ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รื้อกฏหมายสินบน-รางวัลนำจับ ลดแรงจูงใจคอร์รัปชัน – 12 ปี กรมศุลฯเก็บค่าปรับ 35,000 ล้าน แจกรางวัลนำจับให้จนท. 300 คนและสายสืบกว่าหมื่นล้าน

รื้อกฏหมายสินบน-รางวัลนำจับ ลดแรงจูงใจคอร์รัปชัน – 12 ปี กรมศุลฯเก็บค่าปรับ 35,000 ล้าน แจกรางวัลนำจับให้จนท. 300 คนและสายสืบกว่าหมื่นล้าน

23 ธันวาคม 2014


ที่ผ่านมากรมศุลกากรมักติดอันดับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งนี้ด้วยความคลุมเครือประเด็นข้อกฎหมายศุลกากร กระบวนการพิจารณาข้อพิพาท ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้เสียภาษี ถูก ผิด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ ประกอบบทลงโทษที่รุนแรง โดยไม่คำนึงว่าผู้เสียภาษีมีเจตนากระทำผิดความผิดหรือไม่ ผิดเล็ก ผิดน้อย ถูกจับได้ กฎหมายกำหนดให้จ่ายค่าปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้ารวมค่าอากรสถานเดียว บทลงโทษนี้มีความรุนแรงเทียบเท่ากรณีลักลอบขนของเถื่อน หลบเลี่ยงภาษี ด้วยความไม่ชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าว กลายเป็นช่องทางและเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ประกอบกับกฎหมายศุลกากรกำหนดให้จ่ายเงินสินบน-รางวัลนำจับแก่เจ้าหน้าที่และผู้แจ้งเบาะแส (สายสืบ) ในอัตราที่สูงถึง 55% ของค่าปรับ 4 เท่า (คำนวณจากมูลค่าสินค้านำเข้ารวมค่าอากร) จึงเป็นมูลเหตุจูงใจให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรไล่กวดขันจับกุมผู้เสียภาษีหลายแสนรายมาลงโทษ โดยมุ่งหวังที่จะได้รับเงินสินบน-รางวัลจำนวนมาก นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ใครๆก็ต้องการเป็นข้าราชการกรมศุลกากร

12ปีรางวัลนำจับเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร

ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา(2542-2553) มีผู้เสียภาษีซึ่งมีทั้งที่เจตนาและไม่เจตนากระทำความผิดถูกเจ้าหน้าที่จับกุม และยอมจ่ายค่าปรับให้กรมศุลกากร คิดเป็นมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท เงินค่าปรับจำนวนนี้ถูกนำมาจัดสรรเป็นเงินรางวัลนำจับให้เจ้าหน้าที่ไม่เกิน 300 คน รวมทั้งสายสืบ คิดเป็นมูลค่า 10,343 ล้านบาท การดำเนินการดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบการที่สุจริต ปี 2552 จึงมีกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทำเรื่องร้องเรียนผ่านสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ผลักดันให้รัฐบาลขณะนั้นแก้ไขกฎหมายศุลกากร สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นำเสนอข่าวนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่ง ที่ยังไม่ทันผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐบาลที่นำเสนอร่างแก้ไขกฎหมายศุลกากรฉบับนี้ ไม่ลาออกทั้งคณะ ก็ประกาศยุบสภา

ภายหลังรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศนโยบายปราบปรามคอร์รัปชันให้หมดไปจากสังคมไทย นายสมชัย สัจจพงษ์ เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรเป็นครั้งที่ 2 แสดงเจตนารมณ์ว่าจะผลักดันร่างแก้ไขกฎหมายศุลกากร ปรับลดเงินสินบนและรางวัลนำจับให้มีผลบังคับใช้ภายในยุคสมัยของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์

โดยนายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า จากงานวิจัยของ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนครั้งล่าสุดชี้ให้เห็นว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในกรมศุลกากรได้รับการปรับปรุงแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง จนอยู่ในระดับดีกว่าในอดีตมาก ส่วนข้อร้องของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้า ต้องการให้กรมศุลกากรยกเลิกระบบการจ่ายสินบนและเงินรางวัลนำจับ ซึ่งกรมศุลกากรเองก็พร้อมที่จะยกเลิกกฎหมายในส่วนของกรมศุลกากร แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังได้รับเงินสินบน-รางวัลจากส่วนราชการอื่นอยู่ดี เพราะระบบการจ่ายเงินสินบน-รางวัลนำจับไม่ได้มีเฉพาะที่กรมศุลกากรเท่านั้น ส่วนราชการอื่นๆ ก็มีการจ่ายเงินสินบน-รางวัลนำจับแก่เจ้าหน้าที่ที่ปราบปรามการทุจริต เช่น กฎหมายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพสามิต กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ต้องไปตามแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก 5-6 ฉบับ แนวทางนี้จึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดคือต้องปรับลดเงินสินบน-รางวัลลงมา

ปฏิรูปกฎหมาย ลดปัญหาทุ

นายสมชัยกล่าวต่อว่า แนวทางการปฏิรูปกฎหมายศุลกากร เพื่อลดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันตามข้อเสนอของเอกชน มี 3 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. ปรับลดสินบน ปัจจุบันกรมศุลกากรจ่ายเงินสินบนให้ผู้แจ้งเบาะแสหรือสายสืบ 30% ของค่าปรับ 4 เท่า (คำนวณจากมูลค่าสินค้ารวมอากร) ทั้งนี้เพื่อจูงใจให้บุคคลภายนอกแจ้งเบาะแสแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งร่างแก้ไขกฎหมายศุลกากรฉบับใหม่ยังคงจ่ายสินบนให้ผู้แจ้งเบาะแสอัตราเดิมที่ 30% แต่กำหนดเพดานการจ่ายเงินสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อกรณีความผิด

2. ปรับลดเงินรางวัลนำจับ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ศุลกากร จากอัตรา 25% ของค่าปรับ 4 เท่า (มูลค่าสินค้ารวมอากร) ลดเหลือ 15% โดยกำหนดเพดานการจ่ายเงินรางวัลไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อกรณีความผิด

3. ปรับปรุงบทลงโทษ กรณีกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากร ปัจจุบันปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้ารวมค่าอากรสถานเดียว ไม่ว่าผู้กระทำความผิดมีเจตนาหรือไม่มีเจตนา ทั้งนี้ ร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ แบ่งแยกโทษปรับออกเป็น 3 กรณี คือ

3.1 กระทำความผิดฐานลักลอบนำเข้าสินค้า หรือหนีภาษี กรณีนี้ผู้กระทำผิดยังคงได้รับโทษหนักเหมือนเดิม คือ จ่ายค่าปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้ารวมอากร
3.2 กระทำความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร เช่น สำแดงราคาหรือพิกัดสินค้าเป็นเท็จ เดิมปรับ 4 เท่า แก้ไขใหม่เป็นปรับตั้งแต่ 0.5-4 เท่าของมูลค่าสินค้ารวมอากรส่วนที่ชำระไม่ครบ (ค่าอากรส่วนที่ขาด) โดยมอบให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสินลงโทษ ตามความหนักหรือเบา (0.5-4) โดยดูที่เจตนาของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก
3.3 กระทำความผิดฐานนำเข้าสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากส่วนราชการที่กำกับดูแล ร่างแก้ไขกฎหมายใหม่กำหนดให้ปรับได้ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในกฎหมายของส่วนราชการที่กำกับดูแล เช่น นำเข้าเนื้อสัตว์โดยไม่มีใบอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ศุลกากรปรับได้ไม่เกิน 20,000 บาท

“ปัจจุบันกรมศุลกากรลดภาษีนำเข้า สินค้าส่วนใหญ่เสียภาษีในอัตราที่ต่ำมากจนเกือบจะกลายเป็น 0% แต่ที่เป็นประเด็นปัญหาคือ โทษปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้ารวมอากร ไม่ว่าผู้เสียภาษีมีเจตนากระทำความผิดหรือไม่ ผิดมาก ผิดน้อย จับได้ต้องถูกปรับ 4 เท่าสถานเดียว เช่น สารเคมีบางชนิด ไม่ใช่วัตถุอันตราย แต่ต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่กำกับดูแล ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตนำเข้าถึง 90 แห่ง หากผู้นำเข้าไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานเหล่านี้ถูกจับได้ก็ต้องจ่ายค่าปรับ 4 เท่า ได้รับโทษหนักเท่ากับผู้ที่ลักลอบขนของหนีภาษี ส่วนกรณีสำแดงราคาหรือพิกัดเป็นเท็จ บางกรณีอาจจะมีเจตนาแจ้งข้อมูลเท็จเพราะต้องการประหยัดเงินค่าภาษี แต่บางกรณีไม่เจตนา เนื่องจากเรื่องของภาษีมีความซับซ้อน กฎหมายเขียนไว้ไม่ชัดเจน ต้องใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตีความ หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้นำเข้าต้องจ่ายค่าปรับ 4 เท่าเช่นกัน แต่ในร่างแก้ไขกฎหมายใหม่ กำหนดให้ศาลเป็นผู้พิจารณาลงโทษปรับ 0.5-4 เท่าของมูลค่าสินค้ารวมอากรส่วนที่ขาด ผู้กระทำความผิดเสียค่าปรับมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเจตนา” นายสมชัยกล่าว

อธิบดีกรมศุลกากรกล่าวต่ออีกว่า ก่อนหน้านี้กรมศุลกากรเคยนำร่างแก้ไขกฎหมายศุลกากรดังกล่าวไปขอความเห็นสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จากนั้นได้นำร่างกฎหมายเสนอที่ประชุม ครม. สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ทันเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกรัฐประหาร ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้จึงถูกส่งกลับมากรมศุลกากร ล่าสุดตนได้ส่งร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ไปที่กระทรวงการคลังแล้ว โดยนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ส่งต่อให้นายประภาส คงเอียด ที่ปรึกษากฎหมาย กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาในรายละเอียด เพื่อที่จะเสนอต่อที่ประชุม ครม. และส่งให้คณะกรรมกฤษฎีกาตรวจทานถ้อยคำอีกครั้ง ก่อนที่จะส่งให้ ครม. เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา คาดว่าร่างแก้ไขกฎหมายศุลกากรฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า

“นอกจากจะแก้ไขเรื่องสินบน-เงินรางวัลแล้ว กรมศุลกากรยังแก้ไขกฎหมายกรณีเสียภาษีล่าช้า ผู้นำเข้าต้องจ่ายเงินเพิ่ม 1% ต่อเดือน ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจ่ายภาษีครบถ้วน บางกรณีจ่ายเงินเพิ่มมากกว่าภาษีที่ต้องชำระ ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับใหม่นี้ จึงกำหนดให้กรมศุลกากรเก็บเงินเพิ่มรายเดือนได้ไม่เกินค่าภาษีส่วนที่ยังชำระไม่ครบ ส่วนในกรณีผู้เสียภาษีเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ สามารถมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมพิจารณาอุทธรณ์ภาษีได้เหมือนเดิม แต่ปัญหาคือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีพิจารณาคำร้องล่าช้า เนื่องจากมีการยื่นคำร้องเข้ามาเป็นจำนวนมาก ขณะที่กฎหมายปัจจุบันไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาเอาไว้ ทำให้ภาคเอกชนมีภาระในการวางเงินประกัน บางกรณีต้องจ่ายเงินเพิ่มรายเดือนเมื่อคดีได้ข้อยุติ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับใหม่ ก็จะกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาไม่เกิน 180 วัน หากยังไม่ได้ข้อยุติหรือใช้เวลาพิจารณาเกินกว่า 180 วัน ต้องส่งให้ศาลพิจารณา” นายสมชัยกล่าว