ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปรียบเทียบเงินเดือน “คมช. – คสช.” หลังรัฐประหาร 2549/ 2557 นายกรัฐมนตรี-ประธาน สนช. ได้เท่ากัน 125,590 บาท

เปรียบเทียบเงินเดือน “คมช. – คสช.” หลังรัฐประหาร 2549/ 2557 นายกรัฐมนตรี-ประธาน สนช. ได้เท่ากัน 125,590 บาท

14 พฤศจิกายน 2014


หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอํานาจการปกครองประเทศ เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยให้คงใช้บังคับอยู่เฉพาะหมวด 2 พระมหากษัตริย์ และต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และมีบทบัญญัติส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

บทบัญญัติเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น กำหนดให้ต้องมีการเตรียมการเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดสําหรับการวางกติกาทางการเมืองการปกครองให้เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย โดยกําหนดให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง มีหน้าที่ในการจัดทําร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสนอเพื่อให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนประกาศใช้บังคับต่อไป

สำหรับที่มาและองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2557 นี้ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จํานวน 36 คน ประกอบด้วย ประธานคณะกรรมาธิการ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ 1 คน สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอ 20 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอ 5 คน คณะรัฐมนตรีเสนอ 5 คน และคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนออีก 5 คน

สำหรับต้นทุนค่าตอบแทนของบุคลาการ ที่ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินหลังรัฐประหาร ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งของ คสช. สภานิติบัญญัตแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในช่วงปี 2557(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

โครงสร้างรายได้สนช. สปช.

ในประกาศพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตำแหน่ง พ.ศ. 2557 ตามมาตรา 22 และ 40 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 131 ตอนที่ 75 ก หน้า 13-16 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557

โดยตัวเลขผลตอบแทนใน พ.ร.ฎ. ดังกล่าวนั้น เป็นการยึดโยงมาจากพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของ ส.ส. ส.ว. และกรรมาธิการ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2554 ที่ใช้ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้ว

ในมาตรา 3 ของ พ.ร.ฎ. เงินประจำตำแหน่งฯ พ.ศ. 2557 กำหนดให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (หัวหน้า คสช.) ได้เงินประจำตำแหน่ง 75,590 บาท/เดือน เงินเพิ่ม 50,000 บาท/เดือน เท่ากับ 125,590 บาท/เดือน
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้งหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีได้เงินเดือนรวมในปัจจุบัน 125,590 บาท (ต้องเลือกรับเงินเดือนตำแหน่งเดียว)

สำหรับเงินเดือนผู้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการของทุกกระทรวง และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับเงินเดือน 73,240 บาทต่อเดือน และเงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาทต่อเดือน รวม 115,740 บาท

เงินเดือนรัฐมนตรีช่วยว่าการทุกกระทรวง คือ 72,060 บาท บวกเงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท รวมได้ 113,560 บาท

สำหรับ ผู้ดำรงตําแหน่งอื่นใน คสช. ได้เงินประจำตำแหน่ง 74,420 บาท/เดือน เงินเพิ่ม 45,500 บาท/เดือน เท่ากับ 119,920 บาท/เดือน ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับประธานวุฒิสภา

ประธาน สปช. ได้เท่ากับผู้ดำรงตําแหน่งอื่นใน คสช. คือ เงินประจำตำแหน่ง 74,420 บาท/เดือน เงินเพิ่ม 45,500 บาท/เดือน เท่ากับ 119,920 บาท/เดือน รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท/เดือน เงินเพิ่ม 42,500 บาท/เดือน 115,740 บาท/เดือน ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับรองประธานสภาผู้แทนฯ และรองประธานวุฒิสภา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท/เดือน เงินเพิ่ม 42,330 บาท/เดือน เท่ากับ 113,560 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนฯ และสมาชิกวุฒิสภา

ประธาน สนช. ได้เงินประจำตำแหน่ง 75,590บาท/เดือน เงินเพิ่มอีก 50,000บาท/เดือน รวม 125,590 บาท/เดือน โดยได้รับอัตราเดียวกับประธานสภาผู้แทนฯ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้เท่ากับรองประธาน สปช. นั่นคือ เงินประจำตำแหน่ง 73,240 บาท/เดือน เงินเพิ่ม 42,500 บาท/เดือน 115,740 บาท/เดือน ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับรองประธานสภาผู้แทนฯ และรองประธานวุฒิสภา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท/เดือน เงินเพิ่ม 42,330 บาท/เดือน เท่ากับ 113,560 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนฯ และสมาชิกวุฒิสภา

กรรมาธิการ สปช. และกรรมาธิการ สนช. ไม่มีเงินเดือน แต่ได้รับเบี้ยประชุม 1,500 บาท/ครั้ง อนุกรรมาธิการของ สปช. และอนุกรรมาธิการของ สนช. ไม่มีเงินเดือนเช่นกัน แต่ได้รับเบี้ยประชุม 800 บาท/ครั้ง พร้อมได้รับสิทธิ์ค่าใช้จ่ายเดินทางไปราชการภายในราชอาณาจักร เดียวกับข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม

ตำแหน่งประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีเงินเดือน แต่ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 9,000 บาท กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ครั้งละ 6,000 บาท

วันใดมีการประชุมหลายครั้งให้ได้รับเบี้ยประชุมเพียงครั้งเดียว กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือผู้ทําหน้าที่ประธานซึ่งมิได้เป็นผู้ดํารงตําแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละห้าสิบของค่าตอบแทนที่พึงได้รับตามวรรคหนึ่ง

โดยประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการ สนช. และกรรมาธิการ สปช. ได้รับสิทธิ์ค่าใช้จ่ายเดินทางไปราชการภายในราชอาณาจักร เดียวกับข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง

ย้อนดูรายได้ของ คมช. – สนช. – สภาร่างรัฐธรรมนูญ หลังรัฐประหาร 2549

เมื่อคราวรัฐประหารปี 2549 มีการออกพระราชกฤษฎีกาเงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานสภาและรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการยกรางรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการ และผู้ดำรงตําแหน่งในคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

ในขณะนั้นเป็นยุคของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ซึ่งเป็นคณะรัฐประหารนำโดย พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2549 คปค. จึงแปรสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. โดย พล.อ. สนธิ ดำรงตำแหน่งประธาน คมช. เอง (แต่หลังจาก พล.อ. สนธิ ลาออกจากประธาน คมช. เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2550 พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข จึงขึ้นเป็นรักษาการประธาน คมช. แทน)

ก้อนที่ 1 สำหรับประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ ประธาน คมช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 69,220 บาท เงินเพิ่ม 50,000 บาท เท่ากับ 119,220 บาท สำหรับรองประธาน คมช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 68,140 บาท เงินเพิ่ม 45,500 บาท เท่ากับ 113,640 บาท ส่วนสมาชิก คมช. รายอื่น ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 67,060 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท เท่ากับ 109,560 บาท

ก้อนที่ 2 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือประธาน สนช. ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเท่ากับประธานรัฐสภาในอดีต โดยได้รับเงินประจำตำแหน่ง 65,920 บาท และเงินเพิ่มอีก 50,000 บาท เท่ากับเงิน 115,920 บาท รองประธานสภา สนช.ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 64,890 บาท เงินเพิ่ม 45,500 บาท เท่ากับ เท่ากับ 110,390 บาท สมาชิก สนช. ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 62,000 บาท และเงินเพิ่ม 42,330 บาท เท่ากับ 104,330 บาท

ก้อนที่ 3 ส่วนประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับเงินประจำตำแหน่ง 64,890 บาท เงินเพิ่ม 45,500 บาท เท่ากับ 110,390 บาท รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญได้รับเงินประจำตำแหน่ง 63,890 บาท เงินเพิ่ม 42,500 บาท เท่ากับ 106,390 บาท และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้รับเงินประจำตำแหน่ง 62,000 บาท เงินเพิ่ม 42,330 บาท เท่ากับ 104,330 บาท

กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการ สนช. ไม่มีเงินเดือน แต่ได้รับเบี้ยประชุม 1,000 บาท/ครั้ง

อนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ อนุกรรมาธิการ สนช. และอนุกรรมาธิการสภารางรัฐธรรมนูญ ไม่มีเงินเดือนเช่นกัน แต่ได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 500 บาท

เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ ได้รวมตัวเลขการใช้จ่ายช่วงร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 35 คน มีเงินเดือนรวมกัน 36,631,400 บาท เป็นค่าตอบแทน (เบี้ยประชุม) 586,684,600 บาท แยกเป็นค่าเบี้ยประชุมกรรมการและอนุกรรมการ 12,508,300 บาท ค่าเบี้ยประชุม กมธ. สภาร่างรัฐธรรมนูญ 21,360,000 บาท ค่าเบี้ยประชุม กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ 5,040,000 บาท ค่าเบี้ยประชุมคณะอนุ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ 4,320,000 บาท ค่าเบี้ยประชุม กมธ. วิสามัญประจำจังหวัดของสภาร่างรัฐธรรมนูญ 34,200,000 บาท

งบดำเนินงานมียอดรวมทั้งสิ้น 678,694,200 บาท ในยอดดำเนินการนั้นยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าตอบแทนพิเศษตามโครงการประเมินผลการปฏิบัติการราชการ ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ค่าอาหาร-ค่าทำการนอกเวลา เกินกว่าพันล้านบาท เป็นสิ่งที่เสียไปจากการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นอกจากนี้ยังมีค่าทำประชามติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 อีก 1,900 ล้านบาท