ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ส่งออกติดลบ 2 ปีซ้อน ปีหน้าคาดว่าโตแค่ 1% ธปท. ระบุมาจากปัจจัยภายใน”ข้อจำกัดในการผลิต”มากกว่าเศรษฐกิจโลก

ส่งออกติดลบ 2 ปีซ้อน ปีหน้าคาดว่าโตแค่ 1% ธปท. ระบุมาจากปัจจัยภายใน”ข้อจำกัดในการผลิต”มากกว่าเศรษฐกิจโลก

26 ธันวาคม 2014


วันที่ 26 ธันวาคม 2557 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงรายงานนโยบายการการเงิน  เดือนธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นรายงานการประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท. อย่างเป็นทางการ ระบุว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐต่ำกว่าที่คาด การบริโภคเอกชนที่แม้จะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่มีปัจจัยด้านรายได้เกษตรกรและภาระหนี้ครัวเรือนเป็นข้อจำกัดอยู่ เช่นเดียวกับการส่งออกที่ฟื้นตัวช้า ทำให้มีการปรับการเติบโตของเศรษฐกิจหรือจีดีพีจากเดิมที่คาดไว้ในเดือนกันยายน ปี 2557 ที่ 1.5% ปรับใหม่เป็น 0.8%

Web

ทั้งนี้ ตัวเลขการส่งออกถือเป็นตัวเลขที่ถูกจับตามอง เนื่องจากเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจและคิดเป็น 70% ของจีดีพี ล่าสุด ธปท. คาดการณ์ว่าจะหดตัว -0.5% ทำให้การส่งออกของไทยหดตัว 2 ปีติดต่อกัน โดยในปี 2556 การส่งออกหดตัว -0.2% ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540

นายเมธี กล่าวว่าเหตุผลที่การส่งออกขยายตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ เกิดจากข้อจำกัดในภาคการผลิตของประเทศที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไข รวมไปถึงอุปสงค์จากต่างประเทศที่ยังฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาราคาสินค้าส่งออกกลุ่มปิโตรเลียมปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และเงินเยนที่อ่อนค่าลงทำให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปถูกกดราคาต่ำลง เนื่องจากมีราคาแพงขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ในระยะต่อไป ถ้าการส่งออกของญี่ปุ่นดีขึ้นตามค่าเงินเยนที่อ่อนลง ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเป็นซัพพลายเชนของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์

“การส่งออกไม่ได้มาจากเศรษฐกิจโลกเท่านั้น มาจากข้างในด้วย แต่ในแง่กรอบ เศรษฐกิจโลกก็มีบ้าง ก็เศรษฐกิจโลกปีหน้าคู่ค้าของเราคาดว่าขยายตัวมากกว่าปีนี้” นายเมธีกล่าว

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาการส่งออกถือว่าเป็นหนึ่งในตัวเลขเศรษฐกิจที่ถูกปรับลดมากที่สุด โดยในปี 2556 ธปท. คาดการณ์การส่งออกไว้ในเดือนกรกฎาคมและเดือนตุลาคม ว่าจะเติบโตสูงถึง 8% และ 6% ตามลำดับ ด้าน สศค. คาดการณ์ไว้ที่ระดับเดียวกัน คือ 7.5% และ 6.5% ในเดือนกันยายนและเดือนธันวาคม ตามลำดับ ขณะที่สภาพัฒน์คาดการณ์ไว้ที่ 7% ในเดือนพฤศจิกายน ต่อมาในปี 2557 ได้มีการปรับตัวเลขอีกหลายครั้งจนเหลือ 0% หรือไม่เติบโตในหลายสถาบัน เริ่มจากสภาพัฒน์ปรับจาก 7% เป็น 5-7% ในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะปรับลดในเดือนพฤษภาคม เดือนสิงหาคม และเดือนตุลาคม เหลือ 3.7% ,2%, 0% ตามลำดับ  ด้าน ธปท. ได้ปรับลดตัวเลขจาก 7% เหลือ 4.5% ก่อนจะปรับลดเป็น 3% ในเดือนมิถุนายนและ 0% ในเดือนกันยายน ขณะที่ สศค. ปรับลดจาก 6.5% เหลือ 5%

ประมาณการส่งออกปี 2557

ขณะที่การคาดการณ์การส่งออกปี 2558  ถูกปรับลดเหลือ 1% จากเดิมที่ประมาณการไว้ในเดือนกันยายน 2557 ที่ 4% ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ถูกปรับลดจาก 6.5% และ 6% ในเดือนมีนาคมและเดือนมิถุนายน ตามลำดับก่อนแล้ว สร้างความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดจนติดลบเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์การส่งออกปีหน้าที่ 6.6% และ 4% ตามลำดับ

ด้านการคาดการณ์จีดีพีของปี 2557 พบว่าถูกปรับคาดการณ์เกือบทุกครั้งที่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ โดยปี 2556 ธปท. คาดการณ์ครั้งแรกในเดือนมกราคม ระบุว่าเศรษฐกิจจะเติบโตได้ 5.0% และคงการประมาณการไว้จนถึงเดือนตุลาคม 2556 จึงได้ปรับลดเหลือ 4.8% และปรับลดอย่างไม่เป็นทางการอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนเหลือ 4% ด้าน สศค. คาดการณ์ในเดือนกันยายน ปี 2556 ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 5.1%  ก่อนจะปรับลดในเดือนธันวาคมปีเดียวกันเหลือ 4% ด้านสภาพัฒน์ คาดการณ์ในเดือนพฤศจิกายน 2556 ว่าจะเติบโตได้ 4-5%

เมื่อเข้าสู่ปี 2557 ทุกสถาบันได้ปรับลดตัวเลขอีกหลายครั้ง เริ่มจาก ธปท. ปรับการคาดการณ์จีดีพีลงตั้งแต่ต้นปีและปรับต่อเนื่องไปอีก 2 ครั้ง โดยครั้งแรกในเดือนมกราคมเป็นการปรับอย่างไม่เป็นทางการจาก 4% เป็น 3% ขณะที่ต่อมาในรายงานนโยบายการเงิน เดือนมีนาคมและเดือนมิถุนายน ปรับลดเป็น 2.7% และ 1.5% ตามลำดับ ด้าน สศค. ปรับตัวเลขจีดีพีของตนครั้งแรกของปีในเดือนมีนาคม จาก 4% เหลือ 2.6% และปรับลดต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคมและเดือนตุลาคมเหลือ 2% และ 1.4% ตามลำดับ ขณะที่สภาพัฒน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดทำตัวเลขจีดีพีจริง ได้ลดประมาณการในการแถลงข่าวทุกไตรมาสจาก 4-5%  มาเป็น 3-4% ในเดือนกุมภาพันธ์ ต่อมาเดือนพฤษภาคมปรับเหลือ 1.5-2.5%  ก่อนจะปรับลดมาเล็กน้อยในเดือนสิงหาคมเป็น 1.5-2% และเดือนพฤศจิกายนเหลือเพียง 1%

ส่วนหนึ่งของการปรับลดตัวเลขเศรษฐกิจหลายครั้ง เป็นผลสืบเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจจริงของปี 2557 ที่ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ โดยไตรมาสแรกหดตัว -0.5% เนื่องจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ขณะที่จีดีพีไตรมาสสองและสาม หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวกลับมาที่ 0.4% และ 0.6% ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปี 2557 เศรษฐกิจเติบโตเพียง 0.2% เมื่อเทียบกับปี 2556 ซึ่งเศรษฐกิจเติบโต 9 เดือนแรก 3.7% และเติบโตทั้งปี 2.9%

ขณะที่การคาดการณ์จีดีพีปี 2558 ธปท. คาดการณ์ว่าจะเติบโต 4% โดยก่อนหน้านี้ในเดือนมีนาคม ปี 2557 คาดว่าจะเติบโตได้ 4.8% และได้ปรับสูงขึ้นเป็น 5.5% หลังการเมืองมีความสงบในเดือนมิถุนายน ต่อมาจึงได้ปรับประมาณการลงอีกครั้งที่ 4.8% ในเดือนกันยายน ก่อนจะลดเหลือ 4% ในการคาดการณ์ครั้งนี้ ด้าน สศค. คาดการณ์ว่าจะเติบโต 4.1% ส่วนสภาพัฒน์คาดการณ์ว่าจะเติบโตในช่วง 3.5-4.5%

คาดการณ์จีดีพีปี2557

นอกจากตัวเลขเศรษฐกิจ นายเมธียังกล่าวถึงความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตว่าอยู่ในภาวะสมดุลกันระหว่างปัจจัยด้านบวกและปัจจัยด้านลบ โดยปัจจัยด้านบวกได้แก่การที่ภาครัฐสามารถเร่งการใช้จ่ายได้มากกว่าคาด, การลงทุนเอกชนฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด และราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลต่อการใช้จ่ายที่มากขึ้นของเอกชน ขณะที่ปัจจัยด้านลบที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดการณ์ และรายได้เกษตรกรที่ตกต่ำส่งผลกระทบต่อการบริโภคในระยะต่อไปมากกว่าที่คาดการณ์ ขณะเดียวกันยังไม่มีความกังวลว่าจะเกิดภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง และถึงว่าเป็นภาวะเงินเฟ้อต่ำมากกว่าจะเรียกว่าเงินฝืด ส่วนการปรับกรอบเงินเฟ้อยังรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติ

ทั้งนี้ ทาง ธปท. ระบุว่าจะติดตามความชัดเจนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, ความสามารถในการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น, การลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  และความแตกต่างของนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศหลัก และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่อาจทวีความรุนแรงและส่งผลต่อตลาดการเงินและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ