ThaiPublica > คนในข่าว > “สุพจน์ อาวาส” เอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์คนใหม่ ไม่หวั่นเก้าอี้อาถรรพ์ อาสาฟื้นฟูภายใน 3 เดือน

“สุพจน์ อาวาส” เอ็มดีเอสเอ็มอีแบงก์คนใหม่ ไม่หวั่นเก้าอี้อาถรรพ์ อาสาฟื้นฟูภายใน 3 เดือน

15 มกราคม 2015


นับจากวันที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมถูกยกระดับขึ้นเป็นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือเอสเอ็มอีแบงก์) 13 ปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งนี้มีกรรมการทั้งหมด 6 คน มีเพียง ดร.สำราญ ภูอนันตานนท์ คนเดียวที่แคล้วคลาดปลอดภัย ทำงานจนครบเกษียณ นอกนั้นถูกกระทรวงการคลังสั่งตั้ง “คณะกรรมการสอบทุจริต” กันถ้วนหน้า

“เอ็มดี” บางคนทำงานได้ไม่ถึง 6 เดือน ต้องหางานใหม่ เปิดสรรหาตัวเอ็มดีทีไรไม่มีใครกล้ามาสมัคร ต้องขยายเวลาหรือเปิดรอบ 2 เหตุใดนายสุพจน์ อาวาส ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสิน จึงหาญกล้าเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธพว.

นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
นายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

นายสุพจน์กล่าวว่า “ก่อนเข้ารับตำแหน่งที่ ธพว. มีคณะกรรมการ ธพว. บางคนตั้งคำถามลักษณะนี้ประมาณ 5 คำถาม ซึ่งเป็นคำถามโดนใจผมมาก คือ ยามที่กิจการธนาคารรุ่งเรือง ผมคงไม่ได้มาเป็นเอ็มดีที่นี่ เพราะคงจะมีคนที่หน้าตาดีกว่าผมมาทำแทน แต่สิ่งที่ผมภาคภูมิใจและตัดสินใจมาที่ ธพว. เพราะประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาเผชิญกับสภาพแบบนี้มาโดยตลอด พร้อมรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับผมและครอบครัว”

คำถามที่ 2 ที่นี่แบ่งเป็นกัน-เป็นก๊กเป็นเหล่า เอ็มดีบางคนอยู่ไม่ถึง 6 เดือน ก็ลาออก จะเอาอยู่หรือ ผมตอบอย่างมั่นใจว่า “เอาอยู่ ธพว. มีพนักงาน 1,600 คน แต่ออมสินมี 14,000 คน ผมยังอยู่ได้เลย”

คำถามที่ 3 ทำอย่างไรถึงจะทำให้พนักงานทุกคนร่วมแรง ร่วมใจ เดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน ประเด็นนี้คือสิ่งที่ผมตั้งใจมาทำงานที่นี่และกำลังทำอยู่ การทำงานต้องร่วมแรง ร่วมใจ เอื้ออาทร ใส่ใจทุกคนในทุกๆ มิติ เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนเข้าถึงได้ง่าย

มีแนวทางในการบริหารจัดการหนี้เสียและคดีความต่างๆ อย่างไรเป็นคำถามที่ 4 “วันนี้ผมค่อนข้างโชคดีกว่าเอ็มดีในอดีต บรรยากาศทางการเมืองและบริบทของประเทศตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ไม่เหมือนเดิม เพราะกลไกในการกำกับดูแลมีความเข้มแข็งมากขึ้น ผมไม่มีต้นทุน พร้อมเสียสละ ทำอะไรก็สง่างาม แต่ที่สำคัญ ผมมาทำงานที่นี่ไม่ได้คาดหวังว่าจะมาสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองและครอบครัว”

“ผู้ใหญ่กระทรวงการคลังและเพื่อนๆ ก็เตือนผมว่ามาทำงานที่นี่เสมือนอยู่บนกองเพลิง ถามว่ากลัวไหม ผมตอบว่าไม่กลัว เพราะเคยมี “ประสบการณ์ทำงาน” แบบนี้มาแล้วในทุกมิติ โดยเฉพาะงานในระดับเศรษฐกิจฐานรากหรืองานเกี่ยวกับมวลชน ผมเป็นคนเปิดกว้าง พร้อมรับฟังความคิดเห็นของพนักงานทุกคน ทุกช่องทาง ติดต่อสื่อสารกับผมได้เสมอ ตอนนี้ที่นี่เหมือนค่ายบางระจัน ต้องการความร่วมมือ ร่วมใจจากทุกฝ่าย การแบ่งเป็นก๊ก เป็นเหล่า ต้องถูกสลายโดยเทคโนโลยี” นายสุพจน์กล่าว

พร้อมกับเล่าว่า “ผมเคยถูกส่งไปช่วยงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คิดค้นผลิตภัณฑ์สินเชื่อบางประเภท ทีมงานที่มารับงานนี้ใช้เวลาศึกษา 2 เดือน แต่ไม่สำเร็จ กระทรวงการคลังส่งผมไปประชุมที่ ธปท. ลงมือทำแค่ 7 วัน ก็จบ ผมทำงานแบบตรงไปตรงมา ไม่ชอบไหว้ครู”

คำถามสุดท้ายที่กรรมการถามว่าอยากเห็น ธพว. เดินไปในทิศทางใด “ผมได้ตอบว่าสรรพสิ่งในโลกนี้มีทั้งสีดำ สีเทา และสีขาว ผมไม่อาจจะฝืนกฎของธรรมชาติได้ แต่จะพยายามเปลี่ยนสีดำให้เป็นสีเทา และกลายเป็นสีขาวในที่สุด เจตนารมณ์คือต้องการทำเอสเอ็มอีแบงก์ให้มีสีดำและสีเทาน้อยที่สุด แต่อย่าลืมว่าโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่เป็นสีขาว 100% แต่อย่างน้อยต้องอยู่ในระดับที่ทุกคนยอมรับได้ สิ่งที่คาดหวังคือ ต้องการทำให้เอสเอ็มอีแบงก์เป็นธนาคารเกรด A”

“ผมไม่ต้องการให้พนักงานทุกคนช่วยกันทำงานเพื่อทำให้ผมผ่านการประเมินจากกระทรวงการคลัง ช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ ผมต้องการให้พนักงานทุกคนช่วยกันทำงานฟื้นฟูกิจการของธนาคารจนผ่านระบบการประเมินของซูเปอร์บอร์ด สร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ธนาคารกลายเป็นองค์กรที่ดีมีคุณภาพในสายตาของกระทรวงการคลังและสาธารณชน” นายสุพจน์กล่าวทิ้งท้าย

“ซูเปอร์บอร์ด”ไล่บี้ ธพว.-เร่งดำเนินคดีคนทำแบงก์เจ๊ง

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ ธพว. มีมติให้ธนาคารเพิ่มทุนจาก 20,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวน 100 ล้านหุ้น โดยจะขายให้ผู้ถือหุ้นเดิม 72.52 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 27.58 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าตามบัญชี ณ 30 กันยายน 2557 เป็นจำนวนเงิน 2,000 ล้านบาท กรณีผู้ถือหุ้นรายใดไม่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ธนาคารจะขายหุ้นส่วนนั้นให้กระทรวงการคลัง คาดว่าธนาคารจะได้รับเงินเพิ่มทุน 2,000 ล้านบาท ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558

หลังจากการเพิ่มทุน กระทรวงคลังจะถือหุ้นในธนาคารคิดเป็นสัดส่วน 98.88% ธนาคารจะนำเงินเพิ่มทุนมารองรับการขยายสินเชื่อในปีนี้ และแบ่งเงินเพิ่มทุนส่วนหนึ่งจำนวน 500 ล้านบาท นำไปสมทบในกองทุนร่วมทุนในกิจการ SMEs (SMEs Private Equity Trust Fund) ของกระทรวงการคลังต่อไป

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ (ซ้าย)และนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธพว. แถลงข่าวผลการดำเนินงานปี 2557 และแผนงานปี 2558 ณ ห้องประชุม ชั้น 11 สำนักงานใหญ่ ธพว.
นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ (ซ้าย) และนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธพว. แถลงข่าวผลการดำเนินงานปี 2557 และแผนงานปี 2558 ณ ห้องประชุม ชั้น 11 สำนักงานใหญ่ ธพว.

ผลการดำเนินงานของธนาคาร ณ 31 ธันวาคม 2557 มีกำไรสุทธิ 334 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีแรกขาดทุนสุทธิ 41 ล้านบาท ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญเกิดจาก

1. ธนาคารสามารถรักษาคุณภาพลูกหนี้ไม่ให้ตกชั้นเป็น NPLs ในขณะเดียวกันก็สามารถปรับปรุงโครงสร้างลูกหนี้เดิมที่เป็น NPLs ให้กลับมาเป็นลูกหนี้ปกติ ซึ่งลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างเหล่านี้จ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR

2. ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น โดยลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราเฉลี่ย 8.5% ลูกหนี้ทั้ง 2 ประเภทนี้ทำให้ธนาคารมีดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีภาระในการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สูญลดลง

3. ธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานให้อยู่ในระดับ 1.9% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลงจาก 2.1% ของปี 2556 ขณะเดียวกัน ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของธนาคารไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานะของธนาคารเริ่มมีเสถียรภาพ ส่งผลให้สามารถระดมเงินฝากรายใหญ่เพื่อมาปล่อยสินเชื่อตามพันธกิจได้เพียงพอ ดังนั้น ธนาคารจึงมีกำไรสุทธิ 334 ล้านบาท

ส่วนยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ลดลงจาก 35,167 ล้านบาท (คิดเป็น 39.92% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นมิถุนายน 2557 เหลือ 31,960 ล้านบาท (คิดเป็น 37.61% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นธันวาคม 2557 หรือลดลง 3,207 ล้านบาท โดยยอดเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 84,986 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 93,475 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารได้ปรับแนวทางในการขยายสินเชื่อมาเน้น SMEs รายย่อย วงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ทำให้ลูกหนี้ SMEs ขนาดกลางหลายรายรีไฟแนนซ์ไปอยู่ธนาคารพาณิชย์เอกชน ประกอบกับมีลูกค้าชำระเงินต้นในระหว่างปี แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะจำนวนสินเชื่อที่เบิกจ่ายในปี 2557 ธนาคารได้ปล่อยกู้ 9,872 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ 7,163 ราย ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้วงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท จำนวน 6,841 ราย เป็นยอดสินเชื่อ 7,140 ล้านบาท

สำหรับแนวทางการดำเนินงานปี 2558 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้แจ้งมติของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” วันที่ 17 ธันวาคม 2557 ให้ธนาคารรับทราบดังนี้

1. ธนาคารต้องปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาทเท่านั้น และสินเชื่อใหม่จะต้องเป็น NPLs ไม่เกิน 5%

2. ให้ธนาคารเร่งดำเนินการบริหารหนี้ NPLs ที่มีอยู่โดยเร็ว

3. ให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของธนาคารทุกไตรมาส โดยยึดหลักในเรื่องการปล่อยสินเชื่อ การบริหาร NPLs และประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่าย

4. ให้ธนาคารเร่งรัดตรวจสอบฟ้องร้องดำเนินคดีสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารจะยึดถือหลักการตามที่ซูเปอร์บอร์ดมอบหมาย และพยายามดำเนินการปล่อยกู้ SMEs รายย่อย การร่วมลงทุน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ SMEs และการพัฒนาศักยภาพของ SMEs ในเขตภูมิภาค ซึ่งเป็นพันธกิจหลักของธนาคารต่อไป รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างองค์กร โยกย้ายพนักงานจากหน่วยงานสนับสนุน (back office) ให้มาอยู่ในหน่วยงานด้านที่เกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อ การดูแลรักษาคุณภาพสินเชื่อ และการให้บริการลูกค้า (front office) เพื่อรองรับการปฏิบัติตามพันธกิจ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2558

เอกสารแถลงข่าวผลประกอบการ ธพว. 2557