ThaiPublica > คนในข่าว > UddC เสนอผัง “กรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” เปลี่ยนพฤติกรรมเชื่อม “ชุมชน-สุขภาวะ-เศรษฐกิจ-วัฒนธรรม” สู่สังคมยั่งยืน

UddC เสนอผัง “กรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” เปลี่ยนพฤติกรรมเชื่อม “ชุมชน-สุขภาวะ-เศรษฐกิจ-วัฒนธรรม” สู่สังคมยั่งยืน

16 มกราคม 2015


ผศ. ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการ UddC และดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการ UddC
ผศ. ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการ UddC และ ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการ UddC

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองหรือ UddC ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ภาควิชาผังเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทำงานด้านการพัฒนาเมือง เพื่อการสร้างหรือฟื้นฟูเมืองให้ดีอย่างเป็นรูปธรรม

จากสภาพรถติด มลพิษทางอากาศ การใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง อันเนื่องมาจากนโยบายที่สนับสนุนการใช้รถยนต์ของคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต สุขภาพ และเศรษฐกิจของประเทศไทย จะดีกว่าไหมถ้าสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ “เดินได้” และพัฒนาต่อให้เป็นเมืองที่เดินดีควบคู่ไปกับการปรับปรุงพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ และสภาพแวดล้อมทางเท้าที่ชวนให้คนเดินในบริบทแบบไทยๆ

UddC ได้ริเริ่มโครงการ “กรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี” ตั้งแต่สิงหาคม 2557 เพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่มีศักยภาพการเดินสูง ให้เป็นเส้นทางที่สามารถเดินได้ และเป็นเส้นทางที่เดินได้ดี โดยใช้ยุทธศาสตร์ด้านการผังเมือง ซึ่งปัจจุบันโครงการเริ่มเข้าสู่ระยะที่ 2 และพร้อมเปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นี้

ผศ. ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการ UddC และ ดร.พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการ UddC ซึ่งทั้งสองมีบทบาททในฐานะนักผังเมืองและอาจารย์ภาควิชาผังเมืองที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จุดประกายฝัน อยากสร้างให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เดินได้ และต้องเดินได้ดี ได้เล่าเรื่องราวที่กำลังดำเนินการให้ฟังว่า

ไทยพับลิก้า: ที่มาของ UddC และโครงการกรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี

ผศ. ดร.นิรมล: ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ Urban Design and Development Center (UddC) ก่อตั้งจากความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่มีนโยบายด้านการพัฒนาสุขภาวะ ร่วมกับภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำงานด้านการวางผังเมืองและการสร้างเมืองที่ดี

โครงการที่ UddC รับผิดชอบแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ โครงการการออกแบบเชิงพื้นที่ (Area-based) และเชิงประเด็น (Issue-based) ด้านโครงการออกแบบเชิงพื้นที่เช่น โครงการฟื้นฟูย่านสะพานปลา ซึ่งเป็นการออกแบบปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำของย่านสะพานปลา ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสะพานตากสินจรดคลองกรวย (บริเวณโรงแรมชาเทรียม) ให้เป็นพื้นที่สุขภาวะริมน้ำด้วยโมเดลการพัฒนาแบบพหุภาคี ได้รวมถึงโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูกะดีจีน และโครงการฟื้นฟูย่านถนนราชดำเนินกลางด้วย ซึ่งทุกๆ โครงการจะเน้นการร่วมหารือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และกลุ่มภาคียุทธศาสตร์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน

ส่วนโครงการเชิงประเด็น เช่น โครงการกรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการออกแบบและวางผังเมือง แม้ว่าประเด็นเมืองน่าเดิน (Walkable city) จะมีการศึกษามาพอสมควรโดยนักวิชาการหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นผังเมือง การออกแบบชุมชนเมือง วิศวกรรมจราจร อสังหาริมทรัพย์ และอื่นๆ แต่เป็นการศึกษาเฉพาะเรื่อง และยังไม่พบว่ามีการสังเคราะห์ข้อมูลเฉพาะด้านเหล่านั้น เพื่อมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง UddC มุ่งหวังจะเป็น platform ในการศึกษาละเชื่อมโยงประเด็นต่างๆเข้าสู่กรอบงานวิจัยของเรา โดยโครงการนี้มีเป้าหมายหลัก คือ เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่สามารถเดินได้มากกว่านี้ ซึ่งความสามารถในการเดินได้และเดินถึง ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของเมืองที่น่าอยู่อาศัย และพัฒนาต่อเป็นเมืองที่เดินดี คือ น่าเดิน คนสามารถเดินทอดน่องและชื่นชมเมืองได้

ดร.พรสรร: โครงการกรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี ก่อตั้งจากปัญหาที่ นโยบายรัฐเรื่อง สุขภาพคนเมืองและกายภาพของเมืองแยกส่วนกันอย่างชัดเจน โดย สสส. ซึ่งมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านนโยบายสุขภาพสาธารณะ ที่ผ่านมามุ่งเน้นโครงการส่งเสริมลักษณะนิสัยที่ดีและสุขภาวะที่ดีของประชาชนเท่านั้น เช่น ลดพุงลดอ้วน หรือกิจกรรมรณรงค์การเดินและออกกำลังกายในที่ต่างๆ โดยอาจจะไม่ได้พิจารณาประเด็นเงื่อนไขทางกายภาพประกอบเท่าที่ควร ว่าเอื้อให้ทำได้ไหมหรือจะมีคนใช้ประโยชน์หรือไม่ ในขณะที่กรุงเทพมหานครที่มีหน้าที่พัฒนาวางแผนและพัฒนาสภาพแวดล้อมกายภาพ ก็อาจจะขาดการพิจารณามิติสุขภาวะของผู้คนร่วมด้วย

แต่โครงการกรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี จะมองเรื่องกายภาพเป็นสำคัญและควบรวมนโยบาย 2 ด้านเข้าด้วยกัน คือ สร้างกายภาพที่ตอบรับพฤติกรรมของประชาชนที่รัฐส่งเสริมอยู่ ส่วนโครงการกรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี เริ่มจากกิจกรรมส่งเสริมการเดินของ สสส. เช่น โครงการเด็กรักเดิน ดังนั้น UddC จึงสำรวจและวิเคราะห์หาพื้นที่ที่จำเป็นต้องพัฒนาด้านกายภาพให้เอื้อต่อการเดินด้วยวิธีการต่างๆ ต่อไปในอนาคต

ผศ. ดร.นิรมล: โครงการนี้น่าเป็นกลไกจะช่วยทำให้นโยบายทั้งสองด้านมีความเชื่อมโยงและประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมีเกณฑ์คัดเลือกเชิงยุทธศาสตร์ว่าจะทำโครงการในพื้นที่ใดเพื่อให้คนเดินได้จริงๆ หรือมีคนเดินอยู่ หรือพื้นที่มีศักยภาพในการเดินจริงๆ เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการเป็นลักษณะการจัดอีเวนต์กับเครือข่ายหรือสมาชิกของ สสส.

พื้นที่ยุทธศาตร์

ดร.พรสรร: โครงการจักรยานปัจจุบันค่อนข้างประสบความสำเร็จ แต่ยังเป็นโครงการเชิงรณรงค์โดยเปลี่ยนให้คนที่มาร่วมกิจกรรมต่างๆนั้นหันมาใช้จักรยานในชีวิตประจำวันด้วย เช่นเดียวกับโครงการเมืองเดินได้เมืองเดินดี ที่จะทำอย่างไรให้คนเดินในชีวิตประจำวัน ซึ่งโครงการจักรยานน่าจะเป็นตัวนำร่องให้โครงการได้

สำหรับโครงการนี้แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะแรกคือ การสำรวจศักยภาพของพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่ควรส่งเสริมให้เป็นเมืองเดินได้และเดินดี เพราะแต่ละพื้นที่มีศักยภาพไม่เท่ากัน โดยศักยภาพของพื้นที่เพื่อส่งเสริมการเดินในชีวิตประจำวันนั้นวัดจากสถานที่เป้าหมายในการเดิน โดยตั้งสันนิษฐานว่า ถ้ามีเป้าหมายในการเดินมากน่าจะมีคนเดินมาก และควรเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเดิน

ผลลัพธ์จากระยะแรก คือ แผนที่ศักยภาพการเข้าถึงด้วยการเดิน ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่ากรุงเทพฯ บริเวณใดสามารถเดินได้บ้าง หลังจากนั้นจะเลือกบางบริเวณมาเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ควรส่งเสริมและปรับปรุงให้เกิดการเดินดี

โครงการในระยะที่ 2 จะสำรวจพื้นที่ยุทธศาสตร์ว่ามีสิ่งแวดล้อม เช่น ทางเท้า ที่เอื้อต่อการเดินมากน้อยแค่ไหน ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการวิจัยและกำหนดเกณฑ์การประเมิน

ผศ. ดร.นิรมล: ลักษณะโครงข่ายถนนกรุงเทพฯ ทำให้รถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของเมืองนี้ เนื่องจากซอยที่แยกจากถนนสายหลักนั้นลึกมากเกินกว่าจะเดินถึงได้ รวมทั้งเดินลำบาก บางที่ไม่มีทางเท้าหรือทางเท้าแคบมาก ซึ่งลักษณะโครงสร้างกายภาพของเมืองกรุงเทพนี้ อาจจะต่างจากเมืองอื่นๆที่มีขนาดบล็อกที่ไม่ใหญ่ ซอยไม่ลึก ทางเท้ากว้าง เดินสะดวก ดังนั้น เกณฑ์ที่นำมาใช้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสอดคล้องกับประเทศไทย ทั้งเรื่องโครงสร้างทางกายภาพของเมืองและพฤติกรรมของคนไทย

ดร.พรสรร: คนแต่ละพื้นที่มีพฤติกรรมการเดินไม่เหมือนกัน ทำให้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมในการเดินต่างกันด้วย ดังนั้น ตัวชี้วัดอาจแบ่งประเภทพื้นที่เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม พื้นที่ท่องเที่ยว ศูนย์พาณิชยกรรมชานเมือง แล้วหาข้อสรุปว่าสิ่งแวดล้อมแบบไหนที่น่าจะเหมาะสมกับการเดินที่สุด และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องถนนทั้งหมด เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวมีความเป็นเจ้าของและนำผลลัพธ์ที่ได้ไปปฏิบัติจริงในระยะที่ 3 ซึ่งจะเลือกพื้นที่ตัวแทนของพื้นที่แต่ละประเภท เช่น ย่านธุรกิจคือสีลม ย่านพาณิชยกรรมคือสยาม มาปรับปรุงพัฒนาให้เกิดการเดินที่ดี

“เราไม่ได้หวังให้ผลเกิดพร้อมกันทั่วทั้งกรุงเทพฯ แต่อย่างน้อยที่สุดพื้นที่นำร่องได้เห็นประโยชน์ร่วมกันแล้วอนาคตก็น่าจะดีขึ้น ค่อยๆ เปลี่ยน ค่อยๆ ไป”

ไทยพับลิก้า: จากการสำรวจด้านกายภาพของกรุงเทพฯ เอื้อต่อการเดินหรือไม่และในระยะที่ 1 UddC มีข้อสรุปอย่างไร และปัจจัยใดบ้างที่ทำให้กรุงเทพฯ เดินไม่ได้หรือเดินได้ยาก

ดร.พรสรร : เมืองที่เดินไม่ได้มีข้อเสียมากกว่าข้อดี เช่น การขยายเมืองแนวราบทำให้สิ้นเปลืองการขยายสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และคนพึ่งพารถยนต์มากขึ้นซึ่งก่อทั้งอุบัติเหตุและสร้างมลพิษทางอากาศซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของการพัฒนาเมือง อีกทั้งยังส่งผลให้ประชากรป่วยเป็นโรคอ้วน รวมไปถึงบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมชั้นดีที่อยู่รอบกรุง

หากจะกล่าวโทษการผังเมืองกรุงเทพฯ ก็อาจไม่ใช่ เพราะว่าคงไม่มีใครวางผังเมืองให้เกิดปัญหา เพียงแต่การพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ ที่ผ่านมาทำให้เกิดสภาพปัญหานั้น รวมถึงค่านิยมอยู่บ้านชานเมือง ทำให้เกิดบ้านชานเมืองจำนวนมากและทุกคนต้องนั่งรถเข้ามาทำงานในเมือง

ผศ. ดร.นิรมล: ที่ผ่านมา นโยบายโครงสร้างพื้นฐานที่ผ่านมาได้เอื้อต่อการขยายตัวของเมืองไปยังชานเมือง ประกอบกับการขาดการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เข้มงวด ทำให้การพัฒนาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยจำนวนมากเกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจายในเขตชานเมืองและนอกเมือง ยกตัวอย่าง ผังเมืองรวมกรุงเทพฯฉบับที่ผ่านมา ในโซนพื้นที่เกษตรกรรมชานเมือง แต่มีค่า FAR สูงถึง 2:1 นั่นแปลว่าคุณพัฒนาบ้านจัดสรร หรืออะไรได้เยอะมาก เพราะฉะนั้น คนที่มีทางเลือกและคนมีรายได้สูงจึงเลือกออกไปอยู่ชานเมืองแล้วขับรถเข้าเมืองมาทำงาน พอเกิดปัญหารถติด รัฐก็ต้องสร้างทางด่วนเชื่อมชานเมืองกับใจกลางเมือง เกิดเป็นต้นทุนทางสังคมหลายประการทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงาน และการลงทุนด้านสาธารณูปโภค เกิดเป็นความไม่เท่าเทียมเพราะตอบสนองความต้องการของคนบางกลุ่ม เช่น มีการพัฒนาบ้านจัดสรรที่นนทบุรีมาก รัฐเลยสร้างทางด่วนและรถไฟฟ้าไปนนทบุรี ซึ่งการพัฒนานี้สวนทางกับต่างประเทศที่พยายามออกแบบและวางผังเมืองให้กระชับ โดยการฟื้นฟูพื้นที่เมืองชั้นใน เน้นการลงทุนกับระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะระบบราง

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการพัฒนาระบบรางในกรุงเทพหานคร เราจะเริ่มเห็นแนวโน้มที่ผู้คนเริ่มมาอยู่ในเมืองมากขึ้น รูปแบบที่อยู่อาศัยก็เปลี่ยนไปจาก บ้านพร้อมสวนชานเมือง มาเป็นห้องในอาคารชุดใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า เพราะเดินทางสะดวก คุณภาพชีวิตดี และประหยัดค่าเดินทาง

อัตราการเดินในต่างประเทศ

ดร.พรสรร: นี่เป็นภาพใหญ่ว่าทำไมต้องโฟกัสเรื่องเดิน เราเคยเป็นเมืองเดินได้ก่อนที่มีการใช้รถยนต์ที่ออกไปชานเมือง และในต่างประเทศก็เริ่มมีกระแสหลายๆ อย่างที่เน้นเรื่องขนส่งมวลชน เรื่องการเดิน โดยเฉพาะในยุโรป โดยมีผลการศึกษาในต่างประเทศระบุว่า โรคอ้วนแปรผกผันกับการใช้ขนส่งมวลชนและการเดิน ประเทศที่มีอัตราการใช้ขนส่งมวลชน หรือจักรยานจำนวนมาก ประชากรจะเป็นโรคอ้วนน้อย สำหรับประเทศไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจร้อยละ 3 ของจีดีพี หรือเท่ากับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน นั่นคือ เศรษฐกิจของไทยที่เติบโตนั้นหายไปกับรถติดทั้งหมด ทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่กับที่

ผศ. ดร.นิรมล: ข้อโต้แย้งหลักที่ต้องทำให้เมืองสามารถเดินได้มากขึ้นคือ 1. ปัญหาเชิงเศรษฐกิจ ความสิ้นเปลืองของการออกแบบเมืองแล้วเดินไม่ได้ ต้องขับรถ 2. ปัญหาเรื่องสุขภาพ เช่น วิกฤตสุขภาพคนเมืองที่เกิดจากการมีกิจกรรมทางกายน้อย และ 3. เรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น มลภาวะอากาศ เสียง ฝุ่น ควันที่เกิดจากรถยนต์

นโยบายสุขภาวะของ สสส. ในอดีตมุ่งเน้นเรื่องการออกกำลังกายเป็นหลัก เช่น ไปวิ่งที่สวนสาธารณะ ซึ่งพบว่า เป็นไปได้ยากเนื่องจากคนเดินหรือเดินทางไปสวนสาธารณะลำบาก ดังนั้น สสส. จึงหันมาส่งเสริมการเคลื่อนไหวของร่างกายที่เป็นพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของคน รวมทั้งเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมของเมืองกับสุขภาวะของคนมากขึ้น

“แทบเป็นเรื่องเพ้อฝันที่จะให้คนในกรุงเทพฯ มีสุขภาพดีในสภาพแวดล้อมเมืองแบบนี้ เมืองที่ออกแบบมาเพื่อรถยนต์ การเดินเท้าหรือจักรยานเป็นไปอย่างลำบาก พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจคือห้างสรรพสินค้าปรับอากาศ อาหารที่กินก็เป็นอาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารเดินทางมาไกล ทำให้ใช้ยาฆ่าแมลง สารเคมีก็คงใช้ในปริมาณที่มากกว่าปกติ ซึ่งทุกอย่างนี้เป็นเรื่องสุขภาพที่ดีของการอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่ง สสส. ก็เริ่มมองเห็นว่า ถ้าไม่ปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมือง ก็เป็นไปได้ยากที่จะทำให้ทำคนมีสุขภาพดี”

ดร.พรสรร: สำหรับข้อดีของเมืองที่เดินได้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ราคาสูงขึ้น และส่งเสริมการค้าปลีกเพราะผู้บริโภคที่เดินเท้าจะใช้จ่ายมากกว่าผู้บริโภคที่ขับรถยนต์หรือปั่นจักรยาน อีกทั้งยังสร้างความเท่าเทียมและสำนึกประชาธิปไตยด้วย อย่างประเทศญี่ปุ่นประชาชนทุกฐานะต่างต้องเดินและใช้ขนส่งมวลชนเหมือนกันหมด เพราะรัฐบาลส่งเสริมการเดินด้วยหลายปัจจัย เช่น แท็กซี่ราคาแพง ภาษีรถยนต์

ผศ. ดร.นิรมล:ผู้เดินเท้าทำให้เกิดการกระจายรายได้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ทำให้เศรษฐกิจของย่านท้องถิ่นมีชีวิตชีวา จากการศึกษาการใช้จ่ายของกลุ่มลูกค้าในอังกฤษ พบว่า ผู้บริโภคที่เดินทางด้วยการเดิน จะมีการใช้จ่ายมากกว่าและบ่อยครั้งกว่า เทียบกับผู้บริโภคที่ขับรถยนต์ อย่างแถวย่านธนบุรีที่ดิฉันอาศัยอยู่ มีร้านค้า ร้านอาหารที่อร่อย มีชื่อเสียงมากมาย ที่ปิดกิจกรรมไปเพราะไม่มีที่จอดรถ ระบบรางยังไปไม่ถึง คนส่วนใหญ่ขับรถ พอจอดรถไม่สะดวก ก็ไม่แวะ จากการศึกษาโครงการฟื้นฟูย่านถนนราชดำเนินก็เช่นกัน หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ธุรกิจห้างร้านซบเซาคือ รถติดและลูกค้าไม่มีที่จอดรถ ดังนั้น หากทำให้เมืองสามารถเดินได้ผู้เดินเท้าก็จะซื้อของมากขึ้น และกระจายรายได้ให้กับร้านเล็กๆ มากขึ้น

เมืองที่เดินได้จะต้องเปลี่ยนทั้งพฤติกรรมของคนและกายภาพของพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน รวมถึงต้องมีมาตรการทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เช่น เพิ่มขนส่งมวลชนสาธารณะและกดดันให้คนไม่ใช้รถ

“การออกแบบและวางผังเมือง มีผลต่อสำนึกของคนในเมือง ในสังคมสมัยใหม่ คนต้องมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น คนต้องมีเวลาคิดหรือไตร่ตรองมากขึ้น ดังนั้น กายภาพของเมืองก็ควรออกแบบที่ส่งเสริมให้คนในเมืองมีความสัมพันธ์กันแนวราบมากขึ้น มีความสุนทรียะที่เกิดจากการเดิน แต่ความเป็นจริง ในปัจจุบันการเดินบนทางเท้ากรุงเทพฯ นั้น เหมือนไปออกรบ ต้องเตรียมพร้อมจะต่อสู้กับสิ่งกีดขวางต่างๆ บนทางเท้าตลอดเวลา โครงการของเราแยกให้เห็นชัดระหว่างการเดินได้กับการเดินดี การเดินได้ คือเดินถึง เช่น ไปธนาคาร ไปตลาด ไปสวนสาธารณะ ไปโรงเรียน ฯลฯ นั้นเป็นพื้นฐานของเมืองที่ต้องทำให้คนในเมืองสามารถเดินไปถึง แต่เดินดีนั้นคือน่าเดิน คนต้องสามารถเดินทอดน่องไปดูอะไรเพลินๆสบายๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาคนจากภายในจิตใจ”

ดร.พรสรร: แต่ก่อนคนชอบเดินห้างสรรพสินค้าเพราะว่าเย็นสบาย เดินสะดวก แต่ภายหลัง community mall ได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งสะท้อนสามัญสำนึกของคนว่าจริงๆ แล้วคนชอบเดินในเมือง เพียงแต่กายภาพไม่เอื้อ ดังนั้น หากเปลี่ยนวิธีคิดให้คนที่เดิน community mall มาเดินในเมืองที่มีร้านท้องถิ่นจริงๆ ก็น่าจะทำให้คนมีความสุขกว่า เช่นเดียวกับเวลาไปเดินในเมืองที่ต่างประเทศ

ผศ. ดร.นิรมล: คนเกิดมาต้องเดิน คนที่ไม่เดินไม่ใช่คน และคนต้องเดินอย่างน้อยวันละ 1 หมื่นก้าว หรือประมาณ 8 กิโลเมตร ถึงจะสุขภาพดี แต่คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เดินไม่ถึง 8 กิโลเมตรต่อวัน หากไปต่างประเทศอาจเดินมากกว่า 1 หมื่นก้าวต่อวัน แต่กลับไม่ได้รู้สึกว่าเดินไกลเพราะรู้สึกสนุก เพราะการเดินขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างเดินด้วย

“การขับรถไปกลับในเมือง-ชานเมือง ทุกๆ วัน บางคนอาจสูญเสียรายได้ประมาณ 1 ใน 4 ไปกับค่าน้ำมัน แต่การออกแบบเมืองให้สามารถใช้ขนส่งสาธารณะ เดิน หรือจักรยานได้ จะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลงมาก และสามารถนำเงินไปใช้จ่ายอื่นๆ ได้ นี่คือเหตุผลสำคัญที่ต้องพยายามทำให้กรุงเทพฯ เดินได้มากกว่านี้ เดินได้ดีกว่านี้ ซึ่งหลังจากที่มีระบบรางมีการพัฒนา พบว่าคนเดินเพิ่มมากขึ้น 3 เท่า ซึ่งก็ควรจะทำให้จำนวนคนเดินและระยะทางการเดินเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวางแผน นักออกแบบกายภาพ และผู้กำหนดนโยบายต้องช่วยกันหาคำตอบ”

ดร.พรสรร: กรุงเทพฯ มีโอกาสที่จะเอื้อต่อการส่งเสริมการเดินมากขึ้น จากขนส่งมวลชนระบบรางกว่า 300 สถานีที่จะก่อสร้างในอนาคต

ผศ. ดร.นิรมล:ในอดีต อัตราการเติบโตของที่อยู่อาศัยชานเมืองต่อในเมืองคือ 70:30 แต่หลังจากที่มีการพัฒนาสายรางทำให้อาคารชุดในเมืองได้รับความนิยมมากขึ้นทำให้สัดส่วนการเติบโตของที่อยู่อาศัยชานเมืองต่อในเมืองเปลี่ยนเป็น 30:70 สะท้อนถึงความต้องการพื้นที่สาธารณะทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ดังนั้น เมื่อคนใช้ขนส่งสาธารณะและอยู่อาศัยในคอนโดเล็กๆ ทำให้คนต้องการพื้นที่สาธารณะดีๆ นอกบ้านเพื่อการพักผ่อน ซึ่งรัฐต้องลงทุนกับพื้นที่สาธารณะมากขึ้น

ดร.พรสรร: จากข้อสังเกตส่วนตัวพบว่า คนไทยยังใช้พื้นที่สาธารณะไม่เก่ง เคอะเขิน แต่คนรุ่นใหม่ก็เริ่มใช้มากขึ้น เช่น สวนลุมพินีก็จะมีกลุ่มคนที่วิ่งออกกำลังกายเท่านั้นมาใช้ประโยชน์ ในขณะที่ประเทศจีน คนจีนใช้พื้นที่สาธารณะเก่งมาก คือสามารถนั่งเล่น สังสรรค์ และทำกิจกรรมอื่นๆ มากมายในสวนสาธารณะตลอดเวลา ทั้งนี้อาจเป็นเรื่องของวัฒนธรรมการใช้ชีวิตด้วย

ผศ. ดร.นิรมล: นักผังเมือง (urban planners) และนักออกแบบเมือง (urban designers) มีส่วนมากในการสร้างวัฒนธรรมการใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม มีการออกแบบเมืองที่ดี มีสวนสาธารณะขนาดย่อมๆกระจายอยู่ทั่วเมือง ประชาชนชอบอยู่ในสวนสาธารณะ ทั้งๆ ที่ไทยกับเวียดนามอยู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหมือนกัน มีความใกล้เคียงทางชาติพันธุ์ แต่กลับมีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตในเมืองต่างกัน

ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ walkscore.com

ดร.พรสรร: หนึ่งในผลลัพธ์ของโครงการกรุงเทพเมืองเดินได้ เมืองเดินดี คือ เว็บไซต์ goodwalk.org ที่แสดงเป้าหมายการเดินทางในพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ โดยจะเปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นี้ โดยเว็บไซต์จะแสดงให้เห็นว่าจุดที่เราค้นหานั้นมีศักยภาพการเข้าถึงการเดินไปยังสถานที่ใดบ้าง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากเว็บไซต์ walkscore.com ของอเมริกาที่ใช้วัดศักยภาพการเดินของเมืองต่างๆ ในประเทศเพื่อหาที่อยู่อาศัยใหม่ๆ

ผศ. ดร.นิรมล:เว็บไซต์ walkscore ส่วนใหญ่มีเป้าหมายในเชิงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่นิยมและเป็นเครื่องมือการหาที่อยู่อาศัยที่ดี แต่เว็บไซต์ goodwalk.com ของโครงการกรุงเทพเมืองเดินได้ เมืองเดินดี จะมองครอบคลุมไปถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมืองและพฤติกรรมของคนในเมืองเป็นสำคัญ

ดร.พรสรร: เป้าหมายการเดิน คือ แหล่งงาน สถานศึกษา อุปโภค-บริโภค นันทนาการ ธุรกรรม และคมนาคมขนส่ง แล้วให้คำนวณคะแนนสถานที่เป้าหมายตามศักยภาพในการดึงดูดคน โดยใช้โปรแกรม GIS แตกรัศมียาวประมาณ 800 เมตรจากจุดเป้าหมาย ซึ่งเป็นระยะที่คนไทยสามารถเดินได้ ดังนั้น บริเวณไหนที่มีรัศมีทับซ้อนกันมากก็จะมีสีเข้มและมีคะแนนสูงซึ่งก็จะเอื้อต่อการเดินสูง โดยปรากฏออกมาเป็นพื้นที่ศักยภาพการเข้าถึงการเดิน

จากแผนที่พบว่า สีเขียวเข้มคือสามารถเดินได้สูง ซึ่งอยู่บริเวณแนวรถไฟฟ้า เช่น สยามสแควร์ ปทุมวัน พระราม 1 หน้าสนามกีฬาศุภชลาศัย พญาไท อนุสาวรีย์ ราชประสงค์ ประตูน้ำ สุขุมวิท สีลม สาธร และย่านตลาด เช่น ตลาดบางรัก เกาะรัตนโกสินทร์ เยาวราช พาหุรัด สำเพ็ง ท่าช้าง ท่าเตียน วังหลัง บางลำพู เทเวศร์ ตลาดห้วยขวาง แต่ยังไม่ได้คำนึงถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดิน เช่น ทางเท้า สภาพแวดล้อม

ผศ. ดร.นิรมล:สาระสำคัญของแผนที่คือ พื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่ที่คุณสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องใช้รถ เพราะทุกอย่างอยู่ในระยะเดิน ไม่ว่าจะเป็น แหล่งงาน สถานศึกษา อุปโภค-บริโภค นันทนาการ ธุรกรรม และคมนาคมขนส่ง พื้นที่สีเขียวนี้ เช่น ย่านบางรัก เพียงแต่สภาพแวดล้อมปัจจุบันอาจยังไม่เอื้อและไม่ดึงดูดให้คนเดิน

การพัฒนาการเดินดีในอนาคต นอกจากปรับปรุงทางเท้ายังต้องเชื่อมโยงถนนหรือซอยซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลให้สามารถเชื่อมกันได้ด้วย เพื่อให้ขนาดบล็อกไม่ใหญ่เกินไป เช่น สีลม สาทร หากสามารถร่วมหารือกับเจ้าของโครงการต่างๆให้เปิดถนนเหล่านี้เป็นทางเดินเล็กๆ ที่เชื่อมโยงกันได้ ก็จะทำให้เดินได้ดี คนมีโอกาสเดินสูงขึ้น มีโอกาสค้าขายทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกัน

“เราไม่ได้มองว่าทั้งกรุงเทพฯ 1,500 ตารางกิโลเมตร ต้องเดินได้ แต่ควรจะเดินได้ดีในพื้นที่ที่มันควรจะเดินได้ ที่ผ่านมา บางโครงการของภาครัฐเป็นโครงการที่ดี แต่อยู่ผิดที่ เช่น โครงการการพัฒนาทางจักรยานยาวหลายสิบกิโลเมตร ที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นย่านที่คนไม่ได้ถีบจักรยานแต่ขับรถมาทำงานในกรุงเทพ แผนที่ศักยภาพการเข้าถึงด้วยการเดินเท้าซึ่งเป็นผลลัพธ์ของโครงการจะช่วยให้รัฐเลือกพื้นที่ยุทธศาสตร์ได้ดีขึ้น”

 5 อันดับแรกของพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีศักยภาพในการเดิน

ดร.พรสรร: ปัจจุบันกำลังดูเรื่องงบประมาณและข้อมูลในหัวเมืองต่างๆ เพื่อเริ่มโครงการเมืองเดินได้นอกกรุงเทพฯ ด้วย โดยเน้นเทศบาลนครขนาดใหญ่ที่มีประชากร 50,000 คนขึ้นไป ซึ่งประเทศไทยมีทั้งหมด 32 แห่งใน 20 จังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ นอกจากนี้มีเทศบาลนครขนาดเล็กแต่น่าสนใจ เช่น ยะลา ซึ่งเป็นเมืองที่ออกแบบผังเมืองดีมาก

ผศ. ดร.นิรมล: ตอนแรกทีมงานไม่มั่นใจเลยว่าโครงการนี้จะเป็นที่สนใจของสื่อและคนกลุ่มอื่นๆ หรือไม่ แต่ปรากฏทุกฝ่ายสนใจ และต้องการโครงการนี้โดยมองเห็นว่า “การออกแบบเมืองแล้วเดินไม่ได้” นั้นเป็นปัญหาสำคัญลำดับต้นๆ ของเมืองในปัจจุบัน และต้องการรูปแบบและข้อมูลที่จะชี้ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาให้กับเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ โดยสร้างวิธีการหรือโมเดลที่คนอื่นสามารถนำไปทำซ้ำได้ เป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาเมือง

คะแนนต่ำที่ปรากฏบนแผนที่ศักยภาพการเข้าถึงด้วยการเดินนั้น เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องพัฒนาให้มีพื้นที่ดังกล่าวมีคะแนนสูงขึ้น เช่น ปรับปรุงทางเท้าซึ่งเป็นเรื่องที่คนเข้าใจได้ง่ายมาก การซอยหรือทะลวงบล็อกถนนให้เชื่อมต่อกันหรือย่อยเพิ่มขึ้น การออกแบบพื้นที่หน้าร้านให้น่าเดินและเดินได้ต่อเนื่อง รวมถึงร่มเงา ร่มไม้ และแสงสว่างต่างๆ ซึ่งเชื่อมโยงกันหมด

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัท เซลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เชิญ UddC ไปร่วมงาน “มองผ่านเลนส์สู่เมืองแห่งอนาคต” ซึ่งเปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับเมืองในอีก 30 ข้างหน้า โดยงานวิจัยของเซลล์ระบุว่า ประมาณปี 2573 กรุงเทพฯ จะกลายเป็น 1 ใน 5 ของเมืองศูนย์กลางอาเซียน แล้วจะมีประชากรเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 10 ล้านคนเป็น 30 ล้านคน

จากข้อมูลดังกล่าวเป็นอีกโจทย์ที่ต้องพยายามปรับปรุงพื้นที่ในเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีประสิทธิภาพและเต็มศักยภาพมากขึ้น

“เต็มศักยภาพ” หมายถึงมีความหนาแน่น ไม่ใช่ความแออัด ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวมและใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เต็มศักยภาพ เช่น มีตึกแถวลักษณะเตี้ยแบน มีพื้นที่โล่งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนมาก แต่เนื่องจากว่าทางเท้าและพื้นที่สาธารณะหรือการใช้ประโยชน์ที่ดินของเมืองยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพจึงทำให้พื้นที่บางจุดแออัดมาก

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของเซลล์ได้สนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ 17 เขตของ UddC เช่น รัตนโกสินทร์ บางรัก สีลม สาธร สยามสแควร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พัฒนามาก่อนแล้วและเริ่มชำรุดทรุดโทรมจึงต้องฟื้นฟูให้สามารถรองรับจำนวนประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุณภาพ

ไทยพับลิก้า: ที่ผ่านมาเป็นเพราะนโยบายหรือเปล่า ที่ทำให้ออกแบบผังเมืองมาเป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายผังเมือง หรือนโยบายรวมของประเทศ

ผศ. ดร.นิรมล: อย่างที่กล่าวไป กรุงเทพมหานครอาจขาดการเครื่องมือในการควบคุมการขยายตัวของเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ การเพิ่มพื้นที่เมืองเพื่อรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจะเป็นในรูปแบบการขยายตัวออกสู่ชานเมืองมาตลอด กรุงเทพเองเพิ่งมีการใช้ FAR ควบคุมความหนาแน่นการใช้ประโยชน์ที่ดินในปี 2535 นี้เอง

ดร.พรสรร: นอกจากความไม่ใส่ใจแล้ว การจราจรในกรุงเทพฯ ยังไม่ควบคุมปริมาณรถยนต์บนถนนด้วย ในขณะที่อังกฤษต้องเสียค่าผ่านทางหากจะขับรถเข้าเมืองชั้นใน หรือญี่ปุ่นมีการจัดเก็บภาษีรถยนต์ และต้องแสดงหลักฐานว่ามีที่จอดหรือหากถ้าไม่มีที่จอดต้องไปเช่าที่จอดซึ่งราคาแพงพอๆ กับค่าเช่าบ้าน

อย่างไรก็ตาม การควบคุมการใช้รถยนต์นั้นต้องทำควบคู่ไปพร้อมๆ กับการเพิ่มหรือปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน แต่รถประจำทางของไทยนั้นเก่าและขาดการปรับปรุง และมีไม่รถบริการในถนนหรือทางด่วนใหม่ๆ จึงไม่เอื้อให้คนใช้บริการรถประจำทางและหันไปใช้รถตู้แทน แต่รัฐก็ไม่ควบคุมปริมาณรถตู้ทำให้เมืองเกิดปัญหาเรื้อรัง

ไทยพับลิก้า: ทำยังไงให้คนเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นเรื่องเดียวกัน เชื่อมกันหมด และเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

ผศ. ดร.นิรมล: เพื่อนต่างชาติหลายคนจะสงสัยว่าคนกรุงเทพฯ อยู่กันได้อย่างไรในเมืองขนาดใหญ่ที่ขนส่งมวลชนไม่ทั่วถึง ขณะที่บริษัทเชลล์ซึ่งผลิตน้ำมันยังลงทุนกับงานวิจัยเรื่องเมืองที่ยั่งยืนกับพลังงาน กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ใช้พลังงานมาก ทั้งน้ำมันและไฟฟ้า รวมถึงพลังงานกายของคนเมืองด้วย

ดร.พรสรร: กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ใช้พลังงานสูงมาก โดยใช้พลังงานเท่ากับนิวยอร์กในขณะที่นิวยอร์กมีคนมากกว่ากรุงเทพฯ 3 เท่า

แผนที่ศักยภาพการเข้าถึงด้วยการเดิน

ไทยพับลิก้า: การเชื่อมโยงที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐนั้น มีแนวโน้มหรือได้รับความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน

ผศ. ดร.นิรมล: สสส. สนับสนุนเต็มที่เพราะว่าเป็นนโยบายหลักขององค์กรที่ต้องทำให้คนเมืองสุขภาพดี ส่วน กทม. ทำงานร่วมกันหลายโครงการแล้วโดยเปิดรับและให้ความร่วมมือเต็มที่ เช่น การปรับปรุงพื้นที่กะดีจีน-คลองสาน เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องย่านการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ และโครงการผังยุทธศาสตร์การฟื้นฟูกรุงเทพฯ เขตเมืองชั้นใน โครงการสะพานปลาสำหรับโครงการนี้คิดว่า กทม. น่าจะได้รับการสนับสนุนแน่นอน

ไทยพับลิก้า: เป็นจังหวะพอดีที่ UddC มาทำโครงการช่วงนี้

ผศ. ดร.นิรมล: ก็หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น ในอดีต ถ้าพูดว่าเดินเที่ยวย่านเมืองเก่าไปคนก็อาจจะไม่สนใจ แต่ปัจจุบันรูปแบบการใช้ชีวิตและรสนิยมของคนเริ่มเปลี่ยนมาซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ UddC ในการฟื้นฟูพื้นที่เมืองชั้นในให้น่าอยู่ น่าเดิน อีกทั้งเครือข่ายกลุ่มพลเมืองในกรุงเทพฯ ก็เชื่อมโยงและมีความเข้มแข็งขึ้น มีการพัฒนาประเด็นและความเชี่ยวชาญของตนในเชิงลึก เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีของโครงการ

“ในวันที่จัดเวิร์กชอปเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เรามั่นใจว่าคนทุกกลุ่มมีเป้าหมายคล้ายกันคือให้กรุงเทพเป็นเมืองที่ดี เป็นเมืองที่น่าอยู่ เพียงแต่ขาดโอกาสที่จะมาเจอกัน เราก็ดีใจที่สามารถสร้างพื้นที่และโอกาสให้คนต่างๆ มาร่วมพูดคุยกัน และในฐานะนักวิจัยเราก็ได้ประโยชน์ด้วยและได้เรียนรู้มากมาย ซึ่งเป้าหมายของ UddC คือเป็นรูปแบบที่สร้างจากความรู้ งานวิจัย ให้เกิดการปฏิบัติที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงสภาพแวดล้อมเมืองจริงๆ”

ไทยพับลิก้า: การพัฒนาเมืองที่มีสัณฐานเมืองดีแต่เป้าหมายการเดินเท้าน้อย เช่น เกาะรัตนโกสินทร์ จะพัฒนาต่างกับย่านสีลม สาทร หรือไม่ อย่างไร

ผศ. ดร.นิรมล: จริงๆ แล้วยุทธศาสตร์หรือวิธีการคงไม่เหมือนกัน เพราะพฤติกรรมการเดินและลักษณะเงื่อนไขของพื้นที่แตกต่างกัน

เกาะรัตนโกสินทร์นั้นขนาดบล็อกและโครงข่ายถนนนั้นดีมาก แต่ปรากฏว่าศักยภาพการเข้าถึงด้วยการเดินต่ำกว่าย่านปทุมวัน ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเป้าหมายในการเดิน เช่น ร้านค้า ธุรกรรม ฯลฯ มีน้อยกว่าและไม่หลากหลายเท่า ซึ่งสอดคล้องกับข้อค้นพบสำคัญของโครงการฟื้นฟูย่านถนนราชดำเนินกลาง ที่พบว่านโยบายย้ายสถานที่ราชการและสถานศึกษาออกจากเกาะรัตนโกสินทร์เมื่อปี 2538 (เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัด) เมื่อกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นข้าราชการ ลูกจ้างจำนวนมากหายไป ร้านค้า ธุรกรรมต่างๆ ปิดตัว ลดจำนวนลงมาก ส่งผลต่อความถดถอยทางสภาพเศรษฐกิจสังคมของหลายๆย่านในเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เช่น ในย่านสามแพร่งจะเห็นได้ชัด (ย่านทางด้านทิศใต้ของถนนราชดำเนินกลาง) ที่พลวัติทางกิจกรรมการค้าและสังคมหายไป

ย่านเกาะรัตนโกสินทร์เป็นพื้นที่ย่านประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ ที่สำคัญ เป็นพื้นที่เชิดหน้าชูตา พื้นที่เรียนรู้ของเยาวชนและนักท่องเที่ยว ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาของเกาะรัตนโกสินทร์ อาจทำด้วยการปรับเปลี่ยนอาคารราชการต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว เช่น ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือประโยชน์ใช้สอยอื่นๆที่ทำให้พลวัติของกิจกรรมกลับคืนมา

ตัวอย่างเว็บไซต์ goodwalk.org

ไทยพับลิก้า: ในแง่ของโครงสร้างครัวเรือนที่เปลี่ยนรูปแบบและมีขนาดเล็กลงจะมีผลต่อเรื่องผังเมืองหรือไม่

ดร.พรสรร: แน่นอน การอยู่อาศัยสมัยใหม่อาจทำให้ความเป็นชุมชนถดถอยลง แต่มีข้อดีคือเมื่อครัวเรือนขนาดเล็กลง ก็จะไม่มีความต้องการที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ดังนั้น การใช้ประโยชน์พื้นที่จะกระชับขึ้น เพราะคนต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องการพื้นที่สาธารณะ แต่วิธีการนี้คงเกิดขึ้นได้ยากในเขตเมืองเก่า

ปัญหาปรากฏการณ์โดนัทที่กลางเมืองว่างนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก แต่หลายประเทศปัญหานี้จบแล้ว หลังจากใช้แผนต่างๆ และมาตรการเพื่อให้เมืองชั้นในมีคนอยู่เพิ่มขึ้น อย่างกรุงเทพฯ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพราะรถไฟฟ้าในเมือง ซึ่งหลายๆ พื้นที่เริ่มมีคนกำลังกลับมาอยู่อาศัย

กายภาพที่ดีจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตไปเอง แล้วกลไตลาดก็จะโตตามไปด้วย ส่วนการควบคุมกลไกนั้นจะอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่จะให้ภาครัฐไปลงทุนทั้งหมดเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะรัฐไม่ได้รวยขนาดนั้น

ผศ. ดร.นิรมล: อย่างพื้นที่ริมน้ำในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เดินไม่ได้ ยกเว้น ท่าช้าง ท่าเตียน ซึ่งต้องหาวิธีพลิกฟื้นให้ใช้งานพื้นที่ริมน้ำได้อย่างมีพลวัตและมีความหลากหลายของความสามารถการใช้งาน

ไทยพับลิก้า: มีใครที่สามารถทำให้รัฐบาลมองเห็นว่าเศรษฐกิจ สังคม และผังเมือง เชื่อมโยงกัน กลายเป็นวิถีชีวิตที่เชื่อมกันทั้งระบบ เพราะปัจจุบันยังแยกส่วนกันอยู่

ดร.พรสรร: เราพยายามพูดจากพื้นที่เล็กๆ ก่อน เพราะหนทางเดียวคือต้องมีพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จให้เห็นเป็นตัวอย่างก่อน

ผศ. ดร.นิรมล:: ที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองอาจมองแยกส่วน ซึ่งแท้จริงแล้วประเด็นต่างๆนั้นเชื่อมโยงกัน ที่สำคัญในปัจจุบันคือการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนต่างๆ หากไม่พูดคุย ร่วมหารือ เพื่อให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจตั้งแต่แรกๆ แล้ว คงเป็นไปได้ยากที่จะดำเนินโครงการไปได้อย่างราบรื่น

ในอนาคตทั้งภาครัฐและทุกคนที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ต้องทำงานหนักมากขึ้น ทำความเข้าใจกับพื้นที่ และชุมชน คำนึงถึงรายละเอียดให้รอบด้าน มีข้อมูลและงานวิจัยรองรับ ซึ่งปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่ดีว่าทุกคนจริงจังกับสิ่งที่ตัวเองทำมากขึ้น

สำหรับโครงการกรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี จะเปิดตัวในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร