ThaiPublica > คอลัมน์ > เศรษฐศาสตร์เเละจิตวิทยาของความเกลียดชัง

เศรษฐศาสตร์เเละจิตวิทยาของความเกลียดชัง

8 ธันวาคม 2014


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

สมมตินะครับ สมมติ

สมมติว่าคุณผู้อ่านกำลังนั่งตัดผมอยู่ในร้านตัดผมที่ค่อนข้างหรูเเห่งหนึ่งในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ระหว่างที่ช่างกำลังตัดผมของคุณอยู่นั้นก็ได้มีชายพิการคนหนึ่งเข็นรถเข็นเข้ามาในร้านตัดผม ชายพิการคนนี้ ซึ่งคุณเหลือบไปเห็นว่าเขามีขาอยู่เเค่ข้างเดียว ก็ได้เอ่ยปากถามช่างตัดผมที่กำลังตัดผมของคุณอยู่ว่า

“ขอโทษนะครับ ตัดผมชายราคาเท่าไหร่ครับ?”

เมื่อได้ยินดังนั้น ช่างตัดผมที่กำลังตัดผมคุณอยู่ก็หันไปมองชายพิการคนนั้นสักครู่หนึ่งก่อนที่จะตอบไปว่า “ห้าร้อยบาท” ซึ่งเป็นคำตอบที่ทำให้คุณถึงกับสะดุ้งในใจ เพราะว่าเมื่อครึ่งชั่วโมงที่เเลัว ตอนที่คุณถามคำถามเดียวกันกับชายพิการคนนี้ ช่างตัดผมคนเดียวกันได้บอกกับคุณไปว่าตัดผมชายนั้นราคาเพียงเเค่สี่ร้อยบาท

ถ้าเป็นคุณผู้อ่าน คุณผู้อ่านจะสงสัยไหมว่าทำไมราคาค่าตัดผมของคุณกับของชายพิการคนนี้ถึงเเตกต่างกันถึงหนึ่งร้อยบาท คุณผู้อ่านจะคิดไหมว่าสิ่งที่ช่างตัดผมคนนี้กำลังทำนั้นมันไม่เเฟร์เอาเสียเลย

เเล้วถ้าสมมติว่าผู้ชายที่เข้ามาในร้านตัดผมไม่ได้พิการอะไรเลย เเต่สิ่งที่มาเเทนความพิการก็คือการที่เขาใส่เสื้อยืดที่มีข้อความเขียนไว้ข้างหน้าว่า “ผมรักคุณทักษิณ” (หรือ “ผมรักคุณสุเทพ” ก็ได้ เเล้วเเต่) เเล้วสมมติว่าเกิดเหตุการณ์เดียวกันขึ้นมา คุณผู้อ่านจะยังคิดว่ามันไม่เเฟร์อยู่ไหม เเล้วถ้าสมมติว่าคุณผู้อ่านเองก็มีความรู้สึก “เกลียด” ฝ่ายที่เสื้อยืดของผู้ชายคนนี้เขากำลัง “รัก” อยู่ล่ะ คุณผู้อ่านจะรู้สึกยังไงกับช่างตัดผมคนนี้ซึ่งกำลังเอาเปรียบลูกค้าคนนี้อยู่

ในสังคมปัจจุบันของคนเรา อะไรคือรากฐานของความเกลียดชังของเราที่มีต่อคนอื่น เเละอะไรที่ทำให้คนหลายคนถึงสามารถยอมรับได้กับความไม่เท่าเทียมกันของคนเเละการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมกับคนที่เราไม่ชอบ

หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ที่ผมมีความศรัทธาในงานวิจัยของเขามากที่สุดคนหนึ่งก็คือ แกรี เบกเกอร์ (Gary Becker) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ที่เพิ่งจะจากพวกเราไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานี้ด้วยโรคเเทรกซ้อนหลังรับการผ่าตัด แกรี เบกเกอร์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์คนเเรกๆ ที่หยิบเอาทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการอธิบายพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ที่ฟังดูเเล้วอาจจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในเชิงเศรษฐศาสตร์สักเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น การแต่งงาน การมีลูก การศึกษา หรือเเม้กระทั่งเรื่องของการตัดสินใจของคนในการที่จะบริจาคอวัยวะหลังจากเสียชีวิตไปเเล้วเป็นต้น

เเต่ก็มีทฤษฎีของเขาอยู่ทฤษฎีหนึ่งที่ทำให้แกรี เบกเกอร์ เป็นที่รู้จักของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก และก็เป็นทฤษฎีสำคัญที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ ทฤษฎีอันนั้นก็คือทฤษฎีที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม หรือการ discriminate ของผู้ว่าจ้างที่มีต่อพนักงานที่เป็นคนกลุ่มน้อยนั่นเอง

แกรี เบกเกอร์ กล่าวเอาไว้ว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้ว่าจ้างเลือกที่จะ discriminate พนักงานที่เป็นคนกลุ่มน้อยนั้นก็เป็นเพราะว่าผู้ว่าจ้างเหล่านี้มี “รสนิยม” หรือ taste ในการเกลียดคนกลุ่มน้อยอยู่ในใจ ซึ่งการมีรสนิยมเเบบนี้เพิ่ม “ค่าใช้จ่ายในใจ” หรือ psychic cost ของผู้ว่าจ้างในการทำธุรกรรมระหว่างเขากับพนักงานของเขา เเละก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปว่า พนักงานสองคนมีความสามารถเท่ากัน แต่มีคนหนึ่งได้เงินเดือนน้อยกว่าเพียงเพราะว่าเขาเป็นผู้หญิง หรือเป็นคนผิวดำ หรือเป็นเกย์ เป็นต้น

เเต่ถึงเเม้ว่าทฤษฎีของเขานี้จะสามารถนำมาใช้อธิบายได้ว่าทำไมการ discriminate ของผู้จ้างงานต่อคนกลุ่มน้อยจะส่งผลเสียให้กับทั้งพนักงานเเละผู้ว่าจ้างเสียเอง (พูดง่ายๆ ก็คือการ discriminate ของผู้ว่าจ้างทำให้บริษัทไม่สามารถเก็บรักษาคนที่อาจมีผลผลิตที่สูงที่สุดเอาไว้ได้) ตัวแกรี เบกเกอร์ เองก็ไม่ได้อธิบายเอาไว้ว่ารากฐานของความเกลียดชังของคนนั้นที่จริงเเล้วมาจากไหนกันเเน่ “ปัญหาข้อนี้” ผมเดาว่าตัวของเบกเกอร์เองคงเคยคิดคนเดียวในใจ คงไม่ใช่ปัญหาของนักเศรษฐศาสตร์ เเต่เป็นปัญหาของนักจิตวิทยามากกว่า”

ขั้นตอนของการตัดสินทางศีลธรรมและจรรยาบรรณทั้งหลายของมนุษย์ (moral judgment)

เป็นเวลากว่ายี่สิบปีที่โจนาธาน เฮดต์ (Jonathan Haidt) นักจิตวิทยาเเห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้ทำการศึกษาวิจัยรากฐานของศีลธรรมและจรรยาบรรณของมนุษย์เรา หนึ่งในหัวข้อวิจัยของเขาก็คือ “เหตุผล (reasons) หรือ อารมณ์ (emotions) ที่เป็นต้นเหตุที่มาของการเเยกเเยะผิดถูกชั่วดีของมนุษย์เรา”

คนเราส่วนใหญ่มักจะสันนิษฐานกันเอาเองว่า ก่อนที่เราจะตัดสินใจไม่ชอบใครสักคนหนึ่งนั้น เราจะต้องมีเหตุผลมารองรับก่อนเป็นอันดับเเรกว่าทำไมเราถึงไม่ชอบคนที่เรากำลังจะไม่ชอบ ยกตัวอย่างเช่น “ก็เพราะว่าไอ้เเกนนำของพวกคนสีนี้เค้าโกงกินบ้านเมืองไง ผมจึงเกลียดทุกคนที่เป็นคนสีนั้น” หรือ “ตามสถิติแล้วคนผิวดำก่ออาชญากรรมกันเยอะ ผมจึงไม่ค่อยอยากจะจ้างพวกเขาทำงานในบริษัทของผมสักเท่าไหร่” ส่วนอารมณ์เเละความรู้สึกถึงความเกลียดชังนั้นค่อยตามเหตุผลมาทีหลังเป็นอันดับสุดท้าย

พูดง่ายๆ ก็คือคนเรามักจะคิดกันว่า เหตุผลคือรากฐานของการตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูกของมนุษย์เรา ไม่ใช่อารมณ์ เเละด้วยความเชื่อที่ว่า “คนเราต้องมีเหตุผลที่ฟังดูขึ้นก่อนที่จะสามารถไปเกลียดใครสักคนได้” นี้เองที่ทำให้คนหลายคนสามารถยอมรับได้กับความไม่เท่าเทียมกันของคนเเละการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมกับคนที่เราไม่ชอบนั่นเอง

เเต่สำหรับโจนาธาน เฮดต์ เเล้ว เขาเชื่อว่าข้อสันนิษฐานนี้นั้นเป็นข้อสันนิษฐานที่ผิด เเละในการพิสูจน์ว่าข้อสันนิษฐานข้อนี้ถูกหรือไม่นั้น โจนาธาน เฮดต์ ก็ได้ทำการทดลองง่ายๆ กับอาสาสมัครของเขาโดยการอ่านบทความข้างล่างให้พวกเขาได้ฟังกัน

“จูลีกับมาร์กเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน ระหว่างช่วงปิดเทอมของมหาวิทยาลัยปีสุดท้ายทั้งสองได้ตัดสินใจออกเดินทางไปเที่ยวด้วยกันสองคนที่ประเทศฝรั่งเศส คืนหนึ่งขณะที่กำลังพักอยู่ในเต็นท์บนชายหาด ทั้งสองก็คุยกันว่ามันน่าจะสนุกเเละเป็นประสบการณ์ใหม่ถ้าทั้งสองมีเพศสัมพันธ์กัน ถึงเเม้ว่าในขณะนั้นจูลีได้กินยาคุมกำเนิดมาประมาณสัปดาห์นึงเเล้วเเต่เพื่อความปลอดภัยมาร์กก็ตัดสินใจที่จะใช้ถุงยางอนามัยด้วย เเละถึงเเม้ว่าทั้งจูลีเเละมาร์กต่างก็มีความสุขกับการร่วมเพศด้วยกันเเต่ทั้งสองก็ตกลงกันว่าครั้งนี้จะเป็นเเค่ครั้งเดียวเท่านั้น ทั้งสองก็ตกลงกันอีกว่าจะเก็บเรื่องนี้เป็นความลับที่พิเศษ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้ทั้งสองรู้สึกใกล้ชิดกันมากกว่าเเต่ก่อน”

หลังจากนั้น โจนาธาน เฮดต์ ก็ถามอาสาสมัครของเขาว่า “คุณรู้สึกอย่างไรบ้างกับเรื่องของจูลีกับมาร์ก คุณคิดว่ามันโอเคไหมที่จูลีกับมาร์ก ซึ่งเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน มีเพศสัมพันธ์กัน”

ผมเดาว่าคุณผู้อ่านหลายท่านก็คงจะให้คำตอบคล้ายๆ กันกับอาสาสมัครส่วนใหญ่ในการทดลองของโจนาธาน เฮดต์ นั่นก็คือ “ไม่โอเคร้อยเปอร์เซ็นต์” หลังจากได้ยินคำตอบนี้ โจนาธาน เฮดต์ ก็ถามอาสาสมัครของเขาต่อว่า “ทำไมสิ่งที่จูลีเเละมาร์กทำถึงไม่โอเค” ซึ่งอาสาสมัครส่วนใหญ่ก็จะตอบกลับไปว่า “มันไม่โอเคเพราะเค้าสองคนเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน ถ้าเกิดมีลูกขึ้นมา โอกาสที่ลูกจะพิการนั้นก็จะสูงมาก” ซึ่งโจนาธาน เฮดต์ ก็จะตอบกลับไปว่า “เเต่ในบทความ ทั้งสองได้ทำทุกอย่างเพื่อรับประกันว่าจะไม่เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นอย่างเเน่นอน ถ้าเป็นอย่างนั้น สิ่งที่เขาทั้งสองทำไปยังโอเคอยู่ไหม” ซึ่งอาสาสมัครส่วนใหญ่ก็จะตอบกลับไปว่า “ก็ยังไม่โอเค เพราะประสบการณ์นี้สามารถที่จะทำลายความสัมพันธ์ของทั้งสองคนได้” ซึ่งโจนาธาน เฮดต์ ก็จะตอบกลับไปว่า “เเต่ในบทความทั้งจูลีเเละมาร์กต่างก็รู้สึกว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทั้งสองรู้สึกใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม ถ้าเป็นอย่างนั้นสิ่งที่เขาทั้งสองทำไปยังโอเคอยู่ไหม”

เเละทุกครั้งที่อาสาสมัครบอกเหตุผลกลับไปว่าทำไมสิ่งที่ทั้งสองทำไปมันไม่โอเค ทุกครั้งโจนาธาน เฮดต์ ก็จะหาเหตุผลจากในบทความมาหักล้างเหตุผลของอาสาสมัครได้ทุกที จนกระทั่งตัวอาสาสมัครเองหมดเหตุผลเเละตอบกลับเป็นครั้งสุดท้ายไปว่า “ฉันก็ไม่รู้ว่าเหมือนกันว่าทำไมมันถึงไม่โอเค มันอธิบายไม่ถูกจริงๆ ฉันรู้เเค่อย่างเดียวว่าสิ่งที่สองคนนั้นทำมันไม่โอเคก็เเค่นี้เเหละ จบ”

ผลการทดสอบของโจนาธาน เฮดต์ ทำให้เรารู้ว่า จริงๆ เเล้วนั้น อารมณ์ต่างหากที่เป็นรากฐานของการตัดสินว่าอะไรผิดอะไรถูกของมนุษย์เรา ไม่ใช่เหตุผล

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ในขั้นตอนของการตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิดนั้น คนเรามักจะใช้อารมณ์ที่มาจากจิตใต้สำนึกของเราเป็นตัวชี้นำในการตัดสินก่อนที่จะหาเหตุผลมาเพื่อมาสนับสนุนว่าทำไมเราถึงรู้สึกอย่างนั้น เเละถ้าเหตุผลเเรกของเราถูกอีกฝ่ายใช้เหตุผลอื่นที่ดีกว่ามาหักล้าง เราก็จะทำการหาเหตุผลอื่นๆ มาสนับสนุนความรู้สึกของเราต่อไปจนกระทั่งเหตุผลของเราหมด เเละถึงเเม้ว่าเหตุผลของเราจะหมด เเต่เพราะความรู้สึกของการเกลียดของเรานั้นยังอยู่ มันจึงเป็นการยากมากที่อีกฝ่ายจะสามารถใช้เหตุผลหักล้างต่างๆ นานาที่ดีกว่าในการทำให้เราเลิกรู้สึกในสิ่งที่เรารู้สึกได้*

บทเรียนจากงานวิจัยจิตวิทยาทางด้านศีลธรรม

หนึ่งในบทเรียนสำคัญๆ จากงานวิจัยของโจนาธาน เฮดต์ ก็คือ คนเราไม่จำเป็นที่จะต้องมีเหตุผลอะไรในการที่จะรังเกียจคนอื่นเสมอไป อารมณ์ (ซึ่งก็คือ “รสนิยม” ในนิยามของแกรี เบกเกอร์ ) ต่างหากที่เป็นต้นเหตุที่มาของความรังเกียจทั้งหมด เพราะฉะนั้น คำถามสำคัญจริงๆ ก็คือ อะไรที่เป็นต้นเหตุที่มาของอารมณ์นั้นๆ

จากงานวิจัยของโจนาธาน เฮดต์ อีกเป็นสิบกว่าชิ้นพบว่าที่มาของอารมณ์ส่วนใหญ่สามารถอธิบายได้ด้วยภูมิหลังของครอบครัวของคน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเกิดเเละโตมาในครอบครัวที่มีทุกอย่างเพียบพร้อม โอกาสที่เราจะมีจิตใต้สำนึกที่จะทำให้เราไม่ชอบคนที่มีอุดมการณ์ที่เป็นเสรีนิยมก็จะสูงกว่าปกติ เเละถ้าเราเกิดเเละโตมาในครอบครัวที่ยากจนกว่าคนทั่วไป โอกาสที่เราจะมีจิตใต้สำนึกที่ทำให้เราไม่ชอบคนที่มีอุดมการณ์ที่เป็นอนุรักษนิยมก็จะสูงกว่าปกติ พูดง่ายๆ ก็คือ สำหรับหลายๆ คนที่เลือกเกิดไม่ได้เเล้วนั้น เราไม่สามารถที่จะกำหนดก่อนได้เลยว่าเราจะเกิดเเละโตมามีความโน้มเอียงไปชอบหรือเกลียดอุดมการณ์ไหน หรือเเม้กระทั่งคนกลุ่มน้อยไหน มากกว่ากัน

เเถมงานวิจัยล่าสุดยังพบอีกว่า ถ้าฐานะของเราเปลี่ยน ศีลธรรมของเราก็อาจจะเปลี่ยนตามไปด้วย ยกตัวอย่างงานวิจัยล่าสุดของผมกับเเอนดรูว์ ออสวอลด์ (Andrew Oswald) ที่พบว่า การถูกล็อตเตอรี่เงินรางวัลสูงๆ นั้นสามารถที่จะเปลี่ยนคนจากคนที่มีอุดมการณ์ที่เป็นเสรีนิยมเป็นคนที่มีอุดมการณ์ที่เป็นอนุรักษนิยมได้

เพราะฉะนั้นเเล้ว ก่อนที่เราจะตัดสินใจเกลียดใครสักคน เราควรต้องตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่า เหตุผลที่เรานำมาใช้ในการสนับสนุนการเกลียดของเรานั้นมาก่อนหรือหลังอารมณ์ของเรา ถ้ามันมาทีหลังอารมณ์ของเราตรงนี้จริงๆ เเล้วต้นเหตุของมันมาจากไหน เพราะว่าถ้าอารมณ์ของเรามาจากสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของเรา อย่างเช่น ภูมิหลังของครอบครัว เป็นต้น การที่เราจะเกลียดใครสักคนที่ไม่เคยทำอะไรร้ายๆ ให้กับเราจริงๆ อาจจะเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งเหตุผลที่สุดในชีวิตของเราก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม

Becker, G. S. (2010). The economics of discrimination. University of Chicago press.

Haidt, J. (2001). The emotional dog and its rational tail: a social intuitionist approach to moral judgment. Psychological review, 108(4), 814.

Haidt, J. (2013). The righteous mind: Why good people are divided by politics and religion. Random House LLC.

Powdthavee, N., & Oswald, A. J. (2014). Does Money Make People Right-Wing and Inegalitarian? A Longitudinal Study of Lottery Winners.

หมายเหตุ*: เเละเพราะด้วยเหตุนี้นี่เอง ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนใจใครสักคนหนึ่งให้เห็นด้วยไปกับเรา การใช้เหตุผลของเราไปหักล้างเขามักจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับการทำความเข้าใจก่อนว่าอะไรเป็นตัวจุดอารมณ์ของเขาเเล้วค่อยไปเเก้ไขตรงนั้น