ThaiPublica > คนในข่าว > “ไดแอนน์ เฟนสไตน์” นารีพิฆาตซีไอเอ

“ไดแอนน์ เฟนสไตน์” นารีพิฆาตซีไอเอ

22 ธันวาคม 2014


อิสรนันท์

ปีมะเมียม้ากำลังผกโผนผ่านพ้นไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า นับเป็นอีกปีหนึ่งที่มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกทั้งที่สามารถควบคุมได้และไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ดี “คนเป็นข่าว” ผู้มีส่วนกำหนดชะตากรรมโลกยังหนีไม่พ้น 3 ผู้นำโลก ได้แก่ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งแดนดินถิ่นอินทรีผยอง ที่ถืออำนาจบาตรใหญ่เที่ยวแทรกแซงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในหลายภูมิภาคจนเดือดร้อนแสนสาหัสไปตามๆ กัน ทั้งจากนโยบายปราบปรามมุสลิมสุดโต่งในตะวันออกกลาง แต่ก็เหมือนกับตีวัวกระทบคราด เมื่อเกิดผลข้างเคียงตามมาในประเทศอื่น การหนุนหลังอิสราเอลที่เปิดศึกกับปาเลสไตน์ การปล่อยให้จลาจลสีผิวในประเทศลุกลามไปทั่ว แต่สุดท้าย โอบามาก็พยายามปรับปรุงภาพลักษณ์ใหม่เมื่อจู่ๆ ประกาศจะคืนดีกับคิวบาเหมือนกับที่เลิกปิดล้อมพม่า ทั้งๆ ที่สหรัฐฯ ได้ปิดล้อมประเทศนี้มานานกว่า 50 ปี

ผู้นำอีกคนหนึ่งที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วก็คือ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งแดนมังกร ที่นอกจากจะสามารถขยายพันธมิตรในหลายทวีปเพื่อต่อกรกับมหาอำนาจอเมริกาแล้ว ยังประสบความสำเร็จยิ่งยวดในการปราบการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศจากการชูนโยบาย “ปราบเสือและแมลงหวี่แมลงวัน” เมื่อมอบของขวัญส่งท้ายปีเก่าด้วยการจับเสือตัวใหญ่ โจว หย่งคัง อดีตบุรุษหมายเลขสามแห่งทำเนียบผู้นำจงหนานไห่ที่ปล่อยให้ลูกเมียและบริวารร่วมกันโกงชาติมากถึง 90,000 ล้านหยวน หรือกว่า 450,000 ล้านบาท

คนสุดท้ายก็คือ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งแดนหมีขาวรัสเซีย ที่กำลังถูกแดนอินทรีสมคบกับซาอุฯ โจมตีครั้งใหญ่ด้วยมาตรการปล่อยให้ราคาน้ำมันดิ่งลงเหว แต่สุดท้ายเชื่อว่าปูตินคงเอาตัวรอดได้อย่างสบายๆ ในเมื่อมีพันธมิตรอย่างจีนคอยให้ความช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง

ไดแอนน์ เฟนสไตน์ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภา ที่มาภาพ : http://static1.businessinsider.com/image/548bed665afbd3a1208b4567-480/senate-intelligence-chairwoman-dianne-feinstein-cspeaks-to-reporters-about-the-committees-report-on-cia-interrogations-at-the-us-capitol-in-washington-dc-december-9-2014.jpg
ไดแอนน์ เฟนสไตน์ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภา ที่มาภาพ: http://static1.businessinsider.com/image/548bed665afbd3a1208b4567-480/senate-intelligence-chairwoman-dianne-feinstein-cspeaks-to-reporters-about-the-committees-report-on-cia-interrogations-at-the-us-capitol-in-washington-dc-december-9-2014.jpg

ปีมะเมียม้ายังเป็นอีกปีหนึ่งที่ซีไอเอถูกสาวไส้ให้ประชาคมโลกได้ตระหนักถึงความเลวร้ายในคราบนักบุญที่เที่ยวก่อกรรมทำเข็ญไปทั่วภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อความมั่นคงของประเทศและของโลก แต่ความลับไม่มีในโลกฉันใด ความเลวร้ายของจอมมารซีไอเอก็ไม่สามารถใช้ฝ่ามือเดียวบังฟ้าได้อีกต่อไป เมื่อถูกหมัดมหากาฬน็อคเข้าเต็มเปาจนคว่ำข้าวเม่าอย่างไม่เป็นท่า โดยเจ้าของหมัดมหากาฬที่ว่านี้ก็หาใช่ใครอื่น แต่เป็นหญิงชราวัย 81 ปี นามว่าไดแอนน์ เฟนสไตน์ ประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภา ผู้มีใจแกร่งเกินร้อยผลักดันให้ เผยแพร่รายงานลับเปิดโปงวิธีทรมานนักโทษก่อการร้ายสาวกอัลกออิดะห์กว่า 100 คนของซีไอเอหวังจะรีดข้อมูลก่อการร้าย แต่สุดท้ายกลับไม่ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อะไร กระทั่งถูกประณามไปทั่วโลก

โกลด์แมน เบอร์แมน เฟนสไตน์ นักการเมืองเชื้อสายยิวแต่กลับหัวเอียงซ้ายและยืนหยัดในจุดยืนที่จะต่อกรกับอาชญากรรมทุกรูปแบบโดยไม่หวั่นไหวต่อแรงกดดันใดๆ กระทั่งประสบความสำเร็จยิ่งยวดในเส้นทางการเมืองตั้งแต่อายุยังน้อย และกลายเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มีอายุมากที่สุด นอกเหนือจากเป็นผู้สร้างตำนานผู้หญิงคนแรกในหลายๆ เรื่องด้วยกัน เกิดเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2476 เป็นลูกสาวคนโตในจำนวนพี่น้อง 3 คนของดอกเตอร์ลีออน โกลด์แมน ศัลยแพทย์และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย กับนางเบตตี้ โรเซนเบิร์ก โกลด์แมน อดีตนางแบบ ซึ่งมาจากครอบครัวผู้อพยพเหมือนกัน โดยแซม โกลด์แมน ปู่ของเธอ เป็นชาวยิวอพยพมาจากโปแลนด์ ผู้มีส่วนช่วยสร้างโบสถ์หลายแห่งในแคลิฟอร์เนีย ส่วนตาเป็นคริสต์นิกายออร์ธอด็อกซ์ที่อพยพมาจากเมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก รัสเซีย ขณะที่พ่อของเธอเป็นผู้บริจาคคนสำคัญให้กับโบสถ์ยิวแห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโก และยังมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับลัทธิจูดาส์ด้วย

อย่างไรก็ดี ผู้มีส่วนปูรากฐานและแนวคิดทางการเมืองให้กับเธอไม่ใช่ปู่หรือพ่อหรือแม่ แต่กลับเป็นมอร์ริส โกลด์แมน ผู้เป็นอา ซึ่งมีความคิดเห็นทางการเมืองต่างกับลีออน พี่ชายที่เป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน โดยมอร์รีส ซึ่งทำงานที่โรงงานทอผ้าในเมืองนั้น มีแนวคิดแบบประชานิยมหรือประชาสังคมและเป็นผู้ชักจูงหลานสาวให้มีความคิดที่จะทำเพื่อชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ถึงขนาดลงทุนพาหลานสาวที่ตอนนั้นเริ่มเป็นสาวน้อยวัย 16 ปีไปที่ศาลากลางซานฟรานซิสโกเพื่อสังเกตการณ์การประชุมกรรมการที่ปรึกษาของนายกเทศมนตรี ทำให้เธอสนใจการเมืองนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หนำซ้ำ ยิ่งมีโอกาสเห็นพ่อกับอาโต้เถียงทางการเมืองกันเป็นประจำ เธอก็ยิ่งได้สั่งสมประสบการณ์การโต้แย้งด้วยเหตุผลในประเด็นซับซ้อนต่างๆ มากขึ้น

ไดแอนน์ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนาของยิวเป็นแห่งแรก แต่ภายหลังได้ย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนเอกชนคอนแวนต์ ซาเครด ฮาร์ท ของคาทอลิกตามความประสงค์ของผู้เป็นแม่ การย้ายโรงเรียนครั้งนี้ได้บ่มเพาะประสบการณ์ให้เธอเคารพในความเชื่อในทุกศาสนา ระหว่างนั้นเธอบังเอิญได้รู้จักกับเอ็ดมันด์ บราวน์ พ่อของเพื่อนซึ่งเป็นอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย คงจะเป็นเพราะเห็นเธอมีแววทางการเมือง หลังจากบราวน์ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย จึงเสนองานให้กับเพื่อนของลูกสาวซึ่งสนใจปัญหาการปฏิรูปเรือนจำ

หลังจากเป็นชาวยิวคนแรกที่สำเร็จการศึกษาที่คอนแวนต์แห่งนี้ ไดแอนน์ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เธอได้สร้างชื่อในเรื่องเรียนเก่งและเริ่มมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น โดยเป็นรองประธานของชั้นและเข้าร่วมกลุ่มยุวพรรคเดโมแครต กระทั่งสำเร็จการศึกษาในปี 2498 จากนั้นได้เริ่มงานแรกที่มูลนิธิโคโร แต่ทำได้ไม่นานก็แต่งงานกับแจ็ค เบอร์แมน ซึ่งขณะนี้เป็นผู้พิพากษาอาวุโสของศาลแคลิฟอร์เนีย แต่การแต่งงานครั้งแรกสิ้นสุดลงในเวลาอันสั้นไม่ถึง 3 ปี เนื่องจากมีความเห็นไม่ลงรอยกันอย่างรุนแรงเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิง เบอร์แมนต้องการให้ภรรยาทำหน้าที่ของภรรยาและแม่ของแคทเธอลีน ลูกสาวตัวน้อยเท่านั้น แต่เธอต้องการมากกว่านั้น

นอกจากทำหน้าที่แม่บ้านแล้วเธออยากจะไปทำงานนอกบ้านด้วย เนื่องจากผู้ว่าการบราวน์ได้แต่งตั้งให้เธอเป็นหนึ่งในคณะกรรมการหญิงว่าด้วยโทษทัณฑ์และทัณฑ์บนของแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2503 นับเป็นสมาชิกทัณฑ์บนที่อายุน้อยที่สุดของประเทศ ทำให้เธอได้เรียนรู้ประสบการณ์เป็นครั้งแรกในเรื่องการปฏิรูปคดีอาญา

นอกจากนี้ เธอยังเป็นกรรมการด้านอาชญากรรมและกรรมการชุดสถานกักกันเยาวชนของนายกเทศมนตรี ก่อนจะได้เป็นประธานหญิงคนแรกของคณะกรรมการที่ปรึกษาในซานฟรานซิสโก ความสำเร็จและความสามารถของเธอทำให้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่ออีก 2 สมัย

ต่อมาในปี 2505 ไดแอนน์ได้แต่งงานใหม่กับเบอร์ทรัม เฟนสไตน์ ศัลยแพทย์ทางโรคประสาท ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของพ่อและแก่กว่าเธอถึง 20 ปี ทั้ง 2 ได้อยู่กินกันจนกระทั่งเบอร์ทรัมเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2521 ทำให้เธอมีอิสระเสรีที่จะกระโจนสู่วงการการเมืองตามใจปรารถนา โดยเฉพาะเมื่อได้รับการสนับสนุนจากริชาร์ด บลูม สามีคนที่ 3 ซึ่งเป็นวาณิชธนกรผู้ประสบความสำเร็จในฐานะประธานบริษัทบลูม แคปิตอล พาร์ทเนอร์ส์ ประธานมูลนิธิอเมริกัน-หิมาลัย และกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำเนปาล บลูมได้กลายเป็นที่ปรึกษารวมทั้งช่วยเหลือเธอในการรณรงค์ทางการเมือง การสนับสนุนจากบลูมนอกจากทำให้เธอประสบความสำเร็จทางการเมืองแล้วยังประสบความสำเร็จทางธุรกิจด้วยจนได้ชื่อว่าเป็นวุฒิสมาชิกที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 5 มีทรัพย์สินราว 26 ล้านดอลลาร์ ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็น 43 ล้านดอลลาร์ และ 99 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ

เฟนสไตน์เคยสมัครชิงนายกเทศมนตรีนครซานฟรานซิสโก 2 ครั้งเมื่อปี 2514 และ 2518 แต่ผิดหวังโดยแพ้แค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น กระนั้น ตำแหน่งและจุดยืนของเธอทำให้ตกเป็นเป้าลอบสังหารจากกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยโลกใหม่ ซึ่งได้ลอบวางระเบิดที่หน้าต่างบ้านของเธอ โชคดีที่ระเบิดด้าน ต่อมาก็การลอบยิงที่บ้านพักชายหาดของเธอ แต่ไม่มีใครได้รับอันตรายและก็ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งความทะเยอทะยานที่จะเข้ามาเล่นการเมืองท้องถิ่นของเธอได้ เฟนสไตน์ได้รับเลือกเป็นประธานคณะที่ปรึกษานายกเทศมนตรีในปี 2521 ซึ่งเป็นช่วงที่การเมืองในซานฟรานซิสโกเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง

กระทั่งมีการลอบสังหารจอร์จ มอสโคน นายกเทศมนตรีและและฮาร์เวย์ มิลค์ ที่ปรึกษาเมื่อปลายเดือน พ.ย. 2521 ตอนที่เกิดเหตุลอบยิงนั้น เธออยู่ใกล้ที่เกิดเหตุและเป็นคนพบศพมิลค์ที่นอนจมกองเลือด เฟนสไตน์จึงเป็นคนประกาศข่าวการตายนี้ จุดนี้ ทำให้เธอมืมีชื่อปรากฎในภาพยนตร์สารคดี “เดอะ ไทมส์ ออฟ ฮาร์เวย์ มิลค์” ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์และมีการอ้างชื่อเธอหลายครั้งในภาพยนตร์หลายเรื่อง

หลังจากมอสโคนถูกลอบสังหาร เฟนสไตน์ ขึ้นมารั้งตำแหน่งแทนจนครบวาระของเขา ระหว่างนั้นเธอให้เกียรติเขาโดยไม่เปลี่ยนแปลงคณะเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด จนกระทั่งเธอได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีคนที่ 38 แห่งซานฟรานซิสโกเมื่อปี 2522 และยังได้รับเลือกเป็นสมัยที่ 2

ตลอดช่วง 9 ปีของการเป็นนายกเทศมนตรี ไดแอนน์ให้ความสำคัญกับการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนเป็นอันดับแรก รวมทั้งเข้าไปจัดการเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดและการปฏิรูปสังคม เธอยืนหยัดต่อกรกับเหล่าอาชญากรด้วยการเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำรวจซานฟรานซิสโกและการร่นเวลาการตอบรับเหตุฉุกเฉินต่างๆ ให้เร็วขึ้นจากภายใน 8 นาที เหลือแค่ 2 นาที นอกเหนือจากเร่งรัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและควบคุมการจัดทำงบประมาณให้สมดุลตลอดช่วงที่สวมหัวโขน

หนึ่งในงานท้าทายตั้งแต่ต้นก็คือระบบเคเบิลคาร์ในซานฟรานซิสโก ซึ่งจำเป็นต้องปิดซ่อมฉุกเฉิน ก่อนที่วิศวกรจะได้ข้อสรุปว่าจำเป็นจะต้องสร้างใหม่ด้วยงบประมาณ 60 ล้านดอลลาร์ เฟนสไตน์ไม่ขัดข้องแถมยังเป็นคนรับผิดชอบในเรื่่องนี้ และวิ่งเต้นจนกระทั่งได้รับงบประมาณสนับสนุนก้อนใหญ่จากรัฐ กระทั่งสร้างเสร็จในปี 2527 ทันเวลาที่พรรคเดโมแครตเปิดประชุมใหญ่ในเมืองนั้น นอกจากนี้ เธอยังปรับปรุงถนนหนทางให้ดีขึ้น ที่สำคัญ เธอได้กระชับความสัมพันธ์กับเมืองที่เป็นศูนย์กลางการค้าใหญ่ๆ ในเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

แต่ความที่เป็นคนหัวโบราณ เฟนสไตน์จึงกลายเป็นที่เกลียดชังของกลุ่มรักร่วมเพศจากการที่เธอปฏิเสธไม่ให้มีการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิของกลุ่มรักร่วมเพศ นอกเหนือจากวีโตร่างกฎหมายรับรองการอยู่กินในฐานะครอบครัวของกลุ่มคนรักร่วมเพศ เธอยังเสนอกฎหมายห้ามพกพาปืนพกในซานฟรานซิสโก จนตกเป็นเป้าล้างแค้นของกลุ่มพรรคเสือขาวหรือไวท์แพนเธอร์

กระนั้น ผลงานที่ปรากฎชัดทำให้นิตยสารของเมืองและรัฐได้มอบรางวัลนายกเทศมนตรีผู้ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอเมริกาให้กับเธอเมื่อปี 2530

ความเป็นหญิงเก่งและหญิงแกร่ง ทำให้ไดแอนน์ เฟนสไตน์ เป็นเจ้าของสถิติ “ผู้หญิงคนแรก” ในหลายๆ เรื่อง อาทิ เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาของซานฟรานซิสโก เป็นนายกเทศมนตรีหญิงคนแรกแห่งซานฟรานซิสโก เป็นผู้หญิงคนแรกที่พรรคเดโมแครตพิจารณจะเสนอชื่อให้ลงสมัครในตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับวอลเตอร์ มอนเดล เมื่อปี 2527

อย่างไรก็ดี มอนเดลกลับเลือกเจอรัลดีน เฟอร์ราโร เป็นผู้สมัครร่วมและประสบความปราชัยในการเลือกตั้งครั้งนั้น เธอยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่พรรคเดโมแครตเสนอชื่อให้ชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อวุฒิสมาชิกพีท วิลสัน แห่งแคลิฟอร์เนีย ต้องโบกมือลาจากตำแหน่งเพื่อไปรับตำแหน่งผู้ว่าการรัฐในปี 2535 เฟนสไตน์ก็ได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกหญิงคนแรกของแคลิฟอร์เนีย จากนั้นก็ได้รับเลือกอีก 4 สมัยติดต่อกัน โดยครั้งสุดท้ายมีขึ้นเมื่อปี 2555 ซึ่งเฟนสไตน์อ้างว่าได้คะแนนนิยมมากกว่า ส.ว. คนใดๆ ในประวัติศาสตร์ ด้วยคะแนน 7.75 ล้านเสียง

นับตั้งแต่กระโจนสู่การเมืองระดับชาติ เฟนสไตน์ในฐานะวุฒิสมาชิกหน้าใหม่ไฟแรงได้เสนอร่างกฎหมายคุ้มครองทะเลทรายแคลิฟอร์เนีย เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ราว 3 ล้านเอเคอร์ที่เป็นวนอุทยานแห่งชาติ และด้วยความที่สนใจเป็นพิเศษในการปฏิรูปอาชญากรรม เธอจึงเป็นคนเสนอร่างกฎหมายให้เปิดโรงเรียนสอนยิงปืนฟรี การเรียกร้องให้โรงเรียนรัฐจะต้องพักการเรียน 1 ปีนักเรียนที่พกปืนไปโรงเรียน

นอกจากนั้น เธอยังเข็นร่างกฎหมายเพิ่มโทษขั้นต่ำผู้ต้องหาที่ก่ออาชญากรรมด้วยความเกลียดชัง และในฐานะอนุกรรมาธิการยุติธรรมในเรื่องการเดินทางเข้าเมือง เธอจึงสนับสนุนให้ออกกฎหมายให้ยุติการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเคยคัดค้านประธานาธิบดีบิล คลินตัน ที่จะให้เม็กซิโกเป็นพันธมิตรร่วมมือกันปราบปรามยาเสพติด ตลอดจนสนับสนุนให้ขึ้นบัญชีจีนเป็นประเทศที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่งทางการค้า และเสนอร่างกฎหมายว่าการโคลนนิงถือเป็นอาชญากรรม เป็นต้น

คราวที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ได้เปิดโปงความลับว่าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ได้แอบขโมยข้อมูลส่วนตัวของชาวเมริกันหลายล้านคนและประชาชนทั่วโลกอีกกว่าพันล้านคน รวมไปถึงการแอบดักฟังโทรศัพท์ของผู้นำหลายประเทศโดยเฉพาะเยอรมนี เฟนสเตน์เป็นหนึ่งในผู้ที่ปกป้องการกระทำของเอ็นเอสเอ แต่ตำหนิกรณีการดักฟังโทรศัพท์ของผู้นำประเทศพันธมิตร พร้อมกับประนามสโนว์เดนว่าเป็นคนทรยศต่อประเทศชาติ

แม้จะมีชื่อเสียงดีเด่นมาตลอด แต่เฟนสไตน์ก็เคยถูกโจมตีและถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบเมื่อปี 2552 คราวที่เธอเข็นร่างร่างกฎหมายอนุมัติงบประมาณ 25,000 ล้านดอลลาร์ ให้กับสถาบันประกันเงินฝาก (เอฟดีไอซี) การลงมตินี้มีขึ้นเพียงวันเดียวหลังจากสถาบันนี้ได้มอบรางวัลให้กับสามีของเธอด้วยการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาแพงกว่าราคาตลาด นอกจากนี้ สองสามีภรรยายังถูกสอบปากคำกรณีบริษัทอสังหารริมทรัพย์ใหญ่สุดของโลกได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับสำนักงานไปรษณีย์สหรัฐฯ นอกจากนี้ เธอยังถูกกล่าวหาว่าใช้ตำแหน่งในทางมิชอบทำให้บริษัทของสามีได้งานของกองทัพที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

เฟนสไตน์เป็นคนหนึ่่งที่สนับสนุนฮิลลารี คลินตัน ระหว่างการแข่งขันภายในพรรคเพื่อชิงเป็นตัวแทนในการชิงทำเนียบขาว แต่เมื่อโอบามาได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรค เธอก็สนับสนุนเขาเต็มที่ และยังเคยให้โอบามากับฮิลลารียืมบ้านพักในวอชิงตันดีซีเพื่อจะได้ร่วมหารือเป็นการลับถึงยุทธวิธีร่วมกันเอาชนะผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน

ความสำเร็จต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ไดแอนน์ เฟนสไตน์ ได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆ มากมาย อาทิ ได้รับรางวัลวูดโรว์ วิลสัน จากการอุทิศตนช่วยเหลืองานด้านสาธารณะ นอกจากนี้ยังได้รางวัลนาธาน เดวิส จากสมาคมแพทย์อเมริกันจากงานด้านสาธารณสุข รวมไปถึงรางวัลกิตติมศักดิ์จากประธานาธิบดีฟรังซัวส์ มิตเตอร์รองด์ แห่งฝรั่งเศส