ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสนโยบายการเงิน > กนง. คงดอกเบี้ย 2% มติ 5:2 เสียง – เผยเสี่ยงเงินเฟ้อหลุดกรอบ ย้ำไม่ห่วงเงินฝืด

กนง. คงดอกเบี้ย 2% มติ 5:2 เสียง – เผยเสี่ยงเงินเฟ้อหลุดกรอบ ย้ำไม่ห่วงเงินฝืด

28 มกราคม 2015


DSC_9581
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมว่าคณะกรรมการมีมติ 5:2 เสียง เหมือนกับการประชุมครั้งก่อนหน้า คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% เป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน โดยให้เหตุผลว่านโยบายการเงินอยู่ในเกณฑ์ผ่อนปรนเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่กรรมการอีกสองคนที่ออกเสียงให้ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ให้เหตุผลสนับสนุนว่านโยบายการเงินในปัจจุบันควรมีส่วนช่วยในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติม เนื่องจากมีความเสี่ยงของเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมากขึ้น รวมทั้งแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายของรัฐยังต้องรอความชัดเจนอีกระยะเวลาหนึ่ง ขณะเดียวกันยังไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำมากไปอีกระยะหนึ่ง

นายเมธีกล่าวต่อว่า การคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเป็นระยะเวลานานจะไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน แม้ตลาดการเงินโลกจะมีความผันผวนมากขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งมาชดเชยอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดเล็กน้อย ขณะที่ระยะต่อไปจะได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ลดลงมาก ทำให้ประชาชนมีเงินรายได้เหลือมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลงและอาจจะหลุดกรอบล่างที่ ธปท. ตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 1% แต่ยังไม่ถือว่าเป็นภาวะเงินฝืด เพราะมีสาเหตุจากราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นหลัก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังคงขยายตัว รวมไปถึงราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ยังไม่ได้ปรับลดลง สะท้อนจากเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังทรงตัว ทั้งนี้ ในอนาคต ธปท. คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อน่าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ตามแนวโน้มราคาน้ำมันเมื่อตลาดโลกมีการปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่

“การบริโภคได้ประโยชน์จากราคาน้ำพอสมควร อาจจะไม่เต็มที่ เพราะราคาสินค้าอื่นๆ ไม่ลด แต่ว่าทุกคนที่ใช้น้ำมันรู้สึกว่ามีเงินเหลือ เอาเงินเหลือจากส่วนราคาน้ำมันไปซื้อสินค้าได้ ส่วนประมาณการเงินเฟ้อต้องดูข้างหน้าอีก 12 เดือน ซึ่งมันเริ่มปรับขึ้นแล้ว คณะกรรมการก็ให้พยายามอธิบายต่อสาธารณะว่าไม่ใช่เงินฝืดนะ เงินฝืดต้องอุปสงค์ไปด้วย จนคนมองว่าต่อไปราคาจะปรับลงอีก ตอนนี้อุปสงค์มันขึ้นด้วยซ้ำ เงินมันเหลือ” นายเมธีกล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของสำนักงานดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และข้อมูลราคาน้ำมันของสำนักงานข้อมูลพลังงานสหรัฐอเมริกา (U.S. Energy Information Administration) ย้อนหลังจนถึงเดือนมกราคม 2557 พบว่าครึ่งปีแรกก่อนเกิดเหตุการณ์ราคาน้ำมันลดลง ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทรงตัวเฉลี่ยที่ 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 2.2% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 1.44% ต่อมาในช่วงครึ่งปีหลังราคาน้ำมันปรับลดลงมาเหลือเฉลี่ย 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยเฉพาะเดือนสุดท้ายที่ราคาปรับลดเหลือเพียง 62.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งรวมราคาพลังงานและอาหารที่ปรับตัวลงตามราคาน้ำมันเหลือเพียงเฉลี่ย 1.58% โดยในเดือนสุดท้ายเหลือเพียง 0.6% อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาน้ำมันและอาหารยังปรับเพิ่มเล็กน้อยที่เฉลี่ย 1.72% โดยในเดือนสุดท้ายปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.69%(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ราคาน้ำมันดิบ

ขณะที่ความเป็นห่วงของ พล.อ. ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายจากมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณ หรือคิวอีของสหภาพยุโรป นายเมธีกล่าวว่ามาตรการดังกล่าวมีความแตกต่างจากการดำเนินนโยบายคิวอีของสหรัฐอเมริกา ทำให้เงินทุนไม่ได้ไหลเข้ามายังภูมิภาคนี้มากนัก จึงยังไม่กังวลเป็นพิเศษ เพราะจากข้อมูลล่าสุดของ ธปท. พบว่าประเทศไทยมีเงินทุนไหลออกสุทธิเล็กน้อย ขณะเดียวกัน ธปท. ยังมีเครื่องมือที่สามารถรับมือกับปัญหาได้อีกหลายชนิดตามขั้นตอนและความเหมาะสม และคิดว่ายังไม่ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลัก เนื่องจากคิดว่าปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้มีผลโดยตรงต่อการเคลื่อนไหวของเงินทุน ทั้งนี้ ธปท. รวมถึงตลาดการเงินไทยจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด

นายเมธีกล่าวว่า เมื่อพิจารณาดัชนีค่าเงินบาทเทียบกับภูมิภาคในปัจจุบัน พบว่าแข็งค่าขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่ ธปท. คาดการณ์และไม่น่าจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกในระดับพื้นฐาน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของการส่งออกจะขึ้นอยู่กับความต้องการสินค้าไทยจากประเทศคู่ค้า ทำให้การแข็งค่าเงินไม่มีผลมากนักในแง่การขยายตัวของการส่งออก อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทน่าจะส่งผลเรื่องตัวเลขรายได้ที่ต้องแลกเปลี่ยนจากเงินสกุลต่างประเทศเป็นสกุลไทยมากกว่า