ThaiPublica > เกาะกระแส > เขื่อนแม่วงก์ไม่มีวันหมดอายุ ถ้ากรมชลประทานไม่ถอนอีเอชไอเอจาก สผ.

เขื่อนแม่วงก์ไม่มีวันหมดอายุ ถ้ากรมชลประทานไม่ถอนอีเอชไอเอจาก สผ.

22 พฤศจิกายน 2014


จุดปักหลัก ณ หน้าประตู 3 ของสผ. ที่นายศศิน เฉลิมลาภ มาปักหลักให้กำลังใจรวม 59 ชั่วโมงตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน
จุดปักหลัก ณ หน้าประตู 3 ของ สผ. ที่นายศศิน เฉลิมลาภ มาปักหลักให้กำลังใจรวม 59 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน

เขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการที่กรมชลประทานริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2525 ซึ่งในปี 2537 มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) มีความเห็นให้กรมชลประทานศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ (EIA) เพิ่มเติมบริเวณเขาชนกัน เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าเขาสบกก และการทำอีไอเอมีการแก้ไขถึง 3 ครั้ง จนกระทั่งปี 2554 เกิดอุทกภัยในประเทศไทย ทำให้โครงการเขื่อนแม่วงก์ถูกเสนอเป็นประเด็นขึ้นอีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

ต่อมาปี 2555 จึงมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 เห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท เวลาก่อสร้าง 8 ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปี 2562 ซึ่งปัจจุบันอีไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์ขยับขึ้นเป็นอีเอชไอเอหรือรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแล้ว เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรค 2 บัญญัติว่า

“การดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”

ก่อน คชก. จะพิจารณาอีเอชไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 ด้านภาคประชาสังคมได้เคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านอีเอชไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์และการสร้างเขื่อนแม่วงก์มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีอุปสรรคจาก “กฎอัยการศึก” ก็ตาม

มาสคอตเสือโคร่ง สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของป่าแม่วงก์
มาสคอตเสือโคร่ง สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของป่าแม่วงก์

โดยวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 เครือองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีองค์กรสมาชิกรวม 25 แห่ง นำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดเวทีเสวนาวิชาการ “ก่อนจะผ่าน EHIA เขื่อนแม่วงก์” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เพื่อนำเสนอข้อมูลที่สะท้อนถึงความไม่สมบูรณ์ครบถ้วนของอีเอชไอเอ และแสดงข้อมูลชุดใหม่ที่บ่งบอกถึงความสำคัญและความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

ต่อมานางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 เสนอให้ประเทศไทยมีการปฏิรูประบบการพิจารณารายงาน EHIA และ EIA โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. เราต้องการเครื่องมือใหม่ เพราะการประเมินผลกระทบแค่ EIA หรือ EHIA ไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มเป็น SEA หรือการประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ เช่น ในกรณีเขื่อนแม่วงก์ ถ้ามี SEA ต้องมองทิศทางในการพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรัง ซึ่งมีลุ่มน้ำแม่วงก์รวมอยู่ในนั้นด้วย และทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำในลุ่มน้ำมีกี่ทางเลือก แล้วนำแต่ละทางเลือกมาศึกษาต้นทุนแต่ละทางเลือกอย่างละเอียด ไม่ลำเอียง และการยอมรับของประชาชน หากดำเนินการเช่นนี้ ก็ย่อมมีคำตอบมากกว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์

2. เจ้าของโครงการต้องไม่เป็นผู้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการทำรายงาน EIA และ EHIA โดยตรง เพราะจะทำให้ผู้ทำรายงานขาดอิสระ โดยควรมีกองทุน หรือระบบกองกลาง โดยให้หน่วยงานกลางทำหน้าที่จัดหาผู้ทำรายงาน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะผ่านหรือไม่ และได้ค่าจ้างเต็มตามจำนวน และหน่วยงานกลางต้องไม่ใช่ผู้ทำหน้าที่แค่ผู้ดูแลเงินงบประมาณและส่งรายงาน แต่ควรมีหน้าที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ มีอำนาจในการตัดสินใจว่าโครงการนี้มีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการลงรายละเอียดต่อหรือไม่

3. EIA และ EHIA ต้องมีอายุจำกัด ไม่ใช่ว่าอายุ 10 ปี 20 ปี ก็ยังกลับมาใช้ เพราะสภาพการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของสังคมและสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนไปแล้ว

4. คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ (คชก.) จะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีตัวแทนนักวิชาการซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กรภายนอก ภาคประชาชน กลับเข้ามาทำหน้าที่อ่านรายงาน ร่วมพิจารณารายงานในฐานะคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ในด้านต่างๆ พร้อมทั้งเปิดที่นั่งให้ชุมชนผู้มีส่วนได้เสียเสนอรายชื่อเข้าไปร่วมรับฟัง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือฝ่ายคัดค้าน

5. รายงาน EIA และ EHIA ไม่ควรจะเสนอและแก้จนกว่าจะผ่าน แต่หากผู้จัดทำรายงานเป็นอิสระ ก็มีสิทธิที่จะเสนอได้ว่าควรยุติโครงการ เนื่องจากมีผลกระทบสูงและมาตรการที่จะป้องกันเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนสูงกว่าความเป็นไปได้ที่เจ้าของโครงการจะลงทุนหรือระบบทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้มีคุณค่าเกินกว่าจะทำลายด้วยโครงการก่อสร้างต่างๆ

บรรยากาศการให้กำลังใจอย่างสงบของประชาชนที่คัดค้านเขื่อนแม่วงก์
บรรยากาศการให้กำลังใจอย่างสงบของประชาชนที่คัดค้านเขื่อนแม่วงก์

หลังจากนั้น นายศศิน เฉลิมลาภ เสนอทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างเขื่อนที่มีผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ และสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่ชลประทานและพื้นที่โดยรอบได้ โดยแบ่งการจัดการเป็น 4 พื้นที่ คือ

1. พื้นที่แม่วงก์ตอนบน ในระยะแรกต้องซ่อมแซมฝายและประตูน้ำที่ชำรุดในลุ่มน้ำย่อยคลองไทรและคลองหินดาด เพิ่มเติมโครงการชลประทานที่เป็นฝายและประตูน้ำขนาดเล็กที่จำเป็น มีการขุดลอกตะกอนสม่ำเสมอ ปลูกหญ้าแฝกริมน้ำเพื่อกันตะกอน ส่วนในระยะยาวควรมีการส่งเสริมการเปลี่ยนพืชไร่เป็นเกษตรผสมผสาน สร้างประตูน้ำเพื่อชะลอและลดปริมาณน้ำหลากที่เขาชนกัน ตลอดจนขุดลอกลำน้ำแม่วงก์จากแก่งเกาะใหญ่ถึงเขาชนกันให้สามารถกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง สะสมน้ำจากลำน้ำในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ที่มีมาตลอดปีทยอยปล่อยไปด้านแม่วงก์ตอนกลาง

2. พื้นที่แม่วงก์ตอนกลาง ควรพัฒนาอ่างห้วยหินลับ (คลองแห้ง) ให้กักเก็บน้ำเพิ่มเติมและเติมน้ำเข้าสู่แม่วงก์ตลอดปี เพิ่มเติมฝายเก็บกักและยกระดับน้ำในลำห้วยแม่วงก์ที่บ้านวังชุมพรและพื้นที่อื่นๆ ที่มีศักยภาพตามหลักวิศวกรรม รวมถึงการปรับปรุงระบบฝายเดิมที่บ้านท่าตาอยู่ ฝายไส้งู ฝายวังซ่าน และประตูน้ำคลองขุนลาด ให้มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ ขุดลอกลำห้วยแม่วงก์และลำห้วยที่แยกจากแม่วงก์ทุกเส้นเพื่อเก็บน้ำไว้ในลำน้ำ พื้นที่นี้มีศักยภาพในการพัฒนาระบบการสูบน้ำใต้ดินด้วยไฟฟ้ามาเสริมในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กบริเวณบ้านวังชุมพรเพิ่มเติม ทั้งหมดจะสามารถชะลอน้ำในช่วงน้ำหลาก และกักเก็บน้ำเพื่อทยอยแบ่งให้พื้นที่แม่วงก์ตอนล่างและพื้นที่ลาดยาวต่อไป

3. พื้นที่แม่วงก์ตอนล่าง คือพื้นที่ที่รับน้ำมาเติมลำน้ำจากลำห้วยตะกวดที่มีต้นน้ำที่บ้านธารมะยมและห้วยน้ำหอมที่มีต้นน้ำจากบ้านเขาแม่กระทู้ทางฝั่งตะวันตกและพื้นที่รับน้ำจากฝั่งเขาหลวง มีศักยภาพในการจัดการต้นน้ำด้วยฝายชะลอน้ำบนพื้นที่ภูเขา และพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ขอบเขามากมาย เพื่อกักเก็บและเติมน้ำให้ที่ราบในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ ที่ราบกว้างใหญ่ของลุ่มน้ำแม่วงก์ตอนล่าง (วังม้า) นี้มีศักยภาพในการพัฒนาบ่อน้ำตื้นและการขุดบ่อน้ำขนาดเล็กในไร่นา รวมทั้งในลำน้ำแม่วงก์ยังมีการสร้างฝายกักเก็บน้ำสามแห่งที่มีประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว

4. พื้นที่รับประโยชน์จากโครงการเขื่อนแม่วงก์อำเภอลาดยาวและอำเภอเมือง มีศักยภาพแหล่งน้ำที่ซ่อนอยู่ของลาดยาว คือ บึงหล่ม หนองอีเหนี่ยง คลองหินลับ-คลองยิ้มแย้ม รวมถึงอ่างเก็บน้ำหลวงพ่อจ้อย ซึ่งยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์และพัฒนาศักยภาพให้มากเท่าที่ควร หากสามารถศึกษาข้อมูลและฟื้นฟูให้เป็นแหล่งน้ำที่กระจายน้ำไปกักเก็บในบ่อน้ำในที่ส่วนบุคคลให้ทั่วถึงน่าจะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้งไปได้มาก โดยจะต้องกักเก็บน้ำส่วนเกินในช่วงน้ำหลากของคลองม่วงและลุ่มน้ำแม่วงก์ที่ไหลแผ่ข้ามลุ่มน้ำมาเก็บกักไว้ในแหล่งน้ำให้ได้ โดยอาจพิจารณาดึงน้ำบางส่วนจากแม่น้ำปิงเข้ามาใช้ด้วย แต่จะต้องสร้างระบบกระจายน้ำขนาดเล็กและบ่อเก็บน้ำขนาดเล็กทั่วทั้งพื้นที่ลาดยาวที่ขาดแคลนน้ำ จากแหล่งน้ำเดิมที่มีอยู่แล้วทั้ง 4 แหล่ง

แนวร่วมนิสิต-นักศึกษา-รักษาธรรมชาติ แถลงคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ณ ลากิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557
แนวร่วมนิสิต นักศึกษา รักษาธรรมชาติ แถลงคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ณ ลานกิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2557

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน ณ ลานกิจกรรมหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แนวร่วมนิสิต นักศึกษา รักษาธรรมชาติ (นนรธ.) นำโดยนายพชรพล ไข่สนอง นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวมะลิวัลย์ คำเรืองฤทธิ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต และนายกษิดิศ ครุฑางคะ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแถลงการณ์แนวร่วมนิสิต นักศึกษา รักษาธรรมชาติ ฉบับที่ 1 เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ คัดค้านและเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระงับการพิจารณา EHIA และขอให้มีการปฏิรูปการทำรายงาน EHIA ให้เป็นไปตามแนวทางที่นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้เสนอไว้ รวมทั้งการสนับสนุน “ทางเลือกการจัดการน้ำแบบบูรณาการ” กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ บนฐานการเชื่อมโยงโมเดลการจัดการน้ำระดับบุคคล ชุมชน และตำบล ตามรูปแบบที่นายศศิน เฉลิมลาภ เสนอไว้ด้วย ทั้งนี้ นนรธ. ได้เดินรณรงค์รอบๆ บริเวณศูนย์การค้าสยามสแควร์พร้อมทั้งแจกโปสเตอร์และสติกเกอร์ “ขอทางเลือกจัดการน้ำไม่เอาเขื่อนแม่วงก์” และ “ที่เก็บน้ำชั่วคราว ที่เก็บน้ำชั่วชีวิต” โดยมีมาสคอตเสือโคร่งนำทีมขบวนนิสิต นักศึกษา

แนวร่วมนิสิต-นักศึกษา-รักษาธรรมชาติ เดินขบวนคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ บริเวณศูนย์การค้าสยาม

วันที่ 18 พฤศจิกายน สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ออกแถลงการณ์คณะอนุกรรมการวิศวกรรมสถานแหล่งน้ำ วสท. คัดค้านการพิจารณาเห็นชอบรายงานอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์เนื่องจากมีความบกพร่องอย่างชัดเจน

เช่นเดียวกับที่นายณรงค์ แรงกสิกร ภาคประชาชนในพื้นที่ และนายสมฤทัย ทะสดวก อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดินทางเข้ามอบข้อสรุปจากการลงพื้นที่ให้กับนายศศิน เฉลิมลาภ เพื่อเข้าร่วมการประชุมพิจารณารายงานอีเอชไอเอร่วมกับ คชก. ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ หลังลงสำรวจพื้นที่แล้วพบว่าการสร้างเขื่อนไม่จำเป็น แต่ควรจัดการซ่อมแซมหรือสร้างประตูน้ำ ฝาย และอาคารควบคุมน้ำ ให้อยู่ในสภาพดีและสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่า

นายณรงค์ แรงกสิกร ภาคประชาชนในพื้นที่ (ซ้าย) และนายสมฤทัย ทะสดวก  อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ขวา) เดินทางเข้ามอบข้อสรุปจากการลงพื้นที่ให้กับนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (กลาง) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ณ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายณรงค์ แรงกสิกร ภาคประชาชนในพื้นที่ (ซ้าย) และนายสมฤทัย ทะสดวก อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ขวา) เดินทางเข้ามอบข้อสรุปจากการลงพื้นที่ให้กับนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (กลาง) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ณ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ในวันเดียวกันกลุ่มนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รวมตัวกันเดินรณรงค์คัดค้านการพิจารณาอีเอชไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์ จากบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปตามเส้นทางถนนพหลโยธินจนสิ้นสุดที่บริเวณห้างสรรพิสินค้าเมเจอร์ซีเนเพล็กซ์รัชโยธิน เพื่อคัดค้านการพิจารณาอีเอชไอเอเขื่อนแม่วงก์ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนเข้าเจรจาและขอให้ยุติการรวมตัว เนื่องจากเป็นการฝ่าฝืนกฎอัยการศึก

อีกทั้งทางด้านชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและมูลนิธิสืบนาคะเสถียร วางแผนร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “จากแม่วงก์ถึงคชก….ใครลักไก่ EHIA?” ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ณ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยมีนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ รศ. ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร อดีตประธานอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. เป็นวิทยากร

ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ ได้แสดงอารยะขัดขืนโดยการไปปักหลักนั่งและนอนอยู่หน้าประตู 3 ของ สผ. เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์และให้กำลังใจ คชก. ในการพิจารณาอีเอชไอ ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน โดยกำหนดระยะเวลาปักหลัก ณ ที่ตรงนี้รวม 59 ชั่วโมง ซึ่งจะสิ้นสุดลงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 19 พฤศจิกายน

ตลอดระยะเวลาที่นายศศินมาปักหลักที่หน้า สผ. นั้น มีประชาชนผลัดเปลี่ยนกันมาอำนวยความสะดวกและให้กำลังใจนายศศินอยู่เสมอ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บางซื่อก็ได้เข้ามาเจรจาขอความร่วมมือกับกลุ่มประชาชนให้ไม่ละเมิดกฎอัยการศึก เรื่องการชุมนุมกันเกิน 5 คน

ต่อมาเมื่อถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าเจรจาขอความร่วมมือไม่ให้จัดเสวนา “จากแม่วงก์ถึงคชก….ใครลักไก่ EHIA?” รวมถึงงดการชูป้ายหรือข้อความใดๆ เพื่อบันทึกภาพหรือการรวมตัวกันของประชาชนเพื่อให้กำลังใจ คชก. ในการพิจารณาอีเอชไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์ในวันดังกล่าว ซึ่งทางผู้จัดงานเสวนาและประชาชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่มาเจรจาให้เหตุผลในการงดจัดกิจกรรมในวันดังกล่าวว่า การปฏิบัติในวันนี้ไม่ได้มาเพื่อขัดขวางการรวมตัวกันของประชาชน แต่มาทำหน้าที่อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยตามที่ทาง สผ. ได้ประสานขอความช่วยเหลือไปเท่านั้น สำหรับการเจรจาขอความร่วมมืองดการจัดเสวนาและการชูป้าย นั้นเพราะประชาชนจะละเมิดกฎอัยการศึก ซึ่งทางผู้บังคับบัญชาเน้นย้ำเสมอไม่ให้ใครทำผิดกฎหมาย ดังนั้น หากประชาชนให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ก็จะไม่ลำบากใจในการทำงาน แต่หากปล่อยให้ประชาชนกลุ่มนี้จัดกิจกรรมได้ ประชาชนกลุ่มอื่นๆ ก็จะทำตาม และกลายเป็นความแยกแตกในสังคมตามมา แต่อย่างไรก็ตาม การมาให้กำลังใจ คชก. ในการพิจารณาอีเอชไอเอสามารถทำได้

ประชาชนคนในพื้นที่โครงการเขื่อนแม่วงก์กลุ่มที่สนับสนุนการสร้างเขือนแม่วงก์
ประชาชนคนในพื้นที่โครงการเขื่อนแม่วงก์กลุ่มที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์

ในเวลาต่อมา ประชาชนในพื้นที่โครงการเขื่อนแม่วงก์ที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนประมาณ 20 คน พร้อมใจกันใส่เสื้อ “Yes เขื่อนแม่วงก์” นำโดยนายบุญชู พรหมมารักษ์ (กำนันโต) คณะกรรมการลุ่มน้ำแม่วงก์ (สะแกกรัง) มายื่นข้อมูลเพิ่มเติมให้ คชก. ประกอบการพิจารณา โดยนำแบบสอบถามการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่โครงการเขื่อนแม่วงก์จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร และอุทัยธานี จำนวน 4,183 คน ว่าเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนหรือไม่ ซึ่งมีผลสรุปว่าประชาชนจำนวน 3,838 คน หรือร้อยละ 91.76 เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน

“ที่ผ่านมาเคยเข้าร่วมพิจารณาอีเอชไอเอกับ คชก. แล้ว 3 ครั้ง แต่ครั้งนี้มาแค่เพียงยื่นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับเลขาธิการ สผ. เท่านั้น” นายบุญชูกล่าว ซึ่งหลังจากที่ยื่นหนังสือกับ สผ. เสร็จสิ้นแล้วในเวลา 13.30 – 14.00 น. ก็เดินทางกลับต่างจังหวัด

ตัวอย่างแบบสอบถามความคิดเห็นเรื่องการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่ประชาชนซึ่งสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์มายื่นให้คชก. ประกอบการพิจารณา
ตัวอย่างแบบสอบถามความคิดเห็นเรื่องการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่ประชาชนซึ่งสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์มายื่นให้ คชก. ประกอบการพิจารณา

หลังจากที่กลุ่มกำนันโตออกจาก สผ. แล้ว นายศศินก็เดินออกมาแสดงตัวและขึ้นไปชี้แจงกับ คชก. พร้อมกับนางรตยา ท่ามกลางเสียงปรบมือของประชาชนที่มาให้กำลังใจหลังจากที่เก็บตัวเงียบอยู่ในบริเวณ สผ. นานนับชั่วโมง แค่เพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมงนายศศินและทีมก็ลงมาด้านล่างตึก สผ. พร้อมกล่าวว่า วาระในวันนี้ คชก. ยังไม่ได้พิจารณาอีเอชไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์ เพียงแต่เรียกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาเท่านั้น ซึ่งทางมูลนิธิสืบฯ ได้ให้ข้อมูลเรื่องแนวทางการบริหารจัดการน้ำแก่ คชก. ส่วนประเด็นในอีเอชไอเอที่เป็นปัญหาอยู่คือเรื่องของระบบนิเวศสัตว์ป่า จึงให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีบันทึกข้อความด่วนที่สุด ที่ ทส.0910.204/23269 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ลงชื่อนายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีความเห็นว่า “ไม่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่อนุรักษ แต่ควรดำเนินการจัดทำแนวทางเลือกในการจัดการน้ำแนวทางอื่นที่ไม่ต้องสูญเสียพื้นที่ขนาดใหญ่ในพื้นที่อนุรักษ์และให้ความคุ้มค่าในการจัดการน้ำมากกว่า”

บันทึกข้อความกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (1)

บันทึกข้อความกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช (2)

ต่อมาเวลาประมาณ 16.30 น. ที่ประชุม คชก. เสร็จสิ้นโดยมีข้อสรุปว่า ความคิดเห็นและข้อมูลของกรมชลประทานและกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช มีความขัดแย้งกันอยู่ โดยเฉพาะเรื่องมูลค่าไม้ ดังนั้น นายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการ สผ. ในฐานะประธานที่ประชุม คชก. จึงมีมติให้ทั้ง 2 กรมไปปรึกษาหารือและตกลงกันให้แล้วเสร็จก่อน แล้วยื่นอีเอชไอเอใหม่มาให้ คชก. พิจารณา

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสผ.
นายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการ สผ.

ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า การทำงานของกรมชลประทานอยู่บนพื้นฐานความต้องการของประชาชน และหาทางออกของปัญหาร่วมกันกับทั้งองค์กรปกครองสวนท้องถิ่น ประชาชน กรมอุทยานฯ โดยพิจารณาจากหลักฐานทางวิชาการว่าคุ้มค่าที่ก่อสร้างหรือไม่ รวมถึงเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งหรือภัยน้ำท่วมที่เกิดในพื้นที่ต่างๆ ที่เข้ามาที่กรม ไม่ใช่ว่ากรมชลประทานจะดันทุรังก่อสร้างให้ได้ในทุกโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมทำงานศึกษาหาข้อมูลร่วมกับมูลนธิสืบฯ และประชาชนในพื้นที่มาตลอด

“กรณีเขื่อนแม่วงก์จากนี้ไปคือการหาข้อยุติร่วมกันในเรื่องอีเอชไอเอว่าจะกำหนดรูปแบบโครงการอย่างไร เพื่อให้สรุปงบประมาณได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการศึกษาหลายครั้งแล้ว ดังนั้นก็รอผลลัพธ์ว่าจะเดินหน้าแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่แม่วงก์อย่างไร สร้างเขื่อน หรือใช้ทางเลือกอื่นในการแก้ปัญหา ซึ่งทาง สผ. มีข้อสรุปให้กรมชลฯ และกรมอุทยานฯ หารือเรื่องรูปแบบและวิธีการ การสำรวจขอบเขตป่าไม้ เพื่อคำนวณความคุ้มทุนในการก่อสร้างและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ เขื่อนแม่วงก์หากสามารถทำได้และประชาชนรับได้ก็จะเดินหน้าต่อ แต่หากศึกษาแล้วพบว่าสร้างเขื่อนไม่ได้ก็ต้องหาทางออกรูปแบบอื่นๆ มาช่วยเหลือประชาชน” นายสมเกียรติกล่าว

ด้านนายเกษมสันต์กล่าวว่า “ถ้าเจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาตก็ไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ซึ่งตอนนี้ข้อมูลจากทั้ง 2 กรมขัดแย้งกันอยู่จึงสั่งให้ไปคุยกันใหม่ สองกรมนี้จะคุยกันอีกนานเท่าไหร่ไม่สามารถบอกได้และไม่จำเป็นต้องเร่งรัดใดๆ เนื่องจากโครงการของรัฐไม่มีกรอบระยะเวลาของโครงการ สามารถหายไปนานเท่าใดก็ได้ ดังนั้น หากข้อมูลอีเอชไอเอพร้อมเมื่อไหร่ก็เสนอ คชก. อีกครั้ง ทั้งนี้อีเอชไอเอที่จะมาใหม่นั้นคณะกรรมการทุกชุดก็มีอิสระที่จะให้ความเห็นในการพิจารณา แต่ใครจะบอกว่าอนุญาตในขณะที่กรมอุทยานฯ มีหนังสือถึง สผ. ว่าไม่อนุญาตให้สร้างเขื่อน”

ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา นายสมเกียรติและนายเกษมสันต์ ได้มาร่วมพูดคุยกับนายศศินที่บริเวณหน้าประตู 3 ของ สผ. ถึงการประชุมและการทำงานต่อไปในอนาคตของเขื่อนแม่วงก์

นายเกษมสันต์ จิณณวาโส , นายศศิน เฉลิมลาภ และนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ พูดคุยกันหลังการประชุมคชก. ที่สผ. เมื่อวันที่ 19  พฤศจิกายน
นายเกษมสันต์ จิณณวาโส, นายศศิน เฉลิมลาภ และนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ พูดคุยกันหลังการประชุม คชก. ที่ สผ. เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน

ล่าสุด วันที่ 21 พฤศจิกายน 2557 พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) นโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579 กล่าวว่า “จะรักษาป่าไม้เอาไว้ให้รุ่นหลานมีป่าไม้เหมือนกับที่รุ่นตนเองมี และจากคำพูดดังกล่าว ผู้สื่อข่าวจึงถามภายหลังว่า แล้วกรณีเขื่อนแม่วงก์ท่านมีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งได้คำตอบว่า ให้นโยบายไปกับ สผ. ว่าให้พิจารณาตามหลักวิชาการจริงๆ ว่าได้ประโยชน์เสียประโยชน์อย่างไรในการสร้าง ซึ่ง สผ. ก็พิจารณาไปตามนั้น ซึ่งจะสร้างได้หรือไม่ต้องพิจารณาร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำอย่างนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีหน้าที่ดูแลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมผมก็จะดูเรื่องนั้นเท่านั้น ซึ่ง สผ. จะทำหน้าที่แทนกระทรวงเพื่อดูว่าข้อเท็จจริงและผลกระทบที่เกิดขึ้นคืออะไร ก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า”