ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้” แดรี่โฮม-แปลนทอยส์-ชีวาศรม-มิตรผล บริษัทเพื่อความยั่งยืนรับมือวิกฤตพลังงาน

“เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้” แดรี่โฮม-แปลนทอยส์-ชีวาศรม-มิตรผล บริษัทเพื่อความยั่งยืนรับมือวิกฤตพลังงาน

28 ธันวาคม 2014


เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีโครงการเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้” (Economy of Tomorrow) โดย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย (FES) ร่วมกับ บริษัท ป่าสาละ จำกัด มีการพูดคุยในประเด็นการทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากกรณีศึกษาบริษัทไทย 4 บริษัท ที่ใช้ความ “เขียว” ทั้งในมิติ “นวัตกรรม” (innovation) และ “ผลิตภาพ” (productivity) เป็นหัวใจในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงสถานการณ์เชิงนโยบาย โดยมี นายมาร์ค ศักซาร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท นายพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท แดรี่ โฮม จำกัด และสฤณี อาชวานันทกุล บริษัท ป่าสาละ จำกัด ร่วมอภิปราย

โลกกำลังวิกฤติ ต้องมีการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ยั่งยืน

IMG_1516
มาร์ค ศักซาร์ (Marc Saxer)

นายมาร์ค ศักซาร์ (Marc Saxer) ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท สำนักงานประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนสังคมประชาธิปไตย กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเข้าสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจหลายด้าน จึงต้องทำธุรกิจสีเขียวซึ่งนำไปสู่การมีเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ จึงต้องมีการพัฒนารูปแบบใหม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ วิกฤติปัญหาของโลกในฟากตะวันตกมีสะสมอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติหนี้ การล่มสลายของเสรีนิยมใหม่ การล่มสลายของรัฐชาติ และการกลายสภาพเป็นรัฐทุนนิยมกาสิโน (ระบบที่มีความเสี่ยงสูง) ปัญหาเหล่านี้ทำให้ต้องคิดใหม่เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั้งหมด ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในฟากโลกตะวันตกเท่านั้น แต่เป็นสถานการณ์ของโลกทั้งโลก

นายมาร์คกล่าวด้วยว่า ในการปฏิวัติอุตสาหกรรม 3 ครั้ง ที่เคยเกิดขึ้นในโลกมีการนำทรัพยากรและเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เป็นแกนหลักของการทำอุตสาหกรรม ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก เกิดการใช้ถ่านหิน ระบบโทรเลข ทางรถไฟ และเรือกลไอน้ำ ต่อมาการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 มีการใช้น้ำมัน ระบบโทรศัพท์ และรถยนต์ และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งสุดท้าย เริ่มมีการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ มีการใช้อินเทอร์เน็ต และยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

นายมาร์คเสนอแนวทางการแก้ปัญหาความไม่เพียงพอของพลังงานด้วยรูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นโดยใช้เสาหลัก 5 ประการ คือ การนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ การกระจายการผลิตพลังงานไปที่หน่วยเล็กๆ การมีพลังงานสำรอง การเปิดให้พลังงานกลายเป็นของสาธารณะ และการมีสถานีชาร์จไฟสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าและยานพาหนะ และการเมืองมีส่วนในการผลักดันการพัฒนารูปแบบใหม่ หากรัฐมีการสนับสนุน/จัดการให้เกิดนโยบายพลังงานที่ยั่งยืน การเกิดขึ้นของการพัฒนาก็จะง่ายขึ้น (อ่าน The Economy of Tomorrow โดย Marc Saxer)

แดรี่โฮม: ใช้วงจรธรรมชาติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

Screen Shot 2557-12-17 at 4.13.39 PM
พฤฒิ เกิดชูชื่น ที่มาภาพ: http://www.dairyhome.net/home.html

แดรี่โฮม ธุรกิจผลิตน้ำนมขนาดเล็ก เผชิญกับความยากลำบากในการแข่งขันครั้งใหญ่ จากการที่รัฐบาลไทยเปิดเสรีการค้ากับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ผู้ผลิตนมรายใหญ่ที่มีต้นทุนในการเลี้ยงโคนมต่ำกว่าเมืองไทย

การเปลี่ยนมาทำผลิตภัณฑ์จากน้ำนมอินทรีย์ของแดรี่โฮม ผสานกับการเปลี่ยนมาดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยการลดการใช้พลังงานและน้ำทั้งกระบวนการ ลดของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต รวมไปถึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ “แดรี่โฮม” มีที่ยืนอยู่ในตลาด ท่ามกลางผู้เล่นยักษ์ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศได้อย่างภาคภูมิ รวมถึงยังส่งผลดีต่อโค เกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย (อ่านและดาวน์โหลดกรณีศึกษานวัตกรรมสีเขียว บริษัท แครี่โฮม จำกัด)

นายพฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท แดรี่ โฮม จำกัด กล่าวถึงความเป็นมาของแดรี่โฮมว่า เป็นการก่อตั้งโดยการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป ตนทำงานด้านโคนมมานานตั้งแต่เรียนหนังสือ เป็นความชอบส่วนตัว ที่บ้านไม่มีใครทำการเกษตรหรือการค้าเลย เป็นข้าราชส่วนใหญ่ จึงไปสมัครงานที่บริษัท นมไทย-เดนมาร์ค จำกัด มีหน้าที่สอนเกษตรกรเรื่องวิธีการเลี้ยงโคนม เพราะโคนมถือเป็นของใหม่ของบ้านเรา แต่เพื่อนบ้านเราอย่างอินเดีย ปากีสถาน มีมานานแล้ว เมื่อทำอยู่สักระยะก็อิ่มตัว ถึงวันที่จะต้องออกไปหาช่องทางของตัวเองบ้าง จึงตัดสินใจลาออกไปทำธุรกิจโคนม ลองผิดลองถูก แต่พื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่มีเลย

นายพฤฒิเล่าต่อว่า ตอนนั้นไม่มีความรู้เรื่องอื่นจึงทำสิ่งที่เรารู้มากที่สุด ธุรกิจแรกคือปลูกหญ้าขายให้วัวกิน แต่เกษตรกรไม่สนใจ ทำไมเขาต้องซื้อด้วย เพราะเป็นของที่อยู่เกลื่อนกลาดไปหมด

topview
ที่มาภาพ: http://www.dairyhome.net/home.html

จากนั้นยังไม่เลิกล้ม มาทำเรื่องอาหารสัตว์แปรรูปต่อ แต่เรามีเป้าหมายคือต้องลดต้นทุนให้เกษตรกร เพราะเขาต้นทุนสูง สุดท้ายแล้วมาพบว่ายิ่งเราไปลดต้นทุน เขายิ่งใส่เข้าไป เพิ่มเข้าไป เท่ากับเราคิดผิดทาง ส่งเสริมให้เขาใส่เข้าไป ต่อมาเราจึงคิดว่าจะเพิ่มผลผลิตอย่างไร วัวตัวหนึ่งจะให้นมมากขึ้นอย่างไร เช่น ให้วัวและคนเข้ากะ 3 กะ นอน 8 ชั่วโมง วันหนึ่งรีด 3 ครั้ง ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นแต่มันไม่ได้ทำให้เกษตรกรมีชีวิตดีขึ้น

เมื่อทำมาถึงจุดหนึ่ง รัฐบาลไทยในขณะนั้นบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปิดการค้าเสรีกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ก็เลยคิดว่าถ้าเกษตรกรยังอยากทำโคนมอยู่มี 2 ทางเลือก ต้นทุนของเราแพงกว่านิวซีแลนด์และออสเตรเลีย จึงคิดว่าทำอย่างไรให้นมเราคุณภาพดีกว่า พัฒนานมให้มันดีโดยอาศัยความรู้ที่มี เริ่มใหม่หมด

“มาคิดได้ว่านมของเราต้องมีคุณภาพสูงกว่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ต้นทุนต่ำกว่า และเกษตรกรต้องสามารถยืนอยู่บนขาตัวเองได้ ตอนแรกเราไม่ได้รู้มากขนาดนี้ แต่พอทำมาเรื่อยๆ ข้อมูลจะสรุปให้เราเอง ว่าถ้าทำให้เป็นนมออร์แกนิก แทนที่ต้นทุนต้องแพงแต่ต้นทุนกลับต่ำลง แทนที่เราจะได้แค่คุณภาพเราลดต้นทุนได้ด้วย เป็นเศรษฐกิจแบบโลว์อินพุท (low input) ถ้าวัวได้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมวัวจะมีความสุข กินอาหารที่ต้นทุนต่ำสุด จึงไม่ต้องเข็นมากนัก”

เมื่อลดสเกลจากที่ต้องส่งเสริมอาหารอะไรมากมาย ต้องผลักดันให้เกษตรกรผลิตอาหารเองด้วย เช่น หญ้าและธัญพืชบางอย่าง แนะนำให้ลดความอยากที่จะผลิตให้มาก ถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย ฟาร์มแรกที่ทำเขาเคยได้นมวันละ 400 กิโลกรัม เฉลี่ยตัวหนึ่ง 20 กว่าลิตร เราบอกว่าอยากให้เขาทำเป็นออร์แกนิกแล้วเราจะรับซื้อ เขาก็อึดอัดเพราะรายได้เดิมเขาก็ไม่น้อย หากต้องลดอาหาร ให้มากินหญ้า เขาทำใจยาก ต้องคุยกันหลายรอบ เขาเองก็อยากให้มันเกิดแต่ก็ไม่กล้า

“ผมเลยบอกว่าขาดทุนเท่าไหร่มาเอาที่ผม เราก็เครียดเหมือนกันเพราะเราไม่มีให้ เดือนแรกรายได้ลด เราขอให้ยืดไปอีกถึงเดือนที่สอง แต่พอเข้าเดือนที่สามเริ่มเข้าที่เข้าทาง รายได้ลดลงครึ่งหนึ่ง แต่รายจ่ายลดเหลือ 30% นั่นเป็นคำตอบ” นายพฤฒิเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของการเลี้ยงโคนมแบบออร์แกนิกในระยะแรกๆ

นอกเหนือจากการลดอาหารแล้ว ในการเลี้ยงสัตว์ยังต้องมีการใช้ยาฆ่าเห็บอยู่ จึงไปดูงานวิจัยว่าที่บอกว่าสมุนไพรที่ใช้ทำต้มยำกุ้งสามารถฆ่าเห็บได้ โดยการเอามาหมักไว้กับน้ำจุลินทรีย์แล้วพ่น คล้ายๆ สเปรย์ตะไคร้ที่เราใช้ไล่ยุง จึงนำมาใช้กับวัว นอกจากนี้เรายังพิสูจน์ว่าปลูกพืชก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี หญ้าก็ไม่ต้อง แค่เข้าใจวงจรธรรมชาติ ทำให้ดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ สร้างจุลินทรีย์ให้กลับมา สุดท้ายแล้ววัวก็เอามาใช้ได้

นายพฤฒิเล่าว่า ด้านมาตรฐาน มีการนำมาตรฐานทางยุโรปมาใช้ แปลและแจกจ่ายให้เกษตรกร ใช้แบบไม่ต้องมากข้อมากนัก เอาพอสมควร เช่น เลิกใช้ปุ๋ย ลดอาหาร ให้ออกกำลัง ในบริบทบ้านเราควรจะมีที่สักไร่หนึ่ง เลี้ยงวัว 1 ตัว ไม่ต้องใช้อาหาร อยู่ได้ แต่ที่ดินแพง จึงใช้หญ้าที่ต้นสูงขึ้น ทำให้เลี้ยงวัวได้เพิ่มขึ้นนิดหนึ่งโดยที่ไม่ทำลายสมดุลธรรมชาติ ถ้าวัวป่วยเราจะใช้ฟ้าทลายโจรรักษาเหมือนคนใช้แต่ใช้มากหน่อย เวลาวัวเป็นแผลก็ใช้ใบสาบเสือ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ

แดรี่โฮมไม่เพียงสร้างมาตรการจูงใจให้เกษตรกร แต่ดึงด้วย ผลักด้วย หลอกล่อสารพัด การทำเกษตรอินทรีย์เป็นของใหม่มาก อาชีพดั้งเดิมเราก็ไม่ใช่เลี้ยงนมวัว ต้องค้นหาวิธีให้ใกล้เคียงบ้านเรามากที่สุด แต่สุดท้ายแล้วต้องเปลี่ยนทัศนคติที่ว่าต้องผลิตให้มากๆ ก่อน แล้วจากตรงนี้เราจะทำอะไรต่อได้

หลักการรับซื้อน้ำนมของแดรี่โฮมคือ ทุกวันนี้ค่าตอบแทนที่เกษตรกรบ้านเราเขาได้รับมันไม่แฟร์ สิ่งหนึ่งที่อยากจะเปลี่ยนคืออยากให้เขารับค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ นมออร์แกนิกที่เกษตรกรส่งมา เราจ่ายเงินให้เกษตรมากกว่าสหกรณ์อื่น 30% แต่เทียบกับคุณภาพที่เราได้มามันเกินว่านั้น เราต้องตอบแทนเขา

“ถ้าเรามองว่าศิลปินสร้างงานดีๆ ให้เราเสพ เรายินดีจ่ายแพงๆ บางท่านถึงขั้นเซ็นเช็คเปล่าให้ กระเป๋าแบรนด์เนมเราจ่ายได้ แต่เวลาเราซื้ออาหาร เราคิดแล้วคิดอีก ซื้อผักคะน้านี่ต่อแล้วต่ออีก”

เวลาเราทำงานเรามองทั้งระบบ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่โรงงานไม่มีน้ำเสียเลย เรานำกลับไปใช้ทั้งหมด ความร้อนที่ออกจากเครื่องทำความเย็น เราเก็บมาในรูปแบบน้ำร้อน เอาไปใช้พาสเจอไรส์ แต่ไม่พอ เรากำลังเก็บความร้อนจากแสงอาทิตย์เพิ่มด้วย ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน คิดเป็นเงินลงทุน 3 ปี คืนทุนแล้ว ลดค่าไฟไป 30% อะไรที่ปล่อยทิ้งเราหากระบวนการดักเก็บไว้หมด ขยะทุกชิ้นมีบันทึกไว้ เก็บ-ขาย-รีไซเคิล เปลี่ยนเป็นเงินก้อนใหญ่พอสมควรที่จะเอาไปทำสาธารณประโยชน์ได้ มันไม่ใช่รายได้ของบริษัทอยู่แล้ว เพราะเป็นขยะ จึงให้พนักงานดูแลกันไป ได้เงินกินหมูกระทะกันทุกเดือน แต่เขาเบื่อ เปลี่ยนเงินมาทำด้านอื่น ปีแรกได้ศาลาปฏิบัติธรรม ปีที่สองสร้างพระ ปีสามโรงอาหารให้เด็ก

“ด้านผู้บริโภคเรามีมารเก็ตแชร์ในตลาดไม่ถึง 1% เราผลิตโยเกิร์ด 3 ล้านถ้วย/ปี แต่เราได้เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เป็นวัสดุชีวภาพไบโอคัป ซึ่งทำจากพลาสติกเพียวเอเป็นรายแรกในเอเชีย เพื่อให้โรงงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด มีโปรเจกต์จะทำขวดนมด้วย แต่พลาสติกชนิดนี้มันมีความเปราะ ผมเป็นโรงงานเล็กๆ ยังทำได้ทั้งที่มาร์เก็ตเแชร์ไม่ถึง 1% หากบริษัทใหญ่ๆ ทำเช่นนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วและแรง ทิศทางของตลาดจะไปในทางไหน ผู้บริโภคล้วนมีส่วนกำหนดทิศทางของตลาด” นายพฤฒิกล่าว

แดรี่โฮม-Plantoys-ชีวาศรม-มิตรผล 4 กรณีศึกษานวัตกรรมและผลิตภาพสีเขียว

IMG_1510
สฤณี อาชวานันทกุล

ด้านสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด พูดถึงเป้าหมายของโครงการจัดทำกรณีศึกษาและรายงานนวัตกรรมเขียว (green innovation) และผลิตภาพเขียว (green productivity) ว่าเพื่อจุดประกายการอภิปรายถกเถียงเรื่องธุรกิจที่ยั่งยืนในสังคมไทย สร้างความตระหนักในเหตุผลทางธุรกิจของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน กระตุ้นให้บริษัทอื่นๆ รวมถึงผู้ดำเนินนโยบายในประเทศได้เล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการใช้กลยุทธ์นวัตกรรมเขียวและผลิตภาพเขียว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจและประโยชน์ต่อสังคมด้วย

“นอกจากแดรี่โฮมซึ่งมีขนาดเป็นเอสเอ็มอี ที่ได้มาเล่าประสบการณ์ข้างต้นแล้ว ยังมีอีก 3 บริษัท ที่มีความแตกต่างกันมาก เริ่มจาก Plan Toys ของ บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด ซึ่งเป็นเอสเอ็มอีเหมือนกัน จุดกำเนิดที่น่าสนใจคือการทำของเล่นจากยางพารา ซึ่งเริ่มต้นจากไม่ได้คิดเรื่องการทำธุรกิจสีเขียวหรือสิ่งแวดล้อม คุณวิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด เป็นคนจังหวัดตรัง คุ้นเคยกับไม้ยางพาราที่ให้น้ำยางไม่ได้แล้ว เห็นบริษัทญี่ปุ่นติดต่อซื้อไปทำเฟอร์นิเจอร์ จึงเกิดความคิดที่จะเอาไม้ยางไปทำของเล่น เนื่องจากเอามาใช้ฟรีได้ ต้นทุนแทบไม่มีเลย”

Dairy-Home-Logo-side
แดรี่โฮมและแปลนทอยส์

แต่ยางพาราเป็นไม้ที่มีแป้งมาก มอดจึงเข้ามากินเนื้อไม้ จะทำอย่างไรที่จะรักษาเนื้อไม้โดยที่ไม่ใช้สารเคมี ในตอนแรกไม่มีทางเลือกมากนักก็เลือกใช้สารเคมีที่ไม่แรงมาก แต่พอมาถึงปี พ.ศ. 2542 ค้นพบวิธีให้ความร้อนมากขึ้นด้วยการอบไม้ รวมถึงวิธีใช้การเก็บรักษาให้มากขึ้นแต่ก็ยังมีมอดอยู่ ต่อมาค้นพบคลื่นไมโครเวฟซึ่งสามารถกำจัดมอดได้ 100% จะเห็นได้ว่ามีการหานวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดเวลา นอกจากการไม่ใช้สารเคมีแล้วยังมีการใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิล ใช้หมึกพิมพ์จากถั่วเหลือง ใช้สีที่มาจากธรรมชาติด้วย (อ่านและดาวน์โหลดกรณีศึกษา นวัตกรรมสีเขียว #2: แปลนทอยส์)

ธุรกิจถัดมา บริษัท ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ แอนด์ รีสอร์ท จำกัด “กฤป โรจนเสถียร” ประธานและประธานบริหารชีวามศรมเล่าว่า “ชีวาศรม” รีสอร์ทสุขภาพ ซึ่งจดทะเบียนเป็นโรงพยาบาล นายบุญชู โรจนเสถียร ตัดสินใจทุบ “บ้านอยู่สบาย” ซึ่งเป็นบ้านพักตากอากาศบนพื้นที่ 7 ไร่ ของครอบครัวที่เขาตะเกียบ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเปลี่ยนเป็นรีสอร์ทสุขภาพ โดยใช้เวลาในการก่อสร้าง 4 ปี ใช้เงินลงทุน นับเป็นรูปแบบของธุรกิจโรงแรมหรือรีสอร์ทที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย รวมถึงยังเป็นรีสอร์ทสุขภาพแห่งแรกในเอเชีย ให้บริการ 6 ด้าน คือ สปา ฟิตเนส กายภาพบำบัด การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ความงาม (ชะลอวัย) และอาหารสุขภาพ

Luxury-Thai-Holiday-Resort-07-side
ชีวาศรมและมิตรผล

ชีวาศรมไม่เคยปล่อยน้ำเสียออกจากรีสอร์ทแม้แต่หยดเดียว มีการขุดทะเลสาบบำบัดน้ำเสียแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ทำฟาร์มออร์แกนิกสร้างมูลค่าเพิ่มและลดค่าอาหาร มีการจัดการขยะ และกระตุ้นให้ลูกค้า “เขียว” ด้วยการมอบกระติกน้ำสแตนเลสให้เป็นสมบัติส่วนตัวของแขกทุกคนที่เข้าพัก ผลิตน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งรีสอร์ท โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศใหม่มาเป็นระบบการระบายความร้อนด้วยน้ำ (water-cooling chiller) แทน ช่วยลดการใช้พลังงานลง 38% และเปลี่ยนหลอดไฟทั้งหมดในรีสอร์ท 2,614 ดวง จากเดิมที่ใช้หลอดฮาโลเจนขนาด 50 วัตต์ มาเป็นหลอด LED ขนาด 8 วัตต์ ลดพลังงานได้ 84% คุ้มทุนภายใน 1 ปี (อ่านและดาวน์โหลดกรณีศึกษา นวัตกรรมสีเขียว #3: ชีวาศรม)

สุดท้าย กรณีศึกษาของกลุ่มบริษัทมิตรผล ซึ่งเป็นโรงงานผลิตน้ำตาล เมื่อมีการผลิตก็มีการทิ้งชานอ้อยจำนวนมหาศาล จากโรงงานผลิตน้ำตาลทั่วประเทศ 6 แห่ง ปกติเมื่อส่งอ้อย 1 ตัน เข้าหีบ จะได้น้ำอ้อยสำหรับนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตน้ำตาล 72% อีก 28% จะเป็นชานอ้อย เมื่อต้องหีบอ้อยปีละ 20 ล้านตัน แต่ละปีจึงมีชานอ้อยมากถึง 5.6 ล้านตัน ทางออกของมิตรผลในตอนต้นเหมือนกับโรงงานน้ำตาลทั่วไป คือนำชานอ้อยไปเผาเป็นเชื้อเพลิงให้กับหม้อไอน้ำประสิทธิภาพต่ำ เดินเครื่องเฉพาะฤดูหีบอ้อย 4-5 เดือน

3 เคส ที่ผ่านมาของแดรี่โฮม แปลนทอยส์ และชีวาศรม ยังไม่เห็นบทบาทของรัฐมากเท่าใดนัก แต่กรณีของมิตรผล นโยบายรัฐมีส่วนช่วยให้มิตรผลหันมาสนใจอย่างจริงจัง นั่นคือ เมื่อปี พ.ศ. 2537 ภาครัฐมีนโยบายรับซื้อไฟจากผู้ผลิตรายย่อยเข้าระบบ มิตรผลก็ขายไฟส่วนที่เหลือให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในลักษณะ VSPP Non-Firm (VSPP: Very Small Power Producer หมายถึง ผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ Non-Firm คือการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่เกิน 5 ปี) ต่อมาราวปี 2545 รัฐมีนโยบายให้การสนับสนุนธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล โดยให้ adder (ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า) หน่วยละ 0.30 บาท มิตรจึงเริ่มลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้า 2 แห่ง เงินลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท ในพื้นที่เดียวกับโรงงานน้ำตาลภูเขียวและด่านช้าง อันเป็นแหล่งเชื้อเพลิง

ในส่วนขั้นตอนการผลิต ในช่วงฤดูหีบอ้อย ซึ่งกินเวลาประมาณ 4-5 เดือน ระบบ high pressure และ low pressure จะทำงานทั้งสองระบบ โดยระบบ high pressure จะผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าฯ ส่วนระบบ low pressure จะทำงานเพื่อจ่ายไอน้ำและผลิตไฟฟ้าให้อุตสาหกรรมน้ำตาล และในช่วงนอกฤดูหีบอ้อย โรงไฟฟ้าจะเปิดการทำงานในส่วนระบบ high pressure เท่านั้น เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าฯ และส่งไอน้ำและไฟฟ้าไปให้อุตสาหกรรมน้ำตาลใช้ เพราะในช่วงนี้อุตสาหกรรมน้ำตาลใช้พลังงานลดลง

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาใช้เชื้อเพลิงเสริม 2 ตัวหลัก คือ แกลบและไม้สับ แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้นำใบอ้อยเข้ามาเป็นเชื้อเพลิงเสริมด้วย เพื่อสนับสนุนให้ใบอ้อยกลายเป็นของที่มีราคาด้วยการรับซื้อในราคาตันละ 600 บาท เพื่อที่ชาวไร่อ้อยจะได้เก็บใบอ้อยมาขายเพิ่มรายได้หลังการตัดอ้อย แทนที่จะเผาทิ้ง ซึ่งนอกจากจะทำให้สภาพดินเสียแล้ว ยังเป็นการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และมีการติดตั้งแนวตาข่ายกันลม เพื่อป้องกันฝุ่นจากกองชานอ้อยซึ่งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้งขนาดใหญ่พร้อมควบคุมฝุ่นจากปล่องเตาด้วย (อ่านแลดาวน์โหลดกรณีศึกษานวัตกรรมสีเขียว#4: มิตรผล)