ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > เกาะติดคดี “ยิ่งลักษณ์” ฟังเสียงโหวตลับ คดีประวัติศาสตร์ ย้อนดูเส้นทางการถอดถอนอดีต 3 นายกรัฐมนตรี 2 ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ กับอดีต 3 รัฐมนตรี

เกาะติดคดี “ยิ่งลักษณ์” ฟังเสียงโหวตลับ คดีประวัติศาสตร์ ย้อนดูเส้นทางการถอดถอนอดีต 3 นายกรัฐมนตรี 2 ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ กับอดีต 3 รัฐมนตรี

21 มกราคม 2015


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/Y.Shinawatra?fref=ts
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/Y.Shinawatra?fref=ts

ทั้งเสียงของนักกฎหมาย เสียงของฝ่ายมวลชนทั้ง 2 ขั้วการเมือง นักการเมืองทั่วทั้งกระดาน ที่เคยดังทั้งใน-นอกรัฐสภา พากันเงียบลง เงี่ยหูรอฟังการลงมติลับ หลังม่านคดีประวัติศาสตร์ การถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายรัฐมนตรี จากความผิดฐานปล่อยให้เกิดความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ตามที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้กำหนดวันแถลงปิดคดีวันที่ 22 ม.ค. และนัดลงมติถอดถอนในวันที่ 23 ม.ค. นี้ ท่ามกลางความสนใจของประชาชนทั่วประเทศ

เป็นดคีประวัติศาสตร์คดีที่ 2 ของอดีตนายกรัฐมนตรี 2 พี่น้อง “ชินวัตร” หลังจาก พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เคยเผชิญหน้าคดี “ซุกหุ้น” ในศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว ในเดือนสิงหาคม 2544

ต่างกันที่ คดีของ พ.ต.ท. ทักษิณ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากว่า “ไม่ได้จงใจ” กระทำความผิด และ พ.ต.ท. ทักษิณชี้แจงด้วยคีย์เวิร์ดสำคัญว่า “บกพร่องโดยสุจริต” แต่คดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ถูกชี้แจงว่า “ไม่มีตำแหน่งให้ถอดถอนแล้ว”

ทั้งสองคดีมีผลต่อทิศทางการเมืองในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ การชนะคดีของ พ.ต.ท. ทักษิณทำให้พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลต่อเนื่อง 2 สมัย กลายเป็นส่วนหนึ่งของชนวนความขัดแย้งที่แหลมคมทางการเมืองมาจนถึงปัจจุบัน แต่คดีของนางสาวยิ่งลักษณ์อาจส่งผลต่ออนาคตของพรรคเพื่อไทย อนาคตทางการเมืองของคนในตระกูล “ชินวัตร” และเครือข่าย

หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติ ไม่ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ไม่อาจหลีกเลี่ยงอัตราเร่งดีกรีความขัดแย้งให้แหลมคมยิ่งขึ้น สายน้ำแห่งการการปฏิรูประเทศทั้งห้าสาย การปรองดอง การนิรโทษกรรม และการร่างรัฐธรรมนูญ อาจเปลี่ยนทิศอีกครั้ง

แต่นักวิเคราะห์ทางการเมืองทั้งใน-นอกรัฐสภาประเมินกันว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งที่จะต้องใช้เสียงมากถึง 3 ใน 5 ของจำนวน สนช. ทั้งหมด หรือ 132 เสียง จาก สนช. ทั้งหมด 220 คน

ยิ่งหากย้อนเทียบเคียงไปดูคดีถอดถอนในอดีตต้ังแต่มีรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผ่านมา จะพบว่าไม่มีครั้งใดที่ได้เสียงถึงเกณฑ์ถอดถอนสักครั้งเดียว(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

คดีถอดถอน

เริ่มตั้งแต่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2553 ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติ 49 ต่อ 76 เสียง ให้ถอดถอนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี จากกรณีการสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551

แน่นอน เสียงถอดถอนครั้งนี้น้อยกว่าเสียงไม่ถอดถอน และไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องได้อย่างน้อย 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ หรือไม่น้อยกว่า 90 เสียงจาก 150 เสียง ผลการลงมติดังกล่าวยังมี งดออกเสียง 6 เสียง บัตรเสีย 3 ใบ

คดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติ 8 ต่อ 1 ชี้มูลความผิดนายสมชายว่ามีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเรียกประชุม ครม. นัดพิเศษในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 โดยมอบหมายให้ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้สั่งการและเปิดทางให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าสู่รัฐสภา

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2553 วุฒิสภามีมติ 57 ต่อ 55 เสียง ถอดถอนนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กรณีไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหาร และงดออกเสียง 4 เสียง บัตรเสีย 1 ใบ แม้คะแนนถอดถอนจะมากกว่าไม่ถอดถอนแต่ยังไม่ถึง 3 ใน 5 หรืออย่างน้อยต้องได้ 90 เสียง

คดีนี้ ป.ป.ช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2552 ชี้มูลความผิดนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายนพดล กรณีการออกแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของความเห็นชอบจากรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 190 กำหนด ทำให้เข้าข่ายความผิดละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พร้อมส่งเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาถอน

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2555 วุฒิสภา มีมติ 56 ต่อ 84 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เห็นควรให้ถอดถอนนายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากกรณีถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นธรรม

โดยคดีนี้จะแตกต่างจากคดีถอดถอนอื่นๆ ที่ผ่านมา เพราะเป็นการยื่นเรื่องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 248 และต้องใช้เสียงถอดถอนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 จากจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่หรือ 88 จาก 146 เสียง ดังนั้นทำให้นายภักดีไม่ถูกถอดถอน

คดีดังกล่าวมีที่มาแตกต่างจากคดีอื่นตรงที่ น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส. พรรคเพื่อไทยและคณะ ยื่นคำร้องขอให้วุฒิสภามีมติให้นายภักดีพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 248 เนื่องจากเห็นว่า นายภักดีเคยพิจารณาคดีการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ กระทรวงสาธารณสุข สมัยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี อย่างไม่เป็นธรรม แต่เนื่องด้วยกรณีนี้ ป.ป.ช. เป็นผู้ถูกร้องเสียเอง จึงไม่สามารถไต่สวนกันเองได้ ต้องส่งให้วุฒิสภาพิจารณาโดยตรง

ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติ 40 ต่อ 95 ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ไม่ใช้สิทธิลงคะแนน 1 เสียง เห็นควรให้ถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จากความผิดกรณีใช้อำนาจก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ แต่เสียงไม่ถึง 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่ในขณะนั้น 146 เสียง หรือคือต้อง 88 เสียงขึ้นไป

คดีดังกล่าว ป.ป.ช. ชี้มูลนายสุเทพว่า ได้ใช้อำนาจรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ส่งหนังสือลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ขอให้แต่งตั้ง ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 19 คน เข้าไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรม ถือว่านายสุเทพกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1) เป็นการก้าวก่าย แทรกแซงการปฏิบัติราชการของกระทรวงวัฒนธรรม อีกทั้งยังกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองในทางการเมือง ในการสร้างฐานเสียง และเพื่อประโยชน์ของ ส.ส. ประชาธิปัตย์

ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ที่ประชุมวุฒิสภา มีมติ 71 ต่อ 59 ถอดถอน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และ ถอดถอน 66 เสียง ไม่ถอดถอน 66 เสียง และงดออกเสียง 1 ถอดถอนนายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดไอซีที ออกจากตำแหน่ง กรณีดำเนินการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน โครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ 5) เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมิชอบ

คดีนี้ ป.ป.ช. เคยชี้มูลความผิด เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2556 ว่าทั้งคู่มีความผิดทางอาญา ตามมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่เมื่อคะแนนเสียงไม่ถึง 3 ใน 5 หรือไม่น้อยกว่า 90 เสียง จึงถือว่าที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่ถอดถอนบุคคลทั้งสองออกจากตำแหน่ง

ทว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ใช่ว่าจะไม่เคยมีการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง เพราะเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2550 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติสมัยนั้น ได้มีมติ 156 ต่อ 1 เห็นชอบให้ถอดถอนนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ออกจากการเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จากความผิดร้ายแรงเรื่องละเมิดสิทธิบุคคลอื่น กับการเป็นหนึ่งในแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) บุกบ้านพัก พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

การถอดถอนจะต้องจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 หรือ 150 เสียง จาก สนช. ทั้งหมด 249 คน ตามกฎหมายกรรมการสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2542 โดยการประชุมลับ คะแนนเสียงออกมา สนช. มีมติถอดถอนนายจรัลด้วยคะแนนเห็นด้วย 156 ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง ส่งผลให้นายจรัลพ้นจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สำหรับการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ครั้งนี้ ประเมินเสียงเบื้องต้นยังไม่มีความชัดเจนว่าคะแนนเสียงจะออกมาอย่างไร และจะถึง 132 เสียงหรือไม่ โดยตัวแปรสำคัญจะอยู่ที่ สนช. สายทหารซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 100 คนในจำนวน สนช. ทั้งหมด 220 คน หากเทน้ำหนักไปทางไหนย่อมมีผลต่อมติที่จะออกมาทางนั้น

หากเทียบเคียงกับการลงมติของ สนช. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2557 ว่าจะรับคดีถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา หรือไม่ คะแนนเสียงออกมา 87 ต่อ 75 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง ให้รับเรื่องถอดถอนไว้พิจารณา การจะหวังให้ได้ 132 เสียง จึงมีความเป็นไปได้

อีกปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการลงมติถอดถอนครั้งนี้คือ มติของคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. กับอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ในคดีอาญาโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นัดสุดท้ายได้มีความเห็นพ้องกันว่าข้อสมบูรณ์ในคดีนี้ขณะนี้ได้มีพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้คณะทำงานร่วมจะส่งเรื่องไปให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ซึ่งจะถือเป็นการเพิ่มน้ำหนักความผิดให้กับคดีนี้

สอดรับกับก่อนหน้านี้ที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ และ นายภูมิ สาระผล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ ในคดีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งจะส่งรายงานและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

แต่กระนั้น ก่อนหน้านี้พบว่ามีความเคลื่อนไหวจากฝั่ง สนช. สายทหาร พยายามล็อบบี้ สนช. ลงมติไม่ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะต้องการสร้างบรรยากาศความปรองดอง ไม่ให้กระทบการปฏิรูปสอดรับกับคำชี้แจงในการแถลงเปิดคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่นอกจากจะปฏิเสธข้อกล่าวหาในรายละเอียดแล้ว ยังฝากข้อพิจารณาว่า “การปฏิรูปทางการเมือง ที่รัฐบาลชุดปัจจุบันและ สนช. ต้องการเห็น หากดำเนินการถอดถอนโดยไม่มีหลักนิติธรรมไม่มีกฎหมายรองรับ สังคมจะเห็นว่าไม่ยุติธรรม การปฏิรูปที่จะนำไปสู่ความปรองดองในสังคมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร”

จนระยะหลังกลายเป็นกระแสตีกลับ กลัวว่าหาก สนช. ลงมติไม่ถอดถอน จะเกิดการไม่ยอมรับจากสังคม และชวนให้คิดว่ามีการต่อรองผลประโยชน์หรือเกี้ยเซี้ยะระหว่างคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ ขั้วอำนาจเก่า ที่อาจบานปลายกระทบไปถึงการปฏิรูป และการร่างรัฐธรรมนูญในอนาคต

ทำให้จนถึงนาทีนี้ยังบอกได้ยากว่า สุดท้าย คะแนนการลงมติของ สนช. จะออกมาอย่างไร

คงได้แต่ต้องรอลุ้นกันในวันที่ 23 ม.ค. นี้ ว่าประวัติศาสตร์การเมืองจะซ้ำรอยหรือไม่?!?