ThaiPublica > คอลัมน์ > อนุบาลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

อนุบาลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

19 ธันวาคม 2014


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ: https://farm4.staticflickr.com/3209/2908834853_2d4116edf9_b_d.jpg
ที่มาภาพ: https://farm4.staticflickr.com/3209/2908834853_2d4116edf9_b_d.jpg

เราควรลงทุนกับการศึกษาในระดับอนุบาลแค่ไหน นี่คือหนึ่งในคำถามคาใจคุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่หลายคู่ที่จะต้องเผชิญหน้ากับโลกที่มีการแข่งขันสูงบวกกับค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกและค่าเล่าเรียนที่ดูเหมือนจะสูงขึ้นทุกวี่ทุกวัน ควรจะหาอนุบาลใกล้บ้านหรือว่าควรจะลงทุนขับรถไปไกลหน่อยเพื่อแลกกับคุณภาพครูที่ดีกว่าและอัตราส่วนนักเรียนต่อครูที่น้อยลง คำถามเดียวกันเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในใจของผู้บริหารประเทศเหมือนกันว่าการเอาเงินประเทศไปลงทุนในการศึกษาระดับปฐมวัยมันคุ้มค่าแค่ไหนเมื่อเทียบกับการลงทุนในด้านอื่น คุ้มค่าแค่ไหนที่จะบังคับให้อนุบาลหรือโรงเรียนประถมต่างๆ ลดจำนวนนักเรียนต่อครูหนึ่งคนลงและยอมเสียเงินจ้างครูเพิ่มมากขึ้น

การที่คำถามเหล่านี้ตอบได้ยากเหลือเกินในอดีตนั้นเป็นเพราะว่าเราไม่สามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้ในวัยเด็กกับผลลัพธ์เมื่อตอนที่เด็กๆ เหล่านี้โตขึ้นได้อย่างชัดเจนพอ อีกทั้งยังแยกแยะลำบากว่าผลลัพธ์ที่ดีขึ้นตอนที่เด็กโตเป็นผู้ใหญ่แล้วนั้นเป็นผลมาจากคุณภาพของโรงเรียนอนุบาลหรือเป็นผลมาจากฐานะและความพยายามของพ่อแม่ที่จะต้องทำทุกสิ่งให้เอาลูกไปเข้าโรงเรียนที่ดีที่สุดให้ได้

โชคยังดีที่โลกนี้มีกลุ่มนักวิจัยอัจฉริยะที่นำทีมโดย Raj Chetty นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มที่จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดตอนอายุแค่ 23 พวกเขาผลิตงานวิจัยคุณภาพที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดในรอบสิบปีที่ผ่านมา งานวิจัยในหัวข้อ “How Does Your Kindergarten Classroom Affect Your Earnings? Evidence from Project Star” สามารถตอบคำถามสำคัญๆ หลายคำถามได้พร้อมๆ กันในงานวิจัยเดียว พร้อมกับยังชี้ให้เห็นถึงผลระยะยาวของการศึกษาที่ไปไกลกว่าแค่คะแนนสอบเมื่อเด็กๆ เหล่านี้โตขึ้นไปทำงานและมีครอบครัว

ล็อตเตอรี่ชี้ชะตา

ที่มาภาพ: https://farm1.staticflickr.com/28/39449485_e2fdeb48e1_z_d.jpg?zz=1
ที่มาภาพ: https://farm1.staticflickr.com/28/39449485_e2fdeb48e1_z_d.jpg?zz=1

เมื่อปี ค.ศ. 1985 ถึง 1989 เด็กอนุบาลกว่าหนึ่งหมื่นคนจากโรงเรียนกว่า 79 แห่ง ในรัฐเทนเนสซี ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เข้าร่วมโครงการการทดลองที่ชื่อว่า “Project Star” โดยโครงการนี้ใช้ล็อตเตอรี่สุ่มเลือกนักเรียนและครูเข้าสู่ห้องเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่อครูต่างกัน กลุ่มหนึ่งมีนักเรียน 22 คนต่อห้อง อีกกลุ่มมีนักเรียน 15 คนต่อห้อง

เนื่องจากการที่โครงการนี้สุ่มให้นักเรียนและครูเข้าสู่ห้องเรียนแต่ละประเภทอย่างแรนดอม (random) ผลลัพธ์ที่วัดได้หลังจากการสุ่มจะเป็นผลลัพธ์เพียวๆ ที่ปราศจากอิทธิพลของความสามารถเด็กที่วัดไม่ได้หรือฐานะของครอบครัว พูดง่ายๆ ก็คือเป็นผลลัพธ์ที่มากจากการ “จำลอง” นโยบายลดหรือเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อครูได้อย่างแท้จริงนั่นเอง เพราะเหตุนี้จึงมีงานวิจัยผุดเกิดขึ้นมาจำนวนมากหลังจากที่ Project Star สิ้นสุดไป ที่ต่างก็พบว่าห้องเรียนเล็กๆ กับคุณภาพของครูนั้นมีผลดีต่อคะแนนสอบอย่างเห็นได้ชัด

แต่ปัญหาคือก่อนปี ค.ศ. 2011 นั้นยังไม่มีงานวิจัยไหนเลยที่ตอบได้ว่าผลของลักษณะและคุณภาพห้องเรียนกับคุณภาพครูนั้นจะมีผลต่ออะไรอีกบ้างนอกจากคะแนนสอบ เพราะจริงๆ แล้วเราไม่ได้ต้องการผลิตเด็กให้ออกมาฝนข้อสอบเก่ง เราต้องการผลิตเขาออกมาเป็นผู้ใหญ่คุณภาพ

Raj Chetty และทีมนักวิจัยตอบคำถามนี้โดยการเชื่อมข้อมูลของเด็กๆ หมื่นกว่าคนใน Project Star เมื่อปี ค.ศ. 1985 ถึง 1989 เข้ากับข้อมูลแบบฟอร์มภาษีในปี ค.ศ. 1996 ถึง 2008 เมื่อเด็กๆ เหล่านี้เติบใหญ่เข้าสู่วัยทำงานและต้องเริ่มจ่ายภาษีเงินได้ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าทีมวิจัยนี้คุยกับรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างไรจึงได้ข้อมูลภาษีมาแต่ต้องยอมรับว่าข้อมูลภาษีระดับรายคนในสหรัฐฯ นั้นมีมูลค่าอันมหาศาลเพราะว่าแบบฟอร์มภาษีนั้นสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับ

1. รายได้ต่อปี
2. คุณภาพมหาวิทยาลัยที่จบ
3. จบมหาวิทยาลัยล่าช้าหรือไม่
4. มีบ้านตอนอายุเท่าไหร่
5. แต่งงานเมื่ออายุเท่าไหร่ เคยหย่าหรือไม่
6. เสียชีวิตก่อนปี ค.ศ. 2010 หรือไม่
7. ฐานะและข้อมูลมากมายของผู้ปกครองของเด็กใน Project Star

แค่นี้ผู้อ่านก็คงจะพอเห็นภาพกันแล้วว่าการมีข้อมูลวัยผู้ใหญ่รายบุคคลที่ยอดเยี่ยมขนาดนี้สามารถที่จะทำให้เราศึกษาผลของการสุ่มเด็กและครูเข้าห้องเรียนบางประเภทในวัยเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนั้น ฟอร์มข้อมูลภาษีเงินได้ที่ผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องยื่นนั้นยังทำให้นักวิจัยสามารถเช็คว่าไม่มีการลำเอียงในผลลัพธ์ที่ได้เพราะว่าหาเด็กบางคนไม่เจอหรือเด็กบางคนไม่มาสอบ ในข้อมูลภาษีตอนโตนี้ทีมนักวิจัยเจอเด็กๆ ที่เคยอยู่ใน Project Star แทบจะทุกคน อีกทั้งการที่มีข้อมูลลึกซึ้งเกี่ยวกับผู้ปกครองนั้นยังทำให้นักวิจัยสามารถเช็คซ้ำอีกทีว่าล็อตเตอรี่ที่เคยสุ่มไปเมื่อยี่สิบปีที่แล้วมันแรนดอมจริงๆ หรือไม่ (ฐานะและลักษณะของครอบครัวในกลุ่ม control group กับกลุ่ม experimental group ไม่ควรจะต่างกันเกินไป)

ผลวิจัยน่าคิด

ที่มาภาพ:  http://pixabay.com/en/grow-blossom-time-lapse-sequence-73353/
ที่มาภาพ: http://pixabay.com/en/grow-blossom-time-lapse-sequence-73353/

1. อย่าดูแต่คะแนน – ผลดีของห้องเรียนขนาดเล็กและครูที่มีคุณภาพดีต่อคะแนนสอบนั้นจะค่อยๆ จางหายไปเมื่อเด็กๆ เริ่มเข้าสู่ ม.ต้น แต่กลับมามีผลอย่างเห็นได้ชัดต่อผลลัพธ์ในวัยผู้ใหญ่

2. รายได้ตอนโตดีกว่า – การเพิ่มคุณภาพของห้องเรียน (วัดด้วยคะแนนเฉลี่ยของเพื่อนร่วมห้อง) ขึ้น 1 standard deviation จะเพิ่มรายได้ตอนอายุ 27 ขึ้น 9.6% ดูเหมือนน้อย แต่เมื่อรวมเด็กๆ จำนวนเป็นพันๆ คนตัวเลขนี้จะแปลเป็นเงินมูลค่าจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

3. ห้องเรียนเล็กดีกว่า – การลดจำนวนนักเรียนต่อครูหนึ่งคนลง 33% จะเพิ่มรายได้ต่อนักเรียนหนึ่งคนประมาณ 9,460 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

4. คุณภาพครูเกี่ยว – การเพิ่มคุณภาพของครูขึ้น 1 standard deviation จะสามารถเพิ่มรายได้ของห้องเรียนที่มีนักเรียน 20 คน ได้ประมาณปีละ 107,000 ถึง 214,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ

5. ห้องเรียนเล็กดีกว่า (อีกแล้ว) – การได้เรียนในห้องเรียนเล็กนั้นทำให้เด็กๆ โตขึ้นแล้วได้รับ “ผลลัพธ์ชีวิตที่ดีกว่า” โดยรวม เช่น มีเงินใน 401K (เงินส่วนนี้จะถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือนก่อนหักภาษี) มากกว่า มีโอกาสมีบ้านอยู่ มีโอกาสแต่งงาน และอยู่อาศัยในย่านที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

มองไปข้างหน้า

ที่มาภาพ:   http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/03/Exam.jpg
ที่มาภาพ: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/03/Exam.jpg

งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ในระยะยาวของการศึกษาตั้งแต่ในวัยอนุบาล นอกจากนั้นงานวิจัยชิ้นนี้ยังทำให้เราเริ่มฉุกคิดได้ว่าคะแนนไม่ใช่ทุกอย่างและอาจจะไม่ใช่มาตรฐานที่ดีที่สุดในการวัดว่าอะไรเวิร์กไม่เวิร์กในการศึกษา

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เขียนคิดว่าคะแนนสอบยังเป็นมาตรวัดที่ขาดไม่ได้ แต่หากเรามัวแต่ประเมินความสำเร็จของนโยบายการศึกษาด้วยคะแนนสอบอย่างเดียว การที่ผลต่อคะแนนสอบมักหายไปตอนเด็กๆ ขึ้น ม.ต้นนั้นอาจจะทำให้เราด่วนสรุปว่านโยบายนั้นไม่ได้เรื่อง ทั้งที่จริงๆ แล้วผลของนโยบายนั้นอาจจะค่อยมาโผล่ขึ้นมาตอนที่เด็กๆ เหล่านี้เข้าสู่วัยทำงานก็เป็นได้ เพราะที่จริงแล้วเป้าหมายของการศึกษาคือการทำให้ชีวิตและสังคมก้าวหน้า ไม่ใช่แค่คะแนนไม่ใช่หรือ

ส่วนผลดีจากการเรียนในห้องที่มีจำนวนนักเรียนต่อครูน้อยและผลลัพธ์ต่อคะแนนสอบที่หายๆ ไปเมื่อเด็กขึ้น ม.ต้นนั้น มีการสันนิษฐานว่าอาจจะมาจากการพัฒนา non-cognitive skills ในช่วงอนุบาลที่ไม่สามารถวัดได้ง่ายด้วยข้อสอบ อีกทั้งยังมีการประเมินในงานวิจัยนี้ว่าผลจาก non-cognitive skills เหล่านี้อาจมีส่วนช่วยอธิบายรายได้ที่มากขึ้นในวัยผู้ใหญ่มากกว่าผลจาก cognitive skills ที่ข้อสอบวัดได้อีกด้วย

ผู้เขียนคิดว่าความน่าเชื่อถือของงานวิจัยนี้อยู่ในระดับที่สูง แต่ความตรงภายนอก (external validity) อาจจะไม่มากพอที่คนไทยจะสามารถเอามาอ้างอิงเพื่อใช้กับกรณีของประเทศเรา เพราะว่าเด็กๆ ใน Project Star พวกนี้โตขึ้นมาในรัฐเทนเนสซีซึ่งไม่น่าจะมีความคล้ายคลึงกับเด็กๆ ในเมืองไทยเท่าไรนัก ทำให้เทียบกันลำบาก ดูอย่างเกาหลีใต้เป็นตัวอย่าง จำนวนนักเรียนต่อครูที่นั่นสูงเหลือเกิน แต่ล่าสุดก็ยังสามารถผลิตเด็กเก่งๆ ออกมาได้ชนะเด็กๆ (ด้านการสอบ) จากอีกหลายประเทศที่เน้นจ้างครูเพิ่มเพื่อลดขนาดห้องเรียน เพราะฉะนั้น หากเราสุ่มสี่สุ่มห้าลดขนาดห้องเรียนโดยยังไม่มั่นใจว่าจะเวิร์กหรือเปล่า อาจจะเป็นการเปลืองเงินประเทศไปเปล่าๆ ก็เป็นได้

แม้ว่าเราจะรู้อะไรเกี่ยวกับการศึกษามากขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก แต่ยังเหลืออีกหลายคำถามที่เรายังตอบไม่ได้ เช่น non-cognitive skills นั้นควรจะเป็นมาตราวัดชิ้นใหม่หรือไม่ ครูคุณภาพควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร ควรจะให้โบนัสครูหรือลงโทษครูตามผลงานหรือไม่ อีกทั้งยังเหลืออีกหลายสถานที่ที่ไม่ยังเคยมีการทดลองแบบ Project Star ทั้งนี้ ผู้เขียนทราบดีว่าการจะทำการทดลองขนาดใหญ่อย่างนี้อีกทีในยุคสมัยนี้คงเป็นอะไรที่ทำได้ลำบากมากเพราะว่าไม่น่าจะมีพ่อแม่ที่ไหนในโลกที่มีการแข่งขันสูงขนาดนี้ที่จะยอมให้ลูกตัวเองโดนกำหนดชะตากรรมโดยล็อตเตอรี่

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนหวังว่าอย่างน้อยบทความนี้จะสามารถชี้ให้เห็นถึงคุณค่าของการแก้ปัญหาการศึกษาจากมุมมองเชิงวิทยาศาสตร์และคุณค่าของข้อมูลเชิงลึกระดับรายคนอย่างเช่นข้อมูลภาษีเงินได้ (จะดีมากถ้ามีคนไทยยื่นภาษีกันมากกว่านี้…) และบอกเป็นนัยๆ ว่าเราน่าจะให้โอกาสในการได้คุณภาพการศึกษาที่ดีตั้งแต่เล็กอย่างเท่าเทียมกันมากกว่านี้ เพราะว่าหากเด็กที่ฐานะดีได้การศึกษาที่ดีกว่าตั้งแต่อนุบาลอยู่ตลอดมันจะทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำทางความสามารถและท้ายสุดสังคมก็จะอยู่กันลำบากครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.comณ วันที่ 16 พฤศจิกายน