ThaiPublica > คอลัมน์ > American Gangster มาเฟีย รัฐ และคอร์รัปชัน

American Gangster มาเฟีย รัฐ และคอร์รัปชัน

28 มกราคม 2015


Hesse004

วิชาคอร์รัปชันศึกษาและทุจริตวิทยา (corruption studies) กล่าวถึงกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่งที่พัวพันกับเรื่องคอร์รัปชันอยู่เสมอ กลุ่มผลประโยชน์ที่ว่าคือ องค์กรอาชญากรรม (organized crime) หรือที่เรานิยมเรียกว่า มาเฟีย (mafia) หรือ แก็งสเตอร์ (gangster)

มาเฟียมีอยู่ทุกประเทศ แฝงตัวอยู่ในทุกสังคม มาเฟียจัดระเบียบองค์กรไว้ชัดเจนแต่ไม่เป็นที่เปิดเผยให้คนนอกรู้ พวกเขามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยใช้ช่องทางติดสินบนเพื่อแลกกับ “การคุ้มครอง” ทางกฎหมายจากกลุ่มผู้รักษากฎหมาย ตั้งแต่ตำรวจไปยันผู้พิพากษา

นอกจากนี้ มาเฟียยังเกี่ยวข้องกับนักการเมืองทุกระดับ ทั้งระดับชาติไล่ลงมาถึงระดับท้องถิ่น หลายเขตเลือกตั้งเป็นพื้นที่ที่มีมาเฟียเข้ามาดูแล ดังนั้น มาเฟียจึงกลายเป็นหัวคะแนนที่อยู่เบื้องหลังชัยชนะทางการเมืองอีกเช่นกัน

หลายครั้งมาเฟียขยับตัวเองขึ้นมาเล่นการเมือง จนถึงขั้นเตรียมตัวชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เช่น กรณีของพาโบล เอสโคบาร์ (Pablo Escobar) อดีตราชาโคเคนชาวโคลอมเบียที่เคยประกาศลงสมัครชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีโคลอมเบีย เขาเป็นผู้นำเมดิลลิน คาร์เทล (Medillin Cartel) หนึ่งในแก๊งค้าโคเคนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้มีกองกำลังเป็นของตัวเอง และพร้อมจะเปิดสงครามทุกรูปแบบกับใครก็ตามที่มาขัดผลประโยชน์ของพวกเขา

โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่า “เสน่ห์” อย่างหนึ่งของการศึกษาเรื่องมาเฟียคือ การทำความเข้าใจอีกด้านหนึ่งของมนุษย์และสังคมนั้น ซึ่งด้านที่ว่าคือด้านตรงข้ามกับคุณงามความดีหรือการบังคับใช้กฎหมาย

น่าสนใจว่า พื้นฐานมาเฟียระดับโลกแต่ละกลุ่ม ไม่ได้มาจากการเป็น “คนชั่วช้าโดยสันดาน” หากแต่มีปัจจัยต่างๆ ที่กดดันให้พวกเขาเลือกหลบอยู่ใต้ดิน และต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมของกฎหมายในแบบฉบับของพวกเขา รวมถึงปกป้องตัวเองและพวกพ้องโดยอาศัย “กลไกอุปถัมภ์” (Patronage) ซึ่งทำให้มาเฟียเป็นกลุ่มที่มีระดับมากกว่าโจรกระจอกหรือขโมยทั่วไป

มาเฟียไม่เคยเชื่อในเรื่องความยุติธรรม หากแต่เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมเป็นสินค้าที่ “ซื้อได้” เสมอ ขอให้มีแรงจูงใจมากพอที่จะทำให้คนในกระบวนการนั้นหันหลังกลับมาเป็นพรรคพวกและช่วยคุ้มครองตนเองในทางกฎหมาย

แต่หากพวกเขาไม่สามารถจูงใจเจ้าหน้าที่รัฐผู้ตงฉินได้แล้ว มาเฟียจะเลือกใช้วิธี “กำจัด” โดยไม่คำนึงถึงคำว่า คุณธรรม จริยธรรม หรือกฎหมายแต่อย่างใด

…เพราะพวกเขาคือคนนอกกฎหมายและไม่เคยเชื่อในกฎหมาย

Little Caesar ภาพยนตร์แนว Gangster ของ Mervyn Leroy ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นหนังของมาเฟียเรื่องแรก ที่มาภาพ : http://api.ning.com/files/
Little Caesar ภาพยนตร์แนว Gangster ของเมอรฺ์วิน ลีรอย (Mervyn Leroy) ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นหนังของมาเฟียเรื่องแรกที่ถ่ายทอดชีวิตมาเฟียใน Chicago ยุคต้นศตวรรษที่ 20 ที่มาภาพ: http://api.ning.com/files/

อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจชีวิตมาเฟียได้อย่างออก “อรรถรส” นั้น ผู้เขียนคิดว่า ภาพยนตร์ตระกูลมาเฟีย (organized crime film) คือช่องทางหนึ่งในการศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของมาเฟียได้เป็นอย่างดี

เรื่องราวมาเฟียเริ่มถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 30 เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Little Caesar (1931) ของเมอร์วิน ลีรอย (Mervyn Leroy) ที่ถูกยก “ขึ้นหิ้ง” ให้เป็นหนังมาเฟียเรื่องแรกที่ถ่ายทอดชีวิตมาเฟียใน Chicago ยุคต้นศตวรรษที่ 20

แต่สำหรับภาพยนตร์แนวแก็งสเตอร์ที่ถูกยกย่องให้เป็น “อมตะ” นิรันดร์กาล เห็นจะหนีไม่พ้น The Godfather ของฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola)

The Godfather เป็นบทประพันธ์อันสุดแสนจะวิเศษของมาริโอ ปูโซ (Mario Puzo) และเมื่อได้คอปโปลาหยิบมาถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์มด้วยแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงกลายเป็นทั้งตำนานและสัญลักษณ์ของมาเฟียอเมริกันในที่สุด

The Godfather มาเฟียโรแมนติค หนังมาเฟียอเมริกันที่ดีที่สุดแห่งยุค ที่มาภาพ : http://www.cinemablend.com/images/news_img/33227/the_godfather_33227.jpg
The Godfather มาเฟียโรแมนติก หนังมาเฟียอเมริกันที่ดีที่สุดแห่งยุค
ที่มาภาพ: http://www.cinemablend.com/images/news_img/33227/the_godfather_33227.jpg

หากมองมาเฟียในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์แล้ว มาเฟียจัดเป็นหน่วยผลิตหรือ firm ผิดกฎหมายที่พร้อมจะผลิตและขายสินค้าทุกอย่างที่กฎหมายห้ามกระทำ เช่น ค้าของเถื่อน ยาเสพติด เป็นเจ้ามือหวยเถื่อน เป็นนายหน้าฮั้วประมูลโครงการรัฐ ค้ามนุษย์ รับจ้างฆ่าคน เป็นต้น

มาเฟียมีรูปแบบรวมกลุ่มที่ชัดเจน จัดลำดับชั้นการปกครองรวมทั้งแบ่งผลประโยชน์ที่ทุกคนยอมรับได้ สร้างเครือข่ายและเลี้ยงคนให้เป็นพวกพ้องโดยใช้ทั้ง “พระเดชและพระคุณ” มาเฟียระดับโลกมักจ้างที่ปรึกษากฎหมายเพื่อป้องกันตนเองโดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมายในการฟอกเงิน ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน ช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มเมื่อถูกจับได้ รวมทั้งใช้กำลังจัดการปัญหาอย่างเด็ดขาด

ต้นแบบการศึกษาชีวิตมาเฟียในโลกนี้เริ่มที่สหรัฐอเมริกา หรือที่นักวิชาการด้านองค์กรอาชญากรรมเรียกคนกลุ่มนี้ว่าเป็น American Gangster

American Gangster เป็นภาพสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการจัดการปัญหาอาชญกรรมของรัฐบาลอเมริกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพราะคนของรัฐเองล้วนมีส่วนพัวพันโยงใยกับคนกลุ่มนี้ เพียงแต่พวกเขาใช้วิธีการ “ดีล” กันหลังฉาก

แรกเริ่มเดิมที ธุรกิจผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ “การค้าเหล้าเถื่อน” เนื่องจากทศวรรษที่ 20-30 เหล้าเถื่อนกลายเป็น “สินค้าอคุณธรรม” (demerit goods) ที่รัฐบาลไม่ต้องการเห็นชาวอเมริกันลุ่มหลงกับการดื่มสุราจนต้องออกกฎหมายห้ามจำหน่ายสุรา (prohibition era) นอกจากเหล้าแล้ว การ “แทงหวยใต้ดิน” ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่สร้างมาเฟียขึ้นมาเช่นกัน

กล่าวกันว่า ชาวอิตาเลียนที่มาจากเกาะซิซิลีนั้น ได้สร้างตำนาน “มาเฟีย” ของจริง โดยเริ่มจากชื่อของ ชาลส์ ลักกี ลูซิอาโน (Charles Lucky Luciano) ซึ่งเป็นโคตรมาเฟียที่ได้ดิบได้ดีในนิวยอร์ก

ลักกี ลูซิอาโน ได้รับยกย่องให้เป็น “บิดาของมาเฟียยุคใหม่” เขาเป็นคนแรกที่รวมตระกูลมาเฟียในนิวยอร์กแล้วตั้งเป็น “สภามาเฟีย” หรือ commission

ลูซิอาโนสร้างองค์กรอาชญากรรมที่ทรงอิทธิพลขึ้นในอเมริกาจนนิตยสารระดับโลกอย่างไทม์ (TIME) ยกให้เป็นหนึ่งในยี่สิบบุคคลที่มีอิทธิพล (ด้านลบ) แห่งศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว

…ชื่อของลูซิอาโนตีคู่มากับมาเฟียหนุ่มเลือดร้อนเชื้อสายเยอรมันยิวนามว่า ดัตช์ ชูตซ์ (Dutch Schultz)

Public Enemies หรือเหล่าศัตรูของชาติที่มาในรูปของ Gangster ที่ทางการสหรัฐหมายหัวเอาไว้ในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ที่มาภาพ : https://40.media.tumblr.com/e8c1ad2d197b62eebe81181d7aa34925/tumblr_myjswfP7OY1s5djgpo1_500.jpg
Public Enemies หรือเหล่าศัตรูของชาติที่มาในรูปของ Gangster ที่ทางการสหรัฐฯ หมายหัวเอาไว้ในยุคต้นศตวรรษที่ 20
ที่มาภาพ: https://40.media.tumblr.com/e8c1ad2d197b62eebe81181d7aa34925/tumblr_myjswfP7OY1s5djgpo1_500.jpg

แก๊งค์ของชูตซ์เติบโตในช่วงทศวรรษที่ 20 (หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งสงบลง) พวกเขามีชีวิตอยู่ยาวพอที่จะได้เห็น The Great Depression หรือวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในทศวรรษที่ 30

อย่างไรก็ตาม American Gangster ตัวแสบที่สุดในประวัติศาสตร์วายร้ายของอเมริกันชน คือ อัล คาโปน (Al Capone)

อัล คาโปน หรือ “ไอ้หน้าบาก” (scarface) เป็นมาเฟียผู้ทรงอิทธิพลในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ถิ่นฐานทำมาหากินของอัล คาโปน อยู่ที่ชิคาโก ธุรกิจผิดกฎหมายตั้งแต่ค้าเหล้าเถื่อน ทำหวยใต้ดิน ไปจนกระทั่งเปิดซ่องนั้น คุณพี่แกเหมาหมด

อย่างไรก็ตาม อัล คาโปน ก็มาจนมุมติดคุกด้วยข้อหาง่ายๆ คือ “หนีภาษี”

อัล คาโปน เป็นหัวหน้ามาเฟียที่ได้รับความสนใจจากวงการบันเทิงเป็นพิเศษ เรื่องราวชีวิตของเขาจึงปรากฏอยู่ทั้งในละครทีวี ภาพยนตร์ นิยายอาชญากรรม ไม่เว้นแม้กระทั่งการ์ตูน

ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ อัล คาโปน ได้สมจริงสมจังที่สุด คือ The Untouchables (1987) ของ ไบรอัน เดอ พัลมา (Brian De Palma) โดยคนที่มารับบทเป็น อัล คาโปน คือ โรเบิร์ค เดอ นิโร (Robert De Niro) ดาราเจ้าบทบาทที่มักได้รับบทนำในหนังแนวแก็งสเตอร์เสมอ

The Untouchables ของ Brain De Palma หนังที่เล่าเรื่องการจับ Al Capone ทีมาภาพ : http://www.bakbulizle.com/wp-content/uploads/2015/01/The-Untouchables.jpg
The Untouchables ของ Brain De Palma หนังที่เล่าเรื่องการจับ Al Capone
ที่มาภาพ: http://www.bakbulizle.com/wp-content/uploads/2015/01/The-Untouchables.jpg

ตำนานมาเฟียคนสุดท้ายก่อนยุค 70 คือ เอลส์เวิร์ท บัมพี จอห์นสัน (Ellslworth Bumpy Johnson) ซึ่งเป็นเจ้าพ่อมาเฟียผิวสีผู้สร้างตำนานมาเฟียผิวดำคนแรกในนิวยอร์ก

บัมพี จอห์นสัน ถูกตั้งให้เป็นเจ้าพ่อ Harlem โดยเขาได้รับการยอมรับจากคนผิวสีด้วยกันว่าเป็น “พ่อพระ” ที่คอยคุ้มครองพวกเขาไม่ให้โดนรังแก นอกจากนี้กลุ่มห้าตระกูล (Five Families) ที่เป็นมาเฟียอิตาเลียนยังให้การยอมรับเขาในฐานะเจ้าพ่อ นักเลงตัวจริงเสียงจริง

Ellslworth Bumpy Johnson มาเฟียผิวสี ผู้สร้างตำนานเจ้าพ่อ Harlem	ที่มาภาพ : http://www.museumsyndicate.com/images/6/50087.jpg
Ellslworth Bumpy Johnson มาเฟียผิวสี ผู้สร้างตำนานเจ้าพ่อ Harlem ที่มาภาพ: http://www.museumsyndicate.com/images/6/50087.jpg

ชีวิตของ บัมพี จอห์นสัน ถูกถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์มอีกเช่นกันในภาพยนตร์เรื่อง Hoodlum (1997) ผลงานการกำกับของ บิลล์ ดุก (Bill Duke) โดยได้ ลอเรนซ์ ฟิชเบิร์น (Laurence Fishburne) มารับบทเป็นเจ้าพ่อมาเฟียผิวสี

ถ้าสังเกตให้ดี เราจะพบว่า “ยุคสมัย” มาเฟียเริ่มต้นในช่วงเศรษฐกิจสหรัฐฯ รุ่งเรือง มาเฟียรุ่นเก๋าล้วนเป็น “กลุ่มอาชญากร” ที่เติบโตมาพร้อมกับความรุ่งเรืองของมหานครนิวยอร์กและชิคาโก และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ คนพวกนี้มีชีวิตยากลำบากในช่วง The Great Depression หรือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในสหรัฐฯ ช่วงทศวรรษที่ 30

วายร้ายเหล่านี้หากินอยู่กับ “ข้อห้ามทางกฎหมาย” โดยเฉพาะการค้าของผิดกฎหมาย (smuggling or trafficking) ซึ่งในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์แล้ว การค้าสินค้าผิดกฎหมายมี “แรงจูงใจ” เรื่อง “กำไร” มากกว่าการค้าของถูกกฎหมาย เข้าตามกฎที่ว่า High risk High Return (ยิ่งเสี่ยงมากผลตอบแทนยิ่งสูง) นั่นเอง

เพียงแต่ว่า องค์กรอาชญากรรมมีต้นทุนที่พวกเขาต้องจ่าย เพราะนอกจากความเสี่ยงในการจัดหาหรือผลิตสินค้าผิดกฎหมายแล้ว พวกเขายังต้อง “จ่ายสินบน” ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับชั้นเพื่อแลกกับการ “คุ้มครอง” ไม่ให้ถูกจับได้ หรือถ้าถูกจับได้ก็จะหาวิธีต่อสู้ทุกทางเพื่อให้ตนเองหลุดออกมาประกอบอาชีพใต้ดินได้ใหม่อีกครั้ง