ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > บอร์ดที่ราชพัสดุ “ไม่มีมติอนุมัติ” ให้กรมธนารักษ์นำที่ดินแหลมฟ้าผ่าทำสัญญาเช่ากับเอเชียน มารีนฯ โดยไม่เปิดประมูล

บอร์ดที่ราชพัสดุ “ไม่มีมติอนุมัติ” ให้กรมธนารักษ์นำที่ดินแหลมฟ้าผ่าทำสัญญาเช่ากับเอเชียน มารีนฯ โดยไม่เปิดประมูล

17 พฤศจิกายน 2014


หลังจากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าว “นริศ ชัยสูตร” ยัน บอร์ดมีมติให้ธนารักษ์นำที่ราชพัสดุ “แหลมฟ้าผ่า” ให้เอเชียนมารีนเช่า ท้า ให้เด็ก ป.1 อ่านก็เข้าใจ” ปรากฏว่าแหล่งข่าวกระทรวงการคลังได้นำบันทึกข้อความ 2 ฉบับ ที่ลงนามโดยนายวรเชษฐ์ ทับทิม ผู้อำนวยการสำนักบริหารที่ราชพัสดุ 2 เพื่อนำเสนอนายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ มามอบให้ผู้สื่อข่าว โดยบันทึกข้อความทั้ง 2 ฉบับ จัดทำขึ้นภายหลังบอร์ดมีมติ (วันที่ 5 กันยายน 2555) ระบุให้กรมธนารักษ์นำเรื่องที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่ากลับไปพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้ง โดยให้นำการพิจารณาของที่ประชุมเป็นแนวทางในการดำเนินการ หากมีข้อมูลที่มีนัยสำคัญสมควรดำเนินการเป็นอย่างอื่น มอบหมายให้นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณา (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

บันทึกข้อความถึงอธิบดี

จากการตรวจสอบบันทึกข้อความที่นายวรเชษฐ์ทำถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ พบว่าเอกสารราชการทั้ง 2 ฉบับ ออกเลขหนังสือชุดเดียวกัน คือ เลขที่ กค 0113/1743 โดย บันทึกข้อความฉบับแรกมี 6 หน้า ผู้อำนวยการสำนักบริหารที่ราชพัสดุ 2 ทำบันทึกส่งผ่านนายชาญณัฏฐ์ แก้วมณี รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ลงนามวันที่ 12 ตุลาคม 2555 เพื่อนำเสนอต่ออธิบดีกรมธนารักษ์ ส่วนบันทึกข้อความฉบับที่ 2 เนื้อหาสาระส่วนใหญ่ใกล้เคียงฉบับแรก แต่มีบางท่อน บางตอน โดยเฉพาะถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ถูกตัดทอนออกไปจนเหลือ 5 หน้า ฉบับนี้นายวรเชษฐ์ลงนามในบันทึกข้อความส่งตรงถึงอธิบดีกรมธนารักษ์วันที่ 29 ตุลาคม 2555

บันทึกข้อความระบุ “บอร์ดไม่มีมติ ยกที่ดินแหลมฟ้าผ่าให้เอเชียนมารีนฯ เช่า”

หนังสือราชการทั้ง 2 ฉบับ ระบุชัดเจนว่า “กรมธนารักษ์ได้นำเสนอคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2555 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดให้บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) เช่าที่ราชพัสดุดังกล่าวโดยยกเว้นการประมูล แต่เนื่องจากข้อมูลประกอบการพิจารณาไม่ชัดเจน ที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุจึงไม่มีมติ สำนักกฎหมายจึงขอให้สำนักที่ราชพัสดุ 2 พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าเช่า ค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการที่ราชพัสดุเห็นว่าเป็นสาระสำคัญในการประกอบการพิจารณา” (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

คณะกรรมการที่ราชพัสดุ ไม่มีมติ

วันที่ 17 กันยายน 2555 สำนักกฎหมาย ทำบันทึกด่วนที่สุด เลขที่ กค 0304/1279 ขอให้สำนักบริหารที่ราชพัสดุ 2 กำหนดอัตราค่าเช่า ค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขอื่นๆ เนื่องจากคณะกรรมการที่ราชพัสดุเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญต่อการพิจารณา หากมีการต่อสัญญาให้กับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย หรือนำเสนอคณะกรรมการที่ราชพัสดุพิจารณาให้บริษัทเอเชียน มารีนฯ เช่าที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่า โดยไม่ต้องประมูล

ตำนานที่ราชพัสดุ แหลมฟ้าผ่า

ก่อนที่สำนักบริหารที่ราชพัสดุ 2 จะกำหนดอัตราค่าเช่า ค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขต่างๆ ตามที่สำนักกฎหมายร้องขอ เพื่อสรุปเสนออธิบดีกรมธนารักษ์ บันทึกข้อความฉบับแรกระบุว่า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2497 กระทรวงการคลังในพระบรมมหาราชวังซื้อที่ดินแปลงนี้มาจาก พล.ร.อ. สินธุ์ กมลนาวิน จากนั้นปี 2525 กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลัง นำที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่าพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปทำสัญญาเช่ากับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินกิจการท่าเรือและคลังสินค้า อายุการเช่า 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2525 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2555 โดยทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงนี้ประกอบด้วย ท่าเรือ, โกดังเก็บสินค้า 3 หลัง เนื้อที่ 290 ตารางวา, สำนักงาน และบ้านพักคนงานรวมเนื้อที่ 120 ตารางวา, โรงไฟฟ้าและอาคารประกอบโรง เนื้อที่ 329 ตารางวา, ที่ดินว่างใช้เพื่อการอุตสาหกรรม 6-1-10 ไร่, ที่ดินว่างใช้เป็นที่พักสินค้าเวลาขึ้นลง เนื้อที่ 12-1-01 ไร่

ต่อมาปี 2531 กรมธนารักษ์อนุญาตให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ นำที่ดินแปลงนี้ไปจัดให้บริษัท เจนเนอรัล คลังสินค้า จำกัด เช่าช่วงต่อ ภายในกำหนดเวลาที่ชุมนุมสหกรณ์ฯ เหลืออยู่ โดยชุมนุมสหกรณ์ฯ ต้องจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุให้กับกรมธนารักษ์ในอัตรา 50% ของค่าเช่าที่เรียกเก็บจากผู้เช่าช่วง ชุมนุมสหกรณ์ฯ ทำสัญญาเช่าช่วงกับบริษัทเจนเนอรัลฯ มีอายุการเช่า 24 ปี นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2531 – วันที่ 25 มกราคม 2555 ในสัญญาเช่าช่วง ข้อที่ 13 ระบุว่า “ผู้เช่าช่วงไม่มีสิทธิเอาสถานที่เช่าไปให้เช่าช่วงต่อ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าช่วง และกระทรวงการคลัง”

ปี 2548 กรมส่งเสริมสหกรณ์แจ้งว่า ชุมนุมสหกรณ์ฯ มีความประสงค์ขอต่ออายุสัญญาเช่าออกไปอีก 25 ปี ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์พิจารณาให้ความยินยอม ส่วนทางจังหวัดสมุทรปราการ มีหนังสือเลขที่ กค 0309.09/5097 ลงวันที่ 5 เมษายน 2548 แจ้งให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ ทราบว่า ในหลักการไม่ขัดข้องหากมีการต่ออายุสัญญาอีก 25 ปี พร้อมกับอนุญาตให้นำสิทธิการเช่าไปให้เช่าช่วงได้ ชุมนุมสหกรณ์จึงทำบันทึกต่อท้ายสัญญาเช่าช่วง ยืนยันว่าจะต่อสัญญาเช่าช่วงให้กับบริษัทเจนเนอรัลฯ เมื่อวันที่สัญญาเช่าช่วงสิ้นสุด (วันที่ 25 มกราคม 2555)

ต่อมาบริษัทเอเชียน มารีนฯ แจ้งความประสงค์ขอเช่าที่ราชพัสดุแปลงนี้ พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นระยะเวลา 30 ปี ภายหลังสัญญาเช่าช่วงระหว่างชุมนุมสหกรณ์ฯ และบริษัทเจนเนอรัลฯ สิ้นสุด (วันที่ 25 มกราคม 2555) บริษัทเจนเนอรัลฯ (ผู้เช่าช่วง) ทำหนังสือแจ้งกรมธนารักษ์ว่า บริษัทเจนเอนรัลฯ เป็นบริษัทในเครือบริษัทเอเชียน มารีนฯ ยินดีที่จะสละสิทธิการเช่า หากกรมธนารักษ์นำที่ราชพัสดุแปลงนี้มาจัดให้บริษัทเอเชียน มารีนฯ เช่าโดยตรง

และจากการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์และจังหวัดสมุทรปราการ ยินยอมให้มีการจัดทำบันทึกแนบท้ายสัญญาเช่าช่วงที่ทำไว้กับบริษัทเจนเนอรัลฯ ยืนยันว่าจะต่อสัญญาเช่าให้อีก 25 ปี หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุด สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สมุทรปราการ จึงทำหนังสือสอบถามกรมธนารักษ์ ว่าธนารักษ์พื้นที่สมุทรปราการสามารถนำที่ดินแปลงนี้ไปให้บริษัทเอเชียน มารีนฯ เช่า โดยไม่ต่อสัญญาเช่าให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ ได้หรือไม่ อย่างไร?

วันที่ 21 ธันวาคม 2554 สำนักกฎหมายทำบันทึก เลขที่ กค 0309/1648 ตอบข้อหารือในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ประเด็นที่ 1 กรณีจังหวัดสมุทรปราการ ทำหนังสือเลขที่ กค 0309/5097 ลงวันที่ 5 เมษายน 2548 ถึงกรมส่งเสริมสหกรณ์ ถือเป็นการอนุญาตต่ออายุสัญญาเช่าให้กับชุมนุมสหกรณ์ฯ และมีลักษณะเป็น “คำมั่น” หรือไม่

สำนักกฎหมายตอบว่า ข้อความที่ระบุในหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงการอนุมัติในหลักการของการต่ออายุสัญญาเท่านั้น ยังไม่ได้อนุมัติในรายละเอียดและเงื่อนไขการต่ออายุสัญญาเช่า อาทิ อัตราค่าเช่า ค่าธรรมเนียมต่างๆ ต้องทำความตกลงให้เสร็จเรียบร้อยก่อนต่อสัญญาเช่า ถึงจะมีผลบังคับตามกฎหมาย

ดังนั้น หนังสือดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นการต่อสัญญา ส่วนข้อความในบันทึกแนบท้ายสัญญาเข้าลักษณะ “คำมั่น” หรือไม่ สำนักกฎหมายตอบว่า ตามหลักเกณฑ์ของคำมั่นกำหนดว่า “ถ้ายังมีข้อความที่ผู้ให้เช่าและผู้เช่าต้องมีการทำความตกลงกันใหม่ ผู้ให้เช่าถึงจะให้เช่าต่อไป กรณีนี้ไม่ถือเป็นคำมั่น”

ประเด็นที่ 2 จังหวัดสมุทรปราการสามารถนำที่ราชพัสดุแปลงนี้ไปให้บริษัทเอเชียน มารีนฯ เช่าได้หรือไม่ สำนักกฎหมายมีความเห็นว่า ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ 2552 ข้อ 26 (2) กำหนดว่า “ถ้าผู้เช่านำที่ราชพัสดุไปให้เช่าช่วง โดยได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่า ให้ถือว่าผู้เช่ายังคงครอบครองสถานที่นั้น และให้เป็นผู้ได้รับสิทธิการเช่า”

ดังนั้น จังหวัดต้องพิจารณาต่ออายุสัญญาเช่าให้กับชุมนุมสหกรณ์ฯ เป็นอันดับแรก หากธนารักษ์สมุทรปราการเห็นว่าการนำที่ดินแปลงนี้ให้บริษัทเอเชียน มารีนฯ เช่าโดยตรงทำให้ทางราชการได้ผลประโยชน์มากกว่า ธนารักษ์สมุทรปราการต้องทำเรื่องเสนอกรมธนารักษ์ หากกรมธนารักษ์มีความเห็นสอดคล้อง ให้ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการที่ราชพัสดุ พิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดให้เช่าโดยไม่เปิดประมูล ซึ่งกรมธนารักษ์พิจารณาแล้วเห็นชอบกับความเห็นดังกล่าว และได้แจ้งให้ธนารักษ์สมุทรปราการทราบแล้ว

ที่มา : www.asimar.com/
ที่มา: www.asimar.com/

วันที่ 25 มกราคม 2555 ธนารักษ์สมุทรปราการ ทำหนังสือเลขที่ กค 0307.09 แจ้งกรมธนารักษ์ว่า บริษัทเจเนอรัลฯ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัทเอเชียน มารีนฯ ได้ลงทุนก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างทั้งสิ้น 6 รายการ ได้แก่ อาคารที่ทำการ, บ้านพักเจ้าหน้าที่, บ้านหัวหน้างาน, โรงเก็บเครื่องมือ, ฉางเกลือ และถังเก็บบาดาล ต่อมาได้มีการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารสถานที่เพิ่มขึ้นอีก 22 รายการ ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในกิจการของบริษัทเอเชียน มารีนฯ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงเห็นควรให้บริษัทเอเชียน มารีนฯ เช่าที่ราชพัสดุแปลงนี้โดยตรงกับกรมธนารักษ์

วันที่ 26 มีนาคม 2555 กรมธนารักษ์มีหนังสือเลขที่ กค 0313/4130 เห็นชอบตามที่ธนารักษ์สมุทรปราการเสนอ โดยจะทำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ เพื่อขออนุมัติให้นำที่ราชพัสดุแปลงนี้ให้บริษัทเอเชียน มารีนฯ เช่าโดยไม่เปิดประมูล วันที่ 14 มิถุนายน 2555 ธนารักษ์สมุทรปราการทำหนังสือเลขที่ กค 0307.09/802 แจ้งชุมนุมสหกรณ์ฯ ว่ากรมธนารักษ์ไม่ต่อสัญญาเช่าที่ราชพัสดุแหลมผ้าผ่า

เอเชียน มารีนฯ เข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน 20 ไร่ มูลค่ากว่า 380 ล้าน

วันที่ 23 กรกฎาคม 2555 จังหวัดสมุทรปราการ มีหนังสือเลขที่ กค 0307.09/9058 แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทเอเชียน มารีนฯ ได้ครอบครองการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่า 20-3-55 ไร่ มูลค่าที่ดิน 208 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่นๆ ท่าเทียบเรือ อาคารที่ทำการต่างๆ มูลค่า 175 ล้านบาท

ในวันเดียวกันนั้นเอง ชุมนุมสหกรณ์ฯ มีหนังสือเลขที่ ฝค 2021/1844 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร้องขอความเป็นธรรมกรณีกรมธนารักษ์ไม่ต่อสัญญาเช่า และนำที่ราชพัสดุไปให้บุคคลอื่นเช่าโดยไม่เปิดประมูลตามระเบียบ

วันที่ 2 กันยายน 2555 กรมธนารักษ์ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ขอความเห็นชอบให้นำที่ราชพัสดุแปลงนี้ไปจัดให้บริษัทเอเชียน มารีนฯ เช่าโดยไม่เปิดประมูล วันที่ 5 กันยายน 2555 ที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ครั้งที่ 1/2555 ไม่มีมติ เนื่องจากข้อมูลประกอบการพิจารณาไม่ชัดเจน

วันที่ 21 กันยายน 2555 ธนารักษ์สมุทรปราการ ทำหนังสือเลขที่ กค 0307.09/1263 รายงานผลตรวจสอบ กรณีบริษัทเอเชียน มารีนฯ เข้าครอบครองการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่า 20-3-55 ไร่ เสนอกรมธนารักษ์ พบว่า บนพื้นที่ดังกล่าวมีสิ่งปลูกสร้าง 21 รายการ ในจำนวนนี้มี 13 รายการ เข้าข่ายต้องยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง ที่เหลืออีก 8 รายการ ไม่ต้องยกกรรมสิทธิ์ ซึ่งทางบริษัทเอเชียน มารีนฯ ยืนยันว่า “อาคารสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะต้องยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ซึ่งบริษัทยินยอมยกกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดให้กระทรวงการคลัง”

กำหนดอัตราค่าเช่าและค

หลังจากที่สำนักบริหารที่ราชพัสดุ 2 บรรยายเหตุการณ์ปมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่า ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา เสร็จเรียบร้อย ก็ได้ทำสรุปความคิดเห็นเสนออธิบดีกรมธนารักษ์ 2 ข้อ ดังนี้

1. คำนวณค่าเช่า ค่าธรรมเนียม กรณีต่ออายุสัญญาเช่าให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ และกรณีนำที่ดินแปลงนี้ไปจัดให้บริษัทเอเชียน มารีนฯ เช่าโดยไม่เปิดประมูล

2. ก่อนที่จะดำเนินการตามข้อ 1. สำนักบริหารที่ราชพัสดุ 2 มีความเห็นดังนี้

2.1 เนื่องจากระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดประโยชน์ในที่ราชพัสดุ 2552 ข้อ 26 (2) กำหนดว่า “ถ้าผู้เช่า (ชุมนุมสหกรณ์ฯ ) นำที่ดินไปให้เช่าช่วงโดยได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่า (กรมธนารักษ์) ถือว่าผู้เช่ายังคงครอบครองสถานที่เช่านั้น และให้เป็นผู้ได้รับสิทธิเช่า” จึงเห็นควรให้มีการพิจารณาต่ออายุสัญญาเช่าให้ชุมนุมสหกรณ์ฯ ก่อนเป็นอันดับแรก

2.2 เนื่องจากชุมนุมสหกรณ์ฯ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงนี้ ขออนุญาตกรมธนารักษ์นำที่ดินไปให้บริษัทเจนเนอรัลฯ เช่าช่วง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทเอเชียน มารีนฯ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเจนเนอรัลฯ เป็นผู้ใช้ประโยชน์บนที่ดินแปลงนี้ ซึ่งในทางกฎหมายถือเป็นคนละนิติบุคคล ทางชุมนุมสหกรณ์ฯ จึงทำหนังสือแจ้งบริษัทเจนเนอรัลฯ บอกเลิกสัญญาเช่าช่วง

วรเชษฐ06

จากประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นบนที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่าระหว่างชุมนุมสหกรณ์ฯ กับกลุ่มบริษัทเอเชียน มารีนฯ บันทึกข้อความ หน้าสุดท้าย สำนักบริหารที่ราชพัสดุ 2 มีประเด็นสำคัญที่อธิบดีกรมธนารักษ์ต้องพิจารณา 4 ประเด็น ดังนี้

1. กรณีนี้ถือว่าชุมนุมสหกรณ์ฯ ทำผิดเงื่อนไขในสัญญาเช่าหรือไม่ หากทำผิดสัญญาจะถือเป็นสาเหตุไม่ต่ออายุสัญญาเช่าได้หรือไม่

2. บริษัทเจนเนอรัลฯ ผู้เช่าช่วง ทำผิดเงื่อนไขในสัญญาข้อ 13 โดยนำที่ดินไปให้บริษัทเอเชียน มารีนฯ เช่าช่วงต่อ แม้ว่าจะเป็นบริษัทในเครือในเดียวกัน แต่ในทางกฎหมายถือเป็นคนละนิติบุคคล เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ ถือว่าผู้ให้เช่าช่วงทำผิดสัญญาเช่าหรือไม่

3. หากบริษัทเอเชียน มารีนฯ เข้าใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาต มีเหตุใดที่กระทรวงการคลังต้องผ่อนปรนนำที่ดินไปจัดให้บริษัทเอเชียน มารีนฯ เช่าโดยไม่เปิดประมูล ซึ่งน่าจะทำให้ทางราชการขาดประโยชน์อันพึงได้

4. หากชุมนุมสหกรณ์ หรือบริษัทเจนเนอรัลฯ ทำผิดสัญญาเช่าช่วง กรมธนารักษ์ จะพิจารณาไม่ต่ออายุสัญญา และนำที่ราชพัสดุแหลมฟ้าผ่ามาเปิดประมูลเป็นการทั่วไป เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุดได้หรือไม่อย่างไร

สุดท้ายของบันทึกข้อความที่นายวรเชษฐ์ย้ำเตือนอธิบดีกรมธนารักษ์ โดยให้พิจารณาประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบ และไม่ว่าผลการพิจารณาจะออกมาในแนวทางใด เชื่อว่าต้องมีการร้องเรียน ร้องทุกข์ ไปยังหน่วยงานอื่น ดังนั้น จึงเห็นควรให้สำนักกฎหมายพิจารณาประเด็นดังกล่าวให้เกิดความชัดเจน และถูกต้องตามขั้นตอนและระเบียบของกรมธนารักษ์ต่อไป