เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกของเวที “Crowdfunding Asia Thailand Summit” จัดโดย Crowdfunding Asia ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนและส่งเสริมด้านการระดมทุน ร่วมกับองค์กรในประเทศไทยอีกหลายองค์กร เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และองค์กรด้านเทคโนโลยีอื่นๆ โดยมีการพูดคุยถึงความเป็นมาและวิธีการเริ่มต้นทำ “Crowdfunding” รวมถึงการพูดถึงตลาด Crowdfunding ของไทย ในฐานะหน้าใหม่ด้านการระดมทุนด้วย
Crowdfunding คืออะไร?
หนึ่งในการใช้เทคโนโลยีบนอินเทอร์เน็ตได้ทรงพลังมากที่สุดคงหนีไม่พ้น “การระดมทุนสาธารณะ” หรือ “Crowdfunding” เป็นการระดมทุนจากประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่นักลงทุนโดยตรงและลงทุนในจำนวนน้อย โดยใช้ช่องทางออนไลน์เป็นทางเลือก แน่นอนว่าไม่รวมกับการระดมทุนโดยตรงกับธนาคารทั่วไป (traditional bank) วิธี “Crowdfunding” นี้ ใช้ได้ดีกับธุรกิจขนาดย่อม (SMEs) กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) งานสร้างสรรค์ (Kickstarter) เงินกู้ (Kiva) หรือโครงการพลังงานหมุนเวียนระดับชุมชน (Abundance Generation)
เมื่อมีการระดมทุนผ่านอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์จึงเป็นกลไกการทำงานสำคัญที่ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ให้คนที่อยากร่วมระดมทุนเข้ามา “เสนอ” (pitch) ไอเดียของโครงการ ผลงาน สิ่งที่กำลังทำอยู่ ตัวตนของผู้เสนองาน และประการสำคัญที่สุดก็คือ โครงการที่เสนอมานั้น “ต้องใช้เงินแค่ไหน” ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดที่แสดงตัวขอระดมทุนได้ ต้องผ่านการ “ระดมสมอง” อย่างหนัก คิดหาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ (Hardware & Software) และวิธีการระดมทุนที่น่าจะเข้าตาเป้าหมายมาก่อนด้วย ซึ่งปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลางในการ Crowdfunding อยู่มากมาย
“Crowdfunding” ได้รับความนิยมตั้งแต่ปี 2551 จากการที่เหล่านักลงทุนทั้งหลายพยายามที่จะหาทุนมาเพื่อต่อยอดธุรกิจ ซึ่งเป็นช่องทางที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีส่วนอย่างมาก ตั้งแต่ทุนมูลค่า 1,000 เหรียญสหรัฐฯ จนถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยอยู่ในรูปแบบของการบริจาคหรือการลงทุนจากหลายๆ ปัจเจกบุคคล
การระดมทุนนั้นจะไม่คาดหวังจาก VC (Venture Capital) หรือนักธุรกิจที่เน้นการลงทุนสูง และมีกำหนดเวลาระยะยาวประมาณ 3-5 ปี แต่เน้นการลงทุนของ Angel investor หรือนักลงทุนอิสระที่ใช้เงินส่วนตัวในการลงทุนในธุรกิจ ซึ่งมักให้เงินจำนวนที่น้อยกว่า VC นักลงทุนประเภทนี้มีความเป็นไปได้สูงกว่ากลุ่ม VC ที่ต้องการจะช่วยธุรกิจใหม่ๆ ให้ประสบความสำเร็จโดยไม่ได้มองเพียงที่ผลตอบแทนอย่างเดียว
การระดมทุนนี้อาจจะเริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัว แล้วช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลไปยังอินเทอร์เน็ตสู่ผู้คนทั่วไปที่สนใจในไอเดียธุรกิจ ถือเป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นเด่นชัดในโลกที่พัฒนาแล้ว ส่วนในโลกที่กำลังพัฒนากำลังได้รับความสนใจอยู่เช่นกันแต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก
Crowdfunding มีรูปแบบ (Platform) การลงทุนหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ ยืดหยุ่น ให้ผลประโยชน์ที่นักลงทุนและผู้รับนั้นพอใจ รายงานของธนาคารโลกระบุว่า ในสหรัฐฯ นั้นมีรูปแบบการลงทุนมาที่สุดในโลกกว่า 344 รูปแบบ รองลงมาคือฝรั่งเศส 53 รูปแบบ และ อิตาลี 15 รูปแบบ
นอกจากนี้ ธนาคารโลกมีการคาดการณ์ว่าเมื่อไปถึงปี 2025 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า มูลค่าการระดมทุนจะสูงถึง 90-96 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีเลยทีเดียว ด้วยการที่เจ้าของโครงการสามารถเข้าถึงผู้ลงทุนโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง และด้วยเทคโนโลยีที่เชื่อมถึงกันทำให้การตลาดของกิจการเล็กๆ ขับเคลื่อนไปไกล
กุญแจสำคัญของ “Crowdfunding” คือ ความซื่อสัตย์ โปร่งใส
คาร์ล เอสโปสติ (Carl Esposti) ผู้บริหารเว็บไซต์ Crowdsourcing.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์สื่อกลางสำหรับการระดมความคิด เงินทุน และกิจการเพื่อสังคมระดับโลก กล่าวว่า รูปแบบการทำ Crowdfunding นั้นทำได้หลายแบบ สามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นได้มาก แต่โดยหลักแล้วมีอยู่ 4 แบบด้วยกัน
Crowdfunding ช่วยกระตุ้นเครือข่ายนักลงทุนให้มีความตื่นตัว แถมยังสามารถสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนด้วยตนเองโดยที่ไม่ต้องเป็นบริษัทใหญ่โต เป็นการทดสอบตลาดแบบหนึ่งจากการวัดกระแสสังคมที่ตอบรับโมเดลธุรกิจนั้นๆ อย่างทันทีทันใด เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขยุทธศาสตร์ได้ทันท่วงที และยังได้สร้างเครือข่ายผู้สนับสนุนจากทั้งภาคธุรกิจเดียวกันและจากประชาชนทั่วไป นอกจากนี้นักลงทุนยังสามารถตรวจสอบความเป็นไปได้บนอินเทอร์เน็ตได้ทันทีอีกด้วย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Crowdfunding ประสบความสำเร็จคือ การมีรูปแบบที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว ลดกระบวนการขั้นตอนที่ยุ่งยากจากการลงทุนเดิมๆ การสื่อสารของเจ้าของโครงการที่ดีส่งผลให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในโครงการเพิ่มขึ้น ผู้ลงทุนจะเข้าใจทันทีว่าเหล่าผู้ริเริ่มธุรกิจใหม่ (startup) กำลังทำอะไรอยู่ การทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันจะนำไปสู่การสนับสนุน
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับ Crowdfunding คือ การเลือกช่องทางในการจ่ายเงินสนับสนุน ซึ่งเหมือนการเลือกพาร์ทเนอร์ทางธรุกิจ ทางเลือกที่หลากหลายทำให้เกิดความแตกต่าง ซึ่งทางเลือกหนึ่งๆ นั้นจะช่วยยกระดับธุรกิจหรือจะล้มเหลวก็ได้
ช่องทางการจ่ายเงินไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมือนกันหมด แต่ละรูปแบบก็ถูกปรับให้เหมาะสมสำหรับความต้องการของแต่ละธุรกิจ ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนต้องเรียนรู้รายละเอียดของการทำ Crowdfunding และช่องทางการจ่ายเงินสนับสนุนด้วย รวมถึงความชอบธรรมของเงินเมื่อถูกส่งไปแล้วจะนำไปทำอะไรต่อ และหากลงทุนในโครงการนี้ดีกว่าโครงการอื่นอย่างไร
Crowdfunding ในไทยยังใหม่อยู่
การทำ “Crowdfunding” ในไทยนั้นเป็นเรื่องใหม่อยู่พอสมควร เนื่องจากยังไม่มีการเข้าถึงระบบการเงินมากนัก “หมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญ” ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง Ookbee หรือ “อุ๊กบี” กล่าวว่า “การซื้อของออนไลน์ในไทยยังเป็นไปแบบง่ายๆ เช่น การซื้อของจากการเลือกดูรูปของร้านค้าใน อินสตาแกรม (Instagram) จากนั้นเมื่อพอใจสินค้าชิ้นใดก็แอดไลน์ (Line) ของเจ้าของร้านเพื่อสอบถามถึงสินค้าว่ามีอยู่หรือไม่ พร้อมสอบถามราคาเพื่อการโอนเงิน จากนั้นเมื่อลูกค้าโอนเงินและส่งหลักฐานสลิปการโอนเงินกลับไปยังเจ้าของร้านเรียบร้อยแล้ว เจ้าของร้านก็จะจัดส่งสินค้าไปยังลูกค้า”
“หมู ณัฐวุฒิ” กล่าวต่อว่า ในส่วนของไทยนั้นนอกเหนือจากรูปแบบการระดมทุนด้านซอฟต์แวร์แล้ว ยังมีการระดมฮาร์ดแวร์ด้วย เช่น ล่าสุดมีกลุ่มนักศึกษาคิดเครื่องมือที่สามารถเชื่อมต่อกับรถยนต์และแอปพลิเคชันสำหรับผู้ใช้รถที่ไม่ชำนาญด้านเครื่องยนต์ ชื่อ “Drivebot” เพื่อเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ใช้รถยนต์สามารถตรวจสอบเครื่องยนต์และสภาพรถได้โดยไม่ต้องมีความรู้ ว่าส่วนใดพังเสียหาย ส่วนใดใกล้จะถึงเวลาต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุง มีการการตั้งเวลาเตือนว่าเมื่อใดควรนำรถไปตรวจสอบสภาพ รวมถึงระบบเบรก แบตเตอรี่ ระบบควบคุมการขับขี่ หรือแม้แต่ดูปริมาณน้ำมันในถังว่าสามารถขับได้อีกกี่กิโลเมตร
สำหรับการใช้งานนั้น เพียงแค่เสียบเข้ากับพอร์ต OBD-II (On-Board Diagnostic) ที่ติดตั้งอยู่บนตัวรถ และจากนั้นก็ทำการเชื่อมต่อเข้ากับสมาร์ทโฟนก็จะสามารถใช้งานได้แล้ว
“Drivebot” ได้เข้าระดมทุนในเว็บไซต์ Indiegogo และสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย และสามารถระดมทุนไปได้เกินเป้าโดยใช้เวลาเพียง 6 วันเท่านั้น
สำหรับ Ookbee หรือ “อุ๊กบี” เป็นกิจการที่ก่อตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี 2555 ซึ่งขณะนี้เป็นกิจการอีบุ๊กที่ใหญ่ที่สุดในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีส่วนแบ่งตลาด 85% ในไทย มียอดการดาวน์โหลด 75 ล้านครั้ง มีผู้ใช้ 5 ล้านคน และมีผู้ใช้เพิ่มขึ้น 10,000 คนต่อวัน
เมื่อถามถึงปัญหาของการค้าดิจิทัลของไทย “หมู ณัฐวุฒิ พึงเจริญ” ผู้ซึ่งคลุกคลีวงการไอทีมากว่า 12 ปี ให้ข้อมูลกับไทยพับลิก้าว่า “จริงๆ คนไทยใช้มาก แต่ปัญหาคือการจ่ายเงินให้กับสินค้าดิจิทัล เพราะยังมีเรื่อง piracy (การละเมิดลิขสิทธิ์) จึงไม่อยากจ่ายเงิน อยากจะก็อปปี้ การ piracy มันก็ดีอย่างตรงที่ว่า ถ้าให้จ่ายเงินแล้วไม่มีคนใช้ กับไม่จ่ายเงินแต่มีคนใช้ อย่างไหนดีกว่ากัน หลายๆ ประเทศก็เกิดมาจากแบบนี้ อย่างจีน ทุกคนก็บอกว่าก็อปปี้ทุกอย่าง จนวันนี้ของทุกอย่างก็ ‘made in China’ หมดแล้ว แต่เชื่อว่าท้ายที่สุดคนจะใช้เงินซื้อเพื่อความสบาย เราก็ต้องปรับวิธีให้เข้าถึงคนได้ด้วย”
ณัฐวุฒิกล่าวต่อไปว่า ฐานลูกค้าของอุ๊กบี เป็นเจ้าของแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ผู้ใช้งานอายุยังไม่ 18 ก็เข้ามาใช้แล้ว แต่เป็นการเข้ามาอ่านหนังสือและนิตยสารที่เปิดให้อ่านฟรี ไม่ต้องจ่ายเงิน แต่กลุ่มที่จ่ายเงินมากที่สุดก็น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ทำงานแล้ว โดยหนังสือที่ขายดีที่สุดคือพวกนิตยสารโป๊ อย่าง FHM หรือ MAXIM รองลงมา คือ นิตยสารแฟชั่น
“การปล่อยให้โหลดหนังสือฟรีก็เป็นการหาช่องทางลูกค้าใหม่ๆ ครั้งแรกอาจจะยังไม่ซื้อ อยู่ไปนานๆ อาจจะซื้อ”
นอกจากนี้ ณัฐวุฒิยังกล่าวทิ้งท้ายถึงนักธุรกิจ Startup รุ่นใหม่ ถึงการเริ่มต้นทำธุรกิจว่า
“Respect Everyone, Fear No One (เคารพทุกคน แต่อย่ากลัวใคร) ไม่ต้องกลัวว่าจะทำอะไรไม่ได้ บริษัทอย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล หรือแอปเปิล ก็เริ่มมาจากคนสองคนทั้งนั้น มันก็แค่ว่ามีความฝันแล้วก็ลงมือทำ”
ถึงแม้ว่าในไทยนั้น การระดมทุนถือเป็นเรื่องใหม่ แต่ก็มีการระดมทุนบนเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นเองโดยกลุ่มคนที่สนใจในประเด็นเฉพาะหลากหลาย เช่น เว็บไซต์ Readery และเว็บไซต์ afterword.co