ThaiPublica > คอลัมน์ > จัดการกับวิกฤติ (Crisis Management) ทฤษฎีที่เรียนรู้จากชีวิตจริง…บทเรียนครั้งสำคัญของผม

จัดการกับวิกฤติ (Crisis Management) ทฤษฎีที่เรียนรู้จากชีวิตจริง…บทเรียนครั้งสำคัญของผม

18 ธันวาคม 2014


บรรยง พงษ์พานิช

ในชีวิตเราทุกคน ต้องเผชิญกับวิกฤตินับครั้งไม่ถ้วน บางครั้งก็เป็นวิกฤติใหญ่ บางครั้งก็เล็ก บางครั้งก็เป็นเรื่องหน้าที่การงาน บางครั้งก็เป็นเรื่องชีวิตส่วนตัว บางครั้งเราก็เป็นผู้ก่อขึ้นมา เป็นผู้ทำให้เกิดเอง แต่หลายครั้งก็เกิดจากคนอื่น เกิดจากสภาพแวดล้อมในวงกว้าง แต่เราต้องมีส่วนได้รับผลกระทบไปด้วย

ในฐานะที่มีอาชีพ “วาณิชธนากร” ในฐานะที่เป็นผู้บริหารองค์กร และโดยนิสัยที่ชอบผจญภัย ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบลองของใหม่อยู่ตลอดเวลา แถมไม่ค่อยชอบหนีปัญหา ตัวผมเองเลยเจอะเจอ “วิกฤติ” มากมายกว่าคนธรรมดา มองไปด้านหนึ่งก็ดูเหมือนเป็นกรรม เป็นเรื่องน่าสงสาร แต่แท้จริงแล้วมันกลายเป็นโอกาส โอกาสที่จะได้เรียนรู้ โอกาสที่จะได้ทำ และที่สำคัญ โอกาสที่จะได้ฉกฉวยโอกาส และผลประโยชน์นานาจากวิกฤตินั้น อย่างที่เค้าพูดกันว่า “ในวิกฤติมีโอกาส” ไงครับ ถ้าเราหลบหน้า ไม่ยอมผจญวิกฤติ ก็เท่ากับหลบโอกาสไปด้วย

“วิกฤติ” คืออะไร?

สำหรับผมแล้ว “วิกฤติ” หมายถึงเหตุการณ์ที่มีลักษณะองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ 1. มีเรื่องที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ได้คาดหมาย เกิดขึ้น 2. เหตุการณ์มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่หายนะ (หมายถึงความเสียหายร้ายแรงเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เช่น อาจทำให้องค์กรล้มละลาย ทำให้ดีลที่ทำอยู่ล้มเลิก) 3. กระบวนการ กลไกปกติที่มีอยู่ ไม่สามารถใช้แก้ไขปัญหาได้ ต้องมีการออกแบบวิธีการพิเศษเฉพาะ 4. มีเงื่อนเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าไม่แก้ไขให้ทันการณ์ ก็อาจไม่มีโอกาสอีกเลย

วิกฤติมีหลายแบบแตกต่างกัน แล้วเราจะมีทฤษฎี มีวิธีการที่จะผจญกับมันอย่างไร?

สำหรับผมแล้ว จากการเรียนรู้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้ผมพัฒนาวิธีการ ขั้นตอน ที่จะใช้เผชิญกับวิกฤติต่างๆ ที่ถึงแม้ตัววิกฤติจะมีลักษณะแตกต่างกัน แต่ขั้นตอนนี้ก็มักจะสามารถดัดแปลงใช้ได้กับแทบทุกสถานการณ์

แต่ก่อนที่จะเฉลย ผมจะขอเล่าประสบการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในการแก้วิกฤติ เพื่อให้เห็นภาพนะครับ (ร่ายยาวอีกแล้ว)

เหตุเกิดในช่วงสายใกล้เที่ยง ในวันหนึ่งของเดือน พ.ย. 2536 ยี่สิบเอ็ดปีที่แล้ว แต่ผมยังจำได้ละเอียดอย่างกับเกิดเมื่อวาน

ผมได้รับการตามตัวด่วน จากการประชุมอยู่กับลูกค้า ว่ามีเรื่องสำคัญเกิดขึ้น คือเกิดการผิดพลาดในระบบส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท กล่าวคือ ลูกค้าสั่งขายหุ้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ (บงล.) กรุงศรีอยุธยาฯ (AITCO) 20,000หุ้น ในราคา 130 บาท (ประมาณ) แต่ระบบดันสั่งขายไป 20,000,000 หุ้น กว่าจะรู้ว่าผิด ระดมกำลังกันถอนคำสั่ง (ถอนได้ทีละน้อย) แค่ยี่สิบนาที ก็มีผู้แย่งกันเข้าซื้อไปได้ 18 ล้านหุ้น คิดเป็นเงิน 2,300 ล้านบาท ปัญหามันมีอยู่ว่า เราไม่มีทางที่จะส่งมอบใบหุ้นที่ไม่มีนี้ให้กับผู้ซื้อได้เลย (เพราะหุ้น AITCO ที่จดทะเบียนทั้งหมดมีอยู่เพียง 12 ล้านหุ้น แถมผู้ถือหุ้นใหญ่คือกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยา และคุณกฤตย์ รัตนรักษ์ ถืออยู่กว่า 60%)

พอผมกลับมาร่วมประชุม คุณวิโรจน์ นวลแข CEO บอกว่า ได้แจ้งให้ทางประธานและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) (ศ.สังเวียน อินทรวิชัย และ คุณเสรี จินตนเสรี) และ เลขาฯ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) (คุณเอกกมล คีรีวัฒน์) ทราบแล้ว ทั้งสามท่านบอกว่าจะลองคิดวิธีแก้ไขให้ ซึ่งดูเหมือนทุกคนในที่ประชุมดูผ่อนคลาย คิดว่าปัญหาจะลุล่วงได้

แต่ผมทราบทันทีว่าเรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้น “ถ้าเราหวังพึ่งผู้ใหญ่ ถึงเขาจะพยายามช่วย แต่สุดท้ายอาจบอกว่าช่วยไม่ได้ แล้วเราก็เจอหายนะอยู่ดี ผมว่าเราต้องเข้าไปควบคุมสถานการณ์ กระตุ้นกระบวนการด้วยตัวเอง ถ้าไม่งั้นอาจจะสายเกินไป” คุณวิโรจน์เลยออกคำสั่งให้ผมเป็นผู้บัญชาการเรื่องนี้ โดยท่านจะเตรียมพร้อมคอยสนับสนุนทุกอย่าง “เรื่องนี้ให้คุณเป็นนาย ผมและทุกคนคอยช่วย เพราะคุณถนัดเรื่องแก้ปัญหายากๆ ” (นี่เป็นการบริหารสไตล์ภัทรฯ ที่ยอมรับในความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ใช่เป็นนายแล้วจะเก่ง จะรู้ทุกเรื่อง)

ทำไมถึงจะหายนะ ผมจะไล่เรียงให้ฟังนะครับ ปกติถ้าขายหุ้นวันนี้ อีก 3 วัน เราต้องนำหุ้นไปส่งมอบ (เรียกว่าระบบ t+3 ) ส่วนคนซื้อเขาก็เอาไปขายได้เลย (เพราะต้องส่งมอบอีกสามวันเหมือนกัน) ถ้าเราไม่มีหุ้น เราก็ต้องไปไล่ซื้อเอาแล้วยอมเสียค่าปรับส่งมอบช้า แต่หุ้น AITCO ในจำนวนที่เราขายไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ ไม่รู้ต้องไล่ซื้ออีกกี่สิบกี่ร้อยวันถึงจะได้ครบ (ตอนนั้นตลาดฯ ยอมให้หุ้นขึ้นได้วันละ 10% เรียกว่า ceiling) หุ้นจะขึ้นอีกหลายสิบ ceiling แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะไม่ยอมขาย เพราะคาดได้ว่าพรุ่งนี้ก็ต้อง ceiling ต่อไปเรื่อยๆ

ในตอนนั้น ภัทรฯ มีเงินกองทุนอยู่ประมาณสี่พันล้านบาท ทุก ceiling จะขาดทุนประมาณ 200 ล้านบาท ยี่สิบวันก็ล้มละลาย เดือดร้อนไปถึงผู้ฝากเงิน ลูกค้า ทางการ ไปหมด แล้วก็ไม่จบแค่นั้น ภัทรฯ เจ๊งไปแล้วก็ยังไม่มีใครหาหุ้นมาส่งมอบได้ คนซื้อจำนวนมากก็ไม่ได้หุ้น นึกว่ารวยแต่ก็ไม่มีของจริง ปั่นป่วนไปทั่ว ในที่สุดระบบชำระราคา (settlement system) ก็ต้องพัง ตลาดจะปั่นป่วนวุ่นวายถึงขั้นพังตามไปด้วยเลยได้

ถ้าฟังเหตุผลที่ผมไล่ก็เห็นได้ชัดว่า รายการผิดพลาดนี้ควรต้องถูกยกเลิก แทบจะมีข้อสรุปได้ทางเดียวเท่านั้น แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างนั้นสิครับ เพราะว่า 1. ไม่มีกฎให้ยกเลิกได้ ไม่เคยมีเรื่องขนาดนี้เกิดขึ้นมาก่อน ถ้าเป็นรายการเล็ก ผู้ผิดพลาดต้องยอมรับความเสียหาย 2. มีผู้เกี่ยวข้องเยอะ โบรกเกอร์ที่เข้าแย่งซื้อมีอยู่ 30 แห่ง ทั้งพอร์ตตัวเอง ทั้งลูกค้าอีกนับพันคน ทุกคนอยากได้ประโยชน์และคิดว่ามีสิทธิ์ทั้งนั้น 3. ภัทรฯ ตอนนั้นโดดเด่นมาก มีมาร์เก็ตแชร์อันดับหนึ่งทั้งโบรกเกอร์ทั้งวานิชธนกิจ เป็นที่หมั่นไส้ของทุกคน โดยเฉพาะไอ้เตาเจ้าหลักการบ้าฝรั่ง คนยิ่งเขม่นเป็นพิเศษ มีคนอยากให้ล้มคว่ำให้สะใจอยู่ไม่น้อย (แหม่ ก็เราเป็นคนไทยกันนี่ครับ)

ผมตรงดิ่งไปตลาดหลักทรัพย์เพื่อขอพบผู้จัดการ ระหว่างทางโทรตามนักกฎหมายจากสองสำนักให้ส่งมือดีไปด่วน พอไปถึงได้รับแจ้งว่า ผจก. (คุณเสรี) ยังไม่ว่าง ออกไปทานเที่ยง แล้วกลับมามีนัด พบได้ห้าโมงเย็น ผมไม่ยอมรอ ถามว่าทานข้าวที่ไหน แล้วลุยเข้าไปขัดเลย เรียนท่านว่า นี่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ขอให้เรียกประชุมกรรมการตลาดฯ ด่วน ท่านตอบว่าใจเย็นๆ ตามระเบียบเรียกได้เร็วสุดพรุ่งนี้ ค่อยๆ คิดหาทางกัน ผมต้องโทรขอคุณวิโรจน์ติดต่อประธาน ในที่สุดท่านประธานฯ (อาจารย์สังเวียน) ท่านยอมเรียกประชุมด่วนตอนบ่ายสาม

ระหว่างรอประชุมกรรมการ ผมศึกษาประเด็นกฎหมาย นักกฎหมายคนหนึ่งบอกว่า ในความเห็นของเขารายการซื้อขายอย่างนี้ไม่มีทางที่จะยกเลิกได้ ผมสวนกลับทันที “ผมถามว่าจะยกเลิกได้อย่างไร ไม่ได้ถามว่ายกเลิกได้หรือเปล่า คุณไปหาคำตอบมาให้ได้ แล้วตอบมาว่าต้องทำอะไร ถ้าถึงกับต้องแก้รัฐธรรมนูญก็ขอให้บอกมา ถ้าตอบไม่ได้ก็กลับไป ให้นายคุณส่งคนที่ตอบได้มา”

ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า จะยกเลิกได้ก็มีวิธีเดียว คือ ให้คู่ค้าทุกฝ่ายยินยอม (ทั้ง 30 บริษัทหลักทรัพย์และลูกค้าอีกนับพันคน) และตลาดหลักทรัพย์ยอมอนุมัติ และควรต้องทำทุกอย่างให้แล้วเสร็จในเวลาห้าโมงเย็นก่อนหมดเวลาทำงานด้วย มันช่างเป็นภารกิจที่แทบเป็นไปไม่ได้เอาเลยทีเดียว เป็นบางคนอาจยอมแพ้หลบภาระ แต่ผมไม่ท้อ เริ่มวางแผนทำเต็มที่ (ก็ยังดีกว่าอยู่เปล่าๆ นี่ครับ)

ผมเข้าไปร่วมประชุมกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีโครงสร้างประกอบไปด้วยตัวแทนฝ่ายโบรกเกอร์ครึ่งหนึ่ง กับผู้ทรงคุณวุฒิอีกครึ่ง มี ศ.สังเวียน อินทรวิชัย เป็นประธาน ผมทำตัวลีบที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ตามคติ “ยามเป็นหมา ต้องเป็นหมา”) พยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับความผิดพลาดที่เกิด ยืนยันว่าไม่ใช่ความตั้งใจชั่วร้ายใดๆ แต่ชี้แจงที่ประชุมถึงความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกรายการนี้ มิฉะนั้นจะเกิดโกลาหลวุ่นวายไปหมด ไม่เพียง บงล.ภัทรฯ จะอยู่ไม่ได้เท่านั้น ตลาดก็จะปั่นป่วนจนถึงขั้นพังไปหมดได้ เห็นได้ชัดว่าที่ประชุมไม่ได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ หลายท่านบอกว่าใจเย็นๆ ค่อยๆ ศึกษาหาทางออก ค่อยๆ คิดแก้ไข ไม่มีความจำเป็นต้องด่วนสรุป ด่วนตัดสินใจ

กรรมการฝ่ายโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ไม่ยอมให้ยกเลิกรายการไปเลย มีท่านหนึ่งเสนอให้ภัทรฯ ยอมจ่ายค่าเสียหายสัก 2 ceiling คือ ให้นักลงทุน (นักฉวยโอกาส) ได้รับคนละ 26 บาทต่อหุ้น ซึ่งรวมภัทรฯ ต้องจ่าย 468 ล้านบาท (ถือว่าเยอะมากในสมัยนั้น) “ภัทรฯ มีกำไรมากกว่าเพื่อนฝูงเกือบทุกปี ปีนี้ก็น่าจะกำไรกว่าสี่ร้อยล้าน จ่ายแค่นี้ ถ้าปีนี้จะขาดทุนก็ไม่มาก ไม่ถึงกับเจ๊ง” ท่านว่า

ผมต้องพยายามชี้แจงว่า “ประเด็นมันไม่ใช่ว่ายอมจ่ายเท่าใด แต่ถ้ายอมจ่ายแม้แต่บาทเดียว เท่ากับมีการยอมรับว่ามีการซื้อขายเกิดขึ้น ถ้าผู้ซื้อแม้แต่รายเดียวไม่ยอมรับจำนวนที่จ่าย จะเอามากขึ้นหรือสุดท้ายจะเรียกร้องเอาหุ้นซึ่งไม่มี มันก็ไม่จบอยู่ดี จะวุ่นวายไปทั่ว ทางเดียวคือต้องไม่ให้มีรายการ ต้องยกเลิกรายการ”

แต่ที่ประชุมส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอม โดยเฉพาะพวกโบรกเกอร์ มีโบรกเกอร์ใหญ่รายหนึ่งต่อรองว่า “ภัทรฯ ควรต้องเห็นใจคนที่มาซื้อ เพราะบางคนต้องขายหุ้นอื่นเพื่อเคลียร์วงเงินมาแย่งซื้อ ถ้าเค้าไม่ได้อะไรติดมือไปเลยเค้าอาจจะฟ้องได้ น่าจะต้องให้อย่างน้อยหุ้นละ 20 บาท ก็ยังดี”

ผมเรียนยืนยันว่าให้ไม่ได้เพราะเรื่องจะไม่จบ ให้ยกเลิกรายการ แล้วถือว่าภัทรฯ ทำผิดกฎ ต้องจ่ายค่าปรับให้ส่วนกลางไปเลยจะดีกว่า เรื่องนี้ทุกคนที่มาเข้าแย่งซื้อเป็นเพราะรู้อยู่ว่ามีการผิดพลาดเกิดขึ้น (เห็นคำสั่งขายที่ผิดปกติ) เลยเข้ามาแย่งซื้อ หวังกำไรจากความผิดพลาดของคนอื่น เป็นลาภที่ไม่ควรได้อยู่แล้ว เพราะถ้าไม่เห็นว่ามีการผิดพลาดเกิดขึ้นแล้วมีโอกาสที่จะฉวยเอาจากคนพลาด ปกติไม่เคยมีใครคิดจะซื้อหุ้น AITCO นี้เลย

“การเล่นหุ้นเป็นเรื่องของการแสวงหาโอกาสอยู่แล้ว คุณพลาดท่าเอง จะมาขอความเห็นใจได้อย่างไร ยังไงก็ต้องให้เค้าได้ติดไม้ติดมือไปบ้าง ยิ่งบางคนคิดว่าจะได้กำไรไปแล้ว วางแผนใช้เงินไปแล้ว ผมว่าคุณยอมชดใช้มาบ้างสักหุ้นละ 10-15 บาท แล้วพวกเราจะค่อยๆ ไปเจรจากับลูกค้าให้ คิดว่าลูกค้าไม่น้อยน่าจะยอม ส่วนที่เหลือก็ค่อยๆ เจรจากันไป” ท่านโบรกเกอร์ใหญ่รายเดิมยืนยัน

ผมยังยืนกระต่ายขาเดียวว่าทางเลือกนั้นทำไม่ได้ เพราะถ้ามีคนไม่ยอม เรื่องจะไปกันใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด “ผมได้ตรวจสอบแล้วพบว่าบริษัทของพี่ (ท่านผู้ใหญ่ที่ว่า) เป็นโบรกเกอร์ที่เคาะซื้อไปมากสุด ประมาณ 3 ล้านหุ้น ถ้าพี่ยอมให้สัญญาว่า ถ้าเรายอมชดเชยหุ้นละ 5-10 บาท พี่จะเจรจาลูกค้าได้หมด 100% ส่วนที่ไม่ได้พี่จะชดใช้เอง ผมถึงจะพิจารณาได้ พี่ตกลงไหมครับ” “เฮ้ย คุณทำผิดเองแล้วจะมายกให้เป็นภาระพวกเราได้ไง” ท่านชักเริ่มมีอารมณ์

ในที่สุดท่านประธานขอให้ผมสรุปข้อเสนอ เพื่อที่ประชุมจะได้พิจารณาต่อ ผมเลยต้องขอโทษทุกท่านที่มีความผิดพลาดขึ้น แต่ขอเปรียบเทียบให้ฟังว่า มันเป็นการผิดพลาดจากการส่งคำสั่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอและก็มีโทษปรับตามระเบียบอยู่แล้ว เพียงบังเอิญคราวนี้มันเป็นรายการใหญ่ที่ไม่มีทางที่จะหาหุ้นส่งมอบได้ จึงมีทางเดียวคือยกเลิกรายการ “มันเหมือนกับผมขี่มอเตอร์ไซค์แล้วฝ่าไฟแดง ซึ่งก็ทำผิดกฎแหละครับ แต่บังเอิญผมบรรทุกถุงเงินมาด้วย แล้วถุงตกแตกกระจาย คนที่อยู่แถวนั้นเฮโลกันมาแย่งเงิน ผมคว้าข้อมือไว้อ้อนวอนขอคืน บางคนบอกไม่ได้หรอก ชั้นเสียเวลาต้องโดดลงรถเมล์มาแย่งเงิน ขอชดเชยค่าเสียหายสัก10 บาท ถ้าผมให้ไป อีกคนบอก ของกูแท็กซี่ ต้องเอาร้อย อีกคนบอกกูเลยผิดนัดสำคัญต้องขอพันนึง อย่างนี้ไปเรื่อยไม่มีที่สิ้นสุด ผมกราบอ้อนวอนทุกคน อย่าเอาเลยครับเงิน ถือเป็นความไม่สะดวก ผมกราบขอโทษ แล้วให้ตำรวจจราจรเขาปรับผมตามกฎหมาย ผมยอมรับผิด

ต้องขอกราบเรียนว่า ถ้าไม่มีการยกเลิกรายการในวันนี้ ผมไม่มีทางเลือกเลยครับ ภัทรฯ จะต้องทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า เรามิได้ส่งคำสั่งซื้อขายนี้ เราจะไม่ยอมรับรายการ และจะไม่มีการส่งมอบหุ้นใดๆ ซึ่งถ้าใครไม่ยอมก็ต้องไปฟ้องศาล และสู้คดีกันไปยาวนาน ภัทรฯ อาจถูกไล่ออกจากสมาชิกตลาดฯ เราก็ต้องจำยอม แต่ตลาดจะปั่นป่วน ระบบชำระราคาส่งมอบหลักทรัพย์ก็จะพัง ตลาดฯ อาจพังทั้งหมดได้ ผมไม่ได้ขู่นะครับ ผมต้องทำอย่างนั้นเพราะไม่มีทางเลือกจริงๆ” ในที่สุดผมก็อ้อนวอนให้เรียกประชุมโบรกเกอร์ทั้งหมดได้ในตอนเย็น โดยท่านประธานและกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิบางท่าน เช่น คุณนวพร เรืองสกุล ช่วยโน้มน้าวที่ประชุมให้

ก่อนเริ่มประชุม ผมโทรรายงานรายละเอียดให้คุณวิโรจน์ พร้อมทั้งขอให้ท่านติดต่อโบรกเกอร์ผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ท่านคุ้นเคย เพื่อขอให้ช่วยสนับสนุน รวมทั้งขอให้ท่านสรุปประเด็นที่ต้องมีมติเอกฉันท์ให้ได้ให้ท่านประธานฯ (อ.สังเวียน) และผู้ใหญ่อื่นๆ ทราบ เพราะถ้ามีแม้แต่รายเดียวค้านก็จะเกิดปัญหาได้

พอเริ่มประชุมตอนหกโมงเย็น ผมเริ่มใจชื้น เพราะผู้ใหญ่ทั้งหลายของวงการต่างปรากฏตัวกันพร้อมหน้า ขอเอ่ยถึงเท่าที่จำได้นะครับ เช่น คุณธนดี โสภณศิริ CEO บงล.นวธนกิจ คุณจักร ปันยารชุน บงล.ไอทีเอฟ คุณโยธิน อารี แห่ง BFIT(บงล.กรุงเทพธนาทร) คุณสุขุม สิงคาลวณิชจากบงลธนสยาม ดร.ชัยยุทธ ปิลันธน์โอวาท บงล.ร่วมเสริมกิจ คุณสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ บงล.ธนชาติ ท่านเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ใหญ่ เป็นเสาหลักในวงการเงินทุนหลักทรัพย์สมัยนั้นกันทั้งสิ้น และนี่ต้องเป็นความพยายามอย่างยิ่งของคุณวิโรจน์ ท่านเหล่านี้จึงมาประชุมด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่ปกติท่านจะให้ตัวแทนมา

ท่านประธานเปิดประชุม และขอให้ผมชี้แจง ซึ่งผมก็ได้ขอโทษที่ประชุม ยอมรับความพลาดทุกประการ เล่าเรื่องมอเตอร์ไซค์อีกที แล้วสรุปว่าต้องขอให้ที่ประชุมกรุณาลงมติยกเลิกรายการนี้ พอหลังจากนั้น ท่านประธานก็ให้ที่ประชุมแสดงความเห็น ซึ่งผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ผมกล่าวนามต่างก็ทยอยกันขึ้นมาแสดงความเห็นสนับสนุนว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ตลาดฯ ดำเนินไปได้ คือต้องให้มีการยกเลิกรายการนี้ มีโบรกเกอร์เพียงรายเดียวเท่านั้น ที่ประกาศว่าถ้าไม่ได้หุ้นละอย่างน้อยสิบบาทก็จะขอคัดค้าน (ไม่ทราบว่าท่านยังจำได้หรือเปล่า แต่ผมจำท่านได้แน่นอน และท่านก็ยังอยู่แถวนี้ด้วย)

พอท่านประธานฯ เริ่มโหวต โดยท่านขอให้ขานทีละราย ท่านเรียกพวกผู้ใหญ่ก่อน โดยเว้นโบรกเกอร์รายที่ว่าไว้คนสุดท้าย ทุกคนขาน “อนุมัติ” หมด พอถึงรายสุดท้ายท่านถามว่า “คุณ ทุกคนอนุมัติ คุณจะเป็นรายเดียวที่จะทำให้เกิดเรื่องใหญ่หรือเปล่า” ในที่สุดเขาก็พูดเบาๆ ว่า “อนุมัติก็ได้ครับ” ก็เป็นอันว่าราวๆ ทุ่มครึ่ง ที่ประชุมก็มีมติเอกฉันท์ให้ยกเลิกรายการ และทุกคนต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบทันทีว่ารายการถูกยกเลิก

ผมเดินกราบขอบคุณท่านประธานและผู้ใหญ่ทุกคน และไหว้ขอบคุณเพื่อนร่วมอาชีพทุกคนแล้วกลับบริษัท ทนายยังบ่นว่า “เรายกเลิกได้หลังห้าโมงเย็น อาจเป็นประเด็นให้ลูกค้าที่ไม่ยอมยกขึ้นฟ้องร้องได้” ผมตอบว่า “ทำได้แค่นี้ก็ปาฏิหาริย์แล้วว่ะ” พอถึงบริษัท คุณวิโรจน์ชมเรียบๆ ว่า “ทำงานดีมากเตา แยกย้ายกันไปพักผ่อน พรุ่งนี้ประชุมเจ็ดโมงเช้า ต้องมารื้อระบบส่งคำสั่งและแก้ไขป้องกันไม่ให้มีความผิดพลาดซำ้สอง ต้องทำให้เสร็จก่อนเปิดตลาดพรุ่งนี้”

วิกฤติการณ์หุ้น AITCO ในปี 2536 ครั้งนั้นจบลงได้ด้วยดี ภัทรธนกิจโดนปรับไป 30 ล้านบาท แต่ก็รอดจากการล้มละลายมาได้แบบหวุดหวิด ซึ่งถ้าวันนั้นไม่ได้มีการจัดการได้อย่างทันท่วงที มีการละเลยแม้วันเดียว แม้ขั้นตอนเดียว วันนี้ก็อาจจะไม่มี บล.ภัทร อยู่ (แต่ บง.ภัทรธนกิจก็ปิดตัวเองลงในปี 2542 ซึ่งการจัดการวิกฤติครั้งนั้นใช้เวลา 18 เดือน และถึงแม้จะแตกต่างในรายละเอียดมาก แต่ผมก็ได้ใช้บทเรียนจากคราวนี้ไม่น้อยเลยทีเดียว ไว้จะเขียนเล่าให้ฟังนะครับ แต่คงยาวกว่าคราวนี้มากทีเดียว)

ขั้นตอนการจัดการวิกฤติ ที่ผมเรียนรู้มาจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมีดังนี้ครับ

1. “ตั้งสติ” (Be Calm) ความตื่นตระหนกจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก สติเท่านั้นที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นความยุ่งยากไปได้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการจงท่องไว้ตลอดเลยว่า สติ สติ สติ

2. “แยกแยะวิกฤติ” (Identify Crisis) เราต้องรู้รายละเอียดโดยเร็วว่าวิกฤติคืออะไร และจะนำไปสู่อะไร มีผลลัพธ์ยังไง ถ้าไม่แก้จะเป็นอย่างไร หายนะมีได้กี่ระดับ แตกต่างกันอย่างไร ปัจจัยและเงื่อนเวลาที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร

3. “รวบรวมข้อมูลและทรัพยากร” (Collect Information & Resources) เวลา ข้อมูล และทรัพยากร มีจำกัดเสมอ ทำให้เราต้องมีการรวบรวมอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมองออกว่าข้อมูลอะไรที่สำคัญเป็นประโยชน์ที่สุด จะหาได้จากไหน ทรัพยากรอะไรที่มีและใช้ได้ (เช่น นักกฎหมาย สายสัมพันธ์ ในกรณีตัวอย่างที่เล่าให้ฟัง)

4. “วิเคราะห์ข้อมูล” (Analysis) จากข้อมูลที่มีอยู่ให้ความรู้อะไรกับเราได้บ้าง มีข้อมูลและทรัพยากรสำคัญที่ต้องหาเพิ่มไหม

5. “พัฒนาทางเลือก” (Develop Alternatives) ปกติมักมีทางเลือกได้หลายทาง ที่แต่ละทางมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน มีโอกาสสำเร็จไม่เหมือนกัน แถมผลที่ได้ก็มีระดับความสำเร็จ ความเสียหายแตกต่างกัน

6. “ตัดสินใจ” (Make Decision) การตัดสินใจนี้ต้องแหลมคม (อย่างที่ Jack Welch เรียกว่า Edge) และที่สำคัญต้องถูกเวลา (Right Timing) ไม่ด่วนเร็วเกินไป แต่ต้องไม่สายเกินการณ์ หลายครั้งต้องประเมินตัดสินใจจากทางเลือกต่างๆ ที่เชื่อว่ามีโอกาสสำเร็จสูงทั้งๆ ที่อาจไม่ใช่ทางเลือกดีที่สุด เพื่อบรรเทาหายนะที่อาจเกิด

กระบวนการทั้งหมดหกขั้นตอนนี้ จะต้องทำเป็นพลวัต นอกจากต่อเนื่องแล้วยังต้องวนเวียนต่อไปจนกว่าวิกฤติจะผ่านพ้น เช่น แม้จะตัดสินใจไปแล้ว ก็ยังต้องติดตามผล หาข้อมูลเพิ่ม วิเคราะห์ต่อ หาทางเลือกอื่น และก็ปรับเปลี่ยนการตัดสินใจ การดำเนินการไปตามสภาวะพลวัตของวิกฤติ

นี่แหละครับ หลักเกณฑ์ในการ “จัดการกับวิกฤติ” (Crisis Management) ที่ผมเรียนรู้จากแปดชั่วโมงของประสบการณ์จริง

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกเฟซบุ๊ก Banyong Pongpanichวันที่ 14 ธันวาคม 2557