ThaiPublica > คนในข่าว > “เกษมสันต์ จิณณวาโส” เลขาธิการ สผ. ไขข้อข้องใจ ทำอย่างไรให้โครงการผ่าน EIA/EHIA – “EIA ไม่ใช่ผีร้าย การเมืองชี้นำไม่ได้ แต่บอกความปรารถนาได้”

“เกษมสันต์ จิณณวาโส” เลขาธิการ สผ. ไขข้อข้องใจ ทำอย่างไรให้โครงการผ่าน EIA/EHIA – “EIA ไม่ใช่ผีร้าย การเมืองชี้นำไม่ได้ แต่บอกความปรารถนาได้”

15 ธันวาคม 2014


ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียมสูงระฟ้า กลางเมืองกรุง

ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่แค่ไหนของรัฐบาล

จำเป็นต้องมี “บัตรผ่าน” จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ในนามของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และบางโครงการที่ซับซ้อนต้องได้บัตรผ่านที่เรียกว่า รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA

บางโครงการถูกคัดค้านยาวนานนับทศวรรษ กว่าจะได้ “บัตรผ่าน” บางโครงการต้อง “แก้รายงงาน” ครั้งแล้วครั้งเล่ากว่าจะได้ “บัตรผ่าน”

เฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมในเมืองกรุง เข้าคิวรอ “บัตรผ่าน” มหาศาลเดือนละกว่า 120 โครงการ

จากนี้ไปคือยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของการถึงทางแยกระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดทำ EIA และ EHIA

“ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส” ผู้กุมบังเหียน สผ. จะชงวาระปฏิรูประบบ EHIA เข้าสู่วาระปฏิรูปประเทศ ผ่านสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

ที่มา-ที่ไป และกระบวนการก่อนฝ่าผ่าน “กฎเหล็ก” ทั้ง EIA และ EHIA ยากหรือง่ายแค่ไหน อย่างไร “ดร.เกษมสันต์” ไขคำตอบตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป

ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส
ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส

ไทยพับลิก้า: สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับอีไอเอ อีเอชไอเอ ซึ่งหลายคนถึงกับมองว่าเป็นปัญหาในการลงทุนนั้น ข้อเท็จจริงคืออะไร

สผ. ตามกฎหมายกำหนดให้จำแนกประเภทกิจกรรมหรือโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหมายถึงว่า ไม่ได้ห้ามทำโครงการ แต่หากจะทำโครงการประเภทนี้ต้องคิดล่วงหน้าว่าจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง

สมมติว่าจะลากไฟฟ้าแรงสูงข้ามจังหวัดซึ่งต้องผ่านป่า แน่นอนว่าต้องมีการแผ้วถางป่า ซึ่งการทำอีไอเอนั้นต้องคิดว่าการแผ้วถางดังกล่าวจะกระทบระบบนิเวศป่าไม้หรือไม่ ถ้าเกิดกระทบจะฟื้นฟูอย่างไร

จะเห็นได้ว่าเราไม่ได้ห้ามทำโครงการที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ว่ามีหลักการคือจะลด บรรเทา เยียวยา และแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ซึ่งรายละเอียดของหลักการนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ว่าเป็นทะเล ป่าชายเลน ป่าไม้ ฯลฯ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีลักษณะของผลกระทบต่างกัน ฉะนั้น การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจึงเหมือนกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ นั่นก็คือพอศึกษาแล้วพบว่าโครงการดังกล่าวมีโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แต่โครงการศึกษาไม่ได้บอกผลกระทบหรือแนวทาง เป็นเพียงทางเลือกในการลงทุนเท่านั้นว่าทางเลือกไหนได้ผลประโยชน์สูงสุด ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุด ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่ผลกระทบดังกล่าวก็จะพูดในวงกว้าง ไม่ได้เจาะจง เป็นเรื่องทั่วๆ ไป เช่น เกิดน้ำเสีย มีฝุ่น มีเสียงรบกวน กล่าวได้ว่าอีไอเอคือเครื่องมือจริงๆ

แต่ที่มีคนบอกว่าติดอีไอเอ นั่นเพราะอีไอเอไม่ผ่าน สาเหตุที่ไม่ผ่านก็คือทำรายงานไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ หรือเสนอความเห็นแล้วผู้ชำนาญการไม่เห็นด้วย เช่น กรณีบ้านจัดสรรหรือคอนโด สิ่งที่ต้องมีคือ 1. พื้นที่จอดรถร้อยละ 50 ของจำนวนห้องหรือบ้านทั้งหมด 2. พื้นที่สีเขียว 3. เส้นทางหนีไฟ ฯลฯ ซึ่งหลักการเหล่านี้ถือเป็นข้อดีที่มีคนคิดแทนผู้บริโภค เพราะถ้าหากไม่มีข้อมูลเหล่านี้หรือผู้ทำรายงานไม่ใส่ใจหรือขาดความรู้ความเข้าใจจริงๆ ก็จะทำให้รายงานไม่ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งจะส่งผลให้โครงการเดินต่อไม่ได้

สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับภาครัฐคือ เมื่อจะทำโครงการภาครัฐรู้อยู่แล้วว่าจะต้องทำอีไอเอ ดังนั้นจึงตั้งงบประมาณเพื่อทำอีไอเอ ซึ่งบางโครงการอยู่ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ เจ้าของพื้นที่เขาไม่ให้ บางทีภาครัฐด้วยกันขอใช้พื้นที่ก็เกรงใจกัน จึงอนุญาตให้ไปศึกษาเก็บข้อมูลก่อน ซึ่งผมมองว่าจะให้เข้าไปศึกษาทำไม เพราะถ้าหากไม่เห็นด้วยที่จะให้มีโครงการตั้งแต่ต้นก็ให้เรื่องจบไปโดยไม่ต้องมาศึกษา ซึ่งถ้าหากเราทำแบบนี้ได้จะประหยัดงบประมาณมหาศาล เพราะค่าใช้จ่ายในการศึกษาเรื่องหนึ่งมีมูลค่าหลายล้านบาท ทั้งค่าออกแบบ ค่าใช้จ่ายบุคลากรตลอดปี ซึ่งคำนวณคร่าวๆ เฉพาะค่าศึกษาโครงการมีมูลค่าถึง 10 ล้านบาท ค่าออกแบบประมาณ 50-100 ล้านบาท แล้วแต่ขนาดโครงการ ยังไม่รวมถึงค่าก่อสร้างอีก

ดังนั้น จากปัญหาเหล่านั้นที่พบจากประสบการณ์ทำงานหลายปีที่ผ่านมา จึงมีโอกาสได้คุยกับผู้บริหารหลายแห่งว่า ต่อจากนี้ไปโครงการที่อยู่พื้นที่อนุรักษ์หรือสงวนหวงห้าม ขอให้หน่วยงานที่จะอนุญาตให้ใช้พื้นที่และหน่วยงานที่จะขออนุญาตร่วมกับสำนักงบประมาณตกลงร่วมกันก่อนที่จะของบประมาณ ซึ่งถ้าหากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาตก็จะได้ไม่ต้องทำโครงการ เอาสมองไปคิดอย่างอื่นแทน ซึ่งประหยัดทั้งเงินและเวลา และที่สำคัญที่สุดคือหน่วยงานรัฐไม่ต้องเคืองกัน และกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจของคนก็มากขึ้นด้วย

ไทยพับลิก้า: ปัจจัยที่ทำให้อีไอเอหรืออีเอชไอเอผ่านหรือไม่ผ่านจาก สผ. คืออะไร นอกจากปัจจัยด้านวิชาการหรือระเบียบกฎหมายแล้ว มีปัจจัยทางการเมืองเป็นแรงผลักหรือไม่ น้ำหนักของสองข้างทำให้สมดุลอย่างไร

ในทางวิชาการการเมืองชี้นำไม่ได้ แต่การเมืองบอกความปรารถนาได้ เช่น อยากให้ตรงนี้มีแหล่งน้ำ แต่ในทางเทคนิคเมื่อเจ้าหน้าที่ลงไปสำรวจตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เหมาะสม เช่น อยู่ในรอยแตกของโครงสร้างทางธรณีทำให้เก็บกักน้ำไม่อยู่ ซึ่งข้อมูลการศึกษาทางกายภาพเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในรายงานด้วย เพราะฉะนั้น ข้อมูลเหล่านี้จะตอบคำถามได้ว่าทำไมบางโครงการผ่านหรือไม่ผ่าน นอกจากนี้ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งคือ สภาพที่ตั้งโครงการ องค์ประกอบ โครงสร้างทางธรณี และสภาพพื้นที่ที่ไม่อนุญาตให้ก่อสร้างตามกฎหมาย เช่น พื้นที่ป่าต้นน้ำ (1A) ถือเป็นคำตอบเด็ดขาดว่าไม่ให้ก่อสร้างโครงการใดๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า: เวลาโครงการไหนติดปัญหาอีไอเอ สังคมจะพุ่งเป้าไปที่คนกำกับนโยบายหรือฝ่ายการเมืองมากกว่าจะรับฟังว่าปัญหาอีไอเอคืออะไร ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น

เรื่องนี้แล้วแต่มุมมองของคน อย่างกรณีแม่วงก์เป็นโครงการที่ผมเคยพิจารณามาก่อนสมัยที่เป็นผู้อำนวยการกองโครงการเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งพิจารณาโครงการทั้งหมดของกรมชลประทานในปี 2540 ในขณะนั้นการพิจารณาไม่ค่อยซีเรียสเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูเฉพาะด้านผลกระทบอย่างที่บอกไป เรื่องชุมชนก็แทบไม่มีปัญหาเพราะให้ทั้งที่ดินและเงินชดเชยแก่ประชาชน ต่างจากปัจจุบันที่พื้นที่มีจำกัดไม่สามารถย้ายคนไปไหนได้อีกแล้ว

พอเห็นมุมมองอย่างนี้แล้ว ผมก็มาคุยกับฝ่ายการเมือง ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก็บอกว่า ให้ผมพิจารณาเรื่องนี้ตามวิชาชีพ ซึ่งผมก็พิจารณาตามวิชาชีพเช่นกัน

ทั้งนี้ ก่อนจะมีวาระประชุมเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็มาแสดงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยโดยเฝ้าอยู่หน้า สผ. ผมก็ชวนเขามากินกาแฟ และอำนวยความสะดวกเรื่องอาหาร ห้องน้ำให้ เพราะไม่ได้คิดว่าเขามาประท้วง ต่างคนต่างทำหน้าที่ ซึ่งเราก็รู้ว่าเคยเป็นคณะผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่มีมุมมองไม่เหมือนกับองค์กรเอกชนอื่นๆ เคยคุยรายละเอียดกันแล้วว่ากระบวนการขั้นตอนเป็นอย่างไร

“แต่เมื่อคุยกับฝ่ายนโยบาย ด้านคุณศศินก็เสนอทางเลือกที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้ คชก. ฟัง แล้ว คชก. ก็พิจารณาข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่ส่วนหนึ่งของรายงานอีเอชไอเอ เพราะคนที่ยื่นอีเอชไอเอคือกรมชลประทาน ซึ่งในวันนั้นที่ปรึกษาที่ทำอีเอชไอเอกับ คชก. ก็ถกเถียงกันในเรื่องนี้ ผมก็ไม่ได้ลำเอียงนะ แต่ผมเชื่อข้อมูลของกรมอุทยานฯ มากกว่าเพราะเรื่องสภาพป่าไม้บริษัทที่ปรึกษาจะรู้ดีว่ากรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ได้อย่างไร ดังนั้น ที่ประชุมจึงยุติที่ให้กรมชลประทานและกรมอุทยานฯ ไปตกลงกันก่อน เพราะรายงานอีเอชไอเอโครงการภาครัฐไม่มีระยะเวลากำหนด จะส่งเข้า-ออก 10 ปีก็ได้”

ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ มีหนังสือมายัง สผ. และมีข้อสรุปว่าไม่อนุญาตให้ก่อสร้างเขื่อน ซึ่งหลังจากที่กรรมการพิจารณาเห็นเอกสารดังกล่าวก็บอกว่า ถ้ารู้ว่าเป็นอย่างนี้ตั้งแต่ต้นจะได้จบโครงการไป ไม่ต้องมาพิจารณากันอยู่ ดังนั้น กรณีเขื่อนแม่วงก์เรื่องจึงยุติไปตามระบบ

“ผมไม่เคยแถลงข่าวเลยว่า คชก. มีมติไม่เห็นชอบ เพราะว่าตามกฎหมายแล้วมีหน้าที่ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (กก.วล.) และคณะรัฐมนตรี ไม่สามารถลงมติได้โดยกฎหมาย เมื่อมีโครงการยื่นเรื่องเข้ามา สผ. จะวิเคราะห์และให้ความเห็นเบื้องต้นในแง่มุมต่างๆ ไม่ได้ชี้เป้าอะไร”

ไทยพับลิก้า: ความเห็นชอบของ คชก. ส่งผลให้ผู้พิจารณาในขั้นต่อไป เช่น คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอ.สส.) กก.วล. ฯลฯ เห็นชอบด้วยจริงหรือไม่

ไม่จริง อย่าง คชก. มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ป่า เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ธรณีวิทยา ฯลฯ เรียกได้ว่าครบทุกสาขาในการพิจารณารายงาน แล้วบุคคลที่มาทำหน้าที่ตรงนี้เขาทำด้วยใจรักและอยากเสียสละ ผู้ชำนาญการบางคนที่เป็นอาจารย์การมาทำงานตรงนี้ก็เปิดโลกทัศน์ตัวเองที่จะวิเคราะห์และสอนนักเรียนต่อไป

สำหรับ กอ.สส. ก็ทำหน้าที่ของเขา แต่ตามกฎหมายแล้วกำหนดให้ กอ.สส. ให้ความเห็นประกอบการพิจารณา เป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับ คชก. ซึ่งผมเห็นว่าไม่ตรงวัตถุประสงค์ สังเกตจากสถิติการพิจารณารายงานอีเอชไอเอที่ สผ. เห็นชอบไปกว่า 20 โครงการ พบว่า กอ.สส. เห็นชอบไม่ถึงครึ่ง

ไทยพับลิก้า: มีการเปรียบเทียบว่าการให้ใบอนุญาตสร้างโรงงานของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือใบ รง.4 ยากพอๆ กับการขอผ่านอีไอเอ/อีเอชไอเอจาก สผ. ข้อเท็จจริงมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ก่อนหน้านี้ผมอธิบายเรื่องอีไอเอไปแล้วอย่างชัดเจน ส่วนอีเอชไอเอนั้นเกิดขึ้นมาตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่เรื่องของ สผ. แต่ขณะที่ออก พ.ร.บ. ดังกล่าว ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและ ทส. (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ตกลงกันแล้ว ทส. รับเรื่องมา

แต่ ณ จากเวลานี้ไป ผมจะเสนอให้นำเรื่องนี้คืนไปยังกระทรวงสาธารณสุข ผมอยากเห็นการวิเคราะห์ผลกระทบเรื่องสุขภาพที่เกิดจากทำโครงการซึ่งนำมารวมไว้กับอีไอเอกลับคืนไปยังเจ้าของเดิมคือกระทรวงสาธารณสุข แล้ว สผ. ก็พิจารณาเฉพาะอีไอเอ ไม่ใช่เอามาฝากรวมแบบนี้

“การฝากรวมแบบนี้ทำให้เกิดปัญหามาก คือ 1. ต้องใช้บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขเช่น แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มาเป็นกรรมการ ซึ่งกรรมการเขาก็เบื่อ เพราะว่าหลังจากพิจารณาในส่วนของตัวเองแล้วต้องมารับงานในกระบวนการอื่นๆ ทั้งๆ ที่งานของตัวเองก็เยอะอยู่แล้ว”

ในช่วงปฏิรูปนี้ผมจะไปเสนอคืนผ่านสภาปฏิรูป ซึ่งขณะนี้กรรมาธิการกำลังพิจารณา แล้วมีอนุกรรมาธิการชุดปฏิรูปเรื่องอีไอเอ กำลังคุยกันเรื่องนี้อยู่ ซึ่งต่อไปก็อยากให้แยกรายงานเป็น 2 เล่ม คือเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องสุขภาพ

ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส
ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส

ไทยพับลิก้า: ในการพิจารณารายงานอีไอเอ เมื่อเทียบกับการออกใบอนุญาต รง. 4 แล้วมีลักษณะการยื้อการดึงเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ เป็นไปได้หรือไม่

ไม่มี เพราะในปัจจุบันสถานภาพโครงการของรัฐและเอกชนเหมือนกัน คือ เมื่อยื่นโครงการให้ สผ. พิจารณาแล้ว 30 วันแรก สผ. จะอ่านรายงานทั้งหมด ถ้ามีข้อมูลไม่ครบถ้วนก็จะเรียกเพิ่ม และภายใน 45 วันนำเข้าให้ คชก. พิจารณาครั้งแรก หลังจาก คชก. พิจารณาแล้วถ้าไม่มีข้อมูลใดติดขัดก็เห็นชอบจบภายใน 75 วัน หากมีประเด็นไหนขาดตกพร่องบริษัทที่ปรึกษาต้องกลับไปทำรายงานมาให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน

แต่บางครั้ง บริษัทที่ปรึกษาซึ่งรับทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอจากบริษัทเจ้าของโครงการไม่สามารถแก้ไขรายงานได้ทันเวลาตามที่ สผ. กำหนด แล้วแจ้งบริษัทเจ้าของโครงการว่าติดอยู่ที่ สผ. แต่ความจริงคือแก้ไขรายงานไม่ทัน ทั้งๆ ที่การแก้ไขไม่ได้ยากเพราะเพียงแค่ตอบคำถามจาก คชก. ซึ่งมีคู่มือการถามอยู่แล้ว คำถามก็ซ้ำเดิมทุกครั้ง

ทั้งนี้ อีไอเอไม่ใช่ผีร้าย แต่เป็นกฎหมายที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใช้ประโยชน์ได้ประโยชน์ ในขณะที่ผู้พัฒนาโครงการอาจจะรู้สึกว่าล่าช้าเกินไป จึงทำให้เกิดปัญหาบ้างในบางโครงการ

ไทยพับลิก้า: คนทำอีไอเออยู่ตรงกลางระหว่างปัญหาฝ่ายนโยบายหรือฝ่ายการเมือง และลูกค้าซึ่งมีทั้งเอกชนและภาครัฐหรือไม่ แล้วจะบริหารจัดการปัญหานี้อย่างไร

สำหรับโครงการเอกชน ตอนนี้ สผ. ก็ช่วยเหลือเยอะในการคุยกับกรรมการ เช่น ไม่ให้ คชก. ให้ความเห็นเกินขอบเขตที่กำหนด เพราะจะผิดกฎหมายได้ แต่ถ้าจะเอาประสบการณ์ความรู้ที่มีมาใช้เป็นมาตรการและพิสูจน์แล้วว่าเป็นที่ยอมรับก็สามารถนำมาให้ความเห็นได้ แต่บางกรณีที่ คชก. ให้ความเห็นแล้วบริษัทที่ปรึกษาไม่แก้ไข อาจด้วยงานเยอะ พอเจ้าของโครงการมาติดตามงานก็อ้างว่าติดอยู่ที่ สผ. นั้น ผมจึงแก้ปัญหาด้วยการให้บริษัทเจ้าของโครงการเข้าร่วมฟังการพิจารณาของ คชก. ด้วยทุกครั้ง เพื่อให้รับทราบกระบวนการทำงานและปัญหาของรายงานไปพร้อมๆ กัน

“ตอนนี้ผมเปิดบริการแบบใหม่ เรียกว่า service window คือสามารถขอพบขอคุยกับผม รองเลขาธิการ สผ. หรือเจ้าหน้าที่ ได้หมด เช่น บริษัทที่ปรึกษาบอกว่าผู้ชำนาญการคนหนึ่งให้ความเห็นเกินจริงมากไป ผมก็จะเรียกเจ้าหน้าที่มาสอบถามข้อเท็จจริง แล้วนัดผู้เชี่ยวชาญคนนั้นมานั่งคุยกัน ก็ได้ความว่าอาจารย์อยากรู้เพื่อไปทำงานวิจัย ดังนั้นผมจึงบอกอาจารย์ว่า ขอเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโครงการได้ไหม แล้วจะให้บริษัทที่ปรึกษาไปแก้ไขให้ เนื่องจากบางเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการแล้วอาจารย์บางคนมีความทะนงตนสูง ดังนั้นเราจึงพยายามพูดคุยและให้บริการทุกคนหากใครมีปัญหาหรือมาขอพบ และก็พยายามช่วยเหลือเต็มที่”

ไทยพับลิก้า: ในอดีตมี คชก. ที่พิจารณาอีไอเอหรืออีเอชไอเอโครงการของรัฐโดยเฉพาะ แต่ปัจจุบันยุบไปแล้วเนื่องจากสาเหตุใด

คชก. ชุดพิจารณาโครงการของรัฐ เป็นไปตามกฎหมายเดิมที่กำหนดให้แยก คชก. ที่พิจารณาโครงการรัฐและโครงการเอกชนออกจากกัน แต่เกิดปัญหาว่า คชก. มีมาตรฐานที่ใช้พิจารณาไม่เหมือนกัน ดังนั้น ปัจจุบันจึงยุบ คชก. ที่พิจารณาโครงการรัฐ และมาใช้ คชก. ร่วมกับโครงการเอกชน

คำว่ามาตรฐานมาจากความเห็นเฉพาะตัว ในขณะที่ความเห็นตามกฎหมายถูกบังคับอยู่แล้ว ซึ่งคนที่จะตอบหลักกฎหมายพื้นฐานคือบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งจะต้องทราบข้อกฎหมาย แต่บางครั้งก็มีหลักการเพิ่มเติมจากประสบการณ์การทำงานของอาจารย์ซึ่งเป็น คชก. ด้วย เช่น ที่จอดรถของคอนโด บางแห่งทำทางขึ้นดีบางแห่งทำทางขึ้นเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากความปลอดภัยขึ้นอยู่กับ 1. วงโค้งของถนนในลานจอดรถ 2. วงโค้ง และ 3. ระยะห่าง ซึ่ง คชก. จะช่วยดูเรื่องเหล่านี้ให้ อีกทั้งยังคำนึงถึงปัญหารถติดขณะเข้า-ออกคอนโดในช่วงเวลาเร่งด่วนด้วย และเขียนประกอบในอีไอเอ ซึ่งรายละเอียดต่างๆ ที่ปรากฏในอีไอเอเป็นเรื่องน่ารำคาญ แต่คนอยู่อาศัยจะได้ประโยชน์

“ผมเป็นคนเริ่มบอกบริษัทที่ปรึกษาว่า โครงการของคุณดีนะ ให้เอารายละเอียดในอีไอเอไปเขียนโฆษณาว่า ที่พักอาศัยนี้อีไอเอผ่านแล้วและมีข้อดีอะไรบ้าง แต่วันหนึ่งก็เห็นโฆษณาที่น่าขัดใจว่า “EIA Approve” ซึ่งข้อเท็จจริงคือผมอยากให้ใส่เนื้อหาสาระ เช่น มีพื้นที่สีเขียว มีที่จอดรถได้มาตรฐาน ฯลฯ แต่ว่า ณ วันนี้หลายคนเห็น EIA Approve ก็เข้าใจแล้ว นอกจากนี้ที่พักอาศัยหลายแห่ง จะมีมาตรการการจัดการชุมชน ซึ่งสามารถนำมาจัดกิจกรรมในคอนโดได้ เช่น นำอีไอเอมาวางให้ลูกบ้านเปิดดูได้ตลอดเวลา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีที่ผู้อยู่อาศัยจะได้รับประโยชน์ในด้านความปลอดภัย เส้นทางเข้าออกที่ได้มาตรฐาน ฯลฯ ตามที่อีไอเอระบุ”

ไทยพับลิก้า: บทลงโทษกรณีที่บริษัทที่ปรึกษากระทำผิด

บทลงโทษแรกคือตักเตือน หากยังกระทำผิดอีกก็จะถูกระงับใบอนุญาต 6 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีสถิติเพิกถอนใบอนุญาตอยู่บ้างแต่ไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นโครงการประเภทคอนโด เนื่องจากการให้ข้อมูลที่ผิดพลาดซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ทำรายงานทำให้ข้อมูลในรายงานไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงถูกพักใบอนุญาตไป เช่น กรณีคอนโดแห่งหนึ่ง สผ. เห็นชอบอีไอเอไปแล้ว ซึ่ง คชก. ก็พิจารณาไปตามรายงาน โดยในรายงานเขียนว่าบ้านหลังที่ติดกับโครงการเป็นบ้านร้าง แต่ภายหลังเจ้าของบ้านหลังดังกล่าวร้องเรียนมายัง สผ. จึงไปสอบสวนข้อเท็จจริงและพบว่าบ้านหลังดังกล่าวไม่ใช่บ้านร้าง แต่อยู่ระหว่างการปรับปรุงหลังจากซื้อต่อมาจากธนาคาร

การที่บริษัทที่ปรึกษาถูกพักใบอนุญาต 6 เดือนนั้นสร้างความเสียหายแก่บริษัทมาก เพราะไม่สามารถทำงานทั้งหมดที่อยู่ในมือมูลค่าหลายสิบล้านบาทได้ อาจจะถูกบริษัทผู้ว่าจ้างฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หรืออาจจะต้องไปจ้างบริษัทที่ปรึกษาอื่นทำงานแทน

นอกจากนี้ หากบริษัทที่ปรึกษาใดได้รับโทษบ่อยๆ ผู้ชำนาญการของบริษัทนั้นก็จะถูกขึ้นบัญชีดำ หรือกรณีที่ผู้ชำนาญการทำความผิดแต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน สผ. ก็ต้องเข้าไปตักเตือน เช่น กรณีผู้ชำนาญการที่รับจ้างเซ็นรับรองอีไอเอหรืออีเอชไอเอให้บริษัทที่ปรึกษาที่ไม่มีผู้ชำนาญการในบริษัทซึ่งในทางกฎหมายแล้วไม่สามารถทำอีไอเอหรืออีเอชไอเอเสนอ สผ. ได้นั้น ทาง สผ. ก็พอทราบมาบ้างว่าคนไหนรับจ้างเซ็น ซึ่งสังเกตได้จากพฤติกรรมที่ตอบคำถาม คชก. ไม่ค่อยได้เนื่องจากไม่ใช่ผู้ทำรายงานจริง ทางผมเองก็เรียกผู้ชำนาญการคนนั้นมาตักเตือน หากกระทำอีกก็จะเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งผมไม่ได้ขู่นะ แต่ว่าผมต้องรักษาชื่อเสียงองค์กร หรืออย่างบางคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแต่ คชก. ถามอะไรก็ตอบไม่ค่อยได้

ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส
ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส

ไทยพับลิก้า: สำหรับโครงการเอกชน หากเสนอเข้า สผ. พิจารณาสองครั้งแล้วไม่ผ่านต้องกลับไปทำใหม่นั้น จะทำให้รายงานมีปัญหาเรื่องการคัดลอกรายงานเดิมมาเสนอใหม่หรือไม่ สผ. มีการตรวจสอบอย่างไร

อดีตยังไม่มีการกำหนดว่าหากพิจารณาแล้วไม่ผ่านสองครั้งต้องกลับไปทำใหม่ แต่ฝ่ายกฎหมายทักท้วงว่าต้องมีกรอบเวลากำหนด มิฉะนั้นจะถูกครหาว่ารายงานไหนที่ไม่ผ่านก็เสนอซ้ำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ผ่าน แต่ปัจจุบันกำหนดเลยว่า ภายใน 105 วัน ถ้าไม่ผ่านต้องทำรายงานใหม่ ด้านบริษัทที่ปรึกษาก็อาจจะชอบการทำใหม่ เนื่องจากผู้ว่าจ้างต้องจ้างใหม่ทั้งโครงการ ซึ่งบริษัทผู้ว่าจ้างก็คงไม่ต้องการจ่ายเงินหลายรอบ

กรณีทำรายงานใหม่ หากยังคงว่าจ้างบริษัทเดิมก็จะเป็นรายงานเพิ่มเติมที่มีข้อมูลอัปเดตและครอบคลุมมากกว่าเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเปลี่ยน แต่ถ้าเปลี่ยนบริษัทผมเคยแนะนำให้ผู้ว่าจ้างทำหนังสือมอบข้อมูลในรายงานเก่าให้กับบริษัทที่ปรึกษาแห่งใหม่เพื่อป้องกันการฟ้องร้องว่าขโมยข้อมูลกัน ทั้งนี้ลิขสิทธิ์เป็นของเจ้าของโครงการอยู่แล้ว

สำหรับกรณีที่รายงานไม่ผ่าน เช่น แก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลน้อยมาก ประเด็นที่ค้างก็ซ้ำซาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องที่จอดรถไม่พอ และติดขัดช่องทางเข้า-ออกโครงการเนื่องจากอยู่ในจุดตัดทางขึ้น-ลงของสถานีรถไฟฟ้าหรือเส้นทางจราจร

แต่ปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาที่ทำเรื่องที่พักอาศัยเก่งขึ้น เพราะผมให้กติกาไปว่าต้องแนะนำผู้ว่าจ้างก่อน อย่าเห็นแก่ได้ เช่น บริษัทเจ้าของโครงการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาโดยผ่านนายหน้า ซึ่งผมมีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทที่ปรึกษาว่าถ้าไม่ได้เซ็นสัญญาโดยตรงจากเจ้าของโครงการ แล้วเกิดปัญหามีคนมาร้องเรียนจะเพิกถอนใบอนุญาต เนื่องจากนายหน้าทำให้ต้นทุนโครงการสูงขึ้นและไม่รับผิดชอบปัญหาใดๆ ซึ่งทำให้เสียระบบ เสียภาพการบริหารจัดการและเสียชื่อหน่วยงาน

“การพิจารณาอีไอเอหรืออีเอชไอเอผมทำหน้าที่เหมือน conductor ที่กำกับการประชุมว่า คชก. แต่ละท่านเห็นชอบหรือไม่ หรือยังไม่เห็นชอบเพราะประเด็นอะไร ติดขัดตรงไหน แล้วสรุปการพิจารณาว่า คชก. เห็นชอบหรือไม่”

ไทยพับลิก้า: โครงการของรัฐ มติในการก่อสร้างอยู่ที่คณะรัฐมนตรี แล้วโครงการของเอกชนมีขั้นตอนการก่อสร้างอย่างไรหลังจาก สผ. ให้ความเห็นชอบอีไอเอหรืออีเอชไอเอแล้ว

โครงการของเอกชน หลังจาก คชก. เห็นชอบแล้วจะเขียนรายงานการประชุมเพื่อรับรองรายงานการประชุมในครั้งต่อไปหรือแจ้งเวียน หรือหากเป็นเรื่องสำคัญก็อาจขอรับรองการประชุมในวันที่ คชก. เห็นชอบเพื่อให้สามารถเขียนรายงานส่งบริษัทเจ้าของโครงการได้ทันที หลังจากนั้น สผ. จึงส่งหนังสือแจ้งไปยัง 3 หน่วยงาน คือ หน่วยงานผู้อนุญาตก่อสร้าง ท้องถิ่น และเจ้าของโครงการ

“ปัจจุบันมีโครงการเข้ามาที่ สผ. จำนวนมาก อย่างคอนโดในเมืองเข้ามายัง สผ. เดือนละ 120 โครงการ ซึ่งมีทั้งโครงการสร้างใหม่และโครงการต่อเติม โดยพิจารณาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง สมัยก่อนประชุม 13.30-21.00 น. ส่วนโครงการอื่นๆ พิจารณาสัปดาห์ละครั้ง”

ที่พักอาศัยบางโครงการในปัจจุบันไม่ได้เน้นอาคารสูงหรือมีจำนวนห้องพักมาก แต่เน้นให้ลูกค้าที่มีฐานะมาซื้อ เช่น สร้างตึก 4 ชั้น ลูกค้าบางรายก็ซื้อยกชั้น หรือบางชั้นก็แบ่งเป็น 2 ห้อง แต่มีหลายอาคาร ซึ่งโครงการลักษณะนี้จะอยู่ต่างจังหวัด