ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ท่าเรือนครหลวงกับความไร้ระเบียบ (9) : ชาวบ้านเตรียมฟ้องศาลปกครอง – ปลัด อบต. แจงมีอำนาจแค่ตักเตือน

ท่าเรือนครหลวงกับความไร้ระเบียบ (9) : ชาวบ้านเตรียมฟ้องศาลปกครอง – ปลัด อบต. แจงมีอำนาจแค่ตักเตือน

26 กุมภาพันธ์ 2015


จากการนำเสนอถึงปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้นในอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก่อนหน้านี้ ล่าสุด วันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายอำนาจ อ่วมภักดี แกนนำชาวบ้าน เปิดเผยว่า ตอนนี้ได้เข้าไปปรึกษาสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเรื่องการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และกำลังรวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเพื่อที่จะมอบอำนาจให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนดำเนินการฟ้องร้องแทน

นายอำนาจกล่าวว่า พวกเราจะยื่นฟ้องเฉพาะหน่วยงานที่รับผิดชอบทุกหน่วยงาน อาทิ สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมเจ้าท่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา องค์การบริหารส่วนตำบลคลองสะแก บ่อโพง เทศบาลนครหลวง บางพระครู แม่ลา และปากจั่น

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้ประกอบการไม่มีการแก้ไขให้ดีขึ้นตามที่สัญญาไว้ในปีที่แล้ว (2557) ที่ว่าจะออกมาตรการเข้มงวด ถ้าโรงงานไหนไม่มีการแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นจะไม่่ต่อใบอนุญาตให้ แต่พอขึ้นปีใหม่ 2558 ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิมแถมสถานการณ์ยังเลวร้ายกว่าเดิม เพราะมีการขยายพื้นที่ประกอบกิจการมากขึ้น แทนที่จะแก้ไขให้ดีก่อน ปัญหามลภาวะจึงมีมากขึ้นกว่าเดิม และมีบางโรงงานที่ไม่ได้ต่อใบอนุญาต แต่ทางโรงงานก็ยังประกอบกิจการได้ปกติและไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปตรวจสอบด้วย

นายอำนาจกล่าวต่อว่า “ก่อนหน้านี้หลังบ้านผมมีการซื้อที่ดินและถมที่ พอผมรู้ว่าจะมีโรงงานมาเปิดหลังชุมชน ผมก็เขียนคำร้องไปคุยกับองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสะแกว่า อย่าให้มีการสร้างโรงงานที่หลังชุมชนนะ ให้ตรวจสอบให้ดีก่อน ทางองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสะแกเขาก็เฉยๆ จนตอนนี้โรงงานสร้างเสร็จแล้ว ปัญหาฝุ่นละอองเลยมีมากขึ้นกว่าเดิม โรงงานที่มาสร้างหลังชุมชนคือ บริษัท พอต ลิงค์ จำกัด สร้างความเดือดร้อนชาวบ้านมาตลอด”

“พวกผมถึงสงสัยไงว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบเขาไม่รู้เลยเหรอว่าชาวบ้านเดือดร้อน ขนาดไปเขียนใบคำร้องที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ไปยื่นเรื่องที่จังหวัด ก็ยังเพิกเฉยไม่มีการแก้ไขใดๆ ปัญหาทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ไม่แก้ไข ผู้ประกอบการก็ไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้น ปัญหามลภาวะนี้ มันมีมากว่า 10 ปี แล้วตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ไม่มีการแก้ไขในระยะยาวเลย มีแต่แก้ไขเฉพาะหน้าเป็นครั้งๆ แล้วก็จบ”

นายอำนาจกล่าวต่อว่า พวกเราชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนก็ต้องคิดหาทางออกที่ดีสุดเพื่อลูกหลานในอนาคต เมื่อขอความช่วยเหลือกับหน่วยงานในจังหวัดแล้วไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเลยจริงๆ พวกเราเลยจำเป็นต้องใช้ไม้สุดท้ายคือ ยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง ที่พวกเราฟ้องไม่ได้ฟ้องเพื่อขับไล่ แต่ฟ้องเพื่อที่จะให้โรงงานจัดทำการขนส่งสินค้าลำเลียงสินค้าเป็นระบบปิด เพื่อให้ผู้ประกอบการและชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้กฏหมายเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องไม่ทำให้ชุมชนเดือดร้อน พวกเราขอเพียงแค่นี้

กองถ่านหิน
กองถ่านหิน

อบต. แจง มีอำนาจแค่เตือน ประชาคมไม่ผ่านก็สามารถสร้างโรงงานได้

จ.ส.ต. สุนทร ยังอยู่ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสะแก กล่าวว่า บทลงโทษตามอำนาจของ อบต. คือทำได้แค่ตักเตือนและสั่งปิดปรับปรุงไม่เกิน 15 วัน แต่ถ้าหากยังสร้างปัญหาอยู่ ทาง อบต. ก็จะช่วยกันดูและทำสถิติเก็บไว้ ถ้าหากสั่งปรับปรุงถึง 3 ครั้ง การออกใบอนุญาตครั้งหน้าอาจต้องงด และเราต้องรายงานกับทางจังหวัดด้วย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทที่โดนสั่งปรับปรุงมีประมาณ 1-2 โรงงาน ส่วนมากจะเป็นโรงงานที่ไปเช่าที่เพื่อเทกองสินค้า แต่ส่วนที่ซื้อที่ดินทางเราจะบังคับให้ทำเป็นระบบปิดเลย

ชาวบ้านมักจะเข้าใจผิดว่า ถ้าจะสร้างโรงงานต้องมาขอทาง อบต. เรามีอำนาจเพียงแค่อนุญาตเรื่องการสะสมแร่หรือสะสมปูนที่เทกองเท่านั้น ถ้าขอเปิดโรงงานที่มีเครื่องจักรต้องไปขอที่สำนักงานอุตสาหกรรม ซึ่งใบอนุญาตสะสมสินค้าก็จะมีการกำหนดเงื่อนไขแนบท้าย อาทิ ต้องกองไม่เกินเท่านี้ ต้องมีการคลุมผ้า ต้องมีระบบสเปรย์น้ำ และทำรั้วทำแสลน

จ.ส.ต. สุนทร กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า พวกเราเห็นใจชาวบ้านนะ แต่เวลาอุตสาหกรรมจังหวัดหรือสิ่งแวดล้อมจังหวัดมาตรวจวัดค่าฝุ่นละออง ค่าเฉลี่ยมักออกมาไม่เกิน ทางเราจะไปสั่งปิดโรงงานก็ไม่ได้ ทำได้เพียงสั่งหยุดไม่เกิน 15 วัน และปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข แต่ไม่ได้ปรับที่ อบต. เราต้องทำเรื่องไปที่สาธารณสุขให้ทางนั้นปรับ โดยให้เขาระบุว่าโรงงานผิดเงื่อนไขยังไง และทางโรงงานยินยอมที่จะให้ปรับไหม ถ้าโรงงานไม่ยอมทางเราก็ไม่สามารถปรับได้ ก็ต้องฟ้องศาลหรือขึ้นโรงพัก แต่ส่วนมากทางโรงงานก็จะยอมรับ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถมองเห็นได้เลย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่เพื่อเทกองสินค้า ทางเราก็จะไปพูดคุยว่า ถ้าหากไม่ลงทุนทำให้ดีขึ้นก็จะไม่ต่อใบอนุญาตให้แล้ว เวลาคณะกรรมการเข้าไปตรวจทางโรงงานเขาก็จะคลุมผ้า เขาจะมีสายคอยบอกให้ทราบก่อน แต่พอเริ่มขนถ่ายก็ไม่มีการคลุมผ้าแล้ว ทางเราก็ต้องไปคอยดูให้ทำตามข้อกำหนด แต่ถ้าหากทางเราไม่ต่อใบอนุญาตให้ ทางโรงงานก็มีสิทธิอุทธรณ์ได้ว่าเขาจะดำเนินการแก้ไขยังไง แล้วถ้าทางจังหวัดกับสำนักงานอุตสาหกรรมอนุญาต โรงงานก็สามารถอยู่ได้ต่อ

จ.ส.ต. สุนทรกล่าวว่า สำหรับการทำประชาคมของชาวบ้าน ถ้าหากประชาคมไม่ผ่าน ทางโรงงานสามารถสงวนสิทธิของเขาได้ โดยดูภาพรวม เพราะประชาคมเป็นแค่ส่วนประกอบในการพิจารณาเท่านั้น ไม่ใช่เงื่อนไขหรือสาระสำคัญ เคยมีเหมือนกันที่ประชาคมไม่ผ่านแต่โรงงานก็เปิดได้ เพราะโรงงานมีใบอนุญาตของสำนักงานอุตสาหกรรมและทางจังหวัดแล้ว ซึ่งทาง อบต. ไม่จำเป็นต้องเซ็นก็สามารถสร้างโรงงานได้ แต่ถ้าโรงงานจะสะสมแร่หรือปูน ถึงจะมาขออนุญาตกับ อบต. ในการขออนุญาตนี้ ส่วนมากจะมาขอก็ต่อเมื่อโรงงานสร้างเสร็จแล้ว