ThaiPublica > เกาะกระแส > แผนฟื้นฟูคลิตี้เดินหน้า ขนย้ายตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่ว 1.5 แสนตัน กรมควบคุมมลพิษคาดใช้งบฯ 500 ล้านบาท

แผนฟื้นฟูคลิตี้เดินหน้า ขนย้ายตะกอนดินปนเปื้อนสารตะกั่ว 1.5 แสนตัน กรมควบคุมมลพิษคาดใช้งบฯ 500 ล้านบาท

9 กุมภาพันธ์ 2015


หลังจากที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ซึ่งทาง คพ. ได้ว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นมาศึกษาและจัดทำแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว โดยที่ผ่านมาได้จัดรับความคิดเห็นจากหน่วยงานและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและชาวบ้านในพื้นที่คลิตี้เกี่ยวกับแผนดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 และ 30 ตุลาคม 2557

และล่าสุดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ไม่มีการรับความคิดเห็นจากหน่วยงานและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางก่อน และเป็นการลงพื้นที่ไปจัดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะหมู่บ้านคลิตี้บนเท่านั้น ในขณะที่ครั้งที่ผ่านๆ มาจัดรับฟังความคิดเห็นที่หมู่บ้านคลิตี้ล่างด้วย

หมู่บ้านคลิตี้ล่าง
หมู่บ้านคลิตี้ล่าง

ในการประชุมครั้งนี้มีหน่วยงานเข้าร่วมประชุม 17 องค์กร ชาวบ้านคลิตี้ล่างและคลิตี้บนกว่า 10 คน เพื่อประชุมร่วมกันและหาข้อสรุปการฟื้นฟู ขอบเขต พื้นที่จะฟื้นฟู และเทคโนโลยีที่ใช้

รศ. ดร.วันเพ็ญ วิโรจนกูฏ หัวหน้าโครงการจัดทำแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ฯ กล่าวว่า พื้นที่ที่จะฟื้นฟูมี 2 กลุ่ม คือ ตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้ และตะกอนหางแร่ที่อยู่บนบกบริเวณโรงแต่งแร่และบริเวณโดยรอบ แต่จากการศึกษาตะกอนดินในลำห้วยตลอด 28 กิโลเมตร พบว่าระดับสารปนเปื้อนแตกต่างกันมาก ซึ่งหลังจากประเมินแล้วจึงเสนอขุดลอกตะกอนดินในบางช่วงที่ปนเปื้อนสารตะกั่วสูงหรือมีความเสี่ยงสูงที่ชาวบ้านจะได้รับสารตะกั่ว เช่น อยู่ใกล้ชุมชน รวมถึงขุดลอกตะกอนดินบริเวณหน้าฝาย kc4 ด้วย ส่วนบริเวณที่ความเสี่ยงต่ำหรือปนเปื้อนน้อยจะปล่อยให้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ

สำหรับดินบนบกบริเวณโรงแต่งแร่ ที่ปนเปื้อนสารตะกั่วเกิน 821 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จะขนย้ายไปฝังกลบอย่างถูกวิธี เนื่องจากศึกษาแล้วพบว่าระดับการปนเปื้อนที่ต่ำกว่านี้จะทำให้ค่าตะกั่วในเลือดไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่ระบุว่าไม่ก่ออันตรายต่อมนุษย์

“เหตุผลที่ครั้งนี้จัดประชุมเฉพาะที่คลิตี้บน เนื่องจากมีการลงพื้นที่ในช่วงเช้า ทำให้จัดรับฟังความคิดเห็นที่คลิตี้ล่างไม่ทัน แต่ครั้งหน้าจะจัดรับฟังความคิดเห็นทั้งคลิตี้บนและคลิตี้ล่างเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ทางทีมงานได้ประสานงานกับกรรมการหมู่บ้าน คลิตี้ล่างไว้แล้ว” รศ. ดร.วันเพ็ญกล่าว

ด้าน รศ. ดร.ธเรศ ศรีสถิตย์ อาจารย์ภาควิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในทีมจัดทำแนวทางฟื้นฟูฯ กล่าวว่า จะฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้โดยดูดตะกอนดินที่กลางลำน้ำในบางบริเวณ คือ ตั้งแต่ท้ายโรงแต่งแร่ลงประมาณ 2 กิโลเมตร ถึงป่าช้ามอญ บริเวณหน้าฝาย kc4 และ kc4/1 โดยจะดูดตะกอนปีละครั้ง และบริเวณโบสถ์คลิตี้ล่างถึงน้ำตกธิดาดอย เนื่องจากมีการปนเปื้อนสูงและมีชุมชน ซึ่งจะใช้เรือขนาดเล็กดูดตะกอนดินในช่วงฤดูแล้ง ส่วนลำห้วยบริเวณอื่นๆ จะฟื้นฟูด้วยการเฝ้าระวังติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพราะอยู่ในเขตป่าไม้

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ก่อนการดูดตะกอนดินในลำห้วยจะมีผ้าม่านตาถี่ล้อมรอบบริเวณที่จะดูด เพื่อป้องกันตะกอนดินฟุ้งกระจาย สำหรับปริมาณตะกอนทั้งหมดที่ดูดขึ้นมาคาดว่ามีกว่า 70,000 ลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 1.5 แสนตัน ทั้งนี้ การดูดตะกอนดินท้องน้ำจะเข้ามาดูดเรื่อยๆ เนื่องจากการชะล้างตะกอนดินที่ปนเปื้อนตะกั่วบริเวณริมตลิ่งไหลลงลำห้วยเมื่อฝนตก

มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านคลิตีั ลงสำรวจพื้นที่ที่จะฟื้นฟูจากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ณ หมู่บ้านคลิตี้บน จังหวัดกาญจนบุรี
มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวบ้านคลิตีั ลงสำรวจพื้นที่ที่จะฟื้นฟูจากการปนเปื้อนสารตะกั่ว ณ หมู่บ้านคลิตี้บน จังหวัดกาญจนบุรี

ส่วนตะกอนหางแร่ที่กระจายอยู่บริเวณโรงแต่งแร่ทั้งลักษณะของลานกองแร่และหลุมนั้น จะฟื้นฟูโดยการปิดคลุมหลุมเอาไว้ และกลบทับกองหางแร่ด้วยดินสะอาดตามที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เคยเสนอไว้ โดยจะถมดินสะอาดทับหนาอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ซึ่งบางบริเวณอาจหนาถึง 1 เมตร สำหรับหลุมฝังกลบตะกอนดินเก่าที่เหลืออีก 4 หลุมนั้นจะใช้รถบรรทุกขนย้ายไปฝังกลบที่อื่น ซึ่งรวมแล้วจะมีดินปนเปื้อนสารตะกั่วบนบกประมาณ 7,000 ตัน

“การทำงานจะมีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีประกอบด้วยกรมควบคุมมลพิษ ประชาชน และหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ เพื่อติดตามตรวจสอบการทำงานและแจ้งเตือนประชาชนก่อนดำเนินงานทั้งการดูดตะกอนดินในน้ำและขนย้ายดินที่ปนเปื้อนตะกั่วบนบก รวมถึงจะฉีดพรมน้ำบริเวณที่จะขนตะกอนดินที่ปนเปื้อน และมีพลาสติกผ้าใบคลุมมิดชิด เพื่อป้องกันดินการฟุ้งกระจาย” รศ. ดร.ธเรศกล่าว

อีกทั้งยังกล่าวว่า หลุมฝังกลบที่สร้างใหม่เพื่อฝังกลบตะกอนดินที่ปนเปื้อนจากคลิตี้นั้น เป็นหลุมฝังกลบที่ปลอดภัยตามมาตรฐานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของอเมริกา โดยอยู่ห่างจากหมู่บ้านคลิตี้บนไปทางเหมืองบ่องาม หลุมมีความลึกประมาณ 3 เมตร มีชั้นกันซึมชั้นตรวจสอบการรั่วไหลใต้บ่อประมาณ 1 เมตร

รศ. ดร.วันเพ็ญกล่าวอีกว่า การประชุมครั้งต่อไปจะพูดถึงแผนปฏิบัติงาน ซึ่งได้กำหนดไว้แล้ว 5 แผนหลัก ได้แก่ แผนงานฟื้นฟูสภาพพื้นที่ปนเปื้อน แผนงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม แผนงานด้านสุขภาพ แผนงานด้านเศรษฐกิจสังคม และแผนงานติดตามตรวจสอบการดำเนินการ ซึ่งทั้ง 5 แผนงานนี้แบ่งออกเป็น 18 แผนงานย่อย เช่น การติดตามตรวจสอบปริมาณสารตะกั่วในเลือดของเด็ก แผนการลดความเสี่ยงโดยการวางแผนครอบครัวให้มีบุตรน้อยลง การหาแหล่งน้ำที่ปลอดภัยในพื้นที่คลิตี้ การหาวิธีการปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ฯลฯ

ในขณะที่ชาวบ้านมีความกังวลเรื่องการทำงานแบบไตรภาคี โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนว่ามากน้อยเพียงใด อีกทั้งแผนการฟื้นฟูเหล่านี้ยังขาดการตั้งค่าเป้าหมายการฟื้นฟูว่าเกณฑ์ไหนถึงจะเรียกว่าปลอดภัย และการดูดตะกอนปีละครั้งอาจไม่เพียงพอ รวมถึงมีข้อกังขาว่าแผนฟื้นฟูที่กล่าวมาข้างต้นนั้นประเมินจากความเสี่ยงต่อสุขภาพหรือประเมินจากความคุ้มทุนด้านงบประมาณกันแน่ นอกจากนี้ยังทวงถามถึงระยะเวลาแน่นอนที่แผนฟื้นฟูฯ จะเสร็จสิ้น รวมถึงความคืบหน้าของ คพ. กรณีการจัดหาน้ำประปาให้ชาวคลิตี้

ทางทีมผู้จัดทำแนวทางการฟื้นฟูได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ประชาชนจะมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ไม่ใช่เพียงแค่เข้ามาให้ข้อมูลเท่านั้น ส่วนการดูดตะกอนหน้าฝายทีมผู้จัดทำแผนฟื้นฟูตั้งใจดูดปีละครั้ง โดยกำลังประสานงานกับกรมเจ้าท่าเพื่อมาดำเนินการ ซึ่งจะดูดตะกอนดินจากลำห้วยมาพักไว้ในบ่อพักริมลำห้วยที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะนำไปฝังกลบที่บริเวณเหมืองบ่องามทันทีหลังสร้างหลุมฝังกลบเสร็จ

ด้านนายชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง จาก คพ. ชี้แจงถึงความล่าช้าของแผนฟื้นฟูว่า เกิดจากรายงานมีข้อผิดพลาดบางประการเพียงเล็กน้อยที่ทำให้ยังไม่สมบูรณ์แต่รายงานทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะจัดพิมพ์ให้ชาวบ้านต่อไป ส่วนกรณีน้ำประปานั้นเคยแนะนำแล้วว่าให้ชาวบ้านหาภาชนะใส่น้ำเพื่อรอตกตะกอนก่อนนำมาใช้ โดยล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีรับปากว่าจะจัดการให้โดยสั่งการให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งทาง คพ. ได้ทำหนังสือทวงถามไปที่ท้องถิ่นแล้วคาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์จะได้รับคำตอบที่ชัดเจน

“แผนฟื้นฟูนี้จะเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน และยื่นของบประมาณปี 2558 ซึ่งคาดว่าประมาณ 500 ล้านบาท หลังจากนั้น คพ. จะใช้เวลาเริ่มดำเนินการฟื้นฟูภายใน 3 ปี โดยคาดว่าจะเริ่มต้นฟื้นฟูได้ในปี 2559 แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ เพราะเมื่อคำนวณปริมาณดินที่ปนเปื้อนตะกั่วประมาณ 1.5 แสนตัน ความจุของรถบรรทุกต่อคัน และสภาพถนนในคลิตี้แล้ว อาจทำให้กระบวนการขนส่งดินที่ปนเปื้อนตะกั่วมีปัญหาและล่าช้าได้ เช่นเดียวกับการขุดลอกตะกอนดินท้องน้ำลำห้วยคลิตี้ที่บางบริเวณมีความยากลำบาก ซึ่งมีนัยสำคัญต่อระยะเวลาการฟื้นฟู” นายชยาวีร์กล่าว

ทั้งนี้ ตัวแทนจากกรมทรัพยากรธรณีได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพื้นที่ก่อสร้างหลุมฝังกลบบริเวณเหมืองบ่องามว่า มีสภาพทางธรณีวิทยาเป็นหินปูน ซึ่งทำให้หาทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินได้ยาก อีกทั้งยังมีรอยแตกค่อนข้างมาก ดังนั้น หากจะก่อสร้างในพื้นที่ดังกล่าวต้องใส่ใจเรื่องธรณีวิทยาให้มากขึ้น

ในขณะที่ทีมผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกล่าวว่า พื้นที่ดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มขุดเจาะ เพียงแต่สำรวจเชิงพื้นที่เท่านั้น ซึ่งต้องรอกรมอุทยานแห่งชาติอนุญาตให้ใช้พื้นที่ก่อนถึงจะสำรวจ ขุดเจาะ บ่อบาดาลหรือน้ำระดับลึกได้ โดยการใช้แท่งหินเจาะดินลึกลงไป 10 เมตรเพื่อทดสอบการรั่วซึมของน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ยังมีหลุมสังเกตการณ์อีก 4 หลุมโดยรอบพื้นที่หลุมฝังกลบเพื่อสำรวจทิศทางการไหลของน้ำใต้ดิน

ภาคประชาสังคมหารือร่วมกันเรื่องแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว
ภาคประชาสังคมหารือร่วมกันเรื่องแผนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว

ในขณะที่นายธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า เอกสารตามที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นนำเสนอนั้นไม่ใช่แผนฟื้นฟู แต่เป็นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ อีกทั้งแผนการฟื้นฟูลำห้วยที่ดูดเฉพาะตะกอนดินที่กลางลำน้ำนั้น อาจเป็นสาเหตุที่บีบให้ชาวบ้านย้ายถิ่นฐานไปยังที่อื่นในภายหลัง เนื่องจากการสำรวจพบว่า ดินริมตลิ่งมีปริมาณตะกั่วปนเปื้อนสูงมากเช่นกัน ซึ่งหาก คพ. ไม่ตักดินตรงนี้ออกไปด้วย ดินส่วนนี้ก็จะชะล้างลงลำห้วยได้อีก ดังนั้น เมื่อ คพ. ดำเนินการฟื้นฟูเสร็จแล้วต่อมาพบว่าตะกอนดินปนเปื้อนตะกั่ว ก็อาจจะกล่าวอ้างได้ว่าเป็นตะกั่วที่มาจากธรรมชาติ

“การฟื้นฟูคือการกำจัดแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งหากเลือกที่จะไม่กำจัดก็ต้องหามาตรการป้องกัน” นายธนพลกล่าวและว่า ค่ามาตรฐานของสารตะกั่วในเลือดมีความซับซ้อนมากกว่าที่แผนฟื้นฟูกำหนด ขึ้นอยู่กับวัยและโอกาสในการสัมผัส ดังนั้น ค่ามาตรฐานของเด็ก ผู้ใหญ่ คนในพื้นที่ และคนนอกพื้นที่ จึงแตกต่างกัน

นอกจากนี้ยังเสนอให้แก้ไขแผนฟื้นฟูดังกล่าวโดยขุดดินริมตลิ่งออกด้วย รวมถึงกำหนดค่าเป้าหมายในการฟื้นฟูใหม่ สำหรับการขนย้ายดินตะกอนอาจใช้รถบรรทุกหรือท่อในการขนส่งแล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ แต่ต้องมีการตรวจสอบและรับรองความปลอดภัยของชุมชน ซึ่งภาคประชาสังคมควรจะแนะนำเชิงรุกให้กับ คพ. บ้าง มิใช่เพียงแค่รับฟังและแสดงความคิดเห็นกับแผนงานที่ คพ. เสนอมา ซึ่งทาง คพ. ก็ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการมากกว่านี้

“สิ่งที่เสนอมายังเป็นข้อกำหนดเดิมๆ เช่น ห้ามกินปลาแต่ก็ไม่ได้แนะนำว่าต้องกินอะไร หรือกำหนดให้ตรวจสุขภาพชาวบ้านแต่ก็ไม่ได้รักษาหรือเยียวยาใดๆ ต่อ รวมถึงแผนการดูแลกลุ่มเสี่ยงก็ยังไม่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นแผนฟื้นฟูที่เลี่ยงการฟื้นฟูชุมชน เช่น การเสนอให้ชุมชนเปลี่ยนอาชีพ” นายธนพลกล่าว

ด้านนางสาวสมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยสมทบ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แผนการฟื้นฟูครั้งนี้ขยายขอบเขตการดำเนินการมากขึ้นจากเดิมที่วางแผนเฉพาะการขุดลอกลำห้วย แต่การฟื้นฟูยังคงติดอยู่ในกรอบความคิดเดิม อีกทั้งยังต้องมีมาตรการรองรับความเจริญที่จะเข้ามายังหมู่บ้านคลิตี้ด้วย นอกจากนี้ แผนการฟื้นฟูที่เปลี่ยนอาชีพและวิถีชีวิตเดิมของชุมชนนั้น รัฐบาลต้องศึกษาวิถีของชุมชน และดึงอัตลักษณ์นั้นมาต่อยอดเพื่อให้ชุมชนปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ที่สำคัญต้องกำหนดกรอบเวลาการทำงานให้ชัดเจนว่าจะทำอะไร อย่างไร และเสร็จสิ้นเมื่อไหร่

ในขณะที่ภาคประชาสังคมได้แสดงความคิดเห็นต่อแผนการฟื้นฟูดังกล่าวว่า แผนฟื้นฟูนี้จะทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน และไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนปัจจุบัน ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเตรียมความพร้อมและตั้งรับ เช่น สาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้า น้ำประปา และการคมนาคมที่อาจจะพัฒนาขึ้นในคลิตี้ การเสนออาชีพเปลี่ยนอาชีพของชุมชนจากทำเกษตรกรรมไปทอผ้า ซึ่งมีรายได้ไม่เพียงพอค่าใช้จ่าย การเปลี่ยนพืชเกษตรกรรมจากข้าวโพดไปเป็นอย่างอื่น เช่น อ้อย นั้นแน่นอนว่าชาวบ้านต้องการจะเปลี่ยนแต่ยังไม่มีใครเข้ามาช่วยเหลือให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากพันธสัญญาการปลูกข้าวโพดในปัจจุบันที่สร้างหนี้ให้ชาวบ้านเพิ่มขึ้น