ThaiPublica > คอลัมน์ > กระเช้าภูกระดึง คุ้มค่า คุ้มใคร ในมุมมองเศรษฐศาสตร์

กระเช้าภูกระดึง คุ้มค่า คุ้มใคร ในมุมมองเศรษฐศาสตร์

27 กุมภาพันธ์ 2015


รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

เรามักได้ยินเหตุผลหลากหลายที่สนับสนุนให้มีการสร้างกระเช้าภูกระดึง ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับคนสูงอายุ ผู้พิการ หรือเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงภูกระดึงกับกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการโดยรอบ แต่น้อยคนที่จะเคยตั้งคำถามว่าการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงนั้นคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจริงหรือไม่ และหากคุ้มค่าจริง ผลประโยชน์ที่ว่าจะไปตกที่ใคร

ผู้เขียนได้รับร่างรายงาน “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย” (รายงานขั้นกลาง ฉบับปรับปรุงแก้ไข 20 มิถุนายน 2557) ซึ่งภายในรายงานดังกล่าวมีการคำนวณผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งเต็มไปด้วยศัพท์ที่เข้าใจค่อนข้างยาก ด้วยความที่ผู้เขียนพอจะมีความรู้ทางการเงินอยู่บ้าง จึงถือโอกาส “แกะ” รายงานมาเล่าสู่กันฟัง

ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่า การศึกษาความเป็นไปได้ หรือ Feasibility Study ของโครงการในแง่การเงินนั้น หลักๆ คือการเปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่าย เพื่อเปรียบเทียบว่าโครงการดังกล่าวคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งในส่วนแรก ผู้เขียนขอบอกเล่าเรื่องราวโดยเริ่มจากส่วนของต้นทุนและรายได้ ซึ่งอ้างอิงจากกรณี A ภายใต้สมมติฐานอัตราคิดลดร้อยละ 12 ประมาณการโดยปี พ.ศ. 2557 เป็นปีฐานไปในอนาคต 25 ปี

กระเช้าภูกระดึง1

โครงสร้างต้นทุน

ในส่วนของต้นทุน แน่นอนว่าโครงการก่อสร้างกระเช้าย่อมมีสัดส่วนต้นทุนการก่อสร้างคิดเป็นร้อยละ 68 โดยมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 2 ปี มีสัดส่วนต้นทุนด้านการดำเนินการและบำรุงรักษาคิดเป็นร้อยละ 26 ค่าใช้จ่ายในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมคิดเป็นร้อยละ 3 และค่าเสียโอกาสของลูกหาบคิดเป็นร้อยละ 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

โครงสร้างรายได้

โครงสร้างรายได้

สำหรับส่วนของรายได้ น่าแปลกใจที่โครงการก่อสร้างกระเช้าภูกระดึงกลับมีรายได้หลักมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชุมชนใน อ.ภูกระดึง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53 ของรายได้ทั้งหมด รองลงมาคือรายได้จากศูนย์การศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติร้อยละ 16 และรายได้ที่สูงที่สุดลำดับที่สามคือรายได้จากการให้บริการกระเช้าภูกระดึง คิดเป็นร้อยละ 14 จากรายได้ทั้งหมด

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจทำหน้าสงสัยในส่วนของรายได้ ซึ่งมีที่มาที่ไปอย่างไรนั้น ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกต 6 ประเด็นจากรายงานโครงการก่อสร้างกระเช้าภูกระดึง

1. รายได้ที่เพิ่มขึ้นของชุมชนใน อ.ภูกระดึง

รายได้ส่วนนี้คำนวณโดยอ้างอิงจากการสำรวจในโครงการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยคำนวณว่าการมีอุทยานแห่งชาติจะทำให้ชุมชนโดยรอบมีรายได้เพิ่มขึ้น 1,525.21 บาทต่อเดือน โดยในรายงานที่จัดทำโดยกรมอุทยานฯ นั้น คำนวณเฉลี่ยว่าผู้ได้รับผลประโยชน์คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และได้รับผลประโยชน์ทั้งสิ้น 4 เดือนในหนึ่งปี

ที่น่าสนใจคือ ในโครงการก่อสร้างกระเช้าภูกระดึงนั้น ได้อ้างอิงตัวเลขรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากรายงานที่จัดทำโดยกรมอุทยานฯ แต่ปรับเปลี่ยนสมมติฐานว่าผู้ได้รับประโยชน์คิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมดใน อ.ภูกระดึง และได้รับประโยชน์ทั้งสิ้นเป็นเวลา 8 เดือนในรอบหนึ่งปี จึงมีโอกาสที่ตัวเลขผลประโยชน์ที่ได้จากการคำนวณนั้นจะสูงกว่าความเป็นจริง

นอกจากนี้ ในแง่การวิเคราะห์โครงการ ผลประโยชน์ดังกล่าวคือผลประโยชน์ที่ชุมชนได้รับอยู่แล้วจากการมีอุทยานแห่งชาติ โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างกระเช้าภูกระดึงหรือไม่ได้ก่อสร้าง ผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตว่าการรวมเอาผลประโยชน์ดังกล่าวไว้ว่าเป็นผลประโยชน์ที่ได้จากโครงการกระเช้าภูกระดึงนั้นไม่เหมาะสม

2. การพยากรณ์ปริมาณนักท่องเที่ยว

ปริมาณนักท่องเที่ยว

จากข้อมูลในอดีตซึ่งระบุในรายงานระหว่างปี 2547–2556 นักท่องเที่ยวในผู้กระดึงมีแนวโน้มคงที่โดยลดลงเล็กน้อย แต่การพยากรณ์กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยหากเปรียบเทียบตัวเลขนักท่องเที่ยวจริงในปี 2556 อยู่ที่ 60,319 ราย แต่ตัวเลขที่ใช้ในการพยากรณ์ปีแรกคือปี 2557 กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 96,526 ราย และเพิ่มขึ้นปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ จนถึง 288,228 รายในปี 2581

ในขณะที่มีการศึกษาปริมาณนักท่องเที่ยวที่รองรับได้ของภูกระดึง โดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2537 คือ 1,500 คนต่อวัน บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ได้ศึกษาภายหลังและเสนอว่าสามารถขยายขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวเป็น 1,925 คนต่อวัน และหากมีกระเช้าจะสามารถรับนักท่องเที่ยวได้ 4,425 คนต่อวัน

จากรายงานดังกล่าว ผู้เขียนได้สรุปข้อมูลว่าบริเวณท่องเที่ยวในภูกระดึงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ หน้าผาชมพระอาทิตย์ขึ้น รับนักท่องเที่ยวได้ 773 คนต่อวัน หน้าผาชมพระอาทิตย์ตก รับนักท่องเที่ยวได้ 6,297 คนต่อวัน และบริเวณน้ำตก รับนักท่องเที่ยวได้ 602 คนต่อวัน ซึ่งถือเป็นขีดจำกัดโดยนักท่องเที่ยวแต่ละคนใช้พื้นที่ไม่เกิน 1 ตารางเมตร

จำนวนนักท่องเที่ยว

คำถามต่อประเด็นการพยากรณ์นักท่องเที่ยวคือ ภูกระดึงจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวตามที่คาดได้หรือไม่ โดยผู้เขียนได้ทำการเปรียบเทียบกับภูเรือ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้ง่ายและอยู่ใกล้เคียงกับภูกระดึง พบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะมาท่องเที่ยวในช่วงตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ โดยแทบไม่มีนักท่องเที่ยวในฤดูร้อนหรือฤดูฝน

หากนักท่องเที่ยวมาเที่ยวในภูกระดึงเฉพาะฤดูหนาวกว่า 200,000 ราย ก็ต้องตั้งคำถามว่าภูกระดึงจะรองรับได้หรือไม่ และสมมติฐานที่ทางผู้จัดทำรายงานทำขึ้นนั้นมีความสมเหตุสมผลแค่ไหน

3. รายได้จากการใช้บริการกระเช้า

ในรายงานระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการใช้กระเช้าจะอยู่ที่รอบละ 200 บาท ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวภูกระดึงจะแบ่งเป็นสองประเภท คือ นักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่จะใช้บริการกระเช้าคิดเป็นร้อยละ 23 และนักท่องเที่ยวทั่วไป ที่จะใช้บริการกระเช้าร้อยละ 100

ที่น่าสนใจคือตัวเลขดังกล่าวมาจากการเก็บแบบสอบถามเพียง 187 ชุดจากนักท่องเที่ยวปัจจุบันซึ่งในรายงานจัดอยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งในวิธีการวิจัย ก็ต้องตั้งคำถามว่านักท่องเที่ยว 187 ราย สามารถเป็นตัวแทนกลุ่มประชากรนักท่องเที่ยวภูกระดึงราว 60,000 คนได้หรือไม่ อีกทั้งในรายงานก็ไม่ได้มีการสำรวจความคิดเห็นว่านักท่องเที่ยวทั่วไปที่จะใช้บริการกระเช้าทั้งขาขึ้นและขาลงนั้นคือใคร และจะใช้บริการจริงหรือไม่

4. รายได้จากศูนย์การศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ

ศูนย์การศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติตามที่ระบุในรายงาน จะเก็บค่าบริการคนละ 100 บาท โดยรองรับนักท่องเที่ยวได้ 500 คนต่อวัน เปิดบริการเฉพาะวันเวลาราชการ โดยจะเปิดให้บริการหลังกระเช้าภูกระดึงสร้างเสร็จสิ้น และในปีแรกจะมีผู้มาใช้บริการ 25,000 ราย เติบโตปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ จนถึง 130,000 รายต่อปี ในปี 2577

ผู้เขียนสงสัยถึงความเป็นไปได้ของศูนย์การศึกษาฯ ดังกล่าว เนื่องจากในแง่มุมทางธุรกิจแล้ว การประมาณการณ์ข้างต้นถือว่าไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากการท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ จะมีผู้มาท่องเที่ยวจำนวนมากในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งเป็นวันที่ศูนย์ฯ ไม่เปิดให้บริการ จึงไม่น่าจะสร้างรายได้ได้ตามที่คาดหวัง

ยิ่งกว่านั้น การตั้งเพดาน 130,000 รายต่อปีนั้น มาจากการคิดเลขที่ค่อนข้างหยาบ กล่าวคือนำตัวเลข 365 วัน หักวันหยุดเสาร์อาทิตย์ประมาณ 105 วัน จะได้เลขคร่าวๆ คือ 260 นำมาคูณกับปริมาณรองรับนักท่องเที่ยว 500 คนต่อวัน ปรากฏว่าได้ 130,000 ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะนั่นหมายถึงการที่นักท่องเที่ยวมาใช้บริการในวันธรรมดา ทุกวัน ตลอดปี วันละ 500 คน

นอกจากนี้ ในตัวรายงานยังมีจุดผิดพลาดที่ค่อนข้างร้ายแรง คือการคำนวณผิดพลาดโดยคิดรายได้จากศูนย์ฯ 500 บาทต่อราย ซึ่งคิดรวม 400 บาทจากการนั่งกระเช้าขาขึ้นและขาลง ถือเป็นการคิดซ้ำซ้อนจากรายได้ค่ากระเช้า จึงควรปรับการคำนวณเป็น 100 บาทต่อราย

5. การไม่สอดคล้องกันระหว่างรายได้และค่าใช้จ่าย

กระเช้าภูกระดึง2

ในการวิเคราะห์โครงการ สิ่งสำคัญที่สุดคือรายได้และค่าใช้จ่ายต้องสอดคล้องกันเพื่อให้การวิเคราะห์สมเหตุสมผล สิ่งที่ผู้เขียนสังเกตได้จากรายงานคือ ในโครงการก่อสร้างกระเช้าภูกระดึง มีรายได้จำนวนค่อนข้างสูงจากศูนย์การศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติ แต่กลับไม่มีต้นทุนในการก่อสร้างและบริหารจัดการ อีกทั้งในรายงานยังระบุว่ากระเช้าจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยว ทั้งรายได้ค่าที่พักและค่าอาหาร แต่กลับไม่มีต้นทุนในการพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

6. การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับปริมาณนักท่องเที่ยว

ต้นทุนในการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ที่พัก ร้านอาหาร หรือการบำรุงรักษาเส้นทางนั้น กลับไม่มีปรากฏในรายงาน ทั้งที่หากต้องการให้มีนักท่องเที่ยวมาตามที่คาดการณ์ไว้ โครงการก่อสร้างกระเช้าภูกระดึงจำเป็นต้องรวมการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนด้วย เพื่อให้การพยากรณ์มีความสมเหตุสมผล

(ในส่วนข้อสรุป หากผู้อ่านไม่เข้าใจคำศัพท์ในการวิเคราะห์โครงการ ผู้เขียนได้อธิบายคร่าวๆ ไว้แนบท้ายบทความ)

ในส่วนท้ายของรายงาน ได้มีการสรุปแสดงผลการคำนวณวิเคราะห์โครงการโดยแบ่งเป็นหลากหลายกรณีศึกษา ซึ่งผู้เขียนขอยกผลการศึกษาของกรณี A ที่อัตราคิดลด 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีข้อสรุปดังนี้

ตาราง

จะเห็นได้ว่า โครงการกระเช้าภูกระดึงนั้นขาดทุนทางการเงิน กล่าวคือไม่คุ้มค่าที่จะก่อสร้างในเชิงธุรกิจ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่ากังวลเนื่องจากรัฐบาล องค์กรท้องถิ่น หรือผู้ดูแลบริหารโครงการ ต้องรับภาระเนื่องจากไม่สามารถสร้างรายได้ได้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

ในแง่เศรษฐศาสตร์ โครงการจะคุ้มค่าโดยสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนโดยรอบ ซึ่งผลประโยชน์หลักที่สร้างขึ้นคือรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชุมชนใน อ.ภูกระดึง ซึ่งสูงถึงร้อยละ 53 ของรายได้ทั้งหมด และยังเป็นผลประโยชน์ที่ผู้เขียนเองก็ยังตั้งข้อสงสัยว่าควรนำมารวมในการวิเคราะห์โครงการหรือไม่

ส่วนคำถามที่ว่ากระเช้าภูกระดึงนี้คุ้มค่าหรือไม่ ต้องยอมรับว่าในตัวรายงานเองก็ยังแสดงตัวเลขที่บอกอย่างชัดแจ้งว่าไม่คุ้มค่า และไม่ยั่งยืน เพราะเป็นโครงการที่ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้และต้องพึ่งพิงงบประมาณจากภาครัฐ ส่วนกระเช้านี้จะคุ้มใคร ผู้เขียนไม่สามารถตอบได้ เพราะในรายงานขาดการระบุและเก็บข้อมูลผู้มีส่วนได้เสียอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นลูกหาบที่ขาดรายได้ ผู้ค้าขายและชุมชนโดยรอบภูกระดึง และที่สำคัญที่สุด คือนักท่องเที่ยวที่ไม่เคยมาภูกระดึงและจะเดินทางมาหลังจากการก่อสร้างกระเช้า ซึ่งในรายงานแทบไม่มีการกล่าวถึง แต่กลับสร้างกลุ่มคนเหล่านั้นขึ้นมาโดยแทบไม่รู้จักหน้าตาของลูกค้ากลุ่มนี้เสียด้วยซ้ำ

ข้อควรรู้บางประการเพื่อความเข้าใจเรื่องการวิเคราะห์โครงการ

• การวิเคราะห์โครงการทางเศรษฐศาสตร์และการเงินมีความแตกต่างกันอย่างไร

ลองจินตนาการว่ามีบริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่ง รายได้ทางการเงินของบริษัทนั้นจะถูกบันทึกไว้ในงบการเงิน เช่น รายได้จากการขายน้ำมัน หรือต้นทุนจากการผลิตน้ำมัน ซึ่งถือเป็นเงินที่ธุรกิจรับและจ่ายจริง ส่วนต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ คือผลกระทบภายนอกที่บริษัทไม่ต้องจ่ายเป็นตัวเงิน แต่เป็นผลกระทบที่ชุมชนต้องแบกรับทั้งทางลบและทางบวก เช่น การขุดเจาะน้ำมันทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้จากการประมงลดลง หรือการขุดเจาะน้ำมันทำให้ชุมชนมีรายได้จากการขายของเพิ่มขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่แสดงอยู่ในกำไรหรือขาดทุนของกิจการ

โดยในการวิเคราะห์โครงการทางเศรษฐศาสตร์จะตั้งต้นที่การวิเคราะห์ทางการเงิน และบวกหรือลบต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์เข้าไปในการวิเคราะห์

ในส่วนของโครงการกระเช้าภูกระดึง ผู้เขียนได้สรุปต้นทุนทางการเงินและเศรษฐศาสตร์ดังตารางต่อไปนี้

กระเช้าภูกระดึง

• อัตราคิดลด (Discount Rate) และมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV)

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เงินในปัจจุบันกับเงินในอนาคตนั้นมีมูลค่าไม่เท่ากัน หากลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้ามีตัวเลือกคือรับเงินเดือนตอนปลายเดือนเดือนละ 10,000 บาท กับทำงานตลอดทั้งปีและได้เงินทีเดียวตอนปลายปี 120,000 บาท แน่นอนว่าทุกคนย่อมเลือกทางเลือกแรกเพราะเราจะได้เงินเร็วกว่าทางเลือกที่สอง และจะเห็นได้ว่าเงิน 10,000 บาทในปัจจุบันที่เรามีอยู่ กับเงิน 10,000 บาทที่เราจะได้รับในอีก 12 เดือนข้างหน้านั้นมีมูลค่าไม่เท่ากัน เพราะเราต้อง “เลื่อน” การใช้จ่ายออกไปในอนาคต

ค่าเงินของเวลา

แนวคิด “ค่าของเงินตามเวลา” ถูกนำมาปรับใช้กับการวิเคราะห์โครงการในฐานะอัตราคิดลด ที่จะเป็นตัวแทนความเสี่ยง หรือต้นทุนความแตกต่างของเงินในแต่ละช่วงเวลา คิดลดกลับมาให้เป็นมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) แล้วนำมาหักกลบลบกันทั้งรายได้และค่าใช้จ่าย เพื่อพิจารณาว่าโครงการนั้นๆ มีความคุ้มค่า คุ้มทุนหรือไม่ ในฐานเวลาปัจจุบัน

การวิเคราะห์โครงการภาครัฐนั้นมีการถกเถียงกันมาโดยยังไม่มีข้อสรุปว่าควรจะใช้อัตราคิดลดที่เท่าไรจึงจะเหมาะสม ในรายงานก็ได้นำเสนอการคำนวณโดยใช้อัตราคิดลด 7% 12% และ 17% ซึ่งกรณีที่ผู้เขียนนำมาบอกเล่าในบทความนั้น คือกรณี 12%

• อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio)

เป็นอัตราส่วนที่มีวิธีการคำนวณตรงตามชื่อ คือนำมูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์มาหารค่าใช้จ่าย ซึ่งผลลัพธ์ตัวเลขที่ได้ออกมานั้นสามารถตีความให้เข้าใจง่ายว่า หากลงทุนไป 1 บาท จะได้ผลตอบแทนกลับคืนมากี่บาท เช่น โครงการก่อสร้างกระเช้าภูกระดึง จ.เลย ในการวิเคราะห์โครงการทางการเงินพบว่าอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่ายมีค่าเท่ากับ 0.51 หมายความว่า โครงการนี้ลงทุนไป 1 บาท จะได้กลับคืนมา 0.51 บาท เรียกว่าลงทุนแบบไม่คุ้มค่า