ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > จำนำข้าว สะเทือนท้องนา กระทบคลัง รัฐต้องจ่าย 9.7 แสนล้าน เป็นภาระสังคม 2.3 ล้านล้าน ได้ข้าวคุณภาพต่ำ เกิดวิกฤตภัยแล้ง โรงสีล้มละลาย

จำนำข้าว สะเทือนท้องนา กระทบคลัง รัฐต้องจ่าย 9.7 แสนล้าน เป็นภาระสังคม 2.3 ล้านล้าน ได้ข้าวคุณภาพต่ำ เกิดวิกฤตภัยแล้ง โรงสีล้มละลาย

11 ธันวาคม 2014


จากข้อมูลงานวิจัย “การคอร์รัปชัน : กรณีศึกษาโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด”โดย รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อ. การพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคณะ  ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมูลค่าการขาดทุน ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 645,708.76 ล้านบาท มีการทุจริตทั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ มีมูลค่าการทุจริตเฉพาะส่วน กลางน้ำ และปลายน้ำ สูงถึง 112,544.19 -114,628.21 ล้านบาท มีมูลค่าความเสียหายที่สังคมต้องแบกรับอีกกว่า 2 ล้านล้านบาท

นี่เป็นเพียงมูลค่าความเสียหายส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังไม่รวมความเสียหายระยะยาวที่เป็นผลพวงจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด อาทิ ภาวะขาดแคลนน้ำ โรงสีหลายแห่งต้องล้มละลาย ความเชื่อถือในคุณภาพข้าวไทยลดลง กระทบต่อตลาดส่งออก ซึ่งมูลค่าความเสียหายรวมทั้งหมดอาจสูงถึงหลักล้านล้านบาท ก็เป็นได้

เพราะการดำเนินงานของรัฐบาลในโครงดังกล่าวไม่มีการจำกัดวงเงินงบประมาณ และโดยส่วนใหญ่เป็นเงินนอกงบประมาณที่กู้มาจากสถาบันการเงินของรัฐ ทำให้ต้นทุนของโครงการจำนำข้าวสูงถึง 976,738.63 ล้านบาทใน 5 ฤดูเพาะปลูก มีการรับจำนำข้าวเปลือกจำนวน 54.4 ล้านตัน ขณะที่รายรับรวมที่รัฐจะได้จากการระบายข้าว และมูลค่าของข้าวที่ยังคงเหลือในสต๊อก อยู่ที่ 331,029.88 ล้านบาท

ความเสียหายจำนำข้าว

การคำนวณมูลค่าข้าวในสต๊อกทางทีดีอาร์ไอตั้งฐานราคาที่ 7,500 บาท เนื่องจากเมื่อเดือนตุลาคม 2557 มีการเปิดเผยผลการตรวจสต๊อกข้าว ของคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ พบว่ามีข้าวที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานทั้ง DNA ของข้าวและคุณภาพข้าว 2.36 ล้านตัน ประมาณ 10% ของข้าวทั้งหมด การคำนวณดังกล่าวสอดรับกับการประมาณการผลขาดทุนที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าเคยนำเสนอไป

ดังนั้นเมื่อหักต้นทุนกับรายรับที่ได้แล้วรัฐยังขาดทุนอยู่สูงถึง 539,038.22 ล้านบาท ล่าสุด ในเดือนพฤศจิกายน 2557 ทีดีอาร์ไอปรับค่าตัวเลขขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 645,708.76 ล้านบาท ทำให้ตัวเลขขาดทุนสูงกว่าข้อมูลของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีจำนำข้าวเปลือก ประมาณ 1 แสนล้านบาท และหากรัฐบาลต้องใช้เวลาระบายข้าวนานถึง 10 ปี ภาระการขาดทุนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 960,000 ล้านบาท

ต้นทุนความเสียหายที่สังคมต้องแบกรับ

ตลอดระยะเวลาในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลมักกล่าวเสมอว่า ผลขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวที่เกิดขึ้นนั้นคุ้มค่าเมื่อแลกกับความอยู่ดีกินดี และผลประโยชน์ที่ชาวนาได้รับ

ตามผลการวิจัยพบว่าประโยชน์ส่วนเกินที่ชาวนาได้รับจากการขายข้าวให้รัฐบาล และประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับจากการซื้อข้าวในราคาถูก อันเป็นผลจากการแทรกแซงตลาดของรัฐบาล มีมูลค่า 572,654.67 ล้านบาท

ด้านมูลค่าความเสียหายคำนวณจาก ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการผลิตมากเกินไป ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการที่รัฐแทรกแซงตลาดและจำกัดการค้า ค่าเสื่อมราคาข้าวในสต๊อก และรายจ่ายในการดำเนินการ สูงถึง 1,017,896.01 ล้านบาท ทำให้เมื่อนำไปหักกับรายรับที่ได้ในโครงการ และผลประโยชน์ส่วนเกินข้างต้นแล้ว มูลค่าความเสียหายที่เป็นภาระให้สังคมต้องรับผิดชอบยังมีมูลค่าสูงถึง 237,676.29 ล้านบาท

ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่ที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าวนี้ล้วนเป็นชาวนาระดับกลาง และชาวนารายใหญ่ ที่สามารถลงทุนปลูกข้าวได้หลายครั้ง ส่วนชาวนารายเล็กที่เป็นผู้ประสบปัญหาที่แท้จริงกลับไม่ได้ผลประโยชน์จากโครงการเท่าที่ควร

นอกจากมูลค่าความเสียหายส่วนเกินที่สังคมต้องแบกรับ ยังมีมูลค่าการทุจริตที่เมื่อรวมมูลค่าในระดับกลางน้ำบางส่วนเข้ามาทำให้ในส่วนนี้มีความเสียหายสูงถึง สูงถึง 112,544.19 -114,628.21 ล้านบาท

ภัยแล้ง – โรงสีล้มละลาย ความเสียหายที่ไม่ได้คาดการณ์

นโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลที่ให้ราคาสูงกว่าราคาตลาด ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องในโครงการเกิดการแสวงหา “ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ” ( Economics rent ) ซึ่งก็คือ ผลตอบแทนส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นจากที่สมควรจะได้ในอัตราปกติ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 585,000 ล้านบาท

จากกำไรที่เพิ่มขึ้นจากการขายข้าวให้รัฐกระตุ้นให้ชาวนาลงทุนปลูกข้าวเพิ่ม โดยเฉพาะชาวนาที่อยู่ในเขตชลประทานของภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นชาวนารายกลาง และรายใหญ่

โดยมีการปลูกข้าวเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 ครั้ง/ปี เป็น 3 ครั้ง/ปี มีกรพยายามเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้ปริมาณมากขึ้น เหล่านี้ส่งผลให้เกิดการใช้เมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น 8% ชาวนาใช้ปุ๋ย และสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นถึง 42% และมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อน  ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงกว่าแผนการจัดการน้ำที่กรมชลประทานวางไว้

การใช้สารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น ผนวกกับการที่ชาวนาต้องเร่งเก็บเกี่ยวให้ทันฤดูการรับจำนำ นอกจากจะส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควรแล้ว ข้าวเหล่านี้ยังเสี่ยงต่อการมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน ซึ่งมารฐานข้าวที่ตกลงย่อมกระทบต่อตลาดส่งออกในระยะยาว

ผลของการใช้น้ำเพิ่มขึ้นในปีการผลิต 2557/2558 ปริมาณน้ำในเขื่อนที่เหลือมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ ของภาคเกษตร โดยมีการแจ้งว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2558 พื้นที่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 5-6 ล้านไร่จะไม่สามารถปลูกข้าวนาปลังได้เลย แต่ยังสามารถปลูกพืชไร่ที่ใช้น้ำน้อยได้ประมาณ 8 แสนไร่ ขณะที่พื้นที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลองแทบจะไม่สามารถทำการเพาะปลูกใดได้เลย

ทางกรมชลประทานต้องประกาศงดส่งน้ำ ให้พื้นที่เพาะปลูก 26 จังหวัด ในพื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กรุงเทพ ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา นครนายก สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม ราชบุรี กาญจนบุรี มีประชาชนเกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 39,000 กว่าครอบครัว พื้นที่ทั้งหมด 11 ล้านไร่

ปริมาณการใช้น้ำทำนา

ผนวกกับข้าวในสต๊อกที่ยังระบายไม่หมด หากมีการผลิตเพิ่มจะยิ่งส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดต่ำลง ดั้งนั้นภาครัฐจึงมีนโยบายลดการผลิตข้าวลง โดยมีนโยบายต่างๆ ดังนี้

มาตรการหลักการดำเนินการจ้างแรงงานเพื่อซ่อมคูคลองในฤดูแล้ง เป้าหมายเกษตรกรไม่น้อยกว่า 250,000 ราย ซึ่งใช้งบประมาณอย่างน้อย 2,000 ล้านบาท จากงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็ง

มาตรการเสริมได้แก่

1) การอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านประมง 3,574 ราย แบ่งเป็นเรื่องการเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก 2,702 ราย และการเลี้ยงกบในกระชังบก 872 ราย

2) การอบรมและสนับสนุนปัจจัยการผลิตเพื่อส่งเสริมอาชีพด้านปศุสัตว์ 13,389 ราย แบ่งเป็นเรื่องการเลี้ยงเป็ดเทศ 4,407 ราย และไก่พื้นเมือง 8,982 ราย

3) การฝึกอาชีพด้านการเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 17,804 ราย แบ่งเป็น  9 หลักสูตร ได้แก่ ปุ๋ยหมัก สารชีวินทรีย์ ถั่วงอก เพาะเห็ด ขยายพันธุ์ไม้ผล ผึ้ง แมลงเศรษฐกิจ ซ่อมเครื่องจักรกลและการแปรรูป/ถนอมอาหาร

4) การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่วแก่เกษตรกรในพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ จำนวน 150,000 ไร่  โดยกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ถั่วเขียว  หรือถั่วลิสง แก่เกษตรกรที่มีความประสงค์จะปลูกพืชตระกูลถั่ว

5) การฝึกอาชีพด้านการเกษตรและด้านอื่นๆ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จำนวน 1,385 ราย แบ่งเป็น 5 ด้าน  ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชย์และบริหาร ความคิดสร้างสรรค์ และเฉพาะทาง

6) การสนับสนุนให้ปลูกพืชปุ๋ยสด ในพื้นที่พักนาที่มีความชื้นเพียงพอ 150,000 ไร่  โดยกรมพัฒนาที่ดิน

นอกจากนี้ผลกระทบดังกล่าวยังส่งผลต่อโรงสีหลายแห่ง ทั่วประเทศด้วยเช่นกัน เนื่องจากในช่วงที่รัฐดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ด กระตุ้นให้เกษตรกรผลิตเพิ่ม โรงสีหลายแห่งจึงมีการขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น จนปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังในการสีข้าวปีละเกือบ 100 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือกมีเพียง 34-37 ล้านตัน เมื่อมีการยกเลิกโครงการรับจำนำ โรงสีจำนวนมากจะต้องล้มละลาย