ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > บอร์ดสปสช.ใช้เงินเหมาจ่ายรายหัวของประชาชนผิดประเภท ผลประโยชน์ทับซ้อน สวมหมวกหลายใบ

บอร์ดสปสช.ใช้เงินเหมาจ่ายรายหัวของประชาชนผิดประเภท ผลประโยชน์ทับซ้อน สวมหมวกหลายใบ

29 มกราคม 2015


ตามที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) ได้มีหนังสือลงวันที่ 9 มกราคม 2558 เรื่องขอทราบความคืบหน้าการพิจารณาการปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยอ้างถึงหนังสือ คตร. ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ที่ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่รัฐมนตรีสาธารณสุขยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งทางนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอข้อมูลและรายงานคตร.ไปเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 และล่าสุดทีมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพได้เข้าพบคตร.เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 แต่ไม่ได้ชี้แจงตามที่มีข้อร้องเรียนตามหนังสือลงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 แต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่าหน่วยงานคตร.แต่งตั้งโดยไม่มีกฏหมายรองรับ

ต่อเรื่องนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุดถึงข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอต่อคตร.ตามหนังสือของ คตร. วันที่ 31 ตุลาคม 2557 ได้สรุปว่าการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความเสี่ยงในการใช้อำนาจไม่ชอบธรรมตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งผลให้คุณภาพบริการที่ประชาชนได้รับลดลง (งบเหมาจ่ายรายหัว) และความเสี่ยงด้านการบริหารงบประมาณที่ไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ดำเนินงานและกลไกการกำกับดูแล

นอกจากนี้ได้ระบุว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงการดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ขาดธรรมาภิบาลทำให้เกิดความเสียหายต่อการใช้เงินของรัฐจำนวนมาก ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริงนี้ได้ทำเพิ่มเติมจากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เคยตรวจสอบและประเมินผล สปสช. ในปีงบประมาณ 2554 ว่ามีการใช้เงินเหมาจ่ายรายหัวของประชาชน ซึ่งเป็นค่าบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 ไปจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ ทำให้หน่วยบริการได้รับเงินงบประมาณลดลง ได้แก่

1. งบบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในรวม 95 ล้านบาท แม้ สปสช. จะชี้แจงต่อ สตง. ในเรื่องนี้แล้ว แต่หลังจากนั้น สปสช. ยังมีการนำเงินเหมาจ่ายรายหัวเพื่อให้บริการผู้ป่วยไปให้หน่วยงานอื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากงบบริการผู้ป่วยนอก จำนวน 329 ล้านบาท ในปี 2556 ให้กับ 51 หน่วยงาน

2. นำเงินจากงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค 39 ล้านบาท แม้ สปสช. ได้ชี้แจงต่อ สตง. แล้ว หลังจากนั้นยังมีการนำเงินบริการผู้ป่วยไปจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 967 ล้านบาท ในปี 2556 และปี 2557 จำนวน 1,249 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อมีการทักท้วงการบริหารที่ปฏิบัตินอกเหนือกฎหมายกำหนดจาก สตง. คณะกรรมการ สปสช. มีการออกระเบียบปรับให้ชอบด้วยระเบียบภายหลังในลักษณะล้างความผิดเดิม ซึ่งกฎหมายความผิดที่ปฏิบัติเสร็จแล้วไม่สามารถยกเลิกเพิกถอนได้ อาทิ

1. เงินสวัสดิการจากการจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมในปี 2551-2552 ที่ สตง. ตรวจพบ จำนวน 165 ล้านบาท สปสช. ได้นำไปใช้เพื่อสวัสดิการที่ไม่เหมาะสม โดยเบิกเพื่อศึกษาดูงานต่างประเทศ การจ่ายเพื่อช่วยเหลือแก่ผู้ทำคุณประโยชน์แก่ สปสช. โดย ณ 31 ธันวาคม 2552 มีการเบิกเงินไป 90 ล้านบาท ปรากฏว่าหลังจาก สตง. ทักท้วง สปสช. ได้ผ่านร่างระเบียบไปยังคณะกรรมการ สปสช. ในปี 2557 ให้นำเงินส่วนนี้เป็นกองทุนสวัสดิการมารองรับให้ปฏิบัติโดยชอบภายหลัง ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องนำผลตอบแทนจากองทุนนำกลับเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพเท่านั้น

2. การนำเงินค่าบริการทางการแพทย์ ซึ่งต้องจ่ายให้หน่วยบริการเท่านั้น ไม่สามารถจ่ายให้หน่วยอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ แต่ต่อมา สปสช. ได้เสนอให้มีประกาศการบริหารหลักประกันสุขภาพขาลงให้งบในส่วนนี้อยู่ในหมวดงบสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข ของกองทุนย่อยบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

นอกจากนี้ยังมีประเด็นความไม่ชอบธรรมและมีผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาทิ กรรมการมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 100 โดยมีการตั้งกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเป็นกรรมการและอนุกรรมการชุดต่างๆ ประกอบด้วย กลุ่มวิชาการของหน่วยงานกลุ่ม ส. ต่างๆ กลุ่มแพทย์ชนบท และองค์กรภาคเอกชนจำนวนหนึ่ง ทำหน้าที่พิจารณาเสนอผลประโยชน์ของกลุ่มคณะตนเองเข้าคณะกรรมการพิจารณา รวมทั้งเสนอโครงการรับเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยซึ่งเป็นของประชาชนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้ในกิจกรรมของมูลนิธิ ชมรม หรือบุคคล โดยอ้างประโยชน์ประชาชน และบางกิจกรรมใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เช่น เป็นค่าจัดประชุม ค่าจ้างวิทยากร ค่าจ้างพัฒนาโปรแกรม เป็นต้น

นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการสปสช.ในฐานะตัวแทนผู้สูงอายุ
นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการสปสช.ในฐานะตัวแทนผู้สูงอายุ

สำหรับกรรมการสปสช.บางคนที่ได้รับเงินจากสปสช.อาทิ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ ในฐานะกรรมการสปสช. ในฐานะตัวแทนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ นอกจากนี้นพ.วิชัยยังนั่งในตำแหน่ง ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะพึ่งพิงของสปสช.,กรรมการในอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ สปสช.,กรรมการในอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สปสช.,อดีตกรรมการสปสช.ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิด้านแพทย์ทางเลือก,ประธานมูลนิธิแพทย์ชนบท,รองประธานกรรมการคนที่ 2 ของคณะกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และกรรมการในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนเขต 13 จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามูลนิธิแพทย์ชนบทได้รับเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดังนี้ ดูรายละเอียดทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีนพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา กรรมการสปสช. ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านแพทย์แผนไทย ยังมีตำแหน่งเป็นประธานอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์ฯสปสช.,ประธานอนุกรรมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค,กรรมการในอนุกรรมการบริหารยุทธศาสตร์ สปสช.,กรรมการในอนุกรรมการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะพึ่งพิง,เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยี่และนโยบายด้านสุขภาพ(HITAP),กรรมการประเมินผลกองทุนสสส.ด้านสร้างเสริมสุขภาพ และกรรมการในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนเขต 1 จากการตรวจสอบพบว่า HITAP รับเงินจากสปสช.ดังรายละเอียดตามเอกสาร

ขณะเดียวกันยังมีกรรมการจากกลุ่มองค์กรเอกชน อาทิ นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการสปสช.ในฐานะตัวแทนองค์กรเอกชน ด้านผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ,นางสุนทรี เซ่งกิ่ง กรรมการสปสช.ในฐานะผู้แทนองค์กรเอกชนด้านแรงงาน เป็นต้น ดูเอกสารหน้า4-5

ขณะเดียวกัน ยังมีประเด็นบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการ สปสช. ตามมาตรา 18 และ 26 ไม่ปรากฏข้อความใดให้อำนาจคณะกรรมการในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ใด และหน้าที่ดังกล่าวได้ถูกกำหนดไว้แล้วตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินอำนาจหน้าที่และอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการจัดซื้อยา วัสดุการแพทย์ หรือวัสดุใดๆ ของหน่วยบริการ ผ่านองค์การเภสัชกรรมแล้วจัดส่งให้หน่วยบริการ รวมทั้งยังกำหนดคุณลักษณะหรือสเปก หรือบริษัทที่จำหน่ายโดยผ่านทางโปรแกรมที่ให้หน่วยบริการบันทึกเบิก จ่าย ในลักษณะนี้อ้างอิงตามกฎหมายมหาชน กรณีใดไม่กำหนดให้กระทำ หน่วยงานรัฐไม่สามารถกระทำได้ กรณีนี้ได้เคยมีผลการตรวจสอบโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษไว้แล้ว

อ่านเพิ่มเติม อดีตประธานสปสช. ระบุบอร์ดสปสช. มีอำนาจล้น – เลขาสปสช. อนุมัติเงินได้ครั้งละ 1 พันล้าน มากกว่านายกรัฐมนตรีและรมต.