ThaiPublica > เกาะกระแส > “ประจิน” ยันลุยพัฒนารถไฟสองระบบ “ราง 1 เมตร-ราง 1.435 เมตร” เชื่อมโยงอาเซียนจีน – ชี้อนาคตอาจเหลือแค่ระบบ 1.435 เมตร

“ประจิน” ยันลุยพัฒนารถไฟสองระบบ “ราง 1 เมตร-ราง 1.435 เมตร” เชื่อมโยงอาเซียนจีน – ชี้อนาคตอาจเหลือแค่ระบบ 1.435 เมตร

23 มกราคม 2015


20150122_135802
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ซ้าย), นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (กลาง), นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม (ขวา) แถลงผลการหารือกับคณะทำงานจากสาธารณรัฐประชาชนจีน หลักการประชุมเสร็จสิ้น

ความพยายามพัฒนา “ระบบขนส่งทางราง” ของประเทศไทย แม้จะมีข้อเท็จจริงชัดเจนว่าระบบทางรถไฟในอาเซียนเกือบทั้งหมดเป็นระบบราง 1 เมตร แต่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเดินหน้าผลักดันการสร้างทางรถไฟสายใหม่ขนาด 1.435 เมตร เชื่อมไทย-จีนต่อไป สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายถึงแนวทางพัฒนาดังกล่าว โดยเฉพาะชมรมวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมปฏิรูปประเทศไทย (วศ.รปปท.) ซึ่งได้เคยออกรายงานอย่างเป็นทางการ รวมทั้งตั้งข้อสังเกตต่างๆ ถึงความคุ้มค่าของโครงการ เนื่องจากแนวเส้นทางที่รัฐบาลปัจจุบันก่อสร้างนั้นเป็นการเชื่อมต่อเพียงประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้านบางส่วนเท่านั้น สืบเนื่องจากไทยไม่มีพรมแดนติดกับจีนโดยตรง ขณะที่ในปัจจุบันยังมีโครงข่ายเดิมระบบราง 1 เมตร ที่เชื่อมโยงภูมิภาคได้ครอบคลุมมากกว่า โดยขาดทางเชื่อมเพียงไม่กี่กิโลเมตรเท่านั้น

พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวหลังการประชุมร่วมไทย-จีน เพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ว่าเบื้องต้นคาดว่าสามารถพัฒนาทั้ง 2 ระบบคู่ขนานกันได้ เพื่อการเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนและจีนอย่างสมบูรณ์มากขึ้น โดยแบ่งเป็น 2 แนวเส้นทาง ได้แก่ เส้นทางคุนหมิง-สิงคโปร์ (The Singapore-Kunming Rail Link: SKRL) ซึ่งเป็นระบบราง 1 เมตร ที่มีโครงข่ายเดิมอยู่ ตามที่ วศ.รปปท. เสนอ ขณะที่อีกเส้นทางคือโครงการรถไฟความเร็วปานกลางขนาดราง 1.435 เมตร ซึ่งกำลังริเริ่มในปัจจุบัน โดยอาศัยความร่วมมือกับประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีหรือเงินลงทุน

สำหรับระบบราง 1 เมตรเดิมของไทยจำนวน 4,000 กว่ากิโลเมตร จะยังคงดำเนินการต่อไป เพื่อใช้เชื่อมโยงระหว่างไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เนื่องจากมีระบบราง 1 เมตร เหมือนกัน โดยจะต้องปรับปรุงเพิ่มเติมให้เกิดความปลอดภัยและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งย้ายระบบจากรถน้ำมันดีเซลเป็นระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดด้วย ซึ่งจะเริ่มจากภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันในมาเลเซียใช้ระบบรถไฟฟ้าอยู่ก่อนแล้วและสามารถเชื่อมโยงได้ทันที

“ส่วนที่ถามว่าระบบราง 1 เมตรเดิมจะมีแผนเลิกใช้เมื่อไร จะพยายามศึกษาก่อนว่าใน 5-10 ปีข้างหน้าเราจะมีทิศทางไปอย่างไร ในส่วนของปัจจุบันเราจะพัฒนาระบบ 1 เมตร ไปอย่างเดิม จะเปลี่ยนเทคโนโลยีจากน้ำมันเป็นไฟฟ้า ประการต่อไป เมื่อเราวางรางมาตรฐานเสร็จแล้ว เราจะวางไปถึงปาดังเบซาร์ คิดว่าจะเป็นแผนงานในช่วงปี 2562-2563 คงจะมีความชัดเจนขึ้น ก็รอมาเลเซียมีความพร้อมและตัดสินใจว่าจะปรับหรือขยายเป็นรางมาตรฐานหรือไม่ ถ้าไม่ขยายเราก็ใช้ระบบ 1 เมตร เชื่อมโยงได้” พล.อ.อ. ประจินกล่าว

ส่วนความคืบหน้าของแผนงานเส้นทางคุนหมิง-สิงคโปร์ นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ากำลังสร้างส่วนขาดหาย (missing link) ที่อยู่ในประเทศไทย คือช่วงอรัญประเทศ-คลองลึก-ปอยเปต โดยกำลังปรับปรุงทางช่วงฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ-คลองลึก และสร้างสะพานรถไฟต่อไปช่วงคลองลึก-ปอยเปต ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปีนี้ พร้อมเปิดเดินรถได้ ขณะที่ส่วนขาดหายภายนอกประเทศนั้น ยังขาดส่วนกัมพูชาเชื่อมต่อกับเวียดนาม ส่วนด้านฝั่งเมียนมาร์มีเพียงแนวเส้นทางแต่ยังไม่เริ่มพัฒนา เนื่องจากเมียนมาร์กำลังเร่งพัฒนาระบบรางภายในประเทศก่อน

ด้านระบบราง 1.435 เมตร พล.อ.อ. ประจินกล่าวต่อว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสร้างให้เป็นมาตรฐานในการเชื่อมโยง “โครงข่ายรถไฟความเร็วปานกลาง” ในประเทศไทยและอาจจะเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว, เวียดนาม, เมียนมาร์ และกัมพูชา ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบุกเบิกจากประเทศไทยว่าโครงการที่กำลังดำเนินการจะมีความสำเร็จคืบหน้าในทางบวกมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการดำเนินการ การซ่อมบำรุง เป็นต้น

“เวลา 2 ปี 5เดือน จะมีความชัดเจน ว่าจะสร้างเป็นโครงข่ายรถไฟความเร็วปานกลางเชื่อมโยงทั้งอาเซียนหรือไม่ ในส่วนของไทยกับ สปป.ลาว แน่นอนแล้วว่าสร้างระบบเหมือนกัน โดยประมาณก่อนปีใหม่คณะของกระทรวงคมนาคมไทยได้พบกับกระทรวงคมนาคมของ สปป.ลาว อย่างไม่เป็นทางการ ได้รับข้อมูลว่าทาง สปป.ลาว กับจีบได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนนี้ร่างสัญญาก่อสร้างเสร็จแล้ว คาดว่าลงนามได้ปี 2558 และเริ่มก่อสร้างปี 2559 ทั้งนี้ วันที่ 1-3 กุมภาพันธ์นี้จะเดินทางไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอีกครั้ง” พล.อ.อ. ประจินกล่าว

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้ง 2 แนวทางอยู่ในกรอบการตกลงคนละกรอบและมีเป้าหมายการเชื่อมโยงต่างกัน โดยแนวเส้นทางคุนหมิง-สิงคโปร์ จะอยู่ในกรอบการเชื่อมโยงอาเซียน มีแนวเส้นทางจากสิงคโปร์-กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย)-ปาดังเบซาร์-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ-ปอยเปต-พนมเปญ-นครโฮจิมินห์-ฮานอย-คุนหมิง ขณะที่แนวเส้นทางรถไฟความเร็วปานกลาง ราง 1.435 เมตร ที่กำลังจะสร้าง มีแนวเส้นทางจากกรุงเทพฯ-หนองคาย-หลวงพระบาง-คุนหมิง โดยมีเป้าหมายเชื่อมโยงประเทศไทย สปป.ลาว และจีน เข้าด้วยกัน เนื่องจากปริมาณการค้าขายและปริมาณการเดินทางระหว่าง 3 ประเทศ ที่เพิ่มขึ้นมาก จึงเป็นเส้นทางที่กระทรวงให้ความสำคัญและพยายามผลักดันให้เชื่อมโยงกัน

ทั้งนี้ พล.อ.อ. ประจินยังกล่าวย้ำถึงความจำเป็นของโครงการรถไฟความเร็วปานกลางอีกว่า “ถ้าโครงการรถไฟความเร็วปานกลางของไทยเกิด ก็จะกลายเป็นต้นแบบของการวางโครงข่ายรถไฟโดยใช้เทคโนโลยีของจีนเป็นจุดเริ่มต้นของโครงข่ายในการใช้เทคโนโลยีไปในประเทศไทยและอาเซียน”

รุปประจิน
พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้อนรับการเยือนของนายหู จู่ฉาย รองผู้อำนวยการ สภาการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ในการประชุมประชุมร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 1 เพื่อร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ

ตั้งคณะทำงาน 2 ระดับ อีก 3 สัปดาห์เคาะสรุป แง้มกู้จีนเร็วสุด

สำหรับผลการประชุมร่วมไทย-จีน ช่วง 2 วันที่ผ่านมาได้ข้อสรุปเรื่องโครงสร้างการบริหารงาน แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ระดับนโยบายและปฏิบัติการ โดยระดับนโยบายจะจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนร่วมกัน ซึ่งฝ่ายไทยจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ เป็นเลขาธิการ มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ช่วยเลขาธิการ ส่วนฝ่ายจีนมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเช่นเดียวกัน มีผู้อำนวยการสภาการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ หรือเอ็นดีอาร์ซี (National development and Reform Council: NDRC) เป็นเลขาธิการ ทั้งนี้ จะจัดให้สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นส่วนประสานงานร่วมกับฝ่ายประสานงานของเอ็นดีอาร์ซี

ในระดับปฏิบัติการ จะจัดตั้งคณะกรรมการบริหาร โดยฝ่ายไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดูแลเรื่องเนื้องานและการเงิน ซึ่งแบ่งเป็นคณะอนุกรรมการอีก 2 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการด้านการก่อสร้าง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นเลขาธิการ 2) คณะอนุกรรมการด้านการเงิน มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน มีผู้อำนวยการ สนข. เป็นเลขาธิการ โดยทั้งสองคณะจะทำงานร่วมกัน และใช้สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ประสานงานเช่นเดียวกับระดับนโยบาย ขณะที่ฝ่ายจีน ด้านการก่อสร้างจะให้บริษัทรถไฟจีน (China Railway Corporation: CRC) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจดูแล และให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีนดูแลเจรจาด้านการเงิน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ข้อสรุปในด้านก่อสร้างอีกว่าจะแบ่งเป็น 4 ช่วง 2 แผนงาน ได้แก่ แผนงานแรก ช่วงที่ 1 และ 2 เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร และแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กิโลเมตร และแผนงานสอง ช่วงที่ 3 และ 4 เส้นทางแก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กิโลเมตร และนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตรมีแผนงานหรือโรดแมป ดังนี้

มีนาคม 2558 จัดตั้งทีมสำรวจร่วมไทย-จีน ออกแบบให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2558

กันยายน-ตุลาคม 2558 เริ่มก่อสร้างแผนงานแรก คาดว่าแล้วเสร็จปี 2561 ระยะเวลา 2 ปีครึ่ง

ธันวาคม 2558-ไตรมาสแรกปี 2559 เริ่มก่อสร้างแผนงานสอง คาดว่าแล้วเสร็จปี 2562 ระยะเวลา 3 ปี

“ในเรื่องของแผนงานแรก ทางจีนและไทยเห็นภาพเดียวกัน ว่าการสำรวจเส้นทางกับความยากง่ายอยู่ในเกณฑ์ที่เสร็จ 2 ปีครึ่ง ค่อนข้างจะแน่นอน ส่วนแผนงานสอง เป็นช่วงที่มีไหล่เขา อุทยานแห่งชาติ หรือเขตชุมชน อาจจะต้องใช้เวลามากขึ้น เดิมวางไว้ 3 ปี จีนบอกว่าอาจจะล่าช้านิดหน่อย แต่คงจะทำได้ตามที่เราคาดหวัง 3 ปีกว่าๆ ถือว่ารับได้” พล.อ.อ. ประจินกล่าว

ขณะที่ข้อสรุปอื่นด้านการเงิน นายอาคมกล่าวว่า จีนได้มีการเสนอรูปแบบการลงทุนเบื้องต้น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) จีนเสนอให้ไทยกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2) รัฐและเอกชนร่วมลงทุนด้วย หรือพีพีพี (Public Private Partnership: PPP) 3) รัฐบาลลงทุนร่วมกันระหว่างไทย-จีน

“ถามว่ารูปแบบไหนเป็นไปได้มากที่สุด ต้องรอการหารือ ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของโครงการและผลตอบแทนต่างๆ แต่ถ้าจะให้เร็วที่สุดคงเป็นส่วนรัฐบาลรับภาระกู้ทั้งหมด ก็ต้องดูเงื่อนไขกับรูปแบบการกู้เงินกับจีน เพราะว่าเราเองไม่เคยกู้เงินจากจีนเลย ต้องเปรียบเทียบให้ดีที่สุด จีนเองรับปากมาว่าเป็นโครงการระดับประเทศและยินดีที่จะให้เงื่อนไขที่ดีที่สุด” นายอาคมกล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลดจำนวนการประชุมจากที่เหลืออีก 2 ครั้ง ให้เหลือเพียงครั้งเดียว ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ 2558 เนื่องจากการประชุมครั้งแรกมีความคืบหน้าในหลายๆ ด้านมากกว่าที่ทั้งสองฝ่ายคาดการณ์ รวมถึงเพื่อเร่งรัดการตัดสินใจรูปแบบความร่วมมือและการลงทุนทางการเงิน เป็นกรอบแนวทางเลือกบริษัทเข้ามาลงทุนให้ได้เร็วที่สุด ส่งผลให้การประชุมครั้งหน้าในอีก 3 อาทิตย์ที่จะถึงนี้ต้องได้ข้อสรุปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างทั้ง 4 ช่วงอย่างเป็นทางการ, ความชัดเจนของบริษัทจีนที่จะเข้าร่วมโครงการ, งบประมาณการลงทุน, และรูปแบบการลงทุน ก่อนจะนำข้อตกลงส่วนที่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาดำเนินการ เมื่อผ่านความเห็นชอบทั้งหมดแล้วจะมีการลงนามความร่วมมือดังกล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมต่อไป

“อย่างที่เรียนให้ทราบว่าเราอยากให้เร็ว เราตั้งเป้าว่า 6-7 เดือนเราจะเริ่มโครงการ หรือคิกออฟ (kick-off) ให้ได้ ส่วนเรื่องที่ต้องผ่าน สนช. หรือ ครม. จะพยายามให้เร็วที่สุด อาจจะสองเดือนหลังการประชุมครั้งที่ 2 ขณะเดียวกันเราจะดำเนินเรื่องของการสำรวจ ออกแบบ ราคา เวนคืนที่ดิน พร้อมๆ กันด้วย” พล.อ.อ. ประจินกล่าว