ThaiPublica > คอลัมน์ > ตรวจสอบความคืบหน้า “ซูเปอร์บอร์ด”

ตรวจสอบความคืบหน้า “ซูเปอร์บอร์ด”

15 มกราคม 2015


บรรยง พงษ์พานิช

เมื่อหกเดือนก่อน ตอนที่ผมตัดสินใจรับเข้าร่วมทำงานใน “คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ” (คนร.) หรือที่คนชอบเรียกว่า “ซูเปอร์บอร์ด” (ซึ่งผมไม่ชอบชื่อนี้เลยเพราะมันไม่ได้มี Super Power ใดๆ และไม่มีใครเป็น Super Man เลย) ผมเคยตั้งเป้าหมายถึงสิ่งที่จะได้ทำ

หกเดือนผ่านไป…หลายอย่างช้ากว่าความคาดหวัง หลายอย่างเดินไปได้ดีตามคาดหมาย บางอย่างเกินคาดหมายด้วยซ้ำ เช่น การวางหลักบรรษัทภิบาลต่างๆ และการเตรียมการที่จะปฏิรูปโครงสร้างครั้งใหญ่

ส่วนการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาการเงินมากๆ นั้น หลายแห่งเดินหน้าได้ดี หลายแห่งยังล่าช้า แต่อย่างน้อยเราสามารถเข้าใจรากฐานของปัญหามากขึ้น และตัดสินใจไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาลวกๆ แบบที่เคยทำๆ กันมา คือ ยัดเงินเข้าไป ลงทุนเพิ่ม ซุกปัญหาไว้ใต้พรม ผลักปัญหาไปวันหน้าให้เป็นภาระของคนรุ่นหลัง

หลายๆ ท่านคงยังไม่พอใจกับผลงานที่ออกมา…แต่อยากเรียนว่า ปัญหาที่มีนั้นใหญ่มาก และหมักหมมสะสมมาหลายสิบปี จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่จะสะสางได้ในเร็ววัน หลายเรื่องเป็นเรื่องเปราะบาง การแก้ปัญหาหนีไม่พ้นที่จะมีผลกระทบทั้งในวงกว้างและวงแคบ เช่น มีรัฐวิสาหกิจสองแห่งที่มีพนักงานเกินกว่าที่ควรรวมกันถึง 20,000 คน การจะลดจะเลิกจ้างทันทีย่อมเป็นเรื่องยากมากและมีต้นทุนสูง

เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดให้ได้ภายใน 18 เดือน (ซึ่งผมคิดว่า คนร. ควรมีกำหนดทำงานเท่านี้ ถ้าเกินกว่านี้มาก ผมคงกราบลา) ดังนั้น หลักสำคัญที่สุดคือ จะวางโครงสร้าง วางกลไก กฎกติกาอย่างไร ที่จะให้เกิดกระบวนการและองค์กรที่มีประสิทธิภาพที่จะดำเนินการอย่างถาวรยั่งยืนและโปร่งใส ซึ่งองค์กรที่คาดหวังจะให้มีขึ้นนี้ จะเป็นผู้ดำเนินการแก้ปัญหาที่เหลือต่อไป กับจะคอยกำกับดูแลให้รัฐวิสาหกิจทั้งปวงสร้างแต่ประโยชน์ ไม่สร้างปัญหาขึ้นมาอีก

ผมอยากเรียนว่า งานส่วนนี้มีความคืบหน้าไปตามสมควร ความคิดที่ว่าควรสร้างองค์กรรวมศูนย์ เป็นที่ยอมรับตกผลึกของทุกฝ่าย และกำลังเริ่มดำเนินการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จ ผมเชื่อว่านี่คือหัวใจสำคัญของการปฏิรูปครั้งนี้เลยทีเดียว

ทำไมผมถึงคิดเช่นนั้น รัฐวิสาหกิจนั้น นอกจากจะมีความสำคัญเพราะขนาดที่ใหญ่โต มีส่วนในเศรษฐกิจมาก ยังประกอบกิจการที่เป็นพื้นฐานสำคัญของระบบ ถ้ากิจการพื้นฐานไม่มีคุณภาพ ไม่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนสูง และมีบริการไม่เพียงพอแลัว ย่อมฉุดรั้งศักยภาพโดยรวมของประเทศไปทั้งหมดด้วย ที่ประเทศไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจตำ่แทบจะที่สุดในหมู่ Emerging Market ทั้งหลายนั้น ผมมั่นใจว่า ส่วนสำคัญอย่างหนึ่งมาจากรัฐวิสาหกิจนี่แหละครับ

รัฐวิสาหกิจไทยโดยรวมนั้น เติบโตกว่าสามเท่าตัวในสิบปี จากมีรายได้ 1.5 ล้านล้านบาท ในปี 2546 มาเป็น 5.1 ล้านล้านบาท ในปี 2556 ขนาดสินทรัพย์ก็โตจาก 4.8 มาเป็น 11.8 ล้านล้านบาท กินส่วนแบ่งในระบบมากขึ้นทุกที ซึ่งพอผมเข้ามาทำงานแล้วก็เข้าใจเลยว่า ในอดีตนั้น ทุกคนที่เกี่ยวข้องย่อมอยากเห็นแต่การเติบโต เพราะการขยาย การลงทุนเพิ่ม ย่อมหมายถึงวงเงินจัดซื้อจัดจ้างที่เพิ่มขึ้น คอมมิสชัน ส่วนแบ่งมิชอบย่อมเบ่งบาน ซัพพลายเออร์ขายของได้มากขึ้น เอเย่นต์ร่ำรวย ผู้บริหารได้ส่วนแบ่งค่าหัวคิวมากขึ้น ข้าราชการตามกระทรวงที่ควบคุมได้เซ็นชื่อมากขึ้น (ทุกลายเซ็นย่อมมีราคา) นักการเมือง (ที่ชั่ว) ย่อมไม่ต้องพูดถึง มีโครงการใหม่แต่ละที ต้องสั่งซื้อ สั่งขยายตู้เสื้อผ้ากันทุกที ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ภาระความฉิบหายที่อาจมีในอนาคตย่อมไม่ได้รับความสนใจไยดี ถ้าสื่อไหนสะเออะอยากแฉ ก็ยื่นค่าโฆษณา ค่าจัดอีเวนต์ให้เป็นการปิดปากเสีย เป็นอย่างนี้ตลอดมา มีปัญหาแทนที่จะหดตัวกลับขยายตัว ผมไม่แปลกใจเลยครับที่รัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา 7 แห่ง เสนอแผนเหมือนๆ กันหมด คือ ขอเงินไปลงทุนเพิ่ม …ก็เคยทำกันมาแบบนี้นี่ครับ

ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1408839
ที่มาภาพ : http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=1408839

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพ บมจ.ทศท. (องค์การโทรศัพท์เดิม) มีพนักงานรวม Outsourse 22,000 คน ต้องแข่งขันกับเอกชน (AIS มีพนักงาน 10,500 คน แต่มีรายได้มากกว่า 6 เท่าตัว) ทศท. มีผลการดำเนินงานขาดทุนมาหลายปีแล้ว (ถ้าไม่นับเงินได้เปล่าค่าแบ่งให้เช่า Monopoly…ที่เขาเรียกว่าสัมปทาน) เมื่อสี่ปีที่แล้วขอลงทุนพัฒนา 3G ล่วงหน้าก่อนคู่แข่งสองปีโดยไม่ต้องจ่ายค่าประมูลเหมือนเขา ลงไป 20,000 ล้านบาท ตอนนี้เอกชนทำได้แล้ว (เริ่มหลังสองปี) วันนี้มีผู้ใช้ 3G อยู่ 82 ล้านเลขหมาย เป็นของ ทศท. แค่ 500,000ราย ที่เหลือเป็นของเอกชน 3 ราย ตอนนี้คาดว่าจะขาดทุนปีละ 12,000 ล้าน แผนแก้ไขที่ขอมาคือ ขอลงทุนทำ 4G โดยขอสงวนคลื่น 900 MHz ไว้ฟรีๆ …ไหวไหมครับ แผนแบบนี้ (ถ้าเมื่อก่อนคงได้รับอนุมัติไปแล้ว …ผมได้ยินว่าตอนอนุมัติ 3G คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พยายามทัดทานแต่เอาไม่อยู่ ไม่งั้นรัฐบาลผสมแตก ไม่ทราบจริงเท็จอย่างไร)

ผมเชื่อว่า ถ้าไม่มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปล่อยให้บานไปอย่างนั้นเรื่อยๆ ประกอบกับภาระหนี้สาธารณะซ่อนเร้นจากประชานิยมไร้คุณภาพที่รั่วไหลบานเบอะ (ตอนนี้เรามีภาระกว่าล้านล้านบาทที่ซ่อนเร้นเอาไว้) รวมกับความเสียหายจากการคอร์รัปชันอื่นๆ เดินไปไม่เกินสิบปี เราน่าจะเกิดวิกฤติหนี้รัฐเหมือนกรีซ และพวก PIIGS ในยุโรปทั้งหลาย

ถ้าการปฏิวัตินี้จะมีประโยชน์บ้างก็ต้องปฏิรูปสามเรื่องนี้ให้ได้ (ไม่ได้หมายความว่าผมเชียร์ปฏิวัตินะครับ เพราะผมก็ยังเชื่อว่าโทษของมันมากกว่า …แต่ดันทำแล้วนี่ครับ)

ความจริงแล้ว เป้าหมายของการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจนั้นมีอยู่แค่ 3 เรื่อง คือ ให้ทำแต่สิ่งที่ควรทำ ทำอย่างมีประสิทธิภาพมีคุณภาพ และทำอย่างโปร่งใสไม่มีโกงกิน ฟังดูง่ายๆ แต่จะทำให้เกิด แถมหวังจะให้ยั่งยืนไปจนถึงยุคเลือกตั้งได้ มันแสนยากเย็นจริงๆ

หกเดือนผ่านไป ถึงจะไม่ได้ดังใจไปทุกอย่าง งานแสนยากแถมมีอุปสรรคมากมาย แต่ผมคิดว่าความคืบหน้าน่าพอใจมาก ทุกคนที่เกี่ยวข้องตั้งใจทุ่มเท ข้าราชการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทำงานหนักอาทิตย์ละ 7 วันต่อเนื่อง สร้างความประทับใจให้ผมไม่น้อย (จนเกือบคิดว่า รัฐที่แสนดีแสนเก่งก็อาจจะมีได้ในโลกนี้)

ถึงวันนี้ นาทีนี้ ผมยังคิดว่าตัวเองตัดสินใจถูก ที่ร่วมลงเรือทำงานนี้ครับ

เนื่องจากเป็นการทบทวนตรวจสอบ เลยขอเอาบทความที่เขียนไว้หกเดือนที่แล้วตอนรับตำแหน่งมาโพสต์อีกทีด้วยนะครับ อ่านรายละเอียดบทความ “เราอาจไม่เก่งพอ ไม่ยิ่งใหญ่พอ ที่จะเปลี่ยนโลกทั้งใบ …แต่เราทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้”

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanichวันที่ 15 มกราคม 2558