ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ลุ้นกฤษฎีกาไฟเขียว สตง. จี้ ปตท. ส่งท่อก๊าซ 3.26 หมื่นล้านคืนคลัง ประธาน คตง. ย้ำไม่ได้แตะคำพิพากษาศาล แค่บังคับคดีให้ถูกต้อง

ลุ้นกฤษฎีกาไฟเขียว สตง. จี้ ปตท. ส่งท่อก๊าซ 3.26 หมื่นล้านคืนคลัง ประธาน คตง. ย้ำไม่ได้แตะคำพิพากษาศาล แค่บังคับคดีให้ถูกต้อง

4 ธันวาคม 2014


จากกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการแปรรูปบริษัท ปตท. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาวันที่ 14 ธันวาคม 2550 “ให้ ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยเฉพาะท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ได้มาจากการใช้อำนาจรัฐ ออกจาก ปตท. ให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน”

ปฏิบัติการ “ทวงคืนท่อก๊าซ” เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 มีมติให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ปตท. โดยมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง หากมีปัญหาในประเด็นข้อกฎหมายให้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ลำดับเหตุการณ์ทวงคืนท่อก๊าซ

ระหว่างที่ สตง. กำลังสรุปผลการตรวจสอบการทรัพย์สิน ปตท. วันที่ 25 ธันวาคม 2551 ปตท. ทำคำร้องถึงศาลปกครองสูงสุดว่าได้แบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่มีการใช้อำนาจรัฐส่งคืน ปตท. เรียบร้อยแล้ว ช่วงเช้าของวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ตุลาการคณะศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า ปตท. ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว แต่ปรากฏว่ารายงานผลการตรวจสอบของ สตง. เพิ่งจะส่งมาถึงศาลปกครองสูงสุดในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ซึ่งศาลได้ตัดสินไปแล้ว

เวลาผ่านมาเกือบ 6 ปี นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน “แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน” วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ยืนยันว่าบริษัท ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนกระทรวงการคลังไม่ครบถ้วน ปรากฏว่า สตง. ถูกสื่อวิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังก้าวล่วงหรือละเมิดคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

วันที่ 3 ธันวาคม 2557 สตง. ได้ชี้แจงสื่อมวลชนต่อกรณีการทวงคืนท่อก๊าซจาก ปตท. เป็นครั้งที่ 2 โดยมีนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เป็นผู้ชี้แจง

นายชัยสิทธิ์กล่าวว่า จากรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. ทรัพย์สินที่ ปตท. ส่งมอบให้กระทรวงการคลังมูลค่า 16,176.22 ล้านบาท เป็นท่อก๊าซธรรมชาติที่อยู่บนบกเพียงบางส่วนเท่านั้น แต่ยังมีท่อก๊าซที่อยู่บนบกและทางทะเลที่ ปตท. ยังไม่ได้แบ่งแยกและส่งคืนกระทรวงการคลังอีก 32,613.45 ล้านบาท สตง. จึงถือว่า ปตท. ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษา

“ท่อก๊าซธรรมชาติไม่ว่าจะอยู่บนบกหรือในทะเล หรือหน่วยงานใดจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการวางท่อก็ตาม หากมีการใช้อำนาจมหาชนตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย 25211 มาตรา 30-31 โดยผู้ใช้ท่อเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ ท่อก๊าซธรรมชาติทั้งหมดจึงเป็นสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน โดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ฟ.35/2550 บริษัท ปตท. เป็นผู้รับช่วงกิจการมาจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จึงต้องคืนท่อก๊าซธรรมชาติทั้งหมดให้กับรัฐ” นายชัยสิทธิ์กล่าว

นายชัยสิทธิ์กล่าวต่อว่า ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานแบ่งแยกทรัพย์สิน ปตท. ให้ถูกต้อง กรณีที่ สตง. ออกมาชี้แจงต่อสาธารณชนครั้งนี้ ไม่ใช่มาขอให้ศาลเพิกถอนคำพิพากษา ซึ่งตามหลักกฎหมายไม่สามารถเพิกถอนคำพิพากษาได้ กรณี ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินคืนกระวงการคลังไม่ครบถ้วนเป็นเรื่องของการบังคับคดี ไม่ได้ละเมิดหรือก้าวล่วงคำพิพากษาศาลแต่อย่างใด หลังจากที่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินส่งมอบกระทรวงการคลังถูกต้องแล้ว ต่อมาหากปรากฏข้อมูลใหม่หรือข้อเท็จจริงที่มายืนยันว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินส่งคืนกระทรวงการคลังไม่ถูกต้องครบถ้วน ศาลสามารถพิจารณาเพิกถอนคำสั่งเดิมได้ ตนขอย้ำว่าเป็นการพิจารณาคำสั่งในชั้นของการบังคับคดี ไม่ได้ไปเพิกถอนคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

วันที่ 3 ธันวาคม 2557 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 3 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคตง.และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ร่วมแถลงข่าว"ทวงคืนท่อส่งก๊าซ ปตท. "
วันที่ 3 ธันวาคม 2557 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธาน คตง. และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. แถลงข่าว “ทวงคืนท่อส่งก๊าซ ปตท.”

“ขณะนี้ สตง. ได้ส่งรายงานการตรวจสอบและความคิดเห็นไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย ตามที่ ครม. มีมติวันที่ 18 ธันวาคม 2550 หากกฤษฎีกาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า ปตท. ส่งมอบทรัพย์สินคืนกระทรวงการคลังถูกต้องครบถ้วนก็จบ แต่ถ้ากฤษฎีกามีความเห็นสอดคล้องกับ สตง. ว่าควรนำท่อก๊าซทางทะเลส่งคืนกระทรวงการคลังด้วย ทาง สตง. จะทำเรื่องขอให้ศาลปกครองสูงสุดแก้ไขคำบังคับคดีให้ถูกต้อง โดยศาลอาจจะพิจารณาไต่สวนข้อมูลใหม่เพื่อพิจารณาแก้ไขคำสั่งให้ถูกต้อง เช่น ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินเรียบร้อยแล้วก็อาจจะแก้ไขเป็นไม่เรียบร้อย เป็นเรื่องของการบังคับคดี ศาลปกครองสูงสุดสามารถเพิกถอนคำสั่งเดิมออกคำสั่งใหม่ได้ ไม่ใช่เพิกถอนคำพิพากษา” นายชัยสิทธิ์กล่าว

ส่วนกรณีนักวิชาการเสนอให้มีการบรรจุเรื่องศาลวินัยทางงบประมาณและการคลังไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย นายชัยสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีศาลวินัยทางงบประมาณและการคลังเหมือนฝรั่งเศส เนื่องจากการจัดตั้งศาลดังกล่าวจะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการจัดตั้งและค่าใช้จ่ายบุคลากร ซึ่งอาจจะทำให้ระบบการตรวจเงินแผ่นดินขาดเอกภาพ จึงขอให้ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พิจารณาให้รอบคอบด้วย

ประธาน คตง. กล่าวว่า เหตุที่ประเทศฝรั่งเศสต้องจัดตั้งศาลวินัยทางงบประมาณและการคลังขึ้นมา เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินของฝรั่งเศสอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร ทำให้ขาดความเป็นอิสระ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามตัวบทกฎหมายและระเบียบ แต่มักจะปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายบริหาร ทำให้การตรวจเงินแผ่นดินของฝรั่งเศสไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้ จึงมีการปฏิรูปโดยการตั้งศาลบัญชีให้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ซึ่งศาลบัญชีก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องและเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ แต่ศาลบัญชีไม่มีอำนาจลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ฝ่าฝืนมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการเงินของรัฐ จึงมีการตั้งศาลวินัยทางงบประมาณและการคลังขึ้นเพื่อให้การตรวจเงินแผ่นดินเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“สตง. ของไทยไม่เคยมีประวัติถูกฝ่ายบริหารแทรกแซงเหมือนประเทศฝรั่งเศส สตง. ยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ละปีสามารถเรียกเงินงบประมาณส่งคืนคลังเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบัน สตง. มีคณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลัง (ควง.) เป็นผู้พิจารณาคดีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ฝ่าผืนมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการเงินของรัฐ ส่งเรื่องให้ คตง. ตัดสินลงโทษปรับทางการปกครอง โดยเจ้าหน้าที่ที่ถูกลงโทษสามารถยื่นคำอุทธรณ์คำวินิจฉัยของ คตง. ต่อศาลปกครองได้ ประเทศไทยไม่มีศาลบัญชีเหมือนฝรั่งเศส เมื่อไม่มีศาลบัญชีก็ไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งศาลวินัยทางงบประมาณและการคลังให้สิ้นเปลือง” นายชัยสิทธิ์กล่าว