ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส” ผู้ว่า สตง. คนใหม่ ตรวจสอบแจกเงินชาวนา – จัดซื้อรถไฟ 4,700 ล้าน – ทวงคืนท่อก๊าซ ปตท.

“พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส” ผู้ว่า สตง. คนใหม่ ตรวจสอบแจกเงินชาวนา – จัดซื้อรถไฟ 4,700 ล้าน – ทวงคืนท่อก๊าซ ปตท.

19 พฤศจิกายน 2014


ผลจากปัญหาเทคนิคด้านกฎหมาย ทำให้กระบวนการสรรหา ทั้งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่สามารถดำเนินการได้ ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จึงขาดผู้นำขับเคลื่อนกระบวนการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาครัฐ หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ วันที่ 27 มิถุนายน 2557 คสช. ออกประกาศฉบับที่ 71/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ที่เรียกว่า “7 อรหันต์” ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา, ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลปกครองสูงสุด, ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ คัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จนกระทั่งมี พระบรมราชโองการ วันที่ 25 กันยายน 2557 ประกาศแต่งตั้งนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จัดงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ได้กล่าวถึงผลการตรวจสอบโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล วงเงิน 40,000 ล้านบาท จ่ายให้กับชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 15,000 บาท โดยระบุว่า จากการตรวจสอบของ สตง. เบื้องต้น พบว่าฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนที่ใช้ในการจ่ายเงินชาวนา เป็นฐานข้อมูลเดียวกับที่ใช้ในโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยข้อมูลส่วนหนึ่งไม่ถูกต้องและไม่เป็นปัจจุบัน อาทิ เกษตรกรแจ้งพื้นที่ปลูกข้าวเกินความเป็นจริง, เกษตรกรไม่มีพื้นที่เพาะปลูกจริงแต่มาแจ้งว่ามีพื้นที่เพาะปลูก, เกษตรกรที่มีที่ดินจำนวนมากเกินหลักเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล จึงกระจายที่ดินให้บุตร ญาติพี่น้อง ถือครองที่ดินแทน เพื่อให้จำนวนที่ดินอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของทางการ เป็นต้น ในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเกษตรกร และการรับรองพื้นที่เพาะปลูก กรณีนี้ สตง. มีความเห็นว่าเป็นจุดเสี่ยงต่อการเกิดทุจริต และอาจจะเป็นช่องทางให้มีการแจ้งข้อมูลไม่ตรงตามความเป็นจริง

ทาง สตง. จึง ทำหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาและสั่งการให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ กำหนดแนวทาง หลักเกณฑ์ หรือวิธีการดำเนินงาน รวมถึงมาตรการควบคุม ตรวจสอบ ให้รอบคอบรัดกุม ตั้งแต่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนจนถึงขั้นตอนการจ่ายเงินให้ชาวนา

นอกจากนี้ สตง. ได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายองค์กรต่อต้านทุจริต อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดแผนปฏิบัติการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ จัดประชุมเพื่อมอบนโยบาย และซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบให้กับเจ้าหน้าที่ สตง. ในพื้นที่ภาคกลาง 25 จังหวัด และจะเริ่มลงพื้นที่ตรวจสอบตั้งแต่สัปดาห์หน้า โดยใช้ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกผ่านดาวเทียม (GPS) ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่เพาะปลูก กรรมสิทธิ์ที่ดิน ตามที่เกษตรกรมายื่นขอใช้สิทธิรับเงินช่วยเหลือ หากตรวจสอบพบว่าเกษตรกรแจ้งพื้นที่เพาะปลูกมากเกินความเป็นจริง ก็จะส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีต่อไป

“ที่ผ่านมาโครงการนโยบายรัฐมักจะมีปัญหาทุจริตเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะที่รัฐบาลก็ประกาศนโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน แต่ในทางปฏิบัติไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งแตกต่างจากครั้งนี้ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ โดยมีการผนึกกำลังหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบและมีอำนาจตามกฎหมายมาทำงานกันเป็นทีม ยุคนี้ สตง. ไม่ได้ทำงานอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป ภารกิจตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชันต้องทำกันเป็นทีม ร่วมกับ ปปง. ป.ป.ช. ป.ป.ท. ดีเอสไอ และตำรวจ เป็นต้น การทำงานของ สตง. ยุคนี้เน้นเชิงรุก ไม่มีการปกปิดข้อมูลผู้กระทำผิด พร้อมที่จะเปิดแถลงข่าวให้สาธารณชนได้รับทราบ เงินภาษีของท่าน ส่วนราชการนำไปใช้ทำอะไรกันบ้าง ถือเป็นมาตรการป้องกัน ป้องปรามการทุจริต ก่อนเกิดความเสียหายต่อประเทศ หลังจาก สตง. ตรวจสอบเสร็จเรียบร้อย ก็จะทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การกำหนดแนวทางแก้ไข ออกกฎหมายมาอุดรูรั่วไหล” นายพิศิษฐ์กล่าว

นายพิศิษฐ์กล่าวต่อไปอีกว่า ส่วน “การตรวจสอบโครงการจำนำข้าว” สตง. ทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก, ป.ป.ช. และคณะกรรมการอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ข้อมูลของ สตง. ที่เกี่ยวกับตรวจสอบโครงการจำนำข้าวทุกเรื่อง สตง. ส่งให้หน่วยงานเหล่านี้ทั้งหมด ล่าสุดนี้ทาง สตง. เพิ่งจะสรุปผลการตรวจสอบ “โครงการผลิตข้าวถุง 2.5 ล้านตัน” เสร็จเรียบร้อย กำลังอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ทันทีที่เรื่องนี้ผ่านการอนุมัติ ก็จะเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ส่วน “โครงการระบายข้าวแบบ G TO G” ขณะนี้ สตง. กำลังเร่งสรุปผลการตรวจสอบ เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่จัดส่งข้อมูลตามที่ สตง. ร้องขอ อ้างว่าเป็นความลับทางราชการ

“อย่างไรก็ตาม สตง. ไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับข้าวเท่านั้น เมื่อเร็วๆ นี้ สตง. ได้รับเรื่องร้องเรียนให้ไปทำการตรวจสอบเงินบริจาควัด แต่เนื่องจากกฎหมาย สตง. ไปไม่ถึง หรือไม่สามารถตรวจสอบเงินบริจาคที่เอกชนให้กับวัดได้ แต่ สตง. สามารถตรวจสอบเงินงบประมาณที่วัดได้รับการจัดสรรจากสำนักพระพุทธศาสนาได้ นอกจากเรื่องวัดแล้วก็เข้าไปตรวจสอบการก่อสร้างสนามฟุตซอลของโรงเรียน ตรวจสอบโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อาทิ การจัดซื้อหัวรถไฟ 115 คัน และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-แก่งคอย สตง. ทำเรื่องเสนอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวน” นายพิศิษฐ์กล่าว

นายพิศิษฐกล่าวต่อไปอีกว่า ยกตัวอย่าง โครงการจัดซื้อรถจักรดีเซล 20 คัน มูลค่า 67.42 ล้านเหรียญ หรือโครงการจัดซื้อรถโดยสารรุ่นใหม่ จำนวน 115 คัน หลังจากส่งเจ้าหน้าที่ สตง. ตรวจสอบโครงการเหล่านี้แล้ว รู้สึกไม่สบายใจ เป็นห่วงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท เหตุใด รฟท. ตัดสินใจเลือกบริษัทที่มีฐานะการเงินไม่ค่อยมั่นคง และไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการนำเข้ารถไฟ เข้ามารับงานนี้ ทาง สตง. จึงทำหนังสือถึงผู้บริหารของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เข้ามากำกับดูแล ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย สตง. ได้ทำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้พิจารณาทบทวนโครงการนี้

ส่วนเรื่องการตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้กับกระทรวงการคลัง เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาในสังคมออนไลน์ นายพิศิษฐ์กล่าวว่า นับจากวันที่ สตง. มีความเห็นว่าให้นำท่อก๊าซของบริษัท ปตท. ในทะเลเข้ามารวมเป็นต้นทุนจนทำให้ทรัพย์สินของ ปตท. ที่คำนวณโดย สตง. มีมูลค่าสูงกว่าตัวเลขของหน่วยงานอื่น จนถึงทุกวันนี้ สตง. ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงความเห็นดังกล่าว ในมุมมองของ สตง. แตกต่างจากหน่วยงานอื่น เพราะ สตง. ยึดหลักการรักษาผลประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ ท่อก๊าซทางทะเลถือเป็นสาธารณสมบัติ เมื่อมีการใช้ประโยชน์จากสาธารณสมบัติ ก็ต้องนำมาคำนวณรวมเป็นต้นทุนด้วย ล่าสุดเมี่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 สตง. ได้รวบรวมประเด็นข้อกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องส่งไปให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัย คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

“ช่วงที่ศาลปกครองกำลังพิจารณาคดีท่อก๊าซ สตง. พยายามส่งข้อมูลการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของ ปตท. ไปให้ศาลพิจารณา เข้าใจว่าศาลไม่ได้นำข้อมูลของ สตง. ประกอบการพิจารณา เพราะหนังสือของ สตง. ส่งมาถึงศาลวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อข้อมูลส่งไปให้ศาลพิจารณาไม่ทัน ทางออกสุดท้ายของ สตง. คือต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ใครผิด ใครถูก ต้องรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา” นายพิศษฐ์กล่าว

นายพิศิษฐ์กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ สตง. ตั้งเป็นข้อสังเกต คือ กฎหมายให้ความคุ้มครองในเรื่องความปลอดภัย หรือคุ้มครองทรัพย์สินของ ปตท. ยกตัวอย่าง ชาวประมง เรือทั่วไปจะไปจอดเรือหรือทอดสมอบริเวณแนวท่อก๊าซไม่ได้ เพราะอาจจะทำให้ท่อก๊าซได้รับความเสียหาย เกิดภัยพิบัติ ขณะเดียวกัน ก็มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่าเฮลิคอปเตอร์สำรวจแนวท่อก๊าซ หากพบว่ามีเรือมาทอดสมอ ก็ต้องแจ้งให้หน่วยงานทางทะเลแจ้งให้เรือที่จอดออกจากแนวท่อ ประเด็นคือ มีการใช้กฎหมายสาธารณะมาดูแลความปลอดภัยหรือคุ้มครองทรัพย์สิน หากคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าเป็นการดูแลความปลอดภัย ไม่เกี่ยวกับเรื่องคุ้มครองทรัพย์สิน ก็จบ

“ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะชี้ให้เห็น คือ ท่อหรือสิ่งปลูกสร้างทางทะเล หากไม่มีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง บริษัทเอกชนทั่วไปสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ต้องขออนุญาตหรือขอสัมปทานหรือไม่ หากมีการใช้อำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ควรจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย” ผู้ว่า สตง. คนใหม่กล่าวทิ้งท้าย