ThaiPublica > คอลัมน์ > สอนอะไรให้ไทยทันโลก

สอนอะไรให้ไทยทันโลก

8 พฤศจิกายน 2014


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ: https://farm2.staticflickr.com/1389/4605051691_217618f677_b_d.jpg
ที่มาภาพ: https://farm2.staticflickr.com/1389/4605051691_217618f677_b_d.jpg

เขาว่ากันว่า ในอีกไม่กี่สิบปี อาชีพบางประเภท เช่น นักบัญชีและเซลส์ขายบ้าน จะหายไปจากโลก เพราะว่าวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่จะเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ หลายประเทศเริ่มรู้สึกตัวและพยายามเตรียมประชากรรุ่นลูกหลานให้เติบโตขึ้นมาพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้โดยการปรับเปลี่ยนแนวทางการศึกษาให้แฝงเอา 21st century skills เข้าไปในหลักสูตรใหม่ๆ ด้วย

บทความนี้จะไม่กล่าวถึงวิชาเพิ่มเติมที่โรงเรียนควรจะสอนเพื่อที่จะเตรียมเด็กรุ่นใหม่ให้พร้อมรับมือรับมือกับศตวรรษที่ 21 แต่จะเสนอให้ผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดการเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ครู หรือผู้ใหญ่รอบๆ ตัวเด็กๆ ให้คำนึงถึงการสอนสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ห้าสิ่งต่อไปนี้ที่น่าจะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่ออนาคตของเด็กมากเสียยิ่งกว่าสิ่งที่วิชาย่อยๆ แต่ละวิชานั้นให้แก่เด็กได้อีกด้วยซ้ำ

1. สอนให้ใฝ่รู้

ที่มาภาพ: https://farm1.staticflickr.com/91/225161313_fd388dd01f_z_d.jpg
ที่มาภาพ: https://farm1.staticflickr.com/91/225161313_fd388dd01f_z_d.jpg

ในโลกข้างหน้านั้นมีโอกาสสูงที่ระบบเศรษฐกิจจะสามารถเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วถึงขั้นที่ว่าบางสิ่งบางอย่างที่เราเคยเรียน เคยฝึก เคยท่อง เคยจำเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนจะหมดความสำคัญไปโดยสิ้นเชิง วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงในความต้องการของตลาดโลกสามารถทำให้ทักษะ (skills) หรืองาน (jobs) บางประเภทสูญพันธุ์ไปได้ดื้อๆ

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เทคโนโลยีในด้านการศึกษาออนไลน์ กับเทคโนโลยีในตลาดแท็กซี่ ครูจำนวนมากจะตกงานเมื่อตลาดการเรียนออนไลน์โตพอและสามารถพิสูจน์ตัวเองให้กับบริษัทและผู้ประกอบการได้ว่าการเรียนออนไลน์นั้นสามารถผลิตและคัดพนักงานเก่งๆ ออกมาได้ดีกว่าโรงเรียนตัวเป็นๆ ส่วนในกรณีของตลาดแท็กซี่นั้นคงไม่ต้องรอให้ถึง “ยุครถขับเองได้” แค่บริษัทอูเบอร์ (Uber) เปิดเกมรุกโดยการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคในการใช้มือถือหารถไปรับไปส่งที่บริการดี วาจาสุภาพ และตรงต่อเวลา ก็ทำเอาเหล่าคนขับแท็กซี่และคนขับรถทั้งหลายผวาไปตามๆ กันแล้ว

แต่ว่าจะให้ฟันธงว่าอะไรคือสิ่งที่จะมาเปลี่ยนโลกในอีกยี่สิบปีข้างหน้าและอะไรที่จะกระทบคนไทยโดยตรงมากที่สุดนั้นคงทำได้ลำบาก เพราะว่าหากเรานึกดูว่าเมื่อยี่สิบปีที่แล้วโลกเราอยู่ตรงไหนคงใจหาย เมื่อยี่สิบปีที่แล้วยังไม่มีกูเกิล บนโลกนี้และไม่มีใครใช้อินเทอร์เน็ตในเมืองไทยได้ด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคงจะเป็นการปลูกฝังให้เด็กมีความใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง สอนให้เด็กมีไฟในแววตาที่จะไม่มอดแม้เวลาจะผ่านไปอีกยี่สิบสามสิบปี แม้ว่าโลกจะหมุนไปถึงไหนแล้ว เด็กๆ จะได้โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถเอาตัวรอดในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวได้โดยการหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาโดยที่ไม่ต้องมีครูมานั่งจ้ำจี้จ้ำไช ไม่ต้องมีข้อสอบปลายภาคก็ยังอยากค้นหาความรู้อยากฝึกฝนทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ หากเราทำเช่นนี้ได้ ไม่ว่าสิ่งที่สอนไปตอนเด็กจะล้าสมัยหรือแม้กระทั่งว่าถูกพิสูจน์ในภายหลังว่าผิดเลยก็ตาม เด็กไทยก็จะยังมีโอกาสอยู่รอดและประเทศไทยก็จะไม่ต้องคอยเดินตามเขาอยู่ลูกเดียวแน่นอน

ผู้เขียนคิดว่าสิ่งนี้ทำได้แน่นอนถ้าตั้งใจจะทำจริงๆ เพราะว่าเราทุกคนเคยมีความใฝ่รู้อันมหาศาลติดตัวมาตั้งแต่เกิดแล้ว ตั้งแต่เล็กคนเราส่วนมากเป็นคนขี้สงสัย อยากรู้อยากเห็น ถามนู่นถามนี่ อยากเอานิ้วไปแยงโน่นแยงนี่ ไฟในแววตามันจะมอดก็เพราะว่าเราโตขึ้นมาในสังคมที่ทำให้การเรียนรู้ไม่สนุกอีกต่อไป เป็นสังคมที่ให้ผลตอบแทนกับการท่องหนังสือเป็นพันๆ หน้า อยากเรียนเคมีก็ต้องจำตารางธาตุให้ได้ก่อน อยากเรียนฟิสิกส์ก็ต้องจำสูตร ทั้งๆ ที่ชีวิตจริงไม่มีใครต้องจำอะไรมากขนาดนั้น อยากอ่านหนังสือหาความรู้ก็ไปซื้อมาอ่าน อ่านจบแล้วสิ่งที่จำได้ปกติก็คือโครงเรื่องและข้อคิดต่อชีวิตจริง ไม่เห็นต้องจำรายละเอียดทุกรายละเอียด เรื่องนี้โทษใครไม่ได้ ก็คงต้องโทษตัวเองที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่คอยระดมกันช่วยกันดับไฟธรรมชาติในแววตาของเด็กๆ

2. สอนให้เรียน

ที่มาภาพ: https://farm4.staticflickr.com/3579/3660097148_5d3ac33084_z_d.jpg
ที่มาภาพ: https://farm4.staticflickr.com/3579/3660097148_5d3ac33084_z_d.jpg

“สอนให้เรียน” ฟังดูเหมือนเล่นคำ เพราะจริงๆ แล้วครูมีหน้าที่สอนนักเรียนไม่ใช่หรือ แต่ทว่า “สอนให้เรียน” นั้นเป็นสามคำที่ละเอียดอ่อนและน่าค้นหากว่าที่เราคิดยิ่งนัก เพราะว่าเวลาการสอนเกิดขึ้นในห้องเรียนนั้นไม่ได้แปลว่าการเรียนจะต้องเกิดขึ้นด้วยเสมอไป คนเรามีวิธีเรียนที่ต่างกัน บางคนต้องการให้มีครูสอนตัวต่อตัว แต่บางคนไม่จำเป็นต้องฟังครูก็ยังเรียนได้ ขอแค่มีหนังสือดีๆ มีอินเทอร์เน็ตไวๆ และมีที่สงบๆ ให้เรียน แม้กระทั่งเมื่อเด็กเหล่านี้เข้าสู่วัยทำงาน คนที่สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่าก็ยังจะเป็นคนที่ได้เปรียบกว่าคนอื่นมาก

“สอนให้เรียน” จึงแปลว่าสอนอย่างไรให้คนเราค้นพบวิธีเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เข้ากับตัวเองที่สุด จะอ่านอย่างไรให้ไวและได้ใจความ จะทำการบ้านตอนเช้าหรือตอนเย็น จะแบ่งเวลาพักกับเวลาทำงานอย่างไร น่าเสียดายที่ขณะนี้ดูเหมือนว่าทักษะเหล่านี้จะยังไม่มีโรงเรียนไหนสอนเลย ส่วนมากทักษะการเรียนเหล่านี้มักจะเป็นผลพลอยได้จากสภาวะแวดล้อมในโรงเรียน เรามักจะปล่อยให้ทักษะเหล่านี้พัฒนาขึ้นมาเองแบบเป็นไปตามธรรมชาติ แต่สภาวะแวดล้อมในโรงเรียนแบบไหนที่จะทำให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะพวกนี้ขึ้นมาได้ง่ายกว่า ผู้เขียนสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสภาวะแวดล้อมที่ค่อนข้างแข่งขันสูงและมีกิจกรรมให้เด็กทำจนตารางเวลาแทบไม่ว่างจะได้ทำให้เด็กค้นหาวิธีเรียนให้มีประสิทธิภาพที่สุดในเวลาที่จำกัด พูดง่ายๆ ก็คือสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อให้เด็กๆ “ทำน้อยให้ได้มาก” นั่นเอง

3. สอนว่า “คิด” ≠ “รู้”

ที่มาภาพ: https://farm4.staticflickr.com/3645/3479598520_4b10c80fff_z_d.jpg?zz=1
ที่มาภาพ: https://farm4.staticflickr.com/3645/3479598520_4b10c80fff_z_d.jpg?zz=1

ข้อแตกต่างข้อนี้เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในหมู่นักปรัชญาและนักรัฐศาสตร์ ในมุมมองของผู้เขียน รู้คือรู้ในสิ่งที่รู้ได้ ยกตัวอย่างเช่น รู้ว่าประเทศไทยมีดินแดนกว้างเท่าไร รู้ว่าขับรถยังไง ไปบ้านเพื่อนยังไง รู้ว่าหากเพิ่มความร้อนให้กับน้ำมากและนานพอน้ำจะเดือด แต่ในทางกลับกัน การคิดคือการก้าวไปให้ไกลกว่าพรมแดนและข้อจำกัดของความรู้ เป็นการคิดถึงเป้าหมายของความรู้และเป็นการเข้าไปสู่บางสิ่งที่จะรู้ยังไงก็รู้ไม่ได้ด้วยซ้ำ

ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเราคิดกันจริงๆ จังๆ น้อยเหลือเกินในโลกสมัยนี้เพราะเราไม่จำเป็นต้องคิดก็รู้ได้ ในวันหนึ่งจะมีกี่นาทีเชียวที่เราหยุดทำอย่างอื่นแล้ว “คิด” อย่างจริงๆ จังๆ สมัยนี้ไม่รู้อะไรก็ต์ขึ้นมาได้ภายในห้าวินาที จะเสียเวลานั่งคิดไปทำไม

ผู้เขียนเห็นว่าความคิดสำคัญไม่แพ้ความรู้เพราะว่าการไร้ซึ่งความคิดนั้นมีอันตรายแอบแฝงอยู่ แนวคิดนี้เป็นหนึ่งในแนวคิดของ Hannah Arendt (ฮานนาห์ อาเร็นดต์์) นักปรัชญาและนักทฤษฎีการเมืองชาวเยอรมัน เธอคิดว่าการไร้ซึ่งความคิดเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนเยอรมันจำนวนไม่น้อยที่มีจิตปกติกลับฟังและทำตามคำสั่งเพื่อฆ่าชาวยิวอย่างโหดเหี้ยมและชินชา แม้ว่าบ้านเมืองเราจะไม่อยู่ในสถานะเป็นตายแบบในสมัยสงครามโลก แต่การมีความคิดนั้นก็ยังมีสำคัญมากต่อการดำรงชีวิตเพื่อให้ไม่เราโดนเอาเปรียบหรือไม่หลงทำอะไรผิดๆ ไป

หากเรารู้แต่ไม่คิด เราอาจตกเป็นเหยื่อของโฆษณาชวนเชื่อให้เลือกอะไรที่ไม่ได้ดีต่อเราจริงหรืออะไรที่เราไม่ได้ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยนี้ที่บริษัทต่างๆ แข่งขันกันมากถึงขั้นต้องแข่งกัน “ป้อน” ความคิดแบบเนียนๆ ให้กับผู้บริโภค ว่าใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความงามนี้แล้วจะสวยเหมือนดารา ดื่มน้ำนี้แล้วจะมีออร่าดุจดั่งพระเอกละคร ตัวอย่างในด้านสังคมและการเมือง เช่น การตัดสินใจเลือกผู้นำประเทศก็คล้ายกับตัวอย่างข้างต้นอย่างน่าตกใจ เพียงแค่ว่าผลิตภัณฑ์ชนิดการเมืองการปกครองนั้นมีราคาแฝงที่แพงและกระทบผู้คนมากมากว่าการซื้อแชมพูหรือเครื่องดื่มแก้กระหายเท่านั้นเอง

อีกจุดหนึ่งที่ต้องย้ำคือการเข้าใจว่าการไร้ซึ่งความคิดนั้นไม่ได้แปลว่าโง่เขลาหรือด้อยความรู้ เพราะว่าคนฉลาดก็ยังไร้ซึ่งความคิดได้ เพราะฉะนั้น สังคมไม่ควรมีแค่เป้าหมายที่จะผลิตคนรุ่นใหม่ที่ฉลาดรอบรู้แต่อย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงการปลูกฝังนิสัยช่างคิดเอาไว้ด้วย เพราะนั่นจะเป็นของขวัญชิ้นที่มีค่าที่สุดที่ใครที่ไหนก็เอาไปจากพวกเขาไม่ได้

สิ่งที่โรงเรียนทำได้ในข้อนี้คงจะเป็นการส่งเสริมนิสัยช่างคิดกับการประเมินผลการเรียนที่อิงการใช้ความคิดมากกว่าการใช้ความรู้ ข้อสอบแบบปรนัยในประเทศไทยมักจะเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาหลักในคดีทำให้เด็กไม่ได้คิด ในกรณีที่คำถามมีคำตอบชัดเจนนั้น ผู้เขียนคิดว่าข้อสอบแบบปรนัยไม่ได้มีแต่ข้อเสียเสมอไปและสามารถออกข้อสอบปรนัยให้เกิดกระบวนการคิดจริงๆ ก็ทำได้หากผู้ออกข้อสอบตั้งใจสร้างโครงสร้างคำถามให้ดีพอ ไม่ใช่ออกข้อสอบปรนัยที่ “ยาก” แต่เหมือนกับว่าเป้าหมายหลักคือจะคัดเด็กออกไปแข่งรายการแฟนพันธุ์แท้แต่ในกรณีที่คำตอบที่ถูกต้องนั้นยังไม่มีแน่นอนยิ่งไม่ควรทำข้อสอบแบบปรนัย ควรจะเป็นคำถามแบบข้อเขียน เรียงความหรือควรจะประเมินความเห็นที่นักเรียนแสดงออกมาในระหว่างคาบเรียนเสียมากกว่า

4. สอนให้เถียงและออกความเห็น (แบบศิวิไลซ์)

ที่มาภาพ: https://farm5.staticflickr.com/4080/5414477900_90755f9548_z_d.jpg
ที่มาภาพ: https://farm5.staticflickr.com/4080/5414477900_90755f9548_z_d.jpg

“สอนให้เถียง” นั้นไม่ได้หมายความว่าให้สอนให้เด็กไร้กาลเทศะหรือสอนให้พูดจาย้อนผู้ใหญ่ทุกครั้งที่มีโอกาส แต่เป็นการสอนพื้นฐานของทักษะที่มีความจำเป็นเหลือเกินต่อการดำรงชีวิตให้มีสุข การทำงานให้ประสบความสําเร็จ และการทำหน้าที่เป็นประชากรคุณภาพในระบอบประชาธิปไตย หากเราลองนึกดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในสมองเราเวลาเราเถียงและเจรจาอย่างมีเหตุผล มันมีทั้งการฟัง การประเมินสถานการณ์ การคิด และการพูดอย่างมีชั้นเชิง เพื่อที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการ สิ่งเหล่านี้ดูไร้ประโยชน์สิ้นดีในห้องสอบแต่กลับจะมามีประโยชน์เหลือเกินเมื่อคนเราโตขึ้นและจะต้องเริ่มบริหารความสัมพันธ์กับคนรอบตัว เช่น คนรัก เพื่อน หรือนายจ้าง

นอกจากนั้น ทักษะและนิสัยในการชอบเถียงอย่างมีเหตุผลนั้นยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในสังคมประชาธิปไตย มันเป็นเหมือนเป็นทักษะในการควบคุมฟืนไฟในการผลักดันสังคมให้เดินไปข้างหน้าอย่างมีเหตุมีผลโดยที่ไม่ทำให้เราทะเลาะกันเองด้วยอารมณ์จนมอดไหม้ด้วยฟืนไฟนั้นไปซะก่อน

ประโยชน์ของการสอนให้เถียงและออกความเห็นอย่างมีเหตุผลนั้นจะมาจากสองทางหลักๆ หนึ่ง คือทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและมีอิสระมากขึ้น สอง คือการเพิ่มประสิทธิภาพของครูทางอ้อม

หากเด็กไทยจะโต้แย้งด้วยเหตุผลสู้ชาติอื่นไม่ได้ก็คงจะมาจากการที่ไม่เคยเถียงได้จริงๆ ด้วยซ้ำในห้องเรียน แม้ว่าจะเคยมีการผลักดันแนวคิดแบบนักเรียนเป็นศูนย์กลาง การโต้แย้งว่าอาจารย์พูดผิด ไม่เชื่อในสิ่งที่อาจารย์สอน หรือแสดงความคิดเห็นที่อาจจะต่างกับสิ่งที่ครูสอนนั้นในบ้านเราโดยทั่วไปแล้วถือว่าเป็นการเสียมารยาทและไม่รู้จักกาลเทศะ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ควรเป็นเช่นนั้นทุกกรณีไป เพราะว่าการเป็นผู้ช่างสงสัย (skeptic) ในห้องเรียนนั้นทำให้การเข้าใจคอนเซ็ปต์ยากๆ เช่น ทฤษฎีบทต่างๆ ในสาขาคณิตศาสตร์กระจ่างขึ้นมาก คือเริ่มจากความไม่เชื่อก่อนแล้วค่อยเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างช้าๆ จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ว่าทำไมสิ่งที่เรียนอยู่ถึง “จริง” แล้วค่อยเชื่อในความรู้ชิ้นนั้น ไม่ใช่ยอมอ้าปากรับความรู้เอาดื้อๆ

ยิ่งไปกว่านั้น จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนคุยกับเพื่อนๆ หลังเลิกเรียนพบว่าจริงๆ แล้วไม่มีครูคนไหนที่สอนได้สมบูรณ์แบบจากการพูดหน้าชั้นแค่รอบเดียว มันต้องมีนักเรียนบางคนหรือหลายคนเลยที่ฟังอะไรบางอย่างแล้วไม่เข้าใจ การที่เราไม่เปิดโอกาสให้เด็กเถียงหรือออกความเห็นอย่างมีอิสระตั้งแต่เด็กจะทำให้พวกเขาโตขึ้นมาชินชากับความเชื่องของพวกเขาแล้วเขาก็จะเลิกยกมือเลิกสงสัยในที่สุด

เพราะฉะนั้น เราควรตัดสินใจว่าจะแยกแยะ “มารยาททางสังคม” กับ “การเรียนรู้” ออกจากกันอย่างไรดี ถึงจะทำให้การเรียนรู้ที่ให้อิสระและอำนาจกับนักเรียนนั้นเข้ากับวัฒนธรรมไทยเดิมที่อยู่กับเรามานาน

ซึ่งทั้งหมดนี้แตกต่างกับวัฒนธรรมในห้องเรียนอเมริกันโดยสิ้นเชิง นักเรียนอเมริกันส่วนมากไม่ได้ให้เกียรติอาจารย์เพราะตำแหน่งหรือความอาวุโส อีกทั้งอาชีพอาจารย์ในสังคมคนอเมริกันรุ่นใหม่ยังถือว่า “ไม่เจ๋งเลย” ด้วยซ้ำไป แต่พวกเขาให้เกียรติอาจารย์เพราะอาจารย์พิสูจน์ตัวเองได้หน้าชั้นเรียนว่าเป็นผู้มีความรู้ที่ถ่ายทอดความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมควรแก่ความเคารพนับถือ การพิสูจน์ตัวเองนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ในห้องเรียนอนุบาล ไม่ใช่เพิ่งจะเริ่มที่ระดับมหาวิทยาลัย เหตุผลหนึ่งคือเพราะว่าในโรงเรียนส่วนมากที่อเมริกาครูใช้แรง ใช้การขู่ หรือใช้การตวาด เพื่อให้เด็ก “เชื่อฟัง” ไม่ได้ ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อชนะใจเด็กๆ ด้วยความเป็นครู

ยิ่งในบางโปรแกรมระดับปริญญาโท เช่น Johns Hopkins University SAIS ที่ผู้เขียนทำปริญญาโทมา การประเมินคุณภาพการสอนที่นักเรียนเป็นผู้ประเมินเองตอนท้ายปีการศึกษานั้นบางครั้งมีอำนาจสูงมากถึงขั้นสามารถชี้ชะตาว่าอาจารย์ท่านไหนบ้างที่จะได้อยู่รับเงินเดือนต่อปีหน้าเพราะเขาถือว่าค่าเล่าเรียนสูง นักศึกษาหลายคนยอมกู้เงินมากมายมาเรียนและยอมพักงานเพื่อมาเรียน จึงเป็นเรื่องปกติมากที่โรงเรียนจะต้องคำนึงถึงระดับคุณภาพของการศึกษาให้ดีพอทดแทนกับเงินและเวลาที่หายไปของนักศึกษา

ที่คณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมินเนโซตาที่ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่นี้ก็ขึ้นชื่อว่ามีวัฒนธรรมลับๆ ซ่อนอยู่ว่า “เราจะแสดงความเคารพให้เฉพาะกับคนที่สมควรแก่การเคารพเท่านั้น” เป็นเรื่องธรรมดาที่จะพบเห็นนักเรียนปริญญาเอกเถียงกับ TA (นักศึกษาช่วยสอน) รุ่นพี่เมื่อ TA สอนไม่กระจ่างและสามารถเดินออกนอกห้องทันทีถ้าเกิด TA ยังสอนได้ไม่ดีพอ ในงานสัมมนาก็เหมือนกัน คณะนี้ขึ้นชื่อว่าโหดเหี้ยมเหมือนแท็งค์ปลาฉลาม ไม่ว่าศาสตราจารย์ที่เดินทางมาพรีเซนต์ผลงานจะดังจะใหญ่มาจากไหน หากมีช่องโหว่ในผลงานวิจัยมีกลิ่นเลือดออกมานิดเดียวจะโดนรุมกัดกระจุยหน้าแตกไม่มีชิ้นดี แถมใครพรีเซนต์ไม่เอาไหนบางทีมีการบอกให้ผู้ชมอย่าปรบมืออีกด้วย

ตอนแรกๆ ที่ผมเห็นอะไรแบบนี้ผมรู้สึกไม่ดีเอามากๆ รู้สึกว่าไม่มีมารยาทสิ้นดี แขกรับเชิญเขาอุตส่าห์เดินทางมาตั้งไกลทำไมโต้แย้งเสียจนผลงานที่เขาทำมาเป็นปีไม่เหลือซาก แต่พอเวลาผ่านไปก็พอจะเข้าใจว่ามันมีเหตุผลอยู่เหมือนกัน เพราะว่าการโต้แย้งแบบนี้ไม่ใช่การโต้แย้งด้วยอารมณ์หรือการเล่นงานที่ตัวบุคคล แต่เป็นการโต้แย้งในเนื้อหาทั้งนั้น และยังเป็นเพราะว่าคนที่นี่เข้าใจถึงความรับผิดชอบในหน้าที่ผู้ให้และผู้ผลิตความรู้ พวกเขาเข้าใจว่าความรู้ที่พวกตนผลิตกันในแท็งค์ปลาฉลามแห่งนี้จะมีพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคม จะต้องมั่นใจให้ได้ว่าสิ่งที่หลุดรอดรั้วมหาวิทยาลัยออกไป ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยหรือเด็กจบใหม่ๆ นั้นเป็นผลผลิตที่ดีที่สุดแล้ว ไม่ใช่เป็นแค่ผลผลิตจากการพยักหน้าแล้วปรบมือพอเป็นพิธี การที่เราแสดงความเห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพของ TA ก็จะทำให้ TA คนนั้นกลับบ้านไปปรับปรุงตัวใหม่ อีกหน่อยเขาจบออกไปก็จะไปเป็นอาจารย์ที่สอนเก่งขึ้น ดีกว่าปล่อยให้เขานึกว่าเขาสอนเก่งทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่มีใครเรียนรู้เรื่องเลย

งานสัมมนาสุดโหดก็มีข้อดีเหมือนกัน แม้จะโหดถึงขั้นฝันร้ายและมีความเสี่ยงในการหน้าแตกก็ยังมีศาสตราจารย์นับไม่ถ้วนที่ต้องการเดินทางมาลงเล่นน้ำในแท็งค์ปลาฉลามนี้เพื่อพรีเซนต์ผลงานที่มหาวิทยาลัยมินเนโซตาเพราะว่ามันเป็นโอกาสพิสูจน์ตัวเองอย่างแฟร์ๆ ที่หาได้ยาก

ในประเด็นนี้ผมคิดว่าเราน่าจะเดินทางสายกลาง ไม่ต้องลิเบอรัลสุดๆ เพราะจริงๆ แล้วก็ไม่มีที่ไหนในโลกที่แยกมารยาททางสังคมออกจากการเรียนรู้ 100% เอาให้เด็กพอมีมารยาทพื้นฐานในห้องเรียน ไม่รบกวนการเรียนรู้ของคนอื่น ให้เด็กเคารพอาจารย์ด้วยความที่อาจารย์เป็นเพื่อนมนุษย์ที่สอนเก่งไม่ใช่แค่เพียงเพราะว่าเป็นอาจารย์ของตน และเมื่อจะเถียงก็เถียงเกี่ยวกับประเด็น อย่าเถียงที่ตัวคน

ผู้เขียนคิดว่าอาจารย์ในอุดมคติก็น่าจะต้องการให้ความเคารพของเด็กๆ มาจากฝีมือของตน ไม่ใช่มาจากตำแหน่งหรือความอวุโส หากเป็นเช่นนี้ได้ก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรมาขัดขวางความคิดใหม่ๆ ที่น่าถกเถียงต่อยอดขึ้นไปอีกได้ นี่สิคือการเรียนรู้ที่นักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง

5. สอนให้เขียน

ที่มาภาพ:  https://farm4.staticflickr.com/3128/3245260680_7eabe5e375_z_d.jpg
ที่มาภาพ: https://farm4.staticflickr.com/3128/3245260680_7eabe5e375_z_d.jpg

จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการศึกษาในเมืองไทยและต่างประเทศ ผู้เขียนคิดว่าหลักสูตรไทยควรเน้นให้เด็กๆ เขียนบ่อยกว่านี้มาก ยังจำได้แม่นว่าสมัยยังเป็นนักเรียนประถมและมัธยมได้มีโอกาสเขียนอะไรยาวๆ จริงๆ จังๆ (ไม่นับข้อสอบข้อเขียนสั้นๆ) แค่เฉลี่ยปีละสามครั้งคือ วันพ่อ วันแม่ และวันสุนทรภู่ (แต่งกลอนแข่ง) เวลาที่เหลือเอาไปเน้นติวเลขกับวิทยาศาสตร์หรือเอาไปเรียนพิเศษ ในขณะที่เด็กๆ รุ่นราวคราวเดียวกันในประเทศอื่นหลายประเทศเขามีโอกาสเขียนวิเคราะห์อะไรที่ลึกๆ ยากๆ มากมายตั้งแต่เล็ก หัวข้อเรียงความก็จะไม่ใช่แค่การอ่านนิยายแล้วเขียนว่าอะไรเกิดขึ้น ใครไปที่ไหน ใครพูดว่าอะไร อย่างนั้นแค่อ่านหนังสือเป็น เขียน ก ไก่ ข ไข่เป็นก็ทำได้ ไม่นับว่าเขียนได้ แต่จะต้องเป็นการวิเคราะห์อะไรที่ลึกซึ่งกว่านั้นมากและเป็นโอกาสให้เด็กรู้จักใส่ความคิดของตัวเองลงไปด้วย ไม่ใช่แค่การอ่านจับใจความ

สามก๊กตอนจูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊านั้นเป็นหนึ่งในนิทานร้อยแก้วที่ผมชอบมากที่สุด แต่ไม่เคยเข้าใจว่าทำไมข้อสอบมักถามเราอย่างกับเราเป็นหุ่นยนต์ เหมือนกับว่าทุกอย่างมีคำตอบที่แท้จริงหมด ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องถามว่าเล่าปี่ เตียวหุย กวนอู ยกทัพไล่หรือยกทัพหนีกี่ครั้ง หรือให้เรายกตัวอย่างว่าจูล่งแสดงฝีมือรบที่ดีตอนไหนบ้างในเรื่อง หรือถามว่าอาเต๊าเป็นบุตรของใคร จริงอยู่สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่องแต่มันเป็นแค่องค์ประกอบ โจทย์ที่ท้าทายกว่าน่าจะเป็นการให้เด็กเขียนเรียงความหาหลักฐานที่แฝงอยู่ในสามก๊กตอนอื่นมาเถียงว่าเพราะเหตุใดจูล่งจึงยอมลำบากเสี่ยงตายไปรับอาเต๊าให้เล่าปี่แล้วค่อยให้คะแนนนักเรียนตรงความสามารถในการวิเคราะห์หลักฐานและการเขียนเพื่อโน้มน้าวความเห็นของผู้อ่าน

บางทีการกระทำของตัวละครในบทละครหรือนิยายนั้นไม่สามารถตอบได้ด้วยการวงปรนัยหรือการเขียนแค่สามสี่ประโยค การที่นางบิฮูหยิน (ภรรยารองของเล่าปี่) ยอมโดดน้ำตายเมื่อเห็นจูล่งวิ่งมาหรือการที่เล่าปี่ทำเป็นโกรธและทิ้งอาเต๊าลงตอนที่จูล่งเอาบุตรตนเองมาส่งนั้นเป็นการกระทำที่ซับซ้อนมากและไม่ควรฟันธงว่านิสัยของบิฮูหยินกับเล่าปี่เป็นอย่างไรจากแค่การกระทำเดียว ใครเคยอ่านสามก๊กจบจะทราบว่าเล่าปี่เป็นตัวละครที่ซับซ้อนและไม่ได้สมบูรณ์แบบ การถามว่า “นาย ก. ทำอย่างนี้แปลว่านาย ก. เป็นคนอย่างไร” จะกลายเป็นการยัดเยียดข้อมูลและความคิดเห็นของผู้สอนหรือผู้สร้างหลักสูตรให้กับนักเรียน กลายเป็นการบังคับให้เชื่อมการกระทำดังกล่าวกับนิสัยบางอย่างโดยที่ไม่ได้เกิดกระบวนการคิดเลยสักนิดเดียวว่าคำตอบนั้นมันเหมาะสมแค่ไหน

การเพิ่มโอกาสให้นักเรียนเขียนมากขึ้นนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการบังคับให้นักเรียนท่องจำแล้วฝนปรนัย ไหนจะต้องมาฝึกครูให้สอนวิธีเขียน ต้องเจียดเวลาคาบภาษาไทยมาสอนวิธีเขียนให้นักเรียน และยังต้องเสียเวลาตรวจเรียงความเป็นร้อยๆ เรื่องต่อปี ในมุมมองเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นการสอนภาษาไทยแบบดั้งเดิมทำได้ไม่เลวเลยในการทำให้นักเรียนทั่วประเทศอ่านออกเขียนได้และจับใจความจากการอ่านได้ด้วยงบประมาณที่จำกัด แต่ทักษะพื้นฐานเหล่านี้ไม่พอแล้วในโลกสมัยนี้ที่การแข่งขันสูง

ท้ายสุดนี้ผู้เขียนคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราควรจะเพิ่มความคาดหวังในตัวเด็กไทย ให้พวกเขาไปได้ไกลกว่าการท่องจำ การแห่ไปเรียนพิเศษแถวสยาม และการพ่นความรู้ออกมาได้มากที่สุดในข้อสอบปลายภาค ผู้เขียนเชื่อว่ามีผู้สอนจำนวนไม่น้อยที่ตั้งใจทำทั้งห้าอย่างในบทความนี้ทุกวันอยู่แล้ว ขอให้พวกท่านจงทำต่อไปเพราะผู้เขียนเชื่อว่าห้าอย่างนี้ยังจะคงความสำคัญไว้ไม่ว่าโลกนี้จะพัฒนาไปถึงไหนต่อไหนแล้วก็ตาม

**** ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่มาจากประสบการณ์ทำงานและเรียนในประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557