ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รื้อยุทธศาสตร์บีโอไอ 5 ปี รายได้หายกว่า 7 แสนล้านบาท ไฟเขียวแผนส่งเสริมการลงทุน 7 ปี ดีเดย์ 1 ม.ค. 58

รื้อยุทธศาสตร์บีโอไอ 5 ปี รายได้หายกว่า 7 แสนล้านบาท ไฟเขียวแผนส่งเสริมการลงทุน 7 ปี ดีเดย์ 1 ม.ค. 58

26 พฤศจิกายน 2014


แนวคิดเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนให้สอดรับกับการสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวเร็ว เริ่มต้นขึ้นในปี 2554 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมายก “ร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ในช่วง 5 ปี (2556-2560)” เสนอที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งสุดท้ายวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมอบนโยบายให้ BOI ปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนดังนี้

1. ปรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ของประเทศ และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
2. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และเปิดการค้าเสรี (FTA)
3. การกำหนดบัญชีประเภทกิจการภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ ควรพิจารณาในรูปแบบของห่วงโซ่มูลค่า (value chain) เพื่อให้ทราบจุดอ่อนและจุดแข็งในแต่ละขั้นตอน สามารถกำหนดมาตรการส่งเสริมได้อย่างเหมาะสม
4. การส่งเสริมการลงทุน ควรพิจารณาศักยภาพของพื้นที่ประกอบด้วย เช่น พิจารณาจากยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด และเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกพืช (โซนนิ่งภาคเกษตร), เน้นเกษตรแปรรูป หรือบางจังหวัดอาจจะมีความเหมาะสมที่จะทำธุรกิจท่องเที่ยวมากกว่าอุตสาหกรรม

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนนำแนวนโยบายดังกล่าวมาปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ เพื่อเสนอคณะกรรมการ BOI พิจารณาอีกครั้งวันที่ 21 ตุลาคม 2556 แต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองจนกระทั่งมีการทำรัฐประหาร

 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ ถูกนำขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 55/2557 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ (บอร์ด BOI) ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธานฯ ทันทีที่มีการแต่งตั้งกรรมการบอร์ดเสร็จเรียบร้อย วันที่ 18 มิถุนายน 2557 พล.อ. ประยุทธ์ เรียกประชุมบอร์ด BOI ครั้งที่ 1/2557 เพื่อมอบนโยบายมีดังนี้

1. เร่งรัด BOI ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 ตุลาคม 2557 โดยมอบหมายให้ BOI ร่วมกับกระทรวงการคลังทบทวนการให้สิทธิประโยชน์ BOI ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และดูแลฐานภาษีเงินได้ของประเทศให้สอดคล้องกับการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (30% ลดเหลือ 20%)

2. ปัจจุบันมีกิจการอยู่ในข่ายส่งเสริมการลงทุน 243 ประเภท ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละ 1 แสนล้านบาท ควรมีการปฏิรูปสิทธิประโยชน์ BOI ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ โดยจำกัดประเภทกิจการ หรือปรับลดประเภทกิจการลง และให้เน้นให้การส่งเสริมการลงทุนกับโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง เช่น เป็นโครงการที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี, ใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนในประเทศ, ประหยัดพลังงานหรือใช้พลังงานทดแทน, พัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย (SMEs), รักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยการปรับลดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และปรับเปลี่ยนบทบาท BOI เน้นอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน นอกจากจะช่วยให้การพัฒนาประเทศมีความยั่งยืน ยังลดการสูญเสียรายได้จากภาษีอากร ทำให้รัฐมีงบประมาณที่จะใช้ในการพัฒนาประเทศเพิ่มมากขึ้น

3. การให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน ควรคำนึงถึงความคุ้มค่า โดยจะต้องมีตัวชี้วัดที่แสดงถึงประสิทธิผล นอกเหนือจากมูลค่าการขอรับการส่งเสริม

4. การให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน ควรคำนึงถึงความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ รองรับการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการลงทุนในเขตเศรษฐกิจชายแดน

กรมสรรพากรสูญเสียรายได้จากให้สิทธิบีโอไอ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า จากข้อมูลของกรมสรรพากร ระบุว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรสูญเสียรายได้จากสิทธิประโยชน์ทางภาษี BOI ปีละไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านบาท รวม 5 ปี ไม่ต่ำกว่า 7.57 แสนล้านบาท แลกกับดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐยอมสูญเสีย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศคุ้มค่าหรือไม่ ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จึงมอบนโยบายให้ BOI ทบทวนร่างยุทธศาสตร์ใหม่ โดยการปรับลดสิทธิประโยชน์ทางภาษี และปรับเปลี่ยนบทบาท BOI โดยให้ไปเน้นภารกิจอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน

ทั้งนี้การประชุมบอร์ดบีโอไอเมื่อ 18 มิถุนายน 2557 พล.อ. ประยุทธ์ เปิดโอกาสให้กรรมการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน ดังนี้

1. ควรกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ยกตัวอย่าง กิจการที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ภายในประเทศที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว เช่น รถยนต์, อิเล็กทรอนิกส์ที่มีเทคโนโลยีสูง, กิจการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร, กิจการที่เป็นของผู้ประกอบการไทย, กิจการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น การออกแบบ

ขณะเดียวกัน ไม่ควรส่งเสริมธุรกิจที่มีผลตอบแทนสูงอยู่แล้ว ถึงแม้ไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็ยังมีการลงทุน หรือธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจผลิตสินค้าฟุ่มเฟือย หรือผิดศีลธรรม

2. สนับสนุนธุรกิจ SMEs เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน

3. การส่งเสริมกิจการผลิตเพื่อส่งออกมีข้อจำกัดในอนาคต เนื่องจากไทยมีการเจรจา FTA ค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง

4. สนับสนุนให้มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน เพื่อลดปริมาณแรงงานต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศอย่างถาวร

5. การคำนวณมูลค่าเพิ่ม ไม่ควรพิจารณาเฉพาะมูลค่าของโครงการลงทุนเท่านั้น แต่ควรพิจารณาถึงมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย เพื่อให้การประเมินผลถูกต้องมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน การนำผลกำไรของนักลงทุนต่างชาติมาคำนวณเป็นมูลค่าเพิ่มของโครงการ ความจริงแล้วเป็นกำไรของต่างชาติ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประเทศแต่อย่างใด

จากนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นำนโยบายของ พล.อ. ประยุทธ์และความคิดเห็นของกรรมการบอร์ด BOI มาทำการปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่มี พล.อ. ประจิน จั่นตอง เป็นประธานฯ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557

วันที่ 18 กรกฎาคม 2557 BOI นำร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน เสนอที่ประชุมบอร์ด BOI เป็นครั้งที่ 2 โดยคณะกรรมการมีความเห็นดังนี้

1. การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน ควรระบุช่วงเวลาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงมีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเป็น 7 ปี (2558-2564)

2. ทบทวนการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรให้เหมาะสม และการส่งเสริมการลงทุน ควรเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับกับ AEC

3. ให้ BOI เป็นหน่วยงานกลาง ประสานงานกับหน่วยงานอื่น ปรับปรุงกฎระเบียบที่สำคัญในการประกอบธุรกิจ

สำนักงานคณะกรรมการ BOI นำความเห็นที่ประชุมบอร์ดมาปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ใหม่ และได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ด BOI เป็นครั้งที่ 3 วันที่ 19 สิงหาคม 2557 ที่ประชุมบอร์ดมีความเห็นดังนี้

1. เห็นด้วยกับการกำหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 ที่มีเป้าหมายชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังมีความยืดหยุ่นที่สามารถปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต

2. เห็นด้วยกับแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งจะช่วยยกระดับห่วงโซ่มูลค่าได้ตลอดทั้งสาย ทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ของอุตสาหกรรม เปิดโอกาสให้ SMEs เข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคม

3. ควรกำหนดวิสัยทัศน์ของการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 7 ปีข้างหน้า (2558-2564) เพื่อให้เห็นถึงทิศทางและเป้าหมายของยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

4. ควรปรับปรุงข้อความในนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้สะท้อนถึงมิติทางสังคม และส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

5. ควรระบุหลักเกณฑ์ในการกำหนดประเภทกิจการที่อยู่ในกลุ่ม B (สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมตามคุณค่าโครงการ) ให้ชัดเจน เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์ที่กิจการเหล่านี้มีต่อภาคการผลิตของประเทศ

6. ควรเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในประเทศ เช่น การผลิตยางที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

7. ควรพิจารณาความเหมาะสมของจำนวนจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเป็นพิเศษอีกครั้งหนึ่ง

8. ควรพิจารณาข้อเสนอให้มีการนำเข้าเครื่องจักรเก่าจากต่างประเทศ เป็นรายอุตสาหกรรม เนื่องจากเทคโนโลยีและอายุการใช้งานของเครื่องจักรแตกต่างกัน แต่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับหาแนวทางป้องกันไม่ให้มีการถ่ายโอนผลประโยชน์ (transfer pricing) ระหว่างบริษัทลูกกับบริษัทแม่ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม

9. ให้ BOI ทำการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการลงทุน ทั้งกฎระเบียบ ความไม่โปร่งใสของภาครัฐ เสนอต่อรัฐบาล รวมถึงปัจจัยสนับสนุนการลงทุน นอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยให้ BOI เป็นตัวกลางประสานงานหน่วยงานต่างๆ พัฒนาสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษี (non-tax incentive) ให้เข้ามามีบทบาทส่งเสริมการลงทุนในอนาคต

10. BOI ควรทำงานเชิงรุก ออกไปชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยพัฒนาปัจจัยสนับสนุนการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน

11. BOI ควรนำเสนอแผนเชิงรุก ในการชักจูงอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณา เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

วันที่ 3 ตุลาคม 2557 BOI เสนอร่างยุทธศาสตร์ใหม่ต่อที่ประชุมบอร์ด เป็นครั้งที่ 4 ภายหลังการประชุม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ได้มอบหมายให้ตนและคณะทำงานไปทำการศึกษาปรับเปลี่ยนรูปแบบการส่งเสริมการลงทุน โดยเน้นเจาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยภาคธุรกิจ digital economy และส่งเสริม SMEs ไทย เพิ่มสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช้ภาษี ปรับเปลี่ยนบทบาท BOI ไปเน้นในเรื่องอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน รวมทั้งลดการส่งเสริมอุตสาหกรรมทั่วไป เนื่องจากประเทศไทยมีข้อจำกัดในเรื่องของแรงงาน จึงต้องสนับสนุนให้ธุรกิจไทยขยายฐานการลงทุนในต่างประเทศ โดย BOI นำเสนอแผนทั้งหมดต่อที่ประชุมบอร์ดครั้งถัดไป

ล่าสุด วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 BOI นำร่างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี เสนอที่ประชุมบอร์ด BOI เป็นครั้งที่ 5 นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมบอร์ด BOI ที่มี พล.อ. ประยุทธ์เป็นประธาน มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ ซึ่งเน้นความสำคัญกับประเภทกิจการที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าต่อภาคอุตสาหกรรมและต่อประเทศเป็นหลัก เช่น กิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กิจการเชิงสร้างสรรค์ กิจการหรือบริการเพื่อรองรับการพัฒนา digital economy กิจการที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ และยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ตามเขตที่ตั้ง แต่ให้คงสิทธิประโยชน์ไว้เฉพาะพื้นที่ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำในเขต 20 จังหวัด และการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มจากสิทธิพื้นฐานตามประเภทอุตสาหกรรม โดยยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่นี้มีผลบังคับใช้กับโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป

บัญชีรายการที่เปลี่ยนแปลงของบีโอไอ

นางหิรัญญากล่าวต่อไปอีกว่า ส่วนประเภทกิจการที่อยู่ในข่ายถูกยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน ที่ประชุมบอร์ดเห็นว่า บางกิจการยังมีความสำคัญต่อห่วงโซ่การผลิต และยังมีศักยภาพที่จะส่งเสริมให้กิจการมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น จึงไม่ได้ยกเลิกให้การส่งเสริมการลงทุน แต่ปรับเงื่อนไขการส่งเสริมใหม่ เพื่อให้กิจการกลุ่มนี้ลงทุนเพื่อยกระดับการผลิตหรือการออกแบบ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ ประเภทกิจการที่จะได้รับส่งเสริมการลงทุนจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม A เป็นกิจการที่มีความสำคัญสูงต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จึงมีความจำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน และให้สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ กลุ่ม B เป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนที่มีการใช้เทคโนโลยีไม่สูงนัก แต่ยังมีความสำคัญต่อห่วงโซ่มูลค่า จึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่จะอำนวยความสะดวกผ่านสิทธิประโยชน์ด้านเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยเลือกเฉพาะ 38 ประเภทกิจการจากยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี มาเป็นกิจการที่จะได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้มาตรการดังกล่าวนี้ ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นอีก 2 ปีจากเกณฑ์ปกติ รวมทั้งที่ประชุมยังได้เห็นชอบนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยโครงการที่ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 พื้นที่ (จ.ตาก จ.ตราด จ.สระแก้ว จ.สงขลา จ.มุกดาหาร) หากเป็นกิจการที่ได้รับส่งเสริมภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 3 ปีจากเกณฑ์ปกติ

บอร์ด BOI แจกบัตรส่งเสริม 23 โครงการ วงเงินเกือบ 8 หมื่นล้าน

การประชุมคณะกรรมการบีโอไอเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 ที่ประชุมอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมจากครั้งก่อนอีก 23 โครงการ รวมเงินลงทุนทั้งสิ้น 79,217.2 ล้านบาท ประกอบด้วย

1. นายอดิศักดิ์ ประมวลมิตรา ได้รับการส่งเสริมลงทุนกิจการผลิตน้ำมันรำข้าวดิบ น้ำมันรำข้าวบริสุทธิ์และส่วนผสมอาหารสัตว์ อาทิ กาก รำ กำลังการผลิตปีละประมาณ 68,310 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,222.7 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

2. บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด ได้รับการส่งเสริมลงทุนกิจการผลิตไบโอดีเซล กำลังการผลิตปีละประมาณ 172,000,000 ลิตร เงินลงทุนทั้งสิ้น 975 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

3. บริษัท ไคฮาระ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตผ้ายีนส์ (DENIM FABRIC) กำลังการผลิตปีละประมาณ 14,400,000 เมตร เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,144 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี จังหวัดราชบุรี

4. บริษัท สปาร์คเทค (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมลงทุนกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะ เช่น SPARK PLUG METAL SHELL และ SEMI–FINISHED SPARK PLUG METAL SHELL และการชุบเคลือบผิว กำลังการผลิตชิ้นส่วนโลหะปีละประมาณ 86,184,000 ชิ้น กำลังการผลิตการชุบเคลือบผิวปีละประมาณ 21,816,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,266 ล้านบาท ตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัด ชลบุรี

5. บริษัท ไอชิน เอไอ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตชุดเกียร์ กำลังการผลิตปีละประมาณ 219,040 ชุด เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,250 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

6. บริษัท ทีเอส เทค (กบินทร์บุรี) จำกัด ได้รับการส่งเสริมลงทุนกิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ ได้แก่ SEAT FRAME PART กำลังการผลิตปีละประมาณ 220,000 ชิ้น AUTOMOTIVE SEATS กำลังการผลิตปีละประมาณ 240,000 ตัว และ AUTOMOTIVE DOOR PANELS กำลังการผลิตปีละประมาณ 240,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,320 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ปราจีนบุรี

7. บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) อีโคคาร์ รุ่นที่ 2 กำลังการผลิตปีละประมาณ 100,000 คัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 10,406 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

8. บริษัทเอสเอไอซี มอเตอร์–ซีพี จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) อีโคคาร์ รุ่นที่ 2 กำลังการผลิตปีละประมาณ 110,000 คัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 7,610 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดระยอง

9. บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) อีโคคาร์ รุ่นที่ 2 และชิ้นส่วนยานพาหนะ เช่น เครื่องยนต์ โครงรถ ชิ้นส่วนพลาสติก และเบาะรถยนต์ กำลังการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากลปีละประมาณ 100,000 คัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 8,438.7 ล้านบาท ตั้งที่อีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง

10. บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO-CAR) อีโคคาร์ รุ่นที่ 2 กำลังการผลิตปีละประมาณ 100,000 คัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 8,161 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี

11. บริษัท เน็กซ์ แคน อินโนเวชั่น จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตตัวกระป๋องอะลูมิเนียม กำลังการผลิตปีละประมาณ 600 ล้านชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี

12. Mr.Faith Kemal Ebiclioglu ได้รับการส่งเสริมผลิตตู้เย็น กำลังการผลิตปีละประมาณ 573,300 เครื่อง เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,142.3 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง

13. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมลงทุนกิจการผลิต ETHYLENE กำลังผลิตปีละประมาณ 175,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,825.3 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมผาแดง จ.ระยอง

14. บริษัท นิสสัน มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการวิจัยและพัฒนายานยนต์และชิ้นส่วน เพื่อให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มนิสสันทั่วโลก เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,087 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.บางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ

15. บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel) ขนาด 9.4 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,359 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย จ.สระบุรี

16. บริษัท รวมผลไบโอเพาเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย) ขนาด 50 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 250 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์

17. บริษัท เกษตรไทยไบโอเพาเวอร์ จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล (ชานอ้อย) ขนาด 60 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 330 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,540 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

18. บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ขนาด 52.9 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,925 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช

19. บริษัทเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด อินดัสเตรียลเอสเตท จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการเขตอุตสาหกรรม ขนาดพื้นที่รวม 2,202 ไร่ เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,845 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี

20. บริษัทระยอง 2012 จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการเขตอุตสาหกรรม ขนาดพื้นที่รวม 1,232 ไร่ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,569.7 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง

21. บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมการกิจการขนส่งทางอากาศ สำหรับเส้นทางภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยเช่าดำเนินการเครื่องบินใหม่แบบ บอมบาเดียร์ Q 400 จำนวน 4 ลำ ความจุผู้โดยสาร ลำละ 82 ที่นั่ง จากประเทศแคนาดา เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,317.6 ล้านบาท

22. บริษัท โตโยโตมิ ออโต้ พาร์ท (ประเทศไทย) ได้รับส่งเสริมให้เพิ่มกำลังการผลิตชิ้นส่วนโลหะปั๊มขึ้นรูปสำรับยานพาหนะ จากเดิมเป็น 6,200,000 ชิ้น โดยการลงทุนเครื่องจักรเพิ่มประมาณ 300 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

23. บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมให้เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (อีโคคาร์ รุ่นที่ 2) โดยลงทุนเพิ่มทั้งสิ้น 3,113 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังผลิตจากเดิมปีละประมาณ 120,000 คัน เป็นปีละประมาณ 134,000 คัน