไม่สูญพันธุ์ ที่ดูเหมือนว่าโลกดนตรีของพวกคุณกำลังหดหู่อยู่ท่ามกลางกระแส mass music น่าจะเป็นแค่เพราะความล้มเหลวของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ยังไม่สามารถทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างแฟนเพลงกับศิลปินได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ข่าวดีคือในขณะนี้มีศิลปินจำนวนไม่น้อยที่สามารถระดมทุนด้วย Kickstarter ได้เองเป็นเงินจำนวนหลายล้านบาทเพื่อเอาเงินมาโพรดิวซ์อัลบัมใหม่ (ตัวอย่าง 1, 2 และ 3) หรือใช้ Kickstarter หาทุนเตรียมออกคอนเสิร์ตของวงออร์เคสตราโดยไม่ต้องง้อใครแถมยังได้ทำในสิ่งที่อยากทำจริงๆ แฟนเพลงก็ได้ประโยชน์เพราะว่ามันโปร่งใสกว่าการให้เงินกับ Spotify หรือการซื้อ CD เสียอีก คุณรู้ว่าที่จริงแล้วศิลปินที่คุณรักได้เงินของคุณจริงๆ เท่าไหร่ ยิ่งไปกว่านั้นแฟนเพลงเองยังอาจจะได้อะไรที่ไม่มีทางได้จากศิลปินในสมัยก่อน เช่น สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการทำเพลงในอัลบัลใหม่ ให้เขาแต่งเพลงเกี่ยวกับชีวิตเรา หรือได้ร่วมทานข้าวเย็นกับวงดนตรีที่คุณสนับสนุนอีกด้วย อีกทั้งเดี๋ยวนี้ยังมีเทคโนโลยีไฟแนนซ์ใหม่ๆ ที่อำนวยความสะดวกในการโอนเงินระหว่างผู้คนได้ด้วย App ในมือถือหรือ email ในไม่ช้าผู้เขียนเชื่อว่าคุณจะสามารถให้เงินกับศิลปินที่คุณคิดว่าสมควรได้เงินจากคุณได้โดยตรงผ่านมือถือคุณ

สุดท้ายนี้ผู้เขียนคิดว่าวงการดนตรีนั้นจะผ่านพ้นพายุฝนครั้งนี้ไปได้และมั่นใจว่าในที่สุดแล้วเราจะเข้าไปสู่โลกที่ราคาเพลงดิจิทัลที่เกือบเป็นศูนย์หมด จะมีเพลงมีศิลปินให้เลือกเพื่อความบันเทิงได้ไม่รู้จบ สังคมจะเริ่มมีวัฒนธรรมการไปดูดนตรีสดมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือเราจะได้เห็นช่องทางการตอบแทนศิลปินในรูปแบบที่ทั้งสนุกทั้งโปร่งใสให้กับศิลปินที่ทุกคนชื่นชอบแน่นอนไม่ว่าเพลงที่เราชอบจะเกี่ยวกับบั้นท้ายหรือจะเกี่ยวกับอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com วันที่ 15 มกราคม 2558