ThaiPublica > คนในข่าว > “กรณ์ จาติกวณิช” เสียดายรัฐบาลอำนาจพิเศษ ไม่มีวาระชัดเจน “ทหารก็ต้องเลี้ยงคะแนนนิยมเอาไว้ เหมือนรัฐบาลที่มาจากประชาชน ไม่ได้ทำตัวเหมือนเผด็จการ”

“กรณ์ จาติกวณิช” เสียดายรัฐบาลอำนาจพิเศษ ไม่มีวาระชัดเจน “ทหารก็ต้องเลี้ยงคะแนนนิยมเอาไว้ เหมือนรัฐบาลที่มาจากประชาชน ไม่ได้ทำตัวเหมือนเผด็จการ”

24 ธันวาคม 2014


ชื่อ “กรณ์ จาติกวณิช” เคยเป็นดาวรุ่งการเมืองระดับแคนดิเดตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ชื่อเขาเคยเป็นคู่แข่งกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ให้กรรมการบริหารพรรคเลือกลงสนามผู้ว่ากรุงเทพมหานคร

นักการเมืองลายครามในพรรคประชาธิปัตย์ หลายคนเป็นได้แค่ “เงา” ของหัวหน้าพรรค

แต่กรณ์ จาติกวณิช วันนี้เป็น “ตัวจริง” ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบายพรรค เพื่อลงแข่งในสนามเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า

"กรณ์ จาติกวณิช" กับแบรนด์ "ข้าวอิ่ม"
“กรณ์ จาติกวณิช” กับแบรนด์ “ข้าวอิ่ม”

ระหว่างนี้ เขาฆ่าเวลา-เว้นวรรคการเมือง ด้วยการไปทำนา ขายข้าว ในแบรนด์ที่ชื่อ “อิ่ม”

กรณ์ ไขคำถาม บอกคำตอบ เรื่องการอยู่-การไป และวาระใหญ่ของรัฐบาลอำนาจพิเศษที่ต้องทำ ในวาระ 3 เดือนรัฐบาลทหาร

ไทยพับลิก้า: เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย หลังจาก คสช. เข้ามาก็ไม่มีท่าทีว่าจะชัดเจน มีอะไรผิดพลาด

คือต้องยอมรับข้อจำกัดในการทำงานว่าเขามีเวลาหนึ่งปี ใจผมก็ไม่อยากให้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรมากมาย ด้วยสภาวะแวดล้อมเราก็ต้องยอมรับความเป็นจริง มันก็ต้องค่อยๆ ฟื้นขึ้น แต่ว่ามันมีหลายเรื่อง คุณ (คสช.) มีอำนาจพิเศษอยู่ คุณควรไปทำ กำหนดเลย 4 เรื่อง 4 เรื่องนี้จะทำให้เรายกระดับความสามารถพิเศษได้ แทนที่จะไปหาของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ต้องกำหนดมาเลย เรื่องที่รัฐบาลทหารรู้ว่ารัฐบาลที่มากจากการเลือกตั้งทำได้ยากคืออะไร และบอกเลยว่ารัฐบาลเราขออาสาทำเพื่อชาติ ผมอยากให้รัฐบาลนี้ออกมาพูดในเรื่องใหญ่ๆ อย่างน้อยเปิดเวทีถกเถียงกันในเรื่องนี้ แล้วสุดท้ายก็เคาะปังออกมา แบบนี้ชัดเจน จะเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างไร ตอนนี้เหมือนไม่มีวาระหนึ่งปี ผมถามคุณ (ผู้สื่อข่าว) รู้ไหมว่าทีมเศรษฐกิจจะทำอะไร เขา (รัฐบาล) มีอะไรในใจอยู่ ตอนนี้ไม่มีแผนปฏิบัติการ มาสเตอร์แพลนไม่มี เสียดาย เสียดายมาก

ไทยพับลิก้า: เรื่องใหญ่ๆ ที่ว่าได้แก่เรื่องอะไรบ้าง

เรื่องสวัสดิการอย่างกองทุนประกันสังคม ระบบบำเหน็จบำนาญ ใครๆ ก็รู้ว่ากำลังจะเจ๊ง นี่คือจังหวังเวลาว่าควรจะทำอะไร มันมีผลต่ออนาคตในระยะยาว

เรื่องรัฐวิสาหกิจ ตกลงคุณให้ซูเปอร์บอร์ดทำอะไร รัฐบาลพยายามบอกว่าซูเปอร์บอร์ดย่อมาจาก “ที่ปรึกษา” เป็นซูเปอร์ไวเซอรี (supervisory) ผมบอกไม่ใช่ ซูเปอร์บอร์ด ตามคำนิยามเดิม ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ตอนปี 2546 หรือของผมเอง 2553 เสนอทั้งคู่เลยนะ ไม่ใช่ซูเปอร์ไวเซอรีนะครับ มันคือซูเปอร์พาวเวอร์ (superpower) ช่วยที่จะเข้ามาบริหารจัดการ แต่ถ้าเป็นแค่ซูเปอร์ไวเซอร์มันเสียของ

มี พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าอยู่แล้ว ทำให้มันใช้ง่าย ใช้ได้จริง พ.ร.บ.ธุรกิจต่างด้าว ไม่ใช่ทำแบบหม่อมอุ๋ย (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ) ทำให้เข้มงวดขึ้นนะ ตั้งโจทย์คำถามจริงๆ เลย ว่าสุดท้ายแล้วกฎหมายนี้มันคุ้มครองใคร คุ้มครองประชาชนจริงหรือเปล่า หรือคุ้มครองนายทุนบางกลุ่มเท่านั้น

ไทยพับลิก้า: เรื่อง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ถ้าธุรกิจผูกขาดโดยธรรมชาติ จะทำอย่างไร

เรื่องผูกขาดโดยธรรมชาติของธุรกิจอย่าง ซีพี หรือ ปตท. ที่บางคนพูดกัน มันไม่ใช่ธรรมชาตินะ คำว่าธรรมชาติตามหลักเศรษฐศาสตร์คือตามธรรมชาติแข่งขันไม่ได้ คือระบบสาธารณูปโภค แต่ว่าหลายๆ เรื่องมันไม่ใช่ แต่ตอนนี้มันเป็นปัญหา ผมไม่ได้ว่าอะไรเขา เขาเก่ง เครือซีพีเก่งจริง ทุกอย่างที่ทำก็ทำด้วยฝีมือ ไม่เคยมีสัมปทาน ไม่เคยมีอะไร มีแต่ความชื่นชนในความเก่ง แต่มันไม่ใช่เรื่อง คนละประเด็นกัน

แต่ตามข้อเท็จจริง ในทางปฏิบัติ สินค้าส่วนใหญ่ใครผลิตก็แล้วแต่ จะขายได้ต้องขายผ่านเครือข่ายของห้างสมัยใหม่ หรือในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งเมื่อพวกนี้ครอบงำช่องทางการเข้าถึงตลาด เขาก็จะเป็นผู้มีอำนาจ ทั้งในแง่ของผู้กำหนดว่าเราในฐานะของผู้บริโภคมีสิทธิเลือกซื้อสินค้าอะไรบ้าง ราคาเท่าไร เรานึกว่าเรามีทางเลือก แต่จริงๆ ไม่ใช่หรอก พวกนี้เขาเลือกมาให้เราแล้ว เราขาดทางเลือกที่แท้จริง

ผู้ประกอบการจากนี้ไปเติบโตยาก เพราะว่าส่วนเกินกำไรหรือมาร์จินถูกยึดไปหมด ซึ่งตรงนี้มันเป็นคำถามว่าจะมีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจระยะยาว คนโตยาก ผู้ผลิตโตยาก เสียเปรียบในแง่ขนาด

จึงเป็นคำถามว่า สุดท้ายแล้ว พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม หรือควรจะต้องจำกัดขนาดธุรกิจไว้หรือไม่ เรากำลังจะบอกว่ากลไกตลาดมันไม่ทำงาน เพราะว่ามันมีคนได้เปรียบมากเกินไป แล้วไม่ได้บอกว่าเขาได้เปรียบโดยไม่มีที่มา เขาทำมาด้วยตนเองไม่ว่ากัน แต่ในตัวของมันเองมันไม่ใช่คำตอบสุดท้าย

รัฐบาลนี้ ทำแค่สามสี่เรื่องนี้นะ ก็พอแล้ว

กรณ์ จาติกวณิช
กรณ์ จาติกวณิช

ไทยพับลิก้า: มีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปภาษี อย่างไรบ้าง

ถ้าถามผมนะ ต้องถอยหลังก่อน เราต้องเพิ่มรายได้ภาษีเพราะอะไร หนึ่ง ขาดดุลอยู่ แต่รัฐบาลก็กู้ได้นี่ ก็มีสถานะการคลังดีพอที่จะกู้ได้ ไม่มีปัญหาเลย ทำไมต้องไปผลักภาระให้แก่ประชาชน นี่ตั้งเป็นคำถาม สอง มีโครงการประชานิยมก็ไปเลิกตรงนั้นสิ ทำไมต้องผลักภาระมาให้ประชาชน ต้องตอบคำถามว่าจำเป็นไหมว่าคลังต้องเก็บภาษีเพิ่ม ผมไม่แน่ใจ นอกจากคุณ (รัฐบาล) จะเอารายได้มาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจริงๆ เช่น เรื่องระบบบำเหน็จบำนาญ ที่มีเงินในกองทุนไม่เพียงพอ รัฐต้องใส่เพิ่ม นอกจากจะมีเรื่องอย่างนั้นที่มีความชัดเจนรัฐบาลค่อยว่ามา

แล้วค่อยมาดูว่า ถ้าต้องการรายได้มากขึ้น จะเพิ่มภาษีตัวไหน เป็นปัญหาที่สอง ตอนนี้รัฐบาลเหมือนเป็นบริษัทหนึ่งที่ผู้บริหารมาบอกผู้ถือหุ้นว่าขอเพิ่มทุนหน่อย ผู้ถือหุ้นก็ต้องถามว่าเพิ่มทำไม ทำไมไม่กู้แบงก์แทนการเพิ่มทุน ผู้บริหารบอกเหนื่อยกว่า ขอเพิ่มทุนดีกว่า เพราะเอาเงินจากผู้ถือหุ้นง่าย คุณ (รัฐบาล) อย่าทำอะไรง่ายๆ ผลักภาระทุกอย่างมาให้ประชาชน

ผมคิดแล้วอยากได้จริงๆ จากใจเลย เรื่องภาษี คือตั้งหลักให้ดี รัฐบาลทำเพื่ออะไร ทำเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือ ผมเชื่อว่าภาษีมรดกไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แท้จริงไม่ใช่คนรวยรวย แต่ปัญหาที่แท้จริงคือคนจนมันรวยไม่ได้ การทำให้คนรวยมันจนลงด้วยการเก็บภาษีมันไม่ได้ช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่คนยากจน วิธีเดียวที่จะเพิ่มโอกาสให้คนยากจนได้คือส่งเสริมโอกาสให้เขา เพราะฉะนั้น รัฐบาลทำสองเรื่องให้เป็นเรื่องเดียวกัน คือ ถ้าคิดอยากที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจริง เปลี่ยนเงินที่ได้จากภาษีมรดกเป็นกองทุนการศึกษาให้แก่ผู้ด้อยโอกาสจะดีกว่า

การเก็บภาษีมรดกแบบที่ทำอยู่ เงินจะเข้าไปอยู่ในคลัง แล้วคลังก็เอาไปจำนำข้าวไง แบบนี้คนจ่ายก็ไม่อยากจ่ายภาษี ผมหนีดีกว่า แต่ถ้าการเก็บภาษีมรดกไปเป็นกองทุนการศึกษาผู้ด้อยโอกาส ผมเชื่อว่านี่เป็นวิธีใช้เงินภาษีที่ถูกจุดที่สุด มองในมุมของผู้เสียภาษี ถ้าเงินผมจะเป็นทุนการศึกษาให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ผมยอม เต็มใจ เพราะฉะนั้น มันจะสร้างอารมณ์ที่ดีกับตัวภาษี กระทรวงคลังไม่ทำ ไม่ชอบ คลังคิดว่าเงินรายได้ทุกบาทต้องเข้าคลังก่อน

ไทยพับลิก้า: ในรายละเอียด ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีน้ำมัน ภาษีสรรพสามิตจากราคาขายปลีก มีความเห็นอย่างไร

ตอนผมเข้าไปอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใหม่ๆ ผมเรียกประชุมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) นั่งคุยกันว่าเราควรมีเรื่องอะไรที่อยากทำ หลักๆ ตอนนั้นผมจำได้ว่ามีอยู่ 3 เรื่อง ที่ดินสิ่งปลูกสร้าง มรดก และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ผมบอกเขาบอกว่า กอช. ชัวร์ เพราะว่านี่คือทั่วไป ภาษีที่ดินชัวร์ แล้วก็ไปคุยกับนายกรัฐมนตรี คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เขาก็หนุนเต็มที่ ภาษีมรดกไม่ชัวร์ ไม่ได้ถึงกับไม่เอา แต่ไม่ชัวร์ หนึ่งคือกรมสรรพากรไม่เอา สรรพากรไม่เคยเอา มันไม่คุ้มเหนื่อย อีกอย่างคือดันสองเรื่องพร้อมกันจะเหนื่อยเกินไป บารมีทางการเมืองยังไม่ถึง ก็เลยเอาเรื่องที่สำคัญกว่า ภาษีที่ดินสำคัญกว่าภาษีมรดกเยอะมาก

หนึ่ง รายได้ที่ได้จากภาษีมรดกมันไม่เยอะ ตัวเลขที่พูดกัน 2-3 แสนล้าน มันไม่มีทาง อันดับแรก การคำนวณมันคำนวณจากผู้รับ สมมติ 50 คน แบ่งให้ไม่มีใครได้ถึง 50 ล้าน ก็ไม่เสีย แล้วก็สอง รายได้ไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นใครตาย มันวางแผนไม่ได้ว่าจะได้มากน้อยแค่ไหน สาม หลีกเลี่ยงได้ง่าย สำหรับคนที่ขยันที่หลีกเลี่ยงก็จะทำได้ มันจะเป็นความไม่เป็นธรรม จะมีคนที่รวยมากแต่ไม่จ่ายกับรวยน้อยจ่ายมากกว่า สรรพากรถึงไม่ชอบ ไม่ชอบภาษีที่เก็บแล้วไม่เป็นธรรมได้

ส่วนรายละเอียดภาษีที่ดิน ผมไม่ติดใจอะไรเลย อย่างเช่น ภาษีที่ดิน เราออกแบบเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่ผมว่าเราต้องดูหลักให้ดีว่าเจตนาของมันคืออะไร หลักๆ ของผมก็น่าจะต้องการกระตุ้นให้มันมีการใช้ทรัพยากรให้ดี ให้มีคุณค่ามากที่สุด ในที่นี้คือที่ดิน พูดง่ายๆ ผมลองตั้งหลักใหม่ว่า ลองเปลี่ยนเป็นแค่ภาษีที่ดินไหม

ส่วนสิ่งปลูกสร้าง เราไปปรับปรุงภาษีโรงเรือนให้มันทันสมัยมากยิ่งขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น สาเหตุเพราะอะไร เพราะว่าหลักภาษีที่ดินของผม ผมจะบอกว่าก็ควรจะใช้ที่ให้คุ้มค่ามากที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าคุณทิ้งเป็นที่รกร้างอะไร คุณก็จะโดนภาษีสูงขึ้น อันนี้เป็นการกระตุ้นว่าคุณต้องเอาที่ไปใช้ประโยชน์

ส่วนการเก็บภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากราคาขายปลีก ผมไม่มีความรู้ทางเทคนิคพอนะ แต่ผมชอบแนวคิดนะ มันง่ายดี แล้วมันยุติธรรม เพียงแค่การเปลี่ยนวิธีเก็บเท่านั้นเอง ผมไม่ค่อยเข้าใจ เวลาแนวคิดเก็บภาษีตามมูลค่าหน้าโรงงาน มันเท่าไรไม่รู้ ทะเลาะกันเยอะแยะ เรื่องบุหรี่เรื่องอะไรต่ออะไร เก็บตามในสูตรแบบเดียวแบบ VAT คือบวกไปเลยตามราคาขายง่ายที่สุด ก็ยุบไป รวมกัน ก็อธิบดีหายไปคนหนึ่ง

ไทยพับลิก้า: มาตรการในการหารายได้ไม่ชัดเจน แต่มีรายจ่ายทันทีเรื่องการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ

ที่จริงเรื่องการขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการมีผลกระทบต่อความรู้สึกคนเยอะนะ ทำให้เห็นว่า พอปฏิวัติทีไร พวกข้าราชการก็ได้ แล้วพวกนี้สุดท้ายมันสะท้อนให้เห็นภาพการออกมาตรการ ก็คือเขาก็ฟังแต่ข้าราชการ

ไทยพับลิก้า: ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจไทยในปีหน้าอย่างไร

ประเทศเรา ถ้าจะบรรลุเป้าหมายเป็นประเทศพัฒนาได้ก่อนที่เราจะแก่ เราต้องมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 4% ขึ้นไป 20 ปีติดต่อกันจากวันนี้ ภายใน 15 ปีด้วยซ้ำไป เราจะเข้าสู่สังคมวัยชรา แล้วก็บวกกับรายได้ต่อหัวประชาชน จีดีพีต่อหัว ประเด็นคือเราจะไปถึงเส้นชัยก่อนที่เราจะแก่หรือไม่ ตอนนี้จีดีพีเฉลี่ยของโลกประมาณ 13,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว ของไทยอยู่ที่ 5,500 ดอลลาร์ เราต่ำกว่าเฉลี่ยเยอะนะ ตัวชี้วัดปัจจุบันของประเทศรายได้ปานกลางอยู่ที่ 12,000 ดอลลาร์ ถึงจะหลุดออกจากกับดัก ใช้เวลา 20 ปี เพราะฉะนั้นผมถึงบอกเรื่องใหญ่ๆ มีเยอะเลย ส่วนหนึ่งที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นเพราะประเทศเราบริหารแบบนี้ไม่ได้แล้ว อันนี้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนผมคิดว่าในโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจสมัยใหม่ รัฐบาลจะบริหารจากส่วนกลางอย่างเดียว จากคนคนเดียว มันทำได้ยาก

ข้าว "อิ่ม"
ข้าว “อิ่ม”

ไทยพับลิก้า: วิเคราะห์การเมืองกรณีอาจมีการนิรโทษกรรมอีกรอบ และคาดการณ์หลังรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นวาระอย่างไร

ตอนนั้นไม่รู้สินะ…แต่ตอนนี้ชัดเจนเลย ที่เขาจะห้ามนักการเมืองที่มีคดีบางอย่างติดตัวมามีสิทธิทางการเมืองแล้วเริ่มนับหนึ่งใหม่ คือแนวโน้มเขาอยากให้เป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ทหารเข้ามาก็ดูว่าคุณ (นักการเมือง) ทะเลาะกัน ไม่ได้ดูว่าใครผิดใครถูก ไม่ได้ดูที่มา ก็เจ๊าๆ กันไป เพราะฉะนั้น หลายๆ อย่างติดอยู่กับคะแนนนิยม ต้องการทำให้เศรษฐกิจดี เลยเลิกประชานิยมไม่ได้ รัฐบาลทหารของไทยไม่เหมือนที่อื่น แล้วก็ตอนปฏิวัติครั้งนี้ไม่ได้มีปืนหรือรถถังออกมาเลย แค่ พล.อ. ประยุทธ์บอกคำเดียวว่ายึดอำนาจแล้วยอมเลย อาจจะเป็นเพราะทุกคนยอมรับ คือไม่ได้หมายถึงชอบ แต่หมายถึงว่าเรารับได้ เราชิน แล้วทหารที่อยู่ได้ไม่ใช่เพราะคนกลัวปืน แต่เขาอยู่ได้เพราะคะแนนนิยม คนพร้อมจะยอมรับ ทหารก็ต้องเลี้ยงคะแนนนิยมเอาไว้ เหมือนรัฐบาลที่มาจากประชาชน ไม่ได้ทำตัวเหมือนเผด็จการ

ไทยพับลิก้า: ประเมินผลงานการปราบคอร์รัปชันของรัฐบาลอย่างไร

ศูนย์ไงครับ คุณ (ผู้สื่อข่าว) มีหน้าที่ต้องบอกผมว่าที่ไม่ให้ศูนย์คืออะไร