ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ดร.อัมมาร-ดร.นิพนธ์” วิจัยชาวนาไทยยังต้องการ “จำนำข้าว” เชื่อหลังเลือกตั้งยังต้องมีนโยบายจำนำข้าวอีก

“ดร.อัมมาร-ดร.นิพนธ์” วิจัยชาวนาไทยยังต้องการ “จำนำข้าว” เชื่อหลังเลือกตั้งยังต้องมีนโยบายจำนำข้าวอีก

6 มกราคม 2015


ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

จากงานวิจัยเรื่อง “การคอร์รัปชัน: กรณีศึกษาโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด” โดย รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะ ได้มีการสำรวจความคิดเห็นชาวนาทั้งที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวและไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผลสำรวจพบว่าชาวนามีความพอใจในโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากสามารถขายข้าวได้สูงกว่าราคาตลาด

และแม้ว่าผลสำรวจจะระบุชัดเจนเป็นรูปธรรมว่า โครงการรับจำนำข้าวมีผลขาดทุนมหาศาล และทำให้เกิดภาระทางการคลังถึง 9.7 แสนล้านบาท เป็นภาระในเชิงสังคมถึง 2.3 ล้านบาท ในระยะยาวทำให้ข้าวไทยมีคุณภาพต่ำ และอุตสาหกรรมโรงสีต้องล้มละลาย

แต่ความจำเป็นในการช่วยเหลือชาวนาในรูปแบบการอุดหนุนจะยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าจะไม่ใช่รูปแบบ “การรับจำนำ”หรือ “การประกันราคา” โดยในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ใช้รูปแบบการประกันยุ้งฉางและให้สินเชื่อชะลอการขาย แทนการรับจำนำ

สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา ที่เชื่อว่านโยบายการจำนำข้าวจะยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวนาไทย

“ผมนั้นเชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าวในรูปแบบของนโยบายประชานิยมย่อมต้องเกินขึ้นอีกแน่นอนในช่วงหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากเป็นโครงการที่สามารถเรียกคะแนนเสียงจากชาวนาที่เป็นฐานเสียงรายใหญ่ที่สุดของประเทศได้ บทเรียนก็คือเราจะป้องกันไม่ให้นโยบายรับจำนำข้าวรอบที่…ได้อย่างไร ผมเชื่อว่าเกิดแน่ ปัญหาสำคัญคือ ชาวนาและสื่อมวลชนจำนวนมากยังติดกับดักจำนำข้าวอยู่” รศ.ดร.นิพนธ์กล่าว

รศ.ดร.นิพนธ์ยังได้อ้างถึงความคิดเห็นของนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนา ที่บอกว่า ชาวนาส่วนใหญ่ยังต้องการให้มีนโยบายรับจำนำข้าว “ผมไปทำสำรวจชาวนาก็ยืนยันอยากจะได้เรื่องนี้ สื่อมวลชนนี่แหละตัวการ เวลามาถามทีไร จะต้องช่วยเหลือชาวนาอย่างไร นี่คือติดกับดักจริงๆ สื่อมวลชนก็ยังมีมายาคติว่าชาวนาเป็นคนยากจน หากรัฐบาลไม่ช่วยเหลือจะอยู่ไม่รอด”

เช่นเดียวกับ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่เชื่อว่าการจัดทำนโยบายของรัฐเกี่ยวกับการจำนำข้าว“มาจากทัศนคติคนเมือง ที่ว่าชาวนามีความเป็นอยู่ยากลำบาก และต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งข้าวส่วนใหญ่ที่ขายอยู่ตามท้องตลาดนั้นล้วนเป็นผลผลิตจากชาวนารวยทั้งสิ้น ดังนั้นแล้ว การขึ้นราคารับซื้อข้าวชาวนายากจนได้ประโยชน์น้อยมาก ควรที่จะปรับทัศนะตรงนี้”

“คนที่อยู่ในเมืองมักคิดว่าชาวนายากจน เพราะฉะนั้นต้องช่วยเหลือต้องสงเคราะห์ลูกเดียว แต่สิ่งที่ควรรู้คือ ไม่ใช่ชาวนาทั้งหมดที่ยากจน…ชาวนาส่วนใหญ่ยากจน แต่ข้าวส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากชาวนายากจน เพราะฉะนั้น การขึ้นราคาข้าวไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ชาวนาส่วนใหญ่” ศ.ดร.อัมมารกล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา

จำนำข้าวทุกเมล็ดชาวนาได้ประโยชน์ไม่เท่ากัน

ตามผลสำรวจข้อมูลชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดนั้น ภาพรวมของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่อยู่ในพื้นที่ชลประทานหรือมีแหล่งน้ำสำหรับเพาะปลูก สามารถทำการเพาะปลูกได้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง โดยมีรายได้เฉลี่ยจากการปลูกข้าวอยู่ที่ 375,570.15 บาท/ครัวเรือน/ปี ขณะที่ชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ยจากการปลูกข้าวต่ำกว่าชาวนาที่เข้าร่วมโครงการกว่า 50%

แสดงให้เห็นว่า สภาพพื้นที่และลักษณะการเพาะปลูกมีผลต่อการเข้าร่วมโครงการของชาวนา ซึ่งพื้นที่ที่สามารถปลูกข้าวได้มากกว่า 1 ครั้ง หรือพื้นที่นาปรังของประเทศ มักกระจุกตัวอยู่บริเวณภาคกลางและภาคเหนือ ซึ่งมีแหล่งน้ำสำหรับทำการเพาะปลูก

ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวที่มากที่สุดของประเทศซึ่งอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือกลับทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ต้องพึ่งพาน้ำตามฤดูกาล ทำให้มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการน้อยกว่าภาคอื่นๆ (ไม่นับรวมภาคใต้)

อย่างไรก็ตาม โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดก็ได้เอื้อประโยชน์ให้กับชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการด้วยเช่นกัน สืบเนื่องจากที่รัฐบาลตั้งราคารับซื้อข้าวในราคาที่สูง ทำให้แหล่งรับซื้ออื่นๆ ต้องปรับราคาตาม ชาวนานอกโครงการจึงขายข้าวได้ราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

เปรียบเทียบราคาขายข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ระหว่างปี 2550 ก่อนมีโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 6,493.74 และในปี 2555 ที่มีโครงการ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 10,103.67 บาท/ตัน โดยราคาเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,609.92 บาท/ตัน

จากปัจจัยด้านราคาที่เพิ่มขึ้น ทำให้โครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดมีชาวนาเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นจากปีการผลิตแรกถึง 47.52% ซึ่งชาวนาได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว 765,628–1,777,996 ราย

ชาวนาติดกับดักรับเงินสด “จำนำ-ประกันราคา”

ผลการสำรวจความพอใจของชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว จากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ชาวนาส่วนใหญ่ทั้งที่เข้าร่วมโครงการและไม่เข้าร่วมโครงการพอใจในโครงการดังกล่าว ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความพอใจของชาวนาคือรายได้จากการขายข้าว แม้การที่รัฐบาลจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาล่าช้าในรอบปีการผลิต 2556/2557 จะส่งผลให้ระดับความพอใจของชาวนาต่อโครงการลดลง แต่ชาวนายังคงต้องการโครงการรับจำนำข้าวเช่นเดิม

โดยคะแนนความพอใจเต็ม 5 คะแนน ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการมีความพอใจเฉลี่ย 4.01 คะแนน ขณะที่ชาวนานอกโครงการมีความพอใจเฉลี่ย 3.34 คะแนน โดยหลังรัฐบาลประสบปัญหาในการจ่ายเงินจำนำข้าวล่าช้า ระดับความพอใจของชาวนาต่อโครงการรับจำนำข้าวลดลงประมาณ 40% คะแนนความพอใจของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการเหลือเพียง 2.51 คะแนน ด้านชาวนานอกโครงการเหลือ 2.38 คะแนน

นอกจากนี้ เมื่อแบ่งแยกความพอใจต่อโครงการรับจำนำข้าวรายภาคแล้ว พบว่าชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศคือชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่เนื่องด้วยลักษณะการทำนาอาจเป็นผลให้ได้ประโยชน์จากโครงการน้อยกว่าในภาคอื่นๆ คะแนนความพอใจจึงน้อยที่สุดอยู่ที่ 3.69 คะแนน และภายหลังประสบปัญหาได้รับเงินล่าช้า ระดับความพอใจลดลงเหลือเพียง 2.29 คะแนน

ถัดมาคือภาคเหนือ คะแนนความพอใจของชาวนาเฉลี่ยอยู่ที่ 4.11 คะแนน ภาคกลางอยู่ที่ 4.17 คะแนน และภายหลังประสบปัญหาได้รับเงินล่าช้าคะแนนความพอใจเฉลี่ยลดลงเหลือ 2.76 และ 2.34 คะแนน ตามลำดับ

สำหรับโครงการประกันราคาข้าวนโยบายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ชาวนาเห็นว่าข้อดีของโครงการประกันราคาคือ เงินถึงมือเกษตรกรโดยตรงจำนวน ได้เงินเร็ว และทำให้ช่องทางทุจริตน้อยลง แต่โครงการดังกล่าวมีข้อเสียคือ ได้เงินน้อยจำนวน มีการจดทะเบียนแล้วไม่ได้ปลูกข้าวจริง และโรงสีกดราคา

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบความเห็นระหว่างโครงการรับจำนำข้าว เมื่อกำหนดให้ราคาข้าวของทั้ง 2 โครงการเท่ากันที่จำนวน 15,000 บาท/ตัน และโครงการประกันราคาข้าวแล้วสัดส่วนความพอใจของชาวนาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน โดยชาวนาในโครงการจำนำข้าวเลือกโครงการจำนำข้าว 33.52% เลือกโครงการประกันรายได้ 32.67% อีก 23.30% เลือกทั้ง 2 โครงการ ด้านชาวนานอกโครงการรับจำนำ เลือกโครงการประกันรายได้ 35.42% และเลือกโครงการจำนำ 27.08% อีก 29.86% ระบุว่าไม่มีประสบการณ์เนื่องจากไม่เคยเข้าร่วมโครงการใดมาก่อน

โดยเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ชาวนาตัดสินใจเลือกคือเหตุผลด้านราคา และผลตอบแทนที่จะได้รับจากโครงการดังกล่าว ชาวนาที่เลือกโครงการรับจำนำข้าวมีเหตุผลหลัก 3 ประการ คือ คิดว่าโครงการจำนำข้าวได้รายได้ดีกว่าโครงการประกัน เลือกเพราะโครงการจำนำได้เงินแน่นอน และชอบเป็นการส่วนตัว ด้านเหตุผลหลักของชาวนาที่เลือกโครงการประกันราคาข้าว 3 ประการ คือ โครงการประกันรายได้ได้เงินเร็วกว่า รายได้ดีกว่า และมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก

จากเหตุผลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผลประโยชน์และราคาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวนาต้องการโครงการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐ โดย รศ.ดร.นิพนธ์ ให้ความเห็นว่า สภาวะเช่นนี้ชาวนาไทยกำลัง “ติดกับดัก” ที่เห็นว่าหากรัฐบาลไม่ช่วยเหลือแล้วจะอยู่ไม่รอด

“ที่เราไปถามชาวนาส่วนใหญ่เขาเห็นด้วยว่ารัฐบาลควรจะดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวต่อไปอีก แม้ว่าจะไปถามในช่วงหลังจากที่มีปัญหาการชำระเงินแล้ว ชาวนาในโครงการ 61% ยังบอกว่าเอาแบบเดิม อีก 16% บอกว่าลดราคาลงหน่อย รวมกันก็ 70 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว ส่วนชาวนานอกโครงการรับจำนำ จำนวน 51% ก็ตอบว่าต้องการให้มีโครงการรับจำนำ ผมจึงเชื่อว่า การรับจำนำข้าวจะมีรอบที่ 3 เมื่อมีการเลือกตั้ง” รศ.ดร.นิพนธ์กล่าว(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

งานวิจัยชาวนาต้องการจำนำข้าว

จำนำข้าวตันละหมื่นห้า-หนี้ท่วมนา-เพิ่มปัญหาเหลื่อมล้ำ

ประโยชน์ทางตรงของโครงการจำนำข้าว คือ ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ประโยชน์จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ประโยชน์ทางอ้อมของโครงการจำนำข้าว คือ เกษตรกรที่ไม่เข้าร่วมโครงการจำนำข้าวก็ได้ราคาขายที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังที่กล่าวไปแล้ว

ในทางกลับกัน โครงการดังกล่าวก็สร้างผลกระทบให้แก่ชาวนาเช่นกัน ซึ่งได้เคยกล่าวบ้างแล้วในข่าว “จำนำข้าว สะเทือนท้องนา กระทบคลัง รัฐต้องจ่าย 9.7 แสนล้าน เป็นภาระสังคม 2.3 ล้านล้าน ได้ข้าวคุณภาพต่ำ เกิดวิกฤตภัยแล้ง โรงสีล้มละลาย” ว่าโครงการรับจำนำข้าวมีชาวนาเพียงส่วนน้อยที่เป็นชาวนารายใหญ่และชาวนาระดับกลางที่ได้รับประโยชน์ ทั้งยังเกิดการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (economics rent) แต่ผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวที่ตกแก่ชาวนายังมีมากไปกว่านั้น ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1. โครงการรับจำนำข้าวก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ จากข้อมูลศูนย์วิจัยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ตัวอย่างโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2555/2556 ชาวนารายเล็กจำนวน 56.60% ได้รับเงินเป็นมูลค่าเพียง 26.92% ของมูลค่าเงินทั้งหมด ในขณะที่ชาวนาขนาดกลางมีจำนวน 61.15% ได้รับเงินเป็นมูลค่ารวม 40.31% ของมูลค่าเงินทั้งหมด และชาวนารายใหญ่ที่มีจำนวนเพียง 3.09% กลับได้รับเงินสูงถึง 11.93% ของมูลค่าเงินทั้งหมด

2. เมื่อชาวนาสามารถขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น จึงเกิดการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ หรือผลตอบแทนส่วนเกินที่ควรจะได้รับในอัตราปกติ ซึ่งจากการแทรกแซงราคาของรัฐบาลชาวนาได้รับประโยชน์จากส่วนต่างนี้ไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 2.97 แสนล้านบาท แต่ผลตอบแทนดังกล่าวทำให้ชาวนาที่มีกำลังผลิตสูง หรือก็คือชาวนาขนาดกลางและขนาดใหญ่ แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม พยายามเพิ่มผลผลิตโดยใช้วิธีเพิ่มปุ๋ยหรือฉีดยา เพิ่มพื้นที่ปลูก ใช้เมล็ดพันธุ์เพิ่ม เพิ่มจำนวนรอบการเพาะปลูก ส่งผลให้เกิดการใช้น้ำเกินกว่าที่กรมชลประทานวางแผนไว้ เป็นผลให้ในปี 2558 เกษตรกรเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำ

3. เนื่องจากชาวนามีการเพาะปลูกเพิ่มขึ้น และสามารถขายข้าวได้ราคาดีขึ้น ผู้ให้เช่าที่ทำนาและผู้รับจ้างในกิจกรรมทำนาต่างๆ จึงปรับขึ้นราคาค่าเช่าและค่าจ้างในการทำนา โดยชาวนากว่า 40% ต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินเพิ่ม ขณะที่มีชาวนาประมาณ 30% ที่ต้องจ่ายค่าจ้างในกิจกรรมการทำนาต่างๆ เพิ่มขึ้น

4. เมื่อรัฐบาลประสบปัญหาทำให้การจ่ายเงินจำนำข้าวให้แก่ชาวนาเกิดความล่าช้า จากโครงการจำนำข้าวปีการผลิต นาปี 2556/57 มีชาวนากว่า 70% ที่ได้รับเงินล่าช้า บางพื้นที่ต้องรอเงินนานถึง 2-5 เดือน ทำให้เกษตรกรต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้ระหว่างรอการจ่ายเงิน มีทั้งที่กู้จากญาติพี่น้อง กู้จาก ธ.ก.ส. และกู้จากแหล่งเงินนอกระบบ ส่งผลให้ชาวนามีหนี้สินเพิ่มขึ้น

5. และเมื่อชาวนาได้รับเงินจากโครงการรับจำนำมา ชาวนากว่าครึ่งต้องนำเงินไปใช้หนี้ นอกจากการใช้สอยด้านอุปโภค/บริโภคแล้ว ชาวนาใช้จ่ายเงินไปกับการซ่อมแซมและตกแต่งบ้านจำนวน 38.14% และใช้เงินซื้อสินทรัพย์ถาวร เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวน 33.05% เครื่องจักรเพื่อทำนา 31.36% และมอเตอร์ไซค์ 26.27% ส่งผลให้ชาวนาประสบปัญหาในการผ่อนชำระเงินถึง 44.35%

6. โครงการช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นการสร้าง “มายาคติ” ให้ชาวนา และคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าชาวนายากจน และหากรัฐไม่ช่วยเหลือ จะไม่สามารถอยู่ได้