ThaiPublica > คอลัมน์ > วิถี “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” ของพรรคไพเรตเยอรมัน

วิถี “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” ของพรรคไพเรตเยอรมัน

7 ธันวาคม 2014


สฤณี อาชวานันทกุล

วันนี้กระแสการปฏิรูปการเมืองกำลังมาแรง เราเริ่มได้ยินแนวคิดที่หลากหลาย เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ไม่ควรต้องสังกัดพรรค นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงได้ บางท่านบอกว่าควรล้มเลิกปาร์ตี้ลิสต์ไปเลย อีกบางท่านบอกว่ามีสภาเดียวก็พอ ฯลฯ

ประเด็นเหล่านี้ควรมีการถกเถียงอภิปรายอย่างกว้างขวางและให้ประชาชนลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อหาฉันทามติร่วมกันว่าสังคมอยากได้แบบไหน แต่ประเด็นที่สำคัญไม่แพ้ “ที่มา” ของ สส. คือ การคิดค้นกลไกใหม่ๆ ที่จะเพิ่มความโปร่งใส เพิ่มความรับผิด และกระตุ้นให้ “ผู้แทน” ยึดโยงกับประชาชนที่เลือกมาเป็นตัวแทนมากขึ้น

คอลัมน์นี้ตอนที่แล้วพูดถึง “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” (liquid democracy) แนวคิดใหม่ที่นำส่วนที่ดีที่สุดของประชาธิปไตยแบบตัวแทนกับแบบทางตรงมาผสมกัน – ให้ประชาชนแต่ละคนเลือกได้ตลอดเวลาว่า จะมอบเสียงโหวตในแต่ละประเด็นให้ใครเป็นตัวแทน และเสียงนั้นก็สามารถถูกส่งต่อกันได้เป็นทอดๆ โดยที่เจ้าของเสียงจะมีสิทธิโหวตล้มการตัดสินใจของตัวแทน หรือ “ดึง” เสียงตัวเองคืนมาใช้เองได้ทุกเวลา

แนวคิดนี้ไม่ได้อยู่แต่บนหน้ากระดาษอีกต่อไป แต่มีกลุ่มคน องค์กร และพรรคการเมืองนำไปใช้ในโลกจริง กรณีที่โด่งดังที่สุดคือ “พรรคไพเรต” (Pirate Party) ในเยอรมนี

ในปี 2011 ผู้สมัคร 15 คนที่พรรคไพเรตส่งลงสนามเลือกตั้งสภากรุงเบอร์ลินชนะเลือกตั้งทั้ง 15 คน ส่งผลให้พรรคได้ที่นั่งในสภาระดับภูมิภาคเป็นครั้งแรก จากนั้นพรรคก็ได้ที่นั่งในสภารัฐซาร์แลนด์ และรัฐชเลสวิก-โฮลสตีนตามลำดับ แม้ว่าวันนี้จะยังไม่สามารถเข้าสู่สภาระดับชาติได้

ู้ผู้สนับสนุนพรรคไพเรตเยอรมัน ที่มาภาพ : http://www.dvice.com/archives/2011/09/germans_vote_15.php
ู้ผู้สนับสนุนพรรคไพเรตเยอรมัน ที่มาภาพ : http://www.dvice.com/archives/2011/09/germans_vote_15.php

อุดมการณ์หลักของพรรคไพเรตเยอรมันไม่ต่างจากพรรคไพเรตอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 40 ประเทศ นั่นคือ ต้องการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์ให้สอดคล้องกับยุคดิจิตัล และต่อต้านการเซ็นเซอร์โดยรัฐ แต่พรรคก็มีนโยบายด้านอื่นๆ ที่ขยายออกมาหรือนอกเหนือจากเรื่องเสรีภาพเน็ตเช่นกัน เช่น เรียกร้องให้รัฐเพิ่มความโปร่งใสด้วยการทำประชามติออนไลน์ ซึ่งนโยบายนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคได้คะแนนนิยมในการเลือกตั้งสภากรุงเบอร์ลิน

พรรคไพเรตเยอรมันทำงานด้วยซอฟต์แวร์ที่นำแนวคิดประชาธิปไตยแบบลื่นไหลไปโค้ดเป็นเครื่องมือที่ใช้การได้จริง ชื่อ “ลิควิดฟีดแบ็ค” (LiquidFeedback) เป็นโอเพ่นซอร์ส หมายความว่าใครๆ ก็เอาโค้ดไปดัดแปลงต่อเติมและใช้งานได้ฟรีๆ ประกอบกับเครื่องมืออื่นๆ ในโลกออนไลน์ อาทิ PiratePad (โปรแกรมอีดิทข้อเขียนแบบเรียลไทม์) วิกิ ห้องแชท และเมลลิสต์ ในกระบวนการพัฒนานโยบายของพรรค ซึ่งจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ มีสมาชิกเริ่มแรก 50 คน ขยายเป็น 900 คนในปี 2009 ผ่านไปสี่ปีมีสมาชิกมากกว่า 30,000 คน ทำให้เป็นไปไม่ได้ที่จะหารือกันซึ่งหน้าตลอดเวลา

อินโก บอร์มุธ (Ingo Bormuth) โฆษกพรรคไพเรตสาขาเบอร์ลิน อธิบายว่าสมาชิกพรรคทุกคน (ประมาณ 6,000 คนในเบอร์ลิน) จะใช้โปรแกรม Liquid Feedback เสนอร่างนโยบาย (motion) อะไรก็ตามที่ตัวเองสนใจได้ทุกเวลา สมาชิกคนอื่นๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกัน (เป็นสมาชิกกลุ่ม) สามารถเข้ามาอภิปรายกันได้ตามสบาย ใครพอใจก็โหวตสนับสนุน ใครไม่พอใจก็ไม่ต้องโหวต

ทันทีที่ร่างนโยบายใดมีผู้สนับสนุนมากกว่าร้อยละ 10 ของสมาชิกในกลุ่มนั้นๆ ภายในเวลาที่กำหนด (เช่น หนึ่งสัปดาห์) ร่างนี้ก็จะเข้าสู่ช่วง “ทบทวน” (คล้ายกับช่วงแปรญัตติในรัฐสภา) บรรยากาศคล้ายเล่นเกม ในช่วงนี้สมาชิกคนอื่นมีสิทธิเสนอร่างนโยบายแข่ง (เรื่องเดียวกัน แต่เป็นเวอร์ชั่นใหม่) กับร่างแรก จากนั้นร่างต่างๆ ก็จะแข่งขันกันด้วยเสียงโหวต จนกว่าจะมีร่างที่ชนะ หลังจากนั้นร่างนโยบายจะถูกส่งต่อไปให้สมาชิกพรรคทุกคนโหวตว่าจะรับหรือไม่รับ ถ้าหากเสียงส่วนใหญ่โหวตรับ นโยบายนั้นก็จะมีโอกาสสูงมากที่จะผ่านการลงคะแนนรับรองในที่ประชุมพรรค กลายเป็นนโยบายของพรรคอย่างเป็นทางการ

บอร์มุธบอกว่า สถานการณ์ที่ดีที่สุดคือ ร่างนโยบายแต่ละเรื่องจะมีคน 5-6 คนแข่งกันร่างเวอร์ชั่นที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุด ทุกคนพยายามร่างให้ดีกว่าคนอื่นเพื่อจะได้ชนะเสียงโหวต พรรคมองว่านี่คือการแข่งขันที่เป็นประโยชน์ เพราะมันกระตุ้นให้คน “อิน” กับเรื่องต่างๆ และพยายามรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นให้ได้มากที่สุด

ทีมเขียนโปรแกรม LiquidFeedback โค้ดหลักการของ “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” ไปปฏิบัติจริง นั่นคือ ให้สมาชิกทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน แต่มอบเสียงให้คนอื่นโหวตแทนได้ เลือกได้ว่าจะให้โหวตแทนทุกเรื่อง เฉพาะประเด็น หรือเฉพาะร่างนโยบายร่างใดร่างหนึ่ง ทุกคนที่ได้รับมอบเสียงโหวตจะส่งต่อเสียงไปให้คนอื่นเป็นตัวแทนอีกทอดก็ได้ แต่เจ้าของเสียงสามารถดึงเสียงของตัวเองกลับมาได้ทุกเมื่อ ทำให้ตัวแทนทุกคนต้องรอบคอบ ไม่มีทางที่ใครจะลุแก่อำนาจจนกลายเป็นเผด็จการได้

หน้าจอ LiquidFeedback ที่มาภาพ: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/ff/Liquid_Feedback_Screenshot.png
หน้าจอ LiquidFeedback ที่มาภาพ: http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/ff/Liquid_Feedback_Screenshot.png

ไซมอน ไวส์ (Simon Weiss) สมาชิกพรรคไพเรตที่กลายเป็นนักการเมืองในสภากรุงเบอร์ลิน ยืนยันประโยชน์ของ LiquidFeedback แต่มองว่าเครื่องมืออื่นๆ อย่างวิกิและ PiratePad ก็สำคัญไม่แพ้กัน นอกจากนี้ LiquidFeedback ก็มีข้อจำกัด “สำหรับคำถามบางเรื่อง เช่น “เราอยากเสนอให้รัฐคุ้มครองรายได้พื้นฐานหรือเปล่า?” มันมีอะไรมากกว่าการตัดสินใจบน LiquidFeedback …เราต้องตัดสินใจในที่ประชุมพรรค โดยคนที่เป็นตัวแทนตามกฎหมาย คุณไม่มีวันออกแบบระบบที่จะบันทึกการถกเถียงพูดคุยทั้งหมดที่ต้องเกิดในประชาธิปไตยชนิดนี้ได้หรอก แต่คุณสามารถคิดระบบเสียงตอบรับที่บอกได้ว่า วันนี้สมาชิกส่วนใหญ่มีจุดยืนอย่างไรในแต่ละประเด็น”

นักรัฐศาสตร์หลายคนมองว่า พรรคไพเรตค่อนข้างมีเสถียรภาพส่วนหนึ่งเพราะสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมจริงๆ กับการตัดสินใจทุกเรื่องของพรรค คนที่ไม่ได้ไปประชุมพรรคยอมรับผลโหวตในที่ประชุมก็เพราะพวกเขามีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ร่างนโยบายยังเป็นวุ้นอยู่

วันนี้พรรคไพเรตประสบความท้าทายหลายด้าน เช่น ความขัดแย้งภายในกลุ่มผู้นำพรรค และความ “แคบ” ของแนวนโยบาย ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่าพรรคไพเรตต้องขยายฐานนโยบายให้กว้างขึ้นแบบที่พรรคไพเรตไอซ์แลนด์ทำสำเร็จมาแล้ว – ได้ที่นั่งสภาระดับชาติด้วยเสียงโหวตร้อยละ 5.1 ของทั้งประเทศ ด้วยการแคมเปญในประเด็นความโปร่งใส เสรีภาพในการแสดงออก และการแทรกแซงของธุรกิจในภาคการเมือง

นอกจากนี้ การใช้ LiquidFeedback ของพรรคเองก็ยังมีคำถาม เช่น จะบังคับให้ทุกคนเปิดเผยชื่อ-นามสกุลจริงหรือไม่ และจะใช้ซอฟต์แวร์นี้ไปถึงขั้นการออกนโยบายทางการของพรรคเลยหรือไม่ แต่ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร พรรคไพเรตเยอรมันก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมที่เชื่อว่าจะสร้าง “การเมือง 2.0” ระดับชาติได้ในอนาคต

ไวส์ยืนยันว่า “ถ้าคุณอยากเสนอวิธีจัดการการเมืองแบบใหม่ คุณก็ต้องทดลองทำเองเพื่อจะได้รู้ว่ามันใช้ได้หรือไม่ได้ เราพูดได้ว่าวันนี้เราลองแล้ว และที่ผ่านมามันก็ใช้ได้”