ThaiPublica > เกาะกระแส > มติ ครม. แก้กฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เอื้อลูกจ้าง – จัดระเบียบ 9 คลอง กทม. ย้าย 3,000 ครัวเรือน-เวนคืนที่ราชเทวี-พญาไท สร้าง Airport Rail Link

มติ ครม. แก้กฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เอื้อลูกจ้าง – จัดระเบียบ 9 คลอง กทม. ย้าย 3,000 ครัวเรือน-เวนคืนที่ราชเทวี-พญาไท สร้าง Airport Rail Link

24 กุมภาพันธ์ 2015


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/240215_tro/240215tro-54625.html
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/240215_tro/240215tro-54625.html

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับคณะ คสช. เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 มีการอนุมัติงบประมาณ แผนงาน และโครงการที่สำคัญ ตามที่ ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงมติที่สำคัญ ดังนี้

แก้กฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอและส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถจ่ายเงินสะสมมากขึ้นได้โดยที่นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีปัญหาว่านายจ้างไม่ยินดีสมทบเงินสะสมเพิ่มกรณีที่ลูกจ้างต้องการจ่ายเงินสะสมมากขึ้น

2) กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราวได้ ในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

3) ให้ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานเมื่อมีอายุมากกว่า 55 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกษียณอายุ สามารถขอรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นงวดได้ จากเดิมต้องรับครั้งเดียวทั้งหมด เพื่อสนับสนุนให้ลูกจ้างมีเงินดำรงชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ลูกจ้างเกษียณอายุยังคงแสดงเจตนาขอรับเงินเป็นงวดได้เหมือนเดิม

4) ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพ สามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพได้ จากเดิมเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นที่มิใช่เลิกกองทุน ผู้จัดการกองทุนจะจ่ายเงินแก่ลูกจ้างทั้งเป็นงวดและครั้งเดียวทั้งหมด ส่งผลให้ลูกจ้างไม่มีทางเลือกกรณีต้องการออมเงินอย่างต่อเนื่อง

5) หลักเกณฑ์และวิธีการนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนหรือหาผลประโยชน์สำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้แสดงเจตนาเลือกนโยบายการลงทุนไว้ โดยเพิ่มความยืดหยุ่นของการลงทุน จากเดิมที่กำหนดให้นำไปลงทุนรูปแบบที่มีความเสี่ยงต่ำสุด ซึ่งอาจจะกระทบต่อเงินออมในวัยเกษียณได้

6) แก้ไขวิธีการบันทึกรายได้ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในกองทุนหลายนายจ้าง เพื่อมิให้ลูกจ้างเสียประโยชน์

7) แก้ไขเพิ่มเติมกรณีการจ่ายเงินกองทุนให้แก่ลูกจ้างและกำหนดโทษผู้จัดการกองทุนในกรณีไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด

ปรับเพิ่มโครงการแผนบริหารน้ำฯ

ครม. มีมติปรับเพิ่มโครงการในแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งใช้ส่วนงบกลาง โดยเป็นโครงการปีเดียว จากจำนวน 1,641 โครงการ วงเงิน 7,800 ล้านบาท (ตามมติวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558) เป็น 1,756 โครงการ วงเงินเท่าเดิม

โดยงบกลางที่เหลือจำนวน 8,476 ล้านบาท อยู่ในส่วนของโครงการผูกพันข้ามปีทั้งสิ้น 82 โครงการ แบ่งเป็น 1) ส่วนที่สามารถดำเนินการได้เลย 77 โครงการ วงเงิน 4,114 ล้านบาท ใช้งบประมาณของปี 2558 วงเงิน 1,302 ล้านบาท และงบประมาณผูกพันในอนาคต 2,811 ล้านบาท และ 2) โครงการผูกพันข้ามปีอีก 5 โครงการ วงเงิน 4,361 ล้านบาท ใช้งบประมาณปี 2558 จำนวน 596 ล้านบาท และงบประมาณผูกพันในอนาคต 3,765 ล้านบาท

ส่งผลให้แผนบริหารจัดการน้ำ จะใช้งบกลางปี 2558 จำนวน 9,697 ล้านบาท จากเดิม ครม. ได้อนุมัติโครงการบริหารจัดการน้ำ ประมาณ 1 แสนล้านบาท จัดสรรงบประมาณแล้ว 60,000 ล้านบาท ต้องหาเงินเพิ่มประมาณ 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ 30,000 ล้านบาท และงบกลาง 16,000 ล้านบาท

ส่งเสริมการค้าข้าว-ยางพารา หนุนบาร์เทอร์เทรดแลกสินค้า

ครม. รับทราบแนวทางการส่งเสริมการค้ากับประเทศที่สนใจซื้อข้าวและยางพาราจากไทยของกระทรวงพาณิชย์ หลังจาก พล.อ. ประยุทธ์สั่งการให้หาแนวทางเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 โดยสำหรับข้าวนั้นได้ 1) จัดคณะผู้แทนการค้าเพื่อเจรจาและกระชับความสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศ 2) ส่งเสริมพัฒนาตลาดเฉพาะกลุ่ม ผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า 3) จัดงานแสดงสินค้าอาหารในประเทศและเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติ รวมทั้งส่งเสริมการขายข้าวไทยร่วมกับห้างและผู้นำเข้าในต่างประเทศ (in-store promotion) 4) กิจกรรมตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก และ 5) จัดโครงการ Product Champion ขณะที่ยางพาราได้จัดให้มีคณะผู้แทนการค้า เพื่อเจรจาการค้าในไทยและต่างประเทศ และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังได้เสนอแนวทางการส่งเสริมการค้าโดยใช้วิธีซื้อขายต่างตอบแทนหรือบาร์เทอร์เทรด มีการเปิดช่องให้ ครม. อนุมัติเป็นกรณีๆ ไปได้ แม้ ครม. จะมีมติ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ให้ยกเลิกระเบียบว่าด้วยการค้าแบบแลกเปลี่ยน พ.ศ.2549 เนื่องจากแนวทางการดำเนินการค้าแบบแลกเปลี่ยนไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์และนโยบายการค้าระหว่างประเทศแล้วก็ตาม

รับมือภัยแล้ง 4 ยุทธศาสตร์ “ป้องกัน-เตรียมพร้อม-จัดการฉุกเฉิน-ฟื้นฟู”

ครม. มีมติรับทราบแผนบูรณาการการจัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2558 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 ดังนี้

1. สั่งการให้ทุกจังหวัดสำรวจพื้นที่ที่คาดว่าถ้าประสบภัยแล้งแล้วจะส่งผลให้เกิดความเสียหายด้านเกษตร พืชสวน พืชไร่ (ยกเว้นนาข้าว) ช่วงเวลาใด มีพื้นที่จำนวนเท่าใด พร้อมให้กำหนดแผนปฏิบัติการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม เช่น การบริหารน้ำในระบบชลประทาน การประสานช่วงเวลาการทำฝนหลวง กำหนดจุดสูบน้ำที่มีศักยภาพ การขอสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำจากส่วนกลาง การขุดเจาะบ่อบาดาล บ่อน้ำตื้น รวมถึงการนำน้ำไปจ่ายในจุดที่ขาดแคลนน้ำ โดยจะดำเนินการจัดลำดับความเร่งด่วนของพื้นที่ที่จะเกิดภัยแล้งรุนแรง เพื่อดำเนินการสนับสนุนความช่วยเหลือจากรัฐบาลไปให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความจำเป็นต่อไป

2. วาง 4 ยุทธศาสตร์การดำเนินการ ได้แก่ 1) การป้องกันและลดผลกระทบ เน้นมาตรการระบบเฝ้าระวังและคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้ง ตลอดจนการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากจำนวน 31 จังหวัด ทั้งนี้ มอบหมายกรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานหลัก และมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมประชาสัมพันธ์ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานแจ้งเตือนและสื่อสารให้ประชาชนรับทราบ 2) การเตรียมพร้อมรับภัย เน้นมาตรการจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ให้ความสำคัญเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก ทั้งนี้ มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยทหาร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ รวมทั้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเตรียมความพร้อมในการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และกระทรวงสาธารณสุขดูแลสุขภาพประชาชนในช่วงฤดูแล้ง

3) การจัดการในภาวะฉุกเฉิน เน้นการดำเนินการตามมาตรการ โดยในระดับภูมิภาคให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานตามแผนของจังหวัด หากเกินขีดคววามสามารถให้ร้องขอความช่วยเหลือจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ขณะที่ระดับส่วนกลางให้ทุกภาคส่วนของราชการ สนับสนุนตามแผนปฏิบัติการของจังหวัดต่างๆ และในกรณีที่มีแผนปฏิบัติการในพื้นที่ใด ให้ขออนุญาตจากผู้ว่าราชการจังวัดนั้นก่อน เพื่อป้องกันการทำงานซ้ำซ้อน นอกจากนี้ ให้กรมประชาสัมพันธ์รวบรวมข่าวสารและเผยแพร่ข้อมูลจากรัฐบาลให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงด้วย

4) การจัดการหลังการเกิดภัย เน้นการดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ ให้เกิดความทั่วถึงให้มากที่สุด ทั้งในเรื่องเงินชดเชยตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจ้างแรงงาน การส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

จัดระเบียบ 9 คลอง กทม. ย้าย 3,000 ครัวเรือน ประเดิมคลองลาดพร้าว

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวถึงเรื่องการจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างและลำคลองในเขตกรุงเทพฯ ตามข้อเสนอของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าปัจจุบันมีคลอง 9 คลองที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยกำหนดให้คลองลาดพร้าวเป็นโครงการนำร่อง ขณะที่ปัญหาที่ผ่านมาซึ่งทำให้ไม่สามารถจัดระเบียบได้สำเร็จ เนื่องจากมีประชาชนบางส่วนเข้ามาอาศัยอยู่ตามแนวริมคลอง รวมไปถึงบุกรุกเข้าไปในคลอง โดยคาดการณ์ว่ามีประชาชนอาศัยอยู่ทั้งสิ้น 13,000 ราย 3,000 ครัวเรือน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้นโยบายว่าให้จัดตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งระบบ โดยเบื้องต้นจะต้องหาทางย้ายประชาชนออกมาก่อน ซึ่งจำเป็นต้องทำแม้ว่าจะยาก เพราะถ้าไม่ทำวันนี้ จะไม่มีโอกาสทำได้วันข้างหน้าอีก อย่างไรก็ตาม ต้องคำนึงถึงประชาชนที่ย้ายออกมาด้วยว่าจะไปอาศัยที่ไหน ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับการเคหะฯ จะมาช่วยดูแลทั้งในระยะสั้นและยาว เพื่อไม่ให้ปัญหานี้กลับมาอีก

เวนคืนที่ราชเทวี-พญาไท สร้าง Airport Rail Link

ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี และแขวงสามเสนใน เขตพญาไท  กรุงเทพมหานคร พ.ศ. …. (เพื่อดำเนินโครงการระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link)  ส่วนต่อขยาย ช่วงดอนเมือง–บางซื่อ–พญาไท) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ โครงการ Airport Rail Link ส่วนต่อขยาย มีระยะทางประมาณ 21.8 กิโลเมตร  ประกอบด้วย 3 สถานี ได้แก่ สถานีราชวิถี  สถานีบางซื่อ และสถานีดอนเมือง  โดยงานโครงสร้างทางวิ่งประกอบด้วย  2 ส่วนหลักๆ คือ  โครงสร้างทางวิ่งยกระดับ (elevated)  ช่วงพญาไท–พระรามที่ 6 และช่วงประดิพัทธ์–ดอนเมือง ระยะทาง 18.3 กิโลเมตร  และโครงสร้างทางวิ่งแบบคลองแห้ง (open trench and cut & cover tunnel)  ช่วงพระรามที่ 6–ระนอง 1 ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร มีที่ดินที่จะต้องจัดกรรมสิทธิ์ในเส้นทางประมาณ 7-1-41.03 ไร่  และมีสิ่งปลูกสร้างที่จะต้องรื้อถอนประมาณ 50 หลัง

ลงนามร่วมปรับโครงสร้างกองทุนเอดีเอฟ-เพิ่มศักยภาพให้กู้ธนาคารเอดีบี

ครม. มีมติเห็นชอบมอบอำนาจแก่รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ว่าการของไทยในธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ลงนามหนังสือยินยอมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้กู้เอดีบี โดยการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาเอเชีย (เอดีเอฟ) โดยให้รวมมูลค่าเงินให้กู้ (loans) ทั้งหมด รวมถึงสินทรัพย์บางส่วนของกองทุนเอดีเอฟ เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งเงินทุนสามัญ (Ordinary Capital Resource: OCR) และให้คงสถานะการดำเนินงานของกองทุนเอดีเอฟในการให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ประเทศสมาชิก

ทั้งนี้ ที่มาของการเพิ่มศักยภาพในการให้กู้เงิน สืบเนื่องจากการศึกษาของธนาคารเอดีบี พบว่าระดับการกู้ที่ยั่งยืนในอนาคตมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากสภาพดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก นอกจากนี้ กองทุนเอดีเอฟยังคงมีรอบการเพิ่มทุนทุก 5 ปี และให้ผู้บริจาคเงินในกองทุนเอดีเอฟยังคงให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าและแบบพิเศษอื่นๆ ได้ โดยจะมีผลบังคับใช้ในปี 2560 เป็นต้นไป