ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” แนะไทยใช้โมเดลจีนแก้คอร์รัปชัน เน้นเศรษฐกิจไม่โตแบบจอมปลอม

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” แนะไทยใช้โมเดลจีนแก้คอร์รัปชัน เน้นเศรษฐกิจไม่โตแบบจอมปลอม

19 พฤศจิกายน 2014


ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่มาภาพ :  นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่มาภาพ : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

ชื่อ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไม่เคยเงียบหายไปจากกระดานอำนาจ แม้ในยามที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง

หลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบ “ดร.สมคิด” ถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี เขาก้าวออกจากทำเนียบรัฐบาล ทะยานไปเป็นกุนซือบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ไม่น้อยกว่า 5 แห่ง ควบคู่สายสัมพันธ์กับนักการเมืองแถวหน้าทุกพรรค

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อประสานงานและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และสร้างความเข้าใจเรื่องนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงกับต่างประเทศ

หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เขาถูกแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งรัฐบาล เขาถูกขยับขึ้นเป็น 1 ใน 15 คณะ คสช. และล่าสุด หลังประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีกับ คสช. ครั้งที่ 2/2557 มีคำสั่งแต่งตั้ง “ดร.สมคิด” เป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สวมหมวก 2 ใบ ทั้งในร่มของ คสช. และในเงาของคณะรัฐมนตรี ไปปาฐกถาในงานสัมมนา “Looking Forward อนาคตประเทศไทย 2558” ที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 “ดร.สมคิด” เคยกล่าวไว้ว่า ประเทศไทยต้องมีคณะรัฐมนตรีเพื่อการปฏิรูป หรือ cabinet critical reform และต้องมี lawyer maker มาปรับปรุงแก้ไขกฏ-กติกาประเทศ เพราะในเวลานั้น “เหมือนเดินเข้าไปในโซน failed state เรียบร้อยแล้ว”

การปาฐกถาคราวนี้ “ดร.สมคิด” บอกว่า ให้ทุกคนมองไปข้างหน้า อย่างมีความหวัง เพราะมีการ kick off reform เกิดขึ้นแล้ว

อะไรคือความหวัง ความฝัน ของ “ดร.สมคิด” ในกับดักเศรษฐกิจไทย จากบรรทัดนี้ไป คือคำปาฐกถาครั้งล่าสุด ในฐานะ 1 ใน 15 “ปูลิตปูโร” เมืองไทย และประธานปรึกษานายกรัฐมนตรี

ดร.สมคิดเริ่มปาฐาถาว่า “ผมเคยพูดไปเมื่อช่วงปลายรัฐบาลที่แล้ว ตั้งคำถามกันว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอยหรือไม่ โดยหยิบยกประเด็นประเทศฟิลิปปินส์ ที่เคยยิ่งใหญ่ในเอเชีย แต่เริ่มเสื่อมถอยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เพราะได้ทำสิ่งที่ผิดพลาดล้มเหลว 3 ประการ”

ประการแรก การบริหารผิดพลาด ล้มเหลว ขาดธรรมาภิบาล เล่นพรรคเล่นพวก ขาดสมรรถนะในการบริหารประเทศ สนใจเฉพาะนโยบายที่สร้างคะแนนนิยม ไม่เอาจริงเอาจังกับการวางรากฐากอนาคต ทำให้ขีดความสามารถของฟิลิปปินส์เริ่มเสื่อมถอย เศรษฐกิจหดตัว คนตกงาน การกู้ยืมเงินไปทำโครงการสำคัญไม่สามารถสร้างรายได้ให้ประชาชนได้

ประการที่สอง มีปัญหาคอร์รัปชันในทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่ในกระบวนการยุติธรรม ทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่มีความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับสุดท้ายของเอเชียตะวันออก

ประการที่สาม การละทิ้งความจริงใจ จริงจัง ในการปฏิรูปประเทศ แม้ว่าประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จะถูกโค่นล้ม เกิดการเลือกตั้งใหม่ แต่การจริงใจในการปฏิรูปก็ไม่มี ทุกอย่างเหมือนเดิม กลับเลวร้ายกว่าเดิม

สำหรับประเทศไทย หลังรัฐประหาร (22 พฤษภาคม 57) มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ ณ เวลานี้ ประเทศเริ่มเข้าสู่โหมดการ reform เตรียมการปฏิรูป คิดว่าอีกสักพักก็จะมีการเลือกตั้งแน่นอน มีรัฐบาล มีประชาธิปไตยแน่นอน แต่สิ่งที่ไม่มีใครบอกได้แน่นอนก็คือ อนาคตประเทศ ว่าจะสามารถพลิกฟื้นประเทศหลังผ่านการย่ำแย่มาหนึ่งทศวรรษเต็มๆ ให้สดใส สว่างไสว ในเอเชียอีกครั้ง หรือต้องซ้ำรอยความผิดพลาดแบบฟิลิปปินส์ ไม่มีใครยืนยันได้ ขึ้นอยู่กับการกระทำในวันนี้

สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดการพลิกฟื้นประเทศได้ ต้องหลีกเลี่ยงความผิดพลาด บทเรียน 3 ประการ ของฟิลิปปินส์ คือ

บทเรียนข้อแรก เราจะต้องระวังการบริหารจัดการอย่างรอบคอบ มีธรรมาภิบาล การวางแผนต้องยึดหลักวางรากฐานอนาคตของประเทศ ไม่ใช่ฉาบฉวย คำนึงถึงความยั่งยืน ไม่เอาประเทศไปเสี่ยงภัย ไม่สร้างภาระให้ประเทศถ้าไม่จำเป็น การพัฒนาต้องยึดหลักความพอดี พอเพียง เป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการภาครัฐ

“ผมเข้าใจดีว่าเวลานี้ ประชาชน โดยเฉพาะนักธุรกิจ ห่วงใย กังวล เรื่องภาวะเศรษฐกิจ เพราะเลขาธิการสภาพัฒน์บอกอัตราการเติบโตในปี 2557 และ 2558 ไปแล้ว เพราะฉะนั้นจะมีแรงกดดันมากขึ้น ให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไม่ช้าก็เร็ว หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น”

ในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผมมีข้อสังเกต 2 ประเด็น ประเด็นที่ 1) การกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรกระทำต่อเมื่อจำเป็น การใช้จ่ายภาครัฐต้องทำเพื่อการกระตุ้นที่สอดรับ สอดคล้อง กับวาระสำคัญของประเทศ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ขอยกตัวอย่างจีน ในปี 2551 จีนได้ทุ่มเทเงิน 4 ล้านล้านหยวน เพื่อลดช่องว่างความการเติบโตระหว่างเมืองกับชนบท ตั้งเจตนารมณ์การพัฒนาให้รองรับการพัฒนาประเทศไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นอยากให้ประเทศไทยคำนึงถึงข้อนี้

ข้อสังเกตประเด็นที่ 2) การเติบโตทางเศรษฐกิจจริงๆ ของประเทศ ต้องการการเติบโตอย่างมีคุณภาพ การขยายตัวของจีดีพีที่แท้จริงต้องมาจากขีดความสามารถในการแข่งขัน มี productivity พัฒนาความเข้มแข็งของผู้ประกอบการ ไม่ใช่อัดฉีด ปั๊มเงินเข้าสู่ระบบชั่วครั้งชั่วคราว หากดูการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หารเฉลี่ยแล้วจะได้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่กี่เปอร์เซ็นต์ บางครั้งก็ไม่คุ้มค่า แต่ถ้าจำเป็นต้องทำเพื่อประคองเศรษฐกิจให้เติบโต ช่วยให้คนจนยืนได้ ให้อยู่ในครรลองการแก้ปัญหาระยะยาวได้

“ภาวะเศรษฐกิจปีนี้ (2557) ซึมเซา แต่ถ้าตั้งสติให้ดี คิดถึงตั้งแต่ต้นปีจนถึง ณ วันนี้ เศรษฐกิจเริ่มทรงตัว มีแนวโน้มน่าจะดีขึ้น อย่างน้อยที่สุดบ้านเมืองก็สงบขึ้น เพียงแต่เศรษฐกิจไม่กระฉับกระเฉงเท่าที่ควร หากมองว่ามนุษย์เป็นตัวกำหนดเศรษฐกิจ ถ้ามนุษย์สิ้นหวัง ก็จะหยุดการกระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจก็จะซบเซา ต่อให้ปั๊มเงินเข้าระบบเท่าไรก็ไม่เกิดผล”

ประเทศไทยในเวลานี้ หลายอย่างพัฒนาการไปในทางที่ดี ตัวอย่างหลังการรัฐประหาร ทุกประเทศหันหลังให้ไทย นายจอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ด่าว่าไม่ชอบธรรรม ตัวแทนจากอังกฤษก็ดุด่าเรา เหมือนเราเป็นประเทศอะไรก็ไม่ทราบ ญี่ปุ่น มิตรสหายเราก็เดินตามเขา ทั้งๆ ที่นักลงทุนเขาอยู่ในเมืองไทยมหาศาล ออสเตรเลียก็ว่าเรา เสมือนว่าโลกเปลี่ยน ประเทศไทยหาทางออกไม่เจอ คู่กับประเทศพม่า มองไม่เห็นอนาคต

แต่จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านไป 5 เดือน เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ผมไปจีน ส่งสัญญาณให้รู้ว่าจีนจะสนับสนุนไทย จากนั้นก็ไปพบบุคคลสำคัญวงในการเมืองของญี่ปุ่น ขอให้ให้เวลากับประเทศไทย ตามด้วยการมอบหมายให้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไปจีนอีกครั้ง ได้ผลเรื่องรถไฟทางคู่ จากนั้นก็ไปญี่ปุ่นอีกรอบ ภาพที่ปรากฏออกมา จีนและญี่ปุ่นพอใจกับเรา เราอยู่ในฐานะที่ไม่เสียประโยชน์

เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางไปประชุมกลุ่มเอเปกที่กรุงปักกิ่ง ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเข้ามาทักท่านว่า “ประเทศไทยดีขึ้นแล้วใช่ใหม ขอให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วๆ” ทุกอย่างก็คลี่คลาย โลกที่ปิด กลายเป็นเปิด ความมั่นใจหลายๆ อย่างมีมากขึ้น

มีพัฒนาการ 2 อย่างที่เป็นปัจจัย ส่งผลมหาศาลกับความเจริญใหม่ของประเทศ อย่างแรก สมัยที่ผมอยู่ในรัฐบาลโน้น เคยฝันจะทำให้ประเทศไทยเป็นมณฑลเศรษฐกิจแบบทางเหนือของจีน มีการจัด cluster ให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การศึกษาหลักสูตรมหาวิทยาลัย นักธุรกิจเอกชน และอุตสาหกรรมเอสเอ็มอี เข้าไปอยู่รวมกัน แล้วจัดสรรความเจริญให้กระจายไปตามนั้น ฝันไว้แต่ไม่มีโอกาสทำ

ในวันนี้ สภาพัฒน์ได้ประกาศเขตเศรษฐกิจใหม่ เป็น concept เดียวกัน ใน 5 เมือง และในอนาคตก็จะมีอีก ก็ได้บอกกับเลขาธิการสภาพัฒน์ไปว่า ต้องหาแรงจูงใจพิเศษ ไม่ใช่แค่ระบบภาษี ในการแข่งขันกับต่างประเทศต้องพัฒนาต่อในสินค้าเกษตร การแปรรูป อุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยี ยานยนต์ ร่วมขับเคลื่อนในเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้

พัฒนาการอย่างที่สอง กรณีกลุ่ม AEC อย่ามองข้าม เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจจริงๆ หาก AEC เกิดขึ้น สายตาจีนและญี่ปุ่นที่มองไทยว่าคือ hub จริงๆ โดยภูมิศาสตร์การเมือง จีนต้องการออกทางทะเลผ่านประเทศไทย ญี่ปุ่นต้องการตีขนาบจีนผ่านพม่าไปอินเดีย เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์การเมืองไทยขณะนี้เหมือนอังกฤษกับฝรั่งเศสในยุคก่อน ต้องการใช้ไทยเป็น hub ในเชิงยุทธศาสตร์ แต่ขณะเดียวกันถ้าไม่มีการการเชื่อมโยง หรือ connectivity จากเวียดนามไปพม่า จากจีนลงมา จะใช้อะไรเชื่อมถ้าไม่มีระบบ logistics

ระบบ connectivity จะทำให้การเชื่อมโยง การพัฒนาเมืองชายแดน 5 เมือง การเชื่อมกลุ่ม AEC และส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ จะมีรถไฟทางคู่ ระบบ medium speed ขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร จากหนองคาย-มาบตาพุด และเส้นทาง East West Corridor จะเป็นครั้งแรกที่มีการปฏิรูปการรถไฟ หลังจากผ่านไป 100 กว่าปี ไม่เคยปฏิรูป ดังนั้นสภาพัฒน์ต้องอธิบายภาพให้ชัดเจน ว่าปีหน้าจะทำอะไร หัวใจไม่ได้อยู่ที่สร้างรถไฟ แต่อยู่ที่ภาพใหญ่ส่วนรวม ภาพปีหน้า ความมั่นใจจะเข้ามา ยิ่งถ้าการเมืองไทยดีขึ้น เศรษฐกิจโลกฟื้นขึ้น ความหดหู่จะค่อยๆ น้อยลงไป ต้องทำสิ่งที่จะเกิดในอนาคต มา spark ความมั่นใจในปัจจุบัน

ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 จะมีการคณะกรรมการร่วมด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย–จีน (Joint Committee on Trade, Investment and Economic Cooperation) ที่จีนอีกครั้ง ในภาวะที่โลกเศรษฐกิจไม่ดี ถ้าเราตกลงกับประเทศเหล่านี้ได้ ความมั่นใจจะเกิดขึ้นมหาศาล ต้องมีการยกระดับการเจรจาไทย-ญี่ปุ่น เป็นระดับรัฐมนตรี ให้เป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น ต้องสื่อสารให้รู้โดยทั่วกัน

“ปีนี้เศรษฐกิจอาจไม่ค่อยดี แต่ถ้าระวังเรื่องภัยแล้ง ดูแลเกษตรกร สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ ผมว่าปีหน้า การส่งออกจะดีขึ้น ทุกอย่างจะค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้น ไม่ต้องหดหู่ ประเทศเราผ่านเรื่องร้ายๆ มาเยอะ มองไปข้างหน้าความสดใสจะเข้ามา มีการเริ่มต้นการปฏิรูป kick off Reform แต่จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพวกเรา”

บทเรียนข้อที่สอง ต้องแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ที่จะไม่ซ้ำรอยฟิลิปปินส์ ผมอ่านหนังสือมาเล่มหนึ่ง ชื่อ “Governance of China” พูดถึงความฝันของจีน คือมีชีวิตที่ดีขึ้น มีชีวิตชีวา มีความหวัง แต่ต้องมีการยึดหลัก 3 ประการ คือ การพัฒนาอย่างมีวินัย การต่อต้านคอร์รัปชัน การยึดหลักคุณธรรม ถ้ายึดหลัก 3 ประการนี้ได้ จะแก้ต้นตอการคอร์รัปชันได้ และการแก้คอร์รัปชันต้องแก้ที่ระบบ เอาอำนาจใส่กรง อย่าให้อำนาจใครเกินความจำเป็น

กระบวนการแก้ไขคอร์รัปชัน มี 2 ประโยค คือ ต้องจับเสือ และต้องจับแมลงวัน เท่ากับทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน เหมือนกัน จีนไล่บี้ตรวจสอบทุกระดับ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ ถึงผู้บริหารระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ข้าราชการโดนสอบสวนนับหมื่นคน ล่าสุดขยายผลไปสู่การจับหมาจิ้งจอก ตามไล่ล่าคนโกงที่อยู่ต่างประเทศ ให้กลับมารับโทษในประเทศ

ครั้งหนึ่ง อาจารย์สังเวียน อินทรวิชัย (เคยเป็นประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ และประธานคณะอนุกรรมการรับหลักทรัพย์) ดึงเอารัฐวิสาหกิจออกจากกระทรวง ส่วนการบริหารส่วนกลาง ปรับการบริหารจัดการใหม่ ให้โปร่งใสกระจ่าง เหมือนปลาทองในขวดโหล ไม่ใช่ปลาทองในน้ำขุ่น ซึ่งเกิดแรงเสียดทานทางการเมืองมหาศาล เช่นเดียวกับโอกาสนี้ ที่มีการประกาศราคากลาง เป็นสากล อธิบายได้

“เวลานี้ประเทศไทยมีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ระบาดหนัก ต้องทำคู่ขนานไปกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องใช้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางเรื่องในทางกฎหมายระดับธรรมดาทำไม่ได้ เกิดความล่าช้า”

บทเรียนที่สาม ที่จะต้องไม่ซ้ำรอยฟิลิปปินส์ คือ การปฏิรูปซึ่งสำคัญที่สุด เมื่อวานนี้ได้มีโอกาสนั่งฟังการประชุมร่วมกับ 5 ฝ่าย ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี, คณะ คสช., ครม., สปช., สนช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เริ่มมีความหวัง เพราะไม่เคยเห็นผู้นำที่ลงมาเล่นเรื่อง reform ด้วยตนเอง เพราะเรื่องปฏิรูปจะต้อง kick off ด้วยผู้นำที่เอาจริง เอาจัง ติดตามงาน จี้งาน หากไม่ได้ถึง 100% ได้สัก 50% หรือ 20% แม้กระทั่ง 10% ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

“ดูการประชุม 5 ฝ่ายเมื่อวานนี้แล้ว กระตุ้นความหวัง มีความหวังได้ เห็นคุณภาพคนที่จะมาปฏิรูป มีคุณภาพสูง เป็นพวกไม่ได้แสวงหาอำนาจชั่วครั้งชั่วคราว คิดว่าจะทำอย่างไรที่จะมองข้ามความขัดแย้ง หาจุดร่วมให้ได้ แล้วมีการประสานกันระหว่าง คสช. และ ครม. อย่างรวดเร็ว มีการจัดลำดับความสำคัญ เชื่อว่าใน 1 ปีจะมีอะไรให้ได้เห็นเยอะแยะ ที่สำคัญที่สุดคือสื่อความถึงประชาชน การปฏิรูปจะไม่เกิดผลประโยชน์เลย ถ้าประชาชนไม่ตื่นตัว ไม่มีส่วนร่วม จะทำไม่ได้”

รัฐบาลต้องใช้เวลา 1 ปีนี้ทำอะไรหลายอย่าง การปฏิรูปประเทศไหนก็ปฏิรูปไม่ได้ ถ้าไม่มีวิกฤติ ตอนนี้โอกาสในการปฏิรูปมาแล้ว ถ้าไม่ใช้โอกาสนี้ โอกาสจะไม่กลับคืนมาอีกแล้ว ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ทุกคนต้องช่วยกันสร้างความมั่นใจ ถ้ารากฐานดี เศรษฐกิจจะเติบโตโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เติบโตแบบจอมปลอม

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่มาภาพ : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่มาภาพ : นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

“ดร.สมคิด” ส่องทีม “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” เป็นเรื่องนานาจิตตัง

ภายหลังการปาฐกถา “ดร.สมคิด” ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เมื่อถูกถามว่ามั่นใจในทีมเศรษฐกิจรัฐบาลหรือไม่ เขาอ้ำอึ้งก่อนจะตอบว่า “เป็นเรื่องนานาจิตตัง เขาก็ทำงานเต็มที่ อย่าวาดภาพมาก” จากนั้นก็อธิบายภาพความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ว่า…

“ที่มีข่าวว่าผมกับคุณชายอุ๋ย (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร) มีความขัดแย้งกัน ไม่รู้ว่าเอาความคิดนี้มาจากไหน ท่านกับผมร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 เราร่วมกันทำงาน ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ท่านเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ ตอนนี้ท่านเป็นรองนายกฯ เป็นผู้นำในการดูแลเศรษฐกิจทั้งหมด ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไร ผมเป็นคณะ คสช. และเป็นที่ปรึกษานายกฯ ให้คำปรึกษาท่านนายกฯ เฉพาะเรื่องเท่านั้น”

กรณีที่มี “ทีมงานส่วนตัว” ที่สนิทสนมกับ “ดร.สมคิด” ไปประจำการที่กระทรวงพาณิชย์นั้น ถูกอธิบายว่า

“ส่วนทีมงานที่ผมส่งไปช่วยที่กระทรวงพาณิชย์ ก็เพราะคุณสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าเกษตร คุณอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วย ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ และท่าน พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการ ก็เป็นคนขอให้มาช่วยงาน ทุกคนที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นคนที่รักและสนิทสนมกับคุณชายปรีดิยาธรเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นข้อขัดแย้งของท่านกับผม ลืมไปได้เลย ท่านมีกับใครผมไม่ทราบ แต่กับผมไม่มี ไม่ควรพูดขึ้นมากอีก ต้องช่วยกันทำงาน” ดร.สมคิดกล่าว

“การเข้ารับตำแหน่งประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีไม่ได้มีนโยบายหรือโปรเจกต์อะไรจะผลักดัน การที่นายกรัฐมนตรีตั้งที่ปรึกษา เพราะมีภารกิจเยอะ จึงต้องมีที่ปรึกษาช่วยกรองงานและให้คำปรึกษาในบางเรื่อง แต่ไม่ถึงขั้นจะไปผลักดันนโยบายก้าวก่ายงานรัฐบาล และตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งเพิ่งได้เจอกันครั้งเดียว ยังไม่ได้ปรึกษาหารืออะไรกัน”

“คนเราต้องมีความหวัง ผมอายุ 61 ปีกว่าแล้ว ยังไม่เคยเห็นการปฏิรูป แต่ก็มีความหวัง ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย”