ThaiPublica > คนในข่าว > “โจน จันได” วิพากษ์การศึกษาไทย ต้องออกแบบ “ไม่ยากและไม่แพง” – วิถีเด็กโฮมสคูล “ต้นกล้า จินาจันทร์” นักเรียนนอกกะลา อายุ 11 ปีเก็บเงินไปเที่ยวอเมริกา

“โจน จันได” วิพากษ์การศึกษาไทย ต้องออกแบบ “ไม่ยากและไม่แพง” – วิถีเด็กโฮมสคูล “ต้นกล้า จินาจันทร์” นักเรียนนอกกะลา อายุ 11 ปีเก็บเงินไปเที่ยวอเมริกา

3 ธันวาคม 2014


คนส่วนใหญ่ต่างรู้จัก “โจน จันได” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญบ้านดิน หรือในฐานะผู้ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายเป็นเกษตรกรที่พึ่งพาตนเอง จนได้ชื่อว่าคนจนผู้ยิ่งใหญ่ เป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิตและกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ทั้งคนไทยและต่างชาติแวะเวียนมาเสมอๆ

จากวิถีชีวิตที่ตกผลึกแล้ว มองว่าชีวิตคือการเรียนรู้ ชีวิตต้องง่าย และมนุษย์ทุกคนต่างมีศักยภาพที่แตกต่างกัน การสร้าง”คน” จึงจำเป็นให้โอกาส “เด็ก” ได้ค้นพบตัวเอง เปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ด้วยความเข้าใจ ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นอีกผู้หนึ่งที่เลือกจะเป็นครูของลูกเอง โดยเลือกใช้ “โฮมสคูลหรือบ้านเรียน” การศึกษาทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่งที่พ่อแม่สามารถออกแบบการเรียนการสอนสำหรับลูกของตัวเองได้ เพื่อให้สอดรับกับสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ศักยภาพของลูกของตนเอง

โจน จันได
โจน จันได

“โจน จันได” ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ในฐานะผู้มีประสบการณ์และคลุกคลีในแวดวงศึกษาทางเลือกแบบบ้านเรียน รวมทั้งความเห็นต่อแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของไทยว่า

ไทยพับลิก้า : มองยังไงกับการศึกษาไทย คนส่วนใหญ่บอกว่ามันล่มสลาย

ภาพที่เห็นตอนนี้ก็คือมันล้มเหลวมากๆ เราลงทุนมาในเรื่องการศึกษา รัฐบาลจ่ายเงินเยอะมากแต่ที่ได้มาคือคนที่ไม่มีประสิทธิภาพเยอะมาก คนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ คนตกงานเยอะขึ้น คนมีปัญหาเยอะขึ้น และราคาการศึกษาสูงขึ้นทุกปีๆ เรากำลังลงทุนอย่างไม่ได้ประเมินผลที่ได้

ผมว่าการศึกษาไม่ควรจะยาก ไม่ควรจะแพงขนาดนั้น การศึกษาควรจะเป็นเรื่องที่ง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนมาก ซึ่งถ้าคิดง่ายๆ คือแต่ละครอบครัวสามารถจัดการศึกษาให้ลูกได้ หรือถ้าครอบครัวจัดไม่ได้ ชุมชนจะต้องจัดการศึกษาให้เด็กในชุมชนได้ ซึ่งถ้าชุมชนจัดการเองโดยที่รัฐไม่ยุ่งเกี่ยวด้วยจะช่วยได้มาก ช่วยในเรื่องเด็กจะพัฒนาได้สูงมาก และรัฐก็จ่ายเงินน้อยลง ไม่ต้องบริหารจัดการมาก เพราะชุมชนจัดการกันเอง

ทุกวันนี้ดูตัวอย่างง่ายๆ โรงเรียนทุกโรงเรียนต้องถูกประเมินโดยกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ จากการศึกษาเลย ซึ่งตรงนี้แค่คิดก็ผิดแล้ว คนที่ไม่มีผลเกี่ยวข้องเข้ามาประเมินการศึกษา มันไม่ได้อะไร เพราะคนเหล่านี้เมื่อมาประเมินผล ผู้อำนวยการโรงเรียนก็พาไปเลี้ยงอาหาร ก็เสร็จไป โรงเรียนมันจึงห่วยอยู่ตลอด

ฉะนั้น คนที่จะต้องประเมินการศึกษาก็คือคนในชุมชน เพราะคือผู้มีส่วนได้เสีย คนที่จะออกแบบการศึกษาก็คือคนในชุมชน เพราะว่าเขารู้เขาต้องการอะไร ไม่ใช่ว่าคนจากส่วนกลางเอาหลักสูตรมาทิ้งให้ว่าคุณต้องเป็นอย่างนี้ๆ ผมว่าวิธีคิดแบบนี้มันใช้ไม่ได้ในยุคปัจจุบัน เราต้องพัฒนาและต้องเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนมีสิทธิที่จะตั้งโรงเรียนเอง ออกหลักสูตรเอง รัฐบาลมีหน้าที่แค่อุดหนุนและส่งเสริมในด้านวัตถุสิ่งของหรือทุน เท่านั้นเอง ไม่งั้นเราก็จะล้มเหลวมาก

ทุกวันนี้ เราจะเจอปัญหาเยอะมาก เพราะว่าเราเอาคนในชุมชนที่มีศักยภาพสูงมากๆ เอามาทำลายศักยภาพ เราทำให้เขาเป็นคนที่ไม่มีศักยภาพแล้วก็ไปหางานทำ ทำไมคนต้องหางานทำในเมื่อธรรมดาเขามีงานทำอยู่แล้ว อย่างคนภาคอีสานเขามีงานของเขาอยู่แล้ว พอเอาเขาเข้ามาในเมือง ทำลายความสามารถของเขาทั้งหมด เขาก็ทำอะไรไม่ได้ ก็เกิดเป็นปัญหาคนว่างงานอีก อันนี้เราสร้างปัญหาขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

ระบบการศึกษาทุกวันนี้มันล้มเหลวมากเพราะว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาอะไรและมันสร้างปัญหามากขึ้นๆ และเป็นปัญหาที่เราแก้ไม่ได้ส่วนมาก

ผมคิดว่าต้องกลับไปคิดใหม่ในเรื่องการศึกษา เอาเรื่องการศึกษามอบให้เป็นหน้าที่ของชุมชนของใครของมัน แต่ละที่ต้องต่างกันไม่ใช่เอาหลักสูตรเดียว ผมจึงไม่เห็นด้วยกับระบบการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะใช้หลักสูตรเดียวทั่วประเทศ ตัดเสื้อเหมือนกันตัดผมเหมือนกัน เราไม่ใช่ทหารนะ โรงเรียนไม่ใช่ทหาร เราไม่ต้องทำให้คนเหมือนกัน ฉะนั้นคนทุกคนมีความต้องการที่ต่างกัน มีประสบการณ์ต่างกัน มีวิถีชีวิตต่างกัน การเรียนมันต้องต่างกัน จะเอาการประเมินแบบเดียวกันมาประเมินคนทุกคนให้เหมือนกัน มันผิดแล้ว เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยน

ไทยพับลิก้า : ถ้าการออกแบบการศึกษา ถ้าดูบริษทชุมชนเป็นหลัก จำเป็นจะต้องมีมาตรฐานขั้นต้นอะไรหรือไม่

ผมว่าไม่ควรเอาคำว่ามาตรฐานมาใช้ เพราะว่ามาตรฐานมันใช้สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่สำหรับคน เราไม่ใช่โรงงานที่ปั๊มคนออกมาเป็นคนงาน ทุกวันนี้รัฐบาลต้องการปั๊มคนออกมาเป็นคนงาน ออกมาเป็นลูกจ้างราคาถูก อยากให้เป็นนั่นเป็นนี่ เพื่อไปทำงานรับใช้ในโรงงานราคาถูกเท่านั้นเอง ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ความต้องการลึกๆ ของแต่ละคน มันเป็นความต้องการของภาครัฐ ของพวกที่คิดจะทำธุรกิจต้องการแรงงานมาป้อนธุรกิจของตัวเองเท่านั้นเอง จึงเป็นการศึกษาที่ไม่ได้ตอบคำถามของชีวิตแต่ละคน

การศึกษาจำเป็นต้องเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละที่ แต่ละถิ่น อย่าเอาคำว่ามาตรฐานเข้ามาใช้เพราะว่ามันสร้างมาตรฐานไม่ได้ แต่ละที่เขาจะสร้างมาตรฐานของเขาเอง อย่างคนอยู่ภาคใต้เป็นชาวประมงรู้ว่าปลามีกี่ชนิด จับปลายังไง ปลาอยู่ยังไง อันนั้นคือมาตรฐานของเขา ไม่จำเป็นต้องมาตอบว่าโลกห่างจากดวงจันทร์เท่าไหร่ มันไม่จำเป็น แต่ละที่ต้องสร้างหลักสูตรเอง สร้างมาตรฐานของตัวเอง มันถึงจะอยู่ได้มั่นคงและยั่งยืน เพราะการศึกษาต้องรับใช้คน แต่ทุกวันนี้เราใช้การศึกษาเพื่อรับใช้ระบบธุรกิจเฉยๆ ซึ่งธุรกิจไม่ใช่คน และคนมันเป็นทุกข์ มันก็เลยเกิดเป็นปัญหาขึ้นในปัจจุบัน

ไทยพับลิก้า : มองว่าถ้าออกแบบระบบการศึกษาแบบนี้ ประเทศสามารถขับเคลื่อนไปได้

มันจะไปได้สวยเลย เพราะว่ารัฐบาลไม่ต้องมาควบคุมอะไรเลย รัฐบาลจะทำงานน้อยมาก แต่ตอนนี้รัฐบาลดึงงานทำหมดไปทำเอง ไปจัดการชีวิตของคนทั้งหมด มันก็เลยเป็นงานหนัก ท่านนายกฯ ก็เลยปวดหัว นักการเมืองก็เลยปวดหัว แต่ว่านักธุรกิจดีใจเพราะนักการเมืองไปจัดการคนมาให้เขา เอาเปรียบแรงงานราคาถูกได้อย่างสะดวกสบาย อันนี้ก็คือปัญหาในปัจจุบัน ผมก็เลยเห็นว่ามันต้องเปลี่ยนแปลง

ไทยพับลิก้า : ถ้าเริ่มตอนนี้มันจะเริ่มยังไง

ง่ายที่สุดคือออกกฎหมายให้เอื้อต่อการสร้างระบบการศึกษาเองของชุมชนให้มากที่สุด ให้ชุมชนมีสิทธิออกแบบการศึกษาของตัวเองได้ โดยที่รัฐบาลถอยออกทีละนิด ให้ชุมชนจ้างครูเอง เขียนหลักสูตรเองประเมินเอง รัฐบาลแค่เอาเงินไปส่งเสริมว่าต้องการอะไร ขาดเหลืออะไร เท่านั้นเอง งานรัฐบาลจะน้อยลงเยอะเลย ลองคิดดูว่าหมู่บ้านจนถึงกระทรวงมันมีกี่ระดับชั้น เจ้าหน้าที่กี่ร้อยกี่พันคน แต่ละคนเงินเดือนอยู่บนฟ้าทั้งหมดเลย และก็ทำงานไม่ได้เรื่อง มีแต่การคอร์รัปชัน ทุจริต คดโกง หลังคากระเบื้องแตกจนถึงสร้างโรงเรียนมันมีขั้นตอนในการทุจริตเต็มไปหมดเลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถ้าชุมชนจัดการ มันจะไม่มี เพราะว่าชุมชนก็เห็นกันเอง รู้กันเอง ผมว่าระบบมันใหญ่เกินไป มันใช้ไม่ได้แล้ว เราต้องเปลี่ยนใหม่ทำให้ระบบมันเล็กลง และคนก็จะจัดการมันได้ง่ายขึ้น

ไทยพับลิก้า : หากทำแบบนี้ เท่ากับว่าชุมชนดูแลกันเอง ทั้งในแง่ของ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ซึ่งจะทำทุกอย่างมันดีขึ้นเอง

ใช่ อย่างป่าไม้ ถ้าไม่ให้กรมป่าไม้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ให้ชาวบ้านจัดการป่าไม้ของตนเอง มันจะเหลือเต็มบ้านเต็มเมืองเลย แต่พอให้กรมป่าไม้เข้าไปจัดการ มันเกิดการผูกขาดในการดูแลป่าไม้ คนที่จะเข้าไปเอาประโยชน์ตรงนั้นมันง่าย ก็ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้สินบนนิดหน่อยเขาก็สามารถทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าชุมชนทำ ชุมชนดูแล ใครจะเอาเงินสินบนไปให้ชุมชน ถ้าให้ก็ต้องให้ทั้งชุมชน ก็หมายถึงชุมชนได้ประโยชน์ มันก็อยู่ได้ แต่ชุมชนเขาก็รู้ว่าเขาต้องอาศัยป่า เพื่อให้มีน้ำทำการเกษตร เขาก็ต้องรักษาป่า ไฟไหม้ป่า รัฐบาลมีเจ้าหน้าที่กี่คนที่จะไปดับไฟ ไม่มี น้อยมาก แต่ชุมชนเขามีคนทั้งหมู่บ้าน ถ้าเป็นป่าของเขาแป๊บเดียวดับหมด อันนี้คือการให้ชุมชนจัดการ งานของส่วนกลางมันก็น้อยลง สบายขึ้น บริหารง่ายขึ้นเยอะ แค่เราบริสุทธิ์ใจที่จะบริหารประเทศเท่านั้น ก็คืออำนาจให้กับชุมชนเท่าที่จะมากได้ งานก็จะน้อยลง ทุกอย่างมันก็จะไปของมัน

ไทยพับลิก้า : คือเชื่อในศักยภาพของคน

ใช่ เราอย่าไปดูถูกว่าคนไม่มีความรู้ ไม่ได้นะ คนเป็นชาวไร่ชาวนาแต่เขาทำงานได้นะ เขาแก้ปัญหาของเขาได้ แต่ว่าปัญหาทุกวันนี้เราไม่ให้คุณค่าของคนที่เป็นชาวบ้าน แต่เราให้คุณค่าของคนที่จบมาสูง แต่ที่บ้านเมืองมันล่มจมก็เพราะคนที่จบมาสูงมันโง่ มันคิดไม่เป็น เราจึงมีปัญหาที่แก้ไม่ได้เต็มบ้านเต็มเมืองทุกวันนี้ เพราะคนเหล่านี้ได้แต่คิดแต่ทำอะไรไม่เป็น แต่ถ้าให้ชาวบ้านแก้มันแก้ได้ เพราะเขารู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และเขาก็อยู่กับปัญหาเขาจัดการมานานแล้ว ไม่ใช่ว่าเขาไม่เคยทำอะไรนะ แต่นักวิชาการหรือนักการเมืองนี่สิที่ไม่มีประสบการณ์ ไปลอกเลียนเอาประเทศนั้นประเทศนี้ ไปดูงานนั่นนี่เพื่อดูแบบ เอาของเขามาเข้าตัวเอง คิดไม่เป็น อันนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหา อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องโละระบบทั้งหมดใหม่ ถึงจะอยู่ได้ ไม่อย่างนั้นอีกไม่นานก็ล้ม อยู่ไม่ได้

ไทยพับลิก้า : รัฐต้องเล็กที่สุดไม่ใช่รัฐต้องใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน

ใช่ๆ รัฐต้องเล็กลง เพราะระบบปัจจุบันมันไม่ใช่สมัย 100 ปีที่แล้ว จะมารวบอำนาจอยู่เหมือนเดิมมันบริหารไม่ได้จัดการไม่ได้ และคนทุกวันนี้มันฉลาด เรารู้เท่าทันกันมากขึ้น ชาวบ้านก็ยังมีอินเทอร์เน็ตมีอะไรใช้แล้ว ก็ดูข่าวดูอะไรดูข้อมูลเยอะแยะ เต็มไปหมด ผมว่ามันไม่ใช่เวลาที่เราจะต้องไปใช้ระบบเก่าแล้ว ต้องเปลี่ยนแปลง

ไทยพับลิก้า : รัฐบาลต้องเปลี่ยน

เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ถ้าไม่เปลี่ยนมันก็วุ่นวายอยู่แบบนี้ มันจบไม่ลง เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องของการบริหารประเทศ มันเป็นเรื่องของการแย่งทรัพยากรในประเทศกันระหว่างกลุ่มทุนแต่ละกลุ่มโดยเอาชาวบ้านเป็นเครื่องมือ รัฐสภาเป็นแค่โรงเตี๊ยม เพื่อให้นักธุรกิจเหล่านี้มาแย่งผลประโยชน์กัน รัฐสภามันไม่มีอะไรเลย เป็นที่แย่งผลประโยชน์ของกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม แต่ว่าเราก็ต้องเริ่มคุยมากขึ้น เริ่มเปลี่ยนมากขึ้น ถ้าเราเริ่มเปลี่ยนจากพวกเราขึ้นไป มันเปลี่ยนง่าย ถ้าเปลี่ยนจากข้างบนลงมามันเป็นไปไม่ได้เลย

โจน จันได กับ ต้นกล้า จินาจันทร์
โจน จันได กับ ต้นกล้า จินาจันทร์

ไทยพับลิก้า : แสดงว่าบทบาทของชุมชนต่างๆ ในปัจจุบัน เริ่มเข้มแข็งมากขึ้นที่จะขับเคลื่อน

ใช่ เริ่มมีบทบาทมาก ชุมชนแต่ละที่เริ่มเข้มแข็งมากขึ้น เราจะเห็นว่าหลายๆ ที่หลายๆ หมู่บ้านจะจัดการป่าไม้เอง เริ่มจัดการการศึกษาเอง เริ่มจัดการกองทุนในหมู่บ้านเอง มันเริ่มแก้ปัญหากันเองมากขึ้น

ไทยพับลิก้า : เพราะว่ารู้ว่ารัฐบาลพึ่งพาไม่ได้

ใช่ ผมว่าชาวบ้านมีศักยภาพ ทุกคนมีศักยภาพ อย่าดูถูกกัน แม้แต่เด็กเขาก็มีศักยภาพที่จะพัฒนาและเรียนรู้ เราจะไปคิดว่าเด็กโง่กว่าผู้ใหญ่ไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเห็นว่าคนเป็นคนเท่ากัน ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ คนบ้านนอก คนในเมือง หรือคนที่ไม่จบการศึกษา หรือคนที่จบการศึกษา มันไม่ได้ต่างกัน

ไทยพับลิก้า : ที่ชุมชนของคุณโจนทำอะไรบ้าง

พวกเราก็เป็นแค่ชุมชนเล็กๆ อยู่กันแค่ 20 คน เราก็ทำสวนปลูกผัก เก็บเมล็ดพันธุ์แจกคน เราก็เรียนรู้ที่จะทำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเล็กๆ น้อยๆ ที่ใช้ให้ชีวิตง่ายขึ้น และมีคนมาเรียนรู้กับพวกเราบ้าง มีการฝึกอบรมบ้าง(เรียนรู้วิถีชีวิตแบบง่ายๆ การทำบ้านดิน การทำเกษตร) หลักๆ ก็มีแค่นี้

ไทยพับลิก้า : ในแง่ของการศึกษา home school ในหมู่บ้านทำกันเยอะไหม หรือชุมชนทำกันเองไหม

ในชุมชนของเรามี home school อยู่ 3-4 ครอบครัว เพราะเด็กเรามีประมาณนั้น แต่ในตัวเชียงใหม่เราก็มีเกือบร้อย และก็เป็นเครือข่ายกัน มีกิจกรรมร่วมกันเรื่อยๆ มันก็สนุกสนาน บางทีก็พาเด็กไปเดินป่าไปเล่นน้ำ ไปดูพิพิธภัณฑ์ ไปเรื่อยๆ ก็เป็นกระบวนการที่เราทำให้เด็กเรียนรู้แบบธรรมชาติ มองว่าโลกที่มันเปลี่ยนไปเยอะ ตอนนี้ก็ดูหลายๆ ที่ พยายามปรับขบวนการเรียนรู้ใหม่ให้

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้กระทรวงศึกษากำลังปรับหลักสูตรเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งอันนั้นคือนโยบายของรัฐบาล มองตรงนี้ยังไง

ก็คือผมว่ารัฐบาลก็วิ่งตามกระแสของโลกตะวันตก คือพูดง่ายๆ คือเราวิ่งตามเขา เราไม่เคยคิดที่จะเป็นผู้นำ เราวิ่งตามเขายังไงก็ไม่ทัน เราคิดว่าเราจะต้องเป็นตัวของตัวเองไม่ต้องไปลอกเลียนของตะวันตกมา ระบบการศึกษาเราสร้างเองได้ เราเขียนหลักสูตรของเราเอง ไม่ต้องไปลอกเรียนใครมา มันเป็นบ้านของเรา มันเป็นชีวิตของเรา ทำไมเราต้องไปเป็นฝรั่ง ทรัพยากรเราก็ต่างจากเขา เรามีความหลากหลายมีวัฒนธรรมมีอะไรที่ลึกซึ้งมาก อเมริกามีอะไรที่เกิดขึ้นเมื่อ 200 กว่าปี ยังไม่มีวัฒนธรรมอะไรเป็นของตัวเอง ก็มีแต่วัฒนธรรมบริโภคอย่างเดียว

ฉะนั้นเราจะไปลอกเลียนเขาทำไม ก็มาสร้างของเราเอง ของเรามีดีเยอะแยะเหมือนชาวบ้าน เขามีทรัพยากรเต็มบ้าน มีที่ดิน มีบ้านอยู่ และเขารู้สึกว่าเขาจน มันผิดแล้ว ทำไมต้องบอกว่าเขาจนในเมื่อเขามีทุกอย่างขนาดนั้น เขาร่ำรวยมากแต่เราไปบอกว่าเขาจน แต่สิ่งที่เขามีมันไม่มีค่า ไปฝึกให้คนคิดแบบนั้นปุ๊บคนก็รู้สึกว่าตัวเองแย่ หนีจากบ้านไปอยู่เมือง ไปเป็นขี้ข้าในเมือง มันคิดผิด เราต้องทำให้คนเห็นความจริง ว่าเรามีอะไร เราเป็นอะไร

ไทยพับลิก้า : ที่พูดถึงในแง่ของความเป็นครู ใครคือบุคลากรครู จริงๆต้องเป็นใคร

ไม่จำเป็นต้องเป็นครูที่จบวิทยาลัยครูมา ทุกคนเป็นครูได้ ใครๆ ก็เป็นครูได้ ทุกคนมีความรู้ทั้งนั้นแหละ แล้วแต่ว่าเราต้องการจะใช้ความรู้อะไรนั้นมาใช้ในชีวิตเรา ใครสนใจอะไร คิดว่าจะใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตของเรา แล้วเราก็ไปหาครูคนนั้น มันจบ ไม่จำเป็นต้องไปเรียนทุกอย่าง เรียนมาแล้วไม่ได้ใช้เรียนไปทำไม ผมว่าเราต้องชัดเจนในสิ่งที่เราเป็น เราจะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร ไม่กี่วันเราจะตาย เราจะต้องไปเรียนเรื่องโลกเรื่องดวงจันทร์ด้วยไหม ขณะที่เรากำลังหิว เราควรจะรู้เรื่องอาหารว่าเราจะผลิตอาหารยังไง แล้วเราจะมีชีวิตอยู่ยังไงถึงจะมีความสุขได้ ไม่คิดถึงตัวเองเลยไปทำงานหาเงินอย่างเดียว ตัวเองจะตาย สุขภาพจะแย่ทรุดโทรม ครอบครัวจะล่มสลายยังไงไม่สน หาเงินอย่างเดียวอย่างนั้นมันไม่ใช่ มันต้องคิดใหม่ ไม่อย่างนั้นเราอยู่ได้อีกไม่นาน

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้มีแต่เรื่องปฏิรูป

พูดแต่ปฏิรูปแต่ไม่รู้จะปฏิรูปอะไร ก็ไปนั่งเขียนแต่กฎระเบียบอยู่นั่นแหละ เราไม่ได้ต้องการกฎระเบียบมากขึ้น เราต้องการการกระทำมากขึ้น การปล่อยวางมากขึ้น เราไม่ได้ต้องการกฎระเบียบมากขึ้น ฉะนั้นไม่ต้องไปออกกฎหมายใหม่ ไม่ต้องไปทำอะไรมาก ปล่อยวาง ปล่อยให้คนอื่นทำ ดูแลตัวเขาเอง อย่าไปดูแลคนอื่นมากเกินไป มันหนัก เท่านั้นเอง ไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่วิธีคิดมันคิดไม่เป็นเลยเป็นปัญหา เท่านั้นเอง

ต้นกล้า จินาจันทร์
ต้นกล้า จินาจันทร์

“ต้นกล้า จินาจันทร์” กับวิถี”เด็กบ้านเรียน” อายุ 11 ปีเก็บเงินไปเที่ยวอเมริกา

หลายตัวอย่างของเด็กบ้านเรียนมีมาร่วมกันพูดคุยในงาน”เด็กนอกกะลา การศึกษาเขย่าโลก” ที่จัดโดยเครือข่ายกลุ่มบ้านเรียน เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 หนึ่งในนั้นมีเด็กชายต้นกล้า จินาจันทร์ เด็กชายเลี้ยงเป็ดให้กินหอยเชอรี่ในนาข้าว สามารถเก็บเงินไปเที่ยวอเมริกา โดยไม่ต้องขอเงินพ่อแม่

เมื่อถามถึงการเรียนที่บ้านเรียนแบบไหนอย่างไร น้องต้นกล้าเล่าให้ฟังว่า”ส่วนใหญ่มันไม่ค่อยเป็นตารางเรียน แล้วแต่ว่าวันไหนเรียนอะไร สมมติวันนี้เรียนวิทยาศาสตร์ พ่อก็จะถามว่าอยากเรียนเรื่องอะไร ก็แล้วแต่ผม.. ส่วนใหญ่ผมชอบทำการทดลองมากกว่า ไปทดลองๆๆ แล้วพิมพ์จดไว้ หรือเขียนจดไว้

-ทดลองๆๆทำยังไง

ทดลองกรด ด่าง โซดาไฟ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเป็นวิชา ถ้าผมไปทำกิจกรรมที่ไหนก็จะมาเขียนจดบันทึกไว้

-ทำกิจกรรมอะไร เขียนบันทึกยังไง

อย่างผมไปเรียนเรือใบ 2 เดือนกว่า ก็เขียนเป็นโครงงานเรือใบ ว่าวิธีการเล่นเรือใบที่ผมไปเรียนที่ผมมาเป็นอย่างไรบ้าง สนุกไหม เรือใบเป็นยังไง เรือใบมีกี่ประเภท เป็นต้น หรือผมเลี้ยงด้วงกวาง ก็เขียนเป็นโครงงานด้วงกวาง ตอนนี้กำลังเริ่มเลี้ยง อยู่ในช่วงการทดลอง

-ขบวนการเรียนรู้ทำอย่างไร

เรียนในโรงเรียน ไม่ค่อยได้ทำจริง ได้แต่อานในหนังสือ ทำจริงแค่นิดเดียว และในโรงเรียน…ไม่ค่อยได้ไปไหนเยอะ ผมชอบไปเที่ยว

-เวลาไปเที่ยวแต่ละครั้งมีเป้าหมายไหม

ไม่มีครับ ส่วนใหญ่แล้วแต่ว่าไปเที่ยวที่ไหน ไปเที่ยวอเมริกา ก็จดบันทึกทุกวันว่าวันนี้ไปทำอะไรบ้าง สิ่งที่ประทับใจ รู้สึกอย่างไรบ้าง ก็จดๆๆๆมา ก็มาถึงบ้านก็มาเขียนใหม่ พริ้นต์ออกมาเป็นเล่ม เป็นโครงงาน

-วิธีการเล่า เล่าอย่างไร

บันทึกในสมุด แล้วค่อยมาลงในคอมพิวเตอร์ บันทึกสิ่งดีที่เราเคยไปทำมา เหมือนเป็นเรื่องของเรา เขียนไปก็สนุกดี พ่อบอกให้ฝึกเขียน

-เขียนมากี่เล่มแล้ว

ทำมามีเรื่องเลี้ยงเป็ด เรือใบ โลกร้อน

-โลกร้อนเป็นเรื่องยังไง

มีหนังสือเรื่องโลกร้อนกับเกษตรกรไทย ที่สหกรณ์การเกษตรแจกมาที่บ้าน ผมเอามาอ่านดู และเขียนว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มมีอะไรบ้าง

-ใช้เวลาช่วงไหนเขียน

แล้วแต่ อยากทำก็ทำเลย หรือทำทั้งวันเลยก็ได้ หากเราอยากให้เสร็จในเดือนนี้ๆ หรือวันนี้ หรือตั้งใจก็เขียนไปเลย หรือว่าถ้าเขียนเล็กๆน้อยๆ มีเวลาว่างตอนไหนที่ไม่ได้ทำอะไร ก็มาเขียน

-แบ่งเวลาอย่างไร

ส่วนใหญ่อยู่บ้าน เล่นกับน้อง มีไปเก็บไข่เป็ด เรียนเนี่ย…บางวันไม่ได้เรียนเลย บางวันเรียนทั้งวัน แล้วแต่เวลาว่าง พ่อให้รับผิดชอบเรื่องเป็ด มีผม มีย่า และพ่อ พ่อให้ผมเป็นคนเอาอาหารมาให้เป็ดตอนเย็น เขียนบัญชีรายรับรายจ่ายของเป็ด รายรับรายจ่ายของผมเองด้วย ให้ทำบัญชี เก็บเงินเอง ให้บริหารจัดการเงินเอง

-เลี้ยงเป็ดกับย่า ย่าช่วยทำอะไร

ย่าช่วยดูแล เวลาผมกับพ่อไม่อยู่บ้าน

-ที่บ้านทำนากี่ไร่

ทำนาประมาณ 50 ไร่

-ที่บอกว่าเลี้ยงเป็ด ให้เป็ดไปกินหอยเชอรี่ยังไง

เป็ดอยู่ในเล้าใกล้ๆบ้าน เปิดจากเล้าประมาณ 6โมง ปล่อยให้มันไปเอง มันจะเดินไปตามถนนไปทุ่งนาเอง ตั้งแต่เราซื้อมาตอนแรกก็ต้องต้อนมัน พอมันจำได้มันก็จะไปเอง พอไปถึงทุ่งนาก็ต้อนไปในส่วนที่เราต้องการ โดยที่เราแบ่งไว้เป็นส่วนๆ ส่วนนี้ปลูกข้าว ตรงนี้ยังไม่ปลูกเพื่อให้เป็ดมีอยู่ตลอดปี เอากระชังสีฟ้าที่เป็นตาข่ายมาล้อมไว้ กันไม่ให้เป็ดออกไปหากเราต้องการให้เป็ดอยู่ตรงนั้น ตอนเย็นเป็ดมันก็จะกลับมาบ้านเอง

-ในโครงงานเรื่องเป็ดเขียนว่าไว้ยังไง

ผมเขียนไว้ว่าทำไมที่บ้านถึงเลี้ยงเป็ด ก็บอกไป…ส่วนใหญ่เป็นวิธีการเลี้ยงเป็ด ทำอย่างไร… และมีรายละเอียดว่ามีเป็ดพันธุ์อะไรบ้าง