ThaiPublica > คอลัมน์ > นโยบายคืนความสุขของคนในชาติในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ความสุข

นโยบายคืนความสุขของคนในชาติในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ความสุข

25 พฤศจิกายน 2014


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

เมื่อตอนเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้รับข้อความ facebook จากเพื่อนของผมคนหนึ่งที่เมืองไทยว่า “รึบๆ กลับมาเมืองไทยซะ เพราะว่านายกำลังจะมีงานทำเเล้ว” พอผมถามกลับไปว่าทำไม มันเกิดอะไรขึ้นที่เมืองไทย เพื่อนของผมก็ตอบกลับมาอย่างทันควันว่า

“นายกพึ่งออกมาอภิปรายเรื่องนโยบายคืนความสุขของคนในชาติเมื่อตะกี้นี้เอง!”

….

ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา งานวิจัยส่วนใหญ่ของผมมักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องแค่ไม่กี่เรื่อง อย่างเช่นเรื่องเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม เศรษฐศาสตร์การศึกษา และเศรษฐศาสตร์สุขภาพ เป็นต้น เเต่เรื่องที่ตัวผมได้ให้ความสนใจเเละความสำคัญกับมันมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของเศรษฐศาสตร์ความสุข

เศรษฐศาสตร์ความสุขไม่ใช่เรื่องอะไรที่ใหม่ ที่ทำงานของผมที่ London School of Economics รวมทั้งสำนักงานคณะรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษต่างก็ได้ให้ความสนใจกับการวิจัยในเเขนงนี้มานานกว่าสิบปี ตัวผมและนักวิจัยในสายเศรษฐศาสตร์ความสุขคนอื่นๆ ที่นี่ต่างก็มีความมุ่งมั่นที่คล้ายๆ กัน นั่นก็คือการที่จะนำผลของการวิจัยของเราไปใช้ในการเเนะนำรัฐบาลอังกฤษในการออกเเบบนโยบายความสุขของคนในประเทศนี้

ผมคิดว่าอาจจะยังมีคนไทยอยู่หลายคนที่ไม่ทราบ หรือกำลังเข้าใจผิด ว่าเศรษฐศาสตร์ความสุขจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร เเละหน้าตาของนโยบายความสุขที่มาจากการวิจัยจริงๆ นั้นควรเป็นเเบบไหน ผมจึงถือโอกาสในตอนนี้เพื่อที่จะมาเล่าให้คุณผู้อ่านทราบกันว่า ขั้นตอนของการขับเคลื่อนนโยบายความสุขของประเทศอังกฤษนั้นจริงๆ เเล้วมีอะไรบ้าง

ขั้นตอนที่ 1: มีการสุ่มเก็บข้อมูลความสุขของคนในประเทศอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2553 นายเดวิด แคเมอรอน นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษคนปัจจุบัน ได้ทำการกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวความเป็นอยู่ที่ดี หรือ well-being ของคนในประเทศของเขาว่า

“ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่พวกเราทุกคนควรต้องทำการยอมรับกันเเล้วว่า เงินไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดของชึวิต และเราก็ไม่ควรที่จะวัดค่าของชีวิตของคนด้วยเม็ดเงิน เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็ไม่ควรที่จะเน้นความสนใจของรัฐไปอยู่เเค่กับการพัฒนาจีดีพี (GDP) ของประเทศเพียงอย่างเดียว รัฐบาลที่ดีควรที่ให้ความสำคัญในการที่จะสร้างนโยบายซึ่งนำมาถึงการพัฒนาความสุขทั่วไปของประชาชนด้วย”

หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน สำนักงานสถิติเเห่งชาติก็เริ่มทำการสุ่มเก็บข้อมูลความสุขของคนอังกฤษจากทั่วท้องประเทศอย่างน้อยเดือนละครั้ง ซึ่งข้อมูลความสุขเหล่านี้เป็นตัวเลขที่ได้มาจากการตอบคำถามสี่ข้อด้วยกันคือ

1) ในชีวิตของคุณ คุณมีความพึงพอใจกับชีวิต (life satisfaction) ของคุณมากน้อยเเค่ไหน 1 = น้อยที่สุด เเละ 7 = มากที่สุด
2) เมื่อวานคุณมีความสุข (happiness yesterday) มากน้อยแค่ไหน
3ชีวิตของคุณมีความหมาย (worthwhile) มากน้อยแค่ไหน
4) เมื่อวานคุณมีความกังวล (anxiety yesterday) มากน้อยแค่ไหน

คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าการสุ่มเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความสุขของคนในหลายๆ ด้านอย่างนี้มีประโยชน์อย่างไร ความสุขมันวัดกันได้ง่ายขนาดนี้เลยเหรอ แล้วเราสามารถนำมันมาใช้ทำอะไรได้บ้าง

ถึงเเม้ว่าจะไม่เพอร์เฟกต์ เเต่ก็ได้มีการพิสูจน์ออกมาอย่างนับครั้งไม่ถ้วนเเล้วว่าข้อมูลความสุขเหล่านี้มีความสัมพันธ์สำคัญกับตัวบ่งชี้ในชีวิตของเราหลายอย่าง โดยข้อมูลความสุขเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการทำนายว่าสุขภาพร่างกายของเราในอนาคตจะเป็นอย่างไร โอกาสที่เราจะลาออกจากงานหรือโอกาสที่เราจะหย่ากับภรรยา/สามีของเราในอนาคตมีมากน้อยเเค่ไหน หรือเเม้เเต่กระทั่งโอกาสที่เราจะมีอายุยืนเกินแปดสิบปีมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ พูดง่ายๆ ก็คือ ข้อมูลความสุขเหล่านี้ ถึงจะไม่ดีเลิศ เเต่ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่ไม่มีความหมาย เพราะสามารถนำมาใช้สะท้อนได้ถึงความสุขข้างในของเราจริงๆ และสำหรับรัฐบาลที่ใส่ใจในความสุขของประชาชนมากกว่าสิ่งอื่นใด การมีข้อมูลสถิติความสุขที่ได้มาจากการเก็บอย่างสม่ำเสมอเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการมีทองคำดีๆ อยู่ในความครอบครองนี่เอง

ขั้นตอนที่ 1: มีการวิจัยและประเมินผลของข้อมูลความสุขอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

อันที่จริงเเล้วประเทศไทยก็มีการสุ่มเก็บข้อมูลความสุขอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลความสุขที่เอแบคโพลล์หรือที่สวนดุสิตโพลเก็บมาอยู่เกือบทุกเดือน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ข้อมูลความสุขเหล่านี้นั้น 1) ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลของข้อมูลความสุข และ 2) ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการทำวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เเละผลที่ออกมาในสื่อจากการที่ไม่ได้มีการทำวิจัยอย่างถูกต้องก็ค่อนข้างจะเป็นผลที่ลำเอียงเเละมี underlying agenda ของมัน

หลักการวิจัยสำคัญในการหาตัวเเปลความสุขที่จะสามารถนำมาใช้ในการออกเเบบนโยบายของรัฐบาลนั้น จริงๆ เเล้วมีอยู่เเค่ข้อเดียว นั่นก็คือความสัมพันธ์ระหว่าง ก กับ ข ไม่ได้หมายความว่า ก เป็นสาเหตุที่ทำให้ ข เกิดขึ้น (หรือในภาษาอังกฤษก็คือ “correlation does not imply causation”) เสมอไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเห็นคนที่รวยกว่าบอกว่าเขามีความสุขมากกว่าคนที่จนกว่า เราก็อาจจะสรุปไปว่าเงินนั้นสามารถใช้ซื้อความสุขได้ เเต่ความเป็นจริงเเล้วนั้นอาจจะเป็นไปได้ที่ว่าเงินไม่สามารถใช้ซื้อความสุขได้เลย เเต่ความสุขที่เรามีอยู่เเล้วนั้นเป็นสิ่งที่ส่งผลให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่มีความสุขน้อยกว่าเรา ซึ่งก็ส่งผลให้เรามีรายได้ที่มากกว่าคนอื่นเขา เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดที่ข้อมูลความสุขเหล่านี้จำเป็นต้องผ่านการวิจัยตามหลักวิชาการอย่างถูกต้องในการเเยกเเยะว่าอะไรคือ correlation เเละอะไรคือ causation ก่อนที่รัฐบาลจะสามารถนำมันมาใช้เป็นตัวนำในการออกเเบบนโยบายความสุขต่างๆ นานา

มาถึงจุดนี้ผมขอยกตัวอย่างผลของการวิจัยสำคัญๆ บางชิ้นที่ 1) ผ่านการวิจัยอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ 2) ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการคนอื่นๆ เเละตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ และ 3) ที่สามารถนำไปใช้เเนะนำรัฐบาลในการออกเเบบนโยบาย มาเล่าให้ฟังกันนะครับ

อัตราการว่างงาน (unemployment rate) ของประเทศมีผลกระทบทางด้านลบกับความพอใจกับชีวิตของคนในประเทศมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ (inflation) ประมาณ 1.6 เท่า ซึ่งหมายความว่า การสันนิษฐานเดิมๆ ที่ว่าน้ำหนักของอัตราการว่างงานมีค่าเท่ากันกับน้ำหนักของอัตราเงินเฟ้อในการคำนวน Misery Index ของเเบงก์ชาติอาจจะผิด

คนเรามักชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่มีฐานะใกล้ตัวเองมากกว่าคนที่มีฐานะที่เเตกต่างกันเยอะ พูดอีกอย่างก็คือ คนที่จนที่สุดในการจัดลำดับการกระจายรายได้ของประเทศ (bottom 10%) มักจะไม่เอาตัวเองเข้าไปเปรียบเทียบกับคนที่รวยที่สุด (top 10%) เเต่มักจะเปรียบเทียบกับคนที่ใกล้ตัวในเชิงรายได้เสียมากกว่า เพราะฉะนั้น การออกนโยบายที่จะนำไปใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำของคนก็ควรจะโฟกัสกับการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในท้องถิ่นเดียวกันก่อน ก่อนที่จะไปโฟกัสกับการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในทั้งประเทศ

คนเราส่วนใหญ่ใช้เวลาเพียงเเค่ปีเดียวในการปรับสภาพจิตใจให้กลับมาเหมือนเดิมจากการสูญเสียคนที่รักไป เเต่ไม่สามารถปรับสภาพจิตใจให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้จากการไม่มีงานทำไม่ว่าจะกี่ปีก็ตาม เเละเพราะเงินไม่สามารถใช้ซื้อความสุขได้มากนัก นโยบายที่อาจจะสำคัญมากกว่านโยบายการเพิ่มเงินเดือนของคนทุกคนก็คือนโยบายที่รับประกันว่าทุกๆ คนที่อยากทำงานมีงานทำมากกว่า

ถ้าทุกอย่างเหมือนกันหมด เด็กที่มีสุขภาพจิตดีกว่าเด็กปกติธรรมดาประมาณเท่าตัวหนึ่งมีโอกาสที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตเรื่องความสุขมากกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะที่ดีกว่าเด็กปกติธรรมดาประมาณเท่าตัวหนึ่ง เพราะฉะนั้น นโยบายที่ใช้ในการพัฒนาเด็กเล็กก็ควรที่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาสุขภาพจิตของเด็ก “ไม่เท่ากันก็มากกว่า” ความสำคัญที่ให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของครอบครัวของเด็ก

ขั้นตอนที่ 3: การนำผลวิจัยเหล่านี้ไปใช้ในการเขียนหนังสือ หรือ White Paper เเนะนำนโยบายต่างๆ ให้กับนักการเมืองในรัฐสภา

ที่จริงขั้นตอนในการขับเคลื่อนนโยบายความสุขที่ประเทษอังกฤษ เเละประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศทั่วโลก ก็มีเเค่นี้เเหละครับ อาจจะฟังดูช้าเเละไม่ทันใจประชาชนคนไทยหลายท่าน เเต่ว่านโยบายส่วนใหญ่ที่ออกมาเเล้ว หรือที่กำลังจะออกมานั้น ทางรัฐบาลสามารถรับประกันได้ว่าต่างก็เป็นนโยบายที่มีหลักฐานสากลรองรับในเรื่องประสิทธิภาพด้วยกันทั้งนั้น

ผมทราบดีว่านโยบายคืนความสุขของคนในประเทศไทยในตอนนี้จะกลั่นมาจาก “ความรู้สึก” มากกว่าการวิจัยเเละการพิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์เสียส่วนใหญ่ ซึ่งก็อาจจะโอเคในระยะสั้น เเต่ถ้าเราต้องการให้ประเทศไทยของเรามีการพัฒนาระยะยาวเเล้วละก็ ขั้นตอนสองขั้นตอนเเรกที่ผมเอ่ยขึ้นนั้น (มีการสุ่มเก็บข้อมูลความสุขของคนในประเทศอย่างสม่ำเสมอ เเละมีการวิจัยและประเมินผลของข้อมูลความสุขอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ) จึงเป็นอะไรที่ขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาดในการร่างนโยบาย ไม่ว่านโยบายนั้นๆ จะเป็นนโยบายความสุข หรือจะเป็นนโยบายอื่นๆ ก็ตาม

อ้างอิง
1. Office of National Statistics (ONS)’s Wellbeing data (http://www.ons.gov.uk/ons/guide-method/user-guidance/well-being/index.html)

2. Di Tella, R., MacCulloch, R. J., & Oswald, A. J. (2001). Preferences over inflation and unemployment: Evidence from surveys of happiness. American Economic Review, 335-341.

3. Oswald, A. J., & Powdthavee, N. (2008). Does happiness adapt A longitudinal study of disability with implications for economists and judges. Journal of public economics, 92(5), 1061-1077.

4. Layard, R., Clark, A. E., Cornaglia, F., Powdthavee, N. and Vernoit, J. (2014), What Predicts a Successful Life A Life-course Model of Well-being. The Economic Journal, 124: F720–F738.