ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “วิรไท” ชี้เศรษฐกิจโลกฟื้นแบบ “กระต่ายขาเดียว” – ภาวะเงินเฟ้อติดลบมาจากน้ำมันเป็นหลัก

“วิรไท” ชี้เศรษฐกิจโลกฟื้นแบบ “กระต่ายขาเดียว” – ภาวะเงินเฟ้อติดลบมาจากน้ำมันเป็นหลัก

5 กุมภาพันธ์ 2015


ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดงานสัมมนา “ปี 2558 หัวเลี้ยวหัวต่อของการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจโลก” โดยมีวิทยากร ดร.วิรไท สันติประภพ (ซ้ายสุด)ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ เดยี่ แทน นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์วิจัยมอร์แกน แสตนลีย์(ขวาสุด)
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดงานสัมมนา “ปี 2558 หัวเลี้ยวหัวต่อของการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจโลก” โดยมีวิทยากร ดร.วิรไท สันติประภพ (ซ้ายสุด)ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ เดยี่ แทน นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์วิจัยมอร์แกน แสตนลีย์(ขวาสุด)

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ร่วมกันจัดงานสัมมนา “ปี 2558 หัวเลี้ยวหัวต่อของการคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจโลก” โดยมีการเสวนาของนักเศรษฐศาสตร์ ระหว่าง ดร.วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ เดยี่ แทน นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์วิจัยมอร์แกน แสตนลีย์

ดร.วิรไท ระบุว่าเศรษฐกิจโลกขณะนี้เป็นกระต่ายขาเดียว คือ ไม่สมดุลกัน มีการใช้กลไกหลักแค่ 1-2 กลไกเท่านั้น โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นกำลังขาหลัก ขณะที่ขาอื่นฟื้นตัวบ้างแต่มีความเสี่ยง ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ไม่ค่อยมีการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ พร้อมที่จะสะดุดตัวเองง่ายๆ

เศรษฐกิจไทยก็เช่นเดียวกัน มีลักษณะการไม่สมดุลอยู่ค่อนข้างมาก การฟื้นตัวในไทยเป็นการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมบางประเภท และก็เป็นการฟื้นตัวในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และกำลังเจอกับปัญหาราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เนื่องจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีการใช้นโยบาย “ยาโด๊ป” มาก ขณะนี้อยู่ในช่วงถอนพิษ

ปัจจัยในช่วงสั้นต้องมองข้ามไป มองระยะยาวสำคัญกว่า เพราะว่าเป็นภาวะที่ไม่ปกติ ถ้าเกิดรัฐบาลทำเรื่องปฏิรูปมาก เศรษฐกิจต้องโตช้าแน่นอน ไทยอยู่ภาวะที่สภาพคล่องจากต่างประเทศไหลเข้ามามาก ความผันผวนสูงมากด้วย หลายคนมองว่าเทรนด์ปีนี้ไม่ชัดเจน จึงไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เงินพร้อมผันผวนไปมา การเตรียมความเสี่ยงควรจะเป็นเรื่องสำคัญมาก

ดร.วิรไทกล่าวอีกว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยที่หวังพึ่งได้คือภาคการใช้จ่ายของรัฐบาล การบริโภคของภาคประชาชนไม่ได้สูงมาก มีหนี้ครัวเรือนสูง รายได้ภาคเกษตรยังต่ำ การลงทุนแม้กำลังฟื้นแต่ช้ามาก เพราะมีกำลังการผลิตส่วนเกินมาก รวมทั้งราคาน้ำมันที่ต่ำลง การส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าอย่างจีนก็ติดลบ จีนก็กำลังปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเหมือนกัน โดยสรุปแล้ว เศรษฐกิจปีนี้เดินหน้าได้ดีกว่าปีที่แล้วแน่นอน แต่จะหวือหวามาก เพราะสภาพคล่องสูง

อีกด้านหนึ่ง การพยายามปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ จะมีส่วนกดดันให้เศรษฐกิจชะลอลง ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าไม่สำคัญ แต่ตนคิดว่าเป็นภาคที่สำคัญมาก ซึ่งต้องมีการจัดการรัฐวิสาหกิจ เพราะเป็นภาคธุรกิจที่ครอบครองทรัพย์สินสำคัญของประเทศอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นระบบราง คลื่นความถี่ ท่าเรือ ฯลฯ พวกนี้เป็นต้นทุนการใช้ชีวิตของคนไทย ถ้ารัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะสะท้อนกลับมาเป็นต้นทุนการทำธุรกิจ

นอกจากนี้จะเห็นว่ารัฐวิสาหกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นมากในหลายธุรกิจ ในภาคการเงินธนาคารของรัฐมีทรัพย์สินรวมกันประมาณร้อยละ 30-35 ของระบบการเงินไทย ถอยหลังไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีแค่ร้อยละ 10 ถือว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นมาก และเป็นผู้เล่นที่ได้เปรียบเพราะไม่ต้องเสียภาษี รัฐบาลรับประกัน ทำให้การแข่งขันเอกชนไม่เป็นธรรม เอกชนที่เก่งๆ ก็ไม่สามาถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียม

ในภาคอื่นๆ รัฐวิสาหกิจก็มีอำนาจเหนือตลาด เช่น ภาคขนส่ง การที่รัฐวิสาหกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเงื่อนไขทางปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การไม่ได้ตรวจสอบตามที่ควรจะเป็น ทำให้รัฐวิสาหกิจโตขึ้นเรื่อยในระบบเศรษฐกิจไทย กระทบกับภาคเอกชน แม้วันนี้รัฐวิสาหกิจในไทยยังไม่เป็นปัญหา เพราะยังส่งเงินให้รัฐแสนกว่าล้านบาทต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่รัฐใส่เข้าไป ถือว่ายังได้ผลตอบแทนต่ำมาก รัฐวิสาหกิจจะมีประสิทธิภาพลดลงเรื่อยๆ ท้ายที่สุดจะเป็นภาระของรัฐ จากปัญหาการคอร์รัปชันและการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้โครงการที่ไม่คุ้มค่ากลายเป็นโครงการคุ้มค่าได้

การลงทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นที่หมายปองของพรรคร่วมรัฐบาล พรรคการเมืองพยายามที่จะจับจอง เพราะว่ามีงบประมาณใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจสูงกว่ารัฐบาลกลางเกือบเท่าตัว นอกจากนั้นยังเป็นช่องทางที่นักการเมืองจะมาใช้ทำประชานิยมอย่างไร้ความรับผิดชอบ ซ่อนปัญหาขาดทุนหมักหมมไว้ใต้พรม เป็นภาระการคลังในอนาคต

มีหลายเรื่องที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจกำลังทำกันอยู่ อำนาจรัฐวิสาหกิจยังอยู่กับเจ้ากระทรวง หลายประเทศใช้วิธีการรวมศูนย์ มีองค์กรกำกับดูแล อย่างที่รู้จักกัน คือ เทมาเส็กโฮลดิงส์ (Temasek Holdings) ของรัฐบาลสิงค์โปร์

“อำนาจการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจมีอำนาจที่เกี่ยวข้องอยู่ 4 เรื่อง บทบาทสำคัญของกรรมการรัฐวิสาหกิจมีอยู่ 4 บทบาท คือ บทบาทแรก การเป็นผู้กำหนดนโยบาย (Policy Maker) สอง บทบาทผู้กำกับดูแล (Regulator) สาม บทบาทการเป็นผู้ให้บริการ (Operator) และสี่ บทบาทการเป็นเจ้าของ (Owner) ปัญหาใหญ่ในเมืองไทยคือไม่มีใครทำหน้าที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ สามบทบาทที่เหลือ คือ การกำหนดนโยบาย กำกับดูแล การเป็นผู้ให้บริการ ค่อนข้างจะเบลอๆ กัน เพราะว่ามีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการเสียเอง จึงพยายามให้มีการผลักดันที่จะทำให้เกิดองค์กรกำกับบดูแลแบบรวมศูนย์และเพิ่มประสิทธิภาพ มีกรอบเวลาการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ 1 ปี”

ส่วนเรื่องการเก็บภาษีมรดก/ที่ดิน เป็นการปฏิรูปสำคัญของไทย เพราะเราพึ่งพาภาษีจากการบริโภคเป็นหลัก รัฐบาลต้องหารายได้ใหม่ๆ บ้าง ไทยไม่เคยมีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ที่ดิน มรดก แต่เป็นเรื่องที่หลายๆ ประเทศทำกัน รัฐบาลเราทำถูกต้องในด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เรื่องเรท เรื่องเก็บได้หรือเก็บไม่ได้ก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ

สำหรับภาวะราคาน้ำมันที่ลดลงในปัจบัน ดร.วิรไท กล่าวว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากไทยใช้และนำเข้าพลังงานจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังช่วยสนับสนุนการปฏิรูปนโยบายพลังงานของรัฐบาล จากเดิมที่บิดเบือนราคา และทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันประเภทต่างๆ คลาดเคลื่อน อีกด้านหนึ่ง ราคาน้ำมันที่ลดลงยังส่งผลให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุลในรอบ 8 ปี และกดดันให้เงินบาทไม่อ่อนค่าลงด้วย

ขณะที่ข้อกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับตัวเลขเงินเฟ้อปัจจุบันที่ติดลบและอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินฝืด ดร.วิรไทกล่าวว่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ภาวะปัจจุบันยังไม่เรียกว่าภาวะเงินฝืด (deflation) แต่ควรเรียกว่าภาวะเงินเฟ้อติดลบ (disinflation) เนื่องจากราคาน้ำมันเป็นปัจจัยด้านอุปทาน ส่วนภาวะเงินฝืดจะต้องเกิดจากปัจจัยด้านอุปสงค์มากกว่า ซึ่งปัจจุบันประเทศยังมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การลงทุน แม้ว่าจะไม่ได้เร็วมากก็ตาม ดังนั้น การระบุให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรใช้นโยบายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะเงินฝืด จึงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเข้าใจผิด เนื่องจากนโยบายการเงินจะมีผลทางด้านอุปสงค์ไม่ใช่ด้านอุปทานตามสถานการณ์ปัจจุบัน

ด้านเดยี่ แทน กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มในอนาคตว่า จากปี 2557 ที่ผ่านมาถือว่าเศรษฐกิจมีลักษณะเป็นหนัง 2 ม้วน หนังม้วนแรก สภาพเศรษฐกิจโลกมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น หรือประเทศกำลังพัฒนา แต่มาครึ่งปีหลังเศรษฐกิจโลกในภาพรวมดีขึ้น นอกจากนี้ การที่รัฐบาลกลางของประเทศที่พัฒนาแล้วยังไม่ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากเดิมที่เคยมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะกลายเป็นอิทธิพลสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2558 ด้วย

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจปี 2558 ทางศูนย์วิจัยมอร์แกน แสตนลีย์ มองว่า อัตราการเติบโตของโลกเป็นระดับปานกลางค่อนไปทางดี หรือเทียบกับอันดับเครดิตเรทติ้งได้ประมาณทริปเปิลบี (BBB) เนื่องจากอัตราการเติบโตของโลกไม่สอดคล้องและแตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก บางประเทศอยู่ในช่วงที่ดี บางประเทศที่ไม่ดี ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

เดยี่เห็นว่า วัฏจักรการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวมมีระยะเวลานานขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราอยู่ในช่วงที่ตลาดเติบโตติดต่อกันมา 5 ปีแล้ว รวมไปถึงแนวนโยบายของรัฐบาลกลางของทุกประเทศ มีความตั้งใจที่จะใช้มาตรการการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินฝืด ถึงแม้จะมีปัจจัยลบอยู่บ้าง แต่ทั้งสองอย่างน่าจะช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกดีขึ้นได้ต่อไป

อย่างไรก็ดี ในปี 2558 ยังมีความเสี่ยงสำคัญอยู่ 2 ประการ ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวเร็วเกินไป เนื่องจากในระยะถัดไปอาจจะมีการใช้มาตรการรัดเข็มขัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศที่ถือเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจำนวนมากอยู่ ประการที่ 2 ประเทศจีนชะลอการเติบโตมากเกินไป จากนโยบายการปรับโครงสร้าง จนค่าเงินหยวนอ่อนค่า แม้จะให้การส่งออกของจีนดีขึ้น แต่อีกด้านจะทำให้เพื่อนบ้านที่ค้าขายกับจีนมีปัญหาด้วย รวมไปถึงแต่ละประเทศที่ค้ากับจีนต้องลดอัตราดอกเบี้ยให้ค่าเงินอ่อนตามลงด้วย