ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ระบบทางคู่ ข้อเท็จจริงรถไฟไทย (ตอนที่6) : สภาพที่แท้จริง “ราง – รถ – อาณัติสัญญาณ “

ระบบทางคู่ ข้อเท็จจริงรถไฟไทย (ตอนที่6) : สภาพที่แท้จริง “ราง – รถ – อาณัติสัญญาณ “

11 พฤศจิกายน 2014


การรถไฟแห่งประเทศไทย อยู่ในสภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปี 2556 มีขาดทุนสะสม 80,127 ล้านบาท และการรถไฟฯ เป็น 1 ใน 7 รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) จะต้องเร่งเข้ามาฟื้นฟู โดยคาดว่าระหว่างวันที่ 10-14 พฤศจิกายน 2557 คณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสหกิจ นำโดย พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์ และกรรมการทั้ง 6 เช่น นายบรรยง พงษ์พานิช, นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล, นายวิรไท สันติประภพ, นายภูมิใจ อัตตะนันทน์, นายกษมา บุณยคุปต์ และนายกุลิศ สมบัติศิริ จึงต้องเดินสายลงพื้นที่ 7 รัฐวิสาหกิจ ที่ประสบปัญหา “ขาดทุน” และอยู่ระหว่างส่งแผนฟื้นฟูให้กับคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” พิจารณา

กว่า 100 ปี ของรถไฟไทย ซึ่งสร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 แต่รถไฟไทยมีการพัฒนาน้อยมาก จึงมีคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับรถไฟไทย

สำหรับรางรถไฟส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นช่วงปี พ.ศ. 2433-2494 ในยุคของกรมรถไฟหลวง (รฟล.) โดยระยะเวลา 62 ปีนี้ รฟล. สามารถสร้างทางรถไฟทั้งสิ้น 3,278 กิโลเมตร หรือประมาณ 81% ของรางทั้งหมดในปัจจุบัน เฉลี่ยสร้างทางปีละ 53 กิโลเมตร ต่อมาหลังจากยุบ รฟล. มาเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในปี 2494 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาอีก 62 ปี ได้สร้างทางรถไฟเพิ่มเพียง 765 กิโลเมตรเท่านั้น หรือสร้างทางเฉลี่ย 12.3 กิโลเมตรต่อปี น้อยกว่าเดิมประมาณ 4 เท่า

การหยุดก่อสร้างทางรถไฟ ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่เน้นพัฒนาระบบขนส่งทางถนนเป็นหลัก โดยข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า ปี 2554 ประเทศไทยมีถนนทั้งสิ้น 463,795 กิโลเมตร แบ่งเป็นทางหลวงแผ่นดิน 66,266 กิโลเมตร ทางหลวงชนบท 47,529 กิโลเมตร ทางหลวงท้องถิ่น 350,000 กิโลเมตร ทางหลวงพิเศษ (2 สายทาง) 247 กิโลเมตร และทางด่วน (8 สายทาง) 208 กิโลเมตร

ทั้งนี้ข้อมูลของ สนข. ระบุว่า ปัจจุบันระบบขนส่งทางถนนใช้ขนส่งผู้โดยสารประมาณ 90% ของการขนส่งผู้โดยสารระหว่างจังหวัดทั้งหมด และขนสินค้าประมาณ 80% ของการขนส่งสินค้าทั้งหมด ขณะที่รถไฟคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7% ของการขนส่งผู้โดยสาร และเพียงประมาณ 2% ของการขนส่งสินค้าทั้งหมด

ราง 70% ต้องซ่อมหนัก

แหล่งข่าวจากอดีตผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ความเห็นถึงสภาพรถไฟในปัจจุบันว่า โครงสร้างของการรถไฟไทยมี 4 ส่วน คือ 1) ทางวิ่ง 2) ยานพาหนะ 3) ระบบควบคุมจราจร 4) ศูนย์สถานีขนถ่าย ในแง่คุณภาพทางวิ่ง ปัจจุบันว่าทางรถไฟมีทางเดี่ยววิ่งแค่เลนเดียวเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 3,763 กิโลเมตร มีทางคู่ 280 กิโลเมตร และสภาพรางรถไฟประมาณ 70% หรือประมาณ 2,823.8 กิโลเมตร จะต้องซ่อมหนัก สภาพรถจักรและล้อเลื่อนเก่าทรุดโทรม จาก 209 คัน มีสภาพที่ใช้ได้เพียง 133 คัน เนื่องจากใช้มานานและในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาไม่มีการซื้อรถใหม่เลย (ไม่นับรวมการซื้อล่าสุด 4,700 ล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถใช้ได้) รวมทั้งมีอาณัติสัญญาณที่ล้าสมัย มีจุดตัด 2,518 จุดทั่วประเทศ

“จากสภาพทางที่เป็นทางเดี่ยว วิ่งได้เลนเดียว ขบวนรถต้องรอหลีกกันไปตลอดทาง รวมทั้งมีจุดตัดกับถนนจำนวนมากไม่สามารถที่จะเดินรถได้รวดเร็วและตรงเวลา ยิ่งสภาพรถที่ไม่สามารถใช้งานได้เกือบครึ่ง รถไฟจึงไม่สามารถที่จะแข่งขันกับระบบขนส่งอื่นได้ นอกจากนี้การตรวจสภาพ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารการรถไฟต้องขอข้อมูลการซ่อมบำรุงตรวจสอบสภาพรางรถไฟและสภาพรถมาดูบ่อยๆ ที่บอกว่าอยู่ในสภาพดี สภาพที่ต้องซ่อมต้องปรับปรุง ต้องลงลึกในรายละเอียดว่าคืออะไร เพราะข้อมูลที่ได้รับบางครั้งไม่ใช่อย่างที่เห็น คือสาเหตุของการตกรางบ่อย รถเสียบ่อย และเท่าที่ทราบมีการตรวจสภาพรางปีละครั้ง” แหล่งข่าวกล่าว

สภาพรางรถไฟในปัจจุบันของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มา:กระทรวงคมนาคม
สภาพรางรถไฟในปัจจุบันของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มา: กระทรวงคมนาคม

สำหรับสภาพรางของรถไฟ 70% เป็นรางเก่าอายุตั้งแต่ 34 ปี จนถึงมากกว่า 47 ปี และมีขนาดเล็กกว่า 100 ปอนด์ต่อหลา จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นทางใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น มีระยะทางรวม 2,929 กิโลเมตร แบ่งเป็นรางขนาด 50 ปอนด์ต่อหลา อายุการใช้งานมากกว่า 47 ปี ระยะทาง 57 กิโลเมตร, รางขนาด 60 ปอนด์ต่อหลา อายุการใช้งานมากกว่า 44 ปี ระยะทาง 336 กิโลเมตร, รางขนาด 70-80 ปอนด์ต่อหลา อายุการใช้งาน 45 ปี ระยะทาง 1,589 กิโลเมตร, รางขนาด 80-90 อายุการใช้งาน 34 ปี ระยะทาง 947 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีรางซึ่งอยู่ในสภาพดีและไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนประมาณ 30% เป็นรางขนาด 100 ปอนด์ต่อหลา อายุการใช้งาน 10 ปี ระยะทาง 1,434 กิโลเมตร

สภาพรถใช้ได้ครึ่งเดียว

สภาพหัวรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่มา:กระทรวงคมนาคม
สภาพหัวรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มา: กระทรวงคมนาคม

ส่วนสภาพหัวรถจักรของของรถไฟไทยในปี 2557 มีอยู่ทั้งสิ้น 4 รุ่น จำนวนรวม 209 คัน ใช้งานได้เพียง 156 คัน (74.6%) โดยหัวรถจักรรุ่น GE มีอายุการใช้งานนานที่สุด 49 ปี จำนวน 48 คัน แต่ใช้งานได้เพียง 28 คัน (58.3%) รองลงมาคือหัวรถจักรรุ่น Alstom ระยะเวลาใช้งาน 38 ปี จำนวน 103 คัน ใช้งานได้ 70 คัน (67.9%) ขณะที่หัวรถจักรที่เหลือ 2 รุ่น คือ Hitachi และ GEA มีระยะเวลาใช้งาน 20 ปี และ 17 ปี และมีจำนวน 21 คัน และ 37 คัน ตามลำดับ โดยยังใช้งานได้ทั้งหมด

“นี่คือข้อเท็จจริงที่ทำให้รถไม่พอใช้ พอรถโดยสารเสีย ก็เอารถสินค้ามาลากแทน ซึ่งรถขนสินค้าถูกเด็ดหัวเป็นประจำ ทำให้รถขนสินค้าต้องจอดนิ่ง ขนส่งสินค้าไม่ได้ตามกำหนดเวลา ตามความต้องการของลูกค้า นี่เป็นการบ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการซ่อมบำรุงว่าไม่ดี ตอนนี้ก็ลามไปถึงแอร์พอร์ตลิงก์แล้ว” แหล่งข่าวกล่าว

จำนวนและประเภทจุดตัดระหว่างรถไฟและถนนในประเทศไทย ที่มา:กระทรวงคมนาคม
จำนวนและประเภทจุดตัดระหว่างรถไฟและถนนในประเทศไทย ที่มา: กระทรวงคมนาคม

ด้านสภาพจุดตัดทางรถไฟกับถนน ข้อมูลของกระทรวงคมนาคมระบุว่าในปี 2557 มีจุดตัดทั้งประเทศรวม 2,518 จุด โดยภาคใต้มีจำนวนมากที่สุด 1,154 จุด รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 585 จุด, ภาคตะวันออก 415 จุด และภาคเหนือ 364 จุด เมื่อแบ่งตามประเภทของจุดตัดพบว่า 9.3% เป็นทางยกระดับ (114 จุด)และทางลอด (117 จุด), 33% เป็นจุดตัดที่มีเครื่องกั้น (834 จุด) และคานยกเอกชน (5 จุด) และอีก 64.4% เป็นทางลักผ่าน (590 จุด) ซึ่งเป็นจุดตัดที่ไม่มีสัญญาณและอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยใดๆ และป้ายจราจร (788 จุด)

ในส่วนของจุดตัดทางรถไฟกับถนนนั้น ที่ตรวจสอบพบว่าเป็นจุดตัดที่ไม่ปลอดภัยประมาณกว่า 1,600 จุด อาทิ ไม่มีอุปกรณ์เครื่องกั้นเลย มีสัญญาณไฟอย่างเดียวแค่บอกว่าเป็นทางตัด เป็นต้น นอกจากนี้มี “ทางลักผ่าน” ลักษณะแบบนี้จะไม่มีสัญญาณหรืออุปกรณ์เครื่องกั้นใดๆ จึงทำเกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ

“กรณีทางลักผ่าน มาจากองค์การบริหารส่วนตำบลเขาสร้างถนนแต่มีงบไม่เพียงพอ ก็มาตัดผ่านทางรถไฟ ซึ่งการรถไฟไม่อนุญาตให้ข้าม ก็เอาคนมาชุมนุม ใช้ม็อบ พอคล้อยหลังไปก็เปิดใช้ใหม่ นี่คือปัญหาใหญ่ กรณีทางลักผ่านมีประมาณ 24% ของจุดตัดที่เป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นที่บ่นๆ กันว่าเกิดจากสัญญาณไม่สมบูรณ์ จริงๆ แล้วส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุแบบนี้” แหล่งข่าวกล่าว

ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟในประเทศไทย สีเขียว:มีระบบสัญญาณไฟสี สีน้ำเงิน: ไม่มีระบบสัญญาณไฟสี  ที่มา:กระทรวงคมนาคม
ระบบอาณัติสัญญาณรถไฟในประเทศไทย สีเขียว:มีระบบสัญญาณไฟสี สีน้ำเงิน: ไม่มีระบบสัญญาณไฟสี
ที่มา:กระทรวงคมนาคม

ปัจจุบันสถานีรถไฟของไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 432 สถานี มีระบบอาณัติสัญญาณไฟสีทั้งหมด 209 สถานี (48.38%) และไม่มีสัญญาณไฟสี 233 สถานี (51.6%) แบ่งเป็นสถานีที่มีประแจกลสายลวด/ประแจกลเดี่ยวและระบบอาณัติสัญญาณประจำที่ หรือสัญญาณหางปลา 154 สถานี และใช้ป้ายเขตสถานีและอาณัติสัญญาณแบบหลักเขตสถานี 69 สถานี

สำหรับความเร็วของรถไฟ รถด่วนพิเศษเฉลี่ย 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถขนสินค้าเฉลี่ย 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถธรรมดาเฉลี่ย 47 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยความล่าช้ามาจากสภาพราง และการเป็นทางเดี่ยวทำให้ต้องหลบหลีกระหว่างทางมาก เมื่อตรวจสอบความตรงต่อเวลาของรถโดยสารในปี 2552 อยู่ที่ประมาณ 49% นั่นคือประสิทธิภาพในการเดินรถที่ประชาชนได้รับบริการ

ตอนต่อไป-ฐานะการเงินของการรถไฟไทย