ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “พล.อ. ประยุทธ์” หารือจีน ออกแบบลงทุนร่วมรถไฟไทย-จีน สั่งสภาพัฒน์ฯ เดินหน้า 7 ยุทธศาสตร์โรดแมป 1 ปี ยันไม่โยกย้ายนายพลนอกฤดู-ไม่ปรับ ครม.

“พล.อ. ประยุทธ์” หารือจีน ออกแบบลงทุนร่วมรถไฟไทย-จีน สั่งสภาพัฒน์ฯ เดินหน้า 7 ยุทธศาสตร์โรดแมป 1 ปี ยันไม่โยกย้ายนายพลนอกฤดู-ไม่ปรับ ครม.

6 มกราคม 2015


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 ถึงกรณีที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) จากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) โดยบอกว่าในเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจว่าเกิดจากประเทศไทยได้รับการยกระดับจากประเทศที่มีรายได้น้อยขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง โดยขณะนี้ก็ได้มีการสั่งการหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก้ปัญหาโดยต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความเข้มแข็งของเศรษฐกิจทั้งการผลิต การสร้างนวัตกรรม การเพิ่มการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทยแข่งขันได้และทำการค้าในระยะยาวได้มากขึ้น นอกจากนี้ ในเรื่องของสินค้าเกษตร ประเทศไทยยังถือว่ามีต้นทุนสูงกว่าเพื่อนบ้าน เนื่องจากปัจจุบันมีการจ้างแรงงานในการทำภาคเกษตร ซึ่งค่าแรงของไทยก็สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องดูว่าจะลดต้นทุนอย่างไรเพื่อให้แข่งขันได้

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/060115_tro/060115tro-53047.html
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/060115_tro/060115tro-53047.html

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงรูปแบบการลงทุนและการเงินของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วปานกลางระหว่างไทย-จีน ในเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-กรุงเทพ ว่ายังไม่มีการตกลงร่วมกัน ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการวงเงินลงทุนของแต่ละฝ่าย แต่ได้หารือกันในชั้นต้นว่าจะตั้งคณะกรรมการมาศึกษาใน 3 เรื่อง ได้แก่ การลงทุน การสำรวจ ก่อสร้าง และการบริหาร ว่าจะดำเนินการอย่างไร จะลงทุนร่วมหรือจะให้เป็นระบบสัมปทานหรือการปันผล แต่เบื้องต้นเชื่อว่าจะเป็นการลงทุนร่วม โดยจีนอาจจะลงทุนมากกว่าเพราะไทยไม่มีเงินลงทุนมากนัก

นายกรัฐมนตรียืนยันว่าประเทศไทยจะไม่เสียประโยชน์ ส่วนนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ ก็ยังมีอีกหลายเส้นทางที่จะมาร่วมลงทุนกับไทยได้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น วันนี้ที่มีการเริ่มในเส้นทางดังกล่าวเพราะเป็นแผนในอาเซียนที่กำหนดไว้เดิมอยู่แล้วจึงเกิดขึ้นได้ และจะมีการเชื่อมโยงกันต่อไป ไม่ใช่เฉพาะรถไฟความเร็วปานกลางเท่านั้น แต่ยับมีรถไฟทางคู่ รถไฟทางเดิม รถไฟฟ้าอีก 10 สาย ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการไว้แล้ว มีทั้งระดับนโยบาย ระดับบริหารและระดับผู้ปฏิบัติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานอนุกรรมการในส่วนนี้

สำหรับเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเสนอกฎหมายเข้าคณะรัฐมนตรี 8 ฉบับ ในเรื่องของการจัดตั้งกระทรวง และการปรับรูปแบบกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ICT) ที่กำลังอยู่ในกระบวนการผ่านร่างพระราชบัญญัติ โดยต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว เรื่องดังกล่าวได้มีการหารือกันมาตั้งแต่ยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรให้สามารถฟื้นฟูยกระดับรัฐวิสาหกิจ คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT Telecom Public Company Limited) ได้ด้วย เพื่อให้เกิดการยอมรับและสร้างรายได้ให้แก่รัฐได้มากขึ้น เพื่อจะมาชดเชยสิ่งที่รัฐต้องใช้ไปในส่วนของการช่วยเหลือประชาชนด้านต่างๆ

“ผมคิดว่ากระทรวงนี้ต้องทำให้ได้โดยเร็วในปีนี้ เพราะมีผลเกี่ยวกับเรื่อง 4G เรื่องคลื่นความถี่ต่างๆ ก็ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการให้เกิดประโยชน์แก่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง นอกจากประโยชน์ของประเทศชาติ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงประเด็นการเร่งรัดประเด็นยุทธศาสตร์ประเทศ โดยได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปหารูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะงานที่จะสามารถแล้วเสร็จหรือวางรากฐานได้ภายใน 1 ปี โดยมี 7 เรื่องที่สำคัญ ประกอบด้วย เศรษฐกิจดิจิทัล ระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคของประเทศ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ การบริหารจัดการน้ำ การประมง การจัดการที่ทำกิน การพัฒนาพื้นที่เลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

“ผมได้ลำดับความเร่งด่วนของงานรัฐบาลไว้แล้วว่า ใน 3 เดือนต่อจากนี้ ต้องการให้เรื่องใดเสร็จสิ้นโดยเร็วเพื่อให้เกิดการปฏิรูปภายใน 1 ปี และต้องระบุให้ได้ว่าในระยะยาวที่จะต้องมีการส่งต่องาน การปรับโครงสร้างต่างๆ คืออะไร” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า วันนี้การปฏิรูปจะเกิดจาก 3 ฝ่ายด้วยกัน คือ จากรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และข้าราชการ ประชาชนที่รัฐเปิดรับฟังความคิดเห็น และสุดท้ายคือสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยทั้งหมดจะต้องนำมาจัดกลุ่มใหม่ผ่านกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ อย่าไปให้ความสำคัญเฉพาะส่วนของกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่างเดียว เพราะเป็นเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดินในระยะต่อไป แต่อยากให้ทุกคนสนใจว่า วันนี้รัฐบาลออกกฎหมายอะไรมาบ้าง และกฎหมายเหล่านั้นมีผลต่อสังคมโดยรวมอย่างไร

ยืนยันยังไม่จัดแถวกองทัพ-ไม่ปรับคณะรัฐมนตรี

สำหรับกรณีการปรับคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรียืนยันว่า ไม่มีการสั่งให้ใครลาออกทั้งสิ้น และได้กล่าวถึง พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ท. ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ว่าทั้งคู่นั้นทำงานหนักเนื่องจากต้องรับผิดชอบงาน 2 ด้านพร้อมกัน ทั้งงานด้านการเมือง และงานในส่วนของราชการทหาร

ด้านการปรับย้ายแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพใหม่ ตนมีอำนาจเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งปกติแล้วการปรับย้ายจะไม่ทำในช่วงกลางปี เว้นแต่มีความผิด โดยฤดูกาลการปรับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งในเหล่าทัพจะมีในช่วงเดือนเมษายน ที่เป็นการปรับเปลี่ยนหมุนเวียน หรือปรับตำแหน่งเพื่อรอการเกษียณ ส่วนในช่วงเดือนตุลาคมจะเป็นการปรับย้ายหลัก

“ตอนนี้ยังไม่มีการปรับย้ายใดๆ ทั้งสิ้น ถือว่าปรับไปแล้ว เมษายน 2558 ก็เป็นการปรับทดแทน ปรับเลื่อนตำแหน่งนิดหน่อย กองทัพยังไม่มีปรับในช่วงนี้ และการปรับนั้นไม่ใช่การปรับเพราะไม่มั่นใจอำนาจ ผมถือว่าทุกคนทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง หากจะอยู่ไม่ได้ก็เป็นเพราะพี่น้องประชาชนไม่ยอมรับ…วันนี้ไม่มีคำว่าน้องชาย มีแต่ข้าราชการกองทัพบก ผมไม่ได้อยู่ในกองทัพบก ผมก็ให้สิทธิ์ผู้บัญชาการกองทัพบกเป็นผู้ตัดสิน”