ThaiPublica > คอลัมน์ > Bangkok: Handmade Transit จากแสตนฟอร์ด
สู่ “แสนแสบ”

Bangkok: Handmade Transit จากแสตนฟอร์ด
สู่ “แสนแสบ”

9 กุมภาพันธ์ 2015


ยรรยง บุญ-หลง ([email protected])

ที่มาภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน (กลุ่มสารคดี “สายลม”)
ที่มาภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน (กลุ่มสารคดี “สายลม”)

เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว มีวิศวกรจากมหาลัยฯ Stanford โทรมาหาผม

“เรากำลังสร้าง Start Up อันใหม่” เขาบอกสั้นๆ ด้วยสำเนียง Silicon Valley

พวกเขานัดสุมหัวกินกาแฟกันสามคนแถวย่านเอกมัย

“เราน่าจะจัดทำหนังสือที่รวมรวมแบบแปลน และเครื่องยนต์ของระบบขนส่งที่คนธรรมดาๆ วิจัยและคิดค้นกันขึ้นมาเองนะ… อย่างเช่นเรือแสนแสบ ระบบวินมอเตอร์ไซค์ ระบบรถเข็นข้างถนน และระบบรถสองแถว ฯลฯ…ทำเป็นแบบ Open Source เลย ให้ประเทศอื่นเอาไปพัฒนาต่อได้” พวกเขาเสนอ

บริษัท Start Up อันใหม่ของพวกเขามีชื่อว่า afterword.co ก่อตั้งโดย กิตติศักดิ์ ปัญญาจิรกุล และ พราวพรรณราย มัลลิกะมาลย์

จริงๆ แล้วบริษัทนี้เป็นบริษัทที่ทำโครงการ “Crowdfunding” เพื่อตีพิมพ์หนังสือที่คนอ่านอยากจะอ่านแต่ยังไม่มีขายในท้องตลาด โดยจัดการระดมทุนผ่านผู้อ่านโดยตรง ไม่ต้องผ่านสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ

ข้อดีของการตีพิมพ์แบบ Crowdfunding ก็คือเราสามารถซาวเสียงผู้อ่านก่อนได้ว่าอยากจะเห็นเนื้อหาอะไรบ้างในหนังสือ … คือนอกจากจะได้ระดมทุนแล้ว ยังได้ระดมสมองผู้อ่านอีกด้วย

ที่มาภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน (กลุ่มสารคดี “สายลม”)
ที่มาภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน (กลุ่มสารคดี “สายลม”)

อยู่ๆ ทำไมวิศวกรจากมหาลัยฯ Stanford จึงหันมาสนใจเครื่องยนต์ และการออกแบบ เรือแสนแสบ ระบบวินมอเตอร์ไซค์ รถตุ๊ก ตุ๊ก รถเข็นผลไม้ หรือรถเข็นแป๊ปเหล็ก ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน

แต่ไม่กี่อาทิตย์หลังจากได้คุยและจิบกาแฟร่วมกันที่เอกมัย พวกเขาก็สามารถชักชวนทีมงานทำสารคดีมืออาชีพอย่าง “กลุ่มสายลม” มาร่วมทีมได้ โดยปกติแล้วทีมงานนี้จะถ่ายภาพสารคดีในต่างประเทศ

“จริงๆ แล้วประเทศไทยมีภาพ และนวัตกรรมที่เรามองข้ามไปเยอะมาก” นัฐพงษ์ แสงทองล้วน หมุนเลนส์ zoom ของกล้อง Canon ออกมาเช็ดถูอย่างจริงจัง

ในการวิจัยยานพาหนะที่เรียกว่า Informal Transit เหล่านี้ เรายังพบว่า ไม่เคยมีใครวาดแบบแปลนเครื่องยนต์และการออกแบบมาก่อนเลย ไม่มีการบันทึกแบบแปลนเหล่านี้เอาไว้ในรูปแบบการเขียน ทุกอย่างเป็นการบอกเล่ากันแบบปาก-ต่อ-ปากต่อๆ กันมา

เรือแสนแสบ

ที่มาภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน (กลุ่มสารคดี “สายลม”)
ที่มาภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน (กลุ่มสารคดี “สายลม”)

แสนแสบ-2-2“เราควรจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ในลักษณะ Open Source … ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศพัฒนาแล้ว จะได้เข้าถึงได้ และนำไปช่วยกันคิดต่อ” วิศวกรจาก afterword.co กล่าว

ฝรั่งใน Amsterdam อาจจะตกใจก็ได้ว่าเรือแสนแสบของเราสามารถลำเลียงผู้โดยสารออกจากเรือในอัตรา 100 คน ภายในเวลา 5 วินาที (เพียงแค่กระตุก “ม่าน” ลง …คนก็ล้นตลิ่งแล้ว)

เรือแสนแสบเป็นนวัตกรรมที่ตรงกับสิ่งที่ Buckminster Fuller เรียกว่า Tensegrity Structure หรือโครงสร้างที่ผสมผสานระหว่าง tension และ compression

ฝรั่งเขาอาจจะสามารถเอานวัตกรรมอันนี้ไปปรับใช้ในคลอง Amsterdam ได้ หรือถ้าเขาเอาไปพัฒนาต่อได้ในลักษณะ open source เราอาจจะได้เห็นเรือพลังงาน Fuel Cell หลังคาผ้าใบ ที่ปรับระดับได้ตามความสูงของสะพาน เหมือนกับในคลองแสนแสบก็ได้

มอเตอร์ไซด์2

ที่มาภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน (กลุ่มสารคดี “สายลม”)
ที่มาภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน (กลุ่มสารคดี “สายลม”)

ประสิทธิภาพและ demand ของมอเตอร์ไซค์รับจ้างนั้น ถูกแสดงให้เห็นในราคาของเสื้อวิน (เสื้อวินฯ อโศก มีมูลค่าตัวละ 500,000 บาท … แพงกว่าเสื้อสูทชื่อดังจากอิตาลี)

ระบบการจัดการวินมอเตอร์ไซค์ กลายเป็นระบบที่มีตารางเวลาที่แน่นอนกว่ารถ Limousine ของเศรษฐีเสียอีก มีการจัดคิวที่แน่นอนเป็นระบบตามตารางเวลา ซึ่งคำนวณได้ค่อนข้างแน่นอน

มอเตอร์ไซค์รับจ้างสามารถแทรกซึกผ่านการจราจรที่ติดขัดไปได้ เหมือนกับการออสโมซิส เป็นระบบการขนส่งที่พนักงานบริษัทไว้วางใจ เช่นเดียวกับระบบรถไฟฟ้า BTS และ MRT ซึ่งสามารถกำหนดเวลาการเดินทางได้แน่นอนเช่นเดียวกัน

ในประเทศอินเดีย ทางภาครัฐก็เริ่มตระหนักเรื่องนี้และได้พยายามจัดทำระบบมอเตอร์ไซค์สำหรับขนส่งผู้ป่วยไปโรงพยายาบาล เนื่องจากมีผู้ป่วยที่ติดอยู่บนถนน ที่ไม่สามารถไปโรงพยาบาลได้ทันเวลาจำนวนมาก

ก็จะสามามารถนำเอาระบบการจัดการคิวของวินมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ ไปประยุกต์ใช้สำหรับคิวมอเตอร์ไซค์พยาบาลได้ หากเราได้ทำการวิจัยและบันทึกระบบการจัดการวินมอเตอร์ไซค์เอาไว้เป็นภาษาอังกฤษ

ที่มาภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน (กลุ่มสารคดี “สายลม”)
ที่มาภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน (กลุ่มสารคดี “สายลม”)

ในปัจจุบันเรามีระบบการขนส่งที่สามารถกำหนดเวลาการเดินทางที่แน่นอนได้ 6 ระบบ
1.ระบบรถไฟฟ้า BTS/MRT
2.ระบบรถเมล์ BRT
3.ระบบเรือในคลองแสนแสบ คลองภาษีเจริญ และเรือด่วนเจ้าพระยา
4.ระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
5.ระบบจักรยาน
6.ระบบทางเดินเท้า

จากระบบทั้งหมดที่คำนวณเวลาได้แน่นอนนั้น 4 ใน 6 เป็นระบบที่ภาคประชาชนเป็นผู้ริเริ่มทำกันขึ้นมาเอง (เมื่อทำสำเร็จแล้ว รัฐจึงจะเข้ามาจัดการ)

หน้าปัดเรือ “แสนแสบ” (ที่มาภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน)
หน้าปัดเรือ “แสนแสบ” (ที่มาภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน)

แสนแสบ-3

ความสามารถที่จะกำหนดเวลาการเดินทางที่แน่นอนได้ มีผลต่อการวางแผนอนาคต ไม่ต่างจากชาวนาจีนที่นำที่ดินไปปล่อยเช่าในระยะเวลา 70 ปี เพื่อแลกกับรายได้ที่แน่นอนในการส่งลูกไปเรียนเมืองนอก

บริษัทเครดิตการ์ดหรือธนาคารจะปล่อยเงินกู้ให้ไปลงทุน หรือขยายกิจการ ก็ต่อเมื่อเราสามารถโชว์ให้เขาเห็นว่าเรามีรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน (ในอนาคต เราอาจจะเห็นบริษัทเครดิตปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำสำหรับคนที่ใช้ระบบการขนส่งที่มีตารางเวลาแน่นอน)

CEO ของบริษัทญี่ปุ่นผู้หนึ่ง เคยกล่าวอย่างภาคภูมิใจ ถึงการเดินทางในกรุงเทพฯ

“ผมชอบทำให้คณะกรรมการบริษัทตกใจอยู่เสมอ ด้วยการมาถึงที่ประชุมก่อนเวลากว่า 1 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่พวกเขานั่งรถ Limousine มาจากโรงแรมเดียวกัน” แกหัวเราะ

“แต่จริงๆ แล้วพวกคณะกรรมการบริษัทอาจจะตกใจ … ที่เสื้อสูทของผมมีละอองน้ำจากคลองแสนแสบติดอยู่ก็ได้ !”

… สมัยนั้นกรุงเทพฯ ยังไม่มีระบบรถไฟฟ้า BTS และ MRT สำหรับ CEO ผู้เร่งรีบ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ระบบการขนส่งแบบ “ทำมือ” เหล่านี้กลับกลายเป็นเครื่องมือการเดินทางที่สามารถกำหนดเวลาที่แน่นอนได้ ไม่ต่างจากระบบการขนส่งสากล (ไฮโซ) อย่าง BTS หรือ MRT

แต่ระบบรถยนต์ส่วนตัวที่ชนชั้นกลางชอบใช้กันนั้น กลับไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่นอนได้ … ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโชคชะตา และอำนาจที่ไม่สามารถควบคุมได้

ผลกระทบทางด้านจิตวิทยาของการติดอยู่บนถนน และการไม่สามารถกำหนดเวลาและชีวิตของตนเองได้ หรือผลกระทบทางด้านความตื่นตัวทางสังคมของคนกลุ่มนี้ คงจะเป็นสิ่งที่ต้องศึกษากันต่อไป

แน่นอนว่าระบบขนส่ง “ทำมือ” ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ถึงที่สุดแล้วก็จะต้องได้รับการสบับสนุนจากทางภาครัฐ หากชาวบ้านลงทุนทำเรือขึ้นมาวิ่งส่งคนในคลอง รัฐก็ควรจะมีงบประมาณในการปรับปรุงสร้างเขื่อนกันตลิ่งทรุดและการปะทะของคลื่นจากเรือ

รศ. ดร. ภาวิณี เอี่ยมตระกูล
รศ. ดร. ภาวิณี เอี่ยมตระกูล

“เวลาเราสร้างรถไฟฟ้า หรือปรับปรุงโครงสร้างคลอง
เพื่อการเดินเรือ ฝ่ายค้านบอกว่าเก็บค่าตั๋วไม่คุ้มทุน …
แต่พอถึงเวลาสร้างถนน (เก็บค่าตั๋วไม่ได้) พวกเขากลับไม่ค้าน”

— รศ. ดร. ภาวิณี เอี่ยมตระกูล
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นเรื่องที่น่าแปลกว่าระบบการจัดการขนส่ง “ทำมือ” ที่คนธรรมดาๆ เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาเอง กลับมีประสิทธิภาพและตรงต่อเวลากว่าระบบขนส่งที่รัฐจัดให้ ผมได้เคยเขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือของมติชน (คู่รัก เมืองใหญ่ One-night Stand) ตั้งแต่ช่วงยุค 1960 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาจากหลักคิดของปรัชญา ‘One-night Stand’ ไม่ว่าจะเป็นระบบการคมนาคม ไฟฟ้า ประปา หรือที่อยู่อาศัย

ประเทศไทยได้ชูธุรกิจการ ‘ท่องเที่ยว’ เป็นธุรกิจแม่บทในการพัฒนาประเทศ ซึ่งฟังดูเผินๆ ก็ไม่แปลกอะไรสำหรับประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามจำนวนมาก-ไม่ต่าง อะไรกับยุโรป

แต่หากมองลึกลงไปแล้วเราจะเห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ใน ยุโรปนั้นได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆไปพร้อมกับการพัฒนา อุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งการพัฒนาปรัชญาศิลปะแขนงต่างๆ อย่างมากมาย

ระบบโครงสร้างพื้นฐานของยุโรปได้เสร็จสิ้นลงเป็นเวลา นานแล้ว ก่อนที่ประเทศเหล่านี้จะกลายเป็น ‘เมืองท่องเที่ยว’ อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ระบบคมนาคมแบบรางของยุโรปไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองการท่องเที่ยว แต่มันได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจระหว่างประเทศต่างๆในยุโรป

แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ระบบโครงสร้างพื้นฐานได้ถูกพัฒนาขึ้นมาใช้เพื่อปรนเปรอธุรกิจการท่องเที่ยวในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

ประเทศไทยในช่วงสงครามเย็น (ปี ค.ศ. 1950-1960) เป็นจุดยุทธศาสตร์และฐานทัพ One-night Stand ขนาดใหญ่ที่เร้าใจที่สุดสำหรับทหารอเมริกัน ก่อนที่พวกเขาจะต้องออกไปรบที่อินโดจีนใน ‘สงครามเวียดนาม’ (หลายท่านที่ไป ก็ไม่ได้กลับมาประเทศไทยอีก)

ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานที่ผุดกำเนิดขึ้นมารองรับทหารกองหน้าเหล่า นี้ จะต้องเป็นธุรกิจแบบ ‘เสร็จครั้งเดียว’ ไม่มีเยื่อใย

ใครจะกลับมาโวยวายล่ะครับ ว่าถูกแท็กซี่คิดค่าโดยสารแพงกว่าปกติถึง 5 เท่า หรือถูกหญิงร้าย ‘ยืม’ กระเป๋าสตางค์ไปกลางดึกก่อนที่เขาจะขึ้นเครื่องบินทิ้งระเบิด

ใครจะกลับมาโวยวายเรื่องระบบรถเมล์หรือระบบรถไฟล่ะ ครับ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่กลับชอบเสียด้วยซ้ำที่ได้เห็นของแปลกๆ สักครั้งหนึ่งในชีวิต

‘นั่นพิพิธภัณฑ์รถไฟใช่ไหม’ นักท่องเที่ยวชาวจีนกล่าว

‘ผมอยากไปดูจังครับ…’

และหลังจากที่ผมได้บอกเพื่อนชาวจีนรายนี้ไป ว่ามันไม่ใช่พิพิธภัณฑ์รถไฟ แต่เป็นสถานีรถไฟที่ยังใช้การได้อยู่ มีชื่อว่า ‘หัวลำโพง’ เขาก็ดีใจจนแทบขาดสติ

‘ผมจะรีบไปจองตั๋วรถไฟเลย! ที่เมืองจีนไม่มีรถแบบนี้แล้ว…ไม่มีอีกแล้ว’ เขาวิ่งฝ่าคิวแท็กซี่เข้าไปในสถานีอย่างรวดเร็ว ทำให้หมาหลายตัวที่กำลังนอนอยู่บนชานชาลาแตกตื่นไปด้วย

‘ฝรั่งมาเที่ยวครั้งเดียวก็ไปแล้ว’ เสี่ยใหญ่หัวเราะ ‘เขาชอบมันดิบๆ แบบนี้แหละ’

นี่แหละครับคือเกม One-night Stand ที่ ‘ผู้ใหญ่’ ของเราคุ้นเคย (และการกระทำกันบ่อยครั้งกว่าวัยรุ่นยุคนี้เสียอีก)

ในยุคเดียวกันกับที่ประเทศไทยสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานมาเพื่อรองรับการท่องเที่ยว (ยุค 1960) สิงคโปร์ก็กำลังฟื้นฟูคลองน้ำเน่าของเขา ฟื้นฟูสลัม (เกือบ 70%ของบ้านในสิงคโปร์มีลักษณะที่เรียกได้ว่า ‘สลัม’) ให้กลายเป็นอาคารที่สะอาด ตั้งอยู่ใกล้แหล่งโรงงาน โรงเรียน และระบบขนส่งมวลชน มีการให้ประชาชนถือหุ้นในระบบรถเมล์ เพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของให้แก่ชาวบ้าน

‘ผมต้องการให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางของธุรกิจใน เอเชีย’ นายลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์กล่าวไว้ในหนังสือของเขา ‘From Third World to First’

‘ผมต้องวางระบบโครงสร้างพื้นฐานไว้ให้ดี เพื่อดึงดูดการลงทุนมาลงที่นี่ ผมต้องการให้บริษัทระดับโลกมาตั้งสาขาใหญ่ที่นี่’

โครงการทำหนังสือ Bangkok: Handmade Transit นี้จะพาคุณเหลือบดูระบบขนส่งทำมือ ในแง่ความเป็น เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) แง่การออกแบบ แง่สังคม และเศรษฐกิจ ด้วยความเรียงอ่านง่ายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมภาพถ่ายเชิงสารคดีและลายเส้นรายละเอียดการออกแบบที่เราอาจไม่เคยสังเกต

เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมได้ไปคุยกับพี่จำรัส ณ. ชุมชนคลองบางซื่อมา เขาบอกว่าเขาได้ใช้เรือที่ทำขึ้นมาเอง ขนส่งลำเลียงผู้ป่วยในชุมชนริมคลอง ไปโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ

เรือขนส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล (คลองลาดพร้าว-บางซื่อ)
เรือขนส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล (คลองลาดพร้าว-บางซื่อ)

“โรงพยาบาลเปาโลครับ” แกพยักหน้า “คนส่วนใหญ่ในชุมชน กว่าจะออกมาถึงถนน อาจจะใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมง เพราะชุมชนเราอยู่ในซอยลึกมาก… แต่ถ้าออกมาทางเรือ ผู้ป่วยจะไปโรงพยาบาลได้ทันทีครับ ไม่ต้องฝ่ารถติด”

บันทึกการขนส่งไทย

จริงๆ แล้ว Leonardo Da Vinci ก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรไปกว่าพี่จำรัส แต่เขาได้บันทึกแบบและแนวคิดต่างๆ ของเขาเอาไว้ให้ คนรุ่นหลังได้ดู

เรามีนวัตกรรมทางด้านการขนส่งที่ถูกคิดค้นขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่มีใครบันทึกเอาไว้ในลักษณะ Open Source เลย
ทางทีมงาน afterword และสายลม กำลังริเริ่มสังคมที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า Creative Economy หรือเศรษฐศาสตร์ของการ “คิด” และสร้างสรรค์ ผ่านการบันทึก และพัฒนาต่อๆ กันไป เพื่อร่วมกันสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

อ่านเพิ่มเติม:http://afterword.co/campaigns/handmadetransit/