ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “พล.อ. ประยุทธ์” สั่งล้มแผนน้ำ 9 โมดูล 3.5 แสนล้าน อนุมัติจัดซื้อ-จัดจ้างใหม่แบบ e-market อ้าง e-auction ทำช้า

“พล.อ. ประยุทธ์” สั่งล้มแผนน้ำ 9 โมดูล 3.5 แสนล้าน อนุมัติจัดซื้อ-จัดจ้างใหม่แบบ e-market อ้าง e-auction ทำช้า

25 พฤศจิกายน 2014


การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน มีการอนุมัติโครงการ งบประมาณ และแผนงาน ดังนี้

ล้มแผนประมูลน้ำ 9 โมดูล 3.5 แสนล้าน

คณะรัฐมนตรี สั่งยกเลิกประมูลแผนบริหารจัดการน้ำ 9 โมดูลของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มูลค่าการลงทุน 3.5 แสนล้านบาท โดย พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ ทั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี แสดงความไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติแผนบริหารจัดการน้ำตามที่ พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เสนอ

โดยที่มาของการนำเสนอแผนแม่บทในการจัดการน้ำครั้งนี้ มาจากการยุติบทบาทของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำชุดเดิมของรัฐบาลชุดที่แล้ว และสั่งการให้หน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน รายงานแผนการบริหารจัดการน้ำที่จัดทำขึ้นมาใหม่ แต่เมื่อ พล.อ. ฉัตรชัย นำแผนดังกล่าวมารายงาน คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายคน รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มีความเห็นร่วมกันว่าให้ไปจัดกลุ่มแผนงานบริหารจัดการน้ำใหม่ให้ชัดเจน และมีการจัดตัวเลขงบประมาณใส่ประกอบ เกรงว่าจะทำให้ประชาชนมีความสับสน

ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง ได้รับคำถามจากนักธุรกิจหลายประเทศว่า โครงการจัดการน้ำจะได้เริ่มดำเนินการเมื่อไร ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ พล.อ. ฉัตรชัย เร่งนำแผนแม่บทกลับมานำเสนอโดยเร็ว เพื่อให้โครงการเห็นผลเริ่มดำเนินการได้ในปี 2558

“ในที่ประชุม ครม. รัฐมนตรีหลายคนรู้สึกสับสน เมื่อหน่วยงานต่างๆ รายงานเรื่องบริหารจัดการน้ำ และระบุตัวเลขงบประมาณของโครงการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าไม่ได้มีการจัดกลุ่มงาน และกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องตัวเลข ที่อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเหมือนโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่รัฐบาลเดิมกำหนดไว้ 2.2 ล้านล้านบาท แต่พูดกันไปมาจนกลายเป็นรัฐบาลนี้จะทำใหม่วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท  จึงให้ไปจัดกลุ่มงาน แบ่งเป็น น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค, การกักเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงที่เกิดภัยแล้ง, มาตรการป้องกันน้ำท่วม, การปรับปรุงคุณภาพน้ำ และการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อความง่ายที่จะอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจ” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

ส่วนแผนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเดิมที่จัดประมูล 9 โมดูลนั้น ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณให้ความเห็นประกอบการพิจารณาว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วยังไม่มีผลผูกพัน เพราะยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญากับบริษัทเอกชน  ทุกอย่างที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้จึงสามารถยกเลิกได้หมด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงเห็นร่วมกันว่าให้ยกเลิกที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ทั้งหมด  อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 นั้น แม้บางส่วนจะใช้ไปแล้ว แต่ในส่วนที่เหลือยังให้คงไว้ เพื่อรอดูแผนบริหารจัดการน้ำใหม่ว่ามีความสอดคล้องที่จะใช้วงเงินในส่วนนี้หรือไม่ หากมีส่วนใดที่ใช้วงเงินดังกล่าวได้ก็จะใช้ส่วนนี้  แต่จะเน้นการใช้งบประมาณรายปีเป็นหลักก่อน ขณะที่บริษัทที่เคยชนะการประมูลในแต่ละโมดูลตามโครงการเดิม ก็ยังมีสิทธิ์ที่จะเข้าร่วมโครงการที่จะจัดทำใหม่นี้อยู่ หากมีความสอดคล้องกับแผนงานฉบับใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre

อนุมัติจัดซื้อ-จัดจ้างโดยอิงราคาตลาด

คณะรัฐมนตรี อนุมัติการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market: e-market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding: e-bidding) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากแนวทางเดิมที่เคยใช้ระบบ e-auction (ระบบการจัดซื้อ-จัดจ้างภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์) มีขั้นตอนล่าช้า เน้นราคาต่ำเป็นหลัก ไม่ได้พิจารณาคุณภาพ โดยจะให้คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) กำหนดส่วนราชการนำร่องเพื่อให้ดำเนินการ

โดยมีแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างแบบใหม่ ผ่านระบบ e-market มีขั้นตอนการเสนอราคาโดยใบเสนอราคา (Request For Quotation: RFQ) ครั้งหนึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 5,000,000 บาท ซึ่งผู้เสนอราคาสามารถเสนอราคาผ่านระบบ e–GP ในวันและเวลาทำการที่ส่วนราชการกำหนด เมื่อถึงกำหนดวันเสนอราคา ผู้เสนอราคาสามารถเสนอราคาได้เพียงครั้งเดียวโดยผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะการเสนอราคา หากมีผู้เสนอราคาต่ำสุดเท่ากันหลายราย ให้พิจารณาผู้เสนอราคารายต่ำสุดที่เสนอราคาเข้ามาในระบบ e–GP ลำดับแรกเป็นผู้ชนะการเสนอราคาครั้งนั้น

ส่วนการเสนอราคา โดยการประมูลอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ การจัดหาพัสดุครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 5,000,000 บาท ซึ่งผู้เสนอราคาสามารถเสนอราคาผ่านระบบ e–GP ในวันและเวลาทำการที่ส่วนราชการกำหนด เมื่อถึงกำหนดวันเสนอราคา ผู้เสนอราคาสามารถเสนอราคาได้หลายครั้งภายในเวลา 30 นาที ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดจะมีสัญลักษณ์ปรากฏบนหน้าจอ ในกรณีมีผู้เสนอราคาต่ำสุดเท่ากันหลายรายให้พิจารณาผู้เสนอราคารายต่ำสุดที่เสนอราคาเข้ามาในระบบ e–GP ลำดับแรกเป็นผู้ชนะการเสนอราคาครั้งนั้นเช่นกัน

ส่วนการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ผู้เสนอราคาสามารถเสนอราคาผ่านระบบ e–GP ในวันและเวลาทำการที่ส่วนราชการกำหนด ซึ่งหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้เสนอราคาที่ชนะการเสนอราคานั้น ส่วนราชการสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ได้ 2 ลักษณะ คือ 1. หลักเกณฑ์ราคา (price) การตัดสินผู้ชนะการเสนอราคาตัดสินจากผู้ที่เสนอราคารายต่ำสุด กรณีมีผู้เสนอราคารายต่ำสุดเท่ากันหลายรายให้พิจารณาผู้เสนอราคารายต่ำสุดที่เสนอราคาเข้ามาในระบบ e–GP ก่อนเป็นผู้ชนะการเสนอราคาครั้งนั้น

หลักเกณฑ์ข้อที่ 2. การประเมินค่าประสิทธิภาพต่อราคา (price performance) เป็นเกณฑ์การพิจารณาค่าประสิทธิภาพต่อราคา ในกรณีที่ส่วนราชการเห็นว่า คุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะจัดหานั้น มิใช่พิจารณาจากพัสดุโดยใช้เกณฑ์ราคาเพียงอย่างเดียว แต่ควรจะนำการประเมินค่าประสิทธิภาพมาเปรียบเทียบกับราคาเป็นสำคัญ อันจะทำให้ส่วนราชการได้พัสดุที่มีคุณภาพดี โดยการตัดสินผู้ชนะการเสนอราคาจากผู้ที่มีคะแนนรวมสูงสุด มิใช่พิจารณาจากผู้เสนอราคารายต่ำสุดกรณีมีผู้เสนอราคา หากได้คะแนนสูงสุดเท่ากันหลายราย ให้พิจารณาคัดเลือกผู้เสนอราคาที่ได้คะแนนสูงสุดในตัวแปรหลักที่มีน้ำหนักมากที่สุดเป็นผู้ชนะการเสนอราคา และให้พิจารณาคัดเลือกผู้เสนอราคาที่เข้ามาในระบบ e–GP ในลำดับแรกเป็นผู้ชนะการเสนอราคา

ยกเว้นค่าธรรมเนียมผู้ขอตั้งโรงงาน 3 จว.ชายแดนใต้

คณะรัฐมนตรี เห็นชอบและอนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเว้นค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ที่โรงงานตั้งอยู่ในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา รวม 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมทุกประเภทที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ได้แก่ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือใบอนุญาตขยายโรงงาน ใบแทนใบอนุญาต และการต่ออายุใบอนุญาตที่เรียกเก็บในวันที่ออกใบอนุญาตหรือใบอนุญาตขยายโรงงาน ใบแทนใบอนุญาตหรือยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต แล้วแต่กรณี และค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามกำหนดเวลาที่ต้องชำระในระหว่างปี พ.ศ. 2558 ถึงปี พ.ศ. 2562 แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าว

อนุมัติ อสมท ลงทุนโครงข่ายรองรับทีวีดิจิทัล

คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการงบลงทุนโครงการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล และให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,480 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยงบลงทุนสำหรับ 2 โครงการ คือ  โครงการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล วงเงิน 752 ล้านบาท และโครงการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ วงเงิน 728  ล้านบาท 

อนุมัติสินเชื่อชะลอการขายข้าว 2 ล้านตัน

คณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่จะเพิ่มปริมาณข้าวที่เข้าร่วมโครงการ “สินเชื่อชะลอการขาย” ข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2557/2558  อีก 5 แสนตัน จาก 1.5 แสนตัน เป็น 2 แสนตัน และเพิ่มวงเงินสำหรับการชดเชยดอกเบี้ยและบริหารจัดการตามโครงการเป็น 2,796.07 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องประเมินผลการให้สินเชื่อตามโครงการอย่างใกล้ชิด หากประเมินแล้วพบว่าระหว่างดำเนินโครงการราคาข้าวหอมมะลิในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ปริมาณข้าวเข้าร่วมโครงการที่จะเพิ่มขึ้น 5 แสนตัน อาจจะไม่จำเป็น ให้คงไว้ที่ 1.5 ล้านตัน 

จูงใจนักธุรกิจตั้งสำนักงานในประเทศไทย

คณะรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Head Quarter: IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Company: ITC) ในประเทศไทย ตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยการลดและยกเว้นภาษี ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมถึงภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย รวมทั้งมีมาตรการอื่นที่ไม่ใช่ภาษีและการอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน เพื่อเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาจัดตั้ง IHQ และ ITC ไทยให้มากขึ้น ซึ่งสิทธิประโยชน์นี้เทียบเท่ากับสิงคโปร์ แต่ประเทศไทยได้เปรียบมากกว่า เพราะเป็นศูนย์กลางภูมิภาคอาเซียน โดยจะมีผลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป 


ทั้งนี้นักลงทุนต่างประเทศที่จะจัดตั้ง IHQ ในประเทศไทยจะได้รับการยกเว้นหรือลดภาษีที่เป็นรายได้จากค่าบริการ ค่าสิทธิ เงินปันผลจากวิสาหกิจในเครือ, ได้รับการยกเว้นภาษี หัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินปันผลที่จ่ายโดย IHQ ไปยังต่างประเทศ, ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับยอดขายจากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศ, ลดอัตราภาษีเหลือ 10% สำหรับยอดขายจากการจัดซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางในประเทศและขายให้กับวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศเพื่อใช้ในการผลิต รวมทั้งลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับคนต่างด้าวระดับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้บริหารระดับสูงใน IHQ เหลือ 15% และยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการให้กู้ต่อแก่วิสาหกิจในเครือทั้งในและต่างประเทศ


และยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย สำหรับดอกเบี้ยจากการให้กู้ต่อแก่วิสาหกิจในเครือทั้งในและต่างประเทศ ส่วนกรณีของ ITC นั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับยอดขายจากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศ รวมถึงการลดภาษีเหลือ 10% สำหรับยอดขายจากการจัดซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุดิบหรือสินค้าขั้นกลางในประเทศและขายให้กับวิสาหกิจในเครือต่างประเทศเพื่อใช้ในการผลิต ได้รับการยกเว้นภาษี หัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินปันผลที่จ่ายโดย ITC ไปยังต่างประเทศ


นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งปรับปรุงระเบียบการอนุญาต การออกวีซ่า และใบอนุญาตทำงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการจัดตั้ง IHQ และ ITC รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอจะไปจัดทำโครงการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ สำหรับทั้ง 2 กิจการต่อไป 


อนุมัติร่างเอ็มโอยูรถไฟไทย – จีน

คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างการบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในการพัฒนารถไฟระหว่างประเทศไทย-จีน ขนาดรางมาตรฐาน ความกว้าง 1.435 เมตร (แสตนดาร์ดเกต) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยขั้นตอนต่อจากนี้ จะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบก่อนไปลงนามร่วมกันอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ในขั้นตอนการดำเนินงานว่าจะร่วมมือกันหรือมีรูปแบบความร่วมมืออย่างไรนั้น จะต้องไปหารือกันในระดับคณะกรรมการของทั้งสองประเทศต่อไป

สำหรับรายละเอียดของร่างเอ็มโอยูไทย-จีน ด้านการพัฒนารถไฟ มีสาระสำคัญคือการร่วมมือสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 731 กิโลเมตร และเส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กิโลเมตร ซึ่งเป็นความร่วมมือในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวร่วมกัน ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนความร่วมมือตามกรอบเอ็มโอยูฉบับดังกล่าว โดยทางฝ่ายไทยมอบหมายให้ พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ส่วนฝ่ายจีนจะมีประธานคณะกรรมมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เป็นประธานร่วมกับฝ่ายไทย

จากนี้ไป คณะกรรมการทั้งสองฝ่ายจะทำหน้าที่ประสานงานร่วมกัน และยังให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมมือ ตั้งแต่การเจรจารายละเอียดโครงการว่าจะทำในรูปแบบใดบ้าง รวมถึงงานด้านการสำรวจออกแบบเส้นทาง แนวทางร่วมมือในการก่อสร้างฐานรางรถไฟ โดยใช้กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง โดยเฉพาะในเรื่องของการร่วมทุนกัน ซึ่งตามกรอบของเอ็มโอยูฉบับดังกล่าว เมื่อได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องเสนอให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาเห็นชอบ

นอกจากนั้น ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบร่างเอ็มโอยูความร่วมมือในด้านสินค้าเกษตรไทย-จีน ซึ่งจีนสนใจที่จะซื้อข้าวและยางพาราจากไทย เพื่อเป็นการสานความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน ที่จะครบรอบ 40 ปี ในปีหน้า ซึ่งตามข้อตกลงตอนนี้ยังไม่ได้ระบุปริมาณของสินค้าเกษตรที่จีนจะซื้อจากไทย เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์จะรับหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการพิจารณารายละเอียดของข้อตกลงดังกล่าวอีกครั้ง ว่าจะขายข้าวและยางให้จีนจำนวนเท่าใด

อย่างไรก็ตาม เอ็มโอยูระหว่างรัฐบาลไทยกับจีนเป็นความร่วมมือทั้งสองด้าน คือเรื่องการคมนาคมขนส่งและเรื่องสินค้าเกษตร แต่ไม่ได้เป็นการนำสินค้าเกษตรของไทยไปแลกกับการลงทุนรถไฟ ซึ่งเอ็มโอยูสินค้าเกษตรนั้นเป็นการดำเนินการต่อเนื่องกับรัฐบาลที่แล้วได้ลงนามขายข้าวให้จีนจำนวน 1 ล้านตัน และมีการส่งมอบไปแล้ว 3 แสนตัน ส่วนเอ็มโอยูใหม่จะเป็นการขายข้าวให้กับจีนจำนวน 2 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลจากการที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเจรจากับจีน