ThaiPublica > คอลัมน์ > ระบบจะซื้อจะจ้าง…ใครจะทำไม

ระบบจะซื้อจะจ้าง…ใครจะทำไม

3 พฤศจิกายน 2014


หางกระดิกหมา

นอกจากนาฬิกาสภาเชื่อมระบบดาวเทียม และไมค์เทคโนโลยีทำเนียบแล้ว สนามฟุตซอลกำลังทำท่าจะเป็นสินค้าใหม่ล่าสุดที่ได้มาจากระบบ “จะซื้อจะจ้าง” ของเมืองไทย

ที่ต้องเรียกอย่างนี้ เพราะหากเป็นระบบจัดซื้อจัดจ้างปกติ รัฐย่อมซื้อของเฉพาะที่จำเป็น และซื้อในราคากับคุณภาพที่สมควร แต่ถ้าเป็นระบบ “จะซื้อจะจ้าง” แล้ว ก็ไม่ต้องอ้างอิงสิ่งเหล่านี้ให้มากความ อยากซื้ออะไรก็ซื้อเลย ราคาเท่าไหร่เท่ากัน จำเป็นไม่จำเป็นไม่ต้องพูด จะซื้อจะจ้างเสียอย่าง ใครจะทำไม

อย่างในกรณีของการใช้งบประมาณสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่ 17 จังหวัด ภาคเหนือ อีสาน และกลาง แม้การสอบสวนจะยังไม่เสร็จสิ้น แต่ตามข่าว นับวันเรื่องก็ชักจะเข้าพล็อตฉิบหายบรรลัยจักรเข้าทุกที

ประการแรกก็คือ สนามฟุตซอลมีราคาแพงเกินจริง ของที่ควรจะสร้างได้ด้วยราคาสองสามแสน พอเข้าระบบจะซื้อจะจ้างแล้วเลยกลายสามล้านห้าล้าน ประการต่อมา แพงอย่างเดียวไม่พอ คุณภาพสนามฟุตซอล ยังอยู่ในสภาพน่าอเนจอนาถ ฝีมือการปูแผ่นยางเลวเหมือนปูเสื่อ เด็กย่ำได้สักพักก็หลุดล่อนใช้การไม่ได้ ประการที่สาม งานก่อสร้างสนามฟุตซอลของโรงเรียนเป็นห้าสิบแห่ง สุดท้ายกลับตกอยู่กับบริษัทผู้รับเหมาที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองเพียงสองสามราย

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงราคาวัสดุอุปกรณ์บริวารทั้งหลาย อย่างเช่นเสาประตูพร้อมตาข่ายราคา 37,356 บาท ฟุตซอลลูกละ 940 บาท วอลเลย์บอลลูกละ 670 บาท ตะกร้อลูกละ 220 บาท หนังสือคัมภีร์กีฬาเล่มละ 1,200 บาท แผ่นดีวีดีฝึกกีฬาแผ่นละ 600 บาท หนังสือกายบริหารเล่มละ 1,200 บาท หนังสือความรู้เรื่องโรคชุดละ 2,000 บาท ซึ่งรวมๆ กันแล้วทำให้ค่าสมัครสปอร์ตคลับในกรุงเทพฯ ดูน่ารักขึ้นมาทันตา

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้ว ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเรื่องว่าทำไมจะต้องมีนโยบายสร้างสนามฟุตซอลตั้งแต่แรกและนโยบายนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีความเหมาะสม สมควรแค่ไหน ทั้งนี้ เพราะต่อให้สมมติว่าเรื่องนี้มีการทุจริตกันจริง ลำพังเรื่องของห่วยราคาแพงและการฮั้วทั้งหลายก็ยังจัดเป็นการคอร์รัปชันแบบโบราณที่เรียกว่า administrative bribery หรือการติดสินบนข้าราชการเพื่อเลี่ยงกฎหรือซื้อประมูล ซึ่งถึงจะเลวร้าย แต่ความเสียหายก็ยังไม่สู้จะมากนัก

แต่สถานการณ์จะต่างไปเลยหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าการสร้างสนามฟุตซอลนี้เกิดขึ้นมาเพราะมีนักธุรกิจอยากขายสนามฟุตซอล และเลยหาทางเข้าสู่หรือเชื่อมต่อกับอำนาจทางการเมืองเพื่อยุให้เกิดนโยบายการสร้างสนามฟุตซอลนั้น เพราะหากเป็นอย่างนั้นจริง กรณีนี้จะถือเป็นตัวอย่างของคอร์รัปชันสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า “การกุมรัฐ” หรือ state capture

ในหมู่ผู้ศึกษาเรื่องคอร์รัปชันแล้ว การกุมรัฐหมายถึงการคอร์รัปชันในระดับที่น่ากลัวที่สุด แบบที่บางทีการเมืองไทยเราเรียกกันว่า “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” ทั้งนี้ เพราะมันไม่ได้หมายถึงการที่เอกชนคอยใช้เงินซื้อความสะดวกหรือความได้เปรียบในยามที่เข้าไปติดต่อหรือประมูลงานจากรัฐตามจังหวะตามโอกาสเท่านั้น แต่หมายถึงการที่เอกชนสามารถใช้เงินเข้าไปกุมอำนาจรัฐเพื่อกำหนดจังหวะโอกาสให้ตนร่ำรวยได้เลยทีเดียว ไม่ว่าจะด้วยการให้ออกกฎระเบียบให้ตนทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น หรือยุให้รัฐคิดรัฐทำโปรเจกต์จัดซื้อจัดจ้างในสิ่งที่ตนมีพร้อมจะขาย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในขณะที่คอร์รัปชันส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการใช้เงินเข้าไปแทรกแซง “การบังคับใช้” กฎหมายหรือนโยบาย แต่การกุมรัฐนั้นจะเป็นการใช้เงินแทรกแซง “การออกแบบ” กฎหมายหรือนโยบายนั้นตั้งแต่ต้น ซึ่งนี่เองคือความน่ากลัว เพราะหากทำสำเร็จ เอกชนหรือกลุ่มทุนไม่จำเป็นต้องมาคอยใช้วิชามารคอร์รัปชันเป็นครั้งๆ อีกต่อไป แต่เพียงอยู่เฉยๆ กฎหมายและนโยบายของประเทศทั้งหมดก็จะเป็นไปเพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบของธุรกิจของตนอยู่ในตัวอยู่แล้ว โดยผู้ที่เสียหายก็คือสังคมโดยรวม เพราะน้อยครั้งที่ประโยชน์ของหนึ่งธุรกิจจะเป็นไปในทางเดียวกับประโยชน์ของประเทศ หรือหากเป็นไปในทางเดียวกันจริง มันย่อมไม่มีเรื่องให้ใช้เงินแทรกแซงมาตั้งแต่ต้น

ร้ายยิ่งกว่านั้น พอเอกชนกุมรัฐได้ การจะปฏิรูปแก้ไขก็เป็นเรื่องยาก เพราะทุกครั้งที่จะมีการออกแบบกฎหมาย ออกแบบการกำกับดูแลประเทศใหม่เพื่อแก้ไขการกุมรัฐ การออกแบบนั้นก็จะถูกบิดเบือนไปโดยฝีมือของเอกชนกับนักการเมืองที่ได้ประโยชน์จากการกุมรัฐ จนได้ออกมาเป็นการปฏิรูปบิดๆ เบี้ยวๆ อีก เรียกได้ว่าการกุมรัฐนั้นไม่ได้เป็นเพียง “ผล” ของกฎหมายหรือระบบการกำกับดูแลประเทศที่เลวเท่านั้น แต่ยังเป็น “ต้นเหตุ” อีกด้วย พอต่อหัวต่อหางกันเข้าก็เลยได้วงจรอุบาทว์ที่ยากจะหาทางออก

แน่นอน นโยบายการสร้างสนามฟุตบอลนั้น เอาเข้าจริงก็อาจจะยังเป็นตัวอย่างของการกุมรัฐที่ยังไม่ชัด เพราะเป็นเรื่องงานก่อสร้างเล็กๆ ในชนบท อาจไม่ได้กระทบถึงรัฐและเศรษฐกิจมหภาคเท่าใดนัก แต่ลองนึกว่าหากนักธุรกิจไม่ได้ยุให้นักการเมืองสร้างสนามฟุตซอล แต่ยุให้ออกกฎหมายภาษีเอื้อประโยชน์ตน ยุให้เกิดนโยบายสร้างรางรถไฟที่ขนาดหรือระบบไม่ได้ตรงกับความต้องการของประเทศ หรือค้านการแก้กฎหมายที่เพิ่มการแข่งขันในธุรกิจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ก็จะ “กุม” รัฐให้อยู่ในวังวนของความไร้ประสิทธิภาพ และไร้อนาคตอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ไม่ได้อยากจะเพิ่มการบ้านให้นายกฯ แต่พิจารณาประเด็นเรื่องการกุมรัฐอย่างนี้แล้ว ก็กังวลจนเห็นจะต้องเตือนท่านว่า ทุกครั้งที่มีคนถามเรื่องสนามฟุตซอล อย่าลืมนึกเผื่อไปถึง “รัฐ” ที่เขากำลังมะรุมมะตุ้มกันอยู่ใน ครม. และสองสภาของท่านด้วย

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557